รายงานเสวนา: พ.ร.บ. (ความมั่้นคงฯ) – พ.ร.ก. (สถานการณ์ฉุกเฉิน) พอหรือยัง

นักกฎหมาย นักวิชาการวิพากษ์พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ธีระ สุธีวรางกูร ระบุรัฐบาลใช้อำนาจเกินขอบเขต ไม่อันตรายเท่าการใช้อำนาจโดยไม่ถูกตรวจสอบถ่วงดุลจากศาล หมอนิรันดร์ฉะ ไม่ควรมีกฎหมายชนิดนี้ในประเทศไทยเพราะทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชน พงษ์เทพเสนอทบทวนว่าจะใช้กฎหมายฉุกเฉินในเรื่องความมั่นคงต่อไปหรือไม่ หรือควรจะจำกัดแต่กรณีของภัยพิบัติ

6 สิงหาคม 2553 คณะนิติศาสตร์ มธ. จัดการเสวนาเรื่อง พ.ร.บ. (ฉุกเฉิน) – พ.ร.ก. (สถานการณ์ฉุกเฉิน) พอหรือยัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานวันรพี ประจำปี 2553 โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วยนายธีระ สุธีวรางกูร ภาควิชากฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายวัชรพงษ์ จิโสะ ตัวแทนเยาวชน ดำเนินรายการโดยนายภาณุวัฒน์ ชัยสถาพร นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มธ.

000
"ถ้าฝ่ายบริหาร Abuse of Power แต่ถ้าศาลตรวจสอบไม่เป็นไร แต่ถ้าศาลไม่ตรวจสอบตรงนี้แหละที่มีปัญหา
"

ธีระ สุธีวรางกูร ภาควิชากฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เรื่องพ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก นั้นผมเรียนว่ามันค่อนข้างจะกว้างมาก ภาพรวมใช้ในหลายสถานการณ์ ปกติบ้างไม่ปกติบ้าง มีความรุนแรงระดับต่างๆ กันไป ตัวกฎหมายในชั้นนี้ที่ควรจะพูดมากที่สุดก็คือ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ถ้าดูประกอบสถานการณ์การเมือง ไม่สามารถพูดได้ในทางนิติศาสตร์อย่างเดียว แต่ต้องพูดในเรื่องมติทางการเมืองด้วย
ในด้านนิติศาสตร์ แล้วจะมีประเด็นที่ต้องพูดกันจริงๆ 3 ประเด็นคือเรื่องโครงสร้างและเนื้อหา และสองคือการบังคับใช้ และสามการควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารโดยองค์กรตุลาการหรือศาล ในส่วนที่หนึ่งและสองนั้นพูดกันมาพอสมควรแล้ว ผมจึงจะพูดในส่วนเรื่องการตรวจสอบควบคุมการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินโดยองค์กรตุลาการและศาล
คำถามในเบื้องต้นคือ ตามพ.ร.ก. ฉุกเฉินโดยเฉพาะในมาตรา 16 กำหนดให้ประกาศหรือคำสั่งฯ ภายใต้ พ.ร.ก. นี้ ไม่ตกอยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลปกครอง เมื่อเป็นอย่างนี้จึงมีคำถามว่าสมควรหรือไม่ที่จะตัดการตรวจสอบ

กรณีนี้ในประเทศฝรั่งเศสไม่ตัดอำนาจการตรวจสอบ แต่เหตุผลที่ พ.ร.ก. ฉุกเฉินของไทยตัดอำนาจศาลปกครองในการตรวจสอบ ผมเข้าใจว่ามีเหตุผล 2 อย่าง คือ 1 ให้อำนาจฝ่ายบริหารในการแก้ไขยับยั้งสถานการณ์ไม่ปกติ ดังนั้นหากปล่อยให้มีการตรวจสอบจะทำให้บริหารได้ยากและแก้ไขปัญหาไม่ทันท่วงทีตามสถานการณ์ แต่เหตุผลอย่างนี้ในสายตาของผมไม่สมเหตุสมผลมากนัก เพราะศาลปกครองเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาให้ตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายปกครอง ดังนั้นการออกประกาศ คำสั่ง ใดๆ แล้วตัดอำนาจศาลปกครองที่เชี่ยวชาญในการตรวจสอบในการกระทำของฝ่ายบริหารไปก็อาจจะมีโทษมากกว่า แล้วอำนาจการตรวจสอบจะไปตกอยู่กับใคร ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายใดให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ ก็ไปตกที่ศาลยุติธรรมที่มีอำนาจตรวจคดีทุกคดี

เมื่อศาลยุติธรรมมีอำนาจตรวจสอบ ในทางปฏิบัติจริงๆ ศาลทำอย่างไร มีทัศนคติอย่างไรต่อเรื่องนี้ เรื่องนี้พูดบนจินตนาการไม่ได้แต่ต้องพูดเรื่องข้อเท็จจริง

ข้อเท็จจริงซึ่งมีตัวอย่างเกิดขึ้นแล้วก็คือเรื่องของเว็บไซต์ประชาไท ทางศอฉ. ได้มีคำสั่งปิดหลายๆ เว็บไซต์โดยอ้างเหตุว่าจะมีข้อความที่อาจจะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือทำให้ประชาชนหวาดกลัว เมื่อทางศอฉ. สั่งปิดเว็บไซต์ ซึ่งรวมถึงประชาไท ทางประชาไทก็ฟ้องคดีไปที่ศาลแพ่ง ว่าคำสั่งดังกล่าวมีลักษณะละเมิดให้ออกคำสั่งชดใช้ค่าเสียหาย ศาลรับคำฟ้องในเช้าวันหนึ่ง แล้วมีคำสั่งประมาณ สี่โมงเย็น โดยประชาไทขอให้ศาลพิจารณาว่าศอฉ. มีอำนาจในการสั่งให้ปิดเว็บไซต์หรือเปล่า ศาลไม่ไต่สวน แต่สี่ห้าชม. หลังจากนั้น ศาลก็มีคำพิพากษาออกมาเลยว่าศอฉ. มีอำนาจในการสั่งปิดเว็บไซต์

ประเด็นที่หนึ่งคือ ศาลเองไม่เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงอันเป็นส่วนประกอบส่วนเหตุที่ทำให้ ศอฉ. มีอำนาจ คือ ตามพ.ร.บ. ฉุกเฉินมาตรา 9 ให้อำนาจ ศอฉ. ว่าในกรณีที่มีความจำเป็นนายกมีอำนาจ ห้ามการเสนอข่าว จำหน่าย หรือแพร่หลายซึ่งหนังสือสิ่งพิมพ์ในเขตพื้นที่ทั่วประเทศ

ดังนั้นการสั่งปิดเว็บไซต์ ต้องมีข้อความที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูล คือกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจปิดยังไงก็ได้ แต่จะปิดได้ก็ต่อเมื่อเว็บไซต์นั้นมีข้อความที่ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว
ท่านต้องไม่ลืมว่าเหตุแห่งการใช้อำนาจของศอฉ. จริงๆ ตกอยู่ภายใต้การตรวจสอบอำนาจของศาล นี่ยังไม่พูดถึงว่าการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินจริงๆ ศาลเองควรจะเข้ามาควบคุม แต่โดยคำวินิจฉัยของศาลแพ่ง ศาลมีทัศนคติที่จะไม่คุมข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบส่วนเหตุที่จะใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.

ประเด็นที่สอง ในคำบรรยายฟ้องของทางเว็บไซต์ประชาไท ซึ่งระบุว่ามีเว็บไซต์มีสองระบบคือเว็บข่าวกับเว็บบอร์ด การที่ศาลไม่เข้าไปตรวจสอบเลยว่าเว็บข่าวเป็นข่าวทั่วๆ ไป ถ้าปิดประชาไทได้ก็ปิดหนังสือพิมพ์อื่นๆ ได้ หากจะปิดเว็บบอร์ดก็ปิดเว็บบอร์ดไม่ใช่ปิดทั้งหมด ทำให้เกิดความรู้สึกว่าใช้อำนาจเกินสมควรแก่เหตุ สิ่งนี้ทำให้ผมรู้สึกว่า จริงอยู่ ว่าให้อำนาจในการบริหารในสถานการณ์ไม่ปกติ ก็ควรจะเป็นหน้าที่ของศาลที่จะเข้ามาตรวจสอบ แล้วท่านจะเลือกอย่างไร ศาลบอกว่า เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ศาลจะไม่คุมหรือคุมแบบเบาบางมาก หรือเมื่อสถานการณ์แบบนี้ศาลควรจะเข้ามาคุมอย่างจริงจัง นี่เป็นวิธีคิดสองทาง ที่ผ่านมา ศาลแพ่งใช้แนวทางแรก คือศาลจะไม่เข้ามาคุม เมื่อไม่เข้ามาคุม ผลจะเกิดขึ้นสองอย่างคือ หนึ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งรัฐธรรมนูญคุ้มครองมีความสุ่มเสี่ยงอย่างมากว่าจะไม่ได้รับการคุ้มครองป้องกันเท่าที่ควรจะเป็นตามที่กำหนดไว้ สองคือ สัญญาณอย่างนี้เป็นการส่งสัญญาณในทางที่ทำให้ฝ่ายบริหารเกิดความย่ามใจว่าไม่ต้องบันยะบันยะกันมาก เมื่อสัญญาณออกมาแบบนี้ คำถามที่ผมจะทิ้งไว้ในเบื้องต้นก็คือว่า พ.ร.บ. ฉุกเฉิน ตัดอำนาจศาลปกครองไป อำนาจตรวจสอบมาตกอยู่ที่ศาลยุติธรรม แต่ศาลยุติธรรมก็ไม่ได้ทำหน้าที่ในลักษณะที่ควรจะเป็นไปเพื่อคุ่มครองผู้ที่ได้รับผลกระทบ และทำให้ฝ่ายบริหารใช้อำนาจโดยไม่ยับยั้งชั่งใจ

ถ้าเราไม่ยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน จะเป็นไปได้ไหมที่จะตัดเรื่องการตัดอำนาจศาลปกครอง พูดง่ายๆ คือให้ศาลปกครองมาใช้อำนาจในการตรวจสอบแทนศาลยุติธรรม

กรณีประชาไทนั้น หลังจากมีการยื่นฟ้องคดี ในคำบรรยายฟ้องว่าขัดหลักรัฐธรรมนูญและขัดกับการได้สัดส่วน ทางประชาไทขอให้ศาลไต่สวนเพื่อให้ศาลเรียก ศอฉ. มาแสดงเหตุผลต่อศาลว่าตรงไหนที่ขัดต่อความมั่นคง ถ้าศาลไดเรียกมา ศาลก็จะได้เห็นว่าศอฉ. ชี้แจงมีเหตุผมหรือไม่ ถ้ามีเหตุผลก็ปิดได้ แต่ที่น่าแปลกใจคือศาลไม่เรียกมาชี้แจง ไม่พอยังทำตัวเข้าใจฝ่ายศอฉ. และประชาไทก็ชี้แจงไปแล้วว่าเว็บไซต์มีอย่างไร แต่ศาลก็เพียงวินิจฉัยโดยอ้างเหตุผลลอยๆ ฝ่ายบริหารจะใช้อำนาจเกินเลยไปบ้างก็ไม่เป็นไร แต่ศาลไม่ควรละเลย ไม่มีการแตะเลยว่าศาลมีทัศนคติในการตรวจสอบตรงนี้เลย

ที่หนักกว่านั้นคือ ยื่นคำฟ้องเก้าโมง บ่ายฟังคำพิพากษาเลย โดยไม่มีการไต่สวน ตรงนี้แหละมาถึงข้อสรุปว่า ถ้าฝ่ายบริหาร Abuse of Power แต่ถ้าศาลตรวจสอบไม่เป็นไร แต่ถ้าศาลไม่ตรวจสอบตรงนี้แหละที่มีปัญหา

สำหรับการพิจารณาทางด้านการเมืองเรื่อง พ.ร.บ. ฉุกเฉินนั้น ถ้ามองย้อนหลังกลับไปที่ 2548 นับจากมีการประกาศใช้ในเขตสามจังหวัดภาคใต้ แล้วหลังจากนั้นการประกาศใช้ก็ถูกประกาศในหลายๆ เขตด้วยกัน โดยเหตุผลทางการเมืองเป็นหลัก นับตั้งแต่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารใช้เครื่องมือในการระงับยับยั้งการชุมนุมที่รัฐบาลเป็นคู่กรณี ทั้งหมดนี้เป็นประวัติศาสตร์การใช้ พรบ ฉุกเฉิน แต่บรรดาการประกาศ สี่ห้าครั้ง ต้องยอมรับว่า ในสมัยรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์การใช้พ.ร.บ. ฉุกเฉินที่มีความเข้มข้นมากที่สุด ท่านลองย้อนไปดูสมัยรัฐบาลประกาศแล้วเกิดอะไรขึ้นไหม มันก็ไม่เกิด เพราะมีทหารสับปะรด แต่ไม่รู้เป็นความโชคดีหรือโชคร้าย เมื่อประกาศแล้ว กลไกของทหารและตำรวจทำงานได้ไม่เต็มกำลังเหมือนสมัยรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ซึ่งมาตรการต่างๆ ใช้ได้หมดเลย

พ.ร.ก. ถูกใช้เพื่อเป้าหมายทางการเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งไม่รู้จะยุติเมื่อไหร่ สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือการประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉุกเฉิน โดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เมื่อนำไปสู่การสลายการชุมนุมโดยภาษาของรัฐบาลคือการกระชับพื้นที่ มันมีการเสียชีวิต บาดเจ็บ สูญเสียทรัพย์สินเยอะแยะไปหมด เมื่อเอากฎหมายนี้มาใช้และเกิดการสูญเสียขึ้นมา มันจะเกิดสิ่งหนึ่งคือ ฝ่ายหนึ่งสะใจ และอีกฝ่ายหนึ่งคับแค้นใจ นี่เป็นผลอย่างหนึ่งเมื่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้พร. ฉุกเฉิน ซึ่งใช้ระงับยับยั้งความขัดแย้งทางการเมือง และใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นมันจะถูกใช้อีกและที่สุดแล้ว ความคับแค้นใจ อาจจะเกิดขึ้นสลับข้างกันก็ได้ แล้วต้องจ่ายอีกเท่าไหร่

ความจริงผมไม่อยากตอบคำถามปลายเหตุว่าวันนี้ควรจะยกเลิก พ.ร.บ. ฉุกเฉินหรือไม่ ผมคิดว่า ถ้ามันใช้อย่างถูกต้องวัตถุประสงค์มันก็มีประโยชน์ แต่ถ้ามันใช้ผิดวัตถุประสงค์มันก็เป็นโทษ การจะยกเลิกไหม ผมก็สองจิตสองใจ แต่คำถามคือวันนี้เมื่อ พ.ร.บ. ฉุกเฉินกลายมาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง คำถามก็คือ จะเป็นไปได้ไหม ให้ความขัดแย้งทางการเมืองนั้นยุติลงเสียที ผมคิดว่าอาจจะไม่จำเป็นจะต้องยกเลิกแต่ผมต้องการให้การใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินเป็นไปเพื่อแก้ไขความมั่นคงของรัฐจริงๆ บทบัญญัติไหนที่มีปัญหาก็ต้องแก้ และเมื่อไหร่ก็ตามที่ฝ่ายบริหารใช้อำนาจตามพ.ร.ก. ฉบับนี้ ศาลต้องเข้ามาตรวจสอบอย่างเข้มข้นอยู่ ไม่ใช่อย่างที่ศาลแพ่งได้ตรวจสอบไป

วันนี้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินนั้นแน่นอนว่าเป็นเครื่องมือในการสร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และหวังว่าในอนาคต หากมีรัฐบาลที่จะประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน จะไม่มีการนำมาใช้โดยทำให้เกิดการเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอีกต่อไป

ถ้าเราเห็นว่าตัว พ.ร.บ. ฉุกเฉินในบางสถานการณ์มีประโยชน์ สิ่งที่ต้องแก้ไขก็คือ อำนาจในการประกาศใช้ เมื่อในทางข้อเท็จจริงการประกาศใช้สามสี่ครั้งที่ผ่านมาเป็นการประกาศเพื่อแก้ปัญหาทางการเมือง ก็ควรจะให้มีฝ่ายอื่นมาตรวจสอบการประกาศใช้ เช่น กรณีของฝรั่งเศส อำนาจพิเศษของประธานาธิบดี ก่อนที่จะมีการประกาศใช้กฎหมายต้องมีการปรึกษาหารือ กับ นายก สภา และคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ถ้าเราคิดว่าฝ่ายบริหารจะประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินไปในทางใด ก็ควรกำหนดให้มีการปรึกษาหารือ เช่น สภาผู้แทนฯ ซึ่งเขาเป็นตัวแทนของประชาชน ก็น่าจะมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น หรือสร้างระบบที่ควรเบรกได้ พูดง่ายๆ คือการประกาศใช้อย่าให้เป็นอำนาจของฝ่ายบริหารอย่างเดียว และเมื่อประกาศใช้แล้ว ก็ต้องออกมาตรการในการเยียวยา แต่ที่ผมห่วงคือเรื่องทัศนคติ สมมติถ้าผมบอกว่าเอาละ นายกโยความเห็นชอบของฝ่ายนิติบัญญัติ และให้ศาลมาควบคุมการใช้อำนาจได้ เช่นศาลปกครอง แต่ว่าการแก้ไขกฎหมายบางทีเร่าอาจจะมองเฉพาะปัญหาเฉพาะเชิงหลักการอย่างเดียว แต่มีปัญหาในทางความเป็นจริง เพราะถ้าคุณเชื่อว่าศาลตัดสินโดยความเป็นธรรมจริงๆ แต่ปัญหาคือวันนี้เราก็ไม่แน่ใจ ว่าศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลยุติธรรมมีความคิดหรือทัศนคติที่เป็นเหตุเป็นผลในทางภววิสัยจริงๆ หรือเปล่า ถ้าเป็นแบบนี้ต่อให้มีการควบคุม ก็เข้าอีหรอบเดิม

เอาเป็นว่าข้อเสนอขณะนี้ก็คือ หนึ่ง ก่อนประกาศใช้ ให้สภาเข้าดู และสอง เมื่อประกาศใช้ไปแล้ว ให้ศาลปกครองเข้าควบคุม
 

000
“พ.ร.ก. ฉุกเฉินเมื่อใช้แล้วเป็นอย่างนี้ ต้องทบทวนบทบัญญัติมากที่เดียวและทบทวนในแง่ของการใช้บังคับ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะกลายเป็นว่าประเทศไทยอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินตลอดไป”

พงษ์เทพ เทพกาญจนา อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

ประเด็นแรกคือการบังคับใช้ กฎหมายที่ไม่ยุติธรรมคนยังพอยอมรับได้ เหตุที่คนยังพอยอมรับได้เพราะว่ามันใช้กับทุกคน ถ้ามันใช้กับทุกคนแล้วทุกคนเดือดร้อน แต่ที่ยอมรับไม่ได้เลยคือผู้ใช้กฎหมายที่ไม่ยุติธรรม เพราะมันเลือกปฏิบัติ เหมือนอย่างการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินมีการเลือกปฏิบัติ สมมติว่าเขาไม่พอใจก็บอกว่าการเสวนาวิชาการวันนี้เกินห้าคน เราก็จะโดนจำคุกกันคนละไม่เกิน 2 ปี ก็ต้องดูกรณีของนักเรียนที่เชียงราย เด็กอายุสิบกว่าปีที่เชียงรายเขาเห็นคนตาย แต่แปลกเหมือนกันอธิการบดีมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ ไม่เห็นคนตาย ราชประสงค์มันอยู่ในกรุงเทพฯ นะ ทำไมนักศึกษานักเรียนที่เชียงรายบอกว่าเห็นคนตาย แต่อธิการบดีมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ บอกว่าไม่เห็น

เรื่องการบังคับใช้อีกตัวอย่างที่น่าสลดใจมาก คือคุณวสันต์ สายรัศมี เป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิอาสาสมัครกู้ภัยที่อยู่ในวัดปทุมฯ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 ปรากฏว่าคุณวสันต์ถูกหมายเรียก ถ้าคุณวสันต์ไม่ไปก็โดนข้อหาขัด พ.ร.บ. ฉุกเฉิน คุณวสันต์บอกว่าหลังจากถูกออกหมายเรียก ชีวิตทุกวันนี้ต้องอยู่อย่างยากลำบากหลบๆ ซ่อนๆ ไปอาศัยกับเพื่อนอยู่ชั่วคราวไม่สามารถกลับบ้านได้อีก รวมทั้งสถานที่ทำงานก็ถูกกดดันไม่ให้เข้าไป ทำให้ตอนนี้ลำบากหนักเพราะจ้องเลี้ยงดูครอบครัว จากคนที่เคยทำงานเพื่อสังคม กลับต้องมาหนีหัวซุกหัวซุน ชีวิตทุกวันนี้ผ่านไปแต่ละวันผ่านไปอย่างหวาดระแวง สงสารยายและลูก

กรณีของคุณวสันต์ แทนที่ ศอฉ. จะไปสอบคนที่ยิงเขา ดันมาสอบคนที่เรียกร้องความเป็นธรรมให้คนที่ถูกยิง ศอฉ. เขาออกมาให้ข่าวว่ามีชายชุดดำเอาปืนมายิงคน ผมขอบอกว่าวันนั้นใครถือปืนแล้วไม่ได้แต่งเครื่องแบบผมรับประกันว่าต้องเป็นเป้านิ่งให้ทหารแน่นอน มันมีคนอยู่ชุดเดียวแหละครับที่ถือปืนแล้วยิงคนได้โดยไม่ผิด คือคนที่ต้องใส่ชุดสีเขียวครับ
กรณีเว็บไซต์ประชาไท รธน. 2550 เขียนไว้ชัดเจน เรื่องเสรีภาพในการแสดงออก มาตรา 45 วรรค 3 การสั่งปิดเพื่อริดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้กระทำไม่ได้ เขาห้ามปิดสื่อครับ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ปิดไม่ได้ สิ่งที่ศอฉ. ทำมันขัดรัฐธรรมนูญร้อยเปอร์เซ็นต์เลย สิ่งที่คุณทำได้คืออะไร ถ้ามีคอลัมน์ ก็ห้ามเผยแพร่คอลัมน์ แต่นี่ไม่ใช่ครับ ปิดเขาเลย หรือการห้ามจำหน่ายหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ฉบับนั้น ยังไม่รู้เลยว่าอนาคตเขาจะเขียนอะไร เขาอาจจะเขียนชื่นชมศอฉ. ก็ได้ อย่างนี้ขัดรัฐธรรมนูญร้อยเปอร์เซ็นต์

ทีนี้เรื่องการใช้อำนาจนั้นไม่ใช่เฉพาะการใช้อำนาจที่เกินเลยสุดๆ แม้กระทั่งเรื่องหนึ่ง คือเรื่องการแช่แข็งบัญชี อาจจะได้ยินว่าวันดีคืนดีก็มีการประกาศรายชื่อบุคคลที่ห้ามทำธุรกรรมการเงิน การล็อกบัญชีตอนนั้นเป็นการล็อกที่เขาไม่มีข้อมูลอะไรหรอก มองหน้าแล้วสงสัยจะใช้ก็ล็อกเพื่อจะไปเปิดบัญชีธนาคารเขาดู

ตามกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินเขามีมาตราที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่คือตัวนายกรัฐมนตรีที่จะกระทำการต่างๆ ปกติอำนาจตามมาตรา ที่ 11 อนุ 6 [1] ไม่ได้บอกให้คุณอภิสิทธิ์มอบให้ใครได้เลย การที่จะสั่งได้ก็ต้องมีเหตุผลที่จะสั่ง

เรื่อง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน จริงแล้วไม่ได้ใช้เฉพาะกรณีความมั่นคง แต่ใช้กับกรณีอื่นเช่น ภัยพิบัติ เช่น สึนามิ ไม่ใช่กฎหมายที่ใช้ยาวนานหรือใช้ตลอด เช่นเกิดเหตุการณ์พฤษภา ใช้ก็ไม่ว่ากัน แต่หลังจากพฤษภามาแล้วถามว่ามันมีสถานการณ์อะไร และกฎหมายนี้ก็บังคับว่าเมื่อสถานการณ์สิ้นสุดลงต้องยกเลิกทันที เพราะกฎหมายแบบนี้ทำให้กลไกต่างๆ ของประเทศรวนหมด และสิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกลิดรอน เราจะเห็นว่าระยะเวลาที่จะใช้ยาวสุดสามเดือน มาตรา 5 วรรค 3 ระบุว่า เมื่อสถานการณ์สิ้นสุดลง ให้ประกาศยกเลิก และในกรณีฉุกเฉินร้ายแรงต้องประกาศยกเลิกโดยเร็ว ไม่ใช่ใช้ยาวนานไปเรื่อย ถามว่าตอนนี้ทำไมจึงประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินและเหลืออยู่บางจังหวัด ก็เพราะว่าเปิดโอกาสให้จัดการปิดปากสื่อได้ และการปิดปากสื่อนั้นขอให้พื้นที่ประเทศไทยมีส่วนหนึ่งส่วนใดที่ใช้สถานการณ์ฉุกเฉินก็สามารถปิดสื่อได้ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งบรรจุไว้ในมาตรา 9 อนุ 3

กลับมาที่การตัดอำนาจศาลปกครอง ต้องยอมรับว่ากระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารของศาลปกครองและศาลยุติธรรมจากที่เคยใช้นั้นมีการใช้ที่แตกต่างกัน ศาลปกครองจะเข้าไปลึกกว่าศาลยุติธรรม เมื่อตัดอำนาจไม่ไปศาลปกครองระบบการตรวจสอบก็จะเบาลง แต่ผมก็แปลกใจว่าในกรณีประชาไทว่าประชาไทนั้นอ้างสิทธิตาม รธน. และอีกประการคือเรื่องการรีบร้อนปิดคดีโดยไม่ฟังคู่ความว่าเขามีความเห็นอย่างไร ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย การรีบด่วนตัดสินไปไม่น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นผลดีกับผู้ตัดสิน ผมเองก็ได้มีโอกาสเห็นว่าหากปล่อยให้คู่ความได้มีโอกาสเสนอข้อเท็จจริงและความคิดเห็น แต่ถ้าไม่ฟัง โอกาสที่จะตัดสินให้รัดกุมเที่ยงธรรมนั้นน้อยลงไป

ในเรื่องกฎหมายความมั่นคงนั้น ที่ประกาศปี 2551 มีการใช้มา 12 ครั้งและใช้ในสมัยรัฐบาลปัจจุบันทั้งสิ้น แล้วกฎหมายความมั่นคงนี้ในความเห็นของผม ผมมองว่า จริงๆ แล้ววัตถุประสงค์หลักจริงๆ คือการสถาปนาอำนาจกองทัพให้เข้ามามีบทบาทแนวทางของประเทศไทย ภายใต้ข้ออ้างเรื่องความมั่นคงของรัฐ คือสถาปนา กอรมน. ขึ้นมาควบคุมแนวทางของรัฐ ประเทศไทยเราเชื่อถือทหารขนาดนี้เลยเหรอ ซื้อเรือเหาะยังเหาะไม่ขึ้นเลยนะ GT200 ซื้อมาเกือบแปดแสนล้าน แต่แกะออกมาแล้วไม่มีอะไรเลย เรายังเชื่อถือคนเหล่านี้ให้ควบคุมกลไกต่างๆ ของรัฐ

ถ้าท่านดูกฎหมายพ.ร.บ. กอ.รมน. ที่ประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 2551 ใน มาตรา 7 อำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. คือเสริมสร้างให้ประชาชนในชาติตระหนักในหน้าที่เพื่อพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เขาไม่ได้พูดเลยว่าจะรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เจตนาก็ชัดว่าไม่ได้สนใจเรื่องความเป็นประชาธิปไตย

ประการที่สอง กฎหมาย กอรมน. ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเข้าไปมีบทบาทใสนกระบวนการยุติธรรมในระดับปฏิบัติ ปกติกระบวนการยุติธรรมเนื่องจากต้องทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาไม่ลำเอียงเขาไม่เปิดโอกาสให้นักการเมืองเข้าไปใช้อำนาจตรงนี้ และให้นายกมีอำนาจในกรณีที่จะไม่ดำเนินคดี เวลาพนักงานสอบสวนเห็นว่าไม่ควรดำเนินคดีกับคนๆ นี้ ก็สามารถให้ความเห็นได้

ในความเห็นของผม ผมคิดว่ากฎหมายของกอรมน. มันยิ่งไม่มีประโยชน์กว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉินอีก กฎหมายฉุกเฉินนั้นมีมาตรการเดียวที่มีประโยชน์คือการสนธิกำลังของหน่วยงานต่างๆ ในช่วงเวลาสั้นๆ เช่นกรณี สึนามิ ซึ่งจะทำให้สามารถรวมศูนย์สั่งการ แต่ต้องใช้อย่างจำกัด และในเหตุฉุกเฉินจริงๆ ไม่ใช่แบบที่ใช้อยู่ขณะนี้ เหมือนอย่างภาคใต้ที่สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเรื่องปกติ สถานการณ์ธรรมดาเป็นข้อยกเว้น และการจับและควบคุมตัวตามกฎหมายฉุกเฉินนั้นทำได้ถึง 30 วัน ไม่ต้องเป็นไปตาม วิ.อาญา ที่ต้องมีเหตุอันสมควรและเพียงพอ

กรณีการห้ามการชุมนุมและมั่วสุมขัดกับเสรีภาพในการแสดงออก แล้วบอกว่าเกินกว่า 5 คน ก็บอกยาก วิธีการคือเขาออกหมายเรียก ถ้าไม่ไปก็จะถูกกล่าวหาว่าขัดขืนโดนหมายจับหาว่าฝ่าฝืนคำสั่ง แต่ถ้าไปก็เอาตัวไว้ นอกจากนี้มีการดักฟังการสื่อสาร และที่แย่ที่สุดที่คนเสียชีวิตมากคือการใช้ทหารเข้ามาช่วยตำรวจ ที่ผ่านมามากันเพียบเลยครับ สารพัดปืน รถหุ้มเกราะ และเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่รู้ว่าอบรมกันอย่างไร เขานึกว่าประกาศหรือปืนที่ได้มาใช้ยิงใครก็ได้ เขาไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการยิงใครก็ได้นะครับ

ผมจำได้ว่าตอนที่มีการไปชุมนุมอยู่ที่หน้ารัฐสภา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในสมัยรัฐบาลสมชาย โดน ป.ป.ช. บอกว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ที่มีผู้เสียชีวิตจากการยิงแก๊สน้ำตาเข้าไป โดนตั้งข้อหา ป.ป.ช. บอกคดีมีมูล ถ้า ป.ป.ช. เป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ไม่ได้แปลว่าปกป้องคนชั่ว กรณี 19 พ.ค. ป.ป.ช. ต้องรีบเข้ามาดู เพราะมีการยิงก่อนวันที่ 19 และหลังอีก และหนักหนาสาหัสกว่าเยอะจริงๆ

ในส่วนของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินเมื่อใช้แล้วเป็นอย่างนี้ ต้องทบทวนบทบัญญัติมากที่เดียวและทบทวนในแง่ของการใช้บังคับ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะกลายเป็นว่าประเทศไทยอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินตลอดไป
 

พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มันจะบังคับใช้ต่อไปในอนาคตเป็นปัญหามากเหมือนกันเพราะมีตัวอย่างการใช้แบบนี้ ถ้ากฎหมายยังเหมือนเดิม ต่อไปก็มีโอกาสจะใช้มนเหตุการณ์ทำนองเดียวกันอีก ก็เป็นข้อห่วงกังวลที่มีเหตุผลมาก ตอนแรกที่ออก พ.ร.ก. มาก็เพื่อใช้แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในสถานการณ์ภาคใต้ และเห็นว่าไม่ได้ประสิทธิภาพอะไรที่เพิ่มขึ้นมาจากกลไกปกติ ผมจึงเห็นด้วยว่าต้องทบทวนว่าจะใช้กฎหมายฉุกเฉินในเรื่องความมั่นคงต่อไปหรือไม่ หรือควรจะจำกัดแต่กรณีของภัยพิบัติ ซึ่งน่าจะไม่มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพแน่

000
“กฎหมายทุกฉบับที่ออกมาต้องให้ความคุ้มครองในเรื่องหลักสิทธิเสรีภาพ และความเป็นคนให้มากกว่าความมั่นคงของรัฐด้วยซ้ำไป เพราะความมั่นคงของรัฐคือความมั่นคงของประชาชน ถ้าความมั่นคงของมนุษย์ถูกทำลายแล้วรัฐจะมีความมั่นคงได้อย่างไร กฎหมายทุกวันนี้เป็นกฎหมายที่รวบอำนาจเป็นกฎหมายพิเศษที่รวบอำนาจให้ฝ่ายบริหาร”

น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉินประกาศใช้วันที่ 17 ก.ค. 2548 ซึ่งขณะนั้นผมเป็น สว. และเป็นกมธ. สิทธิมนุษยชน วุฒิสภา และพ.ร.บ.ความมั่นคงมาออกในรัฐบาลพล.อ. สุรยุทธ์ ซึ่งผมเป็นประชาชนธรรมดา แต่ประเด็นไม่ได้อยู่ที่แค่การใช้อำนาจโดยมิชอบ แต่ประเด็นอยู่ที่เราไม่ควรมีกฎหมายอันนี้ มันไม่ใช่เรื่องการใช้ยาที่ผิดกหรือไม่ถูกต้อง แต่ไม่ควรมียาขนานนี้อยู่เลยในประเทศไทย และผมคิดว่ามันมีบทเรียนมาแล้วที่ตอกย้ำก็คือ สถานการณ์ภาคใต้ ซึ่งแม้จะใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.บ. ความมั่นคง แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ยุติ

พยาธิสภาพของการใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉินจากการที่ผมได้ลงพื้นที่ 9 แห่ง เราได้พบผู้ต้องหาประมาณ 211 คน จากตัวเลข 424 คน เราพบว่าคนที่โดยพ.ร.ก. เล่นงาน ไม่ใช่พวกผมอายุสี่สิบห้าสิบ แต่เป็นพวกอายุยี่สิบกว่า เด็กที่อายุน้อยกว่า 25 มี 17 คน ซึ่งก็ไม่ได้เรียนหนังสือ และกำลังถูกอาจารย์และเพื่อนในสถาบันสงสัยว่าไอ้เด็กคนนี้เป็นผู้ก่อการร้าย ทั้งที่คุณเป็นแค่เด็กที่ทำงานส่งพิซซ่าแล้วอยากรู้ว่าบ้านเมืองนี้เกิดอะไรขึ้นก็ไปฟัง แล้วก็ถูกรวบไปด้วย ยิ่งเด็กที่พ่อแม่ส่งลูกมาเรียนเพื่อให้ลูกไต่เต้าไปได้ พ่อแม่จะคับแค้นใจขนาดไหน พ.ร.ก. ฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ทำร้ายคน และเป็นคนบริสุทธิ์ ไม่ใช่แค่เด็กที่เชียงราย โดนศาลส่งไปบำบัดจิต คนรุ่นอายุผม คนรุ่นตุลา เคยถูกตราหน้าว่าเป็นพวกหัวรุนแรง แต่ขณะนี้ พ.ร.ก. บอกว่าเด็กคนนี้สภาพจิตผิดปกติ พยายามบอกว่าเด็กเหล่านี้เป็นเด็กก้าวร้าวต่อสภาพสังคม ทั้งๆ ที่เด็กกำลังกระตือรือร้นต่อปัญหาสังคมมากกว่าเด็กที่นั่งอยู่ที่นี่ (ห้องประชุม LT1)แล้วไปบอกว่าเด็กมีปัญหาสุขภาพจิต ผมคิดว่าคนที่จะควรจะถูกตรวจสภาพจิตก็คือคนที่คิดจะส่งเด็กไปตรวจมากกว่า นี่คือผลของการใช้กฎหมายที่อยากจะปราบผู้ก่อการร้าย แต่คุณกำลังทำร้ายเด็ก กำลังสร้างตราบาปให้กับเด็ก นี่คือสิ่งที่เราพบในคนบริสุทธิ์จริงๆ มันยากเสียยิ่งกว่าพวกเราที่มีสื่อส่วนกลาง ผมไม่ได้พูดถึงหัวหน้าหรือแกนนำนะครับ

ประเด็นต่อไปคือ สิทธิของเขาเหล่านี้ เมื่อการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมขณะนี้มีปัญหามาก โอกาสในการประกันตัวก็น้อยทั้งๆ ที่เขาก็พยายามขอประกันตัว โดยระบุว่ามีภาระเลี้ยงดูพ่อแม่ แต่เพราะที่ผ่านมา หลังจากมีการเผาศาลากลางในหลายจังหวัด อำนาจส่วนกลางก็สั่งย้ายผู้ว่า ย้ายผู้การฯ ตอนนี้หน่วยงานรัฐเลยมีการเข้มงวดมาก โอกาสในการประกันตัวจึงน้อย เพิ่งจะมีที่อุบลฯ เริ่มมีการให้ประกันตัว แต่หลักประกันสามแสนถึงห้าแสนบาท ฉะนั้นโอกาสที่จะมาต่อสู้ที่ยืนยันว่าบริสุทธิ์ก็ยาก และผมบอกเลยว่าคนที่เผาศาลากลางจริงๆ ไม่ถูกจับหรอก แต่คนที่ถูกจับขณะนี้เป็นแค่ผู้ที่ไปร่วมการชุมนุม เป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นคนยากคนจน และแม้แต่สิทธิของเขาที่จะต่อสู้กับกระบวนการยุติธรรมไม่มี ไอ้ที่เห็นเป็นข่าวก็คือแกนนำ แต่ตัวเล็กตัวน้อยไม่ได้โอกาส

ขณะนี้พบว่ากระบวนการยุติธรรมและการพิจารณาลงโทษ บางคนถูกตัดสินจำคุก 20 ปี บางแห่งบอกว่าให้สารภาพซะเพื่อโทษจะน้อยลง ก็สารภาพ คนบ้านนอกก็คิดว่าอย่างนั้น นี่คือสิ่งที่เราพบ ยังไม่พูดถึงคนอีกส่วนหนึ่งที่ถูกทำร้ายร่างกายที่ถูกจับกุมด้วย อยู่ในรถควบคุมนักโทษสองวัน ไปศาลๆ ก็ไม่เอา ไปสถานีตำรวจก็ไม่เอาเพราะกลัวเสื้อแดงบุก นี่คือการละเมิดสิทธิ นักเรียน สิทธิในความยุติธรรม ได้รับการดูแลเหมือนอย่างไม่ใช่เป็นมนุษย์ นี่คือข้อมูลความเป็นจริง
ฉะนั้นปัญหาของการใช้ พ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ. ความมั่นคง ทำให้เกิดปัญหาทำร้ายประชาชน 3 อย่าง

ประการแรกคือ ประชาธิปไตยไม่ได้อยู่ที่การเลือกตั้ง แต่กฎหมายทุกฉบับที่ออกมาต้องให้ความคุ้มครองในเรื่องหลักสิทธิเสรีภาพ และความเป็นคนให้มากกว่าความมั่นคงของรัฐด้วยซ้ำไป เพราะความมั่นคงของรัฐคือความมั่นคงของประชาชน ถ้าความมั่นคงของมนุษย์ถูกทำลายแล้วรัฐจะมีความมั่นคงได้อย่างไร กฎหมายทุกวันนี้เป็นกฎหมายที่รวบอำนาจเป็นกฎหมายพิเศษที่รวบอำนาจให้ฝ่ายบริหาร

ประการต่อมา สมัย พ.ศ.2495 มีการประกาศใช้พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นการรวบอำนาจของฝ่ายทหารและกฎอัยการศึก ไม่ผ่านสภา และเอาอำนาจฝ่ายบริหารมาอยู่ที่นายกคนเดียว สถานการณ์ฉุกเฉินขณะนี้ มันมากกว่าปี พ.ศ.2495 เสียอีก มันกว้างมากในการตีความ ฉะนั้นการใช้กฎหมายฉบับนี้จึงต้องจำกัดเวลา และพื้นที่ และสถานการณ์ อย่างนี้มันไม่ถูก เพราะมันขึ้นกับดุลพินิจของคุณคนเดียว ถ้าคุณบ้าอำนาจเผด็จการ เหมือนกรณีสามจังหวัดภาคใต้ก็แก้ปัญหาไม่ได้ นี่คือการคัดค้านของนักวิชาการ สว. และนักสิทธิมนุษยชนขณะนั้นด้วยซ้ำ การห้ามนั้นคือการห้ามหรือสั่งให้กระทำการใดๆ แปลว่าคุณห้ามทำทุกเรื่อง นอกจากฉันสั่ง ถ้าห้ามทุกเรื่องก็แหงสิครับ ประชาไทก็ถูกปิดสิครับ และสื่ออื่นห้ามเสนอข่าว ในพ.ร.ก. ห้ามแค่แสดงความคิดเห็น แต่พ.ร.บ. ห้ามเสนอข่าวเลย ฉะนั้นการที่นักการเมืองทำให้กฎหมายนี้เหนือกว่ารัฐธรรมนูญ ทำลายสิทธิเสรีภาพหมด ผมไปตรวจสอบตั้งแต่กรณีการสลายการชุมนุม เขาเหล่านี้มาประชุมแสดงสิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมือง แต่ไปใช้กฎหมายนี้ในการควบคุมผู้ต้องสงสัย มันก็คือจับละครับ คุมตัวครั้งละ 7 วัน โดยหมายศาล การถูกจับโดยหมายศาลดูแล้วดี แต่อีกด้านหนึ่งคือคุณกำลังใช้ศาลในการละเมิดกฎหมาย ป.วิอาญา ที่ต้องมีข้อหาที่ชัดเจน มันคือการกักกันสิทธิเสรีภาพ ยิ่งสมบัติ บุญงามอนงค์ เขาเลิกไหม เขาก็ผูกผ้าแดงต่อ นี่คือสิทธิทางการเมือง ฉะนั้นสิ่งทีผมบอกว่า มันเป็นยาผิดไม่ควรใช้ มันกำลังทำลายภูมิต้านทานของคนและสังคม ภูมิต้านทานของคนและสังคมคือความเป็นพลเมือง สิทธิความเป็นพลเมืองกำลังถูกทำร้าย นี่คือการทำร้ายสังคม และอีกส่วนหนึ่งมันจะทำให้เชื้อดื้อยา คนที่คิดไม่ดี ก็จะมีเล่ห์เหลี่ยมมากขึ้น

ตัวกฎหมายมันเป็นการละเมิดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้ฝ่ายบริหารละเมิดรัฐธรรมนูญ ต้องตระหนักให้ดี ไม่เว้นแม้แต่การเอาหมายศาลมาเป็นตัวควบคุมผู้ต้องหา อย่างคุณวสันต์ ตอนนี้เขาไปช่วยผู้ชุมนุมที่วัดปทุมฯ แล้วออกหมายเรียก หมายความว่าเขากลายเป็นผู้ต้องสงสัย ทุกวันนี้ผมไปลงพื้นที่ คนในพื้นที่เขาขอให้ข้อมูลแต่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ ฉะนั้นประเด็นต่อไปที่ผมจะบอกคือว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ตัดอำนาจในการตรวจสอบ แต่มันไม่ตัดแค่ศาลปกครอง แต่ตัดอำนาจตรวจสอบตามหลักอำนาจสามฝ่ายด้วย การไปตัดอำนาจศาลปกครอง คือการไต่สวนวิธีพิจารณาทางการปกครองอันเนื่องจากการกระทำของรัฐที่ไม่ชอบธรรม และทุกวันนี้คือการใช้อำนาจในการปกครองข่มเหงประชาชนมากที่สุด เมื่อคุณตัดไม่ให้คดีอยู่ในศาลปกครอง แล้วชาวบ้านจะไปฟ้องใคร เมื่อเขาถูกรังแก เป็นสองมาตรฐาน อำนาจอธิปไตยก็ถูกละเมิดด้วย แม้จะไปฟ้องศาลแพ่งได้แต่จะมีประโยชน์อะไร เมื่อตัดอำนาจศาลปกครองไปแล้ว แล้วจะบอกวาประเทศนี้มีความเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร

ขณะนี้รัฐบาลจึงอิหลักอิเหลื่อ จึงต้องไปตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำร้ายประชาชนบริสุทธิ์ คณะกรรมการปฏิรูปของหมอประเวศกับคุณอานันท์ ก็ไม่เอา บอกว่าคนละเรื่อง เขาทำเรื่องปฏิรูปไม่ใช่เรื่องปรองดองแล้วถามว่าความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ได้หมายความว่าให้ละเว้นความรับผิดของคนที่ฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐนะครับ แต่จะหาคนรับผิดชอบได้ไหม เมื่อการตรวจสอบไม่มี แล้วความจริงจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อประชาชนยังหวาดกลัว

ประการสุดท้าย ทั้ง พ.ร.บ. และพ.ร.ก. ผมพูดจริงๆ นะครับมันเข้าทางคนที่ต้องการก่อการร้าย และไม่หวังดีต่อบ้านเมือง เพราะบ้านเมืองเรามันสุดโต่งอยู่สองทาง ทางหนึ่งคือคนที่ไม่หวังดีต่อบ้านเมือง ส่วนหนึ่งเป็นการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ แต่พี่น้องที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมเยอะ ยุทธศาสตร์ขณะนี้เหมือนรัฐกำลังโยนระเบิดทางการเมืองเข้าใส่ประชาชน เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ เป็นเครื่องมืออย่างดีเลยครับ ผมจะไปรู้ได้ไงว่าเดือนสิงหาคมมันจะเกิดอะไร ตามปกติ สันติบาล กองบัญชาการสอบสวนกลางอยู่ที่ไหน ตอนนี้มีแต่ดีเอสไออย่างเดียวเหรอ ตอนนี้มันเข้าทางคนที่ต้องการต่อสู้ทางการเมืองด้วยแนวทางความรุนแรง กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ทำร้ายสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเดียวแต่ทำลายรัฐบาลและความชอบธรรมของรัฐบาลไปด้วย

องค์กรปกติขณะนี้ใช้อำนาจไม่เป็น ไม่มีประสิทธิภาพ จึงต้องมาใช้กฎหมายที่รวบอำนาจที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน อย่างไรก็ตาม พ.ร.ก. และพ.ร.บ. ยกเลิกได้แล้ว ถ้าคุณไม่ยกเลิก การที่จะทำให้บ้านเมืองเราสงบสุขมันเกิดขึ้นไม่ได้

ในส่วนของการควบคุมตัว มีการร้องโดยสมาชิกพรรคเพื่อไทย ว่ามีการควบคุมตัวนอกเขตที่กำหนด คือ จ.กาญจนบุรี ตอนนี้ยังหาตัวประชาชนที่ถูกควบคุมตัวนอกเขตที่กำหนดไว้มาชี้แจงได้แล้ว ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ นอกนั้นที่ไปตามเรือนจำที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่ไม่ได้เกี่ยวกับเรือนจำและทัณฑสถานนะครับ ค่อนข้างดูแลผู้ต้องหาได้ดีพอสมควรและระมัดระวัง ไม่ไปรวมกับผู้ต้องหาคนอื่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ทำร้ายกัน แต่ก็มีกรณีของโซ่ตรวน และทางเราก็มีมติไปทางรัฐบาลแล้ว

ผมมีข้อเสนอ ประการแรกผมคิดว่าสิ่งที่รัฐบาลทุกรัฐบาลหรือนักการเมืองต้องสนใจคือหลักนิติรัฐและนิติธรรม เพราะกฎหมายบางครั้งก็ไม่เป็นธรรม เช่นคดีริบเงินชาวบ้านเป็นล้านในคดีโลกร้อน เป็นต้น

กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินต้องยกเลิก ไม่มีประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น พ.ร.บ. ความมั่นคงที่ผ่านสภามาแล้วนั้นทำให้ไม่สามารถตรวจสอบและลงโทษผู้กระทำผิด และแม้จะมีสถานการณ์ความรุนแรงที่หน้าพรรคภูมิใจไทย หรือที่อื่นๆ ผมก็ยืนยันว่ากฎหมายปกติ กฎหมายอาญา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือเจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงานเข้ามาดำเนินการได้ แต่ปัญหาคือที่ผ่านมามีแตงโมเยอะ และมีการไม่กล้าใช้กฎหมายอีกต่างหาก แต่ที่มันลุกลามมาเรื่อยเพราะมันมีแตงโม มีเจ้าหน้าที่ที่ไม่จัดการกับผู้กระทำความผิดต่างหาก การมีกฎหมายความมั่นคงนั้นจึงไม่ใช่สิ่งที่มาแก้ไข

อีกเรื่องคือสถานการณ์ภาคใต้ หมอเองยังโดน ขนาดทำงานในพื้นที่ไปช่วยชาวบ้านที่ถูกข่มเหงรังแก รัฐบาลต้องตระหนักว่าการบังคับใช้กฎหมายนั้นมีการละเมิด อย่าไปคิดเรื่องการทำร้ายรัฐบาล นี่คือสิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญว่าต้องเข้ามาปฏิบัติ ไม่ใช่เปิดให้มีช็อปปิ้ง หรือชดใช้ แต่ต้องเข้ามาคุ้มครองผู้ที่ถูกกล่าวหา และเอาคนผิดมาลงโทษ

การตั้งคณะกรรมการขณะนี้ ที่คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อถือคืออะไร คือต้องรับผิดชอบ ต้องเอาความจริงออกมาให้ปรากฏ ใครเป็นคนฆ่าใครเป็นคนเผา แล้วต้องเอาคนผิดมาลงโทษ คุณมีอำนาจรัฐที่ได้จากผมและประชาชนทุกคนไป อย่าทำให้เหมือนว่าการใช้ พ.ร.ก. เหมือนกับการเข้าไปปราบปรามกดดันหรือขจัดความคิดเห็นของคนที่อยู่ตรงข้ามตัวเอง กลายเป็นกฎหมายที่ทำให้เกิดความมั่นคงของรัฐบาลยิ่งทำให้เสียความชอบธรรมมากขึ้น

ประการสุดท้ายคือ สื่อ ต้องลองพิจารณาวิทยุชุมชนที่ถูกปิด เว็บไซต์ที่ถูกปิด ทำผิดทำไหมได้ ขอโทษเขาเสียแล้วเปิดให้มีการแสดงความเห็นที่รอบด้าน แม้แต่นักเรียนที่ไปชูป้าย ไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายฉุกเฉินเลย ก็เปิดเวทีคุยไปเลย ทำไมต้องเอา พ.ร.ก. ไปจัดการเขา นี่คือการสื่อแสดงออกของคนที่เขาต้องการแสดงออกซึ่งสิทธิพลเมืองและการเป็นพลเมือง นี่เป็นสิ่งที่รัฐต้องเอาไปปฏิบัติ

ยิ่งแตกแยกยิ่งขัดแย้งรุนแรง ยิ่งต้องระมัดระวังเรื่องหลักสิทธิมนุษยชน ท่านอาจารย์ปรีดีบอกพวกเรามาตั้งแต่ปี 2475นะครับ เรื่องหลักสิทธิเสรีภาพ และเสมอภาค สังคมไทยต้องนำมาปฏิบัติให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะไม้รอดพ้นจากสภาพแตกแยกรุนแรงไปได้

000
“พ.ร.ก. เมื่อนำมาใช้ทางการเมืองก็ทำให้เกิดการใช้อำนาจอย่างเด็ดขาด และทำให้คนตายมาไม่รู้เท่าไหร่แล้ว โดยเฉพาะภาคใต้ มีคนตายหลายพันคน คนเจ็บเป็นหมื่น อาจจะไม่ต้องยกเลิก แต่ต้องเปิดให้มีการตรวจสอบได้ ...การตรวจสอบได้เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักความเป็นเสรีประชาธิปไตย”

นายวัชรพงษ์ จิโสะ ตัวแทนเยาวชน

ไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐบาลประชาธิปไตยที่อ้างว่าตัวเองมาจากสภาผู้แทนราษฎร ใช้กฎหมายที่ควบคุมสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้บิดเบี้ยวไปหมดแล้ว

สิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงกับปรัชญาการเมือง แนวทางหนึ่งคือเชื่อว่ามนุษย์เลว มีความชั่ว ทางที่จะควบคุมได้คือการควบคุม อีกทางคือมนุษย์มีเหตุผล ซึ่งคนเสื้อแดงเขามีเหตุมีผล ไม่ได้หมายความว่าเขามาชุมนุมเพราะเขาเป็นแมลงสาป โง่ดักดาน มองแล้วไม่เกิดปัญญา เวลาที่เราบอกว่าคนนั้นดี คนนั้นชั่ว พอบอกว่าคนนั้นเป็นคนดีแล้ว มันไม่ต้องใช้ปัญญาสร้างสรรค์อะไรเลย ทำให้คนบางส่วนเน้นเรื่องอำนาจนิยม ใช้อำนาจเด็ดขาด ตรรกะนี้มีอยู่เยอะ และธรรมศาสตร์มีส่วนหนึ่งที่ละลายอำนาจนิยมได้มาก การไม่แต่งชุดนักศึกษา ก็เป็นแนวทางหนึ่งเพราะการอยู่ในเครื่องแบบทำให้คนเซื่องได้

อีกเรื่องคือพ.ร.ก. ฉุกเฉิน เรามองรัฐกับรัฐบาลเป็นเรื่องเดียวกันหรือเปล่า เวลาเราบอกว่าความมั่นคงของรัฐมันคล้ายๆ กับเป็นความมั่นคงของรัฐบาล นี่คือปัญหาของรัฐบาลเสรีประชาธิปไตยในทุกประเทศใช้อำนาจเด็ดขาดนี่เป็นปัญหาของรัฐเสารีประชาธิปไตย อย่างประเทศฝรั่งเศส เขาให้ตรวจสอบได้เมื่อปี 2008 แต่การตรวจสอบโดยตุลาการรัฐธรรมนูญก็ยังมีแต่รูปแบบ แต่เนื้อหายังมีปัญหาอยู่มาก ผมคิดว่าผมในฐานะตัวแทนเยาวชนต้องยืนข้างคนเสียเปรียบ เสรีภาพมีมาตังแต่เกิดจนตายนะครับ ไม่ใช่บอกว่าเราไม่ได้รับผลกระทบ นี่เป็นเรื่องสำคัญของสังคมไทยและเยาวชนที่จะเติบโตไปในอนาคต

พ.ร.ก. ฉุกเฉินมองในแง่หลักการบริหารมันก็ดี แต่ในสังคมไทย อำนาจนิยมมาก พ.ร.ก. เมื่อนำมาใช้ทางการเมืองก็ทำให้เกิดการใช้อำนาจอย่างเด็ดขาด และทำให้คนตายมาไม่รู้เท่าไหร่แล้ว โดยเฉพาะภาคใต้ มีคนตายหลายพันคน คนเจ็บเป็นหมื่น อาจจะไม่ต้องยกเลิก แต่ต้องเปิดให้มีการตรวจสอบได้ และกระบวนการพิจารณาแบบศาลปกครอง เป็นแบบไต่สวน การตรวจสอบได้เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักความเป็นเสรีประชาธิปไตย

การใช้กฎหมายนั้นบางทีต้องโทษชนชั้นนำของสังคมไทยที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

000
อภิปราย

อ. สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ มธ.: วันนี้มีคนจำนวนหนึ่งและน่าจะเป็นจำวนมากที่ยังเห็นด้วยกับประกาศ และเห็นด้วยต่อการประกาศต่อไป ประกอบด้วย 3ประเด็นใหญ่ๆ คือ หนึ่ง มองว่าพระราชกำหนด สามารถป้องกันสถานการณ์สถานการณ์ฉุกเฉินได้ในภายหน้า ประเด็นที่สองคือ ประกาศเอาไว้ช่วยสร้างหลักประกันสิทธินักลงทุนต่างชาติเพื่อให้มั่นใจมากขึ้นเมื่อมีทั้งทหารและตำรวจคอยดูแล ประเด็นที่สาม คือ ชินแล้ว ไม่ได้เดือดร้อนอะไร ไม่ได้รับผลกระทบ คนที่คัดค้านคือไม่หวังดีต่อประเทศ คือจะทำผิดต่อประเทศหรืออย่างไร คำถามคือ ท่านคิดว่าตรรกะชุดนี้มีปัญหาไหม เป็นการใช้การตีความที่บิดเบี้ยวหรือไม่ หรือปัญหาเกิดจากอะไร จะแก้อย่างไร เกิดจากสื่อ หรือเกิดจากสังคม หรือว่าในที่สุดเกิดจากนักวิชาการเอง หรือนักกฎหมาย ที่อธิบายไม่ชัดเจน ทำให้ประชาชนคิดออกมาแบบนี้

พงษ์เทพ: ความเห็นที่ว่าให้คงประกาศต่อไปเพื่อป้องกันสถานการณ์ฉุกเฉิน ถ้าพูดแบบนั้น กฎหมายปัจจุบันไม่ได้เปิดช่อง เพราะกฎหมายเขียนไว้แล้วว่าเมื่อสถานการณ์สิ้นสุดลง ต้องยกเลิกโดยเร็ว บังคับด้วยว่าไม่ใช่เอ้อระเหยลอยชาย ถ้าจะเอาแบบนี้ต้องไปแก้กฎหมาย และผมเชื่อว่าไม่มีกฎหมายประเทศไหนหรอกที่จะปล่อยให้มีกฎหมายที่ป้องกัน
ในส่วนนักลงทุนต่างชาติ ผมไม่แน่ใจ เพราะเมื่อมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตรงกันข้าม คนต่างชาติเขาจะไม่มั่นใจ ถ้ามีสถานการณ์ฉุกเฉินกรมธรรม์ไม่คุ้มครอง และที่ชัดเจนคือประกาศนี้ละเมิดเสรีภาพของคนไทย ต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพคนไทยเป็นหลัก

ในส่วนที่ว่าฉันไม่ได้รับผลกระทบ ผมเกิดในยุคที่นายพลคนหนึ่งใช้มาตรา 17 คนถูกยิงเป้าไม่ถึงร้อยคนหรอกครับ แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่เอาหรอกครับ เพราะมันก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพของคนไทยทุกคน การละเมิดสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศทำไมประเทศอื่นเขาถึงต้องถือเป็นเดือดเป็นร้อน เพราะถ้าเราไม่ช่วยสักวันเราจะเป็นเหยื่อ ถ้าบอกว่าไม่กระทบวันที่มันมากระทบท่าน จะไม่มีคนช่วยได้เลย

ธีระ: วิธีส่งเสริมการลงทุนไทยต้องประกาศ พ.ร.บ. ฉุกเฉิน ไอ้เหตุทั้งหมดนี้มันไม่ใช่เหตุตามกฎหมาย แต่ที่ผมเป็นห่วงคือบางทีมีนักกฎหมายคิด คนธรรมดาคิดก็ไม่มีปัญหาหรอก เขามีสิทธิจะคิด แต่ถ้านักกฎหมายคิด แสดงว่าไม่ได้คิดบนพื้นฐานของกรอบทางกฎหมาย

ผู้ร่วมอภิปราย: ถามคุณพงษ์เทพว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉินหากวันนี้ไม่แก้ และวันหน้าใช้อีก ความพอดีของการใช้จะอยู่ตรงไหน
พงษ์เทพ: ผมคิดว่ามันจะใช้ช่วงภัยพิบัติ ซึ่งเวลาสั้นมาก อีกส่วนคือความมั่นคงของรัฐ คือ State ไม่ใช่ Government และไม่ใช่ยาวนาน สามเดือนนี้ไม่น่าจะใช้ ถ้าเป็นอย่างนั้นรัฐนั้นก็คงจะแย่แล้วล่ะ
ในเรื่องที่ว่าถ้าไม่แก้โดยจำกัดเวลาหรือให้องค์กรอื่นตรวจสอบ ก็จะมีปัญหาต่อไปเรื่อยๆ ถ้าไม่แก้ไข กฎหมายนี้ก็มีแต่จะสร้างปัญหาในอนาคต เพราเคยทำมาแล้ว ต่อไปก็ต้องทำได้

นักเรียนจากอิสลามวิทยาลัย: สิ่งที่น่ากลัวคือ พ.ร.บ. ความมั่นคงคือความเคยชิน ถ้าใช่นี่คือสิ่งที่รัฐบาลควรจะแก้ไข
ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข: จุดตัดเรื่องการสิ้นสุดสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่ตรงไหน ที่ว่าการสิ้นสุดมันมีหลักเกณฑ์อย่างไร

ธีระ: อำนาจในการยกเลิกประกาศฯ เป็นอำนาจหน้าที่ขอบตัวนายก แล้วเหตุที่นายก ต้องยกเลิก คือ หนึ่งเมื่อสถานการณ์สิ้นสุด สอง เมื่อคณะรัฐมนตรีไม่ให้ความเห็นชอบกับการต่อระยะเวลา สาม เมื่อสถานการณ์มันสิ้นสุดแล้วไม่มีการต่อก็ต้องประกาศยกเลิก
ปัญหาคือ สถานการณ์มันสิ้นสุดหรือยัง องค์กรแรกที่มีอำนาจในการตีความแล้วมีผลก็คือตัวนายก แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ที่นายกบอกว่ามันมีสถานการณ์อยู่ มันจริงหรือไม่จริง นี่แหละคือประเด็นเพราะนายกพูดอะไรก็ได้ รองสุเทพฯ ในฐานะผอ. ศอฉ. บอกว่าก็ยังคงอยู่ ทีนี้ถ้าเราไม่ไว้วางใจตัวนายกว่ามันสิ้นสุดหรือยัง ในทางต่างประเทศเขาไม่ให้นายกตัดสินคนเดียว เขาให้องค์กรอื่นดู เช่น เยอรมันต้องไปตอบต่อสภา แต่ของบ้านเราไม่เป็นอย่างนั้น คือเมื่อนายกบอกว่ายังอยู่ เราก็อาจจะบอกว่าไม่น่าจริงละมั๊ง ผมคิดว่าควรให้อำนาจสภา เป็นผู้พิจารณา จะได้เห็นว่านายกเห็นเหตุอะไรที่ทำให้สมควรต่ออายุพ.ร.ก.

พงษ์เทพ: เวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ได้หมายความว่าข้อห้ามต่างๆ จะต้องออกมาพร้อมการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนะ จะประกาศหรือไม่ก็ได้ เอาละสมมติที่อ้างกันว่าจะมีการวางระเบิดสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ต้องถามว่าแล้วข้อห้ามที่ประกาศใช้มันเกี่ยวกับเหตุที่อ้างหรือเปล่า เช่น ห้ามออกนอกเคหะสถานตอนกลางคืนก็พอฟังได้ แต่ถ้าห้ามการชุมนุมเกินห้าคน ก็ไม่เกี่ยว หรือห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมทางอื่น ตรงนี้ก็ไม่เกี่ยว แต่ถ้าบอก อีกปีหนึ่งข้างหน้าจะมีการระเบิดสะพาน อันนี้ไม่เข้าข้อกฎหมาย แต่ถ้าจะปิดสื่อ ถามว่ามันมีเหตุฉุกเฉินอะไรตอนนี้ล่ะ

ธีระ: เหตุของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมี 5 เหตุ [2] และรัฐต้องเลือกใช้ให้รับตัวสถานการณ์ ถ้าไม่ ก็ขัดกับหลักความได้สัดส่วน ดังนั้นเมื่อเหตุเมื่อสามเดือนที่แล้วหมดไปจะคงไว้ทั้งหมดทุกมาตรการทำไม ก็ลดลงเหลือสองสามมาตรการก็ได้

วัชรพงษ์ : เรื่อง พ.ร.บ. ฉุกเฉินเป็นเรื่องที่น่ากลัว อย่าลืมว่าแม้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะไม่ใช่เราแต่อาจจะเป็นญาติเรา หรือเพื่อนสนิทเรา ถ้าหากมนุษย์เรามีเสรีภาพตั้งแต่เกิดจนตาย มันกระทบมาก กรณีปิดเว็บไซต์ก็ส่งผลกระทบต่อผมมาก ต้องไม่ให้อำนาจผูกขาดอยู่ที่คนๆ เดียวหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

พงษ์เทพ: ผมไม่อยากจะพูดแค่เรื่องกฎหมายสองฉบับแต่อยากจะพูดถึงว่าพวกเราหกสิบกว่าล้านคน เราจะอยู่กันอย่างไรในประเทศนี้อย่างที่ทำให้ตัวเราเองมีความสุขพอสมควรคนอื่นมีความสุขพอสมควรแล้วประเทศเราก้าวหน้าไปได้ มันต้องยอมรับนะครับว่าสังคมไทยที่ผ่านมามีความแตกแยกเยอะ และลึก เป็นความแตกแยกที่ผมเองไม่เคยเห็นมาก่อน ไปถึงระดับครอบครัว เพื่อนสนิท ผมกลับจากต่างประเทศมาตอนนั้นกำลังรับกระเป๋า สุภาพสตรีท่านหนึ่งก็เดินมาคุยกับผม บอกว่าพี่เสื้อแดง สามีพี่เป็นเสื้อเหลือง แต่พี่ไม่ได้พูดกับมันมานานแล้ว ไปชิคาโก มีเพื่อนสนิทกันมากที่เป็นคนไทยไปอยู่อเมริกา ซื้อบ้านอยู่ใกล้กัน ตอนนี้คนหนึ่งต้องขายบ้านครับ ความแตกต่างนั้นไม่ผิดแต่ต่างแล้วไม่ฟังคนอื่นเขาเลย อันนี้อยู่กันยากครับ อยู่กันไม่ได้จริงๆ เป็นไปไม่ได้ที่เราจะถูกเสมอไป เราต้องมีผิด ช่วงที่ผ่านมา เรามีความคิดที่สุดขั้วกันเยอะ แล้วประเทศไทยอยู่กนอย่างนี้ท่ามกลางความแตกแยกอย่างนี้ไม่ได้ ที่เราทั้งหลายต้องมาช่วยกันคิดคือจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ยังอยู่กันได้ และทำให้ประเทศไทยมีความสุขมีความก้าวหน้า เราจะเอาทั้งร้อยไม่ได้

ธีระ: เมื่อสามสี่วันที่แล้วไปพูดที่สัตหีบมีคำถามเรื่องความยุติธรรม คนมีสองพวก คือความยุติธรรมต้องมองเป็นภววิสัย บางคนบอกว่า ไม่จำเป็นหรอกบางบริบทเป็นอัตวิสัยก็ได้ ถ้าเราเห็นว่ายุติธรรมมันก็ยุติธรรม
ปัญหาคือว่า โดยผลจากการกระชับพื้นที่ราชประสงค์มันเกิดปัญหาขึ้นมาว่า คนข้างหนึ่งสะใจ อีกข้างหนึ่งคับแค้นใจ มีข้อที่ผมกังวลก็คือ อาจจะมีคนบางกลุ่มซึ่งไม่รู้จำนวนเท่าไหร่ บอกว่าการกระทำอย่างนี้สมควรแล้ว แม้ว่าเหตุที่กระทำจะรุนแรงเกินไปแต่สมควร นี่คือการมองพื้นฐานของความยุติธรรมบนพื้นฐานของอัตวิสัย บางคนบอกน้อยไปด้วยซ้ำต้องไล่บี้มากกว่านี้ นั่นคือเมื่อไหร่ก็ตามที่ทำอย่างนี้กับคนที่เกลียดก็สะใจ ผมเห็นอย่างนี้ก็สะท้อนใจ
ทีนี้มีอีกประเภทหนึ่ง ไม่ได้เกลียดอะไร แต่เฉยๆ รอให้เขากวาดราชประสงค์เสร็จแล้วฉันจะไปช็อปปิ้ง นี่คือพวกที่ไม่เชื่อว่ามีความยุติธรรมอยู่ ตราบเท่าที่ไม่มากระทบตัวเอง
ทีนี้มีอยู่บางพวกซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าใคร ที่เขาเห็นว่าความยุติธรราทันต้องตีความแบบภววิสัยโดยไม่ดูหน้าคน แต่น่าเสียดายคือคนแบบนี้อยู่แทบไม่ได้ในสังคมไทย เรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อไหร่ที่ท่านพูดถึงความยุติรรม ให้นึกถึงลักษณะภววิสัยของมันเถอะ อย่าไปดูว่าคนที่ถูกกระทำนั้นเรามีส่วนได้เสียหรือไม่ รักหรือเกลียด ถ้าตราบใดที่คนยังคิดว่าเรื่องที่ไม่ดีไม่งามไปเกิดกับคนที่เราเกลียดแล้วเราไปยินดีปรีดา ประเทศเราจะไม่มีวันพ้นจากหล่มที่เป้นอยู่ทุกงวันนี้ได้เลย และมันเป็นหล่มที่ดูดเราลึกลงไปทุกๆ วัน วันหนึ่งเราก็จะขึ้นมาไมได้ กลายเป็นหลุมดำ แสงยังลอดลงไปไม่ได้ นับประสาอะไรกับคนอย่างเราๆ

หมายเหตุ
[1] พระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘
มาตรา ๑๑ ในกรณีที่สถานการณ์ฉุกเฉินมีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า มีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล และมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้สถานการณ์ฉุกเฉินนั้น เป็นสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง และให้นำความในมาตรา ๕ และมาตรา ๖ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
เมื่อมีประกาศตามวรรคหนึ่งแล้ว นอกจากอำนาจตามมาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุม และควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือที่เป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือที่ปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ เท่าที่มีเหตุจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้บุคคลนั้นกระทำการหรือร่วมมือกระทำการใดๆ อันจะทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง หรือเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการระงับเหตุการณ์ร้ายแรง
(๒) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ออกคำสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือมาให้ถ้อยคำ หรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ฉุกเฉิน
(๓) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งยึดหรืออายัดอาวุธ สินค้า เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัตถุอื่นใด ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้หรือจะใช้สิ่งนั้นเพื่อการกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำให้เกิดเหตุสถานการณ์ฉุกเฉิน
(๔) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจค้น รื้อ ถอน หรือทำลายซึ่งอาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวาง ตามความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงให้ยุติโดยเร็ว และหากปล่อยเนิ่นช้าจะทำให้ไม่อาจระงับเหตุการณ์ได้ทันท่วงที
(๕) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ออกคำสั่งตรวจสอบจดหมาย หนังสือ สิ่งพิมพ์ โทรเลข โทรศัพท์ หรือการสื่อสารด้วยวิธีการอื่นใด ตลอดจนการสั่งระงับหรือยับยั้งการติดต่อหรือการสื่อสารใด เพื่อป้องกันหรือระงับเหตุการณ์ร้ายแรง โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ โดยอนุโลม
(๖) ประกาศห้ามมิให้กระทำการใดๆ หรือสั่งให้กระทำการใด ๆ เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชน
(๗) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งห้ามมิให้ผู้ใดออกไปนอกราชอาณาจักร เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการออกไปนอกราชอาณาจักรจะเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความปลอดภัยของประเทศ
(๘) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งการ ให้คนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักร ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า เป็นผู้สนับสนุนการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้โดยให้นำกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
(๙) ประกาศให้การซื้อ ขาย ใช้ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธ สินค้า เวชภัณฑ์ เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัสดุอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอาจใช้ในการก่อความไม่สงบ หรือก่อการร้ายต้องรายงานหรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามเงื่อนไขที่นายกรัฐมนตรีกำหนด
(๑๐) ออกคำสั่งให้ใช้กำลังทหารเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือตำรวจระงับเหตุการณ์ร้ายแรง หรือควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบโดยด่วน ทั้งนี้ ในการปฏิบัติหน้าที่ของทหารให้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ โดยการใช้อำนาจหน้าที่ของฝ่ายทหารจะทำได้ในกรณีใดได้เพียงใดให้เป็นไปตามเงื่อนไข และเงื่อนเวลาที่นายกรัฐมนตรีกำหนด แต่ต้องไม่เกินกว่ากรณีที่มีการใช้กฎอัยกาศึก
เมื่อเหตุการณ์ร้ายแรงตามวรรคหนึ่งยุติลงแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีประกาศยกเลิกประกาศตามมาตรานี้โดยเร็ว
http://www1.mod.go.th/opsd/omdweb/html/govlaw.htm

[2] พระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘
มาตรา ๔ ในพระราชกำหนดนี้
" สถานการณ์ฉุกเฉิน " หมายความว่า สถานการณ์อันกระทบหรืออาจจะกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขันหรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา การรบหรือการสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม หรือการป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง
http://www1.mod.go.th/opsd/omdweb/html/govlaw.htm
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท