Skip to main content
sharethis
 
8 ส.ค.53 นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ กล่าวแสดงความเป็นห่วง กรณีที่อัยการสูงสุด อาจไม่สามารถ ดำเนินการสั่งฟ้องแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ในคดีก่อการร้ายได้ทันครบกำหนดฝากขัง โดยอ้างว่าสำนวนมี จำนวนมาก และอาจต้องปล่อยผู้ต้องหาไปก่อน และค่อยจับกุมภายหลัง ว่า อาจทำได้ยาก เพราะจะทำให้ผู้ต้องหาหลบหนี จนอาจกระทบกับรูปคดี ทั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตว่าความล่าช้าที่เกิดขึ้นน่าจะมาจาก ความไม่เป็นเอกภาพ ในการทำงานระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ และอัยการ หรืออาจมีกระบวนการถ่วงเวลา เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ต้องหา ซึ่งทางอัยการจะต้องมีคำตอบที่ชัดเจนให้กับประชาชน หากไม่สามารถสั่งฟ้อง ได้ทันเวลาฝากขัง นอกจากนี้ทางพรรคการเมืองใหม่ ยังแสดงความกังวลต่อนโยบายและความจริงใจของรัฐบาล ในการดำเนินคดีกับกลุ่มก่อความรุนแรง จากกรณีที่ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไปเป็นพยาน ในการพิจารณาการให้ประกันตัว นายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งรัฐบาลควรมีความชัดเจนในเรื่องนี้
พีระพันธุ์ปัดกดดันอสส.เร่งคดีนปช. อัยการชี้ฟ้องไม่ทันต้องปล่อยตัวโอดเร่งทำงานแทบตาย
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่
7 ส.ค. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กล่าวถึงทำหนังสือถึงอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อขอให้เร่งพิจารณาสั่งคดีกับแกนนำและแนวร่วมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง ในคดีก่อการร้ายให้ทันก่อนที่ครบกำหนดฝากขังนัดสุดท้ายของผู้ต้องหาบางรายในวันที่ 11 สิงหาคม ว่า การทำหนังสือถึงอัยการสูงสุด ไม่ใช่การเร่งรัดหรือกดดันอัยการในการสั่งคดี แต่เป็นการทำงานเพื่อความรอบคอบ และทำงานทันเวลาที่กำหนดการสั่งฟ้องคดีดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากอัยการสั่งฟ้องไม่ทันครบกำหนดฝากขังจะต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาใช่หรือไม่ นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ใช่ ทางกระทรวงยุติธรรมจึงต้องทำหนังสือไปยังอัยการสูงสุด เพื่อความรอบคอบในการทำงานคดี และยืนยันว่าไม่ได้เป็นการแทรกแซงการทำงานของอัยการ แต่ทำไปเพื่อความรอบคอบทางคดีเท่านั้น

"ผมคิดว่าผมไม่ได้แทรกแซงอัยการ แต่เป็นการทำงานร่วมกัน เพื่อความรอบคอบ ทันเวลาก่อนครบกำหนดฝากขัง ผมอยากถามว่าผมผิดตรงไหน" นายพีระพันธุ์กล่าว

ด้านนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า หนังสือที่ทำถึงอัยการสูงสุด เพื่อแสดงความคิดเห็นของรัฐมนตรีว่ากระทรวงยุติธรรม ดีเอสไอไม่ได้เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเร่งรัดอัยการแต่อย่างใด ตนในฐานะโฆษกกระทรวงยุติธรรม เชื่อว่านายพีระพันธุ์ไม่ได้มีเจตนาแทรกแซง หรือกดดันอัยการ แต่เป็นแนวคิดเรื่องการทำงานที่ต้องประสานงานกัน และเพื่อขอความอนุเคราะห์ทางคดีมากกว่า เพราะคดีดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ไม่ปกติ บางครั้งการทำงานของเจ้าหน้าที่ต้องประสานงานใกล้ชิด การกระทำอาจจะไม่ปกติบ้าง แต่ยืนยันไม่ใช่การแทรกแซงการทำงานของอัยการแน่นอน 

นายวัยวุฒิ หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุด กล่าวปฏิเสธว่าไม่ได้เข้าพบนายจุลสิงห์ วสันต์สิงห์ อัยการสูงสุดเพื่อรายงานความคืบหน้าคดีก่อการร้าย กรณีนายพีระพันธุ์ทำหนังสือให้อัยการสูงสุดเร่งรัดการสั่งฟ้องคดีก่อนครบกำหนดฝากขังผู้ต้องหาบางราย ยืนยันว่าคณะทำงานอัยการกำลังเร่งพิจารณาสำนวน ข้ามวันข้ามคืน ตนเห็นว่าคดีนี้ดีเอสไอทำสำนวนสั่งฟ้องทั้ง 25 คน เป็นคดีเดียวดัน ดังนั้นจะแยกสำนวนให้สั่งฟ้องผู้ต้องหาบางคนที่ครบกำหนด คงเป็นไปไม่ได้ เพราะจะเกิดความเสียหาย เนื่องจากหากอัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหาไป 1 คน แล้วมีการสั่งให้สอบเพิ่มเติมผู้ต้องหารายอื่นตามความจำเป็น แต่ภายหลังปรากฏว่าผู้ต้องหาที่อัยการฟ้องไปแล้วไม่มีความผิด จะเกิดความเสียหายตามมา 

นายวัยวุฒิกล่าวว่า ประเด็นการสั่งฟ้องไม่ทันและต้องปล่อยตัวผู้ต้องหา ตนมองว่าจะเกิดความยุ่งยากแน่นอน ถ้าจับตัวไม่ได้ยิ่งเกิดความเสียหาย แต่หน้าที่จับกุมผู้ต้องหามาดำเนินคดีเป็นหน้าที่ของดีเอสไอ อัยการมีเวลาการพิจารณาสำนวนก่อการร้ายไม่ถึง 12 วัน แต่ไม่อยากให้มองว่าดีเอสไอส่งสำนวนล่าช้า แต่เหลือเวลาเพียงเท่านี้อัยการก็ทำงานกันแทบตาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีรัฐมนตรีว่ากระทรวงยุติธรรมทำหนังสือเร่งรัดอัยการสั่งคดีเป็นการแทรกแซงหรือไม่ นายวัยวุฒิกล่าวว่า แทรกแซงหรือไม่ ตอบไม่ได้ แต่กรณีแบบนี้อัยการก็ไม่เคยพบมาก่อน

เมื่อถามว่า ดีเอสไอต้องการให้อัยการสั่งสำนวนตามความเห็นดีเอสไอหรือไม่ นายวัยวุฒิ กล่าวว่า คงเป็นอย่างนั้น 

ทั้งนี้คงต้องรอให้คณะทำงานที่มีนายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ สรุปความเห็นก่อนเสนออัยการสูงสุดพิจารณาครั้งสุดท้าย ซึ่งอัยการยืนยันว่า ไม่สามารถแยกพิจารณาสำนวนเป็นรายบุคคลได้    

แดงเชียงใหม่มอบตัว ขู่ฟ้อง"มาร์ค-สุเทพ"เมินจัดการเหลืองชุมนุม
8 ส.ค.เมื่อเวลา 09.30 น. นายศรีวรรณ จันทร์ผง อายุ 43 ปี นายหาญศักดิ์ เบญจศรีพิทักษ์ อายุ 41 ปี นายสาธิน สุกันธา  อายุ 47 ปี นางสุธีรา รักษาภักดี อายุ 47 ปี เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.ช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่ ตามหมายเรียกผู้ต้องหา ของ พ.ต.ท.ทรงธรรม จันกัน พนักงานสอบสวน สภ.ช้างเผือกเชียงใหม่ ในข้อหาชุมนมหรือมั่วสุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปหรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบ โดยพนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาแกนนำเสื้อแดงเชียงใหม่ทั้ง 4 คนมาสอบปากคำเพิ่มเติม จากนั้นก็ได้ให้กลับบ้านไปก่อนและจะได้มีการเรียกสอบและแจ้งข้อกล่าวหาอีกครั้งต่อไป

นายศรีวรรณ กล่าวว่า เหตุเกิดที่หน้าศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมาเวลาประมาณ 12.30 น. ถึง 13.50 น. วันนั้นตนและพวกประมาณ 500 คน เดินทางไปอ่านคำแถลงการณ์และยื่นหนังสือ เพื่อร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กรณีที่พวกเราไม่เห็นด้วยกับการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในภาวะฉุกเฉินที่เชียงใหม่

นายศรีวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ต่อมาพวกตนถูกแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งพวกตนก็ไม่เข้าใจว่าทาง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายวีระ สมความคิด แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไปชุมนุมเรื่องเรื่องเขาพระวิหาร ในกรุงเทพฯ ทั้งที่ยังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ กลับไม่เป็นไร แถมยังมีการท้าทายอีก พวกตนไม่เข้าใจพวกสีเหลืองไม่โดน แต่พวกตนโดน
 
"กลุ่มแดงเชียงใหม่จึงหารือกันว่าจะเดินหน้าเข้าแจ้งความเอาผิดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในฐานะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย พรก.ฉุกเฉิน" นายศรีวรรณ กล่าว
 
 
 
 
 
ที่มา: เว็บไซต์สยามรัฐ , เว็บไซต์มติชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net