Skip to main content
sharethis

ทางการพม่าสั่งหยุดการก่อสร้างเส้นทางรถไฟ สายเมืองเชียงตุง (รัฐฉานภาคตะวันออก) และเมืองนาย (รัฐฉานภาคใต้) ไว้ชั่วคราวตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม เหตุมีฝนตกหนัก ขณะกองทัพพม่ากดดันจี้ผู้นำกลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ ดึงกองพล 1 ร่วมตั้งหน่วยรักษาพื้นที่

Khonkhurtai: 9 สิงหาคม 2553: มีรายงานว่า ทางการพม่าได้สั่งหยุดการก่อสร้างเส้นทางรถไฟ สายระหว่างเมืองเชียงตุง (รัฐฉานภาคตะวันออก) และเมืองนาย (รัฐฉานภาคใต้) ไว้ชั่วคราวตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา เนื่องจากมีฝนตกหนัก ขณะที่กองทัพพม่าได้สั่งการให้หน่วยอาสาสมัครในพื้นที่จัดเวรยามไปเฝ้าดูแลอุปกรณ์เครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้างตลอด 24 ชั่วโมง
 
เจ้าหน้าที่หน่วยอาสาสมัครคนหนึ่งกล่าวว่า พวกเขาได้รับคำสั่งให้สับเปลี่ยนกันไปเฝ้าดูแลตู้รถไฟและอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างโดยที่ไม่ได้ให้ค่าตอบแทนใดๆ แม้กระทั่งค่าอาหารก็ไม่ได้รับ มีเพียงบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่ให้อาหารแก่พวกเขาอยู่บ้าง
 
แหล่งข่าวเผยว่า หลังโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟในเมืองเชียงตุงเริ่มขึ้น ทางการได้นำตู้รถไฟมาไว้จำนวน 3 ตู้ และจนถึงขณะนี้ มีอาคารและเส้นทางรถไฟได้รับการก่อสร้างแล้วส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หลังมีฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้เส้นทางที่ก่อสร้างแล้วเสร็จได้เกิดทรุดตัวพังบางส่วน
 
สำหรับบริษัทที่ได้รับประมูลจากทางการพม่าในการก่อสร้างสถานีและเส้นทางรถไฟในเมืองเชียงตุง เป็นบริษัทของ จายติ๊บอ่อน นักธุรกิจในท้องที่ โดยสถานที่ก่อสร้างสถานีตั้งอยู่ระหว่างบ้านเก็งพองและบ้านนาคำ ใกล้กับมหาวิทยาลัยเชียงตุง
 
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟระหว่างเชียงตุง – เมืองนาย เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก่อนหน้านั้น สื่อกระบอกเสียงรัฐบาลทหารพม่ารายงานว่า ทางการมีโครงการสร้างเส้นทางรถไฟในรัฐฉาน เชื่อมจากเส้นทางเดิมเพิ่มอีก 3 แห่ง ได้แก่เส้นทางเมืองน้ำจ๋าง – เมืองสี่ป้อ (ภาคใต้สู่ภาคเหนือ) ระยะทางประมาณ 250 กม./เมืองน้ำจ๋าง – เมืองเชียงตุง (ภาคใต้สู่ภาคตะวันออก) ระยะทางประมาณ 330 กม.และเมืองล่าเสี้ยว – เมืองหมู่แจ้ (รัฐฉานภาคเหนือ) รวมระยะทางราว 170 กม.ทั้งนี้ ทางการอ้างว่าสร้างเพื่อใช้ขนส่งมวลชนและการพาณิชย์
 
สำหรับโครงการ เส้นทางรถไฟระหว่างเมืองนาย – เชียงตุง มีกำหนดผ่าน เมืองลางเคอ, เมืองปั่น, (รัฐฉานภาคใต้) เมืองโต๋น, เมืองสาด, เมืองโก๊ก และเมืองพยาก (รัฐฉานภาคตะวันออก)
 
อย่างไรก็ตาม ชาวเมืองเชียงตุงคนหนึ่งเปิดเผยว่า มีที่ดินทั้งของสาธารณะและไร่นาชาวบ้านจำนวนมากถูกทางการพม่ายึดใช้เป็นพื้นที่โครงการสร้างเส้นทางรถไฟ โดยพื้นที่ที่ถูกยึดส่วนใหญ่อยู่ในตำบลเก็งพอง, นาคำ, และเชียงคำ ซึ่งทางการไม่ได้มีการจ่ายค่าชดเชยให้ผู้เป็นเจ้าของใดๆ
 
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟในรัฐฉานของทางการพม่า ถูกนักวิเคราะห์มองว่า มีเป้าหมายเพื่อใช้ในด้านการทหารมากกว่าการพาณิชย์ โดยให้สังเกตจากรถไฟในรัฐฉานปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกใช้ในด้านการทหารมากกว่าการขนส่งมวลชนและการค้า
 
 
 
พม่าจี้ผู้นำกลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ ดึงกองพล 1 ร่วมตั้งหน่วยรักษาพื้นที่
 
Khonkhurtai : 6 สิงหาคม 2553: แหล่งข่าวรายงานว่า กองทัพพม่ากำลังใช้ความพยายามกดดันกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" SSA-N ที่ยอมรับข้อเสนอจัดตั้งหน่วยพิทักษ์พื้นที่ Home Guard Force – FGH ไปแล้ว ให้เจรจากองพลน้อยที่ 1 ที่ยังไม่ยอมรับข้อเสนอหันมาตั้งหน่วยพิทักษ์พื้นที่ร่วมกัน
 
โดยเมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา พล.ต.อ่องตานทุต ผบ.กองทัพภาคตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า ได้มีคำสั่งตรงไปยัง พล.ต.หลอยมาว ผู้นำกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" หรือ กลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ SSA-N ให้ทาบทามกองพลน้อยที่ 1 ภายใต้การนำของ พล.ต.ป่างฟ้า ซึ่งเป็นกองพลคุมกำลังหลักของ SSA-N และปฏิเสธร่วมจัดตั้งหน่วยพิทักษ์พื้นที่ ให้เปลี่ยนสถานะเป็นหน่วยพิทักษ์พื้นที่ภายใน 2 อาทิตย์
 
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวเผยว่า ทางพล.ต.หลอยมาว ยังไม่ดำเนินการตามคำสั่งของแม่ทัพภาคพม่าดังกล่าว ขณะที่มีรายงานว่า พล.ต.ป่างฟ้า ผบ.กองพลน้อยที่ 1 เองยังคงแสดงจุดยืนเดิม คือ จะไม่ยอมรับเปลี่ยนสถานะเป็นหน่วยพิทักษ์พื้นที่ตามผู้นำ
 
ก่อนหน้านี้ พล.ต.ปางฟ้า ได้รับคำเชิญจากแม่ทัพภาคตะวันออกเฉียงเหนือของพม่าให้เดินทางไปพบที่เมืองล่าเสี้ยวหลายครั้ง แต่เขาได้ปฏิเสธ และเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เขาได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังพลพ้นจากเส้นทางสายหลัก รวมถึงให้ถอนกำลังพลที่ตั้งฐานอยู่ต่อหน้าฐานทหารพม่าในเมืองสู้ รัฐฉานภาคเหนือด้วย
 
กองทัพรัฐฉาน "เหนือ" SSA-N ก่อตั้งเมื่อปี 2421 (1964) โดยการนำของเจ้าแม่นางเฮือนคำ อดีตชายาเจ้าฟ้าส่วยแต้ก แห่งเมืองหยองห้วย กองทัพรัฐฉาน "เหนือ" หลังเจรจาหยุดยิงเมื่อปี 2532 มีกำลังพลราว 3,500 – 4,000 นาย แบ่งกำลังพลเป็น 3 กองพลน้อย ได้แก่ กองพลน้อยที่ 1, 3 และ 7
 
เมื่อวันที่ 22 เม.ย. พล.ต.หลอยมาว ผู้นำสูงสุด SSA-N ตัดสินใจรับข้อเสนอรัฐบาลทหารพม่า นำกำลังพลในกองพลน้อยที่ 3 และ 7 รวมกว่า 1 พันนาย เปลี่ยนสถานะเป็นหน่วยพิทักษ์พื้นที่ Home Guard Force – HGF ขณะที่กองพลน้อยที่ 1 ยังคงปฏิเสธ เนื่องจากเห็นว่าการเปลี่ยนสถานะกองกำลังไปอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพพม่า เป็นการทำลายอุดมการณ์และเป็นการหักหลังชาติ
 
รัฐบาลทหารพม่าเริ่มยื่นข้อเสนอให้กองกำลังหยุดยิงที่มีอยู่ทั้งหมด 13 กลุ่ม เปลี่ยนสถานะเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF หรือ หน่วยพิทักษ์พื้นที่HGF ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา เพื่อหวังจัดระเบียบกลุ่มติดอาวุธก่อนการเลือกตั้ง จนถึงขณะนี้มีกลุ่มหยุดยิงหลายกลุ่มยอมรับข้อเสนอดังกล่าว ขณะที่กลุ่มหยุดยิงกลุ่มใหญ่ เช่น กองทัพสหรัฐว้า UWSA, กองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย หรือ กลุ่มหยุดยิงเมือลา NDAA, กองทัพเอกราชคะฉิ่น KIA, พรรครัฐมอญใหม่ NMSP และกำลังพลในกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ DKBA บางส่วน ต่างยังคงปฏิเสธ
 
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/
________________________________________
"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทยใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net