Skip to main content
sharethis

“โพลล์สิ่งแวดล้อม” ฉบับทีดีอาร์ไอ ระบุคนไทยมองปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและปัญหามลพิษอยู่ในขั้นวิกฤติ โดยเฉพาะการสูญเสียพื้นที่ป่า ส่วนคนอีสานชี้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเข้าขั้นวิกฤติที่สุด จี้รัฐบาลเร่งแก้ไข พร้อมทำแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละพื้นที่

 
แต่ละปีรัฐบาลได้ใช้เงินงบประมาณจำนวนมากในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยใช้เกณฑ์การจัดสรรงบประมาณที่รัฐเป็นผู้กำหนดขึ้น ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่หรือไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน ดังนั้นการสำรวจความคิดเห็น ความรู้ ความเข้าใจของประชาชนที่มีต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือที่เรียกว่า การทำโพลล์สิ่งแวดล้อม จึงนับเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในการกำหนดนโยบายและแผนงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงกับความเป็นจริงและความต้องการของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ประสบกับปัญหา
 
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ได้ทำการสำรวจทัศคติของประชาชนต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ในปี 2552 เพื่อตรวจสอบความรู้ ความเข้าใจและทัศนคติของประชาชนที่มีต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม นโยบายและมาตรการต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ และการจัดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนของปัญหาสิ่งแวดล้อมในทัศนะของประชาชน ทำการสำรวจประชาชนทั่วประเทศ 2,058 ราย อายุ 18 ปีขึ้นไป หลากหลายอาชีพ ส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือน 
 
ผลการสำรวจ พบว่า ประชาชนให้ความสำคัญปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติหรือปัญหามลพิษน้อยกว่าเรื่องปากท้องคือปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง การว่างงาน ยาเสพติด และอาชญากรรม ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ถึงแม้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมจะไม่ได้ถูกจัดให้อยู่ในลำดับต้น ๆ สำหรับปัญหาวิกฤติของสังคมไทยที่ควรได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน แต่ประชาชนกว่าครึ่ง (ร้อยละ 64.7) ก็เห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญของประเทศและไม่ควรถูกทำลายโดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ในการพัฒนาประเทศก็ควรคำนึงถึงผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย
 
 
นางสาวพรเพ็ญ วิจักษณ์ประเสริฐ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวถึงผลการสำรวจดังกล่าว โดยระบุว่า เมื่อถามถึงความรุนแรงของปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและปัญหามลพิษ รวมทั้งความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 65.5) เห็นว่าทั้งสองปัญหามีความรุนแรงเท่าๆ กัน แม้จะแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ 
 
โดยข้อมูลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างได้จัดลำดับความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ต้องการให้แก้ไขห้าอันดับแรกคือ การสูญเสียพื้นที่ป่า การขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง การใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือย อุทกภัย และภาวะโลกร้อน ประชาชนทุกภาคเห็นว่าการสูญเสียพื้นป่าเป็นปัญหาที่วิกฤติที่สุด ให้เหตุผลว่า จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ยกเว้นภาคอีสานที่เห็นว่าปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งเป็นปัญหาที่วิกฤติที่สุดของประเทศ (ในภาคอีสานมีหมู่บ้านที่ประสบภัยแล้งมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 66 ของหมู่บ้านที่ประสบภัยแล้งทั่วประเทศ) ซึ่งข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ประชาชนประสบในพื้นที่ชัดเจนยิ่งขึ้น คนที่อยู่ในกรุงเทพและปริมณฑลแม้เผชิญปัญหามลพิษทางอากาศแต่ก็ได้รับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะโทรทัศน์ที่มีการรณรงค์เรื่องนี้ค่อนข้างมากก็เห็นด้วยว่าปัญหานี้วิกฤติที่สุด 
 
แนวทางแก้ไขเสนอให้ภาครัฐรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้มีการปลูกป่า ห้ามตัดไม้ทำลายป่าหรือเผาป่า บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำผิด ส่วนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ประชาชนส่วนใหญ่เสนอให้มีการจัดหาแหล่งน้ำ เสนอให้มีการทำฝนเทียม การแก้ไขปัญหาการใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือย ประชาชนมีข้อเสนอแนะว่าให้ภาครัฐรณรงค์ให้ประชาชนมีจิตสำนึกในการประหยัดพลังงาน ลดการใช้พลังงาน หรือใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดไฟ เป็นต้น
 
การสำรวจความรู้ ความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า ยังมีประเด็นด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในหลายๆ เรื่องที่ประชาชนยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนัก เช่น ความเข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับสาเหตุของการที่ป่าไม้ทางภาคเหนือถูกทำลาย โดยมีสัดส่วนของประชากรตัวอย่างถึงร้อยละ 89.1 ที่เข้าใจว่าการลักลอบตัดไม้ไปขายเป็นสาเหตุของการที่ป่าไม้ทางภาคเหนือถูกทำลาย ซึ่งในความเป็นจริงการสูญเสียป่าไม้ทางภาคเหนือมีสาเหตุมาจากไฟป่า ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดน้ำเสีย โดยประชาชนเข้าใจว่าโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้ก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำรายใหญ่ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วแหล่งกำเนิดน้ำเสียขนาดใหญ่ คือ ชุมชน โดยผู้ที่เข้าใจถูกต้องในเรื่องนี้ มีเพียงร้อยละ 15.6 ของผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งหมด ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนี้อาจส่งผลให้ประชาชนขาดจิตสำนึกในการควบคุมพฤติกรรมของตนและสมาชิกในชุมชน อันจะนำมาซึ่งพฤติกรรมการใช้น้ำที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การปล่อยน้ำเสียจากครัวเรือนลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ หรือการทิ้งขยะลงในแหล่งน้ำสาธารณะ เป็นต้น
 
นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 76.0) มีทัศนคติว่าการจัดการ ดูแล รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน้าที่ของชุมชนและประชาชนทุกคน โดยให้เหตุผลว่าประชาชนเป็นผู้ใช้ทรัพยากร รู้ความต้องการใช้ทรัพยากร รับรู้ถึงปัญหาในพื้นที่ได้ดี และสามารถดูแลชุมชนได้อย่างทั่วถึง การที่ทุกคนในสังคมร่วมกันเฝ้าระวัง ดูแล และช่วยกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ก็จะทำให้การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมสามารถทำได้เร็วขึ้น หากเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นในพื้นที่ชุมชนของตนส่วนใหญ่ร้อยละ 63.4 บอกว่าจะไปแจ้งต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต./เทศบาล) เพราะเป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนและรู้ถึงปัญหาในท้องถิ่นเป็นอย่างดี
 
ส่วนความร่วมมือของประชาชนในการปฏิบัติเพื่อบรรเทาปัญหา มีข้อสังเกตว่า หากเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่ส่งผลให้เกิดการประหยัดค่าใช้จ่ายของตนเองก็จะร่วมมือสูง เช่น การรวบรวมของเหลือใช้ไปขาย การประหยัดไฟฟ้า การประหยัดน้ำมัน ส่วนโครงการที่ให้ประโยชน์แก่สังคมโดยรวมแต่ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจนในปัจจุบันประชาชนจะไม่ให้ความสนใจมากนัก เช่น โครงการปลูกป่า โครงการอนุรักษ์แม่น้ำลำคลอง
 
ทั้งนี้ ทีดีอาร์ไอได้เสนอผลการศึกษาดังกล่าวต่อ สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว โดยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ การกำหนดนโยบายในทุกระดับและการจัดทำแผนในระดับพื้นที่จะต้องสอดคล้องกับปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในแต่ละพื้นที่ ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อสร้างพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อลดภาระต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องแก่ผู้บริหารในท้องถิ่นเพื่อกระตุ้นให้ผู้นำท้องถิ่นตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net