รายงาน: วันแม่ น้ำตาแม่ ความทรงจำของแม่ผู้สูญเสียลูกจากการสลายการชุมนุม

เรื่องราวของหนึ่งแม่ผู้สูญเสียลูกชายไปกับกระสุนปืน 5 นัด วันที่ 10 เมษา หนึ่งแม่ผู้สูญเสียลูกสาวไปกับกระสุนปืน 10 นัด วันที่ 19 พฤษภา และอีกหลายแม่ที่สูญเสียตัวตนดั้งเดิมกลายเป็นคนใหม่ผู้มุทะลุเก็บข้อมูลความสูญเสียมารายงานอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย

*หัวใจแม่ แหลกสลาย ในวันนั้น
วันลูกฉัน ถูกเข่นฆ่า ล่าสังหาร
ภาพที่เห็น เป็นที่รู้ กู่ประจาน
เมื่อมีการ ยิงสลาย ฝ่ายชุมนุม

*หัวอกแม่ ผู้สูญเสีย แสนชอกช้ำ
ถูกเหยียบย่ำ กลางดวงใจ เหมือนไฟสุม
ในภาวะ ถูกปิดปาก จากควบคุม
แม่ร้อนรุ่ม ขอเป็นธรรม แลน้ำใจ

*แผ่นดินนี้ แม่ของแม่ อยู่แก่เฒ่า
หวังให้เจ้า ได้สืบต่อ รอหว่านไถ
แต่ลูกเอ๋ย เจ้าถูกฆ่า มาจากไป
พาหัวใจ แม่สลาย ใจทุกข์ล้น

*ลูกเรียกร้อง ป้องประชาธิปไตย
เผด็จการ มารใหญ่ ใช้ปืนก่น
แม่จะสู้ อยู่ต่อไป ใจอดทน
นี่แหละแม่ วีรชน คนเสื้อแดง

ว ณ ปากนัง
10 สิงหาคม 2553

 

000

วันแม่ปีนี้ แม่หลายคนไม่มีโอกาสได้รับดอกมะลิหรือการกราบแทบเท้าจากลูกชาย ลูกสาว อย่างที่มักได้ยินโฆษณารณรงค์ตามสื่อต่างๆ เพราะพวกเธอสูญเสียลูกไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้ ไม่ใช่จากโรคภัยไข้เจ็บอันเกินเยียวยา ไม่ใช่อุบัติเหตุอันไม่อาจยับยั้ง แต่จากการชุมนุมทางการเมือง ...

สำหรับ สุวิมล ฟุ้งกลิ่นจันทร์’ ภาพสุดท้ายที่ได้เห็นลูกชายคือ ภาพของเด็กหนุ่มที่นอนนิ่ง เนื้อตัวเปรอะเปื้อนไปด้วยเลือด พร้อมรอยกระสุน 5 นัด เต็มแผงอก

 

 

เทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์ หรือโบ้ท เด็กหนุ่มวัย 29 ปี เสียชีวิตบริเวณสี่แยกคอกวัว เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553

“มันเป็นความผิดของแม่เอง แม่สอนเขาแต่เล็ก ถ้าเห็นอะไรไม่ถูกต้องอย่าไปยอมก้มหัวให้” สุวิมลกล่าวช้าๆ ด้วยนัยน์ตาแข็งๆ เหมือนคนไม่ได้นอนมาหลายวัน ไม่มีน้ำตาแม้แต่หยดเดียวตลอดการสนทนา

“แม่นอนไม่ค่อยหลับ กลางคืนมันเงียบ.. คอยแต่จะตื่นมาคิดถึงโบ้ทมัน”

เราเจอเธอครั้งแรกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อครั้งครบรอบ 1 เดือนเหตุการณ์ 10 เมษา เธอมาพร้อมสามีและเพื่อนสนิทของลูกอีกสองคน หนึ่งในนั้นคือ เรย์ ซึ่งร่วมชุมนุมอยู่กับโบ้ทด้วยในวันเกิดเหตุ

หลังจากนั้นเราก็มักพบเห็นเธออีกหลายต่อหลายครั้งในงานรำลึกที่กลุ่มต่างๆ จัดขึ้น สองสามีภรรยาพากันตระเวนพร้อมกระเป๋าหนึ่งใบที่บรรจุเอกสารหลักฐานการตาย รวมถึงภาพสยดสยองของศพลูกชาย พวกเขาจะคอยหยิบมันออกมาทุกครั้งเมื่อมีคนไถ่ถามถึงเหตุการณ์

“ผมไม่ได้หัวรุนแรงอะไรเลย เพียงแต่คิดว่าอยากไปช่วยเขา ถ้ามีคนไปเยอะๆ ทหารก็คงสลายประชาชนไม่ได้” เรย์เพื่อนของโบ้ทบอกถึงความรู้สึก ณ ขณะนั้น

เขาเล่าว่าในวันเกิดเหตุเขาและโบ้ทขับมอเตอร์ไซด์จากนางเลิ้งไปยังสี่แยกคอกวัวตอนประมาณทุ่มกว่า ทหารกับผู้ชุมนุมอยู่คนละฝั่ง เมื่อเกิดการยิงและเริ่มมีผู้บาดเจ็บจากด้านหน้าทยอยลำเลียงออกมา เขาถอย แต่โบ้ทไม่ถอย จากนั้นทั้งสองก็พลัดหลงกัน เขาหาโบ้ทไม่เจอและตัดสินใจกลับบ้าน

“กระสุนน่ะเราไม่เห็น เห็นแต่คนร่วง แต่มันมาจากฝั่งทหารแน่ อย่างโบ้ทนี่โดนทหารแน่นอน เขาอยู่ด้านหน้าเลย เวลาศอฉ.พูด ผมไม่อยากฟังเลย โกหกทั้งนั้น กระสุนปลอมบ้าอะไร เขายิงระดับหน้าอก หัว อย่างเดียวเลย อย่างโบ้ทนี่ไม่ใช่ลูกหลง ไม่มีทางเป็นลูกหลง มัน 5 นัด เต็มหน้าอก กราดเลย มี 2 นัดเข้าหัวใจ” เรย์กล่าว

ทั้งพ่อและแม่ยังสวมเสื้อสีแดงทุกวัน จนถึงทุกวันนี้…

เธอเองก็ไม่รู้ว่ามันเริ่มต้นตรงไหนแน่ แต่พ่อ แม่ และโบ้ท ไปร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงตั้งแต่ปีที่แล้ว พวกเขามีความชื่นชอบในนโยบายของทักษิณ ชินวัตร เป็นทุนเดิม ประกอบกับเห็นความไม่ถูกต้องในบ้านเมืองมาเป็นเวลาหลายปี ทำให้สุวิมลและสามียอมหยุดกิจการขายอาหารตามสั่งหลายวันติดต่อกัน เพื่อไปร่วมชุมนุมในปีนี้ที่ราชดำเนิน-ราชประสงค์จนดึกดื่นแทบทุกวัน ในคืนวันที่ 10 เมษา เธอและสามีอยู่ที่เวทีราชประสงค์และนัดหมายกับลูกชายว่าจะมาเจอกันด้านหน้าเวที แต่ก็ไร้วี่แวว

“ช่วงแรกเรายอมรับว่าเราออกมาเคลื่อนไหวเพราะเราชอบทักษิณ แต่ตอนนี้มันเลยมาแล้ว สังคมมันแบ่งแยกกันออกไปเลย สังคมคนชั้นสูง ชั้นต่ำ มันไม่ใช่แค่รักทักษิณอย่างเดียวแล้ว เราอึดอัดเพราะรู้สึกว่ามันเต็มไปด้วยเรื่องไม่ถูกต้อง มันไม่ยุติธรรม หลายสิ่งหลายอย่าง ไม่เป็นประชาธิปไตย จนกระทั่งทุกวันนี้มันเหมือนประชาชนคนไทยแม่งถูกกดหัวอยู่ อะไรๆ ก็โดนบล็อกไว้หมด เขารู้สึกกันทั้งนั้น แม่ก็เป็นแค่แม่ค้าธรรมดา ไม่ใช่เรียนรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ แต่ความรู้สึกมันเป็นแบบนี้จริงๆ ไม่ต้องจบพวกนั้นเราก็มองออก แล้วคนที่ทำไร่ทำนาอย่าไปคิดว่าเขาโง่นะ คนที่เขาสูญเสียเหมือนกัน เขามีความรู้สึกเดียวกับเราเลย ถึงเขาจะอยู่ต่างจังหวัดเขาก็รู้เรื่องหมด สมัยนี้มันไม่เหมือนสมัยก่อนแล้ว” สุวิมลกล่าวในวันทำบุญครอบรอบ 50 วันการเสียชีวิตของลูกชาย

ท่ามกลางสถานการณ์ปรองดองฟีเวอร์ สุวิมลเพียงแต่หวังว่าเธอจะได้รับความเป็นธรรมบ้างในเร็ววันนี้ เพื่อจะได้เผาศพลูกชายที่ยังคงนอนอยู่ในโลง ให้เขาไปสู่สุขคติเสียที ...

000

ระหว่างที่ผู้คนกำลังสนทนากันอย่างออกรสในเต๊นท์ด้านในท่ามกลางอากาศที่แสนจะร้อนอบอ้าวในวันทำบุญครบรอบ 1 เดือนที่วัดปทุมวนาราม พะเยาว์ อัคฮาด แม่ของน้องเกด อาสาสมัครที่ถูกยิงเสียชีวิตแอบปลีกตัวมายืนมองรางรถไฟฟ้าบีทีเอสด้านหน้าวัดเพียงลำพัง เนิ่นนาน คงมีแต่ความเงียบและความสะท้านสะเทือนใจเท่านั้นที่ครอบคลุมบรรยากาศ

กมนเกด อัคฮาด หรือน้องเกด วัย 25 ปี เป็นอาสาสมัครพยาบาลที่ไปหลบอยู่ในวัดปทุมฯ ร่วมกับชาวบ้านอีกหลายพันคนในวันที่ 19 พ.ค. มีพยานยืนยันว่าเห็นทหารบนรางบีทีเอสยิงเข้ามาในเต๊นท์พยาบาลด้านหน้าวัดในช่วงโพล้เพล้ ทำให้เธอเสียชีวิตอย่างโหดเหี้ยมพร้อมกับอาสาสมัคร และประชาชนมือเปล่าคนอื่นๆ รวม 6 ศพ

บรรดาอาสาสมัครกลุ่มนี้เป็นกลุ่มอิสระที่รวมตัวกันตั้งแต่วันที่ 10 เมษา ไม่มีสังกัด มากันเองจากคนละทิศละทางอันเนื่องมาจากการเข้าช่วยเหลือคนเจ็บ คนตายในเหตุการณ์ในคราวนั้น เกดก็เป็นหนึ่งในจำนวนนี้

 

พะเยาว์เล่าว่า ตั้งแต่มีการชุมนุมของคนเสื้อแดง เกดมักกลับบ้านดึกดื่นหรือไม่ก็ไม่กลับเลยเพราะมัวแต่อยู่เต๊นท์พยาบาลคอยช่วยเหลือผู้ชุมนุม เกดมักเล่าให้แม่ฟังว่าในที่ชุมนุมมีแต่เด็ก คนแก่ เต็มไปหมด ยามเจ็บไข้ได้ป่วยจะทำอย่างไร เห็นแล้วเธออดสงสารไม่ได้ ...เหตุผลเช่นนั้นทำให้ผู้เป็นแม่หมดหนทางจะทัดทานลูกสาวด้วยเช่นกัน

เกดเรียนจบไม่สูงนักเพราะต้องออกมาช่วยแม่ขายของ จำพวกพวงมาลัย ดอกไม้ ขนมนมเนย แต่ก็พยายามเรียนต่อจนจบหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล มีนิสัยรักการช่วยเหลือคน (แบบผจญภัย) มาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น พะเยาว์เล่าว่าตั้งแต่ม.3 ก็ชอบตระเวนไปกับเพื่อนหน่วยกู้ชีพเพื่อช่วยคนเจ็บ เก็บคนตายแล้ว และชีวิตก็เบนเข็มมาวนเวียนอยู่กับคนเจ็บคนตายเช่นนั้นเรื่อยมา

ในงานศพของเกดที่วัดใกล้บ้าน ผู้เป็นพ่อยังคงช็อกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนกินไม่ได้ พูดไม่ออก ขณะที่ผู้เป็นแม่เริ่มตั้งสติได้ เธอไม่กล้าที่กล่าวโทษใครอย่างชัดเจน แต่หลังจากเริ่มมีพยานหลักฐาน เช่นรูปและคลิปของทหารบนรางรถไฟฟ้า ปากคำพยานในเหตุการณ์ที่มาเล่าให้ฟัง การตอบสนองจากรัฐบาล ตลอดจนผลชันสูตรที่พบว่า ลูกสาวของเธอโดนยิงถึง 10 นัด ไม่ใช่ 2 นัดตามที่เธอเข้าใจ ทำให้เธอเต็มไปด้วยความเคียดแค้นและเดินทางทวงถามหาความยุติธรรมให้กับลูกอย่างไม่หยุดหย่อน

“ของขวัญวันแม่เหรอ แม่อยากได้แค่อย่างเดียว อยากได้ความเป็นธรรมให้ลูกของแม่ แค่นั้นแหละ”

 

000

ภายหลังเหตุการณ์การสลายการชุมนุม ไม่เพียงมีแม่หลายคนที่ต้องสูญเสียลูก หรือได้รับของขวัญเป็นลูกคนใหม่ที่สูญเสียอวัยวะ พิกลพิการ ยังมีแม่อีกจำนวนหนึ่งที่สูญเสียตัวตนในแบบเดิมไปแล้วท่ามกลางความโศกเศร้า หม่นหมอง และความเสียหายที่กระจัดกระจายอยู่ตามซอกหลืบของสังคมอันสงบสุข

หากใครเป็นสิงห์ไซเบอร์ เสือเฟซบุ๊ค ย่อมต้องรู้ว่า ข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ไม่ได้เงียบหายเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น คนจำนวนมากพยายามรวบรวมข้อมูลและส่งต่อข่าวสาร ความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม ทั้งในส่วนของญาติผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ครอบครัวผู้ถูกจับกุม อัพเดทสถานการณ์กันวันต่อวัน กระเสือกกระสนกันเท่าที่พละกำลังแต่ละคนจะอำนวย

 

 

กาญจน์ชนิษฐา เอกแสงสี หรือ เจ แม่ของลูกสาววัย 5 ขวบ ก็เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น เธอใช้เฟซบุ๊คแทนอาวุธปืน และใช้ข้อมูลข่าวสารแทนกระสุน ทั้งที่มีอาชีพรับราชการ แต่เธอใช้เวลาว่างทั้งหมดที่มีไปกับการเก็บข้อมูลญาติผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ คนแล้วคนเล่า นำมาโพสต์ในเฟซบุ๊คส่วนตัว เพื่อเผยแพร่ข้อมูลไปพร้อมๆ กับประสานความช่วยเหลือจากผู้อ่านไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบ เริ่มต้นลุยเดี่ยวจนกระทั่งปัจจุบันเริ่มมีอาสาสมัครผลัดกันมาช่วยเก็บข้อมูล เยี่ยมเยียนคนเจ็บ คอยนั่งรถเป็นเพื่อนกันขากลับยามดึกดื่น และอาสาสมัครส่วนใหญ่ก็ล้วนเป็นแม่ที่ทิ้งลูกเล็กไว้เบื้องหลังเพื่อมาเดินตามตรอกค้นหาบ้านคนเจ็บร่วมกันทั้งนั้น  

“ตอนแรกก็อธิบายให้ลูกฟัง ลูกก็เข้าใจ แต่พอมันหนักเข้าๆ ลูกเริ่มไม่เข้าใจอีกแล้ว ทำไมแม่ไม่มีเวลาพาไปเที่ยวสวนสัตว์ เที่ยวห้างเหมือนเดิม” เจเล่าให้ฟัง

เบื้องหลังของขบวนการแม่ลูกอ่อนแต่ละคนก็เป็นสิ่งน่าสนใจ บางคนเข้ากับเสื้อแดง อยู่ร่วมชุมนุมจนวันสุดท้าย ซึมซับทุกเหตุการณ์ความรุนแรง ขณะที่เจเองมีพื้นฐานต่างออกไป เธอเป็นลูกของนักวิชาการรุ่นใหญ่ที่มีชื่อเสียง อยู่ในสังคมระดับบน จบจากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะไปเป็นปลัดอำเภออยู่จังหวัดห่างไกลนับสิบปี จุดเริ่มต้นกับเสื้อแดงของเธอมีเพียงการแวะเวียนไปเยี่ยมชาวบ้านในพื้นที่ที่เคยประจำการซึ่งมาร่วมชุมนุมกับ นปช.ด้วย

อาจเป็นเพราะสมัยที่เป็นปลัดอำเภอนั้นทำงานคลุกคลีกับชาวบ้านอย่างถึงพริกถึงขิงจนเข้าใจประชาชนในต่างจังหวัดเป็นอย่างดี ทำให้ทนไม่ได้เมื่อเห็นพวกเขาถูกกระทำ โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ 10 เมษา เจเริ่มเข้าไปป้วนเปี้ยนในม็อบมากขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มอาสาสมัครกู้ชีพ กู้ภัย ซึ่งเธอเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ดูแลส่วนงานนี้อยู่

จนกระทั่งหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภา มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ในจำนวนนั้นมีอาสาสมัครกู้ชีพเสียชีวิตถึง 5 คน จากนั้นมาเธอกลายเป็นอาสาสมัครที่แข็งขันที่สุดในการนำข้อมูล เรียกร้องความเป็นธรรม โดยไม่เกรงกลัวหัวโขน ของตำแหน่งหน้าที่การงานจะหลุดจากบ่า เธอและเพื่อนๆ ตระเวนเยี่ยมคนบาดเจ็บและติดตามความคืบหน้าต่างๆ อย่างใกล้ชิด รวมทั้งยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงประสานงานระหว่างแหล่งข่าวกับผู้สื่อข่าวที่สนใจติดตามประเด็นเหล่านี้ด้วย

บ่อยครั้งที่เห็นเธอน้ำตาซึมกับเรื่องเล่าสะเทือนใจของผู้สูญเสีย ผู้ซึ่งลูกๆ สามี ญาติพี่น้องของพวกเขาไม่มีโอกาสได้หว่านไถ ปลูกข้าวบนนาของแม่อีกแล้ว...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท