Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ (สุบหานะฮูวะตะอาลา) ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความจำเริญและสันติจงประสบแด่นบีมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

การถือศีลอดนั้นจะอยู่ในช่วงเดือนรอมฎอน (ปีนี้ 2553 อยู่ระหว่าง 12 สิงหาคม 2553-10 กันยายน 2553) ซึ่งเป็นเดือนที่เก้าของปฏิทินอิสลาม (ซึ่งจะนับเดือนตามจันทรคติ)

บรรดานักปราชญ์อิสลามได้ให้คำจำกัดความของการถือศีลอด (ศิยามในภาษาอาหรับ) ไว้ว่า "การถือศีลอดหมายถึงการงดเว้นจากการบริโภคและการปฏิบัติตามอารมณ์ใฝ่ต่ำที่ทำให้เสียศีลอดนับตั้งแต่แสงรุ่งอรุณจนถึงดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า (เวลากลางวัน)"

ดังนั้น ในระหว่างวันชาวมุสลิมจะละเว้นการกิน การดื่ม ซึ่งทำให้ร่างกายขาดพลังงานจากสารอาหารที่จะได้รับและต้องสูญเสียน้ำจากการขับถ่ายออกจากร่างกาย จะทำให้รู้สึกกระหายน้ำและเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดลดลงก็จะทำให้รู้สึกหิว ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากการอดไปแล้วประมาณ 6-12 ชั่วโมง ซึ่งเรียกว่าระยะหิวโหย ระดับน้ำตาลและน้ำที่ลดลงจะกระตุ้นไปที่ศูนย์ควบคุมความหิว

สำหรับคนที่มีร่างกายปกติ มีเจตนา (นียะห์) และมีความเชื่อมั่นต่อบทบัญญัติของอัลลอฮฺ (ศุบหฯ) อย่างแน่วแน่ จะไม่ทำให้ร่างกายถึงขั้นมีอาการหน้ามืดหรือหมดสติไป เพราะระบบต่างๆ ในร่างกายจะช่วยประสานงานกันโดยอัตโนมัติเพื่อที่จะรักษาสมดุลให้เกิดขึ้น

โดยในระยะแรกร่างกายจะเริ่มมีการสลายพลังงาน ที่เก็บสะสมไว้ในตับ กล้ามเนื้อ และไขมันมาใช้เป็นพลังงานเพื่อรักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกายอย่างเหมาะสม ทำให้ร่างกายสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข โดยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานีซึ่งทำงานในชุมชนมุสลิมได้ให้ทรรศนะว่าการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน นับได้ว่าเป็นโอกาสอันดีที่อวัยวะของระบบทางเดินอาหารจะได้พักผ่อนและถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ล้างสารพิษในร่างกายออกไป เพราะจากการศึกษาพบว่า การอดอาหารในระยะหนึ่งจะเป็นการขจัดสารพิษออกจากร่างกาย เพราะร่างกายจะขับของเสียที่หมักหมมหรือสารอาหารที่มีมากเกินความต้องการของร่างกาย เช่น ไขมันเลือดในเลือด หรือที่เรียกกันว่าคอเรสเตอรอล ออกไป เพราะหากมีมากเกินไปในกระแสเลือดจะทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา อาทิ โรคหัวใจและหลอดเลือด

ดร.วินัย ดะห์ลัน กล่าวว่า มีรายงานการศึกษาทางการแพทย์ของ Mansell และ Macdonald ตีพิมพ์ในวารสาร British Medical Journal เมื่อปี 1988 แสดงให้เห็นว่า หญิงที่มีน้ำหนักปกตินั้น หากให้กินอาหารน้อยมาก เป็นเวลา 7 วัน ปรากฏว่า ร่างกายของหญิงเหล่านั้นจะปรับตัวได้ดีไม่มีปัญหาเลยแม้แต่น้อย

นักวิทยาศาสตร์กลุ่มเดียวกันนี้ยังศึกษาต่อไปอีกว่า หากลองให้คนอดอาหารอย่างสิ้นเชิงยาวนานถึง 48 ชั่วโมง แล้วตรวจสอบดูว่าจะส่งผลต่อกลไกการทำงานของร่างกายอย่างไรบ้าง

ผลของการศึกษาพบว่า ร่างกายของผู้อดอาหารกลับตอบสนองต่อการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินดีขึ้นด้วยซ้ำ คนที่อดอาหาร 48 ชั่วโมง เมื่อต้องกลับมากินอาหารอีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าสมดุลของฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ให้ประโยชน์และช่วยทำให้การย่อยอาหารดีขึ้น

มีรายงานการวิจัยอื่นๆ อีกเหมือนกันที่ยืนยันว่า การอดอาหารอย่างสิ้นเชิงจะทำให้ความดันโลหิตลดลง ในขณะที่ปริมาณของเลือดที่เข้าสู่หัวใจไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งหมายความว่า ร่างกายปรับตัวโดยลดการทำงานของร่างกายลงในขณะที่ประสิทธิภาพของร่างกายยังคงที่อยู่ ร่างกายของมนุษย์จึงอัศจรรย์กว่าที่เราเคยเข้าใจแยะ

ภายหลังผ่านการอดอาหารมาแล้ว ระบบการย่อยอาหารจะกลับเข้าสู่สภาวะเดิมโดยไม่แสดงผลร้ายหรือเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ก่อผลเสียแต่อย่างใดเลย

กองทัพบกอิสราเอล โดยมีคณะนักวิจัยทางการแพทย์นำโดยนายแพทย์ Maislos แห่งมหาวิทยาลัยเบนกูเรียน อิสราเอล เป็นผู้ทำงานวิจัยชิ้นนี้ให้กองทัพบก

หมอ Maislos ทำการศึกษาพฤติกรรมการถือศีลอดของชนเผ่าทะเลทรายที่เรียกว่า เบดูอิน คนเหล่านี้ถือศีลอดอย่างเคร่งครัดเหมือนกับคนอาหรับถือศีลอดกันในอดีต นั่นคือ กินอาหารน้อย ออกกำลังกายหรือทำงานตามปกติ และนอนค่อนข้างน้อย วันเวลาผ่านไปหนึ่งเดือนเมื่อพ้นเดือนรอมฎอน หมอทำการตรวจสอบระดับไขมันของชนเผ่าเบดูอิน สิ่งที่พบคือ คนเหล่านี้มีสุขภาพทางร่างกายดีขึ้น ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลง ระดับไขมันที่ดีที่เรียกว่า เอชดีแอล เพิ่มระดับสูงขึ้น

บทสรุปก็คือ การถือศีลอดอย่างเคร่งครัด น่าจะช่วยทำให้ผู้ที่ถือศีลอดลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากโรคหัวใจได้

อย่างไรก็แล้วแต่ การถือศีลอดจะมีสุขภาพดีและไม่เป็นอันตรายนั้นควรปฏิบัติดังนี้

1.หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมัน ขนมหวาน และอาหารหนักในปริมาณที่มากจนเกินควร แล้วเมื่อรอมฎอนผ่านไป น้ำหนักตัวของเขาจะลดลงเล็กน้อยและไขมันในร่างกายของเขาก็จะน้อยลงด้วย

2.ควรละศีลอดด้วยอินทผลัม ถ้าไม่มีก็ด้วยอินทผลัมแห้ง และถ้าไม่มีก็ด้วยการดื่มน้ำเล็กน้อย ในขณะที่ผู้ถือศีลอดละศีลอด ร่างกายของเขากำลังต้องการอาหารประเภทน้ำตาล ซึ่งสามารถจะถูกดูดซับเข้าสู่เลือดได้อย่างรวดเร็วและขจัดความหิวโหยให้หมดไป ในขณะเดียวกันนั้น ร่างกายของเขาก็ต้องการน้ำด้วย และการละศีลอดด้วยน้ำและอินทผลัมก็ให้ทั้ง 2 ประการ นั่นคือ การขจัดความหิว และขจัดความกระหาย นอกจากนั้น ทั้งอินทผลัมสดและแห้งยังอุดมด้วยเส้ยใย ที่จะช่วยป้องกันการท้องผูกและยังทำให้รู้สึกอิ่ม ดังนั้น ภายหลังจากที่ผู้ถือศีลอดละศีลอดด้วยอินทผลัมแล้ว เขาจึงไม่มีความอยากที่จะรับประทานอาหารอื่นในปริมาณมากๆ อีก

3.จงแบ่งการละศีลอดเป็น 2 ช่วง ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) จะรีบละศีลอดด้วยอินทผลัม หรือน้ำ ต่อจากนั้นก็จะรีบไปละหมาดค่ำ (มัฆริบ) เสร็จแล้ว จึงกลับมารับประทานอาหารหนักละศีลอดต่อการรับประทานอินทผลัมเล็กน้อยและน้ำ จะเป็นการกระตุ้นกระเพาะอาหารอย่างแท้จริง และในขณะที่กำลังละหมาดมัฆริบนั้น กระเพาะก็จะดูดซับสารน้ำตาลและน้ำทำให้ความรู้สึกหิวกระหายเลือนหายไป ครั้นเมื่อผู้ถือศีลอดละหมาดเสร็จ และกลับมารับประทานอาหารปริมาณมากๆ ในคราวเดียวและอย่างเร่งรีบนั้น จะทำให้กระเพาะอาหารโป่งพอง ลำไส้เกิดอาการปั่นป่วนและอาหารย่อยยาก

4.จงเลือกอาหารที่ถูกอนามัยและมีสารอาหารครบถ้วน อาหารที่ท่านรับประทานควรมีความหลากหลาย และมีสารอาหารครบทุกหมู่และควรให้อาหารมื้อละศีลอด มีสลัดผักมากๆ

5.ข้อแนะนำเพื่อไม่ให้ท้องผูก หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่มักจะมีอาการท้องผูก ก็ให้รับประทานอาหารที่มีเส้นใยมากๆ เช่น สลัดผัก ผัก และผลไม้ชนิดต่างๆ และจงหลีกเลี่ยงการรับประทานขนมหวาน โดยให้รับประทานผลไม้แทน และจงทำละหมาดตะรอเวียห์อย่างสม่ำเสมอและบริหารร่างกายหรือออกกำลังกายอย่างที่เคยปฏิบัติ

6.พึงหลีกเลี่ยงการนอนหลังการละศีลอด ผู้ถือศีลอดบางคนชอบที่จะนอนหลังการรับประทานอาหารละศีลอด อันที่จริงการนอนหลังอาหารมื้อใหญ่และมากไปด้วยไขมันนั้นจะเพิ่มความเฉื่อยชาและเกียจคร้านให้มากขึ้น

7.ข้อแนะนำสำหรับหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ก่อนที่หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรจะถือศีลอด นางควรปรึกษาแพทย์ หากแพทย์อนุญาต นางจึงถือศีลอด แต่ไม่ควรรับประทานอาหารละศีลอดในปริมาณที่มากเกินไป ให้รับประทานแต่พอประมาณและควรแบ่งการรับประทานอาหารละศีลอดเป็น 2 มื้อ มื้อแรกเมื่อได้เวลาละศีลอด และมื้อที่ 2 ให้ห่างกับมื้อแรกประมาณ 4 ชั่วโมง และในการรับประทานอาหารสะหูร (มื้อก่อนรุ่งสาง) ควรจะล่าช้ามากที่สุด และควรรับประทานอาหารประเภทนมโยเกิร์ตให้มาก และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและขนมหวาน

นอกจากนั้นหญิงที่ให้นมบุตรยังควรที่จะจัดเตรียมน้ำและอาหารเหลวเพื่อให้เด็กได้รับประทานควบคู่ไปกับการให้นมของนางขณะถือศีลอดและอาหารที่นางรับประทานเองทั้งมือละศีลอด และมื้อสะหูรควรเป็นอาหารที่เหมาะสมทั้งปริมาณและคุณภาพ และถ้าเป็นไปได้ก็ควรให้นมเด็กบ่อยครั้งในช่วงหลังละศีลอดถึงสะหูรและเมื่อใดที่รู้สึกอ่อนเพลียและเหน็ดเหนื่อยก็ให้รีบละศีลอดและปรึกษาแพทย์

8.คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจผู้ที่ป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับหัวใจจำนวนไม่น้อย ที่สามารถถือศีลอดได้เนื่องจากในช่วงเวลากลางวันเมื่อไม่มีการย่อยอาหาร กล้ามเนื้อหัวใจก็ทำงานน้อยลง และได้พักผ่อนมากขึ้น ทั้งนี้ เพราะเมื่อมีการย่อยอาหารนั้น ร้อยละ 10 ของเลือดหัวใจสูบฉีดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายจะต้องถูกส่งไปเลี้ยงอวัยวะที่ทำหน้าที่ย่อยอาหาร

สำหรับผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ปกติแล้วจะสามารถถือศีลอดได้ แต่จะต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ และในขณะนี้ก็มียาหลายชนิดที่ผู้ป่วยสามารถจะรับประทานเพียงแค่วันละ 1-2 ครั้งเท่านั้น แต่ผู้ป่วยเหล่านี้จะต้องพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มเปรี้ยวจัด และรับประทานอาหารที่ใส่เกลือสมุทรให้น้อยลง

ส่วนผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกที่ไม่รุนแรง และเฉียบพลัน โดยทั่วไปก็สามารถถือศีลอดได้ แต่จะต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ดี ก็มีผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการทางหัวใจบางอย่างที่ไม่สามารถถือศีลอดได้ อย่างเช่น ผู้ป่วยด้วยโรคก้อนเลือดแข็ง ผู้ที่มีอาการหัวใจเต้นอ่อนอย่างรุนแรง และผู้ที่มีอาการเจ็บเสียดหน้าอกอย่างเฉียบพลัน เป็นต้น

9.การปรับเปลี่ยนวิธีการทานยาในเดือนรอมฎอน (ฝ่ายเภสัชภรรมชุมชน โรงพยาบาลท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช) ในช่วงรอมฎอน สำหรับผู้ป่วยเล็กน้อยหรือพี่น้องที่ต้องรับประทานยานั้น บางท่านอาจจะสงสัยว่าจะปรับตัวอย่างไรในการถือศีลอดในแต่ละวัน

เรามาดูวิธีการปรับเปลี่ยนวิธีการทานยาในเดือนรอมฎอน วิธีรับประทานยาที่ปรากฏบนซองยา ช่วงเวลาที่แนะนำให้รับประทานยาในช่วงเดือนถือศีลอด ทานยาหลังจากละศีลอดแล้วไปละหมาดค่ำ (มัฆริบ) จึงมาทานข้าว/อาหารหลัก หลังจากละศีลอดประมาณ 15-30 นาที 4 ชั่วโมงหลังจากการละศีลอด 30 นาทีก่อนทานมื้อก่อนรุ่งสาง 15-30 นาทีหลังทานมื้อดังกล่าว

สำหรับคำแนะนำสุดท้ายผู้เขียนขอกล่าวว่า ในช่วงกลางวันของรอมฎอน เราจะถือศีลอด และประกอบอาชีพเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยยังชีพที่ฮะล้าล (สุจริตตามบทบัญญัติ) ส่วนในตอนกลางคืนเราจะละหมาดตะรอเวียห์ ขอดุอาอ์ (ขอพร) ขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ และขอความเมตตาจากพระองค์

แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างมาก ที่พวกเราบางตนไม่ได้ถือศีลอดตามที่ศาสนากำหนด โดยเขาใช้เวลาเกือบตลอดทั้งวันไปกับการนอน และมีอารมณ์โกรธฉุนเฉียวโดยปราศจากสาเหตุอันควร อู้งาน โดยอ้างว่าเพราะเขาถือศีลอด

ผู้ถือศีลอดที่แท้จริงคือผู้มีอวัยวะทุกส่วนของเขาจะต้องระงับจากการกระทำที่เป็นบาปและเป็นโทษ

ลิ้นของเขาจะต้องระงับจากการพูดเท็จ คำพูดที่ไร้สาระเหลวไหล คำพูดที่หยาบคายลามก

ท้องของเขาจะต้องระงับจากการกิน การดื่ม

อวัยวะเพศของเขาจะต้องระงับจากการกระทำที่เป็นลามก

ถ้าหากเขาพูดจะต้องไม่พูดในสิ่งที่ทำให้การถือศีลอดของเขาไร้ผล และถ้าหากเขาจะทำกิจกรรมใดจะต้องไม่กระทำในสิ่งที่ทำให้การถือศีลอดของเขาเสียหาย คำพูดของเขาที่ออกมาควรเป็นคำพูดที่ดี และการกระทำของเขาก็เช่นเดียวกัน ควรเป็นการกระทำที่ดีบังเกิดผล

ท่านศาสดาสนับสนุนให้มุสลิมผู้ถือศีลอดมีมารยาทที่ดีงาม และความประพฤติปฏิบัติเป็นที่ยอมรับและน่าสรรเสริญ และปลีกตัวให้ห่างไกลจากการกระทำที่น่าเกลียดน่าชัง และการพูดจาที่หยาบคายสามหาวลามก อนาจาร คือ การงานที่เป็นผิด เป็นบาป ถ้าหากมุสลิมถูกใช้ให้ปลีกตัวให้ห่างไกลและละเว้นมิให้ประพฤติปฏิบัติในทุกๆ วัน แน่นอนการห้ามมิให้ปฏิบัติในระหว่างการถือศีลอดก็เป็นเรื่องที่ควรระมัดระวังเป็นที่สุด

จำเป็นแก่มุสลิมผู้ถือศีลอดจะต้องปลีกตัวออกมาจากการกระทำที่จะทำให้การถือศีลอดของเขาต้องสูญเสียไป และเพื่อที่จะทำให้การถือศีลอดของเขาบังเกิดผลและบรรลุสู่การยำเกรง (ตักวา) ซึ่งพระเจ้า (อัลลอฮฺตะอาลา) ได้กล่าวในเรื่องนี้ไว้

ความว่า "โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย! การถือศีลอดได้ถูกบัญญัติแก่พวกเจ้า ดังเช่นได้ถูกบัญญัติแก่ประชาชาติก่อนหน้าพวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง" (2/183)

ท่านศาสดากล่าวไว้

ความว่า "ผู้ใดไม่ละเว้นการพูดเท็จและการกระทำที่เป็นเท็จ อัลลอฮฺก็ไม่ทรงประสงค์การอดอาหารและเครื่องดื่มของเขา" (บันทึกโดย : อิม่ามอัลบุคอรีย์) กล่าวคือเขาจะไม่ได้รับการตอบแทนใดๆ ท่านศาสดากล่าวไว้อีก

ความว่า"การถือศีลอดมิใช่ (การละเว้น) จากการกินการดื่มเท่านั้น แต่การถือศีลอด (จะต้องละเว้น) จากการพูดจาหรือการกระทำที่ไร้สาระและการพูดจาหยาบคายด้วย หากมีผู้ใดมาสบประมาทหรือเยาะเย้ยท่าน ก็จงกล่าวแก่เขาว่าฉันเป็นผู้ถือศีลอด ฉันเป็นผู้ถือศีลอด" (บันทึกโดย : อับนคุซัยมะฮฺ และอัลฮากิม)

"บางทีผู้ถือศีลอดนั้น ส่วนได้ของเขาจากการถือศีลอดของเขาก็คือ การหิวและการกระหายเท่านั้น" (บันทึกโดย : อิบนุมาญะฮฺและอะหมัด)

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ผู้ใดที่มีพฤติกรรมเช่นนั้น เนื่องจากเขาไม่ตระหนักถึงข้อเท็จจริงของการถือศีลอดที่พระเจ้าทรงใช้ให้เขายึดถือปฏิบัติ ดังนั้น พระองค์จึงลงโทษเขาด้วยการทำให้ผลบุญและการตอบแทนสูญเสียไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net