Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 10 ส.ค.53 ที่ผ่านมา ณ ห้องเจริญศรี 2-4 ชั้น 3  โรงแรมเซ็นทาราคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์  อำเภอเมืองจังหวัดอุดรธานี กรมชลประทานได้จัดการประชุมกลุ่มจังหวัดอุดรธานี เลย หนองคาย และหนองบัวลำภู (ยุทธศาสตร์)  ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) และการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA)  โครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล  โดยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนโดยทั่วไปได้ทราบถึงขั้นตอนการทำงาน แนวทางการศึกษา ทางเลือกของการพัฒนา และที่สำคัญที่สุดคือการสร้างภาพว่าประชาชนได้มีส่วนร่วมกับโครงการดังกล่าวนั้นเอง
 
บรรยากาศในเวทีมีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานราชการจากส่วนต่างๆ ตลอดจนนักวิชาการ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ามีประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าวเข้าร่วมฟังด้วยเป็นจำนวนน้อยมาก นอกจากนี้ภายในเวทียังมีการแสดงข้อคิดเห็น ข้อเสนอ และสักถามในประเด็นข้อสงสัยต่างๆ ซึ่งหลายคำถามก็ยังให้คำตอบได้ไม่กระจ่างชัดนัก
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในเวทีผู้จัดการโครงการและผู้เชี่ยวชาญด้านประชาสัมพันธ์ ได้กล่าวถึงการลงไปในพื้นที่ต่างๆที่จะเกิดโครงการเพื่อศึกษาข้อมูล และสอบถามความคิดเห็นของประชาชน เพื่อนำมาเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์โครงการ ทำให้ผู้ว่าฯนายพรศักดิ์ เจียรณัย จึงลุกขึ้นมาถามว่า “ไม่ทราบว่าทางกรมชลฯได้ลงไปในพื้นที่ตอนไหน เพราะทางหน่วยงานในท้องถิ่นยังไม่มีใครทราบมาก่อน ผมเองเป็นผู้ว่าจังหวัดเลยเอง ก็ยังไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน”
 
นายวิเชียร ศรีจันทร์นนท์ ประธานกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง กล่าวว่า แม่น้ำลำพะเนียงเป็นบทเรียนของความทุกข์ยากของประชาชน ในจังหวัดหนองบัวลำภู ที่มีชีวิตหากินหาอยู่กับแม่น้ำลำพะเนียง ทุกวันนี้กรมชลประทาน ยังตอบไม่ได้เลยว่าขุดลอกลำพะเนียงหรือพัฒนาลำพะเนียงแล้วชาวบ้านหายยากจนหรือไม่ โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิชุมชนยังไม่ถูกได้รับการแก้ไขเยี่ยวยา ระบบนิเวศน์ถูกทำลาย และตอนนี้กรมชลประทาน จะมาจัดเวทีรับฟังความเห็นโครงการผันน้ำ โดยไม่เคยสรุปบทเรียนความเสียหายที่ผ่านมาแต่จะไปข้างหน้าอีกแล้วผมในฐานะที่ได้รับผลกระทบจากการขุดลอกลำพะเนียงไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาโครงการผันน้ำ โขง-เลย-ชี-มูน ทำไมกรมชลไม่ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ภูมิปัญญาดังเดิมมาใช้ในการจัดการน้ำซึ่งในหมู่บ้านเราก็ยังพอมี

นายปัญญา โคตรเพชร ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งอุดรธานี ตั้งข้อสังเกตของการจัดเวทีการรับฟังความคิดเห็นฯในวันนี้ว่า เป็นการผลาญงบศึกษาหรือไม่ เพราะองค์ประกอบของการจัดขาดการมีส่วนร่วมเป็นอย่างมากและคนที่ได้ประโยชน์คือบริษัทที่ปรึกษาที่ได้รับงบศึกษาไปเต็ม ทั้งๆที่รู้มาโดยตลอดว่าโครงการฯแบบนี้ไม่มีวันที่จะทำได้สำเร็จและต้องมีคนขึ้นมาคัดค้านแน่นอน ยกตัวอย่างโครงการโขง-ชี-มูน ทุกวันนี้ก็ล้มไม่เป็นท่าประเทศชาติสูญเสียงบประมาณหลายพันล้านมีใครออกมารับผิดชอบบ้าง สิ่งต่างๆเหล่านี้ภาครัฐควรจะกลับไปทบทวนศึกษาให้รอบด้านเสียก่อนที่จะผลักดันต่อไป ที่กล่าวอ้างว่าประชาชนจะได้ประโยชน์จากโครงการนี้เป็นการพูดเท็จทั้งสิ้น..นายปัญญา กล่าว

นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน กล่าวว่า การจัดรับฟังความเห็นชองประชาชนที่กรมชลประทานจัดขึ้นในวันนี้ เป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้นและแหกตาคนทั่วในสังคมว่าได้จัดรับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้วผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฯ ผม...ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการใช้เวลาแค่ 3-4 ช.ม.มันเป็นการรวบรัด และ SEA ที่กรมชลทาน และบริษัทที่ปรึกษานำเสนอนั้นเป็นเส้นทางผันน้ำที่เลือกไว้แล้วว่าต้องเกิดขึ้นและกรมชลได้ตั้งธงไว้เรียบร้อยแล้วดังนั้นการจัดเวทีวันนี้ ทางเราจึงเห็นว่าไม่มีความเป็นธรรม ยอมรับไม่ได้ และไม่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน

นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า “คำถามที่ต้องค้นก็คือว่าการที่อีสานมีน้ำแล้วจะสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้จริงหรือไม่ ปัญหาดินเค็ม ปัญหาการละเมิดสิทธิชุมชน หรือความไม่เป็นธรรมทางสังคม จะหมดไปหรือไม่  ไม่ใช้มีน้ำแล้วจะทำให้ปัญหาทุกอย่างหมดไปอย่างที่รัฐบาล และกรมชลประทานตั้งธงไว้ โดยไม่คิดจะศึกษาหรือสร้างความเข้าใจในมติทางสังคมและสิ่งแวดล้อม” นายสุวิทย์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net