รายงานพิเศษ: คลี่ปมเยียวยาใต้ (ตอนที่1) สารพันปัญหาเงินเป็นตัวตั้ง

รายงานชุดคลี่ปมเยียวยา สารพันปัญหาเงินเป็นตัวตั้ง นำเสนอภาพรวมและปัญหาเรื่องการใช้เงินงบประมาณในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

ตลอดช่วง 6 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อเดือนมกราคม 2547 เป็นต้น รัฐบาลไทยได้ทุ่มงบประมาณในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผละกระทบไปแล้วมากกว่า 2,225 ล้านบาท
งานกับเงินเยียวยาวันนี้ยังมีปัญหามากมาย ในขณะที่สถิติผู้ได้รับผลกระทบทั้งเสียชีวิต บาดเจ็บ ทรัพย์สินเสียหาย ถูกจับกุม ควบคุมตัวดำเนินคดีก็ยิ่งพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สถิติความไม่สงบภาคใต้ยังพุ่ง
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ได้รายงานว่า ช่วง 73 เดือนตั้งแต่มกราคม 2547 ถึงมกราคม 2553 เกิดเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้รวม 9,446 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตประมาณ 4,100 คน บาดเจ็บ 6,509 คน รวม 10,609 คน มีผู้ได้รับผลกระทบจากความสูญเสียประมาณ 53,045 คน
ในกลุ่มผู้เสียชีวิตเป็นคนมุสลิมมากกว่าพุทธ คิดเป็นร้อยละ 58.95 (2,417 คน) ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นคนพุทธมากกว่ามุสลิม คิดเป็นร้อยละ 59.82 (3,894 คน)
งบประมาณเยียวยา
 
แต่ละปีรัฐได้เพิ่มงบประมาณเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ ยกเว้นในปี 2552 ที่ลดลง แต่ก็เชื่อว่าในปี 2553 นี้ มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์รุนแรงมาตั้งแต่ต้นปี
 
ทว่า งบประมาณ 2,225 ล้านบาทดังกล่าว ก็น้อยนิดถ้าเทียบกับงบประมาณในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด ซึ่งตลอด 5 ปีงบประมาณที่ผ่านมาที่สูงถึง 109,396 ล้านบาท
 
ขณะที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2554 ที่ผ่านวาระแรกของสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว ได้จัดสรรมาใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 19,102 ล้านบาท หากร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ผ่าน จะทำให้มีการใช้งบประมาณดับไฟได้พุ่งไปถึง 1.25 แสนล้าน
 
สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แจกแจงงบประมาณในการเยียวยาแยกเป็นรายปีตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2547 จนถึงสิ้นเดือน กันยายน 2552 รวมทั้งสิ้น 2,225,318,527 บาท
 
กลไกการเยียวยา
ตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2550 รัฐบาลไทยมีมติเกี่ยวกับการช่วยเหลือเยียวยาคนของรัฐที่ได้รับผลกระทบจนรวม 14 ครั้ง เมื่อสถานทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก รัฐบาลไทยได้เพิ่มการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนเข้าไปด้วย
มติคณะรัฐมนตรีครั้งสำคัญคือ การแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กยต. เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2548 พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์การช่วยเหลือ ซึ่งต่อมามีการปรับปรุงอีกหลายครั้ง จนได้หลักเกณฑ์ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน
กยต.ยังได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาอีก 5 ชุด หนึ่งในนั้น คือ คณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์และอำนวยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธาน
สำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ คือ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ส่วนหน่วยงานสำคัญในพื้นที่ คือ ศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบฯ จังหวัดทั้ง 4 จังหวัดคือ สงขลา ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส และศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบฯ ประจำอำเภอทุกอำเภอใน 3 จังหวัดและ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา
หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตในพื้นที่ (สพท.) สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด (ปภ.จ.) สำนักงานท้องถิ่นจังหวัด และผู้แทนกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ (กสส.) กระทรวงยุติธรรม 
ประเภทเงินเยียวยา
สำหรับเงินช่วยเหลือเยียวยาของทางราชการ ได้แบ่งประเภทของเงินออกเป็น 10 กลุ่ม ดังนี้ (ดูตารางหลักเกณฑ์การเยียวยา)
-           เงินช่วยเหลือ ซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่ที่สุด มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจและลดผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบ โดยให้เป็นเงินก้อนครั้งเดียว
-           เงินทุนประกอบอาชีพ เพื่อการประกอบอาชีพใหม่ แต่ต้องยื่นความจำนงเฉพาะ
-           เงินฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อฟื้นฟูร่างกายสำหรับผู้บาดเจ็บหรือทุพพลภาพ
-           เงินช่วยเหลือผู้พิการ จ่ายเป็นรายเดือนตามระดับความพิการ
-           เงินยังชีพรายเดือน จ่ายให้กับเด็กที่ประสบเหตุและบุตรของผู้ได้รับผลกระทบที่เสียชีวิต บาดเจ็บสาหัสหรือทุพพลภาพ เพื่อให้สามารถยังชีพได้ระหว่างการศึกษา โดยจ่ายเป็นรายเดือนจนจบการศึกษา
-           เงินสงเคราะห์ครอบครัว จ่ายครั้งเดียว
-           เงินครอบครัวอุปถัมภ์ จ่ายให้กับครอบครัวที่อุปถัมภ์เด็กกำพร้า เนื่องจากบิดาและมารดาเสียชีวิตทั้งคู่จากเหตุการณ์ไม่สงบ โดยได้รับเป็นรายเดือน
-           เงินทุนการศึกษาเป็นรายปีต่อเนื่อง สำหรับเด็กที่ประสบเหตุ เด็กกำพร้า หรือเด็กที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากบิดามารดาหรือผู้อุปการะเสียชีวิต บาดเจ็บสาหัส ทุพพลภาพระยะยาว โดยจ่ายเป็นรายปีจนจบการศึกษา
เงินเยียวยาไม่ใช่มรดก
นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา ในฐานะกรรมการมูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ หรือ มยส. กล่าวว่า เงินช่วยเหลือเยียวยา มีเป้าหมายเพื่อให้คนที่อยู่ข้างหลังมีชีวิตอยู่ต่อไปด้วยความยากลำบากน้อยที่สุด ดังนั้นเงินดังกล่าวจึงไม่ใช่มรดก
“ผู้นำศาสนาแจ้งชัดว่า ไม่ใช่เงินมรดก และไม่ต้องแบ่งตามกฎหมายมรดกตามหลักศาสนาอิสลาม อีกทั้งต้องไม่นำไปจ่ายหนี้ให้แก่เจ้าหน้าที่ก่อนจัดสรรให้ทายาทด้วย” นายแพทย์สุภัทร กล่าว
ใครคือผู้ได้รับผลกระทบ
เมื่อมีนโยบายและหลักเกณฑ์การเยียวยาแล้ว ก็จำเป็นต้องมีผู้ได้รับการเยียวยา แล้วใครคือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบที่ทำให้ต้องได้รับการเยียวยาจากความสูญเสียหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นบ้าง
ในกรณีนี้ คณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์และอำนวยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาฯ ได้ระบุประเภทผู้ได้รับผลกระทบอย่างกว้างๆ ดังนี้
1.คนไทยที่มีชื่อยู่ในทะเบียนบ้าน 2.บุคคลต่างด้าวที่เข้าเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย 3.ผู้มาประสบเหตุจากการกระทำของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา 4.เหตุการณ์ที่ทำให้เสียชีวิต บาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหาย เฉพาะทรัพย์สินที่ไม่ได้ทำประกันภัย
ขณะเดียวกัน มีการกำหนดระดับความเสียหายที่เกิดจากความไม่สงบด้วย ซึ่งมีหลายระดับความรุนแรง ทั้งการบาดเจ็บ เสียชีวิต ทรัพย์สินเสียหาย
กล่าวสำหรับความเสียหายต่อร่างกาย กยต.ได้มีการแบ่งออกเป็น 5 ระดับ ซึ่งจะทำได้รับสิทธิประโยชน์แตกต่างกัน ได้แก่
1.เสียชีวิต
2.ทุพพลภาพ หมายถึง พิการหรือขาดความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน เป็นต้น
3.บาดเจ็บสาหัส ใช้ระยะเวลาพักรักษาเกิน 20 วัน
4.บาดเจ็บธรรมดา ใช้ระยะเวลาพักรักษา 8 – 20 วัน และ
5.บาดเจ็บเล็กน้อย ใช้เวลาพักรักษาตัว ไม่เกิน 7 วัน
การรับรอง 3 ฝ่าย
หลักเกณฑ์สำคัญอีกประการหนึ่งที่คณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์และอำนวยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาฯ กำหนดขึ้นในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบคือ การรับรอง 3 ฝ่าย เยียวยาคือ หมายความว่า จำเป็นต้องมีเอกสารรับรองเหตุการณ์ไม่สงบจากทั้งตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครอง
อันเป็นการรับรองเพื่อยืนยันว่า เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จริง ซึ่งจะดำเนินการภายใน 7 วัน โดยผู้ลงนามในใบรับรอบ 3 ฝ่าย ได้แก่ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจ (ฉก.) ในพื้นที่ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร และนายอำเภอ
หากมีการรับรองเพียง 2 ฝ่าย ก็จะจ่ายเงินช่วยเหลือให้ครบ 100 % ทันที แต่หากมีการรับรองเพียงฝ่ายเดียว หรือ ไม่มีใครรับรองเลย ก็จะไม่มีการจ่ายเงินช่วยเหลือหรือหากมีการจ่ายไปก่อน 25 % ในเบื้องต้นก็ให้ยุติการจ่าย โดยไม่เรียกเงินคืน
แต่หากเป็นทรัพย์สินที่เสียหาย ก็จะมีการประชุมประเมินราคาทรัพย์สินก่อน
จากนั้นก็ให้รอผลการตัดสินสุดท้ายว่า เป็นคดีความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ หากความสูญเสียที่เกิดขึ้น เป็นคดีความมั่นคงก็ให้จ่ายเงินช่วยเหลือจนครับ 100 % ต่อไป โดยหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการมอบเงินเยียวยาคือผู้ว่าราชการจังหวัด
ในการรับรอง 3 ฝ่ายนั้น เป็นปัญหาพอสมควร เนื่องจากบางเหตุการณ์มีความคลุมเครือ เจ้าหน้าที่ไม่กล้ารับรอง แต่ญาติผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บเชื่อว่าเป็นเหตุการณ์ไม่สงบ ทำให้คำร้องเรียนค้างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์และอำนวยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาฯ เป็นจำนวนมาก
นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการชุดนี้ ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา มีเรื่องค้างพิจารณา 492 เรื่อง ซึ่งเป็นกรณีผู้ได้รับผลกระทบที่ตกสำรวจด้วย คิดเป็น 1 ใน 3 ของคำร้องทั้งหมด
นอกจากนี้ยังมีอีก 89 เรื่องต้องนำมาทบทวนคำรับรอง 3 ฝ่าย ใหม่ โดยในการพิจารณาหรือทบทวนคำรับรองใหม่นั้น ก็ต้องเชิญหน่วยงานในพื้นที่พิจารณาร่วมกัน

 
6 ปี ใช้งบเยียวยา 2.2 พันล้าน
 
ข้อมูลจากสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สามารถแจกแจงงบประมาณในการเยียวยาแยกเป็นรายปีตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2547 จนถึงสิ้นเดือน กันยายน 2552 ได้ดังนี้
 
ปี 2547 เงินช่วยเหลือและเงินชดเชย 25,027,500 บาท
 
ปี 2548 เงินช่วยเหลือและเงินชดเชย 93,673,334 บาท นอกจากนี้ยังมีเงินเยียวยาตามแผนงานภายใต้คณะกรรมการนโยบายและอำนวยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กยต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 297,002,975 บาท รวม 390,676,309 บาท
 
ปี 2549 เงินช่วยเหลือและเงินชดเชย 192,836,890 บาท เงินเยียวยาตามแผนงานภายใต้ กยต.277,272,124 บาท รวม 470,109,014 บาท
 
ปี 2550 เงินช่วยเหลือและเงินชดเชย 298,858,998 บาท แผนงานภายใต้ กยต. 189,486,340 บาท รวม 488,345,338 บาท
 
ปี 2551 เงินช่วยเหลือและเงินชดเชย 360,277,297 บาท แผนงานภายใต้ กยต. 217,726,890 บาท รวม 578,004,187 บาท
 
ปี 2552 เงินช่วยเหลือและเงินชดเชย 253,305,079 บาท แผนงานภายใต้ กยต.
 
รวม 6 ปีงบประมาณใช้เงินไปทั้งสิ้น 2,225,318,527 บาท
 
 
 

 
คณะกรรมการเยียวยาฯ
 
คณะกรรมการนโยบายและอำนวยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กยต. ตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2548 โดยมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาอีก 5 ชุด ได้แก่
 
1.คณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์และอำนวยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธาน
 
2.คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อประสานการติดตามผู้สูญหายและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเฉพาะกรณี
 
3.คณะอนุกรรมการโครงการดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านจิตใจใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
4.คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ และ
 
5.คณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือเยียวยาเด็กกำพร้าและสตรีหม้ายที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ
 
 
 
หลักเกณฑ์การเยียวยา
ตารางหลักเกณฑ์ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวดชายแดนภาคแดน ตามมติ คณะรัฐมนตรีและระเบียบรกระทรวงการคลัง
รายการ
ผู้ได้รับผลกระทบ
เสียชีวิต (บาท)
ทุพพลภาพ (บาท)
บากเจ็บ (บาท)
หน่วยงานที่รับผิดชอบ
สาหัส
ธรรมดา
เล็กน้อย
1.เงินช่วยเหลือ
ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ/ชั่วคราว พนังกานรัฐวิสาหกิจ เจ้าห้าที่ของรัฐ
500,000
500,000
50,000
50,000
50,000
สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.)/จังหวัด
ทหาร ตำรวจ อาสาสมัคร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน
500,000
500,000
50,000
50,000
50,000
ประชาชนผุ้ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือราชการในการรักษาความสงบในพื้นที่ อสม./ช.ร.บ. และอาสาสมัครที่ได้รับการแต่งตั้งจากส่วนราชการ
200,000
80,000
50,000
30,000
10,000
ประชาชนทั่วไป
100,000
80,000
50,000
30,000
10,000
2.เงินทุนผู้ประกอบอาชีพ
ผู้ได้รับผลกระทบได้รับบาดเจ็บ บาดเจ็บสาหัส หรือทุพพลภาพ
รายละ ไม่เกิน 15,000 บาท
3.เงินฟื้นฟูสมรรถภพ
ผู้ได้รับผลกระทบได้รับบาทเจ็บสาหัส หรือทุพพลภาพ
-
200,000
-
-
กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
4.เงินช่วยเหลือผู้พิการจ่ายเป็นรายเดือน
ผู้ได้รับผลกระทบฯ ทุกประเภท
-
1,000-3,000 (ตามระดับความพิการ)
-
-
5.เงินยังชีพรายเดือน
เด็กประสบเหตุและบุตรผู้ได้รับผลกระทบที่เสียชีวิต บาดเจ็บสาหัสหรือทุพพลภาพ จนจบการศึกษา
อนุบาล/ประถมศึกษา 1,000 บาท ปีละ 12,000 บาท
เด็กเล็ก/กศน./มัธยมศึกษา 1,500 บาท ปีละ 18,000 บาท
อุดมศึกษา 2,500 บาท ปีละ 30,000 บาท
6.เงินสงเคราะห์ครอบครัว
ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบฯ (ยกเว้นข้าราชการ)
บาดเจ็บ 3,000 บาท เสียชีวิต 6,000 บาท
7.เงินครอบครัวอุปถัมภ์
ครอบครัวที่อุปการะเด็กกำพร้า เนื่องจากบิดาและมารดาเสียชีวิตทั้งคู่ จากเหตุการณ์ความไม่สงบฯ
อุปการะ 1 คนๆ ละ 2,000 บาท/เดือน/ครอบครัว
 
อุปการะ 3 คนขึ้นไปเหมาจ่ายเดือนละ 5,000 บาท
8.เงินทุนการศึกษารายปีต่อเนื่อง
เด็กที่ประสบเหตุ เด็กกำพร้าหรือเด็กที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากบิดา มรดา หรือผู้อุปการะเสียชีวิต บาดเจ็บสาหัส ทุพพลภาพในระยะยาว
เด็กเล็ก/กศน. 5,000 บาท
อนุบาล/ประถมศึกษา 6,000 บาท
มัธยมศึกษา 10,000 บาท
อุดมศึกษา 20,000 บาท
กระทรวงศึกษาธิการ
 

หน่วยงาน
การช่วยเหลือ
1.กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ (คสส.)
1.เสียชีวิตไม่เกิน 100,000 บาท (ยกเว้นข้าราชการ)
- ค่าตอบแทนกรณ๊ผู้เสียหายเสียชยีวิต 50,000 บาท
- ค่าจัดการศพ 20,000 บาท
- ค่าอุปการะเลี้ยงดู 30,000 บาท
 
2.บาดเจ็บ (จ่ายตามใบเสร็จ)
1) ค่ารักษาพยาบาลตามจริงไม่เกิน 30,000 บาท
2) ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพตามจริงไม่เกิน 20,000 บาท
3) ขาดผลประโยชน์ทำมาหกินวันละไม่เกิน 200 บาท (1 ปี)
2.กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)
1.เสียชีวิต
1) หัวหน้าครอบครัว/ผู้หาเลี้ยงครอบครัว 40,000 บาท
2) สมาชิกในครอบครัว 15,000 บาท
2. บาดเจ็บสาหัส
เงินช่วยเหลือ 3,000 บาท
3. บาดเจ็บเล็กน้อย
เงินช่วยเหลือ 2,000 บาท
4. ทุพพลภาพ 10,000 บาท
5. อัคคีภัย
1) เพลิงไหม้ทั้งหลัง ไม่เกิน 30,000 บาท
2) เพลิงไหม้บางส่วน ไม่เกิน 20,000 บาท
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท