Skip to main content
sharethis

 

กรมการจัดหางานเชิญ 80 บริษัทจัดหางาน ลงสัตยาบัน

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. นายสุภัท กุขุน รองอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในวันที่ 3 ส.ค.นี้ กระทรวง แรงงานได้เชิญบริษัทผู้รับใบอนุญาตทำงานจำนวน 80 แห่ง จากทั้งหมด 200 แห่งเพื่อมาร่วมในพิธีลงนามสัตยาบัน 3 เรื่อง คือ 1.ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ 2.ต่อต้านธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์และ 3.ร่วมทำธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม  (ธรรมภิบาล) ซึ่งการลงสัตยาบันครั้งนี้ถือ  เป็นครั้งแรกของวงการธุรกิจจัดส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศเพื่อสร้างพลังต่อรองกับโบรก เกอร์ในต่างประเทศที่มีการซื้อขายตำแหน่งงานสูงทำให้คนงานที่ไปทำงานต่างประเทศต้องเสียค่าหัวสูงเกินกว่าความเป็นจริง โดยเฉพาะการไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลนั้นมีการเสียค่าหัวสูงถึง 2 แสนบาท ทั้งที่ความจริงแล้วควรจัดเก็บไม่เกิน 76,000 บาทต่อคน
       
“เมื่อมีการเก็บค่าหัวแพง ทำให้ปัญหาที่เกิดคือประเทศไทยต้องถูกขึ้นบัญชีดำว่า ธุรกิจการจัดส่งแรงงานไปเมืองนอกมีการเอื้อประโยชน์ให้กับกระบวนการค้ามนุษย์ตามมา ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องให้เห็นว่ารัฐบาลไทยเอาจริงกับการปราบปรามการค้ามนุษย์และลดค่าหัวไปทำงานต่างประเทศ” นายสุภัท กล่าวและว่า พิธีลงนามสัตยาบันดังกล่าวในวันที่ 3 ส.ค. จะมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานรับมอบสัตยาบันด้วยตัวเอง

(เดลินิวส์, 2-8-2553)

 

ส่งออกแรงงานไทยลด 15% เจอฟิลิปปินส์-อินโดฯ ตีตลาดแรงงาน

นายสุธรรม นทีทอง โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยตัวเลขผู้เดินทางไปทำงานต่างประเทศในเดือน มิ.ย. 2553ว่ามีจำนวนทั้งสิ้น8,881 คน โดยหากเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2552พบว่าตัวเลขลดลง 15.91% โดยมีสาเหตุจากเศรษฐกิจโลกและประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียมีการส่งออกแรงงานมากขึ้น ทั้งนี้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้เร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานไทยควบคู่กับการฝึกอบรมด้านทักษะภาษาอังกฤษเพื่อให้สามารถสื่อสารกับนายจ้างชาวต่างชาติได้ดีขึ้น

สำหรับประเทศที่แรงงานไทยเดินทางไปทำงานมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ไต้หวัน ลิเบีย อิสราเอล เกาหลีและญี่ปุ่น จำแนกตามวิธีการเดินทางพบว่า 72.06% เดินทางไปทำงานโดยการจัดส่งของบริษัทจัดหางาน แจ้งการเดินทางไปทำงานด้วยตนเอง 9.69% กรมการจัดหางานจัดส่งไปร้อยละ 8.63 %นายจ้างส่งไปฝึกงาน 4.97% และนายจ้างพาลูกจ้างไปทำงานในสำนักงานใหญ่หรือสาขาของตนในต่างประเทศ4.65%

หากจำแนกตามระดับฝีมือแรงงานพบว่าเป็นแรงงานมีฝีมือ31.08% ส่วนอีก68.92 %เป็นแรงงานไร้ฝีมือโดยใน 6 เดือนแรกของปีนี้มีผู้ได้รับอนุญาตให้ไปทำงานแล้วกว่า 3.6 หมื่นคน และคาดว่าจะมีรายได้กลับประเทศกว่า 2.7หมื่นล้านบาท แต่มีเงินที่ส่งกลับประเทศผ่านธนาคารแห่งประเทศไทยและตรวจสอบได้เพียง 3,5 พันล้านบาท

(โพสต์ทูเดย์, 2-8-2553)

รัฐบาลเตรียมเปิดรับฟังปัญหา 14 กลุ่มอาชีพ

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากรัฐบาลได้ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนระดับชาติ ในเรื่องของความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชน และจัดให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชนใน “โครงการ 6 วัน 63 ล้านความคิด” เดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว หลังจากนี้รัฐบาลจะทยอยเปิดเวทีรับฟังปัญหาจากกลุ่มอาชีพต่างๆ 14 กลุ่มอาชีพ เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะต่างๆมาจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีประกาศเป็นแผนปรองดองแห่งชาติเป็นของขวัญปีใหม่ในวันที่ 1 ม.ค.2554 สำหรับ 14 กลุ่มอาชีพที่รัฐบาลจะเข้าไปรับฟังความเห็น อาทิ ศิลปิน คนทำงานกลางคืน แท็กซี่มิเตอร์ วินมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ประมงพื้นบ้าน หาบเร่งแผงลอย วันพุธที่ 5 ส.ค.นี้ จะรับฟังปัญหากลุ่มผู้ใช้แรงงาน ที่กระทรวงแรงงาน เชิญสหภาพแรงงานทั่วประเทศ มาร่วมระดมความเห็น ข้อเสนอแนะ และ สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหา จากนั้นรัฐบาลก็จะทยอยรับฟังความเห็นกลุ่มอาชีพอื่นๆตามลำดับ แต่ในส่วนของมอเตอร์ไซด์รับจ้างเป็นกลุ่มอาชีพใหญ่ เนื่องจากปัจจุบันมีวินมอเตอร์ไซด์ในกทม. 1.8 แสนคัน และ
ในต่างจังหวัดอีกหลายแสนคน รวมทั่วประเทศจะมีคนที่ประกอบอาชีพมอร์เตอร์ไซด์รับจ้างประมาณ 6-7 แสนคน จึงจะมีการจัดการรับฟังความเห็นที่ใหญ่กว่ากลุ่มอื่น

นายสาทิตย์ กล่าวว่า หลังจากได้ข้อมูลจากทุกกลุ่มอาชีพแล้ว จะให้คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ไปสรุปข้อมูลทุกอย่างให้เสร็จภายในเดือน ก.ย. เพื่อนำข้อมูลดังกล่าว ไปรวมกับผลการศึกษาของคณะกรรมการชุดต่างๆที่รัฐบาลตั้งขึ้น เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ที่คาดว่าจะเสร็จประมาณเดือน ธ.ค. เพื่อให้นายกรัฐมนตรีประกาศในวันที่ 1 ม.ค.นี้ ส่วนการดำเนินการ หลังจากนี้รัฐบาลจะทยอยเปิดเวทีรับฟังปัญหาจากกลุ่มอาชีพต่างๆ 14 กลุ่มอาชีพ เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะต่างๆมาจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

(เนชั่นทันข่าว, 3-8-2553)

กรรมการปฏิรูปเสนอตั้งคณะทำงานปฏิรูปค่าจ้างแรงงาน ยกระดับค่าแรงขั้นต่ำ-ส่งเสริมการรวมตัวสหภาพ

นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศ (กปร.) และกรรมการสมัชชาการปฏิรูป ให้สัมภาษณ์ว่า ในที่ประชุมของคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด ตนได้เสนอให้มีการปฏิรูประบบค่าจ้างของผู้ใช้แรงงาน เนื่องจากในปัจจุบันมีผู้ใช้แรงงานที่เป็นลูกจ้างอยู่ 17 ล้านคน และเป็นแรงงานภาคการเกษตร 12 ล้านคน ซึ่งคนเหล่านี้ถือว่าเป็นกำลังซื้อหลักของตลาดภายในประเทศ ขณะเดียวกันตลาดในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป กำลังตกอยู่ในสภาพที่ถดถอย ดังนั้น จึงควรเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศด้วยการยกระดับรายได้ของผู้ใช้แรงงาน

ส่วนการเปิดโอกาสให้นายจ้างรับลูกจ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามานั้น นายณรงค์ กล่าวว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความมักง่ายเกินไปของราชการและนายจ้างที่ต้องการแรงงานราคาถูกและสามารถข่มขู่ได้ ซึ่งหากมีการจ่ายค่าจ้างให้แรงงานต่างด้าวในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำพร้อมทั้งให้หลักประกันด้านประกันสังคมตามที่กฎหมายกำหนด ก็จะทำให้นายจ้างหันกลับมาจ้างแรงงานไทยเพิ่มขึ้น แต่ทุกวันนี้ นายจ้างไม่อยากจ่ายเงินสมทบ ดังนั้น จึงต้องปฏิรูปเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กันด้วย

นายณรงค์ กล่าวว่า ทั้งคณะกรรมการปฏิรูปและคณะกรรมสมัชชาปฏิรูปได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลในประเด็นแรงงาน ทั้งนี้ การเริ่มต้นปฏิรูปค่าจ้างอาจทำโดยการยกระดับทางตรงให้รัฐบาลดำเนินการ เช่น การยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำ การจัดให้มีกองทุนพัฒนาฝีมือ เป็นต้น ส่วนทางอ้อมนั้น รัฐบาลต้องใจกว้างในการส่งเสริมการรวมตัวของคนงาน เพื่อให้มีพลังในการต่อรองที่เข้มแข็ง เพราะแม้ปัจจุบันกฎหมายจะเปิดโอกาสให้คนงานรวมตัวกันจดทะเบียนตั้งสหภาพแรงงานแล้วก็ตาม แต่ยังมีเพียง 4 แสนคน จากทั้งหมด 14 ล้านคนที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน

(แนวหน้า, 3-8-2553)

นายกฯ รับมอบสัตยาบัน ลดค่าใช้จ่ายคนงานไปทำงานต่างประเทศ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบสัตยาบัน ผู้รับอนุญาตจัดหางานตามโครงการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ และรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ พร้อมให้โอวาทคนงานก่อนเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ณ อาคารกีฬาเวสน์ ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง โดยมีตัวแทนคนงานและบริษัทจัดหางานรวม 87 บริษัท ร่วมให้สัตยาบันที่เรียกว่า “ปฏิญญา 3 สิงหา เพื่อการทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี” ต่อหน้านายกรัฐมนตรี

นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า ปัจจุบันแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะส่งเสริมแรงงานที่มีฝีมือและคุณสมบัติที่เหมาะสมในการไปทำงานต่างประเทศเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแรงงานไทย พร้อมวางแนวทางป้องกันไม่ให้บริษัทจัดหางานเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของคนงานได้ไม่ต่ำกว่ารายละ 10,000-30,000 บาท และร่วมมือกันต่อต้านการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ นอกจากนี้จะดูแลแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศให้ได้รับความเป็นธรรม ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยหวังว่าโครงการนี้จะส่งผลให้แรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศมากขึ้น และจะช่วยคลี่คลายปัญหาของผู้ใช้แรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศให้หมดไป

(สำนักข่าวไทย, 3-8-2553)

เครือข่ายปชช.แรงงาน บุกสภา หนุนผ่านร่าง พรบ.ความปลอดภัยฯ

ที่รัฐสภา กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนผลักดันสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน นำโดย นางสมบุญ ศรีคำดอกแค ประธานเครือข่ายฯ พร้อมคณะ เดินทางเข้ายื่นหนังสือสนับสนุนการผ่านร่าง พรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานพ.ศ....ต่อคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร

อย่างไรก็ตาม นางสมบุญ กล่าวว่า เครือข่ายขอความสนับสนุนของ ส.ส.ทั้งหมด เพื่อให้ผ่านร่าง พรบ.ความปลอดภัย เนื่องจากทางเครือข่ายฯ ได้เฝ้ารอ พรบ.นี้มานานกว่า15 ปีแล้ว จึงหวังว่า ส.ส.จะเห็นความสำคัญความปลอดภัยของคนที่ใช้แรงงานด้วย

ทั้งนี้ด้าน นายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย กมธ.แรงงาน กล่าวว่า ยืนยันว่า ส.ส.จะให้ความสำคัญ และจะผ่านร่าง พรบ.นี้อย่างแน่นอน

(แนวหน้า, 4-8-2553)

พม.ออกนโยบายช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์หนุนนักสังคมฯใช้ระบบคัดแยกเหยื่อ ยันพร้อมช่วยเหลือโดยไม่เลือกปฏิบัติ

นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีนโยบายให้การช่วยเหลือและคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ที่เร่ร่อน ขอทาน และแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย โดยเฉพาะผู้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ที่จะต้องได้รับการเยียวยาช่วยเหลือ โดยยึดหลักการเคารพในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของเหยื่อและไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมา ทางกระทรวงฯ ได้รับแจ้งเหตุผ่านทางโทรศัพท์สายด่วน ๑๓๐๐ เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหรือเทศกิจ ลงพื้นที่ช่วยเหลือ รวมทั้งการสนับสนุนให้มีนักสงคมสงเคราะห์ร่วมสอบข้อเท็จจริงและคัดแยกเหยื่อการค้ามนุษย์ เมื่อมีการร้องขอ หรือเมื่อมีการลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ ซึ่งในการคัดแยกเหยื่อฯ นี้ จะใช้แบบสอบถาม ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ จัดทำขึ้น เป็นเครื่องมือในการ คัดแยก และหากพบว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ก็จะส่งตัวเข้ารับการคุ้มครองสวัสดิภาพในหน่วยงานสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพชาย-หญิง ที่อยู่ในจังหวัดนั้นๆ หรือจังหวัดใกล้เคียง และขณะที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงาน จะมีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศต้นทาง เพื่อดำเนินการตามกระบวนการส่งกลับและคืนสู่สังคม

นายอิสสระ กล่าวว่า รายงานการค้ามนุษย์ หรือ TIP Reports 2010 ของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดอันดับการดำเนินงานของประเทศไทยเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ไว้ในอันดับ Tier 2 watch list คือ ยังไม่สามารถดำเนินงานได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำที่องค์การสหประชาชาติกำหนดไว้ และเป็นประเทศที่ต้องถูกจับตามองเป็นพิเศษ สาเหตุมาจากประเทศไทยยังไม่ได้ดำเนินการคัดแยกเหยื่อฯ ในหลายกรณี พม.จึงมีความห่วงใย และพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกันต่อไป

“การปรับกระบวนการทำงานและการร่วมมือร่วมใจกันดังกล่าว คาดว่าจะช่วยยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานของประเทศไทยให้มีมาตรฐานตามที่สหประชาชาติได้กำหนดไว้ และช่วยให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ” นายอิสสระ กล่าว

(ThaiPR.net, 5-8-2553)

ตร.นครปฐม บุกรวบแรงงานข้ามชาติกว่า 20 คน

พ.ต.ต.อิทธิพล เทวบัญชา สว.สส.สภ.โพธิ์แก้ว รับแจ้งจากสายลับว่ามีการลักลอบจ้างแรงงานเถื่อนอย่างผิดกฎหมาย ภายในบริเวณแคมป์คนงานก่อสร้างตลาด 100 ปี ข้างห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีอ้อมใหญ่ หมู่ 8 ต.อ้อมใหญ่ อ.สามพราน จ.นครปฐม จึงรุดไปตรวจสอบพร้อม พ.ต.อ.ภาสกร กล

(เนชั่นทันข่าว, 5-8-2553)

เครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หวั่นสหรัฐเพิ่มระดับไทยใช้แรงงานเด็ก

นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริม คุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การใช้แรงงานเด็กในประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากยังมีการลักลอบใช้แรงงานเด็กอย่างผิดกฎหมายในธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหารแช่เยื่อแข็งที่เป็นโรงงานขนาดเล็ก ซึ่งจะมีเด็กอายุต่ำกว่าเกณฑ์ปะปนอยู่แทบจะทุกแห่ง แม้ว่ากฎหมายไทยจะอนุญาตให้แรงงานเด็กอายุตั้งแต่ 15-18 ปี สามารถทำงานได้ก็ตาม แต่ว่าก็ยังมีเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปีจำนวนมาก

ถามว่าหากปล่อยให้สถานการณ์คงเป็นแบบนี้ต่อไปจะไม่ส่งผลดีให้กับประเทศไทยแน่นอนโดยเฉพาะกรณีที่กระทรวงแรงงานสหรัฐกำหนดให้การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบางสหรัฐห้ามใช้สินค้าที่ผลิตจากแรงงานเด็กและแรงงานบังคับจำนวนทั้งสิ้น 29 รายการสินค้า จากทั้งหมด 21 ประเทศ ซึ่งล่าสุดสหรัฐได้ประกาศบัญชีสินค้าดังกล่าวออกมาแล้ว โดยมีสินค้ากุ้งและเครื่องนุ่งห่มของไทยติดอยู่ในแบล็กลิสด้วย

นายสมพงค์ กล่าวว่า สาเหตุที่สหรัฐยังคงระดับการจับตาเป็นพิเศษในการใช้แรงงานเด็กของไทย เนื่องจากทางรัฐบาลสหรัฐยังไม่มั่นใจต่อท่าทีของไทย ในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 และการดำเนินคดีกับผู้ที่ทำผิดกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนมาตรการต่างๆของรัฐบาลไทยที่แสดงถึงความพยายามในการแก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็ก

“ ต้องบอกว่าขณะนี้ไทยเรายังลูกผีลูกคน สหรัฐเขายังจัดระดับเราอยู่ที่ระดับ 2 ซึ่งเป็นระดับที่ต้องจับจ้องเป็นพิเศษ ซึ่งสุ่มเสี่ยงถ้าเรายังไม้แก้ปัญหาโอกาสที่เราจะถูกเลื่อนระดับความรุนแรงไปเป็นระดับ 3 ซึ่งเป็นระดับที่เลวร้ายที่สุดก็มีสูง ตอนนั้นธุรกิจส่งออกกุ้งปีละ 7-8 หมื่นล้านกระทบแน่นอน และภาพลักษณ์ของไทยก็จะเสียไปด้วย ” นายสมพงค์กล่าว

นายสมพงค์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางกระทรวงแรงงานได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อแก้ปัญหาแรงงานเด็กขึ้นมา ซึ่งตนเองก็เป็นหนึ่งในกรรมการด้วย มีการประชุมครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยภารกิจแรกคือ การกำหนดยุทธศาสตร์การแก้ปัญหา รวมทั้งเตรียมต้อนรับคณะเจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐสภาสหรัฐที่จะเดินทางมาเยือนประเทศไทยในเดือนนี้ ซึ่งอนุกรรมการชุดนี้ก็จะคอยให้ข้อมูล ตอบคำถาม และพาเยี่ยมชมโรงงานในพื้นที่ที่พบว่ามีการใช้แรงงานเด็ก

(เนชั่นทันข่าว, 5-8-2553)

 

แรงงานไทยจี้รัฐดูแลระบบค่าจ้างให้เป็นธรรม

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย เรื่อง "ปฏิรูปแรงงานไทยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย : มุมมองสหภาพแรงงาน" เพื่อนำไปแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม มีผู้นำแรงงานจากภาคส่วนต่างๆ ร่วมแสดงความคิดเห็น โดยกลุ่มผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่เสนอแนะให้รัฐบาลหันมาดูแลเรื่องระบบค่าจ้าง ให้เกิดความเป็นธรรมอย่างแท้จริง

นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์ กล่าวว่า ขอให้ศึกษาและฟื้นฟูระบบค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โดยนับชั่วโมงการทำงาน 8 ชั่วโมงตามกฎหมายจริง ๆเพราะปัจจุบันผู้ใช้แรงงานทำงานจนแทบไม่มีวันหยุด ขอให้บังคับใช้กฎหมายแรงงานอย่างตรงไปตรงมา มีความเป็นธรรมกับผู้ใช้แรงงาน ไม่ใช่เกรงใจกลุ่มทุนมากกว่าลูกจ้าง และควรตั้งกองทุนสำรองความเสี่ยงกรณีถูกเลิกจ้าง รัฐต้องสำรองเงินจ่ายให้ก่อน ไม่ใช่รอให้ลูกจ้างไปฟ้องร้องเอง

ด้าน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย เลขาธิการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กล่าวว่า อยากให้เร่งแก้ไขปัญหาความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงาน เพราะจากสถิติปี 2552 มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการทำงานที่ต้องรักษาตัวต่อเนื่องเกิน 3 วันถึง 149,000 กว่าราย จึงควรเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมความปลอดภัยให้มีผลบังคับใช้ใน 1ปี นอกจากนี้อยากให้ปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมเป็นหน่วยงานอิสระ กรรมการมาจากการเลือกตั้งของผู้ใช้แรงงาน.

(ไทยรัฐ, 5-8-2553)

สปส.เผยยอดจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร ประจำเดือนพฤษภาคม 2553 กว่า 480 ล้านบาท

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคมได้มีการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร ให้แก่ผู้ประกันตนที่มีบุตรอยู่ในช่วงอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปี โดยผู้ประกันตนจะต้องมีการนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยเวลา 36 เดือน ทั้งนี้การขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีดังกล่าวผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิเบิกเงินสงเคราะห์บุตรได้คราวละไม่เกิน 2 คน ซึ่งในเดือนเมษายน 2553 มีผู้ประกันตนทั่วประเทศ ยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีดังกล่าวจำนวนมากถึง 1,129,232 ราย โดยสำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนเป็นเงิน 480,933,750 บาท สำหรับผู้ประกันตน ที่ประสงค์จะขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร สามารถยื่นหลักฐานได้ที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ  ซึ่งหากเป็นการใช้สิทธิของผู้ประกันตนหญิง จะต้องยื่น สปส.2-01 พร้อมแนบหลักฐานประกอบ ได้แก่ สูติบัตรตัวจริงของบุตรพร้อมสำเนา (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสูติบัตรของคู่แฝดด้วย) สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาสมุดบัญชีธนาคารออมทรัพย์หน้าแรกซึ่งมีชื่อและเลขบัญชีของผู้ประกันตนของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) (ธนาคารไทยธนาคารเดิม) หากใช้สิทธิของผู้ประกันตนชาย จะต้องเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น โดยจะต้องแนบหลักฐานข้างต้นเหมือนกับการใช้สิทธิ ของผู้ประกันตนหญิงแต่จะต้องมีหลักฐานเพิ่มอีกอย่างหนึ่งคือ สำเนาทะเบียนสมรสหรือหนังสือรับรองบุตร/กรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรส)

และเพื่อความสะดวกในการรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรของผู้ประกันตน  ทางสำนักงานประกันสังคมจะโอนเงินผ่านบัญชีออมทรัพย์ของผู้ประกันตน มีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที/จังหวัด/สาขา ที่ท่านสะดวกเจ้าหน้าที่ให้บริการทุกวัน ตั้งแต่ 07.00-19.00 น.ระบบโทรศัพท์ ตอบรับอัตโนมัติให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

(บ้านเมือง, 5-8-2553)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net