Skip to main content
sharethis

 

ออกกฎเว้นค่าต๋ง 5 ปี-เพิ่มค่าแรงลดขาดแรงงาน

ก.อุตสาหกรรมออกกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีเป็นเวลา 5 ปี หนุนโรงงานใช้ประโยชน์จากของเสียหรือวัสดุเหลือใช้ จูงใจโรงงานพัฒนากระบวนการผลิต

ก.อุตสาหกรรมออกกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีเป็นเวลา 5 ปี หนุนโรงงานใช้ประโยชน์จากของเสียหรือวัสดุเหลือใช้ จูงใจโรงงานพัฒนากระบวนการผลิต หวังระยะยาวช่วยสร้างเศรษฐกิจ มุ่งรักษาสภาพแวดล้อม สร้างอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน ด้านโรงงานอุตฯ หัวหมุนขาดแรงงานซับคอนแทรค 1 ล้านคน สศอ.แนะต้องปรับเพิ่มค่าแรงอีก 100 บาทต่อวันเพื่อจูงใจ

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานซึ่งนำของเสียหรือวัสดุเหลือใช้จากการประกอบกิจการโรงงานมาใช้ประโยชน์ พ.ศ.2553 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2553 โดยให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีเป็นระยะเวลา 5 ปี แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานในส่วนของโรงงานซึ่งนำของเสียหรือวัสดุเหลือใช้จากการประกอบกิจการมาผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อเป็นพลังงานทดแทน และโรงงานซึ่งนำเอาของเสียจากการเผาไหม้ในกระบวนการผลิตทั้งหมดกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ

ทั้งนี้ ผู้ประกอบกิจการโรงงานซึ่งมีการนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ก่อนวันที่ประกาศกฎกระทรวงฯ จะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ ส่วนผู้ประกอบการซึ่งนำของเสียมาใช้ประโยชน์หลังจากที่กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ และก่อนวันที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปี ให้ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีนับแต่ปีที่ได้นำของเสียหรือวัสดุเหลือใช้จากการประกอบกิจการมาใช้ประโยชน์

“การออกกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี และได้ผ่านสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว กฎกระทรวงฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบกิจการที่มีการนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ และเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานพัฒนากระบวนการผลิตอันเป็นประโยชน์ในการรักษาสภาพแวดล้อม ซึ่งขณะนี้โรงงานขนาดใหญ่หลายแห่งได้นำของเสียจากการผลิตมาใช้งานแล้ว แต่โรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กอาจมีการดำเนินการในเรื่องนี้ยังไม่แพร่หลายนัก และเชื่อว่ากฎกระทรวงดังกล่าวจะเกิดผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในระยะยาว เพราะช่วยลดปริมาณกากขยะอุตสาหกรรม รวมทั้งการปล่อยของเสียที่อาจเป็นประเด็นให้ชุมชนเป็นห่วง ซึ่งเป็นกฎหมายหนึ่งที่ออกมาเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน” นายชัยวุฒิ กล่าว

ด้านนายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานภาคอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องการแรงงานแบบเหมาช่วง (ซับคอนแทรค) มากถึง 1 ล้านคน ในการรองรับการผลิตสินค้าในเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีคำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) จำนวนมาก เพื่อรองรับความต้องการสินค้าของผู้บริโภคทั่วโลกในเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ ส่งผลให้บริษัทผู้รับเหมาช่วงต่างเร่งประกาศหาแรงงานป้อนให้โรงงานผลิตสินค้า ทั้งนี้กลุ่มที่ต้องการแรงงานซับคอนแทรคในปริมาณมาก เช่น ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ, อาหาร โดยเฉพาะผู้ผลิตส่งออกกุ้งและไก่ เป็นต้น เนื่องจากก่อนที่จะตกลงทำสัญญาออร์เดอร์ ลูกค้าต่างประเทศต้องการให้ผู้ผลิตไทยส่งสินค้าให้ทันตามกำหนด เพราะหากไม่มั่นใจว่าจะส่งได้ผู้ซื้อก็จะไปติดต่อผู้ผลิตรายอื่นแทน ซึ่งยอมรับว่าโรงงานหลายแห่งต้องปฏิเสธออร์เดอร์จำนวนมากเพราะมีแรงงานไม่เพียงพอ

“ช่วงที่ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องเพิ่มกำลังการผลิตมากมี 3 ช่วง ประกอบด้วย เดือน ม.ค.-กพ., เดือน พ.ค.-มิ.ย. และ ก.ย.-ต.ค. โดยปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมมีแรงงานประจำที่ 8-9 ล้านคน ที่เหลือก็จะจ้างซับคอนแทรค 1-2 ล้านคน แต่ปีนี้มีปัญหาการขาดแคลนทั้งแรงงานประจำที่เป็นระดับช่างฝีมือ และซับคอนแทรคที่ส่วนใหญ่กลับไปทำงานในภาคเกษตร หรือไม่ก็ทำธุรกิจส่วนตัว ดังนั้นจึงไม่อยากกลับเข้ามาทำงานในโรงงาน เพราะนายจ้างไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร โดยเฉพาะช่วงที่มีออร์เดอร์น้อย”

นอกจากนี้ สศอ.เตรียมจะหารือกับภาคเอกชนในการหาแนวทางช่วยเหลือลูกจ้างซับคอนแทรคเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนช่วงไม่มีงานทำ เช่น ร่วมกันช่วยเหลือในการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อพลักดันให้เป็นแรงงานที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จนสามารถเข้าไปทำงานเป็นพนักงานประจำในโรงงานได้ เป็นต้น

นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีนักศึกษาที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีกว่า 1 แสนรายที่ไม่เป็นที่ต้องการในภาคอุตสาหกรรม เช่น ด้านสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ และนิเทศศาสตร์ เป็นต้น เพราะแม้ว่านายจ้างจะขาดแคลนแรงงานแต่ก็ไม่อยากจ่ายค่าตอบแทนในระดับที่สูงตามวุฒิการศึกษา เนื่องจากใช้งานไม่คุ้มค่า ส่วนปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือกว่า 1 แสนตำแหน่ง โดยเฉพาะในกลุ่มสาขา ปวช. และ ปวส.นั้น ส่วนหนึ่งนายจ้างให้ค่าตอบแทนในระดับที่ต่ำ ทำให้แรงงานจำเป็นต้องเลือกบริษัทที่ให้ผลตอบแทนในระดับที่น่าพอใจ

สำหรับอุตสาหกรรมที่แรงงานให้ความสนใจมากสุดคือกลุ่มยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะให้ค่าจ้างสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐบาลประกาศไม่ต่ำกว่าวันละ 100 บาท ทำให้หลายกลุ่มอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อปรับขึ้นค่าจ้างตาม ไม่เช่นนั้นแรงงานก็จะย้ายไปอยู่ในภาคอื่นหมด ขณะเดียวกันค่ายรถยนต์หลายประเทศที่มีฐานการผลิตในไทยเริ่มกังวลปัญหาแรงงานในอนาคตที่จะมีการเพิ่มกำลังการผลิต โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่ต้องการผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์อันดับ 2 ของโลกรองจากญี่ปุ่นเตรียมที่จะนำงบประมาณ 1,000 ล้านบาท ในการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อเข้ามาทำงานให้กลุ่มยานยนต์ต่อไป

(บ้านเมือง, 9-8-2553)

ธนาคารกสิกรไทยให้บริการ ATM ภาษาพม่า

เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าไปใช้บริการตู้เอทีเอ็มในตัวเมือง สมุทรสาครแล้วรู้สึกแปลกใจ ที่หน้าจอทำรายการมีภาษาพม่ากำกับอยู่ด้วย ผู้สื่อข่าวเดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริง  โดยตระเวนสำรวจตู้เอทีเอ็มทุกธนาคารทั่วเมืองสมุทรสาคร ปรากฏว่าตู้ เอทีเอ็มของธนาคารกสิกรไทย มีภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาพม่าเพิ่มขึ้นมาอีกภาษา  ส่วนตู้เอทีเอ็มของธนาคารอื่นไม่มีภาษาพม่าให้บริการแต่อย่างใด ผู้สื่อข่าวนำนายแดง อายุ 44 ปี แรงงานชาวพม่ามาทำรายการให้ดู เพื่อตรวจสอบข้อความขั้นตอนการทำรายการของตู้เอทีเอ็ม พบว่าหลังสอดบัตรเอทีเอ็มเข้าไปในเครื่องแล้วจะมีข้อความว่า  ยินดีต้อนรับขึ้นเป็นภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ  ตามด้วยข้อความให้ใส่รหัสของบัตร จากนั้นจะมีข้อความเป็นภาษาไทยตีคู่กับภาษาพม่า และตามด้วยภาษาอังกฤษทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการกดเงินสด โอนเงิน จ่ายค่าสาธารณูปโภคต่างๆ รวมทั้งสอบถามยอดเงินด้วย

ด้านผู้นำชุมชนคนหนึ่ง ในตำบลท่าจีน กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลเปิดให้ทำบัตร ทำให้แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่ มีบัตรถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก็มีแรงงานอีกส่วนหนึ่งที่แฝงตัวหลบหนีเข้ามาก็มีบ้าง คนที่มีบัตรส่วนใหญ่จะอยู่แบบสบายใจ แต่ก็มีบางคนที่ไม่มีบัตรแต่อยากจะทำบัตร ซึ่งรัฐบาลยังไม่เปิดโอกาสให้ทำ ทำให้แรงงานต่างด้าวคนใหม่ที่หลบหนีเข้ามาต้องอยู่กันแบบหลบๆซ่อนๆดังนั้น จึงอยากให้ทางการเปิดทำบัตรให้แรงงานต่างด้าวเพื่อนำเงินเข้ารัฐดีกว่า

ส่วน พ.ต.ต.สมชาย ขอค้า สวป.สภ.เมืองสมุทรสาคร เผยว่า สำหรับแรงงานต่างด้าวในจังหวัดสมุทรสาครที่ต่อใบอนุญาตทำงานมีทั้งสิ้น 124,454 คน กับแรงงานที่พิสูจน์สัญชาติ (MOU) อีก 9,001 คน รวมทั้งสิ้น 133,455 คน และแรงงานไม่ขึ้นทะเบียนอีกนับหมื่นคน ตามที่รัฐบาลและจังหวัดสมุทรสาคร ได้ผ่อนผันแรงงานต่างด้าวให้มีการจดทะเบียน และสามารถประกอบอาชีพในประเภทต่างๆ ได้ 11 กิจการนั่นคือ ประมง เกษตรกรรม โรงอิฐ เหมืองแร่ โรงสีข้าว โรงน้ำแข็ง การขนถ่ายสินค้าทางน้ำ การก่อสร้าง รับใช้ในบ้าน กิจการต่อเนื่องประมงและอื่นๆแต่ต้องระบุ ตำรวจได้กวดขันจับกุมผู้ที่ทำงานนอกเหนือจากนี้อย่างต่อเนื่องแต่ก็กวาดล้าง ไม่หมด เพราะมีแรงงานที่หลบหนีเข้าเมืองจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า สำหรับพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เป็นจังหวัดชายทะเลตั้งอยู่ตอนล่างของภาคกลางมีเนื้อที่ประมาณ 872 ตารางกิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพฯประมาณ 30 กม. ประชากรส่วนใหญ่ประกอบกิจการประมง และการเกษตร อุตสาหกรรมหลักได้แก่อุตสาหกรรมด้านการผลิต โดยเฉพาะการผลิตแปรรูปอาหารเพื่อการส่งออก มีสถานประกอบการประมาณ 6,320 แห่ง ทำให้มีแรงงานต่างด้าวตามชุมชนต่างๆถึง 26 ชุมชน อาทิ ชุมชนเกาะสมุทร ชุมชนบ้านท่าจีน ชุมชนท่าทราย ชุมชนท่าฉลอม ชุมชนวัดโกรกกราก และชุมชนวิลล่า แต่ละชุมชนมีแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่ตั้งแต่ 1,000-10,000 คน

(ไทยรัฐ, 9-8-2553)

แรงงานนอกระบบจี้เร่งดัน กอช.เข้าสภา

นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กทม. เปิดเผยว่า มีความกังวลร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งค้างอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จะพิจารณาล่าช้าและไม่ทันให้รัฐบาลเสนอเข้ารัฐสภาทันสมัยการประชุมนี้ เครือข่ายบำนาญประชาชน ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มแรงงานนอกระบบ เกษตรพันธสัญญา แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ผู้รับงานไปทำที่บ้าน หาบเร่แผงลอย กลุ่มคุ้ยขยะ และเครือข่ายชุมชนภาคประชาสังคม กทม. จึงเตรียมออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้กระทรวงการคลังชี้แจงข้อติดขัดต่างๆ

 นอกจากนี้ยังพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะเรื่องนี้ได้เตรียมการมานานแล้ว และเป็นนโยบายของ รมว.คลัง ที่ได้ประกาศไว้ต่อสาธารณะว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และเรื่องนี้ทุกฝ่ายก็ได้ติดตามรอคอยมาอย่างยาวนาน

 “ถ้าพวกเราอายุ 60 ปีแล้วไม่มีบำนาญอาจจะลำบาก เราเห็นด้วยกับระบบบำนาญที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออม ประชาชนจะได้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี มีความสามารถที่จะอยู่ได้เมื่อยามแก่ชรา การสร้างหลักประกันให้แก่แรงงานนอกระบบปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่กำลังให้ความสำคัญ แต่ประชาชนยังขาดความเข้าใจ เกิดความสับสน สิ่งสำคัญคือการทำงานร่วมกับภาคประชาชน รัฐต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้ามาร่วมอย่างแท้จริงเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน” นางสุจินกล่าว

 รายงานข่าวแจ้งว่า กระทรวงการคลังได้เตรียมงบประมาณปี 2554 ไว้เป็นทุนประเดิมสำหรับกองทุน กอช. แล้ว แต่ไม่ทราบเหตุผลที่ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังไม่ส่งคืนจากกฤษฎีกา ซึ่งหากไม่ทันก็คาดได้ว่าคงต้องถูกดองไปอีกนาน เครือข่ายบำนาญประชาชนจึงได้ออกมากระตุ้นให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนอันสอดคล้องกับวาระการปฏิรูปประเทศไทย ทั้งนี้ เครือข่ายพร้อมให้ข้อมูลสนับสนุนทางวิชาการ และเสนอความต้องการจากภาคประชาชน พร้อมทั้งจะเข้าพบ รมว.คลัง และคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงถึงความล่าช้าในสัปดาห์หน้า พร้อมจัดให้มีเวทีเสวนาในกลางเดือนสิงหาคมนี้

(คมชัดลึก, 9-8-2553)

สศอ.ชี้แรงงานเหมาช่วงขาดหนัก

นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานภาคอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมไทยมีความต้องการแรงงานแบบเหมาช่วง (ซับคอนแทรค) อีก 1 ล้านคน ในการรองรับการผลิตสินค้าในเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีคำสั่งซื้อสินค้า (ออร์เดอร์) จำนวนมากเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกในเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ส่งผลให้บริษัทผู้รับเหมาช่วงต่างเร่งประกาศหาแรงงานป้อนให้โรงงาน เพราะหลายแห่งต้องเดินเครื่องจักรตลอด 24 ชม.ต่อวัน
   
ทั้งนี้กลุ่มที่ต้องการแรงงานซับคอนแทรคในปริมาณมาก เช่น ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอ นิกส์, เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ, อาหาร โดยเฉพาะผู้ผลิตส่งออกกุ้งและไก่ เป็นต้น เนื่องจากก่อนที่จะตกลงทำสัญญาออร์เดอร์ ลูกค้าต่างประเทศต้องการให้ผู้ผลิตไทยส่งสินค้าให้ทันตามกำหนด เพราะหากไม่มั่นใจว่าจะส่งได้ ผู้ซื้อก็จะไปติดต่อผู้ผลิตรายอื่นแทน
   
“ช่วงที่ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องเพิ่มกำลังการผลิตมากมี 3 ช่วง ประกอบ ด้วย เดือน ม.ค.-ก.พ., ช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. และ ก.ย.-ต.ค. โดยปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมมีแรงงานประจำที่ 8-9 ล้านคน ที่เหลือก็จะจ้างซับคอนแทรค 1-2 ล้านคน แต่ปีนี้มีปัญหาการขาดแคลนทั้งแรงงานประจำที่เป็นระดับช่างฝีมือ และซับคอนแทรคที่ส่วนใหญ่กลับไปทำงานในภาคเกษตรหรือไม่ก็ทำธุรกิจส่วนตัว ดังนั้น   จึงไม่อยากกลับเข้ามาทำงานในโรงงาน เพราะนายจ้างไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควรโดยเฉพาะช่วงที่มีออร์เดอร์น้อย”
   
นอกจากนี้สศอ.เตรียมหารือกับภาคเอกชนในการหาแนวทางช่วยเหลือลูกจ้างซับคอนแทรคเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนช่วงไม่มีงานทำ เช่น ร่วมกันช่วยเหลือในการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อผลักดันให้เป็นแรงงานที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จนเข้าไปเป็นพนักงานประจำในโรงงานได้
   
ปัจจุบันยังมีนักศึกษาที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีกว่า 1 แสนราย ที่ไม่เป็นที่ต้องการในภาคอุตสาหกรรม เช่น ด้านสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ และนิเทศศาสตร์ เป็นต้น เพราะแม้ว่านายจ้างจะขาดแคลนแรงงานแต่ ไม่อยากจ่ายค่าตอบแทนในระดับที่สูงตาม  วุฒิการศึกษา เนื่องจากใช้งานไม่คุ้มค่า ส่วนปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือกว่า 1 แสนตำแหน่ง โดยเฉพาะในกลุ่มสาขา ปวช.และ ปวส.นั้น ส่วนหนึ่งนายจ้างให้ค่าตอบแทนที่ระดับต่ำทำให้แรงงานจำเป็นต้องเลือกบริษัท ที่ให้ผลตอบแทนในระดับที่น่าพอใจ.

(เดลินิวส์, 9-8-2553)

อุตฯ อิเล็กทรอนิกส์-เสื้อผ้า-รองเท้าต้องการแรงงานจำนวนมาก

นายสมมาตร ขุนเศรษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยอมรับว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมเริ่มวิตกว่าจะผลิตสินค้าส่งออกได้ไม่ทันคำสั่งซื้อ เพราะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิตอย่างรุนแรง

นายสมมาตร กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่า แรงงานในภาคการผลิตกำลังขาดแคลนถึงประมาณ 1 ล้านคน ว่า ในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ผู้ส่งออกมีสตอกสินค้าค้างอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ขณะนี้สตอกดังกล่าวหมดลงแล้ว ขณะที่มีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าการส่งออกปีนี้จะเติบโตสูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 17 อย่างแน่นอน แต่มีเงื่อนไขว่าต้องมีแรงงานผลิตเพียงพอ ส่วนเรื่องเครื่องจักรอุปกรณ์นั้นไม่มีปัญหา

สำหรับแนวทางแก้ไขเบื้องต้น นอกจากการเปิดรับสมัครคนงานแล้ว ผู้ประกอบการหลายรายยังให้พนักงานของตัวเองช่วยชักชวนเพื่อนมาทำงานเพิ่มขึ้นด้วย โดยมีการให้ค่านายหน้าสำหรับจัดหาแรงงานรายละกว่า 1,000 บาท โดยไม่จำเป็นต้องเป็นแรงงานที่มีฝีมือ เพราะทักษะการทำงานสามารถฝึกฝนได้ และผู้ประกอบการพร้อมจ่ายค่าจ้างในระดับที่เหมาะสม สูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอย่างแน่นอน

เลขาธิการ ส.อ.ท.กล่าวว่า ภาคการผลิตที่กำลังต้องการแรงงานอย่างมาก เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า และรองเท้า เป็นต้น ส่วนลูกจ้างประเภทสัญญาจ้าง หรือซับคอนแทรค ที่มีปัญหามักจะถูกเลิกจ้างเป็นอันดับแรกเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้ไม่อยากกลับเข้ามาทำงานในโรงงานนั้น ยอมรับว่า ผู้ประกอบการไม่มีใครอยากเลิกจ้างคนงาน เพราะกว่าจะกลับมาเปิดรับสมัคร และเริ่มฝึกทักษะใหม่ได้ เป็นเรื่องยุ่งยาก หากคนไทยร่วมมือกันช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัญหาเรื่องวุ่นวายต่าง ๆ จบลง คนงานก็จะมีงานทำอย่างมั่นคง ไม่มีปัญหาถูกเลิกจ้างอีกต่อไป

(สำนักข่าวไทย, 9-8-2553)

เร่งนายจ้างพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว

นายเชิดศักดิ์ วิสุทธิกุล จัดหางานจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า ในพื้นที่จังหวัดยะลา มีผู้ใช้แรงงานที่เป็นแรงงานต่างด้าว สัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา เดินทางมาทำงานในพื้นที่อยู่จำนวนหนึ่ง ดังนั้น เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจกับนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าว สำนักงานจัดหาหางานจังหวัดยะลา จึงได้จัดให้มีการประชุมนายจ้างขึ้น ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ เป็นการจัดประชุม เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับนโยบาย การพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว ทั้ง 3 สัญชาติ การนำเข้าแรงงานต่างด้าว และกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจ้างแรงงานต่างด้าว ซึ่งนายจ้าง จะต้องถือปฏิบัติให้ถูกต้อง ตลอดจนการทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอน วิธีดำเนินการด้านทะเบียนราษฎร์ และการใช้สิทธิพยาบาล โดยกำหนดจัดประชุมนายจ้าง และเจ้าของสถานประกอบการ ที่ใช้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติ พม่า ลาว และกัมพูชา ในวันพุธที่ 11 สิงหาคม 2553 นี้

(ไอเอ็นเอ็น, 10-8-2553)

รัฐเต้นแรงงานขาดล้านคน 2 กระทรวงนัดถก-ย้ำไม่พึ่งต่างด้าว

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม กระทรวงแรงงาน ได้จัดประชุมหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่มห่มไทย สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย สถาบันยานยนต์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) หลังทั้ง 4 กลุ่มเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานกว่า 80,000 คน โดยมีนายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน

ทั้งนี้ นายสมเกียรติ กล่าวภายหลังการประชุม ว่า กรณีที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม คาดการณ์ว่าช่วงครึ่งหลังของปีนี้ภาคอุตสาหกรรมยังขาดแคลนแรงงานประเภทรับเหมาช่วงผลิต หรือซับคอนแทค ประมาณ 1 ล้านคน ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ สศอ.แสดงตัวเลขอีกด้านหนึ่ง ซึ่งกระทรวงแรงงานจะนำมาเป็นประเด็นในการหาคำตอบ และจะประสานขอข้อมูล พร้อมเชิญตัวแทนจาก สศอ.มาร่วมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป

"สาเหตุที่มีความต้องการจ้างแรงงานซับคอนแทคเป็นจำนวนมาก เพราะขั้นตอนการจัดหาไม่ยุ่งยาก นายจ้างไม่ต้องแบกรับภาระการจัดสวัสดิการต่างๆ เพราะเป็นหน้าที่ของบริษัทรับจัดหาคนงานซับคอนแทค ส่วนที่จะให้นำเข้าแรงงานต่างด้าวมาชดเชยนั้น กระทรวงแรงงานยังให้ความสำคัญที่การจ้างงานคนไทยก่อน เพราะยังมีคนไทยที่ว่างงานอีกมาก โดยกระทรวงแรงงานจะลงพื้นที่สำรวจตามชุมชน เพื่อดึงคนกลุ่มนี้ออกมาสู่ระบบการจ้างงาน" นายสมเกียรติ กล่าว

ทั้งนี้ จากการสำรวจความต้องการแรงงานระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน ที่ผ่านมา ของกระทรวงแรงงาน แบ่งตามภาคอุตสาหกรรม พบว่า ทั้ง 4 กลุ่มอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมประชุมมีความต้องการแรงงานทั้งสิ้น 17,614 คน ขณะที่จำนวนผู้ว่างงานที่มาขึ้นทะเบียนไว้ตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม ที่ผ่านมา มีทั้งสิ้น 230,431 คน

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ได้ข้อสรุปเบื้องต้น คือ กระทรวงแรงงานจะตั้งคณะทำงานขึ้นมา พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจ และเก็บข้อมูลความต้องการแรงงานของผู้ประกอบการตามข้อเรียกร้อง เนื่องจากตัวเลขของทั้ง 4 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ระบุว่าขาดแคลนแรงงานกว่า 80,000 คน ยังไม่ชัดเจนในรายละเอียดตำแหน่งงาน และคุณสมบัติของแรงงานในแต่ละอุตสาหกรรม โดยคณะทำงานชุดนี้จะรวบรวมความต้องการแรงงานในแต่ละภาคอุตสาหกรรมให้สมบูรณ์ เพื่อวางรูปแบบการรับสมัครงานได้ตรงตามความต้องการต่อไป

(แนวหน้า, 10-8-2553)

เผยการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ลามถึงองค์กรสิทธิ์

แฉอดีตประธานรัฐสภาหื่น ลวง ขรก.ซี 5 เดินขึ้นคอนโดฯ ชั้น 8 แล้วหลอกล่อขืนใจ สุดสลดลงท้ายเหยื่อถูกไล่ออกหลังต้องหยุดงานยาวเพราะไม่กล้าเจอหน้า จนถึงขั้นเครียดพยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง ล่าสุดตัดสินใจอุทธรณ์ต่อศาลจนศาล ตัดสินให้สามารถกลับเข้ามาทำงานที่รัฐสภาได้อีกครั้ง หลังจากเคยร้องศาลปกครองชั้นต้นแต่คดียืดเยื้อ และตัดสินเจ้าหน้าที่หญิงรายนี้มีความผิดที่หยุดงาน ส่วนอดีตประมุขฝ่ายนิติบัญญัติยังลอยนวลไม่ถูกแจ้งความ ขณะที่อีกรายเป“นถึง หน.องค์กรสิทธิมนุษยชนลวนลามลูกน้อง แต่ยังมีหน้าย้ายไปทำงานถึงองค์กรสิทธิระดับชาติ เผยหน่วยงานราชการครองแชมป์คุกคามทางเพศมากสุด

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ มูลนิธิเพื่อนหญิงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดสัมมนา "การคุกคามทางเพศ อาชญากรรมร้ายรายวันของสังคม" โดย น.ส.พัชรี จุลหิรัญ นักสังคมสงเคราะห์ มูลนิธิเพื่อนหญิง เปิดเผยว่า จากการเก็บสถิติความรุนแรงทางเพศ ที่ผู้ถูกกระทำมาขอคำปรึกษาจากมูลนิธิเพื่อนหญิง ในปี 2552 มีจำนวนทั้งสิ้น 775 ราย ในจำนวนนี้พบว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศมากถึง 83 ราย คิดเป็นร้อยละ 11 แยกเป็น 1. ข่มขืนกระทำชำเรา 45 ราย โดยมีผู้หญิงรายหนึ่งต้องการเลิกกับผู้ใหญ่บ้าน จ.กาญจนบุรี เพราะต้องมีเพศสัมพันธ์เช้ากลางวันเย็น ฝ่ายหญิงขอเลิกแต่ฝ่ายชายไม่ยอม จนต้องแจ้งความดำเนินคดีฐานข่มขืน 2. พรากผู้เยาว์และข่มขืนกระทำชำเราในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 8 ราย 3. พรากผู้เยาว์โดยการยินยอมมีเพศสัมพันธ์ 9 ราย 4. รุมโทรม 7 ราย โดยรายหนึ่งถูกรุมโทรมมากสุดถึง 9 ราย 5. อนาจาร 7 ราย 6. คุกคามทางเพศ 3 ราย และ 7. พยายามข่มขืน ค้ามนุษย์ แอบถ่าย โชว์อนาจาร 4 ราย รายหนึ่งเป็นพี่เขยแอบถ่ายน้องเมียซึ่งกลัวว่าจะถูกนำมาเผยแพร่ในที่สาธารณะ ที่น่าตกใจคือ ผู้กระทำ 33 ราย หรือร้อยละ 40 เป็นคนใกล้ชิดกับผู้เสียหาย เช่น เป็นเพื่อน หรือเพื่อนบ้าน โดยผู้เสียหายอายุน้อยสุดแค่ 3 ขวบ ซึ่งถูกญาติใช้นิ้วล่วงละเมิดเด็ก ส่วนผู้กระทำมีอายุมากที่สุด 78 ปี ล่วง ละเมิดทางเพศด้วยการอนาจารลูกตัวเองตั้งแต่อายุ 10 ขวบ จนอายุ 24 ปี ก็ยังขอหลับนอนกับลูกอยู่ อย่างไรก็ตามการล่วงละเมิดทางเพศดังกล่าว ส่วนใหญ่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นมากถึงร้อยละ 24 และมีสถิติเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับปี 2551

น.ส.พัชรีกล่าวด้วยว่า รายหนึ่งน่าตกใจมากเป็นเจ้าหน้าที่หญิงรัฐสภา ระดับ 5 จบปริญญาโทจากเมืองนอก เป็นคนสวยเพราะเคยเป็นถึงเชียร์ลีดเดอร์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ถูกอดีตประธานรัฐสภาคนหนึ่งพยายามใช้ ตำแหน่งหน้าที่เข้ามาตีสนิท ทั้งยังเคยให้ร่วมเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยกัน กระทั่งเหตุการณ์วันหนึ่งถูกอดีตประธานรัฐสภาที่ว่าบังคับให้เดินด้วยส้นสูง 3 นิ้ว จากชั้น 1 ถึงชั้น 8 ของคอนโดฯเพื่อนำเอกสารไปส่งถึงตัว และพยายามชักชวนให้ดูบอลแล้วลวนลามจนถึงขั้นละเมิดทางเพศ ทำให้เจ้าตัวต้องหยุดงานไป 15 วัน เป็นผลให้หัวหน้างานไล่ออกจากงาน ทำให้เจ้าตัวเกิดความเครียด สภาพจิตใจย่ำแย่ ครอบครัวก็ไม่เข้าใจ ถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง จนกระทั่งอดีตประธานรัฐสภาพ้นจากตำแหน่ง จึงได้ฟ้องศาลปกครองเพื่อขอกลับเข้ามาทำงานอีกครั้ง คดีได้ยืดเยื้อมานาน เจ้าหน้าที่หญิงรายนี้ จึงเข้ามาปรึกษากับมูลนิธิเพื่อนหญิง ซึ่งต้องมาอยู่ในความดูแลของมูลนิธิเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจอยู่หลายเดือน เนื่องจากศาลปกครองชั้นต้นตัดสินเจ้าหน้าที่หญิงรายนี้มีความผิดที่หยุดงาน จึงได้อุทธรณ์ต่อศาลจนศาลตัดสินว่าให้สามารถกลับเข้ามาทำงานที่รัฐสภาได้อีกครั้ง

นักสังคมสงเคราะห์มูลนิธิเพื่อนหญิงกล่าวอีกว่า น่าเป็นห่วงว่าเรื่องการแจ้งความดำเนินคดีกรณีถูกข่มขืนอาจจะทำไม่ได้เนื่องจากติดข้อกฎหมายขาดอายุความ เพราะคดีดังกล่าวตามกฎหมายเป็นคดีที่ยอมความกันได้ และมีอายุความแค่ 3 เดือน เนื่องจากผู้ถูกกระทำอายุเกิน 18 ปีแล้ว ตนคิดว่าน่าจะมีการแก้กฎหมายขยายอายุความเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายมีเวลาฟื้นฟูจิตใจก่อนดำเนินการตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ที่ผู้เสียหายไม่แจ้งความข้อหาข่มขืนตั้งแต่แรกเพราะผู้กระทำอยู่ในอำนาจเป็นถึงประธานรัฐสภาขณะนั้น และผู้เสียหายเป็นถึงลูกข้าราชการระดับสูง จึงเป็นห่วงชื่อเสียงหน้าตาของครอบครัว  อีกทั้งถูกเพื่อนร่วมงานมองว่าเป็นการสมยอมจึงไม่กล้าดำเนินการใดๆ

ขณะที่ น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าศูนย์พิทักษ์ สิทธิสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง เปิดเผยถึงพฤติกรรมคุกคามทางเพศที่น่าวิตกอีกรายว่า เมื่อปี 2552 มีผู้ชายระดับหัวหน้าองค์กรอิสระด้านสิทธิมนุษยชน กระทำคุกคามทางเพศกับผู้ใต้บังคับบัญชาผู้หญิง ทั้งการพูดจาแทะโลม การลวนลามเนื้อตัวร่างกาย ทั้งขณะอยู่ในที่ทำงานและออกไปทำงานนอกสถานที่ โดยคณะกรรมการสอบสวนเรื่องราวการคุกคามทางเพศที่มีผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมาสอบสวน มีการเรียกทั้งสองฝ่ายมาสอบข้อเท็จจริง พบว่ามีการกระทำผิดจริง จึงสั่งลงโทษพักงาน 1 ปี แต่ผู้ชายได้ลาออกไม่ยอมรับโทษ จากการตรวจสอบผู้ชายคนนี้ยังกระทำคุกคามทางเพศกับเจ้าหน้าที่ต่างประเทศที่มาทำงานแลกเปลี่ยน ที่น่าห่วงคือหัวหน้าองค์กรอิสระด้านสิทธิมนุษยชนรายนี้อายุประมาณ 30 กว่าปี เป็นผู้มีชื่อ เสียงระดับชาติ ยังได้เข้าไปทำงานในหน่วยงานสิทธิมนุษยชนระดับชาติ หากคนทำงานด้านสิทธิแต่กลับไปละเมิดคนอื่นเสียเองแล้วจะไปช่วยผู้ถูกละเมิดสิทธิได้อย่างไร

น.ส.สุเพ็ญศรีกล่าวว่า กรณีการคุกคามทางเพศในที่ทำงานพบมากที่สุดในหน่วยราชการ โดยเฉพาะหน่วยงานทหารและตำรวจ ระดับ พล.อ., พ.อ. ที่คุกคาม ทางเพศถึงขั้นข่มขืนกระทำชำเราผู้ใต้บังคับบัญชาในที่ทำงาน รองลงมาเป็นหน่วยงานเอกชนและรัฐวิสาหกิจ โดยมักใช้วิธีเอางานมาบังหน้าชักชวนให้ออกไปทำงานนอกสถานที่แล้วบังคับให้กินเหล้า ซึ่งผู้ใต้บังคับบัญชาก็ต้องยินยอม  รวมทั้งการจับมือถือแขนในที่ทำงาน คน ภายนอกอาจมองว่าเป็นความสนิทสนมคุ้นเคย ทั้งที่ผู้ กระทำจงใจคุกคามทางเพศ ดังนั้นหน่วยงานต้องดูความเสี่ยงในการร่วมงานระหว่างหญิงชายด้วย

ด้าน น.ส.นิภาพร แหล่พั่ว ฝ่ายข้อมูลและเผยแพร่ มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลสถิติความรุนแรงทางเพศจากหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับในปี 2552 พบข่าวการละเมิดทางเพศมีถึง 271 ข่าว มีผู้ถูกกระทำทั้งหมด 331 ราย ช่วงอายุของผู้ที่ถูกกระทำมากที่สุด 11-15 ปี มีจำนวน 132 ราย ในจำนวนนี้อายุน้อยที่สุดเพียง 2 ปี 7 เดือน ซึ่งถูกชายในสถานรับเลี้ยงเด็กข่มขืน อายุมากที่สุด 79 ปี ส่วนผู้กระทำมีจำนวน 485 ราย ช่วงอายุ 16-20 ปีมีมากที่สุด 112 ราย โดยผู้กระทำอายุมากที่สุด 73 ปี อายุน้อยที่สุด 4 ขวบ เป็นเด็กอนุบาลที่ถูกครูสั่งให้เอานิ้วและอวัยวะเพศสอดใส่อวัยวะเพศนักเรียนหญิง สำหรับประเภทการละเมิดทางเพศมากที่สุดคือ การข่มขืน รองลงมา คือ การรุมโทรม อนาจาร ตามลำดับ โดยสถิติละเมิดทางเพศปี 2552 มากกว่าปี 2551 ที่มี 220 ราย

(ไทยรัฐ, 10-8-2553)

นักวิชาการชี้ “ตู้เอทีเอ็มบริการภาษาพม่า” เรื่องปกติทางการตลาด

เมื่อวันที่ 10 ส.ค.53 - นายองค์ บรรจุน นักวิชาการอิสระที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับชาวมอญจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวให้สัมภาษณ์กรณีรายงานข่าวเรื่องตู้เอทีเอ็มให้บริการภาษาพม่าในพื้นที่มหาชัย จ.สมุทรสาครว่า การพาดหัวข่าวดังกล่าวเป็นการแสดงถึงอคติของสื่อที่เลือกเล่นประเด็นนี้ โดยเอาไปผูกพันกับประวัติศาสตร์ว่าเขาเคยเผาบ้านเผาเมือง วันนี้ก็จะมีการมา “ยึดเมืองมหาชัย” อีกแล้ว ทั้งที่ความจริงกรณีแรงงานพม่าในมหาชัยมีการนำเสนอข่าวกันมาค่อนข้างมากแล้ว และหากไปดูในย่านเยาวราช พัฒน์พงศ์ก็จะเห็นว่าจะมีภาษาจีน ภาษาเกาหลีอยู่ทั่วไป ซึ่งหากไม่มีอคติเราก็จะเห็นเป็นเรื่องธรรมดา

การปฏิรูปสื่อที่พูดกันในปัจจุบันควรพูดถึงเรื่องนี้มากๆ โดยเฉพาะการทำร้ายคนไม่มีอำนาจ ถือเป็นการเปิดใจกว้าง ดีกว่าปิดกั้นเขาโดยอคติ 

นายองค์กล่าวด้วยว่า ความจริงการอยู่ในมหาชัยของแรงงานพม่าไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว แต่อาจดูน่าหมั่นไส้สำหรับคนบางคนมากกว่า เพราะอาจมีคนเห็นว่าไม่ใช้บ้านเมืองคุณ แต่กลับมีการแต่ตัวแบบพม่า ใช้ภาษาพม่าในพื้นที่นี้ ทั้งนี้ที่ผ่านมาแรงงานพม่าที่อาศัยอยู่ที่นี่ก็มีความหวาดกลัวทั้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าของกิจการผู้มีอิทธิพลที่มาข่มขู่และข่มเหงรังแก กรณีของการกดขี่แรงงาน ยึดบัตรเพื่อไม่ให้เปลี่ยนนายจ้าง ซึ่งในปัจจุบันแม้เรื่องเหล่านี้จะดีขึ้นแต่ก็ยังเป็นปัญหาอยู่

ส่วนเรื่องตู้เอทีเอ็มที่มีภาษาพม่านั้นเขาแสดงความเห็นว่าเป็นเรื่องอุปสงค์ (Demand) อุปทาน (Supply) ตลาดเป็นอย่างไรก็มีการตอบสนองอย่างนั้น เมื่อพื้นที่มีแรงงานพม่าจำนวนมาก ตรงนี้ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งทั้งพ่อค้าและแรงงานต่างไม่มีใครผิด กลับกับเรื่องนี้เป็นการลดอุปสรรค์ด้านภาษา แก้บัญหาการป้อนข้อมูลผิดพลาดทำให้บัตรเอทีเอ็มถูกยึดซึ่งจะนำไปสู่ความยุ่งยากในกระบวนการของตำรวจและเจ้าหน้าที่ธนาคาร นอกเหนือจากการอำนวยความสะดวกให้กับแรงงาน เรื่องนี้ถือเป็นประโยชน์กับทกฝ่าย

“เป็นปกติของการทำธุรกิจ มีตลาดก็ต้องลงมาเก็บตลาด” นายองค์กล่าว 

นอกจากนี้ ในส่วนการรักษาพยาบาลจากอดีตที่แรงงานข้ามชาติจะประสบปัญหาการเข้ารักษาในโรงพยาบาลรัฐเนื่องจากอุปสรรค์เรื่องการสื่อสาร ในขณะที่โรงพยาบาลเอกชนได้มีการจ้างล่ามทั้งภาษาพม่า มอญ ไทยใหญ่ และอังกฤษมาช่วยในการสื่อสารระหว่างแพทย์และคนไข้กลุ่มแรงงานเหล่านี้ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ ทำให้สามารถสร้างรายได้มหาศาล ในปัจจุบันโรงพยาบาลรัฐก็มีการปรับตัวโดยมีการจ้างล่าม ติดตัวอักษรภาษาพม่าบนเคาน์เตอร์ มีคู่มือภาษาพม่า อีกทั้งมีการส่งเจ้าหน้าที่ลงชุมชนเพื่อให้ข้อมูลการรักษาพยาบาล ทำให้การรักษาดีขึ้นแม้จะไม่ใช่ทั้งหมด

นายองค์ยกตัวอย่างต่อมาถึงการให้บริการโหลดเพลงรอสายและริงโทนเพลงภาษาพม่าของผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์ต่างๆ ซึ่งกลุ่มแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ในตลาดใหม่ซึ่งผู่ให้บริการต่างต้องการเก็บส่วนแบ่งทางการตลาด ส่วนตัวคิดว่าเรื่องเหล่านี้ถือเป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆของกลุ่มแรงงาน อีกทั้งการเพิ่มภาษาตรงนี้ช่วยให้พวกเขาสามารถทำงานได้เต็มที่มากขึ้นด้วย

 

(ประชาไท, 11-8-2553)

คนงานเก็บผลไม้ป่าชาวเวียดนามประท้วงในสวีเดน

สต็อกโฮล์ม  11 ส.ค. - เจ้าหน้าที่สวีเดน กล่าวว่า คนงานชาวเวียดนามราว 120 คนที่มาประกอบอาชีพเก็บผลไม้ป่าในสวีเดนชุมนุมประท้วงสภาพการทำงาน หลังจากแรงงานชาวจีนเพิ่งประท้วงด้วยเหตุผลเดียวกันไปเมื่อไม่กี่วันก่อน

การประท้วง 2 แห่งดังกล่าวพบว่ามีคนงานเก็บลูกเบอร์รีราว 70 คน ขังหัวหน้ากลุ่มไว้ 6 คน ภายในห้องที่เคยใช้เป็นโรงเรียนซึ่งกลายเป็นที่พักอาศัยของพวกเขา  หัวหน้าคนงานทั้ง 6 คนเป็นชาวเวียดนามถูกทุบตีและมี 2 คนในจำนวนนี้ที่โดนมัดเอาไว้  ทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระแล้วและตำรวจกำลังติดตามหาตัวผู้กระทำผิด  ขณะที่แรงงานชาวเวียดนามราว 50 คน เดินขบวนประท้วงจากที่พักและปักหลักนั่งประท้วงตามถนนในเมืองนอร์มาลิง โดยตัวแทนบริษัทเบอร์รี และบริษัทจ้างงานในเวียดนามพยายามหาทางเจรจาคลี่คลายความขัดแย้ง
   
ก่อนหน้านี้คนงานเก็บลูกเบอร์รีชาวจีนราว 120 คนทางเหนือของสวีเดนเดินขบวนประท้วงกลางคืนเพื่อขอขึ้นค่าแรง   ทั้งนี้แรงงานเอเชียหลายพันคนส่วนใหญ่มาจากประเทศไทย เดินทางมาสวีเดนทุกช่วงฤดูร้อนเพื่อทำงานรับจ้างเก็บผลไม้ป่าทางเหนือ และบางครั้งต้องประสบกับการใช้ชีวิตและสภาพการจ้างงานที่ยากลำบาก

 (สำนักข่าวไทย, 11-8-2553)

ลูกจ้างโรงแรมหนี้ท่วมวอนรัฐงดเก็บภาษี

นายอภิรัตน์ นุตะมาน ประธานสหภาพแรงงานรอยัล ออคิด เปิดเผยว่า จากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจและการเมืองช่วง 2 ปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว โรงแรม และอื่นๆ ทำให้กระทบต่อการทำงาน และรายได้ของลูกจ้างในส่วนนี้อย่างมาก หลายคนต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้มีเงินใช้จ่ายเลี้ยงดูครอบครัว จึงทำให้เป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นทางออกในภาวะวิกฤติของแต่ละคนเพื่อความอยู่รอดในช่วงดังกล่าว

ขณะนี้ผู้เดือดร้อนทั้งหมดต้องแบกภาระดอกเบี้ย หนี้สิน จึงได้มีการหารือร่วมกันและเห็นว่าการนำเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาปลดหนี้ จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ทั้งนี้ คนงานในหลายสถานประกอบการได้มีการเสนอกับนายจ้าง ผู้ประกอบการ จนเป็นที่เข้าใจและตกลงกัน โดยให้พนักงานที่เดือดร้อนลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพชั่วคราว แต่เรื่องนี้ทางสรรพากรกลับนำเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปคำนวณเป็นรายได้ ที่ต้องจ่ายภาษีให้กับกรมสรรพากร จึงเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับลูกจ้าง เพราะเป็นเงินออมของลูกจ้าง และเงินสมทบร่วมของนายจ้าง

“แม้ปัญหาการเมือง เศรษฐกิจคลี่คลายบ้างแล้ว แต่ตอนนี้หลายคนเครียดกับปัญหาหนี้สินบีบรัดลูกจ้างมาก ที่ต้องจ่ายค่าดอกเบี้ย” นายอภิรัตน์กล่าวและว่า เราไม่ต้องการยุบ หรือยกเลิกกองทุนฯ เพราะลูกจ้างทุกคนรู้ดีว่าเงินสำรองเลี้ยงชีพมีความหมายและความสำคัญที่เป็นเงินออมไว้ใช้ยามออกจากงาน หรือเกษียณ จึงเชื่อว่าคนที่ลาออกเป็นการตัดสินใจด้วยความจำเป็น และจะกลับเข้าเป็นสมาชิกใหม่ในปีหน้า เห็นว่ายังจะเป็นการผ่อนคลายภาระของนายจ้าง ผู้ประกอบการในช่วงระยะเวลาหนึ่งด้วย

 (กรุงเทพธุรกิจ, 12-8-2553)

สนร.มาเลย์เตือนพบใบอนุญาตทำงานปลอม

สนร.มาเลเซีย ได้ประสานงานกับฝ่ายแรงงานต่างชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานใหญ่ปุตราจายา ขอให้ตรวจสอบใบอนุญาตทำงานของคนงานดังกล่าว รวมทั้งเพื่อนคนงานอีก3 คนที่ทำงานอยู่ด้วยกัน ปรากฏว่าใบอนุญาตทำงานซึ่งประทับอยู่ในหนังสือเดินทางของคนงานทั้ง4 คน เป็นของปลอม

ในกรณีนี้ คนงานไทยที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไว้ อาจจะมีความผิดหลายข้อหา ได้แก่การใช้เอกสารปลอม และพำนักอยู่ในประเทศมาเลเซียเกินกำหนด และอาจจะรวมถึงการทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย สำหรับรายอื่นๆ ในขณะนี้ยังไม่ได้ถูกจับกุม ทั้งหมดยืนยันว่านายจ้างได้มอบให้ตัวแทนเป็นผู้ดำเนินการขอใบอนุญาตทำงาน โดยหักค่าใช้จ่ายจากคนงานเป็นเงินคนละประมาณ 4,000 ริงกิต (40,000 บาท) โดยทั้งนายจ้างและคนงานก็เชื่อว่าเป็นใบอนุญาตทำงานจริงซึ่งขณะนี้ทางนายจ้างได้พยายามติดต่อกับตัวแทนแต่ยังไม่ทราบผล

จากการประชาสัมพันธ์ไปยังคนงานไทยทำให้มีคนงานรายอื่นอีก 3 ราย ซึ่งทำงานเป็นพนักงานนวดอยู่กับนายจ้างที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ที่ Jalan Abdullah, 84000 Muar, Johor ได้ติดต่อขอให้ช่วยตรวจสอบใบอนุญาตทำงาน เนื่องจากนายจ้างใช้เวลาดำเนินการนานกว่า 8 เดือนขณะนี้ได้ใบอนุญาตทำงานติดในหนังสือเดินทางแล้วแต่ยังมีข้อสงสัย  สนร. มาเลเซียได้ประสานงานกับฝ่ายคนงานต่างชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซีย ทราบในเบื้องต้นว่าทั้งหมดไม่มีรายชื่ออยู่ในระบบของการอนุมัติใบอนุญาตทำงาน

ดังนั้น เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาดังกล่าวสนร.มาเลเซีย จึงขอประชาสัมพันธ์ให้กับคนงานไทยให้ระมัดระวังและตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องก่อนการเดินทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่นายจ้างมอบให้นายหน้าตัวแทนเป็นผู้ไปติดต่อขอใบอนุญาตทำงาน  สำหรับขั้นตอนที่ถูกต้องของการขอใบอนุญาตทำงานนั้น คนงานจะต้องได้รับCalling Visa (ระบุชื่อของคนงาน) จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซีย และจะต้องผ่านการตรวจโรคกับคลินิกที่อยู่ในสังกัดของ Fomema (หน่วยงานตรวจสอบสุขภาพคนงานต่างชาติ) ก่อนจึงจะสามารถดำเนินการขอใบอนุญาตทำงานติดลงในหนังสือเดินทางได้  สำหรับผู้ที่มีใบอนุญาตทำงานแล้ว มีข้อสังเกตเบื้องต้นในการตรวจสอบว่าเป็นของจริงหรือไม่ โดย (1) ชื่อนายจ้างและสถานที่ทำงานที่ระบุในใบอนุญาตทำงานต้องตรงกับการทำงานจริง (2) ในส่วนของค่าธรรมเนียมของคนไทยต้องระบุว่า Gratis (ยกเว้น) และ (3)คนงานต้องได้ไปรับการตรวจโรคที่คลินิกในประเทศมาเลเซีย และหากมีข้อสงสัยประการใดสนร.มาเลเซีย ยินดีประสานงานให้ความช่วยเหลือในการตรวจสอบต่อไป

ด้าน นายสิงหเดช ชูอำนาจ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน)  ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เดินทางเยี่ยมคนไทยที่สถานกักกัน Lenggeng รัฐเนเกอรี เซมบิลัน เพื่อตรวจสอบเอกสารเดินทางของคนไทย ก่อนที่จะส่งกลับประเทศไทยภายใต้กิจกรรมคืนสู่เหย้า เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถโดยประเทศมาเลเซีย จะดำเนินการจัดส่งคนไทยที่ถูกขังอยู่ในสถานกักกันทั่วประเทศมาเลเซีย จำนวนประมาณ 200 คน

สำหรับการตรวจเยี่ยมในวันดังกล่าว พบว่า มีคนไทยที่รอการส่งกลับจำนวน 34 คน แยกเป็นชาย 14 คน หญิง 20 คน (ในจำนวนนี้มีผู้เยาว์2 คน) ส่วนใหญ่ถูกจับกุมในข้อหาเข้าประเทศมาเลเซียโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่มีใบอนุญาตทำงาน(ร้านต้มยำ พนักงานนวด และงานประมง) ทั้งหมดจะถูกส่งตัวเพื่อเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 8 สิงหาคม 2553 ซึ่ง สนร. มาเลเซีย ได้ประสานความช่วยเหลือคนไทยกลุ่มนี้จากหน่วยงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้เดินทางกลับในแต่ละราย ไม่ว่าจะเป็นการหางานให้ทำและการประกอบอาชีพตามความเหมาะสมต่อไป

(พิมพ์ไทย, 12-8-2553)

อุตฯชิ้นส่วนพลิกเกมแก้แรงงานขาด ทุ่มหมื่นล้านชูโรบอตแทนคนรับผลิตรถพุ่ง1.8ล.คัน

แหล่งข่าวจากสมาคมอุตสาหกรรมชิ้นส่วน ยานยนต์แห่งประเทศไทย หรือ "TAPPA" เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ปัญหาในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนนั้นเกี่ยวกับภาวะขาดแรงงานฝีมือยังมีอย่าง ต่อเนื่อง เหตุผลเพราะแรงงานที่ถูกปลดในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ถึงวันนี้ยังไม่กลับมาครบตามจำนวน ทำให้วันนี้กลุ่มผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์มีแรงงานขาดหายไปมากกว่า 15%

"ช่วงวิกฤตที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเรามีการเก็บตัวเลข ว่าได้ปลดแรงงานออกจากอุตสาหกรรมสูงถึง 40% แต่วันนี้เมื่อทุกอย่างคลี่คลาย แรงงานกลับเข้ามาทำงานแต่เฉพาะโรงงานผลิตรถยนต์ ในขณะที่โรงงานชิ้นส่วนกลับคืนมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น"

ดังนั้นกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของสมาคมจึงได้หาวิธีแก้ไขปัญหาและได้ข้อสรุปด้วยการหันไปใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานที่ขาดหายไปแทน ควบคู่ไปกับการเลือกใช้แรงงานต่างด้าวที่เป็นกลุ่มชาวไทยภูเขาเข้ามาแทนที่แรงงานที่หายไป ซึ่งคิดเป็นจำนวน 5-6% ของแรงงานในอุตสาหกรรมทั้งหมด 300,000 คน

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสมาชิกภายในสมาคม พบว่าตัวเลขของการจัดซื้อเครื่องมือเครื่องจักรที่จะนำเข้าใช้ทดทนแรงงานที่หายไปนั้น น่าจะมีปริมาณไม่ต่ำกว่า 400-500 ชุด โดยจากการคำนวณขีดความสามารถของเครื่องจักรที่จะเข้ามาทดแทนแรงงานที่หายไปนั้น พบว่าเครื่องจักร 1 เครื่อง สามารถทดแทนแรงงานคนได้    3-4 คน และคาดว่าจะมีการลงทุนของสมาชิกภายในกลุ่ม สำหรับปีนี้ทั้งปีไม่น้อยกว่า 5,000-10,000 ล้านบาททีเดียว

นอกจากนี้สมาคมยังได้มีการหารือร่วมกับ "กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน" ถึงปัญหาดังกล่าว รวมทั้งแนวทางการสร้างคนให้เข้ามายังอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมงานปั๊มขึ้นรูป และงานเชื่อม ด้วยการร่วมมือกันสร้างหลักสูตรขึ้นมาเพื่อให้สมาชิกภายในกลุ่มสามารถนำไปปรับใช้เพื่อการพัฒนาแรงงานของแต่บริษัท ซึ่งตอนนี้มีความคืบหน้าไปมาก

แหล่งข่าวเปิดเผยต่อไปว่า แรงงานฝีมือยังเป็นที่ต้องการของกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วน ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ในปีนี้ คาดว่าประเทศไทยจะมีปริมาณการผลิตรถยนต์อยู่ในระดับ 1.6 ล้านคัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศ 700,000-750,000 คัน และการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกอีกประมาณ 800,000 คัน ส่วนปีหน้าคาดว่าปริมาณการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับ 1.8 ล้านคันอย่างแน่นอน

และที่สำคัญปีหน้าจะเป็นอีกหนึ่งปีที่มีรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะรถยนต์ขนาดเล็กประหยัดน้ำมัน (อีโคคาร์) ซึ่งจะมีอย่างน้อย 2 ค่าย คือ ฮอนด้า และซูซูกิ ที่พร้อมทำตลาดแน่นอน

(ประชาชาติธุรกิจ, 12-8-2553)

 

ผู้นำแรงงาน-นักวิชาการ หวังปลัดคนใหม่ผ่าตัด สปส. 
 
นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ ประธานสหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย (สธง.) และอดีตกรรมการประกันสังคม กล่าวถึงการแต่งตั้งปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่.ว่า ในฐานะที่ตนเป็นผู้นำแรงงานและอยู่ในวงการแรงงานมานาน คิดว่าผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งปลัดคนใหม่ควรจะเป็นคนที่ทำงานตรงไปตรงมา กล้าตัดสินใจ ไม่เป็นคนของการเมือง วางตัวเป็นกลาง มีความเป็นธรรม ไม่ดูถูกผู้ใช้แรงงาน และที่สำคัญควรมีความรู้และวิสัยทัศน์ด้านแรงงานในระดับสากล หากเป็นคนที่มาจากกระทรวงแรงงานก็จะสามารถเข้าใจปัญหาแรงงานเป็นอย่างดี และควรมีอายุราชการมากกว่า 1 ปี

นายชัยสิทธิ์ กล่าวอีกว่า อยากฝากให้ปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่ดำเนินการในเรื่องระบบแรงงานสัมพันธ์ให้มีความเป็นกลาง ยึดกฎหมายเป็นสำคัญในการแก้ไขข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งข้าราชต้องมีจริยธรรมข้าราชให้มาก นอกจากนี้ ควรมีการปรับโครงสร้างสำนักงานประกันสังคม (สปส.)ใหม่ หากสามารถเป็นองค์กรอิสระที่ไม่ขึ้นกับหน่วยงานราชการก็จะทำให้การบริหารงานด้านการเงินได้คล่องตัวยิ่งขึ้น แต่ขณะเดียวกัน สปส.ควรเปิดกว้างในการให้ประชาชนหรือผู้ประกันตนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ หรือรับทราบข้อมูลที่เปิดกว่างยิ่งขึ้น สามารถตรวจสอบได้

ด้าน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า อยากฝากถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่ต้องเป็นผู้ที่รอบรู้ด้านแรงงาน เข้าใจปัญหาแรงงาน กล้าตัดสินใจ ไม่ถูกแทรกแซงด้วยอำนาจทางการเมือง และที่สำคัญต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ไม่มีประโยชน์แอบแฝง เนื่องจากปัจจุบันปัญหาแรงงานมีจำนวนมาก ทั้งการหลอกลวงแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ การละเมิดสิทธิแรงงาน การค้ามนุษย์ รวมทั้งการปัญหาของสำนักงานประกันสังคม จนส่งผลให้ผู้ใช้แรงงานต้องออกมาเรียกร้องสิทธิประโยชน์จำนวนมาก

ขณะที่ นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป และคณะกรรมการปฏิรูป กล่าวว่า ปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่ต้องเป็นคนที่มีความรู้ความเข้าใจด้านเศรษฐกิจแรงงาน มีความเฉียบคม เข้าใจนโยบายค่าจ้าง เพราะรัฐบาลชุดนี้มีนโยบายชัดเจนในการผลักดันรัฐสวัสดิการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเพิ่มสวัสดิการแรงงานโดยตรง อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้คาดหวังในตัวปลัดคนใหม่เพราะที่ผ่านมาไม่เคยเห็นอดีตปลัดแรงงานคนไหนที่มีระบบความคิดที่สนับสนุนให้แรงงานมีความเข้มแข็ง ทั้งในเชิงอำนาจต่อรอง และสวัสดิการต่างๆ ส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญกับพวกนายทุน

“สิ่งแรกที่ปลัดคนใหม่ต้องทำคือ ปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจ หรือปรับดุลอำนาจ ทำให้ประชาชนเข้มแข็งขึ้นมา ต้องสนับสนุนให้คนงานตั้งสหภาพฯ มีอำนาจต่อรองนายจ้างมากขึ้น”นายณรงค์กล่าวและว่า ในส่วนการคัดเลือกบอร์ดประกันสังคม ที่เป็นระบบไตรภาคี โดยรูปแบบการเลือกกรรมการฝ่ายลูกจ้างไม่ได้มาจากเสียงของตัวแทนลูกจ้างทั้งหมด ซึ่งสะท้อนถึงความไม่เป็นประชาธิปไตย ที่ผ่านมาปลัดกระทรวงแรงงานที่เป็นประธานบอร์ดไม่เคยสนใจ ซึ่งบอร์ดประกันสังคมดูแลเม็ดเงินของผู้ประกันตนกว่า 6 แสนล้านบาท แต่ที่เป็นสมาชิกสหภาพแค่ 4 แสนคนเท่านั้น ซึ่งปลัดคนใหม่ให้ความสำคัญและควรเปลี่ยนกฎเกณฑ์การคัดเลือกบอร์ดได้แล้ว

นายณรงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันกำลังแรงงานอายุระหว่าง 15-60 ที่ทำงานได้มีอยู่ 38 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 67 ล้าน ใน 38 ล้านคนเป็นลูกจ้าง 17 ล้าน โดย 14 ล้านคนเป็นลูกจ้างเอกชน และอีก 3 ล้านเป็นลูกจ้างรัฐ ขณะที่เกษตรกรมีแค่ 12 ล้านคน เพราะฉะนั้นโครงสร้างสังคมจะมีกลุ่มลูกจ้างเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุด และเมื่อลูกจ้างถูกกดสถานนะด้วยค่าแรงขั้นต่ำ ที่ส่งผลต่อสภาพการทำงานให้ต้องทำงานล่วงเวลา เพื่อให้ได้เงินมาเลี้ยงครอบครัวได้ ดังนั้นเมื่อต้องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ถามว่าคนที่อยู่ต่ำกว่าก็คือแรงงาน คนที่อยู่ข้างบนจะแก้ยังไง โดยทั่วไปการทำให้คนข้างบนเฉลี่ยกลับลงมาได้มี 2 อย่าง คือเรื่องภาษี และการควบคุมระบบการผูกขาด นั้นคือการทำให้ประชาชนเข้มแข็ง มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ปลัดคนใหม่ต้องเข้าใจว่าการขึ้นค่าจ้างมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศอย่างไร

รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 17 ส.ค.นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงาน จะเสนอรายชื่อปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ โดยผู้ที่อยู่ในข่ายน่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงแรงงาน มีด้วยกัน 4 คน ได้แก่ นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และ นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน

(แนวหน้า, 12-8-2553)

สสช.เผยผู้ว่างงานลดลง 8.8 หมื่นคน

วันนี้ ( 13 ส.ค.) นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยว่า จำนวนผู้ว่างงานในเดือนมิ.ย.53 มีจำนวนทั้งสิ้น 4.59 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราว่างงาน 1.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีจำนวนผู้ว่างงานลดลง 88,000 คน หรืออัตราว่างงานลดลง 0.2% และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้ามีผู้ว่างงานลดลง 1.27 แสนคน หรือลดจาก 5.86 แสนคน เป็น 4.59 แสนคน

ส่วนจำนวนผู้มีงานทำในเดือนมิ.ย.นี้ มีทั้งสิ้น 38.10 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 2.6 แสนคน คือลดลงจาก 38.36 ล้านคน เป็น 38.10 ล้านคน หรือลดลง 0.7% โดยผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรมลดลง 1.43 ล้านคน หรือลดลงจาก 15.98 ล้านคน เป็น 14.55 ล้านคน เนื่องจากภาวะภัยแล้งทำให้แรงงานเคลื่อนย้ายไปทำงานนอกภาคเกษตรกรรมกันมากขึ้น ส่งผลให้แรงงานนอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นอีก 1.17 ล้านคน โดยเพิ่มจาก 22.38 ล้านคน เป็น 23.55 ล้านคน

สำหรับแรงงานที่เพิ่มขึ้นมากส่วนใหญ่อยู่ในสาขาขายส่งและขายปลีก 4.5 แสนคน รองลงมาคือสาขาก่อสร้าง 3.4 แสนคน สาขาบริหารราชการแผ่นดิน 1.8 แสนคน สาขาการผลิต 1.6 แสนคน สาขาการโรงแรมและภัตตาคาร 1.3 แสนคน กิจกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์ 40,000 คน สาขาบริการชุมชน 20,000 คน ที่เหลือกระจายอยู่ในสาขาอื่น

(เดลินิวส์, 13-8-2553)

ก.ศึกษาเร่งผลิตคนป้อนอุตฯยานยนต์-แม่พิมพ์-แฟชั่น

น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รมช.ศึกษาธิการเปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)ว่าตนได้รายงานถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับนโยบายการผลิตกำลังคนสายอาชีพ สาขาอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ และอุตสาหกรรมแฟชั่น ตามแนวทางที่ตนได้เคยหารือกับนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม เพื่อให้ทั้ง 2 กระทรวงร่วมกันผลิตและพัฒนากำลังคน ตามนโยบายที่รัฐบาลต้องการ และให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมดังกล่าวของภูมิภาค เนื่องจากประเทศไทยแม้จะมีฝีมือแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว แต่ก็ยังขาดแคลนบุคลากรทั้ง 3 สาขาอาชีพมาก โดน สอศ.ได้ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมช่วยสำรวจความต้องการของสถานประกอบการอุตสาหกรรมทั้ง 3 ด้านว่ามีจำนวนเท่าใด เพื่อที่จะวางแผนผลิตนักศึกษาเข้าสู่สถานประกอบการ โดยให้สถานศึกษาการจัดการศึกษาในระบบทวิภาคี หรือจัดให้มีโรงเรียนในโรงงาน ประการสำคัญของให้สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ จ่ายตอบแทนที่เหมาะสมแก่นักศึกษาด้วย

(ไซต์ไทยรัฐ, 13-8-2553)

นักวิชาการ-ผู้นำแรงงาน เสนอเปิดพื้นที่ให้คนงานร่วมปฏิรูปประเทศ 
 
นักวิชาการ-ผู้นำแรงงาน เสนอเปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้แรงงานร่วมปฏิรูปประเทศ เผยผู้ใช้แรงงานถูกปฏิเสธเป็นคณะกรรมการฯ ชี้ต้องเร่งรับรองอนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับ 87-98 ให้สิทธิคนงานรวมตัวเจรจาต่อรอง แนะเปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้แรงงานมีเลือกตั้งในสถานประกอบการ

ในงานเสวนาเรื่อง “อนาคตผู้ใช้แรงงานกับการปฏิรูปประเทศไทย” ที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กลุ่มเพื่อนประชาชน และโครงการติดตามประชาธิปไตยในประเทศไทย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมจัดขึ้น โดยมีการนำเสนอข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานต่อการปฏิรูปประเทศไทย รวม 10 ข้อ ให้ผู้ร่วมเสวนาได้คัดเลือกเพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป

นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการแรงงานอิสระ กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของแรงงานไทยในขณะนี้คือ รัฐไม่ยอมรับสิทธิในการรวมตัวกันของผู้ใช้แรงงาน ทำให้ถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ ซึ่งหากรัฐยังไม่ยอมรับรองอนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับ 87-98 การปฏิรูปประเทศไทยในครั้งนี้ ก็ยากที่จะคาดหวังว่าจะเกิดประโยชน์ พร้อมเสนอให้รัฐบาลเปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่สถานประกอบการ หรือสถานที่ที่คนงานพักอาศัยอยู่ เพื่อให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่จะมาแก้ปัญหาของผู้ใช้แรงงานโดยตรง  โดยเฉพาะในบางจังหวัดที่มีผู้ใช้แรงงานจำนวนมาก จังหวัดละ 300,000-400,000 คน เช่น สมุทรปราการ ปทุมธานี สมุทรสาคร จึงขอเสนอให้แก้ไขโดยทำเป็นทะเบียนบ้านกลาง หรือใช้ฐานข้อมูลจากระบบประกันสังคมที่มีอยู่เดิม

ด้าน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธาน คสรท.กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาของผู้ใช้แรงงานยังคงเป็นปัญหาเดิม ๆ ทั้งปัญหาค่าจ้างไม่เป็นธรรม ปัญหาสิทธิการรวมตัว ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน แต่การปฏิรูปการเมืองในครั้งนี้ที่จะต้องรับฟังความคิดเห็นจากคนทุกฝ่าย ไม่มีตัวแทนของผู้ใช้แรงงาน หรือคนจน เข้าไปเป็นคณะกรรมการปฏิรูป ทั้งที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ  แต่กลับมีตัวแทนฝ่ายนายจ้างเข้าไปเป็นคณะกรรมการฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขเพื่อให้การปฏิรูปครั้งนี้เกิดประโยชน์กับคนทุกกลุ่ม

สำหรับข้อเรียกร้องที่ได้รับการคัดเลือกมากที่สุดจากงานเสวนา 3 อันดับแรก คือ การแก้ไขให้คนงานมีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่สถานประกอบการ รองลงมาคือ การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับ 87-98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองของคนงาน และการแก้ไขค่าจ้างให้เป็นธรรม

(สำนักข่าวไทย, 14-8-2553)

ลำปางเตือนลวงทำงานที่ลาว

น.ส.ลักษณา สิริเวชประเสริฐ จัดหางานจังหวัดฯ กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากคนหางานว่ามีกลุ่มบุคคลที่เป็นนายหน้าจัด หางาน ได้ชักชวนให้คนงานใน อ.เถิน และ อ.แม่พริก สมัครงานเพื่อไปทำงานกับบริษัท ภูเบี้ย ไมนิ่ง จำกัด สาธารณรัฐประชาชนลาว โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวอ้างว่าบริษัท ภูเบี้ยฯ ต้องการรับสมัครคนงานไปทำงานเหมืองแร่ในประเทศลาว โดยจะจัดส่งคนงานให้กับบริษัท PAN AUST ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานเหมืองแร่จากทางการลาว และได้เรียกเก็บเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายจากคนหางาน เพื่อเป็นค่าดำเนินการ ค่าตรวจโรค และค่าประวัติตรวจสอบอาชญากรรมหรือ CID รายละ 15,000-20,000 บาท ปัจจุบันมีคนหางานหลงเชื่อสมัครงานดังกล่าวและจ่ายเงินให้สายนายหน้าจัดหางานแล้วคนละ 15,000 บาท แต่ไม่สามารถพาเดินทางไปทำงานได้ตามตกลง เพื่อเป็นการป้องกันมิให้คนหางานถูกหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศ ขอให้คนหางานโปรดระวัง อย่าหลงเชื่อสายนายหน้า ซึ่งสำนักงานได้ตรวจสอบแล้วปรากฏว่ากรมการจัดหางานยังไม่เคยอนุญาตให้บริษัทจัดหางานใดรับสมัครหรือจัดส่งคนงานไปทำงานที่ประเทศลาว หากพบเห็นหรือทราบเบาะแส ขอให้แจ้งสำนักงานจัดหางานจังหวัดลำปางทราบ สอบ ถามรายละเอียดได้ที่โทร.0-5426-5049

(ข่าวสด, 14-8-2553)

ขบวนการแรงงานเสนอ 10 ข้อเสนอของผู้ใช้แรงงานต่อการปฏิรูปประเทศไทย

เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 53 -  ที่ห้องประชุมมาลัยหุวะนันท์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการจัดเวทีสัมมนาเรื่อง "อนาคตผู้ใช้แรงงานกับการปฏิรูปประเทศไทย" โดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้เสนอ 10 ข้อเสนอต่อการปฎิรูปประเทศไทย

1. สิทธิในการเลือกตั้งในพื้นที่สถานประกอบการ : ให้ผู้ใช้แรงงานและประชาชนที่อาศัยหรือทำงานในพื้นที่นอกทะเบียนบ้านของตน สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาในเขตพื้นที่ซึ่งตนอาศัยหรือทำงานอยู่ได้ เนื่องจากประเทศไทยมีคนทำงานจำนวนมากที่อพยพจากภูมิลำเนาเดิมเพื่อเข้ามาทำงานประกอบอาชีพทั้งในระบบราชการ ภาคเอกชน และภาคเศรษฐกิจนอกระบบ โดยที่พวกเขาไม่สามารถย้ายทะเบียนบ้านเข้ามายังพื้นที่ซึ่งตนมาทำงานได้ ด้วยข้อจำกัดหลายประการ เช่น เจ้าของบ้านเช่าไม่ยอมให้ย้ายทะเบียนบ้านเข้ามา บางคนพักอยู่ในหอพักที่สถานประกอบการจัดให้ซึ่งก็ไม่สามารถย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาได้ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงพวกเขาคือผู้ที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งตนทำงานจะเรียกว่าถาวรเลยก็ได้ แต่พอมีการเลือกตั้งพวกเขากลับต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาในเขตที่ตนเองไม่ได้อาศัยอยู่จริง สภาพเช่นนี้ทำให้ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งไม่ได้สะท้อนความเป็นตัวแทนของพื้นที่อย่างแท้จริงและทำให้การแก้ปัญหา การจัดสรรงบประมาณลงพื้นที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง

การให้คนทำงานมีสิทธิออกเสียงเลือกผู้แทนในพื้นที่ซึ่งเขาทำงานและอาศัยอยู่จริงจะทำให้ผู้แทนต้องมีความรับผิดชอบโดยตรงต่อผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ต้องรับฟังและแก้ไขปัญหาให้กับคนที่เลือกตนเข้าไปทำหน้าที่แทน

2. การตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน : เพื่อให้ความช่วยเหลือจ่ายเงินชดเชยแก่คนงานที่ไม่ได้รับค่าชดเชย เนื่องจากหลายครั้ง หลายเหตุการณ์ที่สถานประกอบการปิดตัวลงอย่างกะทันหันและคนงานไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ ต้องไปเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในการฟ้องดำเนินคดีกับนายจ้าง ซึ่งใช้เวลานาน ในขณะที่คนงานตกงานขาดรายได้ กลับต้องรอเงินชดเชยดังกล่าวที่ล่าช้ากว่าจะได้รับ ทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อตนเองและครอบครัวในการดำรงชีพ

จึงขอเสนอให้กระทรวงแรงงานจัดสรรงบประมาณ ในการตั้งกองทุนเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกจ้างที่ไม่ได้รับค่าชดเชยจากสถานประกอบการโดยใช้เงินกองทุนนั้นซึ่งเป็นของกระทรวงแรงงานจ่ายให้ลูกจ้างได้ทันทีเพื่อเป็นค่าชดเชย และให้กระทรวงแรงงานไปดำเนินการเรียกเก็บกับนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการเพื่อนำกลับเข้าคืนกองทุนต่อไป

3. รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 : ซึ่งอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวกันร่วมเจรจาต่อรอง เป็นอนุสัญญาแรงงานหลัก (Core Labour Standard)ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นประเทศภาคีสมาชิกขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ดังนั้น ก็ควรปฏิบัติให้สมฐานะที่เป็น

ประเทศภาคีสมาชิก โดยการประกาศให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาดังกล่าว และให้มีนโยบายด้านแรงงานในการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

4. พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ฉบับบูรณาการร่วมของผู้ใช้แรงงาน) :ด้วยปัจจุบันระบบวินิจฉัยทางการแพทย์มีการบิดเบือน เอื้อประโยชน์ต่อนายจ้างและเจ้าของสถานประกอบการ ทำให้เกิดผลเสียและผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานเป็นอย่างมาก ดังนั้น เพื่อแก้กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นต่อผู้ใช้แรงงาน รัฐต้องจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความ

ปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยบังคับใช้พระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ฉบับบูรณาการร่วมของผู้ใช้แรงงาน)

5. รัฐบาลต้องยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ : โดยให้รัฐบาลมีนโยบายในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้มีศักยภาพพร้อมในการให้บริการแก่ประชาชน

กระทรวงการคลังต้องจัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจและส่งเสริมให้มีผู้แทนของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ในคณะกรรมการกำกับนโยบายในรัฐวิสาหกิจ (ระดับชาติ) และให้มีผู้แทนของสหภาพแรงงานในคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง

ด้วยเหตุที่ว่ากิจการที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคและความมั่นคงของชาติถือเป็นภารกิจของรัฐ รัฐต้องบำรุงรักษาและส่งเสริมกิจการรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคเพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วถึงและเป็นธรรม กิจการรัฐวิสาหกิจเหล่านี้จะนำไปขายเพื่อการแสวงหากำไรไม่ได้อย่างเด็ดขาด

6. การปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม : ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานประกันสังคม ให้มีความโปร่งใสมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน และขยายการคุ้มครองไปสู่แรงงานนอกระบบ เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมได้จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 นับเป็นระยะเวลา20 ปี ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมมีผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนถึงกว่าเก้าล้านคน ในขณะเดียวกันเงินกองทุนประกันสังคมก็เพิ่มขึ้นถึงห้าแสนล้านบาท แต่การบริหารงานของสำนักงานประกันสังคมยังมิได้มีการพัฒนาเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงานเพื่อรองรับการเติบโตแต่อย่างใด

ดังนั้น เพื่อเป็นการเปิดช่องทางในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานในรูปแบบขององค์การมหาชนเพื่อความเป็นอิสระภายใต้กำกับดูแลของรัฐ เพื่อให้เกิดการบริหารงานที่คล่องตัว โปร่งใส เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ

7.กรณีค่าจ้างที่เป็นธรรม : "ค่าจ้าง" ไม่ได้เป็นเพียงตัวชี้วัดค่าตอบแทนสำหรับคนงานเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวชี้วัดสินค้าและบริการที่เข้าออกในระบบเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากการดำเนินงานของกลไกการผลิตด้วยเช่นกันเศรษฐกิจจะมั่นคงอยู่ได้ก็เพราะค่าจ้างของคนงานที่ส่งผลต่อเนื่องถึงสมาชิกในสังคมกลุ่มอื่นๆ และส่งผลให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ในสถานการณ์ปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ไม่พอเพียงต่อการดำรงชีพของคนงานในแต่ละวัน โดยขบวนการแรงงานไทยได้พยายามผลักดันให้เกิดค่าจ้างที่เป็นธรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้คนงานและครอบครัวดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐแต่อย่างใด

รัฐบาลควรกำหนดมาตรฐานค่าจ้างที่เท่าเทียมกันหรือใกล้เคียงกัน สำหรับงานประเภทเดียวกันในภูมิภาคอาเซียน เพื่อมิให้เกิดการย้ายฐานการผลิตภายในภูมิภาคไปสู่ประเทศที่มีมาตรฐานค่าแรงต่ำกว่า อันจะส่งผลกระทบต่อพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ต้องถูกเลิกจ้างหากมีการย้ายฐานการผลิต ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิด "งานที่มีคุณค่า" (Decent Work) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่ดำเนินการให้มีการส่งเสริมแก่ทุกรัฐบาล องค์กรนายจ้างและองค์กรลูกจ้างที่เป็นสมาชิกในการเสริมสร้างงานที่มีคุณค่า (Decent Work Deficits) ในแต่ละประเทศ

8. การคุ้มครองแรงงานนอกระบบ : ในสถานการณ์ปัจจุบันเศรษฐกิจนอกระบบเติบโตอย่างรวดเร็วมาก เนื่องจากการค้าเสรีและการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรง ส่งผลให้รูปแบบการดำเนินเศรษฐกิจต้องมีการปรับตัว ผู้ประกอบการจำนวนมากเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยการลด ต้นทุนการผลิต ทำให้เกิดรูปแบบการจ้างงานในลักษณะเหมาค่าแรง การจ้างเหมาช่วง การกระจายหน่วยการผลิต สถานการณ์ดังกล่าวขยายตัวไปทุกมุมโลก และส่งผลกระทบต่อมาตรฐานแรงงาน สิทธิแรงงานและความมั่นคงในอาชีพ แรงงานนอกระบบมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจของทุกประเทศทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมเจริญเติบโตขึ้น แต่ในความเป็นจริงแรงงานนอกระบบ หรือแรงงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบยังไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิจากรัฐ อยู่กับเงื่อนไขการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้จึงขอเสนอให้รัฐบาลออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ภายใต้หลักมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศและงานที่มีคุณค่า (Decent Work) และต้องขยายการคุ้มครองการบริการทางด้านสาธารณสุข ในรูปแบบของประกันสังคมให้คุ้มครองถึงแรงงานทุกระบบอย่างทั่วถึง โดยได้รับมาตรฐานเดียวกันกับแรงงานในระบบและจ่ายเงินสมทบตามอัตราส่วนที่เหมาะสม

9. การคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ : แม้จะมีการลงนามรับรองในปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าวไปแล้วสภาพการจ้างงานและการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติและแรงงานทั่วไปยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน รัฐบาลต้องบังคับให้มีการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับสิทธิแรงงานในประเทศนั้นในสายอาชีพเดียวกัน ทั้งในเรื่องของค่าจ้าง สิทธิคุ้มครองตามกฎหมาย สิทธิในการรวมตัวการร่วมเจรจาต่อรอง สิทธิในการเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขและอาชีวอนามัย ทั้งนี้เพื่อรองรับการย้ายถิ่นในการทำงาน หรือการอพยพแรงงานในอนาคตอันใกล้นี้

10. การจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในย่านอุตสาหกรรม : การเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยจึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญ ในการพัฒนาให้เด็กเติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพของประเทศ ผู้เลี้ยงดูต้องมีปัจจัยที่สำคัญ คือ รายได้เวลา และความรู้ ซึ่งครอบครัวของผู้ใช้แรงงานมีปัจจัยเหล่านี้จำกัด รัฐจึงมีความจำเป็นที่ต้องเข้ามาสนับสนุน และในสถานการณ์ปัจจุบันศูนย์เลี้ยงเด็กในย่านอุตสาหกรรมต่างๆ ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้แรงงานและการบริการก็ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้ใช้แรงงาน

ดังนั้น รัฐต้องจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในย่านอุตสาหกรรมต่างๆ ในปริมาณที่เพียงพอ และมีคุณภาพที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้แรงงาน โดยอย่างน้อยที่สุดต้องมีศูนย์เลี้ยงเด็กในย่านอุตสาหกรรมแต่ละแห่งไม่น้อยกว่าหนึ่งศูนย์ และศูนย์เลี้ยงเด็กเหล่านั้นต้องมีการบริการที่ยืดหยุ่น โดยเฉพาะเกี่ยวกับเวลาเปิดทำการและปิดทำการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้ใช้แรงงาน

(มติชน, 14-8-2553)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net