"กวี จงกิจถาวร" หวังสื่อช่วยสร้างประชาคมอาเซียน ติงยังขาดคุณภาพ

"กวี จงกิจถาวร" เชื่อสื่อช่วยให้เกิดประชาคมอาเซียนที่มีคุณภาพได้ แต่มองสื่อไทยยังไม่มีความรู้อาเซียน ซ้ำเสนอข้อเท็จมากกว่าจริง ด้าน "วีรวิชญ์ เธียรชัยนันท์" เอ็นจีโอด้านผู้ลี้ภัย มองประชาสังคมไทยจะช่วยแก้มายาคติเรื่องผู้ลี้ภัยได้

(16 ส.ค.53) ในการประชุมเครือข่ายอาเซียนครั้งที่ 2/2553 ของมูลนิธิศักยภาพชุมชน ซึ่งจัดขึ้นที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน กวี จงกิจถาวร บรรณาธิการอาวุโส หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นและคมชัดลึก กล่าวในหัวข้อ "ประเด็นท้าทายการรวมตัวประชาคมอาเซียน" ว่า ที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมไทยมีแต่ยุทธศาสตร์เชิงรุก ต้องมีเชิงรับด้วยนั่นคือ ต้องมีองค์ความรู้เกี่ยวกับอาเซียน รู้ทั้งข้อจำกัดตลอดจนกฎบัตรอาเซียน

ทั้งนี้ เขาได้วิจารณ์ภาคประชาสังคมไทยด้วยว่า หากจะมีข้อเสนอควรเสนอในกรอบระยะสั้น เช่น 5 ปีเพราะอาเซียนจะไม่มองยาวไปกว่านี้ และย้ำว่า อย่าเว่อร์ เช่น ที่ภาคประชาสังคมเสนอว่าอยากให้อาเซียนเป็นแบบสหภาพยุโรป เขามองว่ามันเป็นไปไม่ได้ และผู้เสนอไม่มีความเข้าใจดีพอ  

กวี กล่าวด้วยว่า ในแต่ละปี อาเซียนจัดประชุมจำนวนมาก ปีหนึ่งเจอกันพันกว่าครั้ง หรือประมาณวันละ 2-3 ครั้ง ซึ่งเหนื่อย ดังนั้น ภาคประชาสังคมต้องช่วยกันสื่อสารปัญหาที่สนใจหรือที่ไปเจอด้วย นอกจากนี้ สำหรับภาคประชาสังคมไทยถือว่าค่อนข้างทันสมัย เพราะมีเสรีภาพ สามารถตั้งประเด็นได้ ไม่มีใครว่า โดยเปรียบเทียบว่า หากเป็นที่เวียดนาม ทำแบบนี้อาจจะติดคุก ขณะที่ที่สิงคโปร์จะไม่สนใจภาคประชาสังคม โดยอ้างว่ารัฐบาลทำงานเหล่านั้นหมดแล้ว

กวี ระบุว่า ทั้งนี้ สื่อเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้การรวมตัวของประชาคมอาเซียนเกิดขึ้นอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะไทยซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านถึง 5 ประเทศ อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือ สื่อไทยเองไม่มีความรู้เกี่ยวกับอาเซียน และยังมักรายงานข้อเท็จมากกว่าเรื่องจริง และไม่กล้าท้าทายอีกด้วย ขณะที่ด้านคุณภาพ กวีวิจารณ์ว่า ปัจจุบัน คนยิ่งโง่ยิ่งออกทีวี คนโง่ๆ บางคนเขียนบทความในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ บางครั้งสื่อกระแสหลักไม่มีข่าวเขียน ก็นำความเห็นสุดขั้วมาตีพิมพ์ นอกจากนี้ เวลาจะปฎิรูปสื่อ สื่อเอกชนก็ไม่ยอมปฎิรูปตัวเองแต่พุ่งไปที่สื่อรัฐแทน

นอกจากนี้ กวียังเสนอว่า จากกรณีความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา ทำให้เห็นว่า เราควรต้องมีกลไกแก้ไขและป้องกันความขัดแย้ง เช่นเดียวกับในยุโรปด้วย

ด้านวีรวิชญ์ เธียรชัยนันท์ คณะกรรมการอเมริกันเพื่อผู้ลี้ภัยและการย้ายถิ่นฐาน ประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ผู้ลี้ภัยในอาเซียนว่า นอกจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ประเทศสมาชิกอาเซียนยึดถือหลักไม่แทรกแซงกิจการภายในกันแล้ว แต่ละประเทศก็ยังมีความขัดแย้งภายในอยู่ ซึ่งนั่นทำให้เกิดผู้ลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้านขึ้น

เขาระบุว่า ขณะที่สหภาพยุโรปมีการกำหนดกรอบกฎหมาย-ข้อตกลงสำหรับผู้ที่จะลี้ภัยในประเทศสมาชิก แต่อาเซียนยังไม่ได้ตกลงกันว่า หากมีผู้ลี้ภัยจากประเทศหนึ่งไปประเทศหนึ่ง จะทำอย่างไร โดยปัจจุบัน มีเพียง 2 จาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนคือ ฟิลิปปินส์และกัมพูชาเท่านั้นที่เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ปี 1951 ขณะที่ในไทย ผู้ลี้ภัยที่อยู่ในค่ายก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกนอกค่าย ไม่สามารถทำงานหรือเข้าเรียนได้ตามหลักสูตรปกติ ส่วนคนที่อยู่นอกค่ายก็เป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย

วีรวิชญ์ ระบุว่า ภาคประชาสังคมจะเป็นแรงผลักดันสำคัญ ที่จะสร้างความเข้าใจเรื่องผู้ลี้ภัยเสียใหม่ ทั้งนี้มีอุปสรรค 2 เรื่องนั่นคือวาทกรรมเรื่องประวัติ ศาสตร์ไทยกับพม่า ที่มีอยู่ในหนังอย่างนเรศวร หรือสุริโยทัย ว่าพม่าเป็นศัตรูของชาติ รวมถึงวาทกรรมโดยรัฐอีกมาก เช่น คนพม่าเป็นผู้ค้ายาเสพติด ก่ออาชญากรรม และนำโรคระบาดมาด้วย

เช่นเดียวกับกรณีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาจำนวนมากซึ่งรัฐบาลไทยยังไม่เปิดให้เข้ามาลี้ภัยในประเทศ โดยปีที่ผ่านมา มีการหยิบเรื่องนี้มาคุยนอกรอบ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ และปีนี้ที่เวียดนามเป็นเจ้าภาพ ก็คงจะยากขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม เขามองว่า นอกจากการพึ่งพารัฐ ที่มักอ้างผลประโยชน์ของคนไทยและอ้างความมั่นคงของชาติ หากสังคมไทยบอกกับรัฐและสังคมโลกว่า คนไทยไม่ได้รังเกียจจะดูแลพวกเขาเหล่านั้น ความชอบธรรมของรัฐที่อ้างว่าทำเพื่อคนไทยก็จะหมดไป

ด้านสุรีพร ยุพา จากองค์กรคนพิการสากลประจำภูมิภาค เอเซียแปซิฟิค กล่าวว่า ขณะที่มีคนพิการอยู่ถึง 10 เปอร์เซ็นของประชากรโลก โดย 60 เปอร์เซ็นหรือราว 400 ล้านคนอยู่ในอาเซียน แต่รัฐบาลหลายแห่งยังจัดลำดับความสำคัญของปัญหาคนพิการไว้หลังปัญหาความยากจน ทำให้ประเด็นคนพิการถูกห้อยไว้ท้ายๆ เป็นคนชายขอบอีกกลุ่ม ไม่ต่างจากกลุ่มโรฮิงยา ชาวเขา หรือผู้ลี้ภัย ดังนั้น คนพิการจึงพยายามออกมาแก้ปัญหาของตัวเอง เพราะคิดว่าน่าจะเข้าใจปัญหาของกลุ่มได้ดีที่สุด

สุรีพร เล่าถึงความพยายามผลักดันดังกล่าว อาทิ การเข้าไปมีส่วนร่วมกับการประชุมต่างๆ เพื่อให้คนอื่นๆ เห็นว่าปัญหาคนพิการมีอยู่จริง มีการรวมตัวของคนพิการจากประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อเขียนข้อตกลงร่วมกันที่กรุงเทพฯ หรือ Bangkok Decoration เมื่อวันที่ 26-29 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยมีข้อเสนอต่อคณะกรรมาธิการอาเซียน ให้กำหนดทศวรรษคนพิการแห่งอาเซียนสู่การมีส่วนร่วมกับประชาคมอาเซียน เพื่อให้คนพิการมีชีวิตที่ดีขึ้น โดยเน้นการมีส่วนร่วม-ความเข้มแข็งในกลุ่มคนพิการ ให้เข้าถึงการศึกษา สาธารณสุข การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ งานด้านไอซีที เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีแผนตั้งสมัชชาคนพิการในอาเซียนภายใน 5 ปี เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมผลักดันการพัฒนาเรื่องต่างๆ สำหรับคนพิการ และผลักดันให้มีประชุมเชิงปฎิบัติว่าด้วยสิทธิคนพิการในอาเซียนด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท