ศาสนาของคำ ผกา ตอนที่ 4 : ลอกคราบวาทกรรมทางศาสนา

วิจักขณ์ พานิช สัมภาษณ์คำ ผกา ตอนที่ 4 พูดถึงวาทกรรมเรื่องพระแบบบ้าน ๆ กับพระแบบปัญญาชน 'ธรรมะ' ที่รับใช้รสนิยม และเสรีนิยมประชาธิปไตยกับความเปิดกว้างทางศาสนา

 

 

วิจักขณ์: งานของคำ ผกา กระตุ้นให้คนอ่านตั้งคำถาม และวิพากษ์สังคมอย่างไม่ประนีประนอม ลักษณะของการเขียนที่ไม่ได้ใช้ภาษาที่สูงหรือไพเราะ ตรงกันข้ามกลับใช้คำที่แรงในความรู้สึกอย่างไม่มีอาย หลายคนรับไม่ได้และมองว่าเธอช่างดูไร้มนุษยธรรม หรือปราศจากจิตวิญญาณใดๆทั้งสิ้น เธอช่างปากคอเราะร้าย ด่าคนเค้าไปทั่ว ไม่เว้นแม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้า

คำ ผกา: จริงเหรออออ 555

วิจักขณ์: ก็สังคมไทยอ่ะนะ อ่ะ อย่างพระ ครูบาอาจารย์ หรือคนทำงานเรื่องจิตใจ จะเป็นแรงบันดาลใจอะไรให้ใคร มันก็มักจะมีภาพที่พูดจาดี นุ่มนวล อ่อนโยน มีทักษะการให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษาในแบบนึง ที่ทำให้คนรู้สึกดีขึ้น แต่การวิพากษ์การเมืองผสมการมุ้ง ผสมแง่มุมทางจิตใจ ทางสิทธิมนุษยชนที่ดิบแรว็งส์ขนาดนี้ คนก็ยังไม่ค่อยคุ้นเคยมั๊ย และบางครั้งถึงขั้นรับไม่ได้ จนคนก็อาจจะตั้งคำถามว่า คำ ผกา นี่เค้ายังไง ไร้หัวจิตหัวใจ เป็นคนไม่มีศาสนารึเปล่า
 
คำ ผกา: อันแรกคือไม่มีศาสนาแล้วไง จริงๆแล้วการที่ไม่มีศาสนาก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร อันนี้ก็เลยไม่ควรตั้งคำถามว่าคนนี้เค้ามีศาสนารึเปล่า และอันที่สองทำไมแขกถึงพูดจารุนแรงนัก คือแขกคิดว่าคนพูดดีๆมีเยอะแล้ว อือ..แล้วโดยนิสัยแล้วแขกก็พูดเพราะๆไม่เป็นนะ ถ้าจะวิจารณ์ก็อยากพูดให้ตรงที่สุด ไม่ต้องไปตีความหรือคิดอ้อมไปอ้อมมา

วิจักขณ์: งานเขียนมันเป็นการสื่อสารกับคนมากๆด้วยรึเปล่า มันก็ต้องปลุกเร้าบ้างอะไรบ้าง คุยกับเพื่อนก็เห็นคุยปกติดี

คำ ผกา: (หัวเราะ) ใช่ ใช่ สำหรับแขกมันเป็นอย่างงี้นะ สมมติว่าเราเขียนงานออกไป เราเขียนในที่แจ้ง งานชิ้นนั้นมันจะถูกเขียนและถูกอ่านโดยคนอ่านแล้ว มันจะไม่ใช่อำนาจของแขก เพราะฉะนั้นคุณอ่านให้แรงก็เป็นเรื่องของคุณ คุณอ่านให้เข้าใจสิ่งที่มันหลุดจากความรุนแรงทางภาษามันก็เป็นเรื่องของคุณ คุณอ่านแล้วได้อะไร มันเป็นเรื่องของคนอ่าน ถ้าคุณอ่านแล้วได้แต่ความหยาบคาย อันนั้นเป็นปัญหาของคุณ ถ้าคุณอ่านแล้วคุณได้อื่นๆที่มากไปกว่าความหยาบคาย มันก็เป็นเรื่องของคุณ ไม่ใช่เป็นเรื่องของแขก แต่แขกอยากพูดให้ตรงที่สุด ตรงตามที่แขกคิดมากที่สุด จะวิจารณ์ใคร แขกก็อยากให้เค้ารู้ว่าแขกวิจารณ์เค้า เอาให้ชัดๆ ไม่ต้องอ้อมว่านาย ก. นาย ข. อะไรงี้

วิจักขณ์: ก็คือไม่ได้มองว่า ถ้าเราถ่ายทอดอะไรออกไป คนรับเค้าก็อาจจะได้รับสิ่งที่ไม่เหมาะสม

คำ ผกา: อันนั้นมันเป็นเรื่องของคนรับนะ มันก็ขึ้นกับเค้าด้วยว่าเค้ารับได้แค่ไหน แล้วจะรับอะไรในนั้น

วิจักขณ์: ไม่มองว่าถ้านักเขียนเขียนด้วยถ้อยคำก้าวร้าว ก็จะส่งผ่านความก้าวร้าวออกไปในสังคม เด็กเยาวชน หรือคนที่ยังไม่มีวิจารณญาณมากพอก็จะซึมซับเอาความก้าวร้าวทางวาจานั้น ไปแสดงออกต่อๆกัน ส่งผลเสียหายต่อสังคม ครอบครัว เด็กและเยาวชนในวงกว้าง (หัวเราะ)

คำ ผกา: เอิ่ม... ถ้ามึงเกิดจะเป็นอย่างนั้น ก็ปัญหาของมึงแล้วล่ะ (หัวเราะ) ถ้าอยากได้ความก้าวร้าวมันก็เรื่องของคุณ คุณเลือกที่จะไม่รับได้นี่

วิจักขณ์: หนึ่งในจุดแข็งของงานเขียนของคำ ผกา ก็คือการตีประเด็นเรื่องวาทกรรม โดยเฉพาะวาทกรรมทางการเมือง ทางสังคม แล้วสำหรับเรื่องศาสนาล่ะ คิดว่าวาทกรรมมีความเกี่ยวข้องความเป็นไปของศาสนาในสังคมไทยยังไงบ้าง

คำ ผกา: มันคงเกี่ยวอยู่แล้วล่ะค่ะ แต่แขกไม่ค่อยรู้เยอะ เพราะว่าค่อนข้างจะอยู่นอกความสนใจ ก็เหมือนอย่างที่บอกตะกี๊ ว่าเราก็จะมีภาพพระ ประมาณพระพยอม คือบ้านๆ แบบหลวงพ่อคูณ ตีหัว แล้วก็มีพระอย่างที่ปัญญาชนชอบ ก็รู้ๆกันอยู่

วิจักขณ์: ซึ่งภาพพระแบบบ้านๆนี้ คุณแขกเองก็ไม่ได้ตัดสินเลยว่า สูงกว่าหรือต่ำกว่าพระปัญญาชน

คำ ผกา: แขกมองเท่ากันหมด แล้วแขกก็มองว่านี่เป็นวาทกรรมที่มัน contest กันอยู่ในสังคม และมันก็คือการ contest กันของ audience ที่เป็นสาวกของพระในแต่ละกลุ่ม แล้วมันก็ bluff กัน ใช่มั๊ยคะ คนที่ชอบพระปัญญาชนก็จะบอกว่าพระพยอมไม่ดียังไง หรือว่าหลวงพ่อคูณเป็นแบบอภินิหาร ไร้สาระ ชาวบ้านงมงาย ซึ่งมันก็เป็นภาพคู่ขนานกับวาทกรรมทางการเมือง

แล้วพระแบบที่กินเหล้า ล่อสีกา ส่วนนี้ก็พระชาวบ้านทั้งนั้น แล้วสมมติว่าอย่าง case พระกับสีกาขึ้นมาซัก case นึง สมมติว่ามันเป็นหนึ่งในล้าน case เนี่ย มันจะถูกทำให้เป็นภาพหนึ่งล้านภาพ ด้วยอคติทางความคิดที่เรามีอยู่ในหัวอยู่แล้ว เหมือนเราเห็นกรรมกรเป็นฆาตกรข่มขืนน่ะ เพราะว่าเค้าเป็นกรรมกร ก็จะถูกอธิบายแบบนึง แต่ถ้าเป็นหมอ มันก็จะถูกอธิบายอีกแบบนึง ถ้าคนที่ข่มขืนคนนั้นเป็นหมอก็จะถูกอธิบายแบบจิตวิทยาอะไรไป แต่พอเป็นกรรมกรปุ๊บ ก็ตบหัวเข่าฉาด “ใช่เลย กูว่าแล้ว”

วิจักขณ์: ตรงนี้อย่างน้อยถ้าเราเข้าใจวาทกรรมตรงนั้นเนี่ย ก็จะลดอคติในการตัดสินของเราไปได้บ้าง

คำ ผกา: เราจะได้เข้าใจ และเราจะได้ไม่กระโดดไปอยู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งแบบไม่ลืมหูลืมตา เราจะไม่ไปอยู่กับพุทธทาสแบบว่าพุทธทาสพูดอะไรก็ถูก แล้วถ้าใครประกาศว่าเป็นลูกศิษย์พุทธทาสก็จะถูก

วิจักขณ์: แต่สำหรับบางคน เค้าก็ยินยอมนะ มันอาจจะเป็นความรู้สึกที่ว่าถ้าเค้าเลือกคนถูก เค้าก็จะเดินไปในทางที่ถูกไง

คำ ผกา: ก็เหมือนกับคนเชื่อว่ายังไงอภิสิทธิ์ก็ต้องเป็นคนดี หรือคุณอานันท์จะต้องเป็นคนดี เพราะว่ามันเหมือนมาจากความชอบธรรมที่ไม่ต้องตั้งคำถาม

วิจักขณ์: แต่สำหรับคนอย่างท่านพุทธทาสนี่ไม่ต่างเหรอ คนก็อาจจะมองว่าท่านเป็นบุคคลทาง “จิต-วิญ-ญาณ” (หัวเราะ)

คำ ผกา: เหอะ เหอะ แล้ว (หัวเราะ) แล้ว จิต-วิญ-ญาณ แปลว่าอะไรเหรออออ 555

วิจักขณ์: (หัวเราะ)

...คุณแขกก็ยังยืนยันว่าการที่คนจะเชื่อครูบาอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่อย่างท่านพุทธทาสอย่างไม่ตั้งคำถาม เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะโอเค

คำ ผกา:  เราไปจัดกลุ่ม เรามองว่าถ้าพระสายปฏิบัติต้องดีเสมอ ถ้าพระแบบว่าดิบๆสุกๆต้องเลวเสมอ แขกไม่เห็นด้วยกับอันนี้ไง แต่ตอนนี้วาทกรรมที่มันปฏิบัติการอยู่ในความคิดของชนชั้นกลาง มักจะไปให้คุณค่ากับพระสายปฏิบัติว่าบริสุทธิ์กว่า ดีกว่า ถูก contaminate น้อยกว่า ในขณะที่พระดิบๆสุกๆซึ่งเป็นพระส่วนใหญ่เนี่ย จริงๆแล้วเค้าอาจจะทำอะไรมากกว่าที่คุณคิด หรือน้อยกว่าที่คุณคิด หรืออะไรก็ตามแต่ ก็จะมองว่าพวกนี้ไม่ pure พวกนี้ถูก contaminate โดยบริโภคนิยม พระพวกนี้แอบเล่นเกมแชท (หัวเราะ) ซึ่งสำหรับแขก พระก็จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีในการดำเนินชีวิต ในเมื่อเค้ามีความต้องการที่จะทำงานกับสังคมแบบหนึ่ง แล้วคุณจะให้พระเข้าป่าไปปฏิบัติหมดเหรอ ซึ่งมันก็ไม่ใช่ไง
แล้ววาทกรรมอันนี้พอเล่นแล้วมันกู่ไม่กลับเลยนะ เหมือนกับว่าตอนนี้ ถ้าใครมีหนังสือพุทธทาสอยู่ที่บ้านก็จะดูเป็นคนดี ใครบอกว่าเป็นลูกศิษย์พุทธทาสก็ดูเป็นคนดี ใครไปสวนโมกข์ก็ดูเป็นคนดี

วิจักขณ์: การเชิดชูในความสมบูรณ์แบบท่าเดียว มันก็ได้ปิดกั้นความเป็นไปได้ของการงอกงามต่อไปด้วย

คำ ผกา: ใช่ ใช่ ก็อย่างที่แขกเคยคุยกับตั้มน่ะค่ะ แทนที่จะมองไปที่ความสมบูรณ์แบบ อย่างคำสอนของท่านพุทธทาส จริงๆแล้วเราก็น่าจะนำคำสอนของท่านมาศึกษา มาวิจารณ์กันในแง่สังคมวิทยา มานุษยวิทยา ในแง่ของประวัติศาสตร์ ว่าแต่ละช่วงของบริบท ของสิ่งที่ท่านพูดออกมาเนี่ย มันสัมพันธ์กับบริบทของเหตุการณ์ของเมืองไทยตอนนั้นยังไงบ้าง เกิดอะไรขึ้นในเมืองไทย ท่านถึงพูดสิ่งเหล่านั้นออกมา แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ไปบูชาท่านพุทธทาสตอนนี้ ก็คือไม่ตั้งคำถามแล้ว อะไรที่พุทธทาสพูดดีหมด อะไรที่พุทธทาสพูดถูกหมด คือแขกไม่ได้มองว่าท่านดีหรือไม่ดี ถูกหรือไม่ถูก แต่แขกอยากเห็นการที่เราจะไปทำความเข้าใจ text เหล่านั้นให้มันลึกซึ้งมากขึ้น

วิจักขณ์: หรือว่ารู้ตัว รู้บริบทเวลาเอาไปใช้

คำ ผกา: ช่ายยย...มันขึ้นกับการ quote น่ะ การ quote มันคือการดึง text นั้นออกมาจากบริบทของมันทั้งหมดใช่มั๊ยคะ แล้วทุกวันนี้ที่เราทำกับงานท่านพุทธทาส คือการ quote มีแต่ quotation เต็มไปหมด แต่ไม่รู้ว่าพูดเมื่อไหร่ ที่ไหน อย่างไร 

วิจักขณ์: อืม..ซึ่งจริงๆ แม้แต่คำสอนของพระพุทธเจ้า ทุกพระสูตรก็จะต้องขึ้นต้นด้วยการบอกบริบทว่าพระพุทธเจ้าแสดงคำสอนนี้กับใคร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร เพราะทุกคำสอนเกิดขึ้นในบริบทเฉพาะ ซึ่งต้องทำความเข้าใจบริบทควบคู่ไปด้วยจึงจะเข้าใจนัยที่ลึกซึ้งของคำสอน ไม่ใช่ว่าจู่ๆนึกชอบก็ดึงเอาไป quote เพื่อไปอธิบายในแบบของตัวเอง

คำ ผกา: มันกลายเป็นวัฒนธรรมของการ quote เรี่ยราด แล้วที่แย่กว่านั้นคือ quote แล้วก็เข้าใจตามพื้นความรู้ของตัวเองอีกนะ แล้วส่วนใหญ่คนเราก็มีแนวโน้มที่จะตีความคำพูดเหล่านั้นไปในทิศทางที่เรายินดีจะเชื่อ หรือชอบมันเป็นพิเศษอยู่แล้ว เหมือนตีความให้เข้าทางตัวเอง แล้วไอ้ quotation นี่มันมีแนวโน้มที่คนจะตีความเข้าทางตัวเองค่อนข้างเยอะ แล้วก็แห่แหนบูชากันไป คราวนี้ก็กู่ไม่กลับเลย อันนี้แหละหายนะ

วิจักขณ์: เรื่องวาทกรรมนี้รึเปล่า ที่เป็นสาเหตุทำให้คุณแขกสนใจพูดถึงพระแบบท่านพุทธทาส แม่ชีศันสนีย์ ว.วชิรเมธี ค่อนข้างเยอะ

คำ ผกา: แขกสนใจเพราะว่าเค้าเป็น icon ของชนชั้นกลาง จะว่าไปแล้ว แขกคิดว่าแขกสนใจชนชั้นกลางมากกว่า อือ สนใจว่า มันขับเคลื่อนด้วยอะไรวะคนกลุ่มนี้

วิจักขณ์: หมายถึง อะไรคือพลังที่เค้าใช้ในการดำเนินชีวิตใช่มั๊ย ซึ่งดูๆแล้วพลังทางศาสนาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนชีวิตของคนกลุ่มนี้ ความเชื่อ ความชื่นชอบกับอะไรซักอย่าง ซึ่งในที่นี้ที่ฮิตกันมาก คือธรรมะ

คำ ผกา: ใช่ ใช่ แล้วมันเยอะมาก ในช่วงสี่ห้าปีมานี้ พลังทางศาสนามันมาแรงกว่าพลังด้านอื่นๆ แล้วมันกลมกลืนไปกับรสนิยมการบริโภคของเค้ายังไง เหมือนเครื่องสำอาง shisedo กับสโลแกน “Purify Your Mind and Body  ซึ่งสามารถไปเปิดตัวในเสถียรธรรมสถานได้

ความสนใจของแขกก็คือว่า ธรรมะมันถูก commodify ยังไง คือครั้งหนึ่งมันถูก commodify มาแล้วและชนชั้นอย่างในหมู่บ้านแขกแบบเนี้ยะ เอาเงินไปสร้างกุฏิวิหาร แล้วสุดท้ายเงินก็ไปสู่มือผู้รับเหมา หรือพ่อค้าไม้เถื่อน มันถูก commodify แบบนี้มาโดยตลอด แล้วก็ถูกดูถูกด้วย ถูกประณาม ก่นด่าด้วยแหละ ประมาณว่ามีพระแบบนี้ ศาสนาแบบนี้ ไม่ได้เรื่อง ตกต่ำ แต่ครั้นมันถูก commodify โดยชนชั้นกลาง แล้วถูกทำแบบเนียนๆ เออ แล้วมันทำไปได้ยังไง มีกระบวนการยังไงบ้าง อันนี้น่าจะเป็นความสนใจของแขก เป็นสาเหตุว่าทำไมแขกถึงไปหมกหมุ่นกับมันมาก (หัวเราะ)

วิจักขณ์:  เรียกว่าเป็นการมองพลวัตของศาสนาในแบบโลกโลกย์ได้มั๊ย

คำ ผกา:  (หัวเราะ) เป็นการมองแบบนักสังคมวิทยามากกว่า

วิจักขณ์:  แต่ถ้าเรามองในแง่ดี อย่างที่คุณแขกว่า พระก็มีหลายแบบ พระอย่างว.วชิรเมธี ที่ได้กลายเป็น icon พระ intellectual ของชนชั้นกลาง ท่านก็สร้างแรงบันดาลใจให้คนเยอะนะ สิ่งที่ท่านสอนก็ถูกจริตกับคนกลุ่มหนึ่ง งานหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คมากมายของท่านก็ทำให้คนรู้สึกดี อิ่มเอม มีความสุข ได้แง่คิด แบบนี้ปล่อยท่านทำไป ไม่ต้องไปจิกกัดท่านไม่ได้เหรอ

คำ ผกา: แต่แขกมองว่างานของว.วชิรเมธีมันเป็นยากล่อมประสาท หลอกขายกันไปวันๆ ไม่ได้ทำให้คนตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม มันเป็นการเอาตัวรอดคนเดียว

วิจักขณ์: แล้วมันต่างอะไรกับนักวิชาการที่พูดอะไรแบบเป็นทฤษฎีวิชาการมากๆ โดยที่ไม่ได้สนใจชาวบ้านหรือปัญหาสังคมอะไรจริงๆจังๆ

คำ ผกา: แต่ว่าคำพูดของนักวิชาการด้วยความที่มันไม่ได้อิงอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ มันไม่ได้อิงกับสิ่งที่เรียกว่าเป็น absolute truth นี่ นักวิชาการจึงโดนด่าตลอดเวลา แต่พอมันออกมาจากปากของคนที่ได้ชื่อว่าเป็นพระ อย่างที่แขกบอกว่าคุณต้องตระหนักว่าต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มากับสถานะทางสังคมของคุณคืออะไร แล้วสิ่งที่คนเชิดชูคุณ คือ absolute truth คือสัจจะ แล้วการที่คุณบอกว่าได้มอบในสิ่งที่คุณเรียกว่าเป็นสัจจะ แต่สิ่งที่คุณให้มันไม่ใช่สัจจะเลย แขกเลยมองว่ามันเป็นการมอมเมาทางปัญญา สอนให้คนหลีกหนีปัญหา แล้วก็ทำให้มืดบอดต่อปัญหาของคนอื่นในสังคมด้วย คำพูดของว.วชิรเมธี มีอะไรที่ลึกซึ้งบ้าง ไม่มี แต่ทำไมคนถึงให้ความสำคัญ เพราะมันออกมาจากพระที่บอกว่าตัวเองอ่านพระไตรปิฎกเจนจบ เป็นศิษย์พุทธทาส แล้วตอนนี้ก็จะเป็นศิษย์อะไรนะ สวนพลัม ใช่มั๊ย  แล้วล่าสุดอมรินทร์ก็ยกให้เป็นหนึ่งในอริยบุคคลของสังคมไทย นี่ก็ยิ่งเป็นการเชิดชูกันหนักเข้าไปอีก

วิจักขณ์: แล้วอย่างท่านพุทธทาส มองท่านอย่างนั้นด้วยรึเปล่า

คำ ผกา: อ๋อ ไม่ค่ะ แขกไม่ได้มองว่าท่านมอมเมา แต่แขกมองว่าท่านพุทธทาสเนี่ย หนังสือหรือคำสอนของท่านหลายๆอันมันอยู่ในช่วงที่ critical มาก เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองไทย แล้วมันควรจะถูกเอามามองกับการเมืองตอนนั้นด้วย ไม่ใช่ไปมองแค่ในสถานะที่เป็นคำสอนล้วนๆ

วิจักขณ์: คืออยากให้คำนึงถึงช่วงเวลาที่คำสอนนั้นเกิดขึ้นด้วย เพื่อที่จะเข้าใจถึงบริบทของการนำมาใช้ให้ถูกต้องมากขึ้น

คำ ผกา: ใช่ ใช่ ...กับ motivation ที่ทำให้ท่านพูดคำสอนนั้นออกมา ในแต่ละช่วงเวลา

วิจักขณ์: แล้วเวลาวิพากษ์พระแบบนี้ สนใจที่จะเข้าไปรู้จักตัวบุคคลบ้างมั๊ย

คำ ผกา: แขกคิดว่าตัวบุคคลกับ text เป็นคนละคนกัน

วิจักขณ์: คุณแขกวิพากษ์ text  วิพากษ์งาน และอาจรวมถึงวิพากษ์ท่าที IMAGE ที่ท่านเหล่านี้แสดงต่อสังคม

คำ ผกา: ใช่ ใช่ ไม่ได้วิพากษ์ในตัวบุคคล ก็เลยไม่ได้มีความสนใจที่จะเข้าไปทำความรู้จัก  คือเรารู้จักกันเป็นคนๆแบบนี้ เราต้องดีต่อกันอยู่แล้ว ถ้าเป็นเพื่อนกันแล้ว ไม่มีใครไม่ดีต่อกันหรอก แต่ในความเป็นเพื่อนนั้น มันก็ยังไม่ได้เกี่ยวข้องกับ text ที่เราวิจารณ์ คือถ้าแขกรู้จักท่าน แขกอาจจะชอบท่านก็ได้ ในฐานะที่ท่านเป็นคนดี มีน้ำใจ อะไรแบบนั้น

วิจักขณ์: แต่ก็ยังจะวิพากษ์งานท่านอยู่ดี 

คำ ผกา: ใช่ ใช่ เพราะความเป็นคนดี มีน้ำใจของท่าน มันไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ท่านเขียน

วิจักขณ์: คุณแขกคิดยังไงกับกระแสคลั่งอัตลักษณ์ทางศาสนา กับความพยายามที่จะบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ที่แม้แต่ชาวบ้านที่ทำงานเกี่ยวข้องกับปัญหาทางสังคมเอง ก็ยังมีเห็นด้วยเลยนะ

คำ ผกา: อือ..ก็เป็นธรรมดา เป็นกระแสชาตินิยม polular nationalism ทั่วๆไป ซึ่งอันนี้มีหลายคนที่วิจารณ์ว่า เป็นสิ่งที่มีอยู่ร่วมกันทั้งคนเสื้อเหลืองและคนเสื้อแดง ซึ่งก็ไม่น่าประหลาดใจเท่าไหร่ว่าทำไมคนเห็นด้วย

วิจักขณ์: แล้วส่วนตัวล่ะเห็นยังไง

คำ ผกา: ไม่ควรอ่ะค่ะ ในทางการเมือง ยังไงก็ไม่ควร

จุดยืนของแขกคือ เสรีนิยมประชาธิปไตย ก็คือเปิดกว้างให้กับความหลากหลายทุกอย่าง รวมทั้งศาสนาด้วย เรื่องชาติพันธุ์ก็แน่นอนอยู่แล้ว

เรื่องจะเอาพุทธศาสนาไปใส่ในรัฐธรรมนูญ สำหรับจุดยืนของนักเสรีนิยมยังไงมันก็ผิด เพราะว่าโดยสิทธิมนุษยชนแล้วเนี่ย ทุกคนมีสิทธิที่จะนับถือศาสนาใดก็ได้ โดยที่ไม่มีศาสนาใดศาสนาหนึ่งถูกสถาปนาให้อยู่เหนือศาสนาอื่นๆ

วิจักขณ์: แล้วมองว่าโดยตัวของพุทธศาสนาเองเป็นเสรีนิยมมั๊ย

คำ ผกา: อืม...แขกว่าแล้วแต่ คือการตีความพุทธศาสนาเนี่ย มันเยอะอ่ะ จะตีความเป็นฟิสิกส์ เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นอะไรก็ไม่รู้ ซึ่งแขกคิดว่าใครจะตีความยังไงก็ได้ มันก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณไปเลือกตรงไหนมาอ้าง ถ้าคุณ quote ตรงที่มันส่อไปในทางอำนาจนิยม มันก็เป็นอำนาจนิยม ถ้าคุณจะ quote ไปในทางที่มันเป็นวิทยาศาสตร์ มันก็เป็นวิทยาศาสตร์ คุณไป quote ตรงที่เป็นประชาธิปไตย มันก็เป็นประชาธิปไตย

พุทธศาสนาก็เหมือนเป็นทะเลวาทกรรมเหมือนกันนะ เพราะมันมีปลาให้จับเยอะแยะไปหมด ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะตกได้อะไรขึ้นมา

วิจักขณ์: แล้วเห็นอะไรในทะเลนั้นบ้าง ที่มีคุณค่าพอที่ควรจะคงอยู่

คำ ผกา: ไม่เห็นอะไรเลยอ่ะ มองเป็นกลางๆมากเลย แขกมองแค่ว่าการดำรงชีวิตอยู่ในสังคม ก็แค่เคารพในสิทธิของคนอื่น ง่ายๆเลย

วิจักขณ์: (หัวเราะ) เท่าที่คุยกันมาตั้งแต่ต้น ผมรู้สึกได้เลยว่า คุณแขกไม่ได้มองว่า อะไรที่เป็นศาสนาแล้วจะวิเศษกว่าอันอื่น

คำ ผกา: ช่ายยย (เน้นเสียง)  เพราะฉะนั้นแขกก็มองว่า การที่เราไม่ไปฆ่าคนอื่นก็เพราะเราเคารพชีวิตของเค้า มันก็ไม่ต้องศีล ๕ อะไร แขกมองมันเป็นเรื่องของโลกสมัยใหม่แบบนี้เลย เราไม่ละเมิดสิทธิของใคร เราก็ไม่ไปขโมยของคนอื่น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้แปลว่าเราจะเคารพได้ตลอดเวลา (หัวเราะ) ในฐานะที่เป็นมนุษย์ปุถุชน เฮอะ เฮอะ(หัวเราะแบบนางร้าย)

วิจักขณ์: แล้วอย่างนั้นทำไง

คำ ผกา: ก็ทำไป (หัวเราะ) ถ้าอยากทำก็ทำ ทำแล้วก็แก้ปัญหาไป ถ้าทำแล้วมีปัญหา ใช่มั๊ยคะ สมมติว่าทำแล้วมีปัญหา ทำแล้วโดนตำรวจจับ อ้าวแล้วจะโอเคกับการติดคุกมั๊ยล่ะ

วิจักขณ์: คือถ้าไม่ทำก็ดี ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าอยากทำก็ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ทำ

คำ ผกา: ใช่ ก็รับผิดชอบไป รับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ

วิจักขณ์: ถ้าอยากจะไปเป็นกิ๊กกับแฟนชาวบ้าน ก็...

คำ ผกา: ก็ถ้ามันจะสาดน้ำกรด ก็ต้องรับผิดชอบกับน้ำกรดอันนั้น (หัวเราะ) หรือพยายามเอาตัวรอด หรือจะอยู่ให้ได้ โดยจะปิดบังให้ได้ตลอดรอดฝั่งมั๊ย หรือจะไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ของทั้งสามฝ่ายให้ลงตัวได้ยังไง อันนั้นก็เป็นการแก้ไขปัญหา เหมือนที่แขกบอกว่ามีปัญหาอะไรก็แก้ไปตามเนื้อผ้า (หัวเราะ)

สัมภาษณ์เมื่อ 21 กรกฎาคม 2553
ภาพจาก นิตยสาร volume
____________________________

บ้านตีโลปะ
www.tilopahouse.com
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท