Skip to main content
sharethis

ประธาน กกต. เปิดฉากถล่มนักการเมืองอีสานซื้อเสียงรุนแรงที่สุด ด้านนักวิชาการโต้อย่ามองด้านเดียว องค์กรควบคุมทำให้กลไกการเลือกตั้งอ่อนแอบั่นทอนพัฒนาการประชาธิปไตย

"มติชนออนไลน์" รายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 21 สิงหาคม ที่โรงแรมอาราญาน่า ภูพิมาน รีสอร์ท แอนด์ สปา อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดปฐมนิเทศหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) รุ่นที่ 2 

นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกกต. กล่าวตอนหนึ่งว่า ปัญหาการซื้อเสียงการเลือกตั้งเป็นเรื่องที่แก้ยาก เพราะนักการเมืองที่เปรียบเสมือนไม้แก่ ดัดยาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน การซื้อเสียงรุนแรงและมีค่าตัวแพงมาก อย่างตอนเช้าก่อนเลือกตั้ง ค่าตัวราคาไม่กี่ร้อยบาท แต่พอตอนเย็นใกล้ปิดลงคะแนนเลือกตั้ง ค่าตัวเพิ่มสูงขึ้นไปจนถึงหัวละ 3-4 พันบาท ตกครอบครัวละ 2 หมื่นบาท  กลายเป็นวัฒนธรรมที่ไม่ดี แต่ก็ต้องปล่อยไปเพราะคนเหล่านี้ไม่นานก็คงหมดไปจากสังคม

ส่วนเจตนารมณ์การเปิดหลักสูตร พตส. ก็เพื่อมุ่งหวังให้แต่ละคนเข้าใจการเมืองและการเลือกตั้งมากขึ้นแล้ว ยังหวังว่าจะช่วยเรื่องความขัดแย้งในสังคม โดยเฉพาะเรื่องสี และกระจายแนวคิดการพัฒนาการเมืองการปกครองไปสู่ประชาชน ซึ่งนักศึกษารุ่นแรกเป็นไปตามความคาดหวังของหลักสูตร ทำให้รัฐสภาเห็นความตั้งใจของ กกต.ในการพัฒนาการเมืองและพรรคการเมืองอย่าง แท้จริง จึงเพิ่มงบประมาณให้กองทุนพัฒนาพรรคการเมืองเป็น 200 ล้านบาท จากเดิมได้งบประมาณ 100 ล้านบาท


ด้าน เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นกับ "ประชาไท"
ถึงทัศนะดังกล่าวว่า  เรื่องการซื้อเสียงหรือการใช้จ่ายเงินในการเลือกตั้งนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ และก็เป็นทั้งการเลือกตั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น แต่เรื่องนี้หากมองกันง่ายๆว่าเป็นเพราะ “สันดาน” ของนักการเมือง หรือเป็นเพราะการขาด คุณธรรมของคนที่สมัครเข้ารับการเลือกตั้งนั้น ก็อาจจะมองด้านเดียวเกินไป

การมองด้านเดียวที่เน้นว่าเป็นคุณธรรมของนักการเมืองนี้ ทำให้การแก้ปัญหาเน้นที่การตั้งกฎมาควบคุมจนทำให้กลไกการเลือกตั้งอ่อนแอ หรือมีองค์กรอื่นๆมาคุมนักการเมือง และองค์กรที่มาคุมนักการเมืองก็ได้กลายมาเป็นกลไกสำคัญในการตัดสินการเลือกตั้ง ดังจะเห็นได้จากการให้ใบแดงใบเหลืองในหลายๆพื้นที่ ทำให้องค์กรปกครองท้องถิ่นบางแห่งแทบบริหารงานไม่ได้เลย เพราะเจอปัญหาเรื่องการร้องเรียนและการให้ใบแดง ก่อให้เกิดการเลือกตั้งหลายครั้ง ผู้ได้รับเลือกตั้งไม่สามารถบริหารงานได้อย่างต่อเนื่อง นั่นหมายความว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีควบคุมนักการเมือง ได้บั่นทอนการพัฒนาประชาธิปไตย ที่ทำให้กลไกการเลือกตั้งและการบริหารอ่อนแอไปด้วย (โดยจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม)

นอกจากนี้การซื้อเสียงขายเสียง ยังมีมิติอื่นๆที่จะต้องพิจารณาคือ

ประการแรก เราต้องดูว่าเงินที่จ่ายให้กับผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งนั้นมันมีความหมายอย่างไร (หรือมี function อะไรในความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคม) จะเข้าใจเรื่องนี้ได้เราต้องศึกษาด้วยการเก็บข้อมูลในพื้นที่อย่าง จริงจัง ว่าการใช้เงินให้กับผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งนั้นหมายถึง การ “ซื้อเสียง” ในความหมายว่า เอาเงินแลกกับคะแนนเสียงง่ายๆอย่างนั้นหรือไม่ จากที่ผู้เขียนได้ศึกษาการเมืองในระดับท้องถิ่นหลายพื้นที่นั้น เห็นได้ชัดเจนว่า เงินที่ให้กับผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งนั้น ไม่ได้ซื้อการตัดสินใจ ของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง แต่มันได้ทำหน้าที่อื่นๆ เท่าที่พบเช่น

-    นักการเมืองหลายพื้นที่จะจ่ายเงินให้กับผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ในพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงของตัวเองเท่านั้น  เงินจึงทำหน้าที่เป็นค่าตอบแทนที่จะไปเลือกตั้งให้เขา

-    ในหลายๆพื้นที่จะเห็นว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่มีภูมิลำเนาในเขตนั้นๆ ไม่ได้อาศัยหรือทำงานในเขตนั้น เงินจึงทำหน้าที่เป็นค่ารถ เป็นค่าเสียเวลา เพื่อให้คนกลับมาเลือกตั้ง (ในกรณีเช่นนี้เราจะเห็นบางแห่งสามารถเอาตั๋วรถมาเบิกค่ารถได้ด้วย)  ดังนั้นกรณีเหล่านี้ ผลงานหรือความสัมพันธ์ระหว่างผู้ได้รับเลือกตั้งกับผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ในฐานะฐานคะแนนเสียง จึงมีความสำคัญกว่าเงินที่ใช้ในการตอบแทนให้ไปลงคะแนนเสียงมากมายนัก
 

ประการที่สอ แม้เงินจะซื้อการตัดสินใจได้ แต่ต้องเข้าใจว่าการเลือกตั้งมีพลวัตรที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว  ในพื้นที่ที่มีการแข่งขันกันสูงระหว่างผู้สมัครรับเลือกตั้ง เงินเป็นตัวตัดสินคะแนนเสียงได้ ซึ่งเกิดขึ้นกับพื้นที่ที่ผู้สมัครมีฐานเสียงใกล้เคียงกัน หรือผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งอาจจะไม่มีข้อมูลของผู้สมัครเพียงพอ ทำให้ไม่สามารถตัดสินใจเลือกได้อย่างชัดเจน แต่ในระบอบการเมืองที่พรรคการเมืองและนักการเมืองใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ (ผ่านทางพรรคการเมืองที่นำเสนอนโยบาย และผ่านทางการกระจายอำนาจที่ทำให้นักการเมืองใกล้ชิดกับชุมชน) แม้ว่าเงินจะมีบทบาทตอนเลือกตั้ง แต่มันจะไม่ได้จบแค่นั้น เพราะการมาด้วยคะแนนเสียงเป็นตัวตัดสินนั้น เท่ากับได้สร้างความรับผิดชอบ (accountability) ต่อผู้ที่ไปลงคะแนนเสียงให้ การแข่งขันที่สูงนี้เองจะทำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจับตาดูผู้ที่ได้รับเลือกตั้ง และเปรียบเทียบกับคู่แข่งอยู่เสมอ ในกรณีเช่นนี้ ผลงานหลังจากได้รับเลือกตั้งจึงมีความหมายตามมา และนั่นย่อมก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการเลือกตั้งครั้งต่อไปอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อเราสามารถเข้าใจมิติต่างๆและสถานภาพของเงินที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง เราก็จะเข้าใจได้ว่าปัญหาของการพัฒนาประชาธิปไตยอยู่ที่ไหน การพูดว่าอยู่ที่นิสัยหรือคุณธรรมของนักการเมืองเป็นการพูดที่ง่ายเกินไปและมองด้านเดียว การกล่าวเน้นไปที่นิสัยและคุณธรรมของนักการเมือง เท่ากับมองว่าคนในอาชีพอื่นๆไม่มีปัญหาในเรื่องนี้  ทั้งๆที่ข้าราชการ นักธุรกิจ ตำรวจ ทหาร ชาวไร่ชาวนา  ทุกอาชีพ ทุกวงการก็มีทั้งคนที่มีคุณธรรมและไร้คุณธรรมทั้งสิ้น
 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net