รายงาน: ‘ระนอง’ ตะเข็บชายแดนพม่า พื้นที่นำร่องการจดทะเบียนการเกิดถ้วนหน้า

 
ระนอง จังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทยซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศพม่า เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีชาวต่างชาติ และชาวไทยพลัดถิ่น อาศัยอยู่และเดินทางข้ามพรมแดนไทย-พม่าอยู่บ่อยครั้ง ชาวต่างชาติหลายคน หลายคู่ตัดสินใจเดินทางข้ามเส้นพรมแดนมาเพื่อเริ่มต้นชีวิต มาเพื่อใช้ชีวิต หรือกระทั่งมาให้กำเนิดชีวิตตัวน้อย ๆ ในประเทศไทยดังนั้นจึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าระนองเป็นพื้นที่ซึ่งมีความหลาก หลายของกลุ่มคน ทั้งคนไทย คนต่างชาติซึ่งเราเรียกกันเป็นปกติว่า คนต่างด้าว
 
สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (SWIT) ร่วมกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อผู้อพยพย้ายถิ่น (NCCM) จังหวัดระนอง  ได้จัดเวทีรวบรวมสถานการณ์การจดทะเบียนการเกิด และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อการจดทะเบียนการเกิดถ้วนหน้า ครบขั้นตอนและถูกต้องในพื้นที่จังหวัดระนอง (พื้นที่ต้นแบบ) เพื่อสำรวจสถานการณ์การจดทะเบียนการเกิดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ปัญหา ในเรื่องการจดทะเบียนการเกิดในพื้นจังหวัดระนองด้วยเล็งเห็นว่าระนองเป็น พื้นที่ชายแดนที่ประสบปัญหาเรื่องการจดทะเบียนรับรองการเกิดของเด็ก และเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อปัญหาการตกอยู่ในภาวะไร้รัฐของบุคคลได้ง่าย แต่จังหวัดระนองโดยความร่วมมือของภาคราชการ ภาคเอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) กลับมีสถิติในการแก้ปัญหาได้รวดเร็วกว่าที่คาดไว้ ดังนั้นหากสามารถรวบรวมปัญหาที่มีอยู่ และแนวทางวิธีแก้ปัญหาที่ผ่านมาก็อาจส่งผลให้จังหวัดระนองกลายเป็นพื้นที่ ต้นแบบ นำร่องสู่ การจดทะเบียนการเกิดที่ถ้วนหน้า ครบขั้นตอนและถูกต้องได้
 
และการดำเนินการเพื่อสำรวจสถานการณ์การจดทะเบียนการเกิดในพื้นที่จังหวัด ระนองนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาองค์ความรู้และกลไกการทำงานเครือข่ายด้านสถานะ บุคคล และสิทธิเพื่อผลักดันการจดทะเบียนการเกิดถ้วนหน้า ซึ่งดำเนินการโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (SWIT) โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต แรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล (คพรส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.)

เวทีดังกล่าวนี้จัดขึ้นในวันที่ 29 กรกฏาคม 2553 ณ เฮอริเทจ แกรนด์ คอนแวนชั่น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ซึ่งมีตัวแทนจากสาธารณสุขจังหวัด หน่วยงานด้านสถานพยาบาลในจังหวัดระนอง เทศบาล อำเภอต่าง ๆ และตัวแทนผู้ซึ่งมีปัญหาด้านสถานะบุคคลเข้าร่วม ประมาณ 20 คน

ดรุณี  ไพศาลพาณิชย์กุล นักกฎหมาย สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ กล่าว ในเวทีว่า มนุษย์ทุกคน นอกจากการมีตัวตนในทางข้อเท็จจริงแล้ว การจดทะเบียนการเกิด จะช่วยให้เด็กหรือคนๆ หนึ่งถูกมองเห็นโดยสายตาของกฎหมาย โดยรับรู้การมีตัวตนของเขาผ่านทางระบบการบันทึกทะเบียนราษฎรของรัฐ ทำให้บุคคลไม่ตกอยู่ในสภาวะไร้รัฐ และบุคคลผู้นั้นจะมีเอกสารระบุทราบตัวบุคคลของตนเพื่อเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ได้สะดวกขึ้น ทั้งสิทธิการศึกษา สิทธิในการสุขภาพ ประกอบกับฐานข้อมูลดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการประชากร และอาจถูกใช้เพื่องานความมั่นคงของรัฐ เพราะเมื่อรัฐทราบจำนวนคนเกิดก็ย่อมง่ายต่อการจัดระเบียบประชากร

อย่างไรก็ตามการจดทะเบียนการเกิดประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ  1.ถ้วนหน้า คือ เด็กและอดีตเด็กทุกคนที่เกิดและปรากฏตัวในประเทศไทยจะต้องได้รับการจด ทะเบียนการเกิด โดยจะต้องเป็นไปตามข้อ 2. คือ ครบขั้นตอน ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอนคือ การได้รับหนังสือรับรองการเกิด การแจ้งเกิด และการมีชื่อในทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติ และข้อ 3. ถูกต้อง คือ การจดทะเบียนการเกิดและการได้รับเอกสารระบุทราบตัวบุคคลจะต้องถูกต้องตรงตาม ข้อเท็จจริงของเด็กหรือบุคคลนั้นๆ

“นอกจากนี้ เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่ได้รับจากการจดทะเบียนการเกิด หรือแม้กระทั่งหนังสือรับรองการเกิด จะเป็นเอกสารที่ทำให้บุคคลตามเอกสารเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สถานะบุคคลได้ ง่ายขึ้น ลดความเสี่ยงต่อการตกอยู่สถานะคนไร้สัญชาติ โดยทุกภาคส่วนของสังคมจำต้องทำความเข้าใจว่า สิทธิในการจดทะเบียนการเกิด และ สถานะทางกฎหมายบุคคลเป็นคนละเรื่องกัน มนุษย์ทุกคนมีสิทธิได้รับการจดทะเบียนการเกิด” ดรุณี กล่าว
 

กิติวรญา รัตนมณี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า สิทธิในการได้รับการจดทะเบียนการเกิด กับ สถานะทางกฎหมายบุคคลเป็นคนละเรื่องกัน มนุษย์ทุกคนมีสิทธิได้รับการจดทะเบียนการเกิด แต่ใช่ว่ามนุษย์ทุกตนที่ได้รับการจดทะเบียนการเกิดในประเทศไทย จะมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทย เพราะในเรื่องสถานะทางกฎหมายว่าเป็นคนสัญชาติใดจะต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จ จริงของบุคคลนั้นประกอบ เช่น ข้อเท็จจริงเรื่องวันเวลาที่เกิด  บิดา มารดา และกฎหมายสัญชาติแห่งรัฐที่บังคับใช้ในช่วงเวลาที่เกิด สำหรับประเทศไทยได้จำแนกบุคคลโดยอาศัยสถานะทางกฎหมายของบุคคลเป็น 5 กลุ่ม คือ คนไร้รัฐหรือไร้เอกสารระบุทราบตัวบุคคล คนซึ่งมีข้อเท็จจริงเป็นคนสัญชาติไทยแต่ได้รับการบันทึกผิด คนต่างด้าวเกิดในประเทศไทย คนต่างด้าวเกิดนอกประเทศไทย และคนซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวสามสัญชาติ

ในช่วงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานและปัญหาที่พบนั้น ตัวแทนจากโรงพยาบาลจังหวัดระนอง ได้เล่าถึงการทำงานของโรงพยาบาล คือ โรงพยาบาลระนองจะมีบันทึกหน้าห้องคลอด หรือ “ทะเบียนคนคลอด” ที่บันทึกว่ามีใครมาคลอดบุตรที่โรงพยาบาล บันทึกนี้จะไม่มีการทำลายเว้นแต่สูญหายโดยเหตุสุดวิสัย เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ ย้ายตึก ปลวกกิน โดยของโรงพยาบาลระนองนั้นด้วยเหตุที่มีการย้ายตึกประมาณ ปี พ.ศ. 2542-2543 ทะเบียนคนคลอดบางส่วนจึงหายไป เหลือเพียงส่วนที่บันทึกปลายปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา

สำหรับแนวปฏิบัติของโรงพยาบาลระนองในการที่จะออก ท.ร.1/1และลงลายมือชื่อผู้ทำคลอดให้ก็ต่อเมื่อมารดาของเด็กได้มาตัดสายสะดือ ที่โรงพยาบาลระนอง  หากตัดสายสะดือมาแล้วแต่ให้โรงพยาบาลเป็นผู้ทำความสะอาดรก เช่นนี้ ก็ไม่อาจจะออก ท.ร.1/1 ให้ได้ในกรณีที่ทำ ท.ร.1/1 หาย หรือ อำเภอ เทศบาลมีหนังสือส่งมาขอให้ออก ท.ร.1/1 ให้ โรงพยาบาลก็ยินดีออก ท.ร.1/1 ให้ใหม่ภายใต้เงื่อนไขว่ามีพยานหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าเกิดที่โรงพยาบาลจริง

ปัญหาที่พบในเรื่องการออกหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร. 1/1) ของโรงพยาบาลระนองก็คือ มารดาเด็กซึ่งเป็นชาวพม่าไม่นำ ท.ร.1/1 ไปแจ้งเกิด หรือลืมรับ ท.ร.1/1 หรือจงใจไม่รับเนื่องจากไม่ทราบว่าต้องนำไปแจ้งเกิดเด็ก แต่เมื่อโรงพยาบาลชี้แจงให้ทราบว่าต้องรับไปเพื่อแจ้งเกิดเด็กที่เทศบาล หรือ อำเภอ ก็ยังไม่ยอมรับเช่นเดิม ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 100 ราย สันนิษฐานว่าเป็นเพราะมารดา บิดาชาวพม่าอาจจะยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญในการแจ้งเกิดเด็ก หรืออาจกลัวการที่ต้องติดต่อกับหน่วยงานราชการไทย เพราะเกรงว่าจะโดนจับ ส่วนใหญ่ของการขอ ทร. 1/1 ย้อนหลังนี้มักจะแจ้งชื่อบิดา มารดา ของเด็กไปตรงกับที่แจ้งไว้คราวที่คลอด กรณีนี้โรงพยาบาลแก้ปัญหาโดยให้ผู้ขอไปแจ้งความก่อน แล้วจึงมาดำเนินการขอท.ร.1/1

 
อย่างไรก็ตามตัวแทนจากโรงพยาบาลกระบุรีได้เล่าถึงวิธี การแก้ปัญหาในเรื่องการออก ท.ร. 1/1 บางส่วนเพื่อแลกเปลี่ยนกับโรงพยาบาลอื่น ๆ คือ โรงพยาบาลกระบุรีจะเย็บ ท.ร.1/1 ติดกับสมุดแม่และเด็กเพื่อให้มารดาเด็กนำกลับไป และในกรณีที่ชื่อบิดามารดาซึ่งแจ้งไว้ในสมุดสีชมพูแม่และเด็กไม่ตรงกับที่ แจ้งใน ท.ร.1/1 ทางโรงพยาบาลจะเขียนตามที่แจ้งไว้ในท.ร.1/1 โดยเขียนกำกับท้ายชื่อว่า “เขียนตามคำบอกเล่าของพ่อแม่” และสำหรับค่าบริการทางการแพทย์นั้นคิด 300 บาทต่อวัน แต่ถ้ามารดานำสูติบัตรเด็กมาแสดงแก่โรงพยาบาลภายใน 7 วัน ก็จะได้รับเงิน 300 บาทคืน โดยวิธีคืนเงินนี้ใช้ทั้งคนไทย และคนต่างชาติ แต่จะไม่ใช้กับมารดาเด็กที่ไม่มีบัตรอะไรเลย เป็นการกระตุ้นให้มารดานำทร.1/1 ไปจดทะเบียนการเกิด ซึ่งโรงพยาบาลระนองก็ใช้วิธีนี้เช่น กันแต่เปลี่ยนเป็นเก็บเงินไว้ก่อน 704 บาท เมื่อเด็กมีสูติบัตรแล้วก็จะมีสิทธิในหลักประกันสุขภาพ จึงไม่จำเป็นต้องจ่าย 704 บาท จึงได้รับเงินกลับคืนไป
 
ทางด้านเทศบาลเมืองระนองก็ได้นำเสนอปัญหาที่พบ คือ กรณีมาแจ้งเกิดแล้วชื่อบิดามารดาที่แจ้ง ไม่เหมือนกับใน ท.ร. 1/1 หากผิดเล็กน้อย ก็ไม่จำเป็นต้องแก้ไข แต่ถ้าแตกต่างในลักษณะที่อาจเป็นชื่อใหม่เลย เช่นนี้ ก็จะแจ้งกลับไปให้ทางโรงพยาบาลแก้ไข และถ้าบิดามารดามีเลขประจำตัว 13 หลัก แต่ถูกระงับเคลื่อนไหวทางทะเบียน เทศบาลก็จะรับจดทะเบียนการเกิดให้กับเด็ก โดยจะกำหนด เลขประจำตัว 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 0 คือ บุคคลซึ่งไม่สถานะทางทะเบียน

ตัวแทนจากอำเภอเมืองระนอง กล่าวว่าการทำงานของอำเภอนั้นอยู่บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน และความมั่นคงแห่งรัฐ ได้ยืนยันว่าหากมีท.ร.1/1 มาแสดง อำเภอก็รับฟังและจดทะเบียนการเกิดให้แน่นอน แต่ในกรณีที่นำมาเพียงสมุดแม่และเด็กนั้นไม่อาจยืนยันได้ว่าเด็กเกิดในโรง พยาบาล เพราะอาจจะเป็นแค่การฝากครรภ์เท่านั้น จึงจำเป็นต้องแสวงหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม เช่น พยานบุคคล 5-6 คนที่เห็นการเกิด ทั้งนี้ทางอำเภอเคยพบปัญหาการสวมตัว นำ ท.ร. 1/1 ของผู้อื่นมาแจ้งการเกิดของตนเอง

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะจากตัวแทนกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์จังหวัด ซึ่งเสนอให้มีการทำความเข้าใจกับบิดา มารดา เด็ก โดยเฉพาะคนที่เป็นชาวต่างชาติให้เข้าใจถึงการจดทะเบียนการเกิด โดยอาจจะต้องจัดทำคู่มือจดทะเบียนการเกิดเป็นภาษาต่างประเทศ

และ ชาติชาย อรเลิศวัฒนา นักกฎหมาย คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อผู้อพยพย้ายถิ่น จังหวัดระนองซึ่ง ได้ติดตามและทำงานในประเด็นการจดทะเบียนการเกิดในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ได้นำเสนอสถานการณ์ภาพรวมของการจดทะเบียนการเกิด  ซึ่งพบว่ามีเด็กทั้ง 6 กลุ่ม คือ หนึ่ง-เด็กเกิดในสถานพยาบาล สอง-เด็กเกิดนอกสถานพยาบาล สาม-เด็กถูกทอดทิ้งและเด็กเร่ร่อนหรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอด ทิ้ง สี่-เด็กที่เกิดในพื้นที่พักพิงชั่วคราว ห้า-เด็กไทยที่เกิดในต่างประเทศ และหก-กรณีการจดทะเบียนการเกิดภายหลังการมีชื่อในทะเบียนราษฎร ได้รับการจดทะเบียนการเกิด ทั้งนี้ในทางปฏิบัติในการดำเนินการดังกล่าวที่สำเร็จลุล่วงเกิดจากการประสาน งานอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีเพื่อให้การจดทะเบียนการเกิดในพื้นที่จังหวัดระนองสามารถเป็น พื้นที่ต้นแบบได้ก็ยังต้องอาศัยการประสานความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องต่อไป
 
ที่มา: http://www.statelesswatch.org/node/215
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท