Skip to main content
sharethis

“เครือข่ายคนทำงานบ้าน” จี้รัฐต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิ เตรียมยื่นข้อเรียกร้องต่อ รมว.กระทรวงแรงงาน ชี้อาชีพแม่บ้านสร้างเม็ดเงินเกือบ 3 หมื่นล้าน แต่คุณภาพชีวิตคนทำงานย่ำแย่ เสี่ยงถูกคุกคามทางเพศ รายได้ไม่เป็นธรรม ไร้สวัสดิการพื้นฐาน ส่วนประธานกรรมาธิการแรงงานเผยบางรายถึงขั้นห้ามติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก

 
 
เมื่อเวลา  09.00 น.วันที่ 22 สิงหาคม 2553 ณ สำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียน (สนค.) ราชเทวี กทม.โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล (คพรส.) ภายใต้การ สนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ เครือข่ายแรงงานหญิงคนทำงานบ้านสากล มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ ร่วมจัดสัมมนาทางวิชาการและการรณรงค์ชีวิตคนทำงานบ้าน สิทธิการคุ้มครองทางกฎหมายแรงงานของไทย  เพื่อเป็น เวทีในการรับรู้ เรียนรู้อย่างเข้าใจเพื่อพัฒนากลไกในด้านกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะการผลักดันให้กระทรวงแรงงานเร่งออกประกาศกฎกระทรวงการคุ้มครองคนทำงานบ้าน  ให้ภาคสังคมทุกส่วนได้ปรับเปลี่ยนทัศนคติ แนวคิด มุมมอง และเข้าใจชีวิตคนทำงานบ้านมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเร่งผลักดันให้รัฐบาลได้ออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานในภาคส่วนต่อไป
 
นายอดิศร เกิดมงคล ผู้จัดการโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล (คพรส.) กล่าวว่า แม้จะมีตัวเลขยืนยันแน่ชัดถึงจำนวนคนทำงานบ้านที่มีรวมกันถึง 4 แสนคนสร้างเม็ดเงินสะพัดถึง 27,000 ล้านบาท การที่ไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดแสดงให้เห็นว่าแรงงานทำงานบ้านถูกหลงลืมจากระบบการคุ้มครองแรงงานประเภทต่างๆ แม้มีการออกกฎกระทรวงฉบับที่ 1 ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
 
แต่มีข้อยกเว้นการคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านหลายประการจึงทำให้แรงงานกลุ่มนี้ไม่ได้รับการคุ้มครองในประเด็นสำคัญหลายประการ เช่น ไม่มีการกำหนดค่าแรงที่เป็นธรรม ไม่มีการกำหนดวันหยุดประจำสัปดาห์เหมือนงานอื่นๆ ไม่มีการกำหนดชั่วโมงการทำงาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเวลาสำหรับการพักผ่อน  ไม่มีการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับ ไม่มีการกำหนดอายุขั้นต่ำของแรงงานเด็กที่ห้ามทำงานประเภทนี้ การไม่มีการกำหนดมาตรการในการให้การคุ้มครองแรงงานทำงานบ้าน ส่งผลให้ลูกจ้างทำงานบ้านไม่ทราบถึงสิทธิที่ควรได้รับเช่นเดียวกับแรงงานในกลุ่มอื่นๆ
 
ด้านดร.สุเมธ ฤทธาคนี ประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่าที่ผ่านมามีการแบ่งประเภทของคนทำงานบ้านออกเป็น 3ประเภท คือประเภทที่หนึ่ง เป็นงานบริการคนทำงานบ้านที่คนไทยทำในประเทศปี 2550 มีประมาณ 225,000 คน เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 1,100 ล้านบาท ประเภทที่สองเป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานเป็นคนทำงานบ้าน ปี 2550 มีประมาณ 150,000 คน สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนประมาณ 9,000 ล้านบาทโดยแรงงานกลุ่มนี้จะมีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 3,000-5,000 บาท ต่อเดือน
 
ประเภทที่สาม คือแรงงานคนทำงานบ้านทีเป็นคนไทย แต่ไปเป็นคนทำงานบ้านที่ต่างประเทศ (อาชีพแม่บ้าน) มีประมาณ 25,000 คน ในปี 2550 สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศมากกว่า 7,000 ล้านบาท ซึ่งบางรายของลูกจ้างที่เป็นผู้หญิงก็ถูกคุกคามข่มขืนทางเพศ ไม่มีวันหยุด วันลา วันพักผ่อนที่ชัดเจน ขาดการคุ้มครองด้านสุขภาพ ความปลอดภัยจากการทำงาน ขาดอำนาจการต่อรอง และสิ่งสำคัญที่แรงงานคนทำงานบ้านประสบปัญหาอย่างหนักคือการถูกคุกคามกีดกัน ไม่ให้ติดต่อสื่อสารกับคนภายนอกหรือญาติ และไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม
 
ขณะที่นางสาวโมโม แรงงานทำงานบ้านชาวพม่า กล่าวว่า ได้เดินทางด้วยเท้ามาจากประเทศพม่าเข้าสู่จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งใช้เวลาจากประเทศพม่ากว่า 10 วันร่วมกับเพื่อนชาวพม่า 30 คน ซึ่งงานที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย คือ คนทำงานบ้าน โดยจะต้องทำทุกอย่าง ซึ่งงานหนึ่งที่ต้องทำเพิ่มจากการทำงานบ้าน คือ การดูแลสุนัขตัวโต ซึ่งตนไม่ชอบสุนัขอยู่แล้ว เนื่องจากกลัวสุนัขกัดแต่ก็จำเป็นจะต้องทำ การทำงานในแต่ละวันจะต้องตื่นนอนตั้งแต่ตี 5 และเข้านอนหลังจากที่นายจ้างนอนกันหมดแล้ว ที่ผ่านมาแม้จะมีวันหยุดแต่ก็ต้องทำงานทุกวันโดยไม่หยุดพัก
 
นางสาวโมโมเล่าต่อว่า ยังมีเพื่อนที่เป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานบ้านบางคนเล่าว่า ไปทำงานในบ้านที่มีเจ้านายเป็นผู้ชายและถูกลวนลามตลอดเวลาซึ่งเพื่อนของตนในขณะนั้นอายุได้เพียงแค่ 15 ปีเท่านั้นเอง และที่พักก็ไม่ปลอดภัยไม่มีห้องพักที่มิดชิดให้พักผ่อน ต้องนอนใต้บันไดบ้านและต้องคอยระวังตัวอยู่ตลอดเวลาในขณะที่ทำงานในบ้านหลังนั้น ซึ่งตนอยากให้มีกฎหมายมาคุ้มครองคนทำงานบ้าน คิดว่าแม่บ้านจำนวนมาก็อยากให้มี และอยากให้มีวันหยุดอาทิตย์ละ 1วัน และเรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่คนทำงานบ้านจะต้องได้ด้วย
 
อย่างไรก็ตามภายในงานสัมมนายังมีการแสดงละครเรื่อง “เปิดชีวิตคนทำงานบ้าน” โดยเครือข่ายแรงงานหญิงทำงานบ้านสากล และภายในงานคณะกรรมการจัดงานได้ร่วมกับผู้แทนแรงงานคนทำงานบ้านประกาศเจตนารมณ์ รัฐต้องปกป้องและคุ้มครองคนทำงานบ้าน และภายหลังจากการจัดสัมมนาในครั้งนี้ได้มีการกำหนดวันที่จะเข้ายื่นหนังสือข้อเรียกร้องของคนทำงานบ้านต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในวันที่ 27 สิงหาคม 2553 ที่จะถึงนี้ด้วย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net