Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านอุดรฯ นักพัฒนาเอกชน และนักวิชาการ ฯลฯ ตั้งข้อสังเกตคณะกรรมการ 4 ฝ่ายแก้ปัญหาโครงการส่งผลกระทบสวล. รุนแรง ระบุ โครงการรุนแรงบางประเภท เช่น การสูบน้ำเกลือใต้ดิน และโครงการผันน้ำนั้น ส่งผลกระทบมหาศาล แต่กลับไม่ถูกพิจารณาให้เป็นประเภทโครงการรุนแรง

ผลการประชุมคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เพื่อแก้ปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรค 2 รัฐธรรมนูญ 2550 ที่ดำเนินการร่วมกันพิจารณาร่างโครงการหรือกิจการที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2553 มีมติให้ตัดประเภทของโครงการรุนแรงที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายเสนอมา จาก 18 ประเภทโครงการรุนแรง เหลือเพียง 11 โครงการ

ผลการประชุมดังกล่าว ถูกตั้งข้อสังเกตจากภาคประชาชน นักพัฒนาเอกชน และนักวิชาการ ฯลฯ ว่า โครงการที่ส่งผลกระทบรุนแรงบางประเภท เช่น การสูบน้ำเกลือใต้ดิน โครงการด้านการชลประทาน และโครงการผันน้ำนั้นเป็นโครงการขนาดใหญ่และส่งผลกระทบมหาศาลต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม กลับไม่ถูกพิจารณาให้เป็นประเภทโครงการรุนแรง อีกทั้งยังมีการตั้งคำถามถึงหลักเกณฑ์การพิจารณาประเภทโครงการรุนแรงว่าเป็นธรรมกับชาวบ้านในพื้นที่โครงการรุนแรงหรือไม่

“อันที่จริงน่าจะมีหลายโครงการ เข้าข่ายประเภทโครงการที่ส่งผลกระทบกับชุมชนอย่างรุนแรง เช่น กรณีเหมืองใต้ดินที่มีเสาค้ำยัน และเกณฑ์การพิจารณาโครงการเหมืองแร่ที่ไม่มีเสาค้ำยันเป็นโครงการรุนแรงนั้นในปัจจุบันเหมืองแร่แบบนี้ไม่มีประเทศไหนในโลกเขาทำกันแล้ว และการมองความรุนแรงของโครงการที่การยุบตัวของแผ่นดินใต้ดินเป็นเกณฑ์พิจารณาเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองถึงผลกระทบบนดินด้วยว่ากระบวนการแต่งแร่นั้นมีผลกระทบอย่างไร จะจัดการกับหางแร่ กากแร่อย่างไร โดยเฉพาะแร่โปแตซที่ขุดขึ้นมาแล้วเป็นการนำเกลือขึ้นมาบนดินด้วย”

นายสันติภาพ สิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีให้ความเห็นพร้อมระบุว่า “อยากจะแสดงความเสียใจต่อพี่น้องชาวอีสานทุกคน ที่พยายามเสนอเรื่องการพิจารณาผลกระทบของโครงการที่เกิดขึ้นกับชุมชนอย่างรุนแรงมาตลอด แต่กลับไม่ได้รับการใส่ใจ ถือได้ว่ามติในครั้งนี้เป้นมติที่มีความอัปยศเป็นอย่างมาก เพราะโครงการสูบน้ำเกลือ โครงการผันน้ำ ไม่ถูกพิจารณาว่าเป็นโครงการส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง จึงถือได้ว่าเป็นมติที่ซ้ำเติมชาวอีสานเป็นอย่างมาก”

นางมณี บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ว่า ไม่ยอมรับมติที่ประชุมของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเป็นอันขาด และมีความคลางแคลงใจต่อการดำเนินการของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมว่าเป็นธรรมกับชาวบ้านในพื้นที่หรือไม่ ทั้งระบุว่าในฐานะที่เป็นชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ผลักดันโครงการเหมืองโปแตซจังหวัดอุดรฯ ซึ่งเป็นโครงการที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชนเป็นอย่างมาก หากการดำเนินการยังเป็นแบบนี้อีกคงจะต้องออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านมติที่ประชุมของกรรมการสิ่งแวดล้อมต่อไป

นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ(ศสส.) อีสาน กล่าวว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมอาศัยเกณฑ์ทางวิศวกรรมมาประกอบการพิจารณา แต่ไม่เคยลงไปเห็นพื้นที่จริง ไม่รู้จักกับระบบนิเวศวัฒนธรรม และไม่เคยเข้าใจในความเป็นชุมชน และในความเป็นจริงนั้น ชุมชนน่าจะเป็นผู้ตัดสินว่าโครงการประเภทไหนส่งผลกระทบรุนแรงหรือไม่รุนแรงกับชุมชน

สุวิทย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในนามขององค์กรภาคประชาชนตนจึงขอคัดค้านมติในที่ประชุมของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และทำการตั้งข้อสังเกตว่ามติที่ประชุมของคณะกรรมการผิดหลักกฎหมายหรือไม่ ถ้าหากผิดหลักกฎหมายคงต้องมีการดำเนินการทางด้านกฎหมายต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net