Skip to main content
sharethis

 
นางโซมาฮิเดาะห์ ภรรยานายมะยาเต็ง และลูกน้อย

เรื่องราวของคนสูญหายในชายแดนใต้ ไม่ใช่เรื่องเก่า แต่ยังคงมีคนสูญหายเกิดขึ้นอยู่อีก รายล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2553 คือ การหายตัวไปของนายดอรอแม เจะและ อายุ 46 ปี ชาวบ้านบ้านลาดอ ตำบลบาราเฮาะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี 
 
แต่กรณีการหายตัวไปของนายมะยาเต็ง มะรานอ นักการภารโรงโรงเรียนบ้านบางลาง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เพียงกรณีเดียวในชายแดนใต้ที่เป็นคดีขึ้นสู่ศาล จนกระทั่งศาลจังหวัดยะลามีคำสั่งว่า เป็นบุคคลสาบสูญ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มารตรา 61 ด้วย
 
แต่นั่นก็เป็นเพียงคำสั่งที่ไม่ได้สั่งเอาผิดใคร ในขณะที่การยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งดังกล่าว สามารถดำเนินการได้หลังการหายตัวไปแล้ว 2 ปี
 
ในช่วงเวลานั้นความทนทุกข์ต่างๆ จึงตกอยู่กับคนที่อยู่ข้างหลัง เพราะนอกจากไม่อาจดำเนินการทางนิติกรรมใดๆ ได้แล้ว ยังต้องแบกรับภาระและความลำบากที่เกิดขึ้นตามมา
 
ครั้งสุดท้ายที่คนในครอบครัวได้อยู่ด้วยกันกับนายมะยาเต็ง คือ ตอนเที่ยงของวันที่ 24 มิถุนายน 2550 โดยถูกเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนหนึ่งนำตัวไป จากบ้านไม่มีเลขที่ หมู่ที่ 3 ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา พร้อมกับรถกระบะ 1 คัน อาวุธปืน 1 กระบอก และโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง ในขณะที่ทุกคนอยู่กันพร้อมหน้าในบ้าน
 
จากวันนั้นถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีใครได้เห็นนายมะยาเต็งอีกเลย ในขณะที่หน่วยทหารในพื้นที่ก็ยืนยันว่าได้ปล่อยตัวนายมะยาเต็งไปแล้ว จนกระทั่งศาลมีคำสั่งให้เป็นบุคคลสาบสูญ เรื่องราวทั้งหมดจึงถูกเบนไปที่การกระทำของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจนได้
 
“หลังจากศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2552 ดิฉันก็เอาคำสั่งศาลนี้ไปให้นายกฤษฎา บุญราช ตอนนั้นยังเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ท่านก็บอกว่าน่าจะเข้าหลักเกณฑ์ผู้ได้รับผลกระทบที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐกรณีเสียชีวิต จะได้เงินช่วยเหลือ 500,000 บาท” นางโซมาฮิเดาะห์ ภรรยานายมะยาเต็ง กล่าว
 
เธอหวังว่า จะเอาเงินจำนวนนี้ไปชำระหนี้ที่สามีทิ้งไว้รวมกว่า 780,000 บาท กับลูกชายอีก 2 คน  
 
แต่ความพยายามของเธอก็สูญเปล่า เพราะเธอและลูกๆ ไม่มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือเยียวยาตากหลักเกณฑ์ของรัฐ แม้จะพยายามเรียกร้องสิทธิในส่วนนี้ในฐานะที่สามีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม
 
เพราะหลังจากนั้นนายกฤษฎา ได้ส่งเรื่องไปให้นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์และอำนวยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้พิจารณากรณีการหายตัวไปของนายมะยาเต็ง ว่าเป็นผลกระทบจากความไม่สงบหรือไม่
 
สุดท้ายคณะอนุกรรมการชุดนี้ได้แจ้งผลการพิจารณามายังเธอว่า ไม่เข้าหลักเกณฑ์ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ อีกทั้งไม่มีการรับรองจากเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย คือ ตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครอง การช่อวยเหลือเยียวยาใดๆ ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว จึงไม่อาจเกิดขึ้นได้
 
เมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการ ความพยายามของเธอ เพื่อวิ่งเต้นให้ได้สิทธิในเรื่องนี้ ก็ค่อยๆ หดหายลงไปด้วย ล่าสุดมีข่าวว่าโครงการจ้างงานเร่งด่วน เดือนละ 4,500 บาท ที่เธอได้รับอยู่ด้วยว่า จะมีการยกเลิกโครงการ ก็ยิ่งทำให้เธอท้อใจ
 
ยังดีที่พอจะมีน้ำใจจากเพื่อนบ้าน ญาติมิตร และเพื่อนผู้ที่สามีสูญหายไปเหมือนเธอหยิบยื่นให้บ้างเท่านั้น รวมกับน้ำใจจากนายทหารบางคน อย่างพล.ท.กสิกร คีรีศรี ผู้บัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร หรือ พตท.
 
พล.ท.กสิกร ได้ที่มอบเงินช่วยเหลือหลังจากศาลมีคำสั่งให้สามีเธอเป็นคนสาบหายไปไม่กี่วัน เป็นเงิน 50,000 บาท จากนั้นนายอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา มอบเงินช่วยเหลือให้อีก 50,000 บาท เป็นทุนการศึกษาให้ลูก แต่เงินส่วนนี้ถูกเจียดไปสวนหนึ่ง จำนวน 27,000 บาท เพื่อนำไปซื้อที่ดินครึ่งไร่ ซึ่งเธอบอกว่า จะเอาไปปลูกยางพาราไว้ให้ลูก
 
เธอบอกว่า เธอเคยขอเงินจาก พล.ท.กสิกร 30,000 บาท จะสร้างห้องน้ำ ท่านก็ให้ ท่านยังให้เงินมาอีก 10,000 บาท ให้ซื้อจักรยานให้ลูกทั้ง 2 คน ไว้ปั่นไปโรงเรียน แต่เราก็เจียดส่วนหนึ่งเอาไว้กิน นอกจากนี้ยังมีพวกเอ็นจีโอมาให้เงินช่วยเหลือด้วย 10,000 บาท แล้วก็แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 สงขลา ที่มาเยี่ยมและให้เงินบ่อย ครั้ง 3,000 บาทบ้าง
 
“เวลาเดือดร้อนหรือลำบากจริงๆก็จะโทรศัพท์ไปขอจากคนนั้นคนนี้เอาดื้อๆ เพราะเราคิดอะไรไม่ออกแล้ว มันกังวนไปหมด กลัวคนจะมายึดบ้านยึดทรัพย์สิน”
 
ทุกครั้งที่เธอจะไปหาใครเพื่อขอความช่วยเหลือโดยเฉพาะพวกผู้ใหญ่ๆ ก็มักจะไปเอง เพราะไม่กล้าขอช่วยคนอื่น ซึ่งบางครั้งเธอก็ไม่รู้เรื่องว่า การพบผู้ใหญ่ต้องทำอะไรบ้าง แต่เธอไม่สนใจอย่างอื่นแล้ว ไปให้เจอตัวก่อนแล้วค่อยว่ากัน
 
เรื่องโครงการจ้างงานเร่งด่วน 4,500 บาท ที่มีข่าวว่าจะมีการยกเลิกในเดือนกันยายน 2553 นี้นั้น ทำให้เธอถึงกับต้องไปขอให้พล.ท.กสิกร ช่วยดำเนินต่อให้เธออีก แต่ก็พล.ท.กสิกรทำได้เพียงสั่งการลูกน้องไว้ เนื่องจากมีข่าวอาจจะย้ายไปอยู่กรุงเทพมหานคร
 
“ท่านยังบอกให้หาที่ดินซัก 3 ไร่ เพื่อปลูกยางพารา ซึ่งท่านจะซื้อและปลูกยางพาราให้ด้วย แต่ตอนนี้ก็ยังหาที่ดินไม่ได้เลย”
 
วันนี้ หลังจากมามีเธอหายตัวไป เธอไม่ได้กลับไปอาศัยที่บ้านเดิมอีกเลย อาจจะมีบ้างที่ไปเยี่ยมเป็นครั้งคราว แต่ก็ไม่ได้นอนพักที่บ้านในสวนโดดเดี่ยวหลังนั้น ยกเว้นเพียงคืนเดียวที่ยกโขยงกันไปนอนทั้งญาติสนิทมิตรสหาย
 
ปัจจุบัน เธอมาอยู่อาศัยกับพ่อที่บ้านกาลอ ตำบลกาลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นบ้านเดิม โดยปลูกบ้านหลังใหม่ขึ้นมา ใกล้กับบ้านพ่อใช้พักอาศัยอยู่กับลูกชาย 2 คน
 
แต่บ้านหลังใหม่ก็ร้อนเหลือเกิน เธอจึงไม่ค่อยอยู่ติดบ้าน ชอบไปโน่นมานี้ เรื่อยเปื่อย
 
“บางครั้งเครียดมาก ไม่รู้จะทำอย่างไร คิดถึงเขา ก็คิดถึงอยู่ตลอด บางครั้งถึงกับต้องวิ่งไปมา ไปที่นั่นที ไปที่นี่ที อยากอยู่ตามในป่า ทุ่งนา ไม่อยากไปบ้านคนอื่นเลย”
 
เธอเล่าต่อว่า ตอนนี้สภาพจิตใจไม่ 100% เครียดมาก นอนไม่หลับ ต้องกินยาแก้เครียดตลอด ต้องไปหาหมอจิตเวชที่โรงพยาบาลรามันทุกเดือน ซึ่งหมอกำชับว่า ต้องกินยาตลอด เพื่อให้คลายความเครียดลง
 
ขณะที่พวกครูที่โรงเรียนก็ชอบโทรศัพท์มากดดัน ให้ขายบ้าน ขายที่ดิน เพื่อเอาไปจ่ายหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ในฐานะที่เป็นคู่สมรสของสามีซึ่งเป็นลูกหนี้
 
 “เขาโทรศัพท์มาทุกทีก็เครียดทุกที แล้วก็โทรศัพท์มาบ่อยมาก ที่เขามากดดันเรา ตอนนี้หนี้ยังอยู่ครบ ไม่ได้จ่ายเลยซักบาท”
 
จากนั้นเธอได้แจกแจงรายการหนี้ที่สามีเธอทิ้งไว้รวมทั้งหมดประมาณ 780,000 บาท โดยเป็นหนี้สหกรณ์ครู 500,000 บาท หนี้ธนาคารออมสิน 100,000 บาท หนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส.อีก 20,000 บาท บวกกับดอกเบี้ยอีก 10,000 กว่าบาท ที่เหลือเป็นหนี้นอกระบบที่ก็ของชาวบ้านมา
 
ในขณะที่เธอเล่าว่า เธอมีรายได้จากการรับจ้างกรีดยางพาราแค่วันละ 100 กว่าบาท ซึ่งแน่นอนไม่พอกินแน่ ซึ่งเงินจำนวนนี้ ต้องแบ่งให้ลูกคนโตไปโรงเรียนวันละ 50 บาท ส่วนคนเล็กแม้เพิ่งเรียนอยู่ชั้นอนุบาล แต่ก็ต้องให้เงินค่าขนมอีกวันละ 20 – 30 บาท
 
ส่วนตัวเองบางวันถ้ามีกินก็กิน ถ้าไม่มีก็อด บางครั้งพ่อหรือพี่สาวให้กับข้าวมาบ้าง ซึ่งความอยู่รอดส่วนใหญ่ในแต่ละวัน ขึ้นอยู่กับการช่วยเหลือของเพื่อนบ้านหรือญาติๆ
 
“เรื่องงานก็คิดอยู่เหมือนกันว่าจะทำงานอะไร ไม่ใช่ไม่คิด เคยคิดที่จะเปิดร้านขายของ แต่เท่าที่สังเกตก็มีร้านค้าอยู่เยอะแล้ว ที่คิดเรื่องขายของ เพราะตอนสามีอยู่ ได้เปิดร้านขายอาหารกับขนมในโรงเรียน จึงคิดว่าพอจะมีความสามารถขายของอยู่บ้าง แต่ตอนนี้ยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ยังเครียดอยู่ แล้วก็ต้องใช้เงินทุนด้วย”
 
ผลกระทบนี้ไม่ได้มีแค่เธอเท่านั้น ลูกอีก 2 คนก็ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ ด้วยเช่นกัน เพราะไม่เพียงขาดความอบอุ่นอันเนื่องมาจากพ่อหายตัวไปเท่านั้น
 
แต่ภาพที่พ่อถูกทหารควบคุมตัวไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ยังคงอยู่ในสายตาของลูกทั้ง 2 คนนี้ด้วย เพราะอยู่ในเหตุการณ์ด้วยเช่นกัน
 
ลูกชายทั้ง 2 คนของเธอ คนโตชื่อรุสลัน อายุ 15 ปี เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนศรีฟารีดาบารู ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามควบคู่กับการสอนวิชาสามัญ ส่วนคนเล็กชื่ออิมรอนอายุ 5 ขวบเรียนอยู่ชั้นอนุบาล
 
“ตั้งแต่สามีหายตัวไป ลูกชายทั้ง 2 คน ไม่สบายบ่อย ส่วนคนโตถึงกับมีอาการซึมเศร้า ไม่มีชีวิตชีวาเลย จนบางครั้งก็ไม่ได้ไปโรงเรียนหลายวัน ดิฉันเคยถามลูกชายคนโตว่า เป็นอะไรถึงป่วย เขาก็บอกว่า คิดถึงพ่อ”
 
เธอเล่าต่อว่า มีครั้งหนึ่งก่อนถึงวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันพ่อแห่งชาติ ดิฉันเห็นลูกชายคนเล็กวิ่งหนีกลับบ้าน แล้วก็มาร้องไห้ต่อหน้าเรา ถามว่าทำไมถึงร้อง เขาก็เล่าว่าครูที่โรงเรียนถามนักเรียนว่า ใครไม่มีพ่อให้ยกมือขึ้น แต่ลูกไม่ยอมยกมือ แต่วิ่งหนีกลับบ้าน
 
“ครูก็ไม่น่าถามอย่างนั้นเลย แต่เขาก็คงไม่รู้หรอก คนที่ไม่มีพ่อเขาจะรู้สึกอย่างไร ถ้าถูกถามอย่างนั้น”
 
เธอย้ำว่า “เขาไม่เข้าใจครอบครัวคนหายเลย”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net