สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 23-29 ส.ค. 2553

แจ้งจับอดีต หน.คนงานการ์ต้าต้มแรงงงานไปบาร์เรนห์

นายอภิชาต นาตรีชน อายุ 40 ปี อยู่ อ.เมือง อุดรธานี นายพรชัย จันทร์งาม อายุ 39 ปี อยู่ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี เข้าแจ้งความต่อ พ.ต.ท.เทอดศักดิ์ บุญโชติ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุดรธานี ดำเนินคดีกับนายอาณัติ สุกใส อายุ 44 ปี และนายนริศธา คลองคุ้ย อายุ 41 ปี กล่าวหาว่าหลอกลวงจะจัดส่งไปทำงานที่ประเทศบาร์เรนห์ สูญเงินไปคนละ 25,000 บาท โดยมีผู้เสียหายอีกกว่า 10 คน จะไปแจ้งความที่ สภ.เมืองหนองบัวลำภู

นายอภิชาต และนายพรชัย เปิดเผยว่า นายพรชัยฯ เคยไปทำงานที่ประเทศการ์ต้ามาก่อน ได้รับการติดต่อจากนายนริศธาฯ คนงานที่เคยทำงานด้วยกันที่การ์ต้าว่านายอาณัติฯ หัวหน้างานที่การ์ต้า ได้รับโควตาตำแหน่งงานจากบริษัทจัดหางานได้รับอนุญาต(เซปโก้) จัดส่งคนงานไปประเทศบาร์เรนห์จำนวนมาก โดยคิดค่าหัวเพียงแค่คนละ 35,000 บาท จ่ายเพียง 25,000 บาท ก็สามารถเดินทางไปได้แล้ว ที่เหลือไปหักกับค่าแรงที่ประเทศบาร์เรนห์ ซึ่งจะได้เงินเดือน 20,000 บาทไม่รวมค่าล่วงเวลา

“คนงานชวนกันเดินทางไปพบนายอาณัติฯ ที่สำนักงานเลขที่ 63/15 ม.4 ต.บึงคำพร้อย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี หลังจากพูดคุยและดูหลักฐาน ประกอบกับเคยเป็นหัวหน้าคนงานที่ประเทศการ์ต้า คนงานต่างให้ความเชื่อตกลงเดินทางไป ด้วยการจัดเตรียมเอกสารทั้งหมด กลับมาถึงบ้านก็โอนเงินไปให้ เวลาล่วงเลยไปนานกว่า 5 เดือนแล้วก็ใม่ได้เดินทาง ทำให้มีคนงานบางคนไปร้องเรียนที่กรมการจัดหางาน เขาก็ให้กลับมาแจ้งความท้องที่เกิดเหตุ และมาแจ้งความที่ อ.เมือง อุดรธานี เพราะโอนเงินจาก จ.อุดรธานี “ผู้เสียหาย กล่าว

พ.ต.ท.เทอดศักดิ์ เปิดเผยว่า นายอาณัติ ได้ไปชักชวนอดีตลูกน้อง ที่เคยเดินทางไปทำงานด้วยกันที่การ์ต้า ให้ไปหาคนงานมาสมัครเดินทางไป ทำให้คนงานกลายเป็นสายเถื่อน และร่วมมือในการหลอกลวง ต้องถูกดำเนินคดีไปด้วย โดยสายเถื่อนกระจายอยู่หลายพื้นที่ อาทิ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี , อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู เฉพาะที่ จ.หนองบัวลำภู มีแรงงานถูกหลอกมากกว่า 80 คน ส่วนที่ อ.เมือง อุดรธานี จะทยอยมาแจ้งความเพิ่มอีก รวมไปถึง จ.ปทุมธานี ก็น่าจะมีคนงานไปแจ้งความ จนถึงขณะนี้ยังประมาณความเสียหายไม่ได้

(เนชั่นแชนแนล, 23-8-2553)

กต.ช่วยแรงงานไทยในอิตาลีที่ประสบอุบัติเหตุได้เงินชดเชย 23 ล้านบาท

ก.ต่างประเทศ 22 ส.ค. - นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในพิธีมอบดราฟต์ จำนวน 3 ฉบับ ให้กับญาตินางดี บุญมีป้อม ที่ประสบอุบัติเหตุในประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นการชดเชยจากกรณีนางดีประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนเป็นอัมพาต เมื่อปี 2548 โดยในช่วงที่ผ่านมา กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ได้ดำเนินการร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม ติดตามเรียกร้องเงินสิทธิประโยชน์ให้กับนางดี ที่เดินทางไปทำงานเป็นแม่บ้านที่ประเทศอิตาลีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในพิธีมอบดราฟต์ครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากศาลแพ่งจังหวัด Reggio Emilia ได้ตัดสินให้บริษัทประกันจ่ายเงินชดเชยให้นางดี เป็นเงินประมาณ 23,696,700 บาท

 (สำนักข่าวไทย, 23-8-2553)

กต.ช่วยแรงงานไทยในอิตาลีที่ประสบอุบัติเหตุได้เงินชดเชย 23 ล้านบาท

ก.ต่างประเทศ 22 ส.ค. - นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในพิธีมอบดราฟต์ จำนวน 3 ฉบับ ให้กับญาตินางดี บุญมีป้อม ที่ประสบอุบัติเหตุในประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นการชดเชยจากกรณีนางดีประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนเป็นอัมพาต เมื่อปี 2548 โดยในช่วงที่ผ่านมา กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ได้ดำเนินการร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม ติดตามเรียกร้องเงินสิทธิประโยชน์ให้กับนางดี ที่เดินทางไปทำงานเป็นแม่บ้านที่ประเทศอิตาลีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในพิธีมอบดราฟต์ครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากศาลแพ่งจังหวัด Reggio Emilia ได้ตัดสินให้บริษัทประกันจ่ายเงินชดเชยให้นางดี เป็นเงินประมาณ 23,696,700 บาท

 (สำนักข่าวไทย, 23-8-2553)

จัดหางานเชียงใหม่ระบุมีแรงงานต่างด้าวครึ่งแสน

เชียงใหม่/ นางพรรณวดี พลอยทับทิม จัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านระยะทางหลายกิโลเมตร ทำให้ยากต่อการควบคุมเรื่องการหลบหนีเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าว ประกอบกับนายจ้างในพื้นที่ยังคงมีความต้องการแรงงานในระดับล่างอยู่ ทำให้ยังคงมีแรงงานต่างด้าวทั้งที่หลบหนีเข้าเมืองและที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งทางสำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ได้มีวิธีการแก้ไขหลายวิธี ทั้งการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ การพิสูจน์สัญชาติ และการนำเข้าแรงงานต่างด้าวให้เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ได้ร่วมมือกันป้องกัน แก้ไขและปราบปรามอย่างต่อเนื่อง สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ มีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตทำงานจำนวน 52,557 ราย ส่วนใหญ่มีสัญชาติพม่า รองลงมาคือสัญชาติลาว และสัญชาติกัมพูชา ตามลำดับ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่บัตรหมดอายุ 20 ม.ค.54 และกลุ่มที่บัตรหมดอายุ 28 ก.พ.54

 (บ้านเมือง, 24-8-2553)

เกาหลีให้โควตาคนงานก่อสร้างปีนี้ 4000 คน รับสมัครสอบถึง 27 ส.ค.นี้

ก.แรงงาน 24 ส.ค. - นายสุภัท กุขุน รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงความคืบหน้าในการรับสมัครแรงงานไทยเพื่อเดินทางไปทำงานที่ประเทศเกาหลีว่า หลังจากกรมการจัดหางานได้เริ่มเปิดให้มีการรับสมัครสอบความสามารถทางภาษาเกาหลี (EPS-TOPIK) ไปตั้งแต่เมื่อวานนี้ (23 ส.ค.) ล่าสุดมีผู้สนใจเดินทางมาสมัครเพื่อสอบคัดเลือกเฉพาะที่สำนักบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กระทรวงแรงงานแล้วกว่า 100 คน ส่วนอีก 2 แห่งที่เปิดรับสมัครคือ ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดลำปาง และสำนักงานจัดหางานจังหวัดขอนแก่นนั้น อยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูล โดยกรมการจัดหางานจะเปิดรับสมัครไปจนถึงวันที่ 27 สิงหาคมนี้ และเปิดสอบในวันที่ 10 ตุลาคม ในสถานที่รับสมัครทั้ง 3 แห่ง

ทั้งนี้ ผู้ที่ผ่านการทดสอบจะสามารถไปทำงานก่อสร้างที่ประเทศเกาหลีเป็นเวลา 1 ปี และต่อสัญญาได้อีก 3 ปี ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยเดือนละ 30,000 บาท จึงถือเป็นโอกาสที่ดีของแรงงานไทยอายุระหว่าง 18-39 ปี ที่สนใจไปทำงานต่างประเทศ เพราะปีนี้เกาหลีให้โควตาแรงงานไทยมากถึง 4,000 คน อีกทั้งยังเป็นการจัดส่งแบบรัฐต่อรัฐ เสียค่าใช้จ่ายน้อยไม่ถึง 50,000 บาท

อย่างไรก็ตาม อยากฝากผู้สนใจที่จะไปทำงานให้เตรียมความพร้อมด้านภาษาก่อนจะมีการสอบ โดยสามารถเรียนภาษาเกาหลีเบื้องต้นได้กับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งมีการเปิดสอนคอร์สเร่งด่วนเพื่อเพิ่มโอกาสในการสอบคัดเลือกให้มากขึ้น เนื่องจากปีที่ผ่านมามีผู้สมัครมากถึง 7,000 คน แต่ผ่านการคัดเลือกแค่ 2,000 คนเท่านั้น.

(สำนักข่าวไทย, 24-8-2553)

"สหรัฐ" ลงพื้นที่สมุทรสาครตรวจสอบการใช้แรงงานเถื่อน

นายบุญฤทธิ์ แสนพาน สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า คณะเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานของสหรัฐอเมริกา ได้เดินทางลงพื้นที่ในจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อตรวจสอบปัญหาการใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจส่งออกกุ้ง ซึ่งยังเป็นข้อกังวลของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในเรื่องการใช้แรงงานเด็ก ทั้งนี้ คณะเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ มีกำหนดการลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ในระหว่างวันที่ 23-27 สิงหาคม 2553

สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ โดยเฉพาะสมาคมแช่เยือกแข็งไทย ที่นำคณะเข้าตรวจเยี่ยมโรงงานต่างๆ โดยให้เห็นกระบวนการผลิตในสถานที่จริง ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำแบบครบวงจร เช่น ฟาร์มเลี้ยงกุ้ง และขั้นตอนการแปรรูปอาหารทะเล ก่อนที่จะส่งออกไปยังต่างตลาดประเทศ ซึ่งจากการลงพื้นที่ยังไม่พบอะไรที่ส่อไปในทางการใช้การใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานผิดกฎหมายแต่อย่างใด

นายบุญฤทธิ์ กล่าวยอมรับว่า ปัญหาการลักลอบการใช้แรงงานผิดกฎหมายในพื้นที่ยังมีอยู่ แต่ก็ไม่มากและไม่รุนแรงอย่างที่เป็นข่าว เนื่องจากการทำงานเชิงรุกของเจ้าหน้าที่และการร่วมมือกับผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งคอยตรวจสอบและควบคุมกันเอง ทั้งนี้ ยืนยันว่า ไม่มีการใช้แรงงานเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี อย่างแน่นอน ส่วนที่พบว่า มีการใช้แรงงานเด็กคงเป็นการให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน อาจเป็นแค่ลูกที่ช่วยพ่อแม่ทำงาน ไม่ใช่เป็นการบีบบังคับหรือทารุณเด็ก และก็ไม่ใช่เป็นงานเสี่ยงอันตรายอย่างที่เข้าใจ ซึ่งเอ็นจีโอในพื้นที่ได้เข้ามาช่วยสอนหนังสือให้เด็กเหล่านี้ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานวิจัย "การใช้แรงงานเด็กภาคประมง ต่อเนื่องประมง เกษตรกรรมและคนรับใช้ในบ้าน จังหวัดสมุทรสาคร”ของมูลนิธิกระจกเงา อ้างถึงข้อมูลจากสำนักงาน สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร พบว่า ในจังหวัดสมุทรสาครมีแรงงานเด็กไทย อายุระหว่าง 15-18 ปีที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายประมาณ 4,715 คน และข้อมูลจากเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน(LPN) ซึ่งเป็นองค์กรเอ็นจีโอที่ทำงานในจังหวัดสมุทรสาคร พบว่า ในพื้นที่มีแรงงานเด็กไทยและต่างด้าวรวมกันไม่ต่ำกว่า 20,000 คน

นอกจากนี้ ยังพบว่า มีผู้ประกอบการบางรายปกปิด และหลบเลี่ยงการตรวจตราการใช้แรงงานเด็ก และแรงงานต่างด้าว ที่ไม่มีใบอนุญาต และเมื่อตรวจสอบแรงงานเด็กต่างชาติก็มักตรวจสอบอายุไม่ได้ เพราะไม่มีเอกสารประจำตัว

(แนวหน้า, 24-8-2553)

ม.นอกระบบจี้สำนักงบฯจ่ายเงินเกษียณพนักงาน

เมื่อวันที่   24  ส.ค.2553  รศ.กิตติ ตรีเศรษฐ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่าขณะนี้ในส่วนของม.ในกำกับของรัฐใหม่ที่เพิ่งออกนอกระบบบ ได้แก่ สจล., ม.เชียงใหม่ ,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.มหิดล ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, ม.ทักษิณ และม.บูรพา กำลังมีปัญหาในเรื่องของเงินเกษียณของพนักงานมหาวิทยาลัย เนื่องจากยังไม่ได้งบประมาณจากสำนักงบประมาณ ซึ่งก่อนหน้านี้ในแต่ละพระราชบัญญัติม.นอกระบบของแต่ละแห่ง ว่าจะต้องจัดสรรเงินเกษีณยอายุแก่พนักงานมหาวิทยาลัย เช่น ในส่วนของ สจล.ได้มีการจัดทำข้อบังคับฉบับใหม่ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับพรบ.ที่บังคับใช้แก่สถาบัน และได้ผ่านความคิดเห็นจากบุคลากรสถาบันมาแล้ว ซึ่งข้อบังคับของผู้เกษียณอายุ กำหนดที่อายุ 60 ปี โดยถือเอาปีงบประมาณเป็นหลัก แต่ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ได้รับการยกเว้นให้สามารถคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ จนกว่าจะครบวาระ หรือลาออกจากตำแหน่ง

รศ.กิตติ กล่าวอีกว่า  สวัสดิการของพนักงานก็กำหนดไว้ชัดเจน ทั้งพนักงานเดิม และพนักงานที่เปลี่ยนสถานภาพ ก็คือ มีการกำหนดให้จ่ายค่าชดเชยแก่พนักงานที่ถูกเลิกจ้าง ซึ่งก็หมายรวมถึงการเกษียณอายุตามแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาด้วย โดยกำหนดให้ไม่น้อยกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนด นั่นหมายความว่า ทำงานครบ 120 วัน ได้ค่าชดเชยขั้นต่ำ ไม่น้อยกว่า 30 วัน และทำงานครบ 10 ปี จะได้ค่าชดเชย ไม่ต่ำกว่า 300 วัน นับเป็นสวัสดิการที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะถือเป็นหลักประกันเมื่อว่างงาน

“ปีนี้สจล.มีพนักงานมหาวิทยาลัยที่จะเกษียณ ประมาณ 18คน ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้นำเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยมาจัดงบสรรเงินเกษียณแก่พนักงานมหาวิทยาลัยไปก่อน ทำให้มหาวิทยาลัยต้องนำเงินที่จะนำไปใช้ในการพัฒนามหาวิทยาลัยต่างอื่นๆ มาจ่ายเรื่องนี้แทน ส่งผลให้การทำงานในบางเรื่องของมหาวิทยาลัยต้องหยุดชะงัดลง อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าสำนักงบฯ อาจมีงบประมาณจำกัด แต่เงินเกษียณของพนักงานมหาวิทยาลัยก็มีความจำเป็นสำหรับพวกเขา และหากมหาวิทยาลัยไม่มีรายได้ พนักงานมหาวิทยาลัยที่จะเกษียณก็จะไม่ได้เงิน ซึ่งนอกจากขัดกับพรบ.ของมหาวิทยาลัยแล้ว ยังทำให้พนักงานมหาวิทยาลัยเกิดความไม่มั่นใจในการเป็นม.นอกระบบ เร็วๆ นี้ คาดว่าจะขอเข้าพบสำนักงบฯ เพื่อหารือถึงเรื่องดังกล่าว” อธิการบดีสจล.กล่าว

ศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) กล่าวว่า มช.มีพนักงานมหาวิทยาลัยที่จะเกษียณในปีนี้ประมาณ 100-200 คนซึ่งก็มีปัญหาเรื่องงบเงินเกษียณของพนักงานมหาวิทยาลัย เนื่องจากยังไม่ได้งบประมาณจากสำนักงบประมาณ ดังนั้นอาจจะแก้ปัญหาโดยนำเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยมาจัดสรรเป็นงบเงินเกษียณให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัยไปก่อนส่วนเรื่องงบเงินเกษียณของพนักงานมหาวิทยาลัยนั้นจะต้องไปหารือกับสำนักงบฯเพื่อแก้ปัญหาและให้ได้รับงบส่วนนี้มา

(คมชัดลึก, 24-8-2553)

บริษัทจัดหางานฯ ยื่นขอความเป็นธรรมส่งแรงงานไทยไปลิเบีย ยํ้าไม่เคยทอดทิ้ง

ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศกสรรค์ สุวรรณสาร ผู้บริหารบริษัทจัดหางานเงินและทองพัฒนา จำกัด ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายสุธรรม นทีทอง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับ กรณีที่สื่อบางฉบับได้นำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับกรณีที่ นายสนมศักดิ์ เพชรสังหาร แรงงานไทย ได้ร้องเรียนถึงปัญหาที่บริษัทจัดหางานเงินและทอง พัฒนาจำกัด ซึ่งเป็นผู้จัดหาแรงงานให้ไปทำงานกับนายจ้าง arsel-bena wa tasheed joint venture ที่ประเทศลิเบีย โดยกล่าวหาว่านายจ้างได้กระทำผิดสัญญาว่าจ้าง โดยมีการจ่ายเงินเดือนและค่าทำงานล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างไม่ครบตามสัญญา ไม่จัดสรรสวัสดิการด้านที่พักอาศัยอาหาร ทำให้ลูกจ้างได้รับความอยากลำบาก มีการเรียกเก็บหัวคิวเพื่อให้ได้ไปทำงานที่ประเทศลิเบีย ซึ่งถือเป็นการทำผิดระเบียบของกรมจัดหางาน และมีการหลอกล่วงและรอยแพคนงาน

โดยนายเศกสรรค์ ชี้แจงว่า ปัญหาเหล่านี้ได้มีการตรวจสอบจากทางเอกอัครราชทูต ณ กรุงติโปรลี โดยเอกอัครราชทูตและเจ้าหน้าที่กงศุล มีผลสรุปชัดเจนแล้วว่า ปัญหาเกิดจากการจ่ายเงินล่าช้า เพราะสภาพคล่องจากการที่รัฐบาลลิเบียติดค้างเงินแก่นายจ้าง ไม่ใช่นายจ้างเบี้ยวเงินอย่างที่กล่าวอ้าง และแรงงานทุกคนก็ได้รับค่าจ้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งคนงานส่วนใหญ่ยังสมัครใจทำงานต่อ และขอยืนยันว่าทางบริษัทไม่ได้ผิดข้อตกลง ในการส่งคนงานไปทำงาน เพราะคนงานทั้งหมดที่ไปทำงานกับนายจ้างดังกล่าว ได้ทำงานจนครบกำหนดตามสัญญาว่าจ้างทุกคน ไม่ใช่เป็นเรื่องถูกลอยแพตามข่าว และบริษัทได้รับแจ้งจากนายจ้างว่า แรงงานเหล่านี้ได้รับเงินครบถ้วนทุกคน โดยมีหลักฐานการรับเงินที่ตรวจสอบได้ ส่วนแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาเมืองไทย เป็นการกลับมาเพราะครบกำหนดสัญญาว่าจ้างแล้ว และได้รับตั๋วเครื่องบินจากนายจ้างให้เดินทางกลับตามสัญญา ส่วนเรื่องค่าล่วงเวลานั้น เนื่องจาก ช่วงเวลาของประเทศลิเบียต่างกับประเทศไทย คือไม่มีเวลากลางวัน 12 ชม.และกลางคืน 12 ชม. แต่จะเป็นช่วงกลางวัน 14 ชม. และกลางคืน 10 ชม. จึงอาจทำให้เกิดความเข้าผิดในการคิดคำนวณค่าล่วงเวลา ซึ่งปัญหาดังกล่าว ทางอธิบดีกรมการจัดหางานก็รับทราบดี

อย่างไรก็ตาม นายเศกสรรค์ กล่าวต่อว่า บริษัทฯ ไม่รู้จักนายสนมศักดิ์ และไม่เคยจัดส่งบุคคลนี้ไปทำงานกับนายจ้างที่ลิเบีย และการส่งแรงงานไทยไปลิเบียของบริษัทไม่ได้เป็นการส่งไปทำงานกับนายจ้างดังกล่าวเพียงรายเดียว และเรายังได้รับความเชื่อถืออย่างสูงจากรัฐบาลลิเบีย และบริษัทเอกชนจำนวนมาก เพื่อให้จัดหาแรงงานไทยไปทำงานที่ลิเบีย ซึ่งปัญหาที่สื่อหยิบยกมากล่าวอ้าง เป็นปัญหาบริษัทนายจ้างเพียงรายเดียวเท่านั้น ซึ่งสามารถตรวจสอบ ขอยืนยันว่าเราไม่เคยหลอกลวง ว่าในการจ้างงาน ที่ผ่านมาบริษัทก็ไม่เคยนิ่งนอนใจ และเข้าไปช่วยเหลือแรงงานไทยตลอด อีกทั้ง หน่วยงานราชการของไทยได้เข้าไปตรวจสอบสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานไทย ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทยืนยันที่จะให้เข้ามาตรวจสอบ ส่วนเรื่องเรียกค่าหัวคิวเราได้จัดเก็บค่าบริการตามระเบียบของกรมจัดหางาน และสามารถตรวจสอบได้

ด้านนายสุธรรม กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการหลอกลวงแรงงานไทยถือเป็นเรื่องที่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประชุมหลายครั้ง เพื่อให้บริษัทจัดหางานให้ความเป็นธรรมกับการจัดส่งแรงงานไปต่างประเทศ โดยการเรียกบริษัทจัดหางานประชุม และเชิญนายกฯ ลงสัตยาบันร่วมกันว่า จะจัดส่งแรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย ขณะเดียวทางกระทรวงแรงงานจะมีนโยบายให้บริษัทนายจ้างลดค่าแรงงาน ที่เคยจัดเก็บคนงานในราคาแพง อย่างน้อยหัวละ 15,000 บาท ทั้งนี้ ได้มีการสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดหาเงินกู้ให้กับแรงงานไทยโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจะให้ความสำคัญ และดูแลเรื่องนี้อย่างถึงที่สุด ถึงแม้ว่าจะเป็นข่าวในสื่อแค่ฉบับเดียว แต่ทางกระทรวงฯ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ไม่ได้ละเลย อย่างไรก็ตาม จะเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ นายสุธรรม กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวต้องแยกออกเป็น 2 กรณี คือ ถ้าผิดตามกฎหมายอาญาก็ต้องดำเนินการลงโทษอย่างจริงจัง และต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตจัดหางาน แต่ถ้ามีความผิดในทางแพ่งคู่กรณีต้องฟ้องกันเอง ดังนั้น ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่ามีการกลั่นแกล้งกันโดยไม่อยู่บนข้อเท็จจริง แต่มีผลประโยชน์แอบแฝง คงต้องมีมาตรการลงโทษที่ชัดเจน ซึ่งตนจะรีบเสนอเรื่องนี้ต่อ รมว.แรงงาน ว่า ที่ปรึกษาแรงงานไทยที่ประจำอยู่ในประเทศแถบแอฟริกาเหนือให้ตรวจสอบก่อนว่า มีลูกจ้างเดือดร้อนจริงหรือไม่ นอกจากนี้ ถ้าตรวจสอบพบข้อเท็จจริงได้ไม่ชัดเจน ก็จะตั้งคณะกรรมการทำงานขึ้นมาตรวจสอบเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะ ซึ่งตนอาจเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการเพื่อพิจารณาด้วย โดยจะเรียนเชิญ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ร่วมรับฟังปัญหาด้วย

(แนวหน้า, 25-8-2553)

มศว. เร่งสวัสดิการพนักงานเข้ากองทุนประกันสังคม

เมื่อวันที่ 25 ส.ค.2553  ศ.ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวถึงกรณีของพนักงานมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒส่วนหนึ่งได้เข้ารับข้อมูลที่กองการเจ้าหน้าที่ร่วมกับสำนักงานประกันสังคมพื้นที่เขต 8 จัดให้ความรู้ในหัวข้อ “สวัสดิการพนักงานมหาวิทยาลัยและการเข้ากองทุนประกันสังคม” โดยมีพนักงานส่วนหนึ่งได้เข้าเรียกร้องสิทธิของตัวเองต่ออธิการบดีว่าขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยกำลังหาข้อมูลที่จะจัดการเรื่องสวัสดิการของพนักงานเข้ากองทุนประกันสังคมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานที่ทำงานอยู่แล้วและพนักงานที่กำลังจะเข้ามาทำงานใหม่ การจะจัดการในเรื่องนี้มีต้นทุนทางมหาวิทยาลัยต้องคิดคำนวณและเราก็ไม่ได้นิ่งเฉยในเรื่องสวัสดิการเหล่านี้ ซึ่งเท่าที่ทราบบางมหาวิทยาลัยก็ยังอยู่ในขั้นดำเนินการหาข้อมูลเช่นกัน จึงอยากให้พนักงานมหาวิทยาลัยอย่าเพิ่งใจร้อน ทีมผู้บริหารมหาวิทยาลัยกำลังศึกษาและจะดำเนินการในเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด

 นอกจากนี้ ในเรื่องของการประเมินพนักงานมหาวิทยาลัยในสายอาจารย์นั้น ถ้าเป็นอาจารย์พนักงานที่ได้รับการบรรจุใหม่นั้นต้องทดลองงาน 4 เดือน จากนั้นจะมีการทำสัญญาจ้าง 1 ปี เมื่อเสร็จสิ้นสัญญาจ้างจะมีการต่อสัญญาจ้างเป็น 3 ปี แล้วถึงจะต่อเป็นสัญญาจ้าง 5 ปี ในกรณีที่มหาวิทยาลัยจะต่อสัญญาจ้างให้นั้นจะดูว่าอาจารย์คนนั้นได้พัฒนาตัวเองทำมากน้อยแค่ไหน ทำผลงานวิจัยหรือทำผลงานทางวิชาการหรือไม่ ได้ขยับตำแหน่งจากอาจารย์มาเป็นผศ. รศ. ศ.หรือไม่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) รองศาสตราจารย์ (รศ.) ศาสตราจารย์ (ศ.) หรือไม่ ตลอดถึงพนักงานมหาวิทยาลัยที่รับเข้ามาในตำแหน่งอาจารย์จะต้องเรียนต่อในระดับปริญญาเอกภายใน 3 ปี สิ่งเหล่านี้ทางมหาวิทยาลัยกำหนดเป็นข้อบังคับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒว่าด้วยพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ.2552 เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีโอกาสได้พัฒนาและไม่ย่ำอยู่กับที่

 "ต่อแต่นี้ไปทุกคนนต้องเร่งพัฒนาตัวเองอีกทั้งการทำงานด้านการเรียนการสอน จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องได้ครูอาจารย์ที่มีความกระตือรือร้นทางวิชาการและพัฒนาตัวเองโดยไม่หยุดยั้ง อย่าลืมว่าการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาเราต้องได้ครูอาจารย์ที่พัฒนาตัวเองและทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง ถ้ามศวไม่ตั้งกำหนดเป็นข้อบังคับมหาวิทยาลัยฯ ในลักษณะนี้ขึ้นมา เราก็จะไม่สามารถก้าวเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่พัฒนาตัวเองได้อีกในขณะนี้โลกเข้าสู่ยุคแห่งการแข่งขันและการประเมินตัวเองตลอดเวลา การส่งอาจารย์ศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกนั้นทางมหาวิทยาลัยมีทุนการศึกษาให้ซึ่งก็ได้ทำการระดมทุนอย่างมากเพื่อส่งอาจารย์ศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกให้มากที่สุด ในเรื่องเหล่านี้ก็ได้พูดและชี้แจงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีอาจารย์จำนวนมากที่เข้าใจและไม่ออกมาเรียกร้อง แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังไม่เข้าใจและมีอาจารย์บางคนพยายามสร้างประเด็นเพื่อให้เกิดความขัดแย้ง ขอบอกว่าถ้าอาจารย์ทำหน้าที่สอน วิจัย ทำผลงานทางวิชาการอย่างต่อเนื่องไม่ต้องกลัวการประเมินเลย อีกทั้งการประเมินจะทำให้อาจารย์มีความก้าวหน้าในชีวิตอีกต่างหากด้วย" อธิการบดีมศว กล่าว

 ศ.ดร.วิรุณ กล่าวอีกว่า พนักงานมหาวิทยาลัยได้รับสวัสดิการ เงินเดือนแรกเข้าตลอดถึงการขึ้นเงินเดือนได้มากกว่าข้าราชการ ดังนั้นการที่มหาวิทยาลัยกำหนดข้อบังคับขึ้นมาเพื่อเราต้องการประเมินผลการทำงานเพราะมิฉะนั้นแล้วการทำงานก็จะเหมือนระบบราชการ เนื่องจากแต่เดิมระบบราชการก็เป็นระบบที่ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม จวบกระทั่งรัฐบาลเองได้ประกาศให้ราชการหมดไปจากสังคมไทย จึงไม่มีการรับข้าราชการเข้าทำงานในหน่วยงานต่างๆ จวบถึงปัจจุบัน ทุกวันนี้หน่วยงานราชการทุกแห่งจึงมีแต่พนักงานในสังกัด โดยที่ข้าราชการค่อยๆ หมดไปและจะมีพนักงานเข้ามาแทนที่ข้าราชการ

 ทั้งนี้เมื่อเวลา 10.30 น.ที่บริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประสานมิตร กลุ่มตัวแทนพนักงานมหาวิทยาลัย ประมาณ 50 คน ได้มีการรวมตัวกันเรียกร้องความเป็นธรรม 3 กรณี ได้แก่1.การที่มหาวิทยาลัยระเบียบออกข้อบังคับมศว.ว่าด้วยพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ.2552 ได้บัญญัติเรื่องการจ้างงาน การบรรจุและแต่งตั้งพนักงานแตกต่างไปจากเดิม โดยไม่มีการบรรจุอีกต่อไป มีแต่การจ้างงานตามสัญญาเป็นระยะๆ คราวละไม่เกิน 5 ปี และยกเลิกระเบียบพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ.2544 ที่กำหนดว่าพนักงานมศว ที่ทำงานครบ 5 ปี และผ่านการประเมินการปฎิบัติงาน จะได้รับการคุ้มครองความมั่นคงในการทำงาน เพราะจะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นพนักงานประจำ

 2.การประกาศการจ้างงานและสัญญาการจ้างงานที่บั่นทอนพนักงานมศว.สายวิชาการ (คณาจารย์) ส่งผลให้พนักงานสายอาจารย์ถูกบังคับให้ศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งหากไม่ทำตำแหน่ง ผศ. ,รศ. หรือเรียนจบปริญญาเอกในระยะเวลาที่กำหนด อาจถูกเลิกสัญญาจ้างงาน และ3.ประกันสังคมตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ถูกละเลย โดย3 ประเด็นข้างต้นได้สร้างความเดือนร้อนแก่มหาวิทยาลัยประมาณ 1,000 กว่าคน จากพนักงานมหาวิทยาลัย 2,000 คน

 นายมงคล ศริวัฒน์ กรรมการสภาคณาจารย์มศว  กล่าวว่า จริงๆ แล้วตนไม่เสียผลประโยชน์จากเรื่องดังกล่าวเนื่องจากตนเป็นข้าราชการไม่ใช่พนักงานมหาวิทยาลัย แต่ตนได้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการจ้างงาน และสวัสดิการ เนื่องจากการจ้างงานคราวละ 5 ปี ทำให้พนักงานมหาวิทยาลัยไม่สามารถทำนิติกรรมทางการเงินกับสถาบันต่างๆ หรือแม้แต่กู้สหกรณ์ของมหาวิทยาลัยยังไม่ได้ ส่วนเรื่องสวัสดิการ ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้ให้สวัสดิการ 15,000 บาทต่อปีในการดูแลค่ารักษาพยาบาล ค่าเลี้ยงดูบุตร และไม่มีประกันสังคมให้ แต่พอมาตอนนี้มหาวิทยาลัยกลับมาบังคับให้พนักงานมหาวิทยาลัยเข้าหลักประกันสังคม ภายในเดือนต.ค.นี้ เนื่องจากมีกฎหมายแรงงาน ออกมาให้หน่วยงานต่างๆ ทำประกันสังคม หรือหลักประกันที่ดีกว่าแก่พนักงาน เนื่องจากกลัวถูกพนักงานฟ้องร้อง และไม่มีการแจ้งพนักงานมหาวิทยาลัยล่วงหน้า ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ 10 ปี ไม่มีการทำประกันสังคม

 "เวลามหาวิทยาลัยทำอะไรไม่เคยแจ้งให้พนักงาน คณาจารย์มหาวิทยาลัยได้รับทราบ มีแต่การตัดสินใจในระดับผู้บริหารและดำเนินการทันที หรือถ้ามีการทำประชาพิจารณ์ต่อให้สภาคณาจารย์ไม่เห็นด้วยเรื่องอะไร มหาวิทยาลัยไม่เคยนำมาทบทวน แต่กลับไปประกาศใช้ทันที และหากใครออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมมากๆ ก็จะถูกสอบส่วนและพิจารณาความผิดเพื่อให้ออกจากราชการ เช่นเดียวกับอ.สุรภล จรรยากูล ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าทำไมมศว.ทั้งที่เป็นมหาวิทยาลัยผลิตครูที่เก่าแก่ แต่ทำอะไรทำไมไม่เคยนึกถึงครูบาอาจารย์ พนักงานของมหาวิทยาลัยบ้าง"นายมงคล กล่าว

 นางศศิธร ทิมทอง พนักงานมศวในส่วนของศูนย์การแพทย์ องค์รักษ์ กล่าวว่า  ตนยอมลาออกจากโรงพยาบาลเอกชนเพื่อมาทำงานที่มศว.เนื่องจากโดยส่วนตัวมองว่าการมาทำงานในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นส่วนราชการ จะสร้างความมั่นคงแก่ครอบครัวได้ และจากระเบียบข้อบังคับพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ.2544 ได้มีการกำหนดไว้ว่า หากทำงานครบ 5 ปี และผ่านการประเมินจะได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำ แต่พอทำงานครบ 6 ปี ทั้งที่ต้องได้รับการบรรจุ กลายเป็นว่าทางมหาวิทยาลัยออกระเบียบข้อบังคับใหม่ ทำให้ตนไม่ได้รับบรรจุ ตอนแรกงงมาก ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยไม่ได้มีการประกาศอะไร และเพิ่งมารู้เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ว่ามหาวิทยาลัยได้มีการออกระเบียบข้อบังคับฯใหม่แล้ว และเมื่อได้ดูข้อบังคับใหม่ฯ รู้สึกว่าไม่เป็นธรรมต่อตนเองอย่างมาก

 “ตอนนี้ทำงานมา 6 ปีแล้ว ยังได้เงินเดือนประมาณกว่า  10,000  บาท แถมเงินชดเชยเมื่อทำงานนอกเวลาก็ไม่ได้ลาป่วย ลาพักร้อน ก็ถูกหักเงิน แถมสวัสดิการที่ได้รับ 15,000 บาทต่อปี ตามหลักหากไม่ได้ใช้เงิน สวัสดิการ หรือลาออก ต้องได้รับเงินสวัสดิการเหล่านั้นกลับมา แต่กลายเป็นว่า หากเราลาออกเงินส่วนนั้นก็หายไป ไมได้รับคืน ก็ไม่เข้าใจว่าหายไปไหน ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยควรออกมาชี้แจ้งว่าเงินหายไปไหน ไม่ใช่นิ่งเฉยหรือมีการทวงติงแล้วไม่รับฟังอย่างที่ผ่านมา ซึ่งหากผู้บริหารม.ไม่ทำการแก้ข้อบังคับฯ ทางพนักงานมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในส่วนของศูนย์การแพทย์ประมาณ 900 -1,000 กว่าคน คงต้องทำการล่ารายชื่อและร้องขอความเป็นธรรมไปยังศาลปกครองต่อไป และหากทำอะไรไม่ได้จริงๆ เชื่อว่า ทุกคนคงลาออกไปอยู่ที่อื่น” นางศศิธร กล่าว

 ผศ.ดร.ศิริพร ปัญญาเมธิกุล อาจารย์ประจำภาควิชามนุษยศาสตร์และสังคม มศว  กล่าวว่า จริงๆ แล้วตนไม่ได้รับความเดือดร้อนเรื่องพนักงานสายอาจารย์ถูกบังคับให้ศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ทำตำแหน่งผศ.,รศ.ในระยะเวลาที่กำหนด ไม่เช่นนั้นจะถูกยกเลิกการจ้างงาน แต่เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อเพื่ออาจารย์จำนวนไม่น้อย เพราะเชื่อว่าทุกคนอยากได้ตำแหน่งผศ.รศ. และจบป.เอก แต่ระบบการทำงานของมศวไม่เอื้อให้อาจารย์มีเวลามากพอในการทำตำแหน่งทางวิชาการเหล่านั้น  เนื่องจากตามสัญญาจ้างงานได้กำหนดให้อาจารย์ต้องทำการสอน ทำงานวิจัย ทำนุบำรุงมหาวิทยาลัย และภารกิจอีกมากมาย การที่จะให้อาจารย์เรียนต่อป.เอก ผศ.รศ.ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย  ดังนั้น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยควรมีการจัดระบบการเรียนการสอน การบริหารที่เอื้อให้อาจารย์ได้มีเวลาในการเรียนต่อ หรือทำตำแหน่งทางวิชาการด้วย


(คมชัดลึก, 25-8-2553)

บุรีรัมย์ขู่ขึ้นบัญชีดำนายหน้าตุ๋นขายแรงงานนอก

นายสุวรรณ์  ดวงตา   จัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์  กล่าววา  ได้ออกมาแจ้งเตือนคนหางานและผู้ว่างงาน ให้ระมัดระวังกลุ่มแก๊งมิจฉาชีพ หรือสาย นายหน้าเถื่อน หลอกลวงไปทำงานต่างประเทศโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ผ่านกรมการจัดหางาน   ซึ่งอาจจะทำให้สูญเสียทรัพย์สิน  หลังตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ ได้มีแรงงานถูกสาย และนายหน้าเถื่อน หลอกลวงไปทำงานยังต่างประเทศ เข้ามาร้องทุกข์ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดให้ช่วยเหลือแล้วจำนวน 102  ราย รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 6,500,000 บาท เฉลี่ยรายละตั้งแต่ 5,000 – 80,000 บาท

นายสุรรณ์ กล่าวอีกว่า ขณะที่สถิติปี 2552 ที่ผ่านมาได้มีแรงงานถูกหลอกเข้าร้องเรียนถึง 191 ราย สูญเงินไปกว่า 11 ล้านบาท โดยส่วนมากจะถูกหลอกไปประเทศกาตาร์  และบาห์เรน   อย่างไรก็ตามสำหรับแรงงานที่ถูกหลอกเข้ามาร้องทุกข์  ทางจัดหางานก็ได้ดำเนินการช่วยเหลือติดตามนำเงินมาคืนให้กับแรงานได้แล้วบางส่วน   ที่เหลืออีกบางส่วนกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ   ติดตามจับกุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ  

ทั้งนี้ส่วนมาตรการในการป้องกันปัญหาการหลอกลวงแรงงาน   ทางจัดหางานก็ได้มีการสร้างเครือข่ายในการแจ้งเบาะแส พร้อมส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปแนะนำให้ความรู้แก่ชาวบ้านในหมู่บ้าน ตำบล เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อ   นอกจากนั้นยังจะมีการขึ้นบัญชีดำ บริษัท สาย และนายหน้าเถื่อน ที่มีพฤติกรรมหลอกลวงแรงงานไว้ เพื่อประสานหน่วยเฉพาะกิจของกรมการจัดหางาน และเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ เข้าไปติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย  ทั้งเพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวก่อเหตุหลอกลวงแรงงานซ้ำอีก 

(โพสต์ทูเดย์, 25-8-2553)

 

จี้ รมว.แรงงาน เร่งออกกฎกระทรวงคุ้มครองคนทำงานบ้าน หลังโดนดอง 5 ปี

นายบัณฑิต แป้นวิเศษ ประธานเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ เปิดเผยว่า ในวันที่ 27 สิงหาคมนี้ ตนจะเข้ายื่นข้อเสนอเรื่องการพัฒนาชีวิตแรงงานคนทำงานบ้านต่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อเรียกร้องให้มีการประกาศกฎกระทรวงเรื่องการคุ้มครองคนทำงานบ้าน เนื่องในโอกาสวันคนทำงานบ้านสากล 28 ส.ค. 2553 รวมทั้งขอให้แก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานครอบคลุมไปถึงอาชีพคนทำงานบ้านด้วย เนื่องจากปัจจุบันอาชีพดังกล่าวเป็นอาชีพที่ถูกยกเว้นในกฎหมายแรงงาน ทำให้ไม่ได้รับความคุ้มครองเหมือนแรงงานประเภทอื่นๆ

“ใน 5 ปีที่ผ่านมามีการยกร่างกฎกระทรวงเรื่องการคุ้มครองคนทำงานบ้านแล้ว แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีการประกาศใช้เสียที ดังนั้นในระยะสั้นเราจึงเรียกร้องให้รมว.แรงงานกำชับเจ้าหน้าที่รีบเสนอร่างฯให้รมว.เซ็นอนุมัติโดยเร็วเพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีอยู่แล้ว”นายบัณฑิต กล่าว

นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า เมื่อมีการประกาศใช้กฎกระทรวงบังคับใช้จะทำให้มีมาตรฐานการทำงานที่ชัดเจนขึ้น เช่น จำนวนวันหยุด การคุ้มครองความเจ็บป่วยจากการทำงานและจำนวนชั่วโมงการทำงาน ทั้งนี้ จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าตัวเลขผู้ทำงานบ้านในปี 2550 มีจำนวนทั้งหมดประมาณ 4 แสนคน แบ่งเป็นคนไทยที่ทำงานบ้านในไทย 2.2 แสนคน คนต่างชาติที่ทำงานบ้านในไทย 1.5 แสนคน และคนไทยที่ทำงานบ้านในต่างประเทศอีก 2.5 หมื่นคน

(แนวหน้า, 26-8-2553)

แรงงานไทยขุดทองต่างประเทศเพิ่มขึ้น 8.5%

นายสุธรรม  นทีทอง  โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงตัวเลขการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศว่า  ตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึง ก.ค. 2553 พบว่ามีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1.2 หมื่นคน เพิ่มขึ้น 8.5% หรือ  821 คน เมื่อเทียบในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เมื่อจำแนกวิธีการเดินทางไปต่างประเทศแบ่งออกเป็น 5 แบบ คือ 1.เดินทางผ่านบริษัทจัดหางาน มีสัดส่วน 41% หรือ 4,343 คน 2.นายจ้างจัดส่งไป คิดเป็น 31% หรือ 3,292 คน  3.เดินทางไปเองคิดเป็น 22% จำนวน 2,345 คน 4.นายจ้างส่งไปฝึกงาน 2% จำนวน 290 คน และ 5.กรมจัดหางานจัดส่งไป 1% หรือ 206 คน 

หรือหากแบ่งตามระดับฝีมือพบว่าเป็นแรงงานฝีมือจำนวน 2,089 คน เป็นแรงงานไร้ฝีมือถึง 8,387 คน

สำหรับประเทศที่แรงงานไทยเดินทางไปมากที่สุดคือ ประเทศสวีเดน มีจำนวนถึง 3,123 คน รองลงมาเป็น ไต้หวัน 2,879 คน ประเทศฟินแลนด์ 1,402 คน  ลิเบีย 523 คน อิสราเอล 453 คน ญี่ปุ่น 282 คน สิงคโปร์ 220 คน สหรัฐอาหรับเอมิเรท 219 คน เกาหลี 207 คน และบรูไน 139 คน

ทั้งนี้หากแยกประเภทตำแหน่งงานพบว่าในกลุ่มทวีปเอเชีย แรงงานไทยส่วนใหญ่จะทำงานในโรงงานประเภทชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิก ผลิตภัณฑ์โลหะ สิ่งทอ พลาสติก เครื่องจักกล ส่วนกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและยุโรปเป็นงานเกี่ยวกับเกษตรกรรม และแถบอาฟริกาเป็นงานเกี่ยวกับช่วงไม้ ช่างเหล็ก ช่างปูน ก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ 

ส่วนเงินที่ส่งกลับมายังประเทศผ่านทางธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ ม.ค.-ก.ค. 2553 คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 3.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.13% หรือ 1,313 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ส่วนปัญหาการร้องเรียนพบว่ามีเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 1,893 ราย ลดลงจากปีที่แล้ว 646 ราย ปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือนายจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้าง และได้งานไม่ตรงกับตำแหน่ง โดยกระทรวงแรงงานได้ทำการช่วยเหลือไปแล้ว 1,793 ราย

(โพสต์ทูเดย์, 27-8-2553)

เตือนแรงงานไทยเลี่ยงนำยาแก้ปวดลดไข้เข้าไต้หวัน (สำนักข่าวไทย, 27-8-2553)

นายสุรพงษ์ เภาอ่อน จัดหางานจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานแจ้งมายังสำนักงานจัดหางานจังหวัดพิษณุโลก เพื่อประกาศเตือนแรงงานไทยจะไปทำงานในไต้หวันระวังการนำยาแก้ปวดลดไข้ติดตัวไปด้วย เพราะอาจมีความผิด เนื่องจากสำนักงานอาหารและยาของไต้หวันประกาศผ่านรายการวิทยุภาคภาษาไทยของสถานีวิทยุอาร์ทีไอ (Radio Taiwan International) เตือนไม่ให้นำยาแก้ปวดลดไข้บางยี่ห้อเข้าในไต้หวัน เนื่องจากยาเหล่านี้มีส่วนผสมของตัวยาพีพีเอ หรือฟีนิลโปรปาโลนามี ซึ่งเป็นยาต้องห้ามออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2

ทั้งนี้ การนำเข้ายาใด ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายของไต้หวัน โดยให้เหตุผลว่าแรงงานต่างชาติที่เดินทางมาทำงานที่ไต้หวันทุกคนมีประกันสุขภาพอยู่แล้ว สามารถไปรักษากับแพทย์ จึงไม่ควรซื้อยารับประทานเองหรือให้ญาติส่งยาสำเร็จรูปมาให้ เพราะอาจไม่ตรงกับโรคที่เป็น และอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง หรือทำให้อาการลุกลามยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาสำนักงานอาหารและยาของไต้หวันได้ตรวจยึดทำลายยาจากผู้ส่งมาให้แรงงานต่างชาติทางพัสดุไปรษณีย์ปีละหลายตัน ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่เป็นแรงงานไทย และหากยาดังกล่าวเป็นยาต้องห้ามหรือสารเสพติดจะส่งให้อัยการดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีแรงงานไทยถูกเรียกตัวไปขึ้นศาลสอบปากคำแล้วกว่า 10 ราย ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาตามมาหรือทำผิดกฎหมายขอเตือนแรงงานไทยไม่ควรนำยาชนิดใด ๆ เข้าไต้หวัน หากมีข้อสงสัยรายละเอียดสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดพิษณุโลก โทร. 0-5524-6257 0-5524-6257 ทุกวันและเวลาราชการ

(สำนักข่าวไทย, 27-8-2553)

"เฉลิมชัย"รอคลังสรุปขึ้นค่าแรง 250 บาท

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 250 บาทต่อวัน ตามที่นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยให้คำมั่นเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า ขณะนี้ทางกระทรวงแรงงานได้ส่งข้อมูลเกี่ยวกับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไปที่กระทรวงการคลังรับไปพิจารณาแล้ว ซึ่งทางกระทรวงการคลังก็จะนำไปศึกษาถึงความเป็นไปได้ในแง่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งความเป็นไปได้ที่จะเข้าไปช่วยผู้ประกอบการ ในเรื่องการลดหย่อนภาษีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเภทภาษีรายได้ ภาษีนำเข้าเครื่องจักร หรือภาษีอื่นๆ เพื่อที่จะให้มันเกิดการสมดุลกัน

นอกจากเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้ว ก็ต้องไปดูในส่วนของภาคการเกษตรด้วย เพราะเมื่อมีการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้ว ก็จะต้องบังคับใช้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่มันจะไปกระทบก็คือภาคการเกษตร ก็ต้องแยกส่วนไปดูว่าเราจะไปช่วยเหลือภาคการเกษตรอย่างไรบ้าง เนื่องจากถ้าค่าแรงขั้นต่ำขึ้นมันส่งผลกระทบในภาพรวมในแง่ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าไปดูแลส่วนนี้

“ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นแบบใด คงต้องรอให้กระทรวงการคลังตอบกลับมาก่อน ส่วนที่ท่านนายกฯบอกว่าจะปรับแบบก้าวกระโดดนั้น ผมก็ตอบไม่ได้ว่าคำว่าก้าวกระโดดมันเป็นกี่บาท แต่ผมเชื่อว่าคงไม่ใช่บาทเดียวแน่นอน ” นายเฉลิมชัยกล่าวและว่า ส่วนที่เกรงว่าทางผู้ประกอบการจะไม่เอาด้วยนั้น เรื่องนี้คงต้องรอดูสรุปของทางกระทรวงการคลังออกมาก่อน ขณะที่กระทรวงแรงงานเราก็มีคณะกรรมการค่าจ้างกลางระบบไตรภาคี ที่มีทั้งฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง ราชการ ที่จะต้องหารือกันอีกครั้ง
 
(เนชั่นแชนแนล, 27-8-2553)

เครือข่ายคนทำงานบ้านเข้ายื่น 4 ข้อเสนอคุ้มครองสิทธิต่อรัฐมนตรีแรงงาน

ที่สำนักปลัดกระทรวงแรงงาน เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ(ANM) เครือข่ายแรงงานทำงานบ้าน มูลนิธิร่วมมิตรไทยพม่า  มูลนิธิMAP  มูลนิธิเพื่อนหญิง  หน่วยพัฒนาและบรรเทาทุกข์แห่งประเทศไทย(ADRA) ร่วมกับโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล(สสส.) ได้เข้ายื่นข้อเสนอในการคุ้มครองอาชีพคนทำงานในบ้านต่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยในการยื่นข้อเสนอในครั้งนี้มีตัวแทนคนทำงานบ้านทั้งคนไทยและแรงงานข้ามชาติกว่า 50 ชีวิต

นางสุจิน รุ่งสว่างประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบในฐานะตัวแทนยื่นข้อเสนอกล่าวว่าที่ผ่านมามีแรงงานที่ทำงานในบ้านมากถึง 4 แสนคน สร้างเม็ดเงินสะพัดทั้งสิ้น 2หมื่น 7 พันล้านบาทโดยมีอัตราค่าจ้างที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของนายจ้างในการกำหนดค่าจ้างให้กับตัวของแรงงานเอง ที่ผ่านมาแรงงานทำงานบ้านถูกมองในทางมิติเศรษฐศาสตร์ว่าเป็นแรงงานที่ไม่ก่อให้เกิดการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ จึงส่งผลต่อการให้ความช่วยเหลือการคุ้มครองทางกฎหมายแรงงาน  รวมถึงการเข้าถึงระบบสวัสดิการสังคมต่างๆที่ควรได้รับ จึงส่งผลให้แรงงาน ประสบปัญหาการถูกขูดรีดค่าจ้างแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม  การเอาเปรียบการทำงานที่มีชั่วโมงยาวนาน ไม่มีวันหยุดพักผ่อนที่แน่นอน ทำงานเพียงคนเดียวแต่ต้องรับใช้คนในบ้านหลายคน บางรายถูกควบคุมการตัดเสรีภาพในการสื่อสารต่อคนภายนอก และที่ยิ่งน่าเป็นห่วงคือกรณีคนทำงานบ้านที่เป็นผู้หญิงหลายรายต้องตกอยู่ในสภาวะความไม่ปลอดภัยในเนื้อตัวร่างกาย และบางรายต้องจบชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตาย หรือถูกฆาตกรรมโดยนายจ้างหรือโจรขโมย

ทั้งนี้ทางเครือข่ายได้ทำข้อเสนอเพื่อยื่นต่อรัฐบาล กระทรวงแรงงาน และคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร 4 ข้อดังต่อไปนี้  1)ข้อให้รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน ออกประกาศกฎกระทรวงคุ้มครองคนทำงานบ้าน ซึ่งมีคณะทำงานยกร่างประกาศฯฉบับนี้ที่อยู่กับกองนิติการกระทรวงแรงงาน แต่เป็นเวลา 5 ปีที่ไม่มีความคืบหน้าในการจะออกมาเป็นกฎกระทรวงบังคับใช้จริง 2) ขอให้รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน และคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทน ราษฎร ได้เร่งให้มีการเรียกประชุมคณะกรรมการยกร่าง เพื่อให้ข้อยุติและเสนอร่างกฎกระทรวงฯฉบับนี้เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในการประกาศใช้คุ้มครองแรงงานในภาคส่วนนี้ต่อไป 3)ในระยะยาวขอให้รัฐบาลและกระทรวงแรงงาน ได้แก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน โดยบัญญัติว่าจะต้องคุ้มครองแรงงานที่ทำงานบ้านอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกับแรงงานในภาคส่วนอื่นๆ 4)ขอให้รัฐบาลจัดทำนโยบายและแผนงบประมาณ เพื่อการส่งเสริม พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้กับลูกจ้างทำงานบ้าน เช่นการจัดทำหลักสูตรและการฝึกอบรม การให้บริการ การทำอาหารอย่างมืออาชีพ  อีกทั้งเปิดโอกาสให้ได้รับการศึกษาทั้งในระบบ และนอกระบบ โดยการไปฝึกอบรมและการไปศึกษา  นายจ้างต้องอนุญาตให้ไปตามคำร้องขอของลูกจ้าง และต้องจ่ายค่าจ้างเสมือนการมาทำงานให้กับนายจ้างตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดไว้

ขณะที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวว่าจะเร่งดำเนินการเรื่องประกาศกฎกระทรวงคนทำงานบ้านให้สำเร็จใน ระหว่างที่ตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานอย่างแน่นอน และสำหรับในประเด็นเรื่องสวัสดิการต่างๆที่เรียกร้องมานั้น ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ดำเนินการดูแลอยู่ จึงขอให้ทุกฝ่ายมีความสบายใจได้ และคิดว่าคงจะใช้เวลาดำเนินการไม่นานนักในการออกกฎกระทรวงฉบับนี้ความจริง  ซึ่งความจริงประเด็นที่เรียกร้องเหล่านี้แล้วล้วนเป็นนโยบายของรัฐบาลและเป็นนโยบายของนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรีทั้งสิ้น การที่ตนมาทำงานก็ถือว่าเป็นการมาทำงานให้นายกรัฐมนตรี  แต่การจะออกกฎหมายอะไรนั้นจะต้องมีความรอบคอบ และต้องศึกษาให้ดีในแต่ละประเด็น จึงควรจะต้องใช้เวลาสักหน่อยเพราะเนื่องจากกฎหมายที่ออกในแต่ละฉบับย่อมส่งผลกระทบกับทุกคนและสังคม เพราะถ้าออกกฎหมายมาบางเรื่องที่คนทำงานบ้านยอมรับแต่ฝ่ายอื่นหรือส่วนอื่นๆไม่ยอมรับก็คงจะไม่ดีแน่ เพราะเนื่องจากกฎหมายคือสิ่งที่ทำให้คนอยู่ร่วมกันได้  และสำหรับในเรื่องสวัสดิการต่างๆคิดว่าทางกรามสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพร้อมดำเนินการ ตนมั่นใจว่า 28 สิงหาคมในปีถัดไป ซึ่งตรงกับวันคนทำงานบ้านสากลจะทำให้เรื่องนี้เสร็จเรียบร้อย อะไรที่ทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้ก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงแรงงานอยู่แล้ว อย่างน้อยก็เพื่อศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันเพราะอะไรที่เหมาะกับสภาพการณ์ปัจจุบันสามารถที่จะปรับเปลี่ยนได้

 (แนวหน้า, 27-8-2553)

คนตรังแห่เข้าสวนยาง-ปาล์มปุ้มปุ้ยใช้แรงงานกัมพูชาแทน

นางพัฒนา พันธุฟัก แรงงานจังหวัดตรังเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานเกิดขึ้นภายหลังเศรษฐกิจของประเทศปรับตัวดีขึ้น ปัจจุบันบริษัท หรือโรงงานต่าง ๆ ที่เคยลดการผลิตและเลิกจ้างแรงงานมีความต้องการแรงงานจำนวนมาก

การวิเคราะห์ของสถาบันต่าง ๆ มองว่าการขาดแคลนแรงงานทั้งในระดับล่างและแรงงานฝีมือเป็นผลมาจากการควบคุมการเกิดของประชากร ส่งผลให้ประชากรที่จะเข้าสู่วัยทำงานขยายตัวลดลง ซึ่งไม่สอดคล้องกับความต้องการวัยทำงานที่เพิ่มสูงขึ้น  และหน่วยผลิตกำลังคนมีการผลิตที่ไม่มีคุณภาพ รวมทั้งไม่สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง มีการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมที่ยืดหยุ่นสูง

จากสาเหตุดังกล่าว เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานแรงงานจังหวัดตรังได้จัดสัมมนาการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนสถานการณ์ของปัญหาความต้องการแรงงานและการขาด แคลนแรงงานในปี 2553 และแนวโน้มของปัญหาในอนาคต โดยเปิดเวทีหารือระหว่างผู้ประกอบกิจการ สภาชิกสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง สมาชิกหอการค้า จังหวัดตรังตัวแทนองค์กรหรือสมาคมด้านการท่องเที่ยวการเกษตรและประมง คณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดตรัง ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง บุคลากรจากภาคการศึกษาสายสามัญและสายอาชีพทั้งระดับอุดมศึกษาและต่ำกว่า และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงาน

นายสลิล โตทับเที่ยง ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า สถานการณ์การขาดแคลนแรงงานทำให้ผู้ประกอบการหลายแห่งเริ่มประสบปัญหา เนื่องจากช่วงเศรษฐกิจไม่ดีก็เลิกจ้าง พอเศรษฐกิจดีขึ้นก็ต้องการแรงงานเพิ่ม เพื่อให้เพียงพอกับกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่ปัญหาก็คือ ช่วงนี้ราคายางพารา ปาล์มน้ำมันดีขึ้น ส่งผลให้แรงงานกลับเข้าสู่ภาคเกษตรกรรม ไม่กลับมาสู่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ

"ถือว่าเป็นปัญหาพอสมควร ผู้ประกอบการหลายแห่งจึงได้แก้ปัญหาโดยการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน เช่น บริษัทผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด(มหาชน) ผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ปุ้มปุ้ยปลายิ้มก็ได้นำแรงงานกัมพูชาที่ทางรัฐบาลไทยไปทำ MOU กับประเทศกัมพูชาเข้ามาทำงานเนื่องจากประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานในท้องถิ่น สามารถแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง" นายสลิลกล่าว

ด้านนายอรุณ หมัดเหล็ม หัวหน้าสำนักงานจัดหางานจังหวัดตรัง กล่าวถึงการช่วยเหลือแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศว่า พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 กำหนดให้จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ รวมทั้งเพื่อช่วยเหลือคนงานที่ถูกทอดทิ้งอยู่ในต่างประเทศได้เดินทางกลับประเทศไทย ซึ่งผู้ที่จะเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศทุกคนต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานฯทุกคน

ทั้งนี้อัตราค่าสมัครจะแตกต่างกัน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มทวีปยุโรปอเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ไต้หวันเกาหลี คนละ 500 บาท 2.กลุ่มบรูไน กาตาร์คูเวต ทวีปเอเชีย คนละ 400 บาท และ3.กลุ่มประเทศอื่น ๆ คนละ 300 บาท

(ประชาชาติธุรกิจ, 28-8-2553)

บีโอไอคลอดเกณฑ์ใช้แรงงานต่างด้าว

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการอนุกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าว สำหรับบริษัทที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ โดยจะนำเสนอต่อคณะกรรมการบีโอไอชุดใหญ่ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 13 ก.ย.นี้ ซึ่งจะไม่ให้กับบริษัทที่ลงทุนใหม่ ต้องเป็นบริษัทที่เคยได้รับบีโอไอมาก่อนและใช้สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากบีโอไอหมดแล้ว และขยายการลงทุนเพิ่มเติม โดยต้องเป็นบริษัทที่ลงทุนในไทยมานานกว่า 20 ปี เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท แรงงานต่างด้าวที่นำมาใช้ต้องถูกกฎหมาย และมีสัดส่วน 15% ของแรงงานที่จะจ้างใหม่

ทั้งนี้ มีบริษัทอิเล็กทรอนิกส์อยู่ 1 แห่งที่ขอใช้สิทธิ์แรงงานต่างด้าวกับบีโอไอมาแล้ว ซึ่งเท่าที่สำรวจพบว่ามีบริษัทที่เข้าเกณฑ์สามารถขอใช้แรงงานต่างด้าวได้มากกว่า10 แห่ง บริษัทเหล่านี้คงรอดูหลักเกณฑ์ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร และคงต้องรอดูข้อสรุปจากคณะกรรมการบีโอไอว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ เพราะเรื่องนี้เคยหารือในคณะกรรมการบีโอไอมาแล้วแต่ส่งกลับมาให้พิจารณาใหม่

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการนโยบายส่งเสริมการลงทุนยังได้พิจารณาในเรื่องของการสนับสนุนส่งเสริมการตั้งศูนย์ข้อมูล (ดาต้า เซ็นเตอร์) ในประเทศไทย เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันสหรัฐอเมริกาและยุโรปสนใจที่จะมาตั้งศูนย์ข้อมูลในไทยมากขึ้น โดยจะให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปีในทุกเขต พร้อมกันนี้ยังกำหนดหลักเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนการคัดกรองคุณภาพข้าวแบบครบวงจรตั้งแต่เริ่มผลิตจนถึงส่งออก เพื่อจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนส่งเสริมการสร้างบ้านที่พักอาศัยในเขต 1 เพิ่มเติมให้ครอบคลุมอีก 6 จังหวัด และขยายวงเงินเป็น 1.2 ล้านบาท จากเดิมที่กำหนดไว้ 1 ล้านบาทจากที่สมาคมก่อสร้างเสนอขอให้ขยายวงเงินเพิ่มเป็น 1.5 ล้านบาท โดยเรื่องทั้งหมดจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบีโอไอวันที่ 13 ก.ย.เช่นกัน

(ข่าวสด, 28-8-2553)

จัดหางานทำสงครามสาย-นายหน้าเถื่อน

กรมการจัดหางาน - นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ตามที่กรมการจัดหางานรับมอบหมายจากนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้นำนโยบายด้านแรงงานของนายกฯ แถลงต่อรัฐสภาแสดงความห่วงใยแรงงานไทยที่ต้องการให้เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างเป็นธรรม โดยให้กระทรวงแรงงานดำเนินมาตรการเพื่อลดต้นทุนในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศของแรงงานไทย ตลอดจนปราบปรามการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ เพื่อให้นโยบายดังกล่าวเกิดเป็นรูปธรรม กรมการจัดหางานจัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมภาครัฐและเอกชน โดยเชิญผู้รับอนุญาตจัดหางานทั่วประเทศมาร่วมกำหนดมาตรการและโครงการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ข้อสรุปว่ากรมการจัดหางานและผู้รับอนุญาตจัดหางานร่วมกันทำสัตยาบัน แสดงเจตนารมณ์ไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดและต่อต้านการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ นำไปยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เรียกสัตยาบันนั้นว่า "ปฏิญญา 3 สิงหา เพื่อการทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี"

นอกจากนี้ การตั้งชุดเฉพาะกิจปราบปรามสาย/นายหน้าจัดหางานเถื่อน โดยจะดำเนินการกวาดล้างจับกุมอย่างเข้มงวดต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อกดดันให้สาย/นายหน้าเถื่อนเข้ามาอยู่ในระบบมีสังกัดที่ชัดเจนและมีบัตรลูกจ้างอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ขณะเดียวกันก็จะพยายามทำสัญญาจัดส่งแรงงานไปทำงานกับประเทศคู่ค้าแบบรัฐต่อรัฐเพื่อลดค่าใช้จ่ายและแก้ไขปัญหาการหลอกลวงคนหางาน

(ข่าวสด, 28-8-2553)

ชาวหาดเสี้ยวโวยบ.รับเหมา เบี้ยวค่าแรงโครงการไทยเข้มแข็ง

สุโขทัย:ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนชาวบ้าน ต.หาดเสี้ยว พร้อมด้วยชาวบ้านกว่า 50 คน ได้รวมตัวกันประท้วงที่ด้านหน้าโครงการระบบส่งน้ำและอาคารประกอบโครงการชลประทานชุมชน (แม่สูง) บ้านป่างิ้ว ต.หาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย เพื่อเรียกร้องขอค่าแรงและค่าเครื่องจักรในการทำงานให้โครงการไทยเข้มแข็งแล้วไม่ได้รับเงินจากเจ้าของโครงการ คือชลประทาน

นายชัยนันท์ สงค์มณี ชาว ต.หาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ผู้รับงานเครื่องจักร รถแบ็คโฮล สิบล้อ ทั้งหมด 25 คัน กล่าวว่า ตนได้ถูกว่าจ้างมาทำงานโครงการส่งน้ำของชลประทานตั้งแต่เดือน ก.พ. 2553 แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับเงินค่าแรงในการทำงานเลย ซึ่งตนทราบมาว่าทางรัฐบาลได้จ่ายเงินมาแล้วก้อนหนึ่งจำนวน 20 กว่าล้านบาท ให้บริษัทที่รับงานจากชลประทานแต่ไม่ยอมจ่ายให้คนงาน จึงอยากวอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมาตรวจสอบ โดยกลุ่มคนงานที่มารวมตัวกันประท้วง จะให้แกนนำทำหนังสือยืนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย แรงงานจังหวัด กรมชลประทาน และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ต่อไป

นายบุณลือ ตรีพรหม นายช่างชลประทานชำนาญงาน หัวหน้าควบคุมงาน กล่าวว่า โครงการดังกล่าว เป็นโครงการส่งน้ำดาดคอนกรีตยาว 22.304 กม. เริ่มโครงการวันที่ 10 ก.พ. 2553 สิ้นสุด 30 มี.ค. 2555 ด้วยงบประมาณไทยเข้มแข็ง 95,540,000 บาท โดยมีบริษัทแห่งหนึ่ง เป็นผู้รับจ้าง แต่ชาวบ้านและคนงานที่มาร้องเรียนนั้นทราบว่าเป็นคนงานของบริษัท ทริปเปิ้ล มิลเลี่ยน คอนส์ ซึ่งเป็นบริษัทเหมาช่วงจากบริษัทแรกอีกทอดหนึ่ง โดยเงินของโครงการได้จ่ายให้กับบริษัทรับเหมาไปแล้วเบื้องต้น 20 กว่าล้านบาท ส่วนจะนำไปจ่ายให้กับคนงานหรือไม่นั้นโครงการไม่ทราบ แต่การที่มีบริษัทผู้รับจ้างได้จ่ายงานให้กับบริษัทอื่นนั้น แล้วแต่จะทำสัญญากันเอง แต่บริษัทผู้รับจ้างจะกระทำการใดๆ ต้องแจ้งให้โครงการทราบ หากทำโดยพละการถือว่าผิดระเบียบอาจถูกยกเลิกหรือเพิกถอนสิทธิ์ได้

ด้านนายปองพล ถาวรวงศ์ ประธานบริษัท ทริปเปิ้ล มิลเลี่ยน คอนส์ กล่าวว่า ตนเป็นบริษัทซึ่งรับเหมาช่วงอีกทอดหนึ่ง ซึ่งได้ทำสัญญาไว้กับบริษัทดังกล่าว โดยได้นำคนงานและเครื่องจักรเข้ามาทำงานให้โครงการทั้งหมดใช้เงินไปแล้ว 16 ล้านกว่าบาท แต่ยังไม่ได้รับเงินแม้แต่บาทเดียว โดยบริษัทรับเหมาโครงการอ้างว่าตนหยุดงานไป 3 เดือน จึงไม่ยอมจ่ายเงินให้ แต่ตนมีหลักฐานการทำงานซึ่งได้ถ่ายรูป ระบุเวลาวันที่ไว้ชัดเจนว่าไม่เคยหยุดงานเลย จึงอยากให้ชลประทานลงมาตรวจสอบความชัดเจน

(แนวหน้า, 29-8-2553)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท