Skip to main content
sharethis

แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแกเผยชาวบ้านแจ้งให้พนักงานของ กฟผ.ทั้งหมดออกจากพื้นที่ทับสะแก แต่ผู้บริหารกลับไม่แจ้งให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่รู้ จวก กฟผ.ลอยแพพนักงานแล้วจะบอกว่ารักชาวบ้านแล้วใครจะเชื่อ

วานนี้ (30 ส.ค.2553) นางสาวสุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก ซึ่งคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแกของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่นายมงคล สกุลแก้ว ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงาน กฟผ.ได้ตอบคำถามในที่ประชุม“สถานการณ์และทิศทางพลังงานไทย” เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา ว่า กฟผ.ไม่มีนโยบายก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแก แต่เมื่อชาวบ้านขอหนังสือยืนยันกลับให้ไม่ได้ จึงเกิดการโต้เถียงกันนำไปสู่มติของชาวบ้านที่แจ้งให้พนักงานของ กฟผ.ทั้งหมดออกจากพื้นที่ทับสะแกโดยด่วน แต่ผู้บริหาร กฟผ.กลับไม่แจ้งให้ผู้ปฏิบัติงานของ กฟผ.ในพื้นที่ทราบ
 
“เราเข้าใจได้ว่าผู้บริหาร กฟผ.พร้อมจะลอยแพพนักงาน กฟผ.ระดับปฏิบัติการตามยถากรรม ขนาดลูกน้องของตัวเองยังไม่รักแล้วจะบอกว่ารักชาวบ้าน ใครมันจะเชื่อ” นางสาวสุรีรัตน์ กล่าวและว่า ขณะนี้ตำรวจจากสภอ.ทับสะแกได้แจ้งให้กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก ทราบว่า ผู้ปฏิบัติงานของกฟผ.ทราบเรื่อง เข้าใจสถานการณ์ดีและได้ขนของออกจากพื้นที่ทับสะแกไปหมดแล้ว
 
นางสาวสุรีรัตน์ กล่าวอีกว่า กฟผ.อ้างว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 5เมกกะวัตต์ ใช้พื้นที่ 100ไร่ เป็นโครงการพิเศษนอกแผนงานและโครงการ แต่ไม่สามารถตอบคำถามชาวบ้านได้ว่าที่ดินที่เหลืออีก 3,900 ไร่ในทับสะแก จะทำอะไร 
 
แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแกกล่าวด้วยว่า ในการสำรองไฟฟ้าตามแผนพีดีพี 2010 ที่คณะกรรมการพลังงานชาติที่มีนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ควรมีมาตรฐาน 15 % ตามระดับสากล แต่ กฟผ.ทำเกินไปถึง 20-40%ตลอดระยะเวลา 20 ปี รวมประมาณ 10,000 เมกกะวัตต์ จึงยังมีเวลาเหลือเฟือที่จะไปหาคำตอบการใช้ประโยชน์ที่ดินของ กฟผ.ในทับสะแกทั้ง 4,000 ไร่ ไม่ต้องรีบร้อน
 
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแกได้เดินทางไปร่วมการสานเสวนา “สถานการณ์และทิศทางพลังงานไทย” ที่โรงแรมมณเฑียร ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และได้ยื่นจดหมายให้กับ กฟผ.โดยจดหมายดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
 
 
27 สิงหาคม 2553
 
เรื่อง แจ้งให้ทราบแผนแม่บทไฟฟ้าของชาวประจวบฯ “ห้ามสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก๊าซ นิวเคลียร์”ในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ตลอดไป
 
เรียน ผู้ว่ากฟผ.
 
ตามที่กฟผ.ได้ดำเนินการวางแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า(แผนพีดีพี)ร่วมกับกระทรวงพลังงานนั้น เราขอแจ้งให้ทราบว่า....แผนพีดีพี.ฉบับดังกล่าว ว่ายังไม่ผ่านการอนุมัติจากชาวประจวบคีรีขันธ์
 
เพราะจากการตรวจสอบพบว่า..ขัดแย้งกับแผนแม่บทด้านพลังงานไฟฟ้าของชาวประจวบฯ ในหลายประเด็น อาทิเช่น
 
1.ยังไม่มีความชัดเจนว่า ทั้งกฟผ.ที่ถือครองที่ดิน 4,00ไร่ที่ ต.นาหูกวาง อ.ทับสะแก และบริษัทลูกๆเช่น..บริษัทราชบุรีพาวเวอร์.ถือครองที่ดิน 1,500 ไร่ที่บ้านกรูด ต.ธงชัย อ.บางสะพาน..บริษัทแอ๊คโค่ที่ถือครองที่ดินประมาณ 1,000ไร่ ที่บ้านบ่อนอก อ.เมือง เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าในจังหวัดประจวบฯ จะไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก๊าซและนิวเคลียร์ตลอดไปในเขตพื้นที่ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
 
2.ตัวเลขต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าเชื้อเพลิงถ่านหิน ก๊าซ และนิวเคลียร์ ในแผนพีดีพี ยังไม่รวมต้นทุนภายนอกเช่นค่าก่อสร้างสายส่ง ค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม ผลกระทบทางสุขภาพ เป็นต้น
 
และถ่านหินจะมีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมสูงที่สุด ต้นทุนที่แท้จริงของโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงสูงกว่าราคาคุยของ กฟผ.
 
อย่ายัดเยียดให้ประเทศชาติจนแต้มแค่ ถ่านหิน นิวเคลียร์ ถ้ามีไฟฟ้าเหลือเฟือประชาชนตายหมดก็ไม่มีประโยชน์ เราต้องการให้ก่อสร้างพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด เพิ่มการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (DSM) ให้เต็มศักยภาพ เรียนรู้จัดการรบริหารการใช้ไฟฟ้าในช่วงการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ก่อนคิดสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่แห่งใหม่ให้ขัดแย้งกับชุมชน
 
3.ตัวเลขไฟฟ้าสำรองตามแผนพีดีพีของ กฟผ.ส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง20-40% สูงเกินค่ามาตรฐานสากลและของไทยคือ 15% หาก กฟผ.ไม่มีความสามารถในการบริหารไฟฟ้าสำรองได้ในเกณฑ์มาตรฐาน ควรพิจารณาข้อบกพร่องของตัวเอง
 
เราจึงเห็นว่า การตั้งใจสำรองไฟฟ้าให้สูงเกินความจำเป็นสะท้อนถึงการไร้ประสิทธิภาพของกฟผ.ในการบริหารระบบไฟฟ้าและเกรงว่าจะถูกใช้เป็นวิธีการของพวกเหลือบที่จ้องจะแสวงหาผลประโยชน์ มากกว่าจะคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างแท้จริง
 
4.กฟผ.ต้องกล้ายอมรับความจริงว่า ทั้งกฟผ.และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน สวมหมวก2ใบ คือเป็นทั้งเป็นผู้วางนโยบายและแผนผลิตไฟฟ้าของประเทศ ในขณะเดียวกันก็เป็นทั้งเจ้าของโรงไฟฟ้าและผู้บริหารบริษัทที่ได้รับสัมปทานผลิตไฟฟ้า การวางนโยบายไฟฟ้าของไทยจึงขาดความโปร่งใส…
 
นี่เป็นเพียงเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เราไม่อนุมัติแผนพีดีพี.ฉบับนี้ จนกว่าจะมีการปรับปรุง และเราจะถือว่า แผนแม่บทของเรามีสถานะสูงกว่าแผนพีดีพีของกฟผ.เมื่อมาอยู่ในเขตของจังหวัดประจวบฯ
 
จึงขอแจ้งให้ทราบโดยทั่วถึง
ขอแสดงความนับถือ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net