Skip to main content
sharethis

องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทยออกแถลงการณ์เรียกร้องให้เกิดการบังคับใช้กฎกระทรวงเกี่ยวกับการห้ามลงโทษเด็กทางร่างกายในโรงเรียนอย่างเข้มงวดมากขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์ที่เด็กมัธยมประมาณ 40 คนในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมาถูกครูลงโทษโดยการตีอย่างรุนแรง

วันนี้ (31 ส.ค.) องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทยออกแถลงการณ์เรียกร้องให้เกิดการบังคับใช้กฎกระทรวงเกี่ยวกับการห้ามลงโทษเด็กทางร่างกายในโรงเรียนอย่างเข้มงวดมากขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์ที่เด็กมัธยมประมาณ 40 คนในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมาถูกครูลงโทษโดยการตีอย่างรุนแรง

“ไม่มีเด็กคนใดสมควรถูกลงโทษทางร่างกายในโรงเรียน” แอนดรู มอริส รองผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทยกล่าว “กระทรวงศึกษาได้ออกกฎกระทรวงที่ห้ามลงโทษเด็กด้วยความรุนแรง ดังนั้นครูหรือเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนคนใดที่ใช้วิธีการลงโทษด้วยความรุนแรงสมควรให้ถูกออก หรือถูกเอาผิดทางวิชาชีพหรือทางกฎหมาย”

การเรียกร้องของยูนิเซฟเกิดขึ้นหลังจากรายงานข่าวเกี่ยวกับการตีเด็กในโรงเรียนต่างๆ  ซึ่งเหตุการณ์ล่าสุดรายงานข่าวทางโทรทัศน์เมื่อวันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม ได้นำเสนอคลิปวิดีโอที่ครูสอนศิลปะในโรงเรียนมารีย์วิทยาในจังหวัดนครราชสีมา ใช้ไม้หวายพันด้วยเทปพันสายไฟเฆี่ยนตีเด็กหลายคนด้วยความรุนแรง ทำให้เด็กๆ หลายคนมีบาดแผลและรอยช้ำ โดยสื่อมวลชนได้นำเสนอคลิปวิดีโอและภาพดังกล่าวอย่างแพร่หลาย

รายงานข่าวยังระบุว่า ครูคนดังกล่าวลงโทษเด็กเนื่องจากเห็นว่าเด็กทำความสะอาดหอพักไม่เรียบร้อย ซึ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์ครูคนนั้นได้ถูกให้ออกจากโรงเรียนแล้ว

มอริสกล่าวว่า แม้จะมีกฎกระทรวงและระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติเรื่องการห้ามลงโทษเด็กด้วยวิธีการรุนแรง “แต่การตีเด็กยังเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในโรงเรียนหลายแห่งในประเทศไทย ครูบางคนไม่ตระหนักในกฎระเบียบดังกล่าว ในขณะที่ครูบางคนทราบดีแต่ไม่ใส่ใจที่จะปฏิบัติตาม”

มอริสบอกว่า ควรต้องมีการทำงานอีกมากในการสร้างความตระหนักในเรื่องนี้ เพื่อทำให้แน่ใจว่ากฎกระทรวงถูกบังคับใช้อย่างจริงจัง และเพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการอบรมครูในการใช้วิธีการอื่นๆ เพื่อสร้างระเบียบวินัยแก่เด็ก

อมาลี แม็คคอย เจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กองค์การยูนิเซฟ สำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกกล่าวว่า มีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าเด็กที่เคยถูกทำร้าย ถูกกีดกัน หรือมีประสบการณ์เกี่ยวกับความรุนแรงในโรงเรียนมักมีระดับการเรียนที่ต่ำ
กว่าเด็กที่ไม่ได้ผ่านประสบการณ์ดังกล่าว

แม็คคอยกล่าวว่าประเทศไทยและอีกหลายประเทศในภูมิภาคนี้ยังขาดนโยบายระดับชาติเกี่ยวกับการคุ้มครองเด็กในระบบการศึกษา ซึ่งนโยบายดังกล่าวอาจครอบคลุมถึงคู่มือสำหรับครูในการปฎิบัติต่อเด็กที่คาดว่าจะถูกทำร้าย ตลอดจนวิธีปฎิบัติที่เหมาะสมต่อเด็ก

“นโยบายดังกล่าวต้องระบุข้อห้ามการลงโทษทางร่างกายในโรงเรียน และควรระบุถึงคำแนะนำและวิธีการสำหรับครูในการปฎิบัติต่อเด็กซึ่งรวมถึงการสร้างระเบียบวินัยสำหรับเด็ก โดยจะต้องเป็นวิธีที่ไม่ใช้ความรุนแรงและเคารพต่อสิทธิเด็ก” แม็คคอยกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net