จับตาภาคประชาชน: อธิป วิชชุชัยอนันต์ และชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี NGO ในมุมมองคนทำสื่อ

อธิป วิชชุชัยอนันต์ และชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ในซีรี่ส์ "NGO เป็นไงในขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน" กิจกรรมตีปี๊บ "เวทีทบทวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย" โดยกลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย

 
 
ตอนที่ 31 อธิป วิชชุชัยอนันต์ Producer รายการทีวีกระต่ายตื่นตัว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

 

 
“สังคมเรามันไม่ยุติธรรม องค์กรนี้... เรารู้ว่าองค์กรนี้เค้าจะช่วยสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้น”
 
บทบาทของเอ็นจีโอ “ผมว่าก็ดีขึ้นเรื่อยๆ นะ แต่เหมือนเมื่อก่อนจะมีผลมาก อย่างสมัยก่อนเด็กๆ เราจะได้ยินว่าเอ็นจีโอทำตรงโน้น ตรงนี้ แต่สมัยนี้เหมือนกับว่ามันเริ่มหายไปหรือเปล่า”
 
“อย่างที่บอก คือมันน้อยลง ภาคประชาชนมัน... เหมือนมันเริ่มหายไป ยิ่งสังคมสมัยนี้มัน... อย่างผมที่เป็นวัยรุ่น เราจะเห็นว่าคนเรามันเริ่มอยู่กับตัวเองมากไปแล้ว ที่นี้ ทุกคนก็จะไม่สนใจปัญหาเลย เรื่องบ้านเมือง ก็รู้ว่ามันมาแล้วก็มันไป”
 
“ภาคประชาชนควรจะปลูกฝังไม่ว่าวิธีใดวิธีหนึ่ง แต่ว่าเปลี่ยนรูปแบบ ไม่ใช่แบบอย่างสมัยเดิมที่ทำแบบต้องมาประท้วงอะไรอย่างนี้ แต่มันมีอีกหลายวิธีที่สามารถทำให้เกิดผลลัพธ์ได้ ผมว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ แล้วอยากให้เยาวชนรู้ว่าสิ่งที่เราทำมันดี และไม่ได้ทำเพราะว่าเป็นผลประโยชน์ของใครบางคน” อธิป วิชชุชัยอนันต์ Producer รายการทีวีกระต่ายตื่นตัว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
    
 
00000
 
 
ตอนที่ 32 ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา และเลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
 
 
“ผมคิดว่า คำว่าภาคประชาชนนั่นก็คือการที่ ประชาชนคนที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันก็ดี หรือว่าสนใจในเรื่องเดียวกันก็ดีได้มารวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมทั้งร่วมกันแก้ไขปัญหาของพื้นที่ ของชุมชน หรือแก้ไปปัญหาที่กลุ่มประชาชนกลุ่มนั้นได้รับ ประสบร่วมกัน โดยดำเนินการโดยกลุ่มประชาชนด้วยกันเอง”
 
“เอ็นจีโอก็คือองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีบทบาทในการที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการรวมตัวกันของภาคประชาชน ในการที่จะสร้างเวที หรือช่วยกระตุ้นก็ดี หรือช่วยทำให้ภาคประชาชนสามารถรวมตัวกัน สามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ เอ็นจีโอก็จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำงานโดยมีความเข้าใจภาคประชาชน แล้วก็ต้องประสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว... ก็อาจจะ... มันมีเส้นแบ่งที่เปาะบางมากระหว่างภาคประชาชนกับเอ็นจีโอ ถ้าทำงานไม่เป็นเนื้อเดียวกัน มันอาจมีความเคลือบแคลง มีความสงสัย ในขณะเดียวกันเมื่อมีการเคลื่อนไหวในประเด็นที่ล่อแหลมหรือแหลมคม อย่างไปกระทบกับภาคการเมือง หรือภาคราชการ ถ้าไม่เป็นเนื้อเดียวจะถูกตั้งคำถาม หรือใช้เป็นจุดอ่อนในการที่จะทำให้การเคลื่อนไหว การเรียกร้องเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาของภาคประชาชนไม่เกิดผลอย่างที่ควรจะเป็น”
 
“ภาคประชาชนมีความสำคัญอย่างมากในการที่จะมีส่วนร่วม ที่นี้ปัญหาสำคัญก็คือว่าทำอย่างไรให้ภาคประชาชนรวมตัวกันนำเสนอปัญหาอย่างเป็นระบบทั้งในเชิงประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน และประชาชนที่ประสบปัญหาในเรื่องเดียวกัน เพราะฉะนั้นตรงนี้นอกจากจะรวมกลุ่มสะท้อนปัญหาแล้วก็คือนำเสนอการแก้ปัญหา แล้วก็ติดตามการแก้ปัญหา”
 
“การแก้ปัญหาผมคิดว่ามีทั้ง 2 ส่วนก็คือ ในส่วนของภาคประชาชนเองนั้นส่วนไหนที่แก้ปัญหาเองได้ ถ้าทำได้ก็ทำไปเลย ส่วนไหนที่ต้องการการสนับสนุน หนุนช่วยจากภาครัฐและภาคส่วนอื่นๆ อันนั้นก็ต้องทำร่วมกันไป แต่ส่วนใดที่ไม่สามารถทำเองได้ อันนี้ก็ต้องทำหน้าที่ในการติดตาม ตรวจสอบ เพื่อให้ภาครัฐ หรือภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการเพื่อแก้ปัญหา อันนี้ต้องทำให้ครบวงจร” ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา และเลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
 
....................................................
หมายเหตุ: กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย (Thai Social Movement Watch: TSMW) เป็นการรวมตัวกันของนักกิจกรรมทางสังคม นักพัฒนา อดีตนักพัฒนา นักศึกษา และนักวิชาการ ซึ่งมีความเกี่ยวข้อง สนใจ และห่วงใยในสภาวการณ์ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไทยภายใต้สถานการณ์ความ ขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท