Skip to main content
sharethis
 
4 ก.ย.53 เวลา 13.00 น. ที่ห้องเรียน 103 ตึก 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิศักยภาพชุมชนได้จัดการเสวนาในหัวข้อ “การเมืองบนท้องถนนของคนธรรมดา” โดยมีวิทยากร ได้แก่ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ จากกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง, นายแสงธรรม ชุนชฎาธาร จากโรงเรียนสาธิตมัฆวานแห่งมหาวิทยาลัยราชดำเนิน, น.ส.จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ และนางจินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด
 
นายแสงธรรม ชุนชฎาธาร มองการเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทยผ่านแว่นตาสีเหลืองว่า การเมืองบนท้องถนนมีความสำคัญต่อการพัฒนาการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของทุกประเทศ เมื่อใดที่การเมืองของรัฐบาลกระทบต่อประชาชนและไม่มีกลไกแก้ไข จำเป็นจะต้องมีการแสดงพลังบนท้องถนน
 
นายแสงธรรม กล่าวว่า สาเหตุของการเมืองบนท้องถนนเกิดจากนโยบายรัฐบาลที่ไม่เป็นไปตามความต้องการของประชาชน และการเกิดสิ่งผิดแปลกหรือแปลกปลอมขึ้นในระบบการเมือง ดังจะเห็นได้จากการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และการชุมนุมของคนเสื้อแดง ซึ่ง พธม.มีความชัดเจนคือต่อต้านระบอบทักษิณ และยังคงต่อสู้อยู่จนถึงปัจจุบัน
 
นายแสงธรรม กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของ พธม.ในสมัยรัฐบาลทักษิณว่า ได้ทำหน้าที่หลายเรื่อง ได้แก่ ตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่น, การละเมิดสิทธิมนุษยชน, ตรวจสอบกรณีกรือเซะ-ตากใบ, กรณีฆ่าตัดตอน 2,500 ศพในสงครามยาเสพติด และกรณีการเสียชีวิตของทนายสมชาย นีละไพจิตร และพระสุพจน์ สุวโจ
 
นอกจากนี้ นายแสงธรรม กล่าวด้วยว่า กลุ่ม พธม.มีความรู้สึกเช่นกันว่า รัฐประหารปี 2549 เป็นสิ่งแปลกปลอมทางการเมือง แต่ก็ไม่ได้แสดงออกอย่างชัดเจนเท่ากับคนเสื้อแดง และภายหลังรัฐประหาร ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ พธม.ได้ยุติการชุมนุมไป 1 ปี แต่หลังการเลือกตั้งได้นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี และมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 เรื่องการยุบพรรค และมาตรา 309 เพื่อนิรโทษกรรมให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้ พธม.กลับมาชุมนุมอีกครั้ง และเป็นการชุมนุมยืดเยื้อถึง 193 วัน  
 
นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด มองการเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านแว่นตาสีแดงว่า เสื้อเหลืองกับเสื้อแดงมีส่วนที่เหมือนกันอยู่ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และมีส่วนที่แตกต่างกันอยู่เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ส่วนที่เหมือนกันมักไม่ได้นำมาพูดคุย และส่วนที่ต่างกันนั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถประนีประนอมกันได้ เช่น ความคิดเรื่องอำนาจสูงสุดเป็นของใคร และการให้ความสำคัญกับความต่าง ทำให้ทั้งสองสีไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้
 
นายสมบัติกล่าวว่า การเมืองของคนเสื้อแดงครั้งนี้เป็นวิวัฒนาการทางประชาธิปไตย ซึ่งในปี 2475 เป็นการเปลี่ยนอำนาจจากหนึ่งคนมาเป็นคณะบุคคลกลุ่มหนึ่งที่เป็นอำมาตย์และขุนศึก ต่อมาเมื่อคนมีการศึกษามากขึ้น ปัญญาชนจึงต้องการส่วนแบ่งทางอำนาจจึงเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ขึ้น ทำให้ปัญญาชนมีพื้นที่ทางการเมืองนับแต่นั้นมา และในปี 2535 คนมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น จึงเป็นการต่อสู้ของชนชั้นกลางซึ่งได้รับชัยชนะและได้รับประโยชน์ ชนชั้นกลางจึงไม่มีความรู้สึกถึงคำว่า อำมาตย์
 
นายสมบัติกล่าวว่า ตัวละครสุดท้ายซึ่งกล่าวอ้างคำว่าประชาธิปไตยเช่นเดียวกับคณะราษฎรและชนชั้นกลางในปี 2535 เป็นตัวละครสุดท้ายของวิวัฒนาการประชาธิปไตยไทย คนกลุ่มนี้แทรกตัวอยู่ในทุกจุดของสังคม ในรูปของแม่บ้าน คนรับใช้ และ รปภ. การต่อสู้ครั้งนี้จึงไม่ใช่สงครามของชนชั้นกลาง แต่เป็นการต่อสู้ของยักษ์หลับซึ่งอยู่ชั้นล่าง เมื่อยักษ์ขยับตัว ชนชั้นกลางและชนชั้นสูงจึงตีความว่าเป็นการเคลื่อนไหวของทักษิณ เพราะชนชั้นล่างไม่เคยปริปาก ทำให้ชนชั้นกลางคิดว่าพวกเขาไม่รู้จักประชาธิปไตย การประเมินการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงว่าเป็นการขยับตัวของทักษิณ แสดงว่าไม่เข้าใจวิวัฒนาการทางรูปการจิตสำนึกหรือการเติบโตทางจิตวิญญาณของประชาชน และการกล่าวว่าชาวบ้านโปรทักษิณ ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่มีสิทธิในการต่อสู้
 
นายสมบัติกล่าวว่า ตนได้สร้างวาทกรรมขึ้นใหม่โดยนิยามศัพท์การเมือง 3 คำ ได้แก่
“อำมาตย์ เวอร์ชั่น 1.0” คือ การที่มีคนขีดเส้นแบ่ง แล้วกดปุ่มบอกว่าประชาชนต้องทำอะไรและต้องไม่ทำอะไร และการบังคับให้คนอยู่ในกรอบคิดว่าอะไรดี อะไรไม่ดี
 
“นักการเมือง 2.0” คือ กลุ่มคนที่มีความยืดหยุ่น ประนีประนอม และมีความสามารถเชื่อมโยงอำนาจระหว่างระดับบนและระดับล่าง
 
“ประชาชน 3.0” คือ คนที่ต้องการปกครองตัวเอง ซึ่งไม่ใช่การโค่นรัฐบาลอภิสิทธิ์ลงแล้วเอาคนของตัวเองมาเป็นเจ้านายแทน แต่หมายถึงชัยชนะในครั้งนี้ ผู้เป็นนายคือประชาชน ประชาชนเป็นผู้ควบคุมอำนาจ ผู้ปกครองต้องเปลี่ยนเป็นผู้แทนที่ประชาชนควบคุมได้ และต้องไม่มีใครใหญ่ไปกว่าประชาชน
 
นายสมบัติกล่าวว่า ปัจจุบันอำนาจหรือนโยบายกระจายออกไปในแนวดิ่ง การจัดสรรงบประมาณเริ่มที่รัฐสภาแล้วกระจายออกไปสู่จังหวัดไล่ลงไปถึงระดับหมู่บ้าน เปรียบกับการส่งแท่งไอติม เมื่อมาถึงหมู่บ้านก็เหลือแต่ไม้ ชาวบ้านไม่เคยชิมเนื้อไอติม แต่ในสมัยรัฐบาลทักษิณ งบประมาณถูกส่งตรงมายังกองทุนหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านได้ลิ้มรสไอติม แต่ยังไม่มีจิตสำนึกทางการเมือง ดังนั้นการเดินทางของชาวบ้านครั้งนี้จึงเป็นการตามหาคุณภาพชีวิตที่ดี เหมือนคนที่เดินหาต้นตอของปัญหาน้ำแห้ง และไปพบเขื่อนกักน้ำอยู่ที่ต้นน้ำ ซึ่งชาวบ้านพบว่านั่นคือระบบอำมาตย์
 
นายสมบัติกล่าวในตอนท้ายว่า นี่ไม่ใช่สงครามของตนเอง แต่เป็นสงครามของยักษ์ที่ขยับตัว จึงอยากให้ทุกคนให้โอกาส
 
น.ส.จิตรา คชเดช กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานไทยว่า คนงานไม่มีเครื่องมือที่จะต่อสู้กับนายทุน โดยที่นายทุนร่วมมือกับรัฐในการกำหนดสิ่งต่างๆ เช่น สวัสดิการ หรือค่าแรงขั้นต่ำ แรงงานที่มีทักษะสูงจึงไม่สามารถเสนอค่าแรงต่อนายจ้างตามความสามารถของตนได้
 
น.ส.จิตรา กล่าวว่าเนื่องจากแรงงานไม่มีเครื่องมือในการต่อสู้ จึงจำเป็นต้องออกมาเดินขบวนบนท้องถนนเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน แต่สิ่งที่ตามมาคือการถูกออกหมายจับ และถูกตำหนิจากผู้ที่มีรถยนต์ขับว่าเป็นสาเหตุของการจราจรติดขัดบนท้องถนน
 
น.ส.จิตรา กล่าวว่า ไม่ว่าจะรัฐบาลใดก็ตาม ปัญหาของแรงงานก็ไม่เคยได้รับการแก้ไข ในยุครัฐบาลทักษิณ มีการทดลองใช้สเปรย์พริกไทยกับคนงานบริษัทไทยเกรียง รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็มีการนำเครื่อง L-RAD ที่สามารถทำลายแก้วหูมาทดลองใช้กับคนงานไทรอัมพ์ และในที่สุดคนงานบางส่วนก็ถูกออกหมายจับ
 
น.ส.จิตรา มองว่าการเคลื่อนไหวของแรงงานเฉพาะภายในประเทศนั้นยังไม่เพียงพอ เนื่องจากการลงทุนมาจากต่างประเทศ และนายจ้างก็เป็นชาวต่างชาติ จึงต้องเดินทางไปต่างประเทศเพื่อสร้างเครือข่าย การเดินทางไปประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งแรงงานถูกเลิกจ้างพบว่าคนงานฟิลิปปินส์ที่เคลื่อนไหวก็ถูกออกหมายจับและถูกบริษัทฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อเดือนถึงเดือนละ 1 ล้านเปโซ
 
น.ส.จิตรากล่าวว่า รู้สึกประหลาดใจกับประเทศไทยว่าเหตุใดจึงไม่มีใครรู้สึกอะไรกับการฆ่าคนกลางเมืองหลวง แต่กลับมีคนออกมาช่วยกันทำความสะอาดครั้งใหญ่ และเมื่อใดที่มีการชุมนุมบนท้องถนนก็จะมีการฆ่าหรือการจับกุม ซึ่งหากไม่มีเสรีภาพบนท้องถนน เราก็ไม่สามารถจะมีประชาธิปไตยได้เลย การพยายามจะออกกฎหมายเพื่อควบคุมการชุมนุม จึงมีคำถามว่ายังมีพื้นที่สาธารณะเหลืออยู่ตรงไหนบ้าง เพราะพื้นที่หน้าโรงงานก็เป็นของนายจ้าง
 
น.ส.จิตรากล่าวด้วยว่า การเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองเป็นของตัวเอง เพื่อส่งตัวแทนเข้าไปในระบบการเมือง และเป็นปากเสียงให้กับการแก้ไขปัญหาของแรงงงาน
 
 
นางจินตนา แก้วขาว กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของขบวนการภาคประชาชนใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ว่า ชาวบ้านรวมตัวเคลื่อนไหวบนท้องถนนมาตั้งแต่ปี 2539 ซึ่งเป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องฐานทรัพยากร โดยคิดว่าเพื่อรักษาชีวิตของตัวเอง ความตื่นตัวทางการเมืองของชาวบ้านจึงเริ่มมีมาแล้วตั้งแต่ก่อนหน้าการชุมนุมของ พธม. ในปี 2548
 
การเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือสีเขียวนั้นต้องการคนทุกสีทั้งสีเหลืองและสีแดง แต่ที่เป็นปัญหาอยู่บ้างตอนนี้คือในสีเขียวเองนั้นก็มีทั้งสีเหลืองและสีแดง
 

ในตอนท้าย นายแสงธรรม กล่าวว่าเสริมว่า เห็นด้วยกับ บก.ลายจุดที่บอกว่า จริงๆ แล้ว สีเหลืองกับสีแดงมีจุดร่วมกันอยู่ อาจมีที่เหมือนกัน 80 และต่างกัน 20 แต่ตัวเขาอาจไม่ถึงขนาดสรุปเป็นเปอร์เซ็นต์ที่แน่นอนอย่าง บก. ลายจุด

จุดยืนหลักที่ต่างจากสีแดงของสีเหลืองคือ พวกเขาต้านระบอบทักษิณ ซึ่งเขาอธิบายคร่าวๆ ว่า ระบอบทักษิณนำไปสู่ปัญหาหลายด้าน เช่น กรณีกรือเซะ การขายหุ้นโดยไม่เสียภาษี การหายตัวไปของนักต่อสู้ และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่น่ากลัว ไม่แน่ใจว่าถ้าปล่อยให้ระบอบทักษิณยังอยู่ ตอนนี้ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

ส่วนที่เหมือนกันก็มีหลายประเด็น เช่นเรื่องการรัฐประหาร ตัวเขาเองก็ไม่เห็นด้วย และถึงตอนนี้ เขาคิดว่า ถ้าที่ผ่านมาไม่เกิดรัฐประหาร 19 กันยาเลย ก็คงจะดีมาก

ระหว่างการสนทนา มีผู้ซักถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งหลายอย่างไม่ต่างจากที่เคยเกิดขึ้นในรัฐบาลทักษิณ หรือจะเรียกว่า ระบอบทักษิณในรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ได้ ที่กรือเซะมีคนตาย ที่ผ่านฟ้าและราชประสงค์ก็มีคนตายเช่นกัน ประเด็นนี้สีเหลืองมีจุดยืนอย่างไร แสงธรรมตอบว่า ที่ผ่านมาสีเหลืองก็วิพากษ์รัฐบาลอภิสิทธิ์ด้วย จากนั้นมีผู้ซักถามถึงการได้รับการปฏิบัติที่ต่างกันจากรัฐบาลระหว่างสีเหลืองและสี แดง แสงธรรมตอบว่า สิ่งที่ทำให้การสลายการชุมนุมระหว่างสีเหลืองกับสีแดงแตกต่างกันคือ เสื้อแดงมีคนกลุ่มหนึ่งที่มีอาวุธ มีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางไม่ใช้สันติ เห็นได้จาก ผู้เสียชีวิตนั้นไม่ได้มีเพียงคนเสื้อแดงเท่านั้น แต่มีทหารเสียชีวิตด้วย ขณะที่ม็อบสีเหลืองมีความพยายามยึดหลักสันติอหิงสาในการชุมนุมตลอดเวลา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net