Skip to main content
sharethis
 ชื่อบทความเดิม: รอมฎอนในความเคลื่อนไหว การต่อสู้เพื่อบ้านเกิดของชาวละงู
 
 
 
 
เผา – ร่างแผนแม่บทลดโลกร้อน ที่จัดทำโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ถูกนำมาเผาในเวทีคู่ขนานกับภาพบรรยากาศเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนแม่บทลดโลกร้อนครั้งที่ 4 ที่โรงแรมไดมอนท์พลาซ่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 25 สิงหาคม 2553
 
 
การรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์บ้านเมืองฉบับวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 2553 เกี่ยวกับท่าเรือปากบารา จังหวัดสตูล สร้างความวิตกตื่นกลัวให้ชาวบ้านในพื้นที่พอสมควร
 
ข่าวชิ้นนั้นรายคำให้สัมภาษณ์ของนายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมยังคงผลักดันโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ให้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็วๆ นี้
 
เป็นความพยายามหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2553 เห็นชอบ ผลการศึกษาการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือฝั่งอันดามัน และมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปศึกษาความเหมาะสมของทางเลือก และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของการพัฒนาในกรณีต่างๆ
 
“ในขณะที่ สนข.เองก็ได้ยืนยันว่า ประเทศไทยยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องมีท่าเรือในทะเลฝั่งอันดามัน และยืนยันว่าการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารามีความเหมาะสม จะทำให้เกิดการพัฒนาต่อเนื่องให้เป็นสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริจด์)
 
นั่นคือการรุกคืบของภาครัฐ สร้างความวิตกจริต ตื่นกลัวพอสมควร จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์การเฝ้าระวัง ตรึงพื้นที่ สอดส่ายสายตา จับตามองกลุ่มคนแปลกหน้ามากยิ่งขึ้น
 
ความวิตกดังกล่าว เห็นได้จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูลจะเดินทางไปร่วมเคลื่อนไหวใหญ่เวทีประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนแม่บทลดโลกร้อนครั้งที่ 4 ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่โรงแรมไดมอนท์พลาซ่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 25 สิงหาคม 2553 ไม่นาน
 
เมื่อผู้ใหญ่บ้านบ้านท่ามาลัย ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล แจ้งว่า ในวันเดียวกันนั้น จะมีรัฐมนตรีกระทรวงหนึ่ง พร้อมคณะจำนวน 12 คนลงพื้นที่มาเพื่อรับฟังชาวบ้านและแจกถุงยังชีพ ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ปากน้ำด้วย
 
เท่านั้นแหละความตึงเครียดและวิตกกังวลของชาวบ้านก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ
 
“กูไม่ไปแล้วสุราษฎร์ นู้เขาอิมาเอาบ้านแล้ว กูไม่ไป!” เสียงสะท้อนจากชาวบ้านถูกส่งปฏิกิริยาต่อๆกันไปเป็นลูกโซ่ กลายเป็นความตื่นตระหนกของชาวบ้านในกลุ่มเครือข่ายนี้ จนถึงกับต้องมีการระงับสติอารมณ์กัน พร้อมกับมีการตรวจสอบข่าวกันวุ่นว่า รัฐมนตรี ใคร คนไหนลงมา
 
“ถ้าหากเป็นไอ้เกื้อกูล พวกเราก็จะไม่ไปสุราษฎร์กัน” คือคำประกาศจากแกนนำเครือข่ายฯคนหนึ่ง
 
แต่เมื่อเวลาผ่านไปชั่วระยะหนึ่ง จึงได้มีการหารือกัน จนได้ข้อสรุปว่า ต้องแบ่งสมาชิกในเครือข่ายฯออกเป็นสองกลุ่ม
 
กลุ่มแรก ซึ่งเป็นชาวบ้านส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่บ้านปากบารา เพื่อติดตามดูว่ารัฐมนตรีคนไหนกันกันแน่ที่เดินทางมา พร้อมกับเฝ้าระวังสถานการณ์และไม่ประมาท
 
ส่วนชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งประมาณ 70 คนเดินทางไปจังหวัดสุราษฏร์ธานี
 
เวลา 20.30 น.รถโดยสารประจำทางหาดใหญ่ - สตูล จอดรอรับชาวบ้านหน้าโรงเรียนบ้านตะโละไส กลางดึกของเดือนรอมฎอน อันเป็นเดินแห่งการถือศีลอดของชาวมุสลิม รถคันนี้ถูกเหมาให้นำพาชาวบ้านกลุ่มนี้ไป
 
เราไปด้วยแหละมะ
 
อย่าไปแหละลูก การประท้วงไม่ใช่เรื่องหนุก
 
ให้ลูกไปด้วยแหละ ถ้ามะไม่ให้ลูกไป หากสักวันหนึ่งเราสูญเสียแผ่นดินบ้านเกิดไป แล้วลูกก็ไม่รู้จะไปอยู่ไหน?”
 
นั่นคือถ้อยคำโต้ตอบของแม่ลูกคู่หนึ่ง ที่ลูกคนหนึ่งดึงดันอยากไปให้ได้ด้วยใจมุ่งมั่น แม้ว่าพรุ่งนี้หน้าที่ของเขาคือต้องไปโรงเรียนก็ตาม
 
ที่สุดแล้วเด็กผู้หญิงคนนั้นก็ได้ไปสมใจอยาก ไม่นับพวกวัยรุ่นที่วิ่งร่อมาออดอ้อนขอไปด้วยอีกนับสิบกว่าคน รถเคลื่อนตัวออกจากอำเภอละงูตอนสามทุ่มครึ่ง จนเวลาประมาณ 04.00 น. ก็ถึงสถานีขนส่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี
 
ข้าวปลาอาหารที่เตรียมมาก็ถูกนำออกมาจัดแจงรับประทานกัน เพราะใกล้จะถึงเวลาที่ต้องถือศีลอดกันแล้ว กว่าจะได้กินอีกทีก็ต้องพระอาทิตย์ตกดิน
 
จากนั้นบางคนก็หาที่ทางงีบหลับเอาแรง บ้างก็ออกไปดูรถที่มาจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วภาคใต้ ที่ทยอยเดินทางมาถึง ตั้งแต่จากอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ยันอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
           
จนกระทั่งเวลา 08.00 น. ชาวบ้านที่เข้ามาร่วมงานได้เริ่มตั้งขบวน โดยเครือข่ายจากสตูลนำหน้า พร้อมตีกลองสร้างบรรยากาศให้คึกคักมากขึ้น
 
เด็กหญิงคนเดิม มือสองข้างทิ้งปากกาเลิกจับดินสอมาถือไม้ตีกลองแทน เธอเดินไปพร้อมกับชาวบ้านคนอื่นๆ เป็นขบวน พร้อมกับริ้วธงเขียวโบกสะบัด ป้ายผ้าหลายใบแสดงข้อความสะท้อนความเดือดร้อนของแต่ละท้องถิ่น
 
ผู้คนร่วม700 คนเคลื่อนขบวนพร้อมรถบรรทุกเครื่องขยายเสียง ป่าวประกาศโห่ร้อง เริ่มจากสถานีขนส่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีไปยังโรงแรมไดมอนท์พลาซ่า ระยะทาง 2 กิโลเมตรท่ามกลางความสนใจของผู้คนที่ผ่านไปมา
 
เวลา 09.17 น. เวทีคู่ขนานได้ถูกจัดตั้งขึ้นบริเวณด้านหน้าโรงแรมไดมอนท์พลาซ่า มีการขึ้นเวทีปราศรัยสลับสับเปลี่ยนกันของแกนนำแต่ละเครือข่ายฯ เรียกร้องความเป็นธรรมต่างๆ
 
“ร่างแผนแม่บทลดโลกร้อน หยุดแผนพัฒนาภาคใต้ หยุดโลกร้อน หยุดตอแหลแผนแก้โลกร้อน”
 
แต่ท่ามกลางความอึกทึกนั้น ก็ยังมีการติดต่อสื่อสารกันทางโทรศัพท์กับชาวบ้านที่ห้องประชุมอบต.ปากน้ำอยู่เป็นระยะๆ
 
จนกระทั่งสายปลายทางแจ้งว่า ข้าราชการการเมืองตำแหน่งสูงสุดในวันนั่น เป็นแค่ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น และเวทีประชุมได้ล่มไปเรียบร้อยแล้ว เพราะถูกชาวบ้านโห่ไล่
 
ข่าวนี้จึงยิ่งสร้างความฮึกเหิมให้ชาวบ้านที่มาร่วมเวทีที่สุราษฎร์ธานีไม่น้อย
 
เช่นเดียวกับเวทีประชุมสัมมนาร่างแผนแม่บทลดโลกร้อนที่ล่มไม่เป็นท่าเช่นกัน แม้นางอารญา นันทโพธิเดช รองเลขาสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ลงมาชี้แจงที่เวทีคู่ขนานด้วยตัวเองก็ตาม
 
ยิ่งใกล้เวลาละศีลอด ชาวบ้านก็ยิ่งอ่อนล้าและอิดโรยมากขึ้นไปอีก แม้จุดหมายปลายทางขากลับยังอยู่อีกไม่ไกล แต่พี่น้องละงูก็ตัดสินใจจอดรถ ลงไปรับประทานอาหารละศีลอดกันที่จังหวังตรัง
 
ใครจะวิตกยังไงก็ช่าง ถึงเวลากินก็ขอกินก่อนแล้วกันนะ พี่น้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net