Skip to main content
sharethis
 
5 ก.ย.53 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย ออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจกรณีการแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม เป็นผู้ช่วยผบ.ตร. เนื่องจากถูกสงสัยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของนายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวรี นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย ว่า
อุปทูตซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทย เดินทางมาพบตนที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ซึ่งตนได้อธิบายว่า รัฐบาลชุดก่อนๆ ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนดำเนินคดีและสอบสวนทางวินัยกับพล.ต.ท.สมคิด โดยผลการสอบสวนได้ข้อยุติว่า พล.ต.ท.สมคิดไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดตามกฎหมายและวินัย ดังนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จึงต้องพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายตามกฎคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ต่อไป
นายสุเทพ กล่าวต่อว่า การแต่งตั้งพล.ต.ท.สมคิดครั้งนี้ เนื่องจากพล.ต.ท.สมคิดอยู่ในอาวุโส 11 คนแรก ในลำดับที่ 2-3 ซึ่งตามกฎก.ตร. ระบุชัดเจนว่า เมื่อมีตำแหน่งว่างลง การแต่งตั้งโยกย้าย 33% ต้องจัดให้ผู้อาวุโสตามลำดับ ไม่สามารถปฏิบัติเป็นทางอื่นได้ ต้องทำตามกฎก.ตร. อีกทั้งกรณีนี้มีคณะกรรมการกลั่นกรอง ที่มีเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นประธาน ทำหน้าที่พิจารณาการแต่งตั้งโยกย้าย และส่งมาให้ก.ตร.พิจารณาในขั้นตอนสุดท้าย จึงขอให้อุปทูตซาอุดิอาระเบียเข้าใจว่า รัฐบาลไม่ได้แทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้าย และไม่ได้ช่วยเหลือ เข้าข้าง หรือแทรกแซงคดีของพล.ต.ท.สมคิด ซึ่งขณะนี้มีการรื้อฟื้นคดีดังกล่าวขึ้นมาใหม่ เนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ระบุว่า มีหลักฐานใหม่ ก็จะให้ดำเนินคดีไป ขอให้เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไทย ว่าจะพิจารณาไปตามพยานหลักฐาน
ผู้สื่อข่าวถามว่า แถลงการณ์ของซาอุดิอาระเบียอ้างว่า ตามมาตรา 95 ของพ.ร.บ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ตำรวจคนใดถ้ายังมีคดีความติดตัว ไม่เป็นที่สิ้นสุด จะต้องถูกออกจากราชการไว้ก่อน นายสุเทพตอบว่า ไม่ใช่ แถลงการณ์ดังกล่าวผิด เพราะเข้าใจข้อกฎหมายไม่ถูกต้อง ส่วนการแต่งตั้งพล.ต.ท.สมคิด เป็นผู้ช่วยผบ.ตร. จะกระทบต่อการฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบียหรือไม่ รองนายกรัฐมนตรีเห็นว่า ปัญหาความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ มีมา 20 ปีแล้ว จากกรณีปัญหา 3-4 เรื่อง ซึ่งรัฐบาลทุกชุดพยายามฟื้นความสัมพันธ์ ก็สามารถทำได้ระดับหนึ่ง แต่การฟื้นสัมพันธ์กับการปฏิบัติตามหลักกฎหมาย ต้องแยกประเด็นกันให้ชัดเจน
 

แถลงการณ์ฉบับเต็ม
สถานทูตซาอุฯ ไม่พอใจ กรณีแต่งตั้งผู้ช่วย ผบ.ตร.คนใหม่ พัวพันคดีอุ้มนักธุรกิจซาอุ
 
เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2553 สถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์ต่อประเด็นเกี่ยวกับมติของก.ตร.ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นประธานในการพิจารณาในตำแหน่ง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผู้บัญชาการตำรวจภาค 5 ผู้ต้องหา และพวกทั้ง 5 ในคดีการหายตัวของนายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย ในปี พ.ศ.2533 เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
 
 สถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียต้องการที่จะชี้แจงต่อข้อมูลที่ได้รับจากทางการที่ว่าพลตำรวจโทสมคิด บุญถนอม ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ตกเป็นจำเลย และคดีกำลังอยู่ในระหว่างชั้นศาล ซึ่งจะเริ่มต้นนับสืบพยานในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 หลังจากสำนักอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งฟ้องคดีดังกล่าว และมีความเห็นว่าหลักฐานที่รวบรวมโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอนั้นเพียงพอในการพิจารณาและได้สั่งฟ้องพล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผบช.ภ.5และพวกเป็นผู้ต้องหาคดีอุ้มฆ่านายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี่
 
 ตามมาตรา 95 พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติปี พ.ศ. 2547 ระบุว่า ข้าราชการตำรวจผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาหรือถูกฟ้องคดีอาญา จะต้องถูกสั่งพักราชการจนกว่าการพิจารณาคดีเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์
 
 ดังนั้นด้วยเหตุนี้ ทางสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่ทราบว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่าคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยมีมติว่า พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ไม่มีความผิดและได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งการที่คณะกรรมการตำรวจ หรือ ก.ตร.โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นประธานได้มีมติเลื่อนตำแหน่งให้พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอมซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาหรือคดีที่มีความผิดร้ายแรง
 
 ทางสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียรู้สึกแปลกใจต่อความขัดแย้งระหว่างความหมายที่ระบุอย่างชัดเจนของ พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ตามมาตรา 95 กับการปฎิบัติของทางคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติซึ่งมีเจตนาที่จะไม่เอาผิดทางวินัยต่อผู้ถูกกล่าวหาในคดีฆาตกรรมนายอัลรูไวลี่ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม และทางสถานทูตฯ รู้สึกกังวลเป็นอย่างยิ่งว่านายตำรวจระดับชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้ได้รับการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ซึ่งทางสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียได้ตระหนักถึงรูปคดีอาจส่งผลกระทบการดำเนินพิจารณาคดีความต่างๆที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่ต้องหา และเช่นเดียวกันทางสถานทูตฯคาดหวังอยู่ว่าการบังคับใช้กฎหมายต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่คำนึงถึงตำแหน่งและฐานะของบุคคลรวมถึงความสัมพันธ์ อันเป็นไปตามเจตนารมย์ของกฎหมาย
 
 ช่วงเวลาเหตุการณ์ในปัจจุบันทางรัฐบาลไทยได้มีความพยายามที่ดำเนินการไปแล้วในช่วงต้นปีที่จะคลี่คลายปัญหาทั้ง 3 คดีที่ยังค้างของซาอุดิอาระเบีย ซึ่งนับเป็นก้าวแรกในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและประเทศซาอุดิอาระเบีย

 ทางสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียเห็นว่าช่วงระยะหลังนี้แตกต่างกับระยะแรกในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
 ท่ามกลางข้อกังวล ต่อความทุ่มเทของทั้งสองประเทศในการสะสางคดีที่คงค้างในปัจจุบันเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศโดยตรง เกรงว่าจะประสบความล้มเหลว
 
 ท้ายที่สุด สถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียต้องการที่จะเน้นย้ำจุดยืนนโยบายของรัฐบาลซาอุดิอาระเบียถึงเรื่องการไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายใน ในแต่ละประเทศ และตระหนักถึงความอ่อนไหวของสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามทางสถานทูตฯ ได้เฝ้าติดตามต่อคำมั่นและสัญญาของรัฐบาลไทยต่อการปฎิบัติตามคำมั่นและรับประกันในกระบวนการยุติธรรม และมีความโปร่งใสรวมถึงการไม่เข้าไปแทรกแซงจากหน่วยงานใดๆ ต่อคดีของซาอุดีอาระเบียที่ยังค้างคาอยู่ เพื่อเป็นหนทางนำไปสู่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระหว่างราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียและประเทศไทยตามสัญญาที่รัฐบาลไทย ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ให้ไว้
 
 
 
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์และมติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net