Skip to main content
sharethis

ถอดความจากการอภิปรายของ พฤกษ์ เถาถวิล อาจารย์จาก ม.อุบลราชธานี ถึงสาเหตุและทางออกจากวิกฤติการเมืองไทย

เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา ที่จังหวัดขอนแก่นมีการประชุมทางวิชาการสังคมวิทยาภูมิภาคอีสาน จัดโดย มหาวิทยาลัยและองค์กรภาคีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา ในงานดังกล่าวมีการอภิปรายในหัวข้อ “ก้าวให้พ้นจากวิกฤติ : จินตนาการของภูมิภาคหลังวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง” ผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย นายสน รูปสูง, ผศ. พฤกษ์ เถาถวิล , ผศ.ดร. สมชัย ภัทรธนานันท์ และ ดร.สมพันธ์ เตชะอธิก ดำเนินรายการโดย นายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ ประชาไทเห็นว่าการอภิปรายของ ผศ. พฤกษ์ เถาถวิล มีเนื้อหาที่น่าสนใจ จึงสรุปการอภิปรายมานำเสนอ ดังต่อไปนี้  

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
 
สวัสดีครับผู้มีเกียรติทุกท่าน ในวันนี้ผมมี 3 ประเด็นที่จะพูด
 
ประเด็นแรก อยากจะเชิญชวนทุกท่านมาร่วมกันพิจารณาก่อนว่า วิกฤตการณ์ที่เราเผชิญอยู่ในเวลานี้คืออะไรกันแน่ เพราะเราจะก้าวไปข้างหน้าได้ก็ต่อเมื่อเรารู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร แน่นอนว่าวิกฤตครั้งนี้มีหลายมิติและหลายระดับ แต่ในที่นี้ผมอยากจะเสนอว่า วิกฤตการณ์ที่เป็นหัวใจของสังคมไทยในเวลานี้ก็คือ วิกฤติของการจัดการความขัดแย้ง พูดให้เข้าใจมากขึ้นก็คือภาวะที่รัฐล้มเหลวที่จะจัดการความขัดแย้งในสังคม ไม่ใช่รัฐไม่พยายามเข้าไปจัดการปัญหา แต่สิ่งที่ทำกลับเกิดผลในทางตรงกันข้ามก็คือ รัฐยิ่งจัดการความขัดแย้ง ความขัดแย้งยิ่งบานปลาย  ดังที่เกิดปัญหาตูมตามรายวัน และความไม่พอใจต่อกันมากขึ้นๆ ในตอนนี้
 
เมื่อพูดถึงความขัดแย้ง ก่อนอื่นเราคงต้องเข้าใจร่วมกันก่อนว่า ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาของทุกสังคม ยิ่งสังคมมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจการเมืองมาก ความขัดแย้งยิ่งมีมากขึ้น ประเด็นอยู่ที่ว่าสังคมจะมีสถาบันและกลไกจัดการความขัดแย้งให้อยู่ร่วมกันได้อย่างไร ประชาชนทุกประเทศมีกลุ่มก้อนที่เห็นแตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่พวกเขาไม่ลุกขึ้นมาฆ่าแกง หรือยุยงให้อีกฝ่ายถูกเข่นฆ่า ประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่ว่าความเห็นของพวกเขาจะถูกหรือผิด รัฐก็ไม่มีสิทธิไปล่าสังหารพวกเขา ไม่มีที่ไหนทำอย่างนั้น นอกจากรัฐเผด็จการแบบสุดๆ   
 
ถามต่อว่าสถานการณ์ที่เรียกว่าความล้มเหลวในการจัดการความขัดแย้งนี้เกิดจากอะไร ผมคิดว่าเกิดจากการที่สถาบันสำคัญต่างๆ ในสังคมไทยหมดความน่าเชื่อถือ หมายถึงสถาบันที่จะทำหน้าที่เป็นหลักยึดของความถูกต้องเที่ยงธรรมสำหรับทุกๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายตุลาการ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ทหาร ตำรวจ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่เคยเป็นความหวัง ส.ส., ส.ว. ได้สูญเสียความน่าเชื่อถือจากผู้คนในประเทศ ถึงไม่ใช่ประชาชนทั้งหมด แต่ก็เป็นคนจำนวนมากมายอาจจะถึงครึ่งค่อนประเทศ พูดง่ายๆ คือความเสื่อมของสถาบัน ทำให้สังคมไม่มีหลักยึดของความถูกต้องเที่ยงธรรมได้
 
ดังนั้นความขัดแย้งในสังคมไทย จึงอยู่ในภาวะไร้กรรมการ ไม่มีใครฟังใคร เพราะไม่มีใครน่าเชื่อถือพอที่จะฟัง
 
ความขัดแย้งในสังคมไทยทุกวันนี้จึงดำเนินไป โดยที่ฝ่ายมีอำนาจมากกว่าใช้อำนาจกดบังคับอีกฝ่ายไว้ และฝ่ายที่ด้อยกว่าก็รอวันเอาคืน บ้านเมืองที่ไร้ความเที่ยงธรรม ไร้กติกา ก็คือการกลับไปสู่ภาวะดิบเถื่อน ที่แก้ปัญหากันด้วยกำลัง นี่คือความเสื่อมทรุด นี่คือเส้นทางแห่งหายนะของสังคมโดยแท้ นี้คือประเด็นแรกที่ผมอยากจะชี้ชวนให้เห็นว่าคือวิกฤตที่สังคมเราเผชิญอยู่  
 
ประเด็นที่สอง ภาวะบ้านเมืองไร้ขื่อแปจนไม่สามารถจัดการความขัดแย้งอย่างสันติได้เกิดขึ้นได้อย่างไร ถึงวันนี้ไม่ว่าท่านจะมีทัศนะต่อรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ต่างกันอย่างไร คือบางกลุ่มก็ชื่นชมอัศวินม้าขาวที่มาช่วยแก้วิกฤตการณ์ทางการเมืองในปี 2549 ที่ว่ากันว่าเรามีนายกรัฐมนตรีที่โกงกินมากที่สุดและก็มีอำนาจเข้มแข็งที่สุด  ในขณะที่บางกลุ่มก็รับไม่ได้กับการรัฐประหารไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด แต่เหตุการณ์ในบ้านเมืองเราที่ย่ำแย่ตลอด 3-4 ปีมานี้ เราคงต้องยอมรับกันอย่างจริงจังแล้วว่ารัฐประหาร 19 กันยา 49 เป็นต้นทุนที่สูงลิบลิ่วที่เราต้องจ่ายสำหรับแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองในครั้งนั้น มันสูงมากจนเกินกว่าจะรับได้จริงๆ  
 
ว่ากันให้ชัดต่อปัญหาจากรัฐประหาร 19 กันยา คือมันได้ไปเชื้อเชิญอำนาจนอกระบอบรัฐสภาให้มาเป็นผู้แก้ไขปัญหา ซึ่งอำนาจนอกระบอบรัฐสภานี้ก็แล้วแต่จะเรียกกัน เช่นผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ กลุ่มอำมาตย์ ฯลฯ อำนาจนอกระบอบฯ นี้ได้ฟื้นคืนชีพขึ้นมา เหมือนไปปลุกผีที่เคยอาละวาดที่เคยเป็นปัญหาของประชาธิปไตยไทยมาโดยตลอดออกมาจากหม้อ และเมื่อมันออกมาจากหม้อแล้วก็ยากที่มันจะกลับคืนหม้อ
 
หลังจากนั้นอำนาจนอกระบอบรัฐสภานี้ก็มีบทบาทครอบงำสถาบันการเมืองไทย  มันเข้าไปแทรกแซง ชักนำ กำกับ หรือชักใยให้สถาบันต่างๆ ทิ้งหลักการบทบาทหน้าที่ที่ต้องเที่ยงธรรมต่อทุกฝ่าย ไปสนองความต้องการของกลุ่มอำนาจนี้
 
ในอีกทางหนึ่ง เราก็ได้เห็นกลุ่มมวลชนที่ทำอะไรก็ไม่ผิด ไม่เกินความจริงที่คนบางกลุ่มขนานนามกลุ่มมวลชนนี้ว่าว่า “ม็อบเด็กเส้น” ในที่นี้ผมไม่ต้องการมาตัดสินว่าเป้าหมายทางการเมืองของพวกเขาว่าถูกหรือผิด แต่ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า การที่ท่านทำอะไรก็ไม่ผิด และสถาบันหลักทางกฎหมาย การบริหาร องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอื่นๆ  การที่สถาบัน/องค์กรเหล่านั้นไม่สามารถเอาผิด หรือยอมให้ความผิดเกิดขึ้นโดยไม่เข้าไปจัดการ หรือกลับให้ท้ายเด็กเส้น นั้นก็คือการช่วยกันปู้ยี่ปู้ยำมาตรฐานทางสังคม ซึ่งนำมาสู่วิกฤตความน่าเชื่อถือของสถาบันต่างในสังคมไทยในเวลานี้
 
ดังนั้นในประเด็นนี้ผมอยากสรุปว่า รัฐประหาร 19 กันยา 49 คือที่มาของปัญหาในปัจจุบัน ทำให้กลุ่มอำนาจนอกระบอบรัฐสภาเข้ามามีบทบาทในการเมืองไทยกลุ่มอำนาจนี้คือตัวปัญหาหลักของสังคมไทยในเวลานี้ ซึ่งพวกเขาได้เข้าไปแทรกแซงสถาบันทางสังคมต่างๆ จนสูญเสียความน่าเชื่อถือ และก็ปล่อยหรือสนับสนุนให้เกิดม็อบเด็กเส้น ทั้งหมดนำมาสู่ความเสื่อมถอยของสถาบันกลายเป็นวิกฤตของสภาพบ้านเมืองไร้ขื่อแปในเวลานี้
 
ประเด็นที่สาม ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตการณ์ในขณะนี้ ประเด็นนี้อยากจะเรียนไปยังรัฐบาล รวมทั้งผู้สนับสนุนรัฐบาลทั้งหลายด้วย ผมพูดในฐานะนักวิจัยที่ได้ติดตามเก็บข้อมูลทั้งในสนามและจากสื่อทางเลือกอื่นๆ ผมอยากจะนำเสนอความคิดเห็นของกลุ่มผู้ประท้วงรัฐบาล ซึ่งท่านทั้งหลายหรือคนส่วนหนึ่งในสังคมอาจไม่ทราบเพราะมันไม่ได้รับอนุญาตให้รับรู้  
 
กล่าวโดยสรุป สำหรับกลุ่มผู้ประท้วงรัฐบาล พวกเขาคิดว่า รัฐบาลไม่มีความชอบธรรมที่จะปกครอง หรือพูดอีกแบบหนึ่งพวกเขาไม่ยอมรับการปกครองของรัฐบาล เพราะพวกเขาคิดว่า รัฐบาลได้ทำให้เกิดปัญหาต่อไปนี้ ซึ่งมีอยู่ 3-4 ประการเกี่ยวเนื่องกัน
 
ประการแรก เรื่องสองมาตรฐาน  คำนี้เป็นที่รู้จักกันทั่วไปใน 4 – 5 ปีมานี้ ไม่เพียงแต่ในหมู่ผู้ประท้วงรัฐบาล  สำหรับผู้ประท้วงรัฐบาลมันแทบจะเป็นคำขวัญ/เป้าหมายของการต่อสู้ของพวกเขาไปแล้ว พูดในภาษาชาวบ้านคือ ในเรื่องเดียวกันคนฝ่ายหนึ่งทำอะไรก็ผิด แต่อีกฝ่ายหนึ่งทำอะไรก็ไม่ผิด   สองมาตรฐานแสดงออกอย่างชัดเจนต่อเนื่องหลายมิติในช่วงเวลาที่ผ่านมา
  • การชุมนุมของฝ่ายหนึ่ง คดีความดำเนินไปอย่างล่าช้า แต่อีกฝ่ายหนึ่งถูกจับกุมคุมขังห้ามประกันตัว
  •  ทีวีช่องหนึ่งแพร่ภาพได้อย่างเสรี อีกช่องถูกปิดแล้วปิดอีก
  •  พรรคการเมืองของฝ่ายหนึ่งถูกตัดสินยุบในเวลาอันรวดเร็ว อีกพรรคหนึ่งเรื่องยังไม่ไปถึงไหน
  • การสลายการชุมนุม จนมีผู้บาดเจ็บล้มตาย ผู้ชุมนุมฝ่ายหนึ่งแทบจะถูกลืม แต่อีกฝ่ายหนึ่ง การเสียชีวิต  เป็นการทำเพื่อชาติ ห้างถูกเผาคนเสียใจ มีพิธีเอิกเกริก แต่คนตาย 91 คนไม่มีคนสนใจราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
  • ทหารกระตือรือร้นตอบสนองคำสั่งรัฐบาลเป็นพิเศษในการสลายการชุมนุมของฝ่ายหนึ่ง แต่ก่อนหน้านั้น ในสมัยก่อนรัฐบาลปัจจุบัน นอกจากไม่สนองคำสั่งรัฐบาล ยังรวมตัวกันออกทีวีตักเตือนรัฐบาล
  •  ล่าสุดการชุมนุมของคนบางกลุ่ม ทั้งที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ไม่มีความผิด แถมนายกฯ เชิญเข้าพบ และยังไปขึ้นเวทีชุมนุม ฯลฯ
 
ประการที่สอง ต่อเนื่องจากประเด็นแรก คือเรื่องที่อีกฝ่ายหนึ่ง รู้สึกว่า ไม่ได้รับการเหลียวแล เห็นใจ การได้รับคำขอโทษ ความรับผิดชอบ หรืออาจจะเรียกรวมกันว่าความยุติธรรม  เช่น
  •  การหาคนผิดที่สังหารผู้ชุมนุมตายไป 91 ชีวิต ที่ไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน, กรณีความตายที่วัดปทุมวนาราม ,  การตายของแกนนำบางคนที่เขารักและศรัทธา, การตายของสื่อมวลชนต่างประเทศ ทั้งญี่ปุ่น อิตาลี ที่ยังไม่มีความกระจ่างใดๆ
  • กรณีคนชุดดำที่รัฐบาลระบุว่าเป็นตัวการแต่ก็ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนใดๆ
  • การกล่าวคำขอโทษจากปากนายกรัฐมนตรี ต่อผู้ตาย ผู้บาดเจ็บ ในฐานะที่ท่านเป็นนายกฯของทั้งประเทศ เป็นผู้รับผิดชอบความสงบสุขของบ้านเมือง
  • การดูแลเยียวยาช่วยเหลือศพผู้ตาย ญาติมิตร รวมทั้งญาติมิตรผู้ที่ถูกจับกุมคุมขังที่ตกทุกข์ได้ยากไร้คนเหลียวแล
 
ประการที่สาม การใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขต ที่สำคัญคือกรณี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 
ที่จริง การประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน มีปัญหาตั้งแต่เริ่มประกาศใช้ว่ามีเหตุผลสมควรหรือไม่ ตั้งแต่วันที่ 7- 8 เมษายน ซึ่งมันกลับมีผลทำให้เกิดความกดดัน การเผชิญหน้า และมีความรุนแรงตามมา
 
  • การคง พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯภายหลังการสลายการชุมนุมในหลายจังหวัด ทำให้มีผู้ถูกจับกุมภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯจำนวนมาก
  • การจับกุมมีลักษณะตั้งข้อหาร้ายแรงเกินกว่าเหตุหลายข้อหาอย่างครอบคลุม หลักฐานการกระทำผิดประกอบการตั้งข้อหาไม่ชัดเจน จึงเป็นการจับแบบเหวี่ยงแห
  •  เมื่อถูกแจ้งข้อหาแล้วก็ถูกฝากขังในเรือนจำ โดยคำฟ้องของอัยการยังไม่ชัดเจน โดยไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทั้งๆ ที่พวกเขามีสิทธิที่จะได้รับการประกันตัวตามหลักกระบวนการยุติธรรม 
  • การปิดเว็บไซต์ ทีวี และสื่อมวลชนต่างๆ ปัจจุบันกล่าวกันว่าประเทศไทยมีการเซ็นเซอร์เหล่านี้ไม่ต่างจากประเทศเผด็จการบางประเทศ และอาจจะมีการเซ็นเซอร์มากที่สุดในโลกก็ได้  เมื่อวันก่อนรองนายกรัฐมนตรีได้ออกมาขู่หนังสือพิมพ์จำนวนหนึ่งที่ลงข่าวที่รัฐบาลไม่พอใจ
  • การถูกบังคับให้ดูทีวี หรือสื่อของรัฐ ที่ให้ข้อมูลฝ่ายเดียว และยังมีโฆษณารูปแบบต่างๆ โน้มน้าวให้ความหมายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงว่าเป็นพวกก่อการร้าย พวก....ฯลฯ  ทั้งที่คดีความยังไม่ยุติ
  • การกล่าวหาว่าหมิ่นสถาบัน ที่กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง 
  • การคุกคามผู้แสดงความเห็นต่าง เช่นกรณีที่ นักเรียนเชียงราย นักศึกษาที่จุฬาฯ    กรณีคุณสมบัติ บุญงามอนงค์ คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข อ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ  
 
ประการสุดท้าย การยังคงบริหารประเทศ โดยทำเหมือนว่าเราควรจะลืมๆ เรื่องที่ผ่านมา หรือเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
 
รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ขึ้นมาหลายชุด ได้แก่  คณะกรรมการสืบสวนสืบสวนข้อเท็จจริง คณะกรรมการปฏิรูป คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ
 
แต่ปัญหาก็คือ รัฐซึ่งเป็นคู่กรณีของความขัดแย้ง เป็นฝ่ายที่ตั้งกรรมการ คณะกรรมการจึงไม่มีความชอบธรรม ไม่มีความน่าเชื่อถือ และไม่เป็นที่ยอมรับจากอีกฝ่าย  และอีกฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งก็ไม่ได้เข้าร่วมเป็นกรรมการ ในขณะที่ในคณะกรรมการก็มีตัวแทนภาคประชาชนซึ่งเป็นอีกสีเสื้อหนึ่งเต็มไปหมด
 
คณะกรรมการต่างๆ ยังดำเนินการในบรรยากาศที่ยังมี พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และการใช้อำนาจรัฐอย่างเกินขอบเขต เป็นการปิดปากอีกฝ่ายหนึ่ง
 
ที่กล่าวมานี้คือเหตุผล ซึ่งเป็นที่มาของความคิดความรู้สึกของคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้เขาไม่ยอมรับการปกครองของรัฐบาล รัฐบาลอาจจะบอกว่านั้นคือเสียงส่วนน้อย แต่จากการเก็บข้อมูลของผมคาดว่าไม่น้อยเลย อาจจะไม่น้อยกว่าเสียงสนับสนุนรัฐบาล หรืออาจจะมากกว่าก็ได้ ถ้าไม่อย่างนั้นรัฐบาลคงไม่กลัวที่จะยุบสภาฯ อย่างที่ผ่านมาและที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
 
เมื่อคนจำนวนมากมายในแผ่นดิน ไม่ยอมรับอำนาจปกครองของรัฐบาล แต่รัฐบาลก็ยังจะปกครองต่อไปนี้ก็คือวิกฤตการณ์อีกด้านหนึ่ง ที่รัฐบาลยิ่งพยายามแก้ปัญหาแต่ปัญหากลับมากขึ้น
 
สรุปที่พูดมาทั้งหมด ผมเสนอว่าจินตนาการสู่อนาคต หรือการก้าวไปข้างหน้า เราต้องแก้ไขปัญหา 3 ระดับ แรกสุดสังคมไทยต้องถอยจากวิกฤตการณ์การปกครองในเวลานี้ คือรัฐบาลชุดนี้ควรจะถอยไป  สอง ช่วยกันยุติสองมาตรฐาน กอบกู้ความน่าเชื่อถือของสถาบันทางสังคมต่างๆ กลับมา สาม ช่วยกันส่งปีศาจกลับไปยังที่ๆมันควรอยู่ .
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net