สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 30 ส.ค. - 5 ก.ย. 2553

ค่ายรถโหมจ้างทำโอทีดูดแรงงาน

นางเพียงใจ แก้วสุวรรณ นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเปิดเผยว่า แม้หลายอุตสาหกรรมจะเกิดปัญหาแรงงานขาดแคลนแต่เชื่อว่าในภาคโรงงานผลิตรถยนต์จะไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในปีนี้ แม้ว่าผู้ผลิตจะเร่งกำลังการผลิตเป็น 2 กะ เพื่อทำยอดผลิตให้ได้ 1.6 ล้านคันตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ผลิตหันมาใช้การทำงานล่วงเวลา (โอที) และการฝึกอบรม (เทรนนิง) เพื่อดึงแรงงานที่ถูกปลดออกไปในช่วงที่การผลิตลดลงให้กลับมาทำงานอีกครั้งประกอบกับการเติบโตของอุตสาหกรรมส่งผลให้แรงงานกลับเข้ามาในอุตสาหกรรมตามเดิม

"นอกจากการให้ค่าแรงทำงานนอกเวลาแล้ว หลายโรงงานเริ่มจัดให้มีการฝึกอบรม ซึ่งหากพนักงานคนไหนทำได้ดี ก็จะสามารถเลื่อนขั้นจากซับคอนแทรกต์มาเป็นพนักงานประจำได้ แรงงานก็พอใจทำให้กลับมาทำงานกันมากขึ้น"นางเพียงใจ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ (ซัพพลายเออร์)ขนาดเล็กอาจจะประสบปัญหาในเรื่องของการหาแรงงานกลับเข้ามาเนื่องจากต้องแข่งขันกับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอื่น รวมถึงแข่งขันกันในกลุ่มซัพพลายเออร์เอง

ก่อนหน้านี้ มีการประเมินว่าแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ถูกเลิกจ้างในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จะทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานกว่า3 แสนอัตราในอุตสาหกรรมยานยนต์ จากปกติที่มีการใช้แรงงานมากถึง 7-7.5 แสนคน

(โพสต์ทูเดย์, 30-8-2553)

กล่อมเหยื่อแรงงานไทยในลิเบียถอนคำร้องทุกข์/โยน3หมื่นล้มคดีแรงงาน/บ.นายหน้า-กรมจัดฯดิ้น

ความคืบหน้ากรณีดังกล่าว วันที่ 29 ส.ค.2553 นายสนิท บุญทวี อดีตอบต.ไทยสามัคคี อ.หนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ ในฐานะผู้ประสานงานแรงงานไทยในลิเบีย เปิดเผยว่า หลังจากการร้องเรียน”นสพ.สยามรัฐ”และอดีตส.ว.กทม.ชัชวาล คงอุดม คอลัมนิสต์อาวุโส”นสพ.สยามรัฐ”วันที่ 19 ส.ค.53 ถึงความเดือดร้อนของแรงงานไทยที่ไปตกระกำลำบากทำงานก่อสร้างที่ประเทศลิเบียกับบริษัท ARSEL-BENA WA TASHEED JOINT VENTURE ของประเทศตุรกี โดยบริษัทจัดหางาน เงินและทอง พัฒนา จำกัด ผลปรากฎว่าแรงงานไทยกลุ่มดังกล่าวได้รับการช่วยเหลือให้เดินทางกลับมาอีก 19 คน และทยอยกลับเรื่อยๆ ตามการร้องเรียนของนางอนามัย นุวงศ์ ภรรยาคนงานนายวัชรพงษ์ สุขกมลกุล  ผ่านคอลัมน์”ชัช เตาปูน ตอบจดหมาย”รวมจำนวนแรงงานที่ได้กลับประเทศไทยราว 100  กว่าคน เหลือตกค้างอีกประมาณ 70-80 คน โดยตัวเลขยังไม่แน่นอน เพราะสอบถามแรงงานที่เพิ่งเดินทางกลับยังมีอาการเบลอๆพูดคุยยังไม่รู้เรื่องและหลายคนติดต่อไม่ได้  ส่วนที่ตกค้างหยุดงานหมดแล้ว และอยู่ในภาวะที่เครียดจัด  ไม่มีเงินซื้อข้าวปลาอาหาร ซึ่งน่าเป็นห่วงกลัวทำผิดกฎหมายลิเบียที่มีโทษหนักมาก

“ตอนนี้ทางบริษัทจัดหางานและเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน กระทรววงแรงงานมีความพยายามดิ้นรนที่จะให้แรงงานที่ร้องเรียกยุติเรื่องและถอนคำร้องทุกข์กับกรมการจัดหางานและสื่อมวลชน  โดยยื่นข้อเสนอจ่ายเงินชดเชยให้รายละ 30,000 บาท ซึ่งก่อนหน้านั้นทางบริษัทก็ได้มีการเกลี่ยกล่อมแถมข่มขู่ให้ถอนเรื่องแลกกับเงินชดเชยรายละ 5,000 บาทต่อมาก็เพิ่มให้เป็น 10,000 บาทและเพิ่มให้เป็น 15,000 บาทล่าสุดเป็น 30,000 บาท”ผู้ประสานงานแรงงานไทย กล่าวและว่า ขณะนี้บริษัทและเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานได้โทรศัพท์เพื่อเกลี่ยกล่อมแรงงานให้ถอนคำร้อง บางรายต้องปิดโทรศัพท์มือถือหนี ขณะเดียวกันบรรดาญาติของเหยื่อแรงงานก็ถูกโทรศัพท์ให้ถอนคำร้องเช่นกัน

อดีตอบต.ไทยสามัคคี กล่าวอีกว่า แม้บริษัทฯจะเสนอเงินค่าชดเชยดังกล่าวให้แลกกับการถอนคำร้องทุกข์ แต่แรงงาน ไม่ยอมรับ ซึ่งจุดยืนของแรงงานต้องเรียกร้องเงินเดือนค้างจ่ายที่บริษัทนายจ้างค้างอยู่ก่อน ทางกรมการจัดหางานต้องดำเนินการเรื่องนี้เสียก่อน ค่อยมาว่ากันถึงค่าชดเชยค่าหัวคิวของบริษัทจัดหางาน ซึ่งเก็บเกินกว่าที่กระทรวงแรงงานกำหนดอย่างแน่นอน

“หากยอมรับค่าชดเชย ทางบริษัทก็จะจ่ายเป็นเช็คจ่ายกรมการจัดหางานให้ทางกรมการจัดหางานดำเนินการจ่ายเงินให้กับแรงงานงานที่ลงชื่อยื่นร้องทุกข์เอาไว้ พร้อมกับพิมพ์คำร้องว่าแรงงานไทยได้รับเงินชดเชยการร้องทุกข์แล้ว จึงไม่ติดใจฟ้องร้องดำเนินการเอาผิดบริษัททั้งทางแพ่งและอาญา แนวทางก็จะเป็นแบบนั้นก็หมายถึงว่าบริษัทดำเนินการช่วยเหลือแรงงานอย่างถูกต้อง ซึ่งการเรียกร้องเงินค่าจ้างค้างจ่ายก็ถูกยกเลิกไปโดยปริยาย”นายสนิทกล่าวพร้อมยืนยันว่า การจ่ายเงินชดเชย 30,000 บาทดังกล่าวจะจ่ายเฉพาะแต่แรงงานที่เข้าชื่อร้องทุกข์ต่อนสพ.สยามรัฐเท่านั้น

นายสนิท กล่าวอีกว่า นอกจากเงินเงินค้างจ่ายที่แรงงานควรได้รับและเงินชดเชยที่บริษัทจ่าคืนค่าหัวคิวจะเป็นเท่าไหร่แล้ว อยากให้รัฐบาลโดยเฉพาะนายอิสระ สมชัย รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เข้ามาช่วยดูแลเรื่องการเยียวยาแรงงานที่เดือดร้อนกรณีนี้เหมือนๆกับการเยียวยากลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองที่สี่แยกคอกวัวและราชประสงค์ที่ได้รับการเยียว ใครบาดเจ็บได้ 30,000-40,000 บาท ใครบาดเจ็บมากนอนโรงพยาบาลก็ได้มากขึ้น ใครเสียชีวิตได้เงินชดเชย300,000-400,000 บาท  ส่วนกรณีคนงานเขาได้รับผลกระทบจากทำงานต่างแดน ไม่ได้มุ่งร้ายกับประเทศ แต่ไปหาเงินเข้าประเทศชาติ  จึงน่าที่จะหันมามองความเดือดร้อนพวกเขาบ้าง

“แรงงานก่อนเดินทางไปต่างประเทศก็ต้องกู้หนี้ยืมสินจ่ายค่าหัวคิวบริษัทนายหน้าคนละเป็นแสนๆและยังจ่ายเงินให้กับรัฐบาลค่าทำพาสปอร์ต 1,000 บาท ค่าวีซ่า 2,000-3,000 บาท ค่าประกันสุขภาพ 500 บาท กรมการจัดหางานได้ค่าบริการต่อหัวละ 10,000 บาท  ถึงเวลาแรงงานมีปัญหาที่มีน้อยมากแค่ 0.1%จากคนงานไปต่างประเทศ 10 ล้านคนนำเงินไหลบเข้าหน่วยงานต่างๆ เวลามีปัญหาน่าจะช่วยเหลือได้ แม้แต่กลุ่มคนที่ไปชุมประท้วงรัฐบาลยังออกเงินเยียวยา 100 กว่าล้านบาท”ผู้ประสานงานแรงงานไทยตกทุกข์ที่ลิเบีย กล่าวและว่า นอกจากนี้ นายกรณ์ จาติกวนิช รมว.คลังควรมาดูแลเรื่องภาระหนี้สินเงินกู้นอกระบบที่คนงานกู้ไปจ่ายค่าหัวคิวรายละ 1 แสนบาทขึ้นไปตอนนี้พวกเขาไม่มีปัญญาจ่ายค่าดอกเบี้ยและเงินต้นแล้วควรยื่นมือมาช่วยเหลือให้กู้สถาบันการเงินในระบบ ขณะเดียวกันนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศควรเร่งรัดประสานงานกับสถานทูตลิเบียให้ดูแลแรงงานส่วนที่เหลือเพื่อเดินทางกลับโดยเร็ว เพราะเทราบว่าขณะนี้หลายคนมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตแล้ว

(สยามรัฐ, 30-8-2553)

ค่ายรถโหมจ้างทำโอทีดูดแรงงาน

นางเพียงใจ แก้วสุวรรณ นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเปิดเผยว่า แม้หลายอุตสาหกรรมจะเกิดปัญหาแรงงานขาดแคลนแต่เชื่อว่าในภาคโรงงานผลิตรถยนต์จะไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในปีนี้ แม้ว่าผู้ผลิตจะเร่งกำลังการผลิตเป็น 2 กะ เพื่อทำยอดผลิตให้ได้ 1.6 ล้านคันตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ผลิตหันมาใช้การทำงานล่วงเวลา (โอที) และการฝึกอบรม (เทรนนิง) เพื่อดึงแรงงานที่ถูกปลดออกไปในช่วงที่การผลิตลดลงให้กลับมาทำงานอีกครั้งประกอบกับการเติบโตของอุตสาหกรรมส่งผลให้แรงงานกลับเข้ามาในอุตสาหกรรมตามเดิม

"นอกจากการให้ค่าแรงทำงานนอกเวลาแล้ว หลายโรงงานเริ่มจัดให้มีการฝึกอบรม ซึ่งหากพนักงานคนไหนทำได้ดี ก็จะสามารถเลื่อนขั้นจากซับคอนแทรกต์มาเป็นพนักงานประจำได้ แรงงานก็พอใจทำให้กลับมาทำงานกันมากขึ้น"นางเพียงใจ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ (ซัพพลายเออร์)ขนาดเล็กอาจจะประสบปัญหาในเรื่องของการหาแรงงานกลับเข้ามาเนื่องจากต้องแข่งขันกับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอื่น รวมถึงแข่งขันกันในกลุ่มซัพพลายเออร์เอง

ก่อนหน้านี้ มีการประเมินว่าแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ถูกเลิกจ้างในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จะทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานกว่า3 แสนอัตราในอุตสาหกรรมยานยนต์ จากปกติที่มีการใช้แรงงานมากถึง 7-7.5 แสนคน

(โพสต์ทูเดย์, 30-8-2553)

ก.พ.เล็งคลอดกฎสกัดคุกคามทางเพศ ต้องรับผิดทางวินัย ลวนลามเพศเดียวกันโดนด้วย

ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) นางเบญจวรรณ สร่างนิทร เลขาธิการ ก.พ. กล่าวเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ว่า ในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ ก.พ. จะเสนอร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการกระทำอันเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ หรือคุกคามทางเพศ พ.ศ... เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อแก้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในวงราชการ เนื่องจากที่ผ่านมา ก.พ. ได้รับการร้องเรียนจากข้าราชการจำนวนมากเกี่ยวกับปัญหาการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศ แต่ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก เพราะผู้เสียหายไม่กล้าระบุชื่อ ประกอบกับไม่มีข้อกฎหมายรองรับ แต่เชื่อว่าหลังกฎ ก.พ. ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ข้าราชการที่ถูกคุกคามทางเพศจะกล้าร้องเรียนมากขึ้น อีกทั้งจะช่วยให้ข้าราชการตระหนักไม่กล้ากระทำผิด

“หลัง ครม. เห็นชอบร่างกฎ ก.พ. ฉบับนี้แล้ว ก.พ. จะเร่งทำคู่มืออธิบายรายละเอียดลักษณะพฤติกรรมที่เข้าข่ายการล่วงละเมิดทางเพศให้ข้าราชการรับทราบโดยเร็วที่สุด พร้อมจัดประชุมชี้แจงส่วนราชการให้รับทราบ เพราะกฎก.พ. ฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับทันทีที่มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา อย่างไรก็ตาม กฎก.พ. ดังกล่าวจะใช้บังคับเฉพาะกับข้าราชการพลเรือนสามัญ 19 กระทรวงเท่านั้น ไม่รวมข้าราชการตำรวจ ทหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้พิพากษา อัยการ และข้าราชการการเมือง” เลขาธิการก.พ. กล่าว

นายพิรุณ เพียรล้ำเลิศ นิติกรผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานก.พ. กล่าวว่า กฎ ก.พ. ฉบับนี้มุ่งเอาผิดเฉพาะการปฏิบัติราชการ โดยเป็นกระทำระหว่างข้าราชการต่อข้าราชการ หรือข้าราชการต่อผู้ร่วมปฏิบัติราชการ เช่น ลูกจ้างในโครงการของส่วนราชการ ซึ่งขณะก่อเหตุไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่ราชการเท่านั้น จะอยู่ภายนอกก็ได้ แต่จะดูเจตนาของทั้ง 2 ฝ่ายเป็นหลัก ถ้าพบเป็นการสมยอมกันก็ไม่เข้าข่ายกระทำผิด แต่ถ้าฝ่ายผู้ถูกกระทำไม่ยินยอม หรือทำให้เกิดความเดือดร้อน รำคาญ ก็จะมีความผิดตามกฎ ก.พ. นี้ สำหรับความผิดตามในการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศจะเป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง เว้นแต่การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อต้นสังกัด ก็จะเข้าข่ายความผิดวินัยร้ายแรงตามมาตรา 85 ของพ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

นายพิรุณกล่าวว่า สำหรับพฤติกรรมที่เข้าข่ายการกระทำผิดตามกฎ ก.พ. มี 5 ประการคือ 1.กระทำการด้วยการสัมผัสทางกายที่มีลักษณะส่อไปในทางเพศ เช่น การจูบ การโอบกอด การจับอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นการกระทำเฉพาะชายกับหญิงเท่านั้น จะเป็นเพศเดียวกันก็ได้ 2.กระทำการด้วยวาจาที่ส่อไปในทางเพศ เช่น วิพากษ์วิจารณ์ร่างกาย พูดหยอกล้อ พูดหยาบคาย พูดจาสองแง่สามง่ามโดยที่อีกฝ่ายไม่อยากฟัง 3.กระทำการด้วยอากัปกิริยาที่ส่อไปในทางเพศ เช่น การใช้สายตาลวนลาม การทำสัญญาณหรือสัญลักษณ์ เช่น ชายจ้องมองอวัยวะผู้หญิง แต่กรณีนี้ต้องมีพยานหลักฐานยืนยันที่ชัดเจน 4.การแสดงหรือสื่อสารด้วยวิธีการใดๆ ที่ส่อไปในทางเพศ เช่น แสดงรูปลามกอนาจาร ส่งจดหมาย ข้อความ หรือการสื่อสารรูปแบบอื่น อาทิ ผู้ชายชายเปิดเว็ปไซด์ลามกแล้วเรียกผู้หญิงไปดู หรือส่งอีเมล์รูปโป๊ให้โดยอีกฝ่ายไม่เต็มใจ 5.การแสดงพฤติกรรมอื่นใดที่ส่อไปในทางเพศ ซึ่งผู้ถูกระทำไม่พึงประสงค์หรือเดือดร้อนรำคาญ

นายพิรุณกล่าวว่า ผู้มีหน้าที่พิสูจน์พฤติกรรมการกระทำผิดคือ ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการตามลำดับชั้น โดยผู้ร้องต้องมีหนังสือร้องเรียน พยานหลักฐาน หากคำร้องเรียนมีมูล ผู้บังคับบัญชาก็จะสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลในเบื้องต้น แล้วแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยเป็นกรณีๆ ไป ทั้งนี้ผู้ร้องเรียนไม่จำเป็นต้องเป็นคู่กรณี จะเป็นบุคคลภายนอกก็ได้ที่พบเห็นพฤติกรรมไม่เหมาะสม  อย่างไรก็ตาม ในการตรวจสอบข้อร้องเรียนต้องให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาด้วย เพราะมีหลายครั้งเป็นการสมยอม แต่ต่อมากลับถูกนำมาแบ็คเมล์ในภายหลัง

(มติชน, 30-8-2553)

พะเยาหนุนให้ความรู้ต่างด้าว ช่วยแก้ปัญหาหลบหนีเข้าเมือง

นายเริงณรงค์ ณียวัฒน์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดพะเยา เปิดเผยว่า เนื่องจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2553 ได้กำหนดให้แรงงานต่างด้าว สัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในราชอาณาจักรไทย ต้องเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 ก.พ. 2555 ซึ่งการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองมี 3 สัญชาติดังกล่าว ทางส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ยังประสบปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองอยู่ เพราะสภาพภูมิประเทศของไทยติดต่อกับชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สหภาพเมียนมาร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน(สปป.)ลาว และราชอาณาจักรกัมพูชา ทำให้มีการหลบหนีเข้าเมืองโดยไม่ผ่านขั้นตอนตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คนเข้าเมือง พ.ศ. 2552 เกิดขึ้น

โดยช่องทางหนึ่งที่จะสามารถช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้คือ การประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว โดยเน้นไปที่กลุ่มผู้ประกอบการ เครือข่ายประชาสัมพันธ์ ทั้งสถานีวิทยุชุมชน หนังสือพิมพ์ อย่างทั่วถึง เพื่อตระหนักถึงความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ ด้านเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกันป้องกันและแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว

(แนวหน้า, 31-8-2553)

อนุมัติ 22 ล้านช่วยแรงงาน 3 พันคนที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมเสื้อแดง

นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ มีมติเห็นชอบโครงการพัฒนาศักยภาพแรงงานเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างและนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมืองประมาณ 3,000 คน แต่ให้ปรับปรุงลักษณะการดำเนินโครงการให้มีลักษณะสอดคล้องกับโครงการต้นกล้าอาชีพ พร้อมอนุมัติงบประมาณ 22 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการ

“นายกฯ ตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินโครงการล่าช้าไปหรือไม่ เพราะเหตุการณ์ความไม่สงบผ่านมาหลายเดือนแล้ว และสอบถามกระทรวงแรงงานว่ายังมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือหรือไม่ แต่กระทรวงแรงงานยืนยันว่า การช่วยเหลือยังมีความจำเป็นอยู่ ครม.เศรษฐกิจจึงเห็นชอบให้ดำเนินโครงการต่อ แต่ให้ทำในลักษณะโครงการต้นกล้าอาชีพ พร้อมทั้งมีการปรับตัวเลขลูกจ้างที่สมควรได้รับความช่วยเหลือจาก 5,000 คน เหลือ 3,000 คนดังกล่าว” นายวัชระกล่าว

นอกจากนี้ ครม.เศรษฐกิจยังมีมติเห็นชอบมาตรการฟื้นฟูด้านการท่องเที่ยวและการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ โดยให้ยกเว้นการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าขั้นต่ำจากสถานประกอบการที่ต้องชำระค่าไฟฟ้าขั้นต่ำในปี 2553 (ม.ค.-พ.ค.) และต้องปิดกิจการหรือหยุดประกอบการกิจการตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤาภาคม ประกอบด้วย สถานประกอบการประเภทโรงแรม 10 ราย ซึ่งอยู่ในเขตการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และสถานประกอบการ 28 ราย

(คมชัดลึก, 31-8-2553)

สปส.เล็งเพิ่ม 6 สิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เตรียมเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน 6 เรื่อง คือ

- เพิ่มค่าคลอดบุตรจากครั้งละ 1.2 หมื่นบาทเป็น 1.3 หมื่นบาท

- เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรจากรายละ 350 บาท เป็น 400 บาท

- เพิ่มค่าทันตกรรมจากครั้งละไม่เกิน 250 บาท ปีละไม่เกิน 2 ครั้ง หรือ 500 บาท เป็นครั้งละ 300 บาท ปีละไม่เกิน 2 ครั้ง หรือ 600 บาท

- เพิ่มสิทธิในการให้บริการใส่รากฟันเทียม

- เพิ่มสิทธิในกรณีรักษาโรคจิต

- เพิ่มค่ารักษากรณีทุพพลภาพ จากเดือนละไม่เกิน 2,000 บาท เป็น 4,000 บาท

นอกจากนี้ ได้มอบให้ สปส.หาวิธีให้ผู้ประกันตนเข้าถึงบริการให้มากที่สุด โดยการจัดตั้ง "เคาน์เตอร์เซอร์วิส" ในสถานประกอบการ ซึ่งได้ขอความร่วมมือไปยังสถานประกอบการ ให้ส่งบุคลากรมาร่วมอบรม

(โลกวันนี้, 31-8-2553)

สปส.เล็งเพิ่ม 6 สิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เตรียมเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน 6 เรื่อง คือ

- เพิ่มค่าคลอดบุตรจากครั้งละ 1.2 หมื่นบาทเป็น 1.3 หมื่นบาท

- เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรจากรายละ 350 บาท เป็น 400 บาท

- เพิ่มค่าทันตกรรมจากครั้งละไม่เกิน 250 บาท ปีละไม่เกิน 2 ครั้ง หรือ 500 บาท เป็นครั้งละ 300 บาท ปีละไม่เกิน 2 ครั้ง หรือ 600 บาท

- เพิ่มสิทธิในการให้บริการใส่รากฟันเทียม

- เพิ่มสิทธิในกรณีรักษาโรคจิต

- เพิ่มค่ารักษากรณีทุพพลภาพ จากเดือนละไม่เกิน 2,000 บาท เป็น 4,000 บาท

นอกจากนี้ ได้มอบให้ สปส.หาวิธีให้ผู้ประกันตนเข้าถึงบริการให้มากที่สุด โดยการจัดตั้ง "เคาน์เตอร์เซอร์วิส" ในสถานประกอบการ ซึ่งได้ขอความร่วมมือไปยังสถานประกอบการ ให้ส่งบุคลากรมาร่วมอบรม

(โลกวันนี้, 31-8-2553)

คนระนองร้องตู้ ปณ.1111 ถูกพม่าแย่งอาชีพ

นายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เปิดเผยถึง กรณีปัญหาที่มีกลุ่มพ่อค้าชาวพม่าเข้ามาทำธุรกิจแข่งกับคนไทยทั้งเปิดกิจการ บริษัท ร้านค้า แผงค้าต่างๆ นั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว จนหลายฝ่ายเริ่มวิตกว่าหากปล่อยไว้จะส่งผลกระทบต่อระบบการค้าของไทย ในขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการดำเนินการใดๆ กับปัญหาดังกล่าว ทำให้ขณะนี้ผู้เดือดร้อน ได้ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังตู้ ปณ. 1111 ของสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อร้องเรียนความเดือดร้อนโดยตรงให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบ เพื่อได้รับทราบถึงความเดือดร้อน และสั่งการแก้ไขปัญหาต่อไป

โดยปัญหาดังกล่าวส่งผลมาจากการทะลักเข้ามาของแรงงานต่างด้าวที่มีอย่างต่อเนื่อง และช่วงหลังพบว่าเป้าหมายของแรงงานต่างด้าวได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่อดีตจะเข้ามาเพื่อหางานทำ แต่ปัจจุบันเป็นการเข้ามาเพื่อตั้งถิ่นฐานแทน ซึ่งการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้จะต้องไปแก้ที่ต้นเหตุนั่นคือหาทางสกัดกั้นไม่ให้แรงงานพม่าทะลักข้ามเข้ามายังฝั่งไทย ซึ่งหลายคนเห็นตรงกันว่าการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการค้าตามแนวชายแดนไทย-พม่า น่าจะเป็นด่านสกัดที่ดีที่สุด

แต่แผนงานดังกล่าวก็ยังไม่มีการขับเคลื่อนกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการขับเคลื่อนในเรื่องนี้จำเป็นจะต้องขับเคลื่อนโดยรัฐบาล ในขณะเดียวกันระหว่างการตั้งรับของฝ่ายไทยที่ยังไม่มีระบบที่ชัดเจนต่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้กลายเป็นช่องว่างและช่องทางให้ชาวพม่าเปลี่ยนเป้าหมายการเข้ามาในประเทศไทยจากการมาหางาน กลายเป็นการหาช่องทางการทำกิน ประกอบอาชีพ และตั้งรกรากแทน

นายนิตย์ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วย ที่จะต้องแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุดีกว่าที่จะต้องมาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เช่นปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะการเข้ามาตั้งรกรากของชาวพม่าในประเทศไทย ซึ่งพบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนยังไม่ตระหนักในเรื่องนี้ ซึ่งอีกไม่เกิน 10 ปี คาดจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบการค้าของไทย โดยเฉพาะในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดน

พ.อ.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 25 กองกำลังเทพสตรี ซึ่งมีภารกิจดูแลพื้นที่แนวชายแดนไทย-พม่า ด้านจังหวัดระนอง และชุมพร เปิดเผยว่า มีพม่าแฝงตัวเข้ามาเข้ามาประกอบธุรกิจแย่งอาชีพคนไทย อาทิการเปิดร้านโชว์ห่วย , เปิดบริษัทรับซื้อขายสินค้า , สัตว์น้ำ , ร้านเสริมสวย รวมถึงบางรายถึงขั้นใช้คนไทยบังหน้าเพื่อซื้อตึกหรืออาคารพาณิชย์เพื่อประกอบกิจการการค้า ซึ่งจากพฤติกรรมดังกล่าว ในเบื้องต้นได้มีการตรวจสอบแล้วยอมรับว่ามีจริง ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการภายในจังหวัด ซึ่งตั้งแต่นี้ต่อไปจะเริ่มปฏิบัติการกวาดล้างต่อไป

(เนชั่นทันข่าว, 1-9-2553)

ตม.ลุยไซด์งานก่อสร้างจับแรงงานเถื่อนกว่า 20 ราย 

พล.ต.ต.มนตรี โปตระนันท์ ผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 4 สนง.ตรวจคนเข้าเมือง นำกำลัง จนท.คณะทำงานปราบปรามจับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงานคณะที่ 3 รับผิดชอบ 19 จังหวัดอีสาน ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 125/2553 ลงวันที่ 2 มิย. และคำสั่งที่ 177/2553 ลงวันที่ 13 กค. จำนวนกว่า 20 นาย เข้าทำการปิดล้อมตรวจค้นภายในพื้นที่โครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียม บริษัทแผ่นดินทอง บริเวณติดกับห้างสรรพสินค้าแม็คโคร ริม ถ.มิตรภาพ ขอนแก่น ต.ในเมือง อ.เมือง นครราชสีมา หลังสืบทราบมาว่ามีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากลักลอบเข้ามาใช้แรงงานโดยผิดกฎหมายขณะกลุ่มแรงานต่างด้าวเมื่อพบเห็น จนท. ต่างพากันวิ่งหลบหนี แต่เจ้าหน้าที่ได้กระจายกำลังกันจับกุมได้ทั้งหมดจำนวน 24 คน มีชาย 18 คน หญิง 6 คน ทั้งหมดเป็นชาวกัมพูชา พร้อมกับควบคุมตัวนายวิชัย บุญแย้ม อายุ 62 ปี นายจ้างชาวไทย

จากนั้นนำตัวทั้งหมดมาตรวจสอบประวัติที่ สนง.จัดหางาน จ.นครราชสีมา ปรากฎว่าทั้งหมดไม่มีเอกสารอนุญาตทำงานในประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก่อนส่งตัวทั้งหมดให้ ร.ต.อ.สังเวียน ตรวจนอก พนักงานสอบสวน สภ.เมือง นครราชสีมา ดำเนินคดีในข้อหาหลบหนีเข้าเมือง และทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนนายวิชัย ฯ นายจ้าง จะถูกดำเนินคดีในข้อหา ให้ที่พักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใดๆให้บุคคล ต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองพ้นการจับกุม รับบุคคลต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน

แรงงานต่างด้าวที่ถูกจับกุมทั้งหมดได้ลักลอบเข้ามาโดยรถยนต์ เป็นยานพาหนะ มีนายหน้าทั้งคนไทยลักลอบนำเข้ามาใช้แรงงานก่อสร้างที่บริษัทดังกล่าว แรงงานต่างด้าวทั้งหมดต้องเสียค่าหัวรายละ 1-2 หมื่นบาทให้กับนายหน้าที่นำเข้ามาใช้แรงงาน โดยใช้ระบบผ่อน ซึ่งหลายรายยังต้องผ่อนชำระ สำหรับ ปัญหาแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ภาคอีสาน มีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ที่มีขนาดพื้นที่กว้างใหญ่ เป็นแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และสิ่งก่อสร้างต่างๆ กำลังเติบโตพัฒนา แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่จะลักลอบมาทำงานก่อสร้าง หรือตามโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย

(เนชั่นทันข่าว, 1-9-2553)

กวาดล้างแรงงานต่างด้าวเชียงใหม่ 200 คน

วันนี้ (1 ก.ย.) พ.ต.อ.พิศุทธ์ น้อยปักษา ผกก.สภ.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นางพรรณวดี พลอยทับทิม จัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยกำลัง ตชด.33 เชียงใหม่ กว่า 50 นาย เข้าปิดล้อมบริเวณถนนอัษฎาธร ต.ศรีภูมิ อ.เมือง หลังได้รับแจ้งว่า ที่บริเวณถนนดังกล่าว มีกลุ่มแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก ทั้งที่มีบัตรถูกต้อง และไม่มีบัตรมารอพบกับนายจ้างชาวไทย เพื่อขายแรงงาน พบกลุ่มแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่เป็นชาวไทยใหญ่กว่า 200 คน ยืนเรียงรายกันอยู่เต็มถนนทั้งสองฝากฝั่ง ทางเจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวขอเข้าตรวจสอบหลักฐานพบว่า เป็นบุคคลไม่มีบัตร 30 คน จึงควบคุมตัวทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน เพื่อผลักดันออกนอกประเทศต่อไป

(เดลินิวส์, 1-9-2553)

อึ้ง! แรงงานขาดแคลนหนัก อยุธยาเปิดประมูลยอมจ่ายแพง 500บาท/วัน ยังหาไม่ได้

เมื่อวันที่ 1 กันยายน ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการ สศช. แถลงภาวะทางสังคมไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ว่า ผลจากการที่เศรษฐกิจในช่วง 2 ไตรมาสแรก ของปี 2553 มีการขยายตัวที่ดี ส่งผลทำให้ปัญหาการว่างงานหมดไป โดยตัวเลขผู้ว่างงานในช่วงไตรมาสที่ 2 มีจำนวน 498, 700 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.3 ลดลงจากร้อยละ 1.8 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 แต่ผลจากการที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวสูงดังกล่าวส่งผลทำให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เป็นสิ่งที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และอาหารแช่แข็ง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่การส่งออกขยายตัวมากในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะฟื้นตัว จึงมีความความต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้น

“อุตสาหกรรมเหล่านี้ กำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างมาก ถึงขนาดบางนิคมอุตสาหกรรม เช่น ที่อยุธยา ต้องมีการเปิดประมูลหาแรงงาน ให้ค่าจ้างสูงถึง 500 บาทต่อวัน แต่ก็ยังหาไม่ได้เลย ขณะที่ตัวเลขความต้องการแรงงานของอุตสาหกรรมเหล่านี้ มีอยู่ประมาณถึง 1 แสนคน ” นางสุวรรณีกล่าว

นางสุวรรณี กล่าวต่อไปว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมเหล่านี้  เป็นสิ่งที่หน่วยงานที่รัฐบาลจะต้องให้ความสนใจและติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะนอกจากจะส่งผลต่อกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมเหล่านี้แล้ว อาจจะทำให้เกิดปัญหาทางสังคม ตามมาเป็นจำนวนมาก จากกรณีที่ผู้ประกอบการหลายราย นำแรงงานต่างชาติ เข้ามาทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

นางสุวรรณี กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของแรงงานไทย อีกประการหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ การขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพและทักษะ ฝีมือแรงงาน ขณะที่กลุ่มแรงงานระดับอาชีวศึกษา ก็มีปัญหาการตึงตัว เนื่องจากมีจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาส่วนใหญ่ เลือกที่จะศึกษาต่อ แทนการเข้าทำงานในสถานประกอบทันที ส่วนแรงงานกลุ่มที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า โดยเฉพาะสายสังคมศาสตร์ผู้ว่างงานมีมากกว่าตำแหน่งงานอยู่มาก ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ ควรจะเข้าไปดูรายละเอียดแผนการเรียนการสอน มากกว่ามุ่งเน้นแผนการขยายศูนย์การศึกษาเท่านั้น

นางสุวรรณี กล่าวต่อไปว่า สำหรับปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ครัวเรือนมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น ขณะที่หนี้ในระบบยังมีปัญหาความไม่เป็นธรรม โดยจากการสำรวจพบว่า หนี้สินภาคครัวเรือนส่วนใหญ่ เป็นหนี้ในระบบร้อยละ 82.4 หนี้นอกระบบร้อยละ 7.9 และเป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบร้อยละ 9.7  มีจำนวนหนี้สินในระบบ 127,715 บาทต่อครัวเรือน และจำนวนหนี้นอกระบบ 6,984 บาทต่อครัวเรือน โดยกลุ่มที่มีรายได้น้อยมีสัดส่วนหนี้นอกระบบต่อหนี้ทั้งหมดสูงกว่ากลุ่มที่มีรายได้สูงและมีปัญหาการชำระหนี้สูงกว่าในกลุ่มผู้มีรายได้สูง ปัญหาหนี้นอกระบบพบว่า ลูกหนี้ต้องรับภาระดอกเบี้ยสูงและมีการข่มขู่ทำร้ายจากการทวงหนี้

(มติชน, 1-9-2553)

ปลัดฯ แรงงาน เผยปี 54 ใช้งบ 700 ล้านบาท ผลักดันแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย

ก.แรงงาน 1 ก.ย.- นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับไปนอกราชอาณาจักรว่า ที่ประชุมได้พิจารณาอนุมัติวงเงินให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้ในการปราบปรามจับกุมและส่งกลับแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายในปี 2554 วงเงินกว่า 700 ล้านบาท ซึ่งเป็นการอนุมัติตามกรอบเดิมของปี 2553 โดยมีตัวชี้วัดทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพของแต่ละหน่วยงาน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการผลักดันกลับประเทศต้นทาง ซึ่งที่ผ่านมาเกิดปัญหาแรงงานต่างด้าวถูกส่งตัวกลับบริเวณชายแดนแล้ว แต่ก็สามารถลักลอบกลับเข้าประเทศใหม่ได้ทันที ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายได้ จึงมีแนวคิดที่จะหารือกับประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา เพื่อทำให้แรงงานที่ถูกส่งกลับสามารถกลับเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องได้ โดยให้แต่ละชาติทำการพิสูจน์สัญชาติแรงงานเหล่านั้น ก่อนส่งกลับแรงงานเข้ามาอย่างถูกต้อง เบื้องต้นมีการหารือกับทางการพม่าแล้ว ซึ่งเห็นด้วยในหลักการ ขณะที่ทางการลาวและกัมพูชาอยู่ในระหว่างการประสานงาน สำหรับแนวคิดที่จะทำให้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายซึ่งขณะนี้เชื่อว่ามีมากกว่า 1 ล้านคน ให้กลายเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมายตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานนั้น กรมการจัดหางานอยู่ในระหว่างการวางแผนงานก่อนเสนอรัฐมนตรีพิจารณา โดยยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าจะมีการเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวครั้งใหม่หรือไม่

(สำนักข่าวไทย, 1-8-2553)

บ.จัดส่งแรงงานมอบเงินช่วยเหยื่อถูกหลอก

นายสุวรรณ์ ดวงตา จัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ ออกมาระบุ กรณีแรงงานที่ถูกหลอกไปทำงานที่ประเทศลิเบีย เข้าร้องเรียนที่ สำนักงาน จ.บุรีรัมย์ ว่า ไม่ได้รับค่าจ้างจากนายจ้างที่ต่างประเทศ รายละ 1 - 2 เดือน สร้างความเดือดร้อนให้กับแรงงานไทย เนื่องจากกรณีดังกล่าว ทางสำนักงานจัดหางานจังหวัด ได้ประสานไปยังบริษัทที่จัดส่งแรงงาน ให้รับผิดชอบช่วยเหลือ โดยให้จ่ายเงินค่าดำเนินการให้กับแรงงาน นอกจากนั้นยังได้รายงานไปยังกรมการจัดหางาน เพื่อติดตามเร่งรัดค่าจ้างที่นายจ้างค้างจ่าย โดยเบื้องต้นบริษัทที่จัดส่งแรงงาน ได้ยินยอมที่จ่ายเงินช่วยเหลือให้กับแรงงานทั้ง 4 คน รายละ 35,000-40,000 บาท ซึ่งขณะนี้มีรายงานที่ถูกหลอกไปทำงานยังต่างประเทศจากนายหน้าเถื่อน เข้าร้องทุกข์ ที่สำนักงานจัดหางาน สะสมรวม จำนวน 102 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย รวม 7,000,000 บาท

(ไอเอ็นเอ็น, 1-9-2553)

ทูตไทยในลิเบียหวั่นแรงงานถูกเลิกจ้าง

นายโอภาส จันทรทรัพย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงตริโปลี ประเทศลิเบีย เปิดเผยว่า ได้รายงานข้อเท็จจริงให้กระทรวงการต่างประเทศทราบว่า ขณะนี้ทางการลิเบียเริ่มไม่พอใจแรงงานไทยบางกลุ่ม ที่ไปร้องเรียนผ่านสื่อในประเทศไทยว่า ไปทำงานในลิเบียแล้วประสบปัญหาเหมือนตกนรก  อาทิ ถูกโกงค่าแรง อ้างที่พักแอร์ไม่เย็น อาหารไม่อร่อย และข้อร้องเรียนบางเรื่องไม่เป็นเรื่อง เกินเลยความจริง และสิ่งที่ลิเบียไม่พอใจครั้งนี้ อาจกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ เพราะการจ้างงานทำในนามรัฐบาลผ่านบริษัทจัดหางาน

อย่างไรก็ตาม หลังจากแรงงานไทยมีปัญหาทางบริษัทนายจ้าง ได้ขอยกเลิกจ้างแรงงานไทยกลุ่มนี้ 90 คนแล้ว ตั้งแต่ 1 ส.ค. เพราะระอา คาดว่าจะส่งกลับถึงไทยในต้นเดือนก.ย.นี้ โดยทางบริษัทยอมเสียเงินค่าตั๋วเครื่องบินให้ทุกอย่าง ขณะนี้ได้ประสานบริษัทนายจ้างซึ่งรับปากจะชำระเงินเดือนที่ค้างทั้งหมดให้ก่อนเดินทางกลับ จึงไม่ต้องห่วงแม้เลิกจ้างแล้วทางบริษัทก็ยังให้ที่พักอาศัย พร้อมอาหารดูแลจนถึงวันเดินทางกลับ

นายโอภาสกล่าวว่า ได้ตรวจสอบแล้วปัญหาของแรงงานไทยที่ไปร้องเรียน เกิดจากได้รับค่าจ้างล่าช้า จึงคิดว่าทางนายจ้างจะเบี้ยว ในช่วงเดือนรอมฎอนหรือถือศิลอด ทุกบริษัทไม่ว่าจะเป็นบริษัทฝรั่ง หรือบริษัทไหนที่ทำงานให้กับทางการลิเบีย จะได้รับเงินค่างวดล่าช้า 3-5 เดือน ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ก็ได้เข้าไปช่วยเจรจาให้บริษัทนายจ้างให้จ่ายเงินเดือนแรงงานไทยก่อนเป็นกรณีพิเศษ ได้ชี้แจงไปว่าแรงงานไทยส่วนใหญ่ต้องกู้หนี้ยืมสิ้นเขามา จึงอยากให้ออกเงินตรงตามเวลา เพราะต้องนำไปใช้หนี้

"ทางการลิเบียได้มีการว่าจ้างแรงงานต่างชาติจากหลายประเทศเข้าไปรับทำงาน มีบริษัทจากตุรกี อียิป และแคนาดา แต่บิเบียชื่นชอบแรงงานไทย เพราะฝีมือดีมาก มีความปราณีต และยังอยากให้เข้ามามากๆ แต่ตอนนี้เกิดปัญหาขึ้นทั้งที่ไม่ใช่เรื่องก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อไทย ที่ผ่านมาแรงงานอินเดียและบังคลาเทศก็เคยมีปัญหาลักษณะนี้ จนถูกทางการลิเบียขึ้นแบล็กลิสต์ห้ามเข้าแล้ว ดังนั้นการที่แรงงานไทยสร้างปัญหาอาจทำให้แรงงานไทยโดยรวม ได้รับความเสียหาย หากรัฐบาลลิเบียขึ้นแบล็กลิสต์จะทำให้ตลาดแรงงานไทยในลิเบีย 2.6 หมื่นคนพังทันที ทั้งที่แรงงานเหล่านี้นำเม็ดเงินที่เข้าประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท"เอกอัครราชทูต ณ กรุงตริโปลีกล่าว

ทั้งนี้ ลิเบียเป็นตลาดแรงงานไทยที่ใหญ่มาก ขณะนี้กำลังพัฒนาประเทศอย่างมาก มีการลงทุนเงินเป็นแสนๆ ล้านในการพัฒนาประเทศ กำลังมีงานก่อสร้างมากมายทั้งประเทศ และจะมีการจ้างแรงงานจำนวนมากในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ถือเป็นโอกาสทองของแรงงานไทย จึงอยากให้ไทยเรารักษาตลาดนี้เอาไว้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เราเสียตลาดแรงงานที่เกาหลีไปแล้ว หลังเราถูกแบล็กลิสต์ เพราะแรงงานไทยชอบประท้วง จึงเป็นห่วงแรงงานไทยในลิเบียบางคนที่สร้างปัญหาอาจทำให้แรงงานไทยส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ

นายโอภาส กล่าวว่า อยากให้กระทรวงแรงานได้ทำความเข้าใจเรื่องกฎ-ระเบียบให้แรงงานไทยที่จะไปทำงานในลิเบียให้เข้าใจก่อน อยากให้กลั่นกรองแรงงานให้ดี เพราะเวลานี้มีหัวโจกเพียงไม่กี่คน ทำให้แรงงานส่วนใหญ่เดือดร้อน หากทางการลิเบียเลิกจ้างแรงงานไทย และหันไปใช้แรงงานฟิลิปปินส์ หรือแรงงานชาติอื่นแทนจะทำให้เราเสียหายมหาศาล เพราะสิ่งที่แรงงานไทยร้องเรียนทางการลิเบียเขากลัวเสียชื่อเสียง และเสียภาพพจน์ เพราะบริษัทที่เข้าไปรับงานทางลิเบียไม่เคยโกงชาติไหนเลย

 (โพสต์ทูเดย์, 1-9-2553)

“ที่ปรึกษาเฉลิมชัย” เรียกแจงปัญหาแรงงานลิเบีย พร้อมตรวจสอบพื้นที่

ที่รัฐสภา  นายสุธรรม นทีทอง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงปัญหาแรงงานไทยในลิเบียที่เรียกร้องให้กระทรวงแรงงานเข้าไปดูแลปัญหาแรงงานไทยที่กำลังประสบปัญหากับบริษัทนายจ้างในลิเบียว่า ขณะนี้ตนได้เรียกให้บริษัทจัดหางานที่เป็นผู้นำเข้าแรงงานไทยในลิเบียเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว และกำลังเชิญแรงงานไทยที่มีปัญหาดังกล่าวมาให้ข้อมูล ซึ่งตนจะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดก่อนเดินทางไปตรวจสอบสถานที่จริงของบริษัทนายจ้างในลิเบีย พร้อมเข้ารับข้อมูลจากสถานทูตไทยในลิเบีย จากนั้นจะนำข้อมูลทั้งหมดนำเสนอต่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานพิจารณาต่อไปด

ขณะที่นายโอภาส จันทรทรัพย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงตริโปลี ประเทศลิเบีย กล่าวว่าหลังจากมีปัญหาดังกล่าวตนได้เข้าไปจัดการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนทันที โดยตนพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กงศุลได้เดินทางไปประชุมกับผู้แทนแรงงานไทยบริษัท arsel-bena wa  tasheed joint  venture  จำนวน 13 คน โดยมีผู้แทนของบริษัทนายจ้างดังกล่าว และประธานบริษัทจัดหางานเงินและทองพัฒนา จำกัดร่วมประชุมด้วย โดยได้ชี้แจงให้แรงงานไทยเข้าใจว่าปกติการจ่ายค่าแรงงานที่ลิเบียจะเริ่มจ่ายในเดือนที่ 3 หลังเข้าทำงานแล้ว เพราะบริษัทส่วนใหญ่ทำงานให้กับทางการลิเบียและมีการเก็บเงินเป็นงวดๆจากรัฐบาล อย่างไรก็ตามมีปัญหาติดขัดบ้างจากรัฐบาลจึงทำให้บริษัทนายจ้างเก็บเงินล่าช้า แต่ไม่เคยมีบริษัทไหนไม่จ่ายหรือโกงแรงงานไทย

“การร้องเรียนของแรงงานไทย ถือเป็นเรื่องเกินเลยความจริง ไม่ว่าเรื่องโกงค่าแรงงาน ไม่ว่าตกนรกในลิเบีย ผมอ่านข่าวแล้วตกใจ เพราะหลายเรื่องเป็นการร้องเรียนแบบเรื่องไม่เป็นเรื่อง ไม่ว่าการอ้างที่พักแอร์ไม่เย็น ไม่ว่าอ้างอาหารไม่อร่อย อย่างไรก็ตามผมรับฟังปัญหาแล้วก็ช่วยเหลือแก้ไข หรือแม้กระทั่งช่วยประสานให้บริษัทนายจ้างซื้อข้าวมาให้แรงงานไทยเป็นกรณีพิเศษ เพราะต้องนำเข้าและมีราคาแพงมาก แต่แรงงานไทยยังไม่พอใจ ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน”

นายโอภาส กล่าวด้วยว่า ในช่วงเดือนรอมฎอนหรือถือศิลอด ทุกบริษัทไม่ว่าจะเป็นบริษัทฝรั่งหรือบริษัทไหนที่ทำงานให้กับทางการลิเบียจะได้รับเงินค่างวดล่าช้า 3-5 เดือน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ เป็นเหมือนกันทุกบริษัท อย่างไรก็ตามตนได้เข้าไปช่วยเจรจาให้บริษัทนายจ้างจ่ายเงินเดือนให้กับแรงงานไทยก่อนเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งได้ชี้แจงไปกว่าแรงงานไทยส่วนใหญ่กู้หนี้ยืมสิ้นเขามา จึงอยากให้ออกเงินตรงตามเวลา เพราะต้องนำไปใช้หนี้สินดอกเบี้ย ซึ่งไม่ได้เป็นความผิดบริษัทนายจ้าง

นายโอภาส กล่าวว่า ที่ลิเบียได้มีการว่าจ้างแรงงานต่างชาติจากหลายประเทศเข้าไปรับทำงาน โดยเฉพาะมีบริษัทจากตุรกี บริษัทอียิปและบริษัทแคนาดาที่เข้าไปรับงานทางการลิเบีย ต่างชื่นชอบแรงงานไทย เพราะฝีมือดีมาก มีความปราณีต ขยันและอดทน และต้องการให้เข้ามาเยอะๆ แต่ตอนนี้เกิดปัญหาขึ้นมาทั้งที่ไม่ใช่เรื่องก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อไทย เพราะที่ผ่านมาแรงงานอินเดียและแรงงานบังคลาเทศเคยมีปัญหาและถูกทางการลิเบียแบล็กลิสต์ห้ามเข้าแล้ว ซึ่งการที่แรงงานไทยสร้างปัญหาขึ้นมาอาจทำให้แรงงานไทยโดยรวมได้รับความเสียหาย หากรัฐบาลลิเบียแบล็กลิสต์แรงงานไทยจะทำให้ตลาดแรงงานไทยในลิเบีย 2.6 หมื่นคนพังทันที เป็นความเสียหายมหาศาลกับเม็ดเงินที่เข้าประเทศไทยปีนับหมื่นล้านบาท เป็นการทุบหม้อข้าวตัวเอง ทั้งที่ลิเบียเป็นตลาดแรงงานไทยที่ใหญ่มาก และขณะนี้เขากำลังมีการพัฒนาประเทศอย่างมาก มีการลงทุนเงินเป็นแสนๆล้านในการพัฒนาประเทศ กำลังมีงานก่อสร้างมากมายทั้งประเทศ และจะมีการจ้างแรงงานจำนวนมากในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ถือเป็นโอกาสทองของแรงงานไทยเราที่จะขนเงินกลับประเทศ จึงอยากให้ไทยเรารักษาตลาดนี้เอาไว้

นายโอภาส กล่าวด้วยว่าขณะนี้เราเสียตลาดแรงงานที่เกาหลีไปแล้วหลังเราถูกแบล็กลิสต์เพราะแรงงานไทยไปสร้างความวุ่นวายชอบประท้วง ตนจึงเป็นห่วงตลาดแรงงานไทยในลิเบียที่มีแรงงานก่อกวนแค่เล็กน้อยนที่อาจทำให้แรงงานไทยส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ ผมเห็นข่าวแล้วกลุ้มใจ เพราะบริษัทนายจ้างเขาจ้างแรงงานเป็นพันๆคนจากหลายชาติ แต่ไม่มีชาติไหนประท้วงวุ่นวายเหมือนแรงงานไทยเลย เป็นห่วงแรงงานนิสัยไม่ดีจำนวนน้อยจะส่งผลกระทบถึงแรงงานจำนวนมาก

“ผมได้รายงานข้อเท็จจริงมาที่กระทรวงการต่างประเทศแล้ว และทางการลิเบียเริ่มไม่พอใจกับปัญหาแรงงานไทย และอาจกระทบความสัมพันธุ์ระหว่างประเทศ และหลังแรงงานไทยมีปัญหาทางบริษัทนายจ้างได้ขอยกเลิกจ้างแรงงานไทยกลุ่มนี้ 90 คนแล้วตั้งแต่ 1 ส.ค. เพราะเบื่อระอา คาดว่าจะได้กลับถึงไทยต้นเดือนกันยายน โดยทางบริษัทยอมเสียเงินค่าตั๋วเครื่องบินให้ทุกอย่าง ขณะนี้ผมได้ประสานบริษัทนายจ้างซึ่งรับปากจะชำระเงินเดือนที่ค้างทั้งหมดให้ก่อนเดินทางกลับ จึงไม่ต้องห่วง และแม้เลิกจ้างแล้วทางบริษัทก็ยังให้ที่พักอาศัยพร้อมอาหารดูแลจนถึงวันเดินทางกลับ”

นายโอภาส กล่าวว่าจากนี้ไปก่อนส่งแรงงานไปลิเบียอยากให้กระทรวงแรงานได้ทำความเข้าใจเรื่องกฎ-ระเบียบให้แรงงานเข้าใจก่อน และอยากให้กลั่นกรองแรงงานให้ดี เพราะเวลานี้มีหัวโจกเพียงไม่กี่คนทำให้เดือดร้อนส่วนรวม ซึ่งหากทางการลิเบียเลิกจ้างแรงงานไทย และหันไปใช้แรงงานฟิลิปปินส์หรือแรงงานชาติอื่นจะทำให้เราเสียหายมหาศาล เพราะข่าวที่เกิดขึ้นทำให้ทางการลิเบียเขากลัวเสียชื่อเสียง กลัวเสียภาพพจน์ เพราะบริษัทที่เข้าไปรับงานทางลิเบียไม่เคยโกงชาติไหนเลย

นายโอภาส กล่าวด้วยว่าที่ผ่านมาแรงานไทยที่ไปทำงานที่ลิเบียหลายบริษัทมีสวัสดิการที่ดี คือเมื่อทำงานครบ 2 ปีจะได้ตั๋วฟรีกลับไทยมาเยี่ยมญาติพร้อมเงินเดือนให้เปล่า ซึ่งเขาให้สิทธิพิเศษแรงงานไทยประเทศเดียว เพราะชื่นชอบในฝีมือที่ดี ซึ่งใครที่ไปทำงานเกิน 2 ปีส่วนใหญ่กลับมาสบายหมด หากไม่นำเงินไปใช่สุรุ่ยสุร่าย

(แนวหน้า, 1-8-2553)

ปลัดแรงงานยืนยันเพิ่มสิทธิผู้ประกันตนอีก 6 กรณี ไม่กระทบกองทุน

นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) กล่าวถึงกรณีที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งให้ สปส.เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนอีก 6 กรณี ประกอบด้วย เพิ่มค่าคลอดบุตรจากครั้งละ 12,000 บาทเป็น 13,000 บาท เงินสงเคราะห์บุตรจากรายละ 350 บาท เป็น 400 บาท ค่าทันตกรรมจากครั้งละไม่เกิน 250 บาท ปีละไม่เกิน 2 ครั้ง เป็นครั้งละ 300 บาท ปีละไม่เกิน 2 ครั้ง สิทธิในการให้บริการใส่รากฟันเทียม เพิ่มสิทธิในการรักษาโรคจิต และเพิ่มค่ารักษากรณีทุพพลภาพจากเดือนละไม่เกิน 2,000 บาทเป็น 4,000 บาท ว่า เรื่องดังกล่าวเชื่อว่าจะไม่กระทบกับเงินของกองทุนประกันสังคม เพราะใช้เงินเพียงแค่ 1,000 ล้านบาท หากคิดจากฐานกำไรปีที่ผ่านมากว่า 24,000 ล้านบาท ถือว่าสัดส่วนที่ไม่มากจนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของกองทุนประกันสังคม แต่ในทางกลับกันผู้ประกันตนได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นถึง 6 กรณี

นายสมชาย กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมบอร์ด สปส.ครั้งที่ผ่านมายังอนุมัติให้ปรับสัดส่วนการลงทุนในหุ้นของกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 7-10 เป็นร้อยละ 7-11 เนื่องจากมองว่าภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องและเป็นช่วงขาขึ้น ขณะที่สถานการณ์ความผันผวนในตลาดหุ้นก็เริ่มนิ่ง แต่ก็ยังคงเน้นลงทุนในหุ้นที่มีเสถียรภาพ และหุ้นมีกำไรดี ทั้งนี้ ได้ประมาณการว่ากองทุนประกันสังคมจะมีกำไรเพิ่มขึ้นจากการปรับเพิ่มการลงทุนครั้งนี้ถึง 30,000 ล้านบาท

 (สำนักข่าวไทย, 1-9-2553)

จนท.พิทักษ์ป่า 5 หมื่นคนเคว้งถูกเลิกจ้าง

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่า มีลูกจ้างจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ได้มาร้องเรียนว่าลูกจ้างชั่วคราวของ ทั้ง 2 กรม ประมาณ 5 หมื่นคน กำลังจะถูกเลิกจ้าง เนื่องจาก ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระเบียบของ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ที่ได้มีหนังสือถึงกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ โดยอ้าง มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ส่วนราชการยุบตำแหน่งข้าราชการที่เกษียณอายุ ตำแหน่งลูกจ้างประจำหมวดแรงงาน ที่ว่างลง และให้ทบทวนงานที่สามารถถ่ายโอนให้เอกชนรับไปดำเนินการแทน ซึ่งจะกระทบกับลูกจ้างของ กรมอุทยานฯ โดยเฉพาะพนักงานพิทักษ์ป่าจำนวนกว่า 3 หมื่นอัตรา และลูกจ้างของกรมป่าไม้อีกประมาณ 2 หมื่นในอัตราทั่วประเทศ

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า ขณะนี้ ได้เรียกเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องของกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ มาหารือกันแล้ว ได้ข้อสรุปว่า กรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ ไม่สามารถใช้วิธีการจ้างเหมาโดยบริษัทเอกชนได้ เนื่องจาก ลักษณะงานไม่เหมาะสม ทั้งนี้ ลูกจ้างของกรมอุทยานฯ ส่วนใหญ่ ซึ่งมีมากกว่า 3 หมื่นคน จะต้องปฏิบัติงานในพื้นที่ป่า ทั้งในเรื่องการพิทักษ์รักษาป่า การลาดตระเวนสอดส่อง การดับไฟป่าและดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งต้องใช้คนท้องถิ่นในพื้นที่ ที่มีความชำนาญการเฉพาะตัว ไม่สามารถเอาคนของบริษัทเอกชนมาทำงานแบบจ้างเหมาได้ ทั้งนี้ ในเบื่องต้นได้ชี้แจงกับอธิบดีกรมบัญชีกลางแล้ว

“พนักงานพิทักษ์ป่าของกรมอุทยานฯ ส่วนใหญ่ ชีวิตค่อนข้างลำบาก เสี่ยงภัย ขณะที่เงินเดือนก็ไม่มากประมาณ 4 - 5 พันบาทเท่านั้น และไม่ได้ออกทุกเดือนต้องรอตกเบิก 3 - 4 เดือนต่อครั้ง แต่ทำงานด้วยใจ เพื่อรักษาทรัพยากรฯ ในท้องถิ่นของตัวเอง ซึ่งพนักงานแต่ละคนจะมีความชำนาญเฉพาะด้าน ยกตัวอย่าง เหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมาที่เฮลิคอปเตอร์คณะของนายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ ตกที่ จ.น่าน ได้อาศัยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในพื้นที่เป็นผู้ค้นหา เพราะมีความชำนาญและรู้จักสภาพพื้นที่เป็นอย่างดี การจะเอาคนนอกมาทำนั้นไม่สามารถทำได้ และไม่เหมาะสมอย่างมาก ซึ่งเมื่อชี้แจงไปแล้วหวังว่ากรมบัญชีกลางจะเข้าใจ ทั้งนี้การจ้างงานของกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ฯ ไม่เหมือนการจ้างงานของหน่วยงานอื่นๆ เพราะรูปแบบการปฏิบัติงานแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง” นายจตุพรกล่าว

นายจตุพร กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภารกิจอื่นๆ เช่น พนักงานทำความสะอาด เจ้าหน้าที่ดูแลอาคารสถานที่ หรือ ผู้ดูแลบ้านพักตามอุทยานแห่งชาติต่างๆ อาจจะพิจารณาว่าจ้างบริษัทเอกชนมาดำเนินการให้เข้าเกณฑ์ของกรมบัญชีกลางตามความเหมาะสม 

ด้าน นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ กล่าวว่า ตามหลักการแล้ว พนักงานพิทักษ์ป่าควรจะมีสวัสดิการและสวัสดิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะคนเหล่านี้เสียสละตัวเองทุกอย่าง ขณะที่ได้รับค่าตอบแทนน้อยมาก ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงเพราะพวกลักลอบตัดไม้ต้องการจะเอาชีวิตเพราะไปขัดขวางงานของพวกเขา ยืนยันว่าเวลานี้พนักงานพิทักษ์ป่ามีจำนวนไม่เพียงพอกับภารกิจและงานที่กรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้มีอยู่แล้ว นอกจาก ลดจำนวนลงไม่ได้แล้ว ยังต้องขอเพิ่มกำลังคนอีกด้วย ทั้งนี้การยุบรวมทั้ง 2 หน่วยงานเข้าด้วยกันก็จะทำให้ภารกิจการดูแลรักษาป่าทำได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

(ไทยรัฐ, 2-9-2553)

บริษัทจัดส่งคนงานไปลิเบียยอมจ่ายเงินคืนให้แรงงาน 9 คน แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ (3 ก.ย.) แรงงานจาก 3 อำเภอ ใน จ.บุรีรัมย์ คือ หนองหงส์  ห้วยราช  ลำปลายมาศ และ อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา จำนวน 9 คน ได้เดินทางมารับเงินค่าบริการจัดส่งคนงานไปต่างประเทศ คืนจากบริษัทจัดหางาน  “เงินและทองพัฒนา จำกัด”  รายละ 35,000-40,000 บาท รวมเป็นเงิน 320,000 บาท  หลังได้เข้าร้องทุกข์กับจัดหางานจังหวัด ใน 2 กรณี คือ ขอค่าบริการ หรือค่านายหน้าจัดส่งไปทำงานคืนจากบริษัทบางส่วน และขอให้ช่วยติดตามเงินจากนายจ้างที่ประเทศลิเบีย ซึ่งยังค้างจ่ายค่าจ้าง 1-2 เดือน

อย่างไรก็ตาม มีแรงงาน 1 คน ปฏิเสธไม่ยอมรับเงินคืน โดยอ้างว่าบริษัทจ่ายเงินให้ไม่ตรงตามจำนวน  จึงร้องขอให้จัดหางานจังหวัดดำเนินการตรวจสอบให้  ส่วนกรณีนายจ้างที่ประเทศลิเบียยังค้างจ่ายค่าจ้างนั้น  นายสุวรรณ์ ดวงตา จัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ รับปากจะเร่งตรวจสอบเอกสารส่งให้กรมการจัดหางาน เพื่อติดตามเร่งรัดนำเงินค่าจ้างที่ค้างจ่ายมาคืนให้กับแรงงานทั้งหมด

ทั้งนี้ แรงงานรายใหม่ที่ต้องการไปขายแรงงานในต่างประเทศ สามารถไปลงทะเบียนที่ศูนย์ทะเบียนคนหางาน ภายในสำนักงานจัดหางานทุกจังหวัด เพื่อรับการคัดเลือกไปทำงานต่างประเทศ โดยไม่ต้องผ่านนายหน้าหรือบริษัทจัดหางาน ซึ่งจะเป็นการลดค่าใช้จ่าย และป้องกันปัญหาการหลอกลวงที่อาจเกิดขึ้น

(สำนักข่าวไทย, 3-9-2553)

สหรัฐฯดำเนินคดีบริษัทหลอกลวงแรงงานไทย 400 คน

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่าคณะลูกขุนในเมืองฮอนโนลูลู รัฐฮาวายของสหรัฐฯ ตั้งข้อหาพนักงาน 4 คนของบริษัทโกลบอล ฮอไรซ่อนส์ แมนพาเวอร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่นครลอสแองเจลลีสร่วมกับพนักงานจัดงานแรงงานคนไทยอีก 2 คน คือนางรัตวรรณ ชุนหฤทัยและนางพจนี สินชัย ในข้อหาหลอกลวง ขู่เข็ญและบังคับคนงานไทย 400 คน ให้ใช้แรงงานในไร่บนเกาะฮาวายในช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2547 ถึงกันยายน 2548 หลังจากที่ใช้เวลารวบรวมหลักฐานอยู่นานก่อนที่จะเข้าจับกุมและตั้งข้อหาต่อพนักงานดังกล่าวเมื่อวานนี้

ขณะที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่าพนักงานบริษัทนี้ล่อลวงคนไทยกลุ่มดังกล่าวเข้าเมืองแล้วยึดหนังสือเดินทางไว้พร้อมกับบังคับให้จ่ายค่าธรรมเนียมการจัดหางานหลายพันดอลลาร์สหรัฐหรือหลายแสนบาท และถูกขู่ว่าจะส่งกลับประเทศหากไม่ยอมทำงาน โดยผู้ต้องหาคนไทยที่ร่วมขบวนการดังกล่าวคือนางรัตวรรณ อาจรับโทษสูงสุด 65 ปี ขณะที่นางพจนีอาจต้องโทษจำคุกระหว่าง 5-10 ปี

(สนุกดอทคอม, 4-9-2553)

เตรียมตั้ง สนง.ช่วยเหลือชาวพม่าในระนอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีความเคลื่อนไหวขององค์กรสิทธิมนุษยชนของพม่า ในชื่อสมาคมช่วยเหลือแรงงานพม่า ซึ่งปัจจุบันมีสำนักงานอยู่ในต่างประเทศ และที่ประเทศไทยมีสำนักงานอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เดินทางเข้ามายังจังหวัดระนอง เพื่อเตรียมตั้งสำนักงานสาขาใน จ.ระนอง พร้อมกับส่งเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ด้านกฏหมายเข้ามาประจำสำนักงาน จำนวน 2 คน เพื่อคอยให้การช่วยเหลือแรงงานพม่าที่อยู่ใน จ.ระนอง ในกรณีที่ถูกละเมิดสิทธิในด้านต่างๆ หรือกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง รวมถึงการรับบริการด้านสาธารณสุข

นอกจากนี้จะมีเจ้าหน้าที่ทนายความชาวพม่า เข้ามาประจำการเพื่อคอยให้คำปรึกษาและต่อสู้ทางกฏหมาย หากแรงงานพม่าถูกเจ้าหน้าที่ของไทยจับกุมในข้อหาต่างๆ

จากเรื่องดังกล่าวผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังนายมนัส พิศุทธิกฤตยา ป้องกันจังหวัดระนอง กล่าวว่า ยังไม่ได้รับข้อมูลเรื่องดังกล่าว แต่หากองค์กรใดหรือหน่วยงานใดจะเข้ามาตั้งสำนักงานใดๆ ก็สามารถดำเนินการได้ ภายใต้กรอบของกฏหมายไทย และคงจะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ไทย เนื่องจากการปฏิบัติในปัจจุบันเป็นการดำเนินการตามกฏหมาย ซึ่งเป็นสิ่งดีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้รับทราบถึงปัญหาที่แท้จริง โดยเฉพาะกรณีปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฏหมาย

(เนชั่นทันข่าว, 4-9-2553)

รง.แม่สอดสั่งปิดกิจการ หวั่นถูกจับแรงงานต่างด้าว

ผู้สื่อข่าวรายงานจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ว่า ขณะนี้สถานประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าวในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ไม่น้อยกว่า 20 - 30 แห่ง ต่างปิดกิจการหลบเลี่ยงการจับกุม หลังชุดเฉพาะกิจปราบปรามแรงงานต่างด้าว จากส่วนกลาง หรือ คณะปราบปรามจับกุม ตรวจสอบแรงงานผิดกฎหมาย ที่ทางรับบาลตั้งขึ้นมา ได้กรายลงพื้นที่เพื่อทำการกวาดล้างจับกุมแรงงานต่างด้าวเถื่อน

โดยเริ่มลงพื้นที่กวาดล้างจับกุมแรงงานเถื่อนไปแล้วในพื้นที่อำเภอแม่สอด กว่า 300 - 400 คน และนำส่งให้ทางตรวจคนเจ้าเมืองจังหวัดตากดำเนินการผลักดันกลับประเทศตามระเบียบต่อไป

ข่าวแจ้งว่า สถานประกอบการในแม่สอดบางแห่งยังคงเปิดกิจการต่อไป เนื่องจากมีแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมาย บางแห่งเปิดกิจการ แต่นำแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายออกไป

ส่วนที่หยุดกิจการชั่วคราว คือกลุ่มที่ใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ซึ่งส่วนมากได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว ในการทำหนังสือเดินทางเข้าไปพื้นที่ชั้นใน เพราะผู้ประกอบการในพื้นที่ถูกแย่งแรงงานมีฝีมือไป จึงจำเป็นต้องหาแรงงานใหม่มาทดแทน และผิดกฎหมาย

(เนชั่นทันข่าว, 4-9-2553)

สปสช.รับลูกถกขยายมาตรา 41 (ไทยรัฐ, 4-9-2553)

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีการขยายมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ให้ครอบคลุมสิทธิประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ นอกเหนือจากสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ตามที่มีแพทย์กลุ่มหนึ่งเรียกร้อง แทนการผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ...ว่า ในวันที่ 13 ก.ย. คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า จะสามารถขยายมาตรา 41 ได้หรือไม่  แต่โดยหลักการแล้วหากขยายกฎหมายก็หมายความว่าต้องแก้กฎหมาย  เหมือนกับต้องร่างกฎหมายอีกฉบับอย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงต้องอยู่ที่การพิจารณาของบอร์ด สปสช.

(ไทยรัฐ, 4-9-2553)

สหภาพฯกสทลุ้นศาลรับฟ้อง 3 จี 7 ก.ย.

สหภาพฯ กสท ฟ้องศาลปกครอง ชี้ กทช.ไม่มีอำนาจจัดสรรคลื่นเปิดประมูล 3 จี ลุ้นศาลรับฟ้องหรือไม่ 7 ก.ย.นี้ แจงเทคโนโลยีบนไลเซ่นใหม่รันได้ทั้งภาพ วีดิโอ คอนเทนท์ คาบเกี่ยวกิจการกระจายเสียงจำเป็นต้องรอ กสทช. ระบุประกาศ กทช.เอื้อประโยชน์โอเปอเรเตอร์ยักษ์ใหญ่ ให้สิทธิโรมมิ่ง 3 จี มา 2 จีได้ แต่โรมมิ่งกลับคืนไม่ได้ ถือเป็นการกีดกั้นการค้า "จิรายุทธ" เผยการฟ้องไม่ใช่มติบอร์ด เป็นเพียงการดำเนินการของสหภาพฯ

นายสุขุม ชื่นมะนา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า วานนี้ (3 ก.ย.) ได้ร่วมกับตัวแทนสหภาพฯ กสท เดินทางไปยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อเวลา 11.00 น. ในกรณี กทช.จะเตรียมการเปิดประมูลใบอนุญาต (ไลเซ่น) 3 จี บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ วันที่ 20 ก.ย.นี้

ทั้งนี้ สหภาพฯ กสท เห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 47 ได้ระบุให้จัดตั้งองค์กรอิสระ ในการจัดสรรคลื่นความถี่ที่เกี่ยวข้องกับกิจการวิทยุ โทรทัศน์ โทรคมนาคม และกิจการกระจายเสียง ดังนั้น ไลเซ่น 3 จี จำเป็นต้องรอคณะกรรมการชุดดังกล่าวก่อน กทช. ไม่มีอำนาจจัดสรรคลื่นตามที่กล่าวอ้าง

นอกจากนี้ ตามมารยาท กทช.ควรต้องรอให้มีประกาศใช้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการกระจายวิทยุ กระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ... เสียก่อน ซึ่งเรื่องยังอยู่ที่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

นายสุขุม กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 7 ก.ย.นี้ เวลา 16.00 น. ศาลปกครองกลางจะประกาศว่าจะรับคำฟ้องดังกล่าวหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองได้ชี้แจงเบื้องต้นแล้ว ว่า ไม่สามารถเปิดไต่สวนฉุกเฉิน และคุ้มครองฉุกเฉินได้ เนื่องจากขั้นตอนการประมูล 3 จี ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น (พีคิว) จากจำนวนโอเปอเรเตอร์ที่ยื่นซองแสดงความจำนง มีจำนวน 3 ราย ดังนั้น ขั้นตอนการประมูลยังถือว่าไม่เกิดขึ้นจริง และยังไม่มีมูลค่าความเสียหาย

นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นทันทีต่อ กสท หากเปิดประมูลไลเซ่น 3 จี คือ การให้บริการโทรศัพท์มือถือระบบซีดีเอ็มเอ แบรนด์ "แคท ซีดีเอ็มเอ" ที่มีศักยภาพรับส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว จะเสียเปรียบคู่แข่งที่ได้ไลเซ่น 3 จีทันที นอกจากนี้ จากประกาศ กทช.ที่ระบุห้ามไม่ให้ระบบ 2 จีโรมมิ่งมายัง 3 จี แต่ให้ 3 จีสามารถโรมมิ่งมายัง 2 จีได้ ถือเป็นการกีดกันทางการค้าอย่างเห็นได้ชัด

ทั้งนี้ การที่ กทช.ระบุให้โอเปอเรเตอร์ที่จะเปิดบริการ 3 จี จะต้องเปิดบริการคงสิทธิเลขหมาย (นัมเบอร์พอร์ตทิบิลิตี) ด้วย ซึ่งถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนรายใหญ่อย่างเห็นได้ชัด เพราะจะสามารถผ่องถ่ายลูกค้าข้ามไปมาได้ จะยิ่งเป็นผลกระทบต่อองค์กรอย่างมาก

"แม้ว่าที่ผ่านมา สหภาพฯ ทุกหน่วยงาน ทั้ง กสท และ บมจ.ทีโอที ได้เคยขอเข้าพบนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อขอให้ระงับการเปิดประมูลไลเซ่น 3 จี เพราะจะยิ่งทำให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจเกิดความเสียหาย แต่ก็ไม่ได้มีคืบหน้าแต่อย่างใด" นายสุขุมกล่าว

(กรุงเทพธุรกิจ, 4-9-2553)

สหภาพแรงงานขสมก.ค้านเออร์ลีพนักงาน

นายธราดล เปี่ยมพงศ์สานต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายสนาน บุญงอก ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) เข้าพบนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เพื่อยื่นข้อเสนอแนะการดำเนินโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน และคัดค้านการจัดเก็บค่าโดยสารด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-ticket แทนใช้พนักงานเก็บค่าโดยสาร ซึ่งมีพนักงานจำนวนมาก ที่ไม่เห็นด้วยกับการเออร์ลีรีไทร์

"พนักงานที่ตัดสินใจเข้าโครงการเออร์ลีรีไทร์ เพราะไม่มีทางเลือก และ ขมสก.กำหนดแรงจูงใจไว้สูงมาก เช่น จ่ายชดเชย 3 เดือนสำหรับอายุงาน 1 ปี อายุงานเกิน 10 ปี ชดเชย  30 เดือน" นายธราดล กล่าว

นอกจากนี้ สหภาพฯ ยังเห็นว่า การจัดหารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน ควรใช้วิธีจัดซื้อแทนวิธีเช่า และควรพิจารณาศักยภาพบริหารจัดการของ ขสมก.ด้วย  โดยระยะแรกควรจัดหารถก่อน 2,000 คัน เพื่อไม่ให้เกินความสามารถรองรับรถเมล์ของอู่ ที่มี 5 แห่ง หากจัดหาอู่เพิ่มได้จึงค่อยพิจารณาจัดหารถเมล์เพิ่มในอนาคต แต่หากจัดหารถเมล์เอ็นจีวีทั้ง 4,000 คันทันที จะทำให้ ขสมก.ต้องมีภาระลงทุนอู่รถเมล์เพิ่ม ซึ่งใช้เงินสูงมาก

"ข้อเสนอของสหภาพฯ ครั้งนี้ จะใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาร่วมกับข้อมูลแหล่งอื่นๆ ก่อน ซึ่งที่ผ่านมา นายไตรรงค์มอบให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ สมาคมเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญงานโลจิสติกส์และขนส่ง ร่วมกันวิเคราะห์ 3 ประเด็น ได้แก่ 1. เออร์ลีรีไทร์พนักงาน 2,300 ราย ที่ยังไม่เข้าโครงการ 2.โครงการรถเมล์ฟรีถาวร ที่กระทบต่อโครงการรถเมล์เอ็นจีวี โดยเฉพาะจำนวนผู้โดยสารและรายได้ 3. การเชื่อมโยงกับรถร่วมบริการเอกชน รวมถึงทำแผนใช้งบจัดหาอู่จอดรถ สถานีเอ็นจีวี และจ่ายชดเชยพนักงานที่เออร์ลีรีไทร์ คาดว่าใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ ก่อนเสนอ ครม."

นายวีระพงษ์ วงศ์แหวน รองประธาน สร.ขสมก.กล่าวว่า  สหภาพฯ ได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลเร่งจัดหารถโดยสารเอ็นจีวีล็อตแรก 500-1,000 คัน มาให้ ขสมก.ก่อน เพราะปัจจุบันรถโดยสารมีไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยมีรถจอดเสีย 700 คัน จากทั้งหมด 3,500 คัน ขณะที่รถโดยสารที่ให้บริการอยู่มีอายุใช้งานเฉลี่ย 12-17 ปี

นอกจากนั้น ยังเสนอให้ชะลอติดตั้งระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ จนกว่าจะมีรถเมล์เอ็นจีวีครบ 4,000 คัน เพื่อให้สอดคล้องกับการเกษียณอายุของพนักงาน ซึ่งจะทำให้ ขสมก.ไม่ต้องบังคับพนักงานลาออกก่อนกำหนด เพราะปกติแต่ละปีจะมีพนักงานเกษียณ 400-500 คน

นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้ อยู่ระหว่างเตรียมข้อมูลรถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน เพื่อชี้แจงข้อสงสัยแก่ ครม.ใน 3 ประเด็น  คาดว่าจะนำเสนอให้ ครม.พิจารณาอีกครั้งภายใน 2 เดือน และหาก ครม.อนุมัติ จะเริ่มทยอยรับมอบรถโดยสารใช้เอ็นจีวีปี 2555

(กรุงเทพธุรกิจ, 4-9-2553)

เผยตัวเลขคนว่างงาน 4.5 แสนคนกรมจัดหาฯยันสถานการณ์ปกติ

น.ส.ส่งศรี บุษบา รองอธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกมาระบุว่าภาคอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานกว่า 1 แสนคน ว่า ขณะนี้สถานการณ์การว่างงานยังอยู่ในภาวะปกติ ไม่ได้มีการขาดแคลนแรงงานอย่างที่หลายฝ่ายกังวล เป็นเพียงความต้องการที่ยังไม่ได้เอามาผนวกกับอัตราตำแหน่งงานว่างที่มีอยู่ ซึ่งตัวเลขล่าสุดยังไม่ได้บ่งบอกถึงการขาดแคลนแรงงานแต่อย่างใด

สำหรับตัวเลขความต้องการแรงงานที่ได้รับแจ้งจากสถานประกอบการทั่วประเทศล่าสุดในเดือนกันยายนนี้มีประมาณ 1.9 แสนอัตราเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ต้องการ 1.6 แสนอัตรา โดยตำแหน่งที่มีความต้องการมากที่สุด ได้แก่ พนักงานฝ่ายผลิตและแรงงานทั่วไป มีจำนวนประมาณ 5.6 หมื่นอัตรา รองลงมาเป็นพนักงานขาย2.1หมื่นอัตรา พนักงานสิ่งทอ6,900 อัตรา พนักงานธุรการ 6,000 อัตรา และเจ้าหน้าที่คลังสินค้า 4,800 อัตรา เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดสามารถจัดหาคนงานเข้าบรรจุงานได้ประมาณ50% จากจำนวนผู้ลงทะเบียนว่างทั่วประเทศทั้งหมด 4.59 แสนคน

(แนวหน้า, 4-9-2553)

โพลระบุคนมีรายได้ไม่เกินหมื่นบาท/เดือน ร้อยละ 55.7 มีรายได้ลดลง

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และนักศึกษาด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง “เปิดกระเป๋าเงินของคนทำงานผู้มีรายได้น้อย สะท้อนอารมณ์และความล้มเหลวของรัฐบาล : กรณีศึกษาตัวอย่างคนทำงานผู้มีรายได้ไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ใน 12 จังหวัดของประเทศ”  ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ชลบุรี นครราชสีมา อุดรธานี กาฬสินธุ์ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 988 ครัวเรือน โดยดำเนินการสำรวจในช่วงเดือนสิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งผลสำรวจ พบว่า แต่ละเดือนผู้มีรายได้ไม่กิน 10,000 บาท มีค่าใช้จ่ายพอๆ กับรายได้ โดยมากเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหาร เฉลี่ย 4,626.77 บาท รองลงมาเป็นเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เฉลี่ย 1,156.56 บาท และของใช้อุปโภค เช่น สบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน เฉลี่ย 978.11 บาท

นอกจากนี้ เมื่อสอบถามถึงรายได้ส่วนตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ภาพรวมพบว่า เกินกว่าครึ่ง หรือร้อยละ 55.7 มีรายได้ลดลง ขณะที่ร้อยละ 38.7 เท่าเดิม และมีเพียงร้อยละ 5.6 ที่มีรายได้เพิ่มขึ้น และเมื่อจำแนกตามการมีรายได้ประจำ พบว่า ผู้ไม่มีเงินรายได้ประจำ มีรายได้ลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่มีรายได้ประจำ โดยรายได้ลดลงร้อยละ 58.0 และ 38.1 ตามลำดับ ในทางกลับกันเมื่อสอบถามถึงรายจ่ายส่วนตัว โดยภาพรวมพบว่าตัวอย่างส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 60.2 มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ขณะที่ร้อยละ 25.0 ระบุว่าเท่าเดิม และร้อยละ 14.8 ระบุว่ามีรายจ่ายลดลง ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกันทั้งผู้ที่มีรายได้ประจำ และไม่มีรายได้ประจำ

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามต่อถึงการมีเงินออม โดยภาพรวมพบว่าตัวอย่างประมาณ 2 ใน 3 หรือร้อยละ 65.8 ไม่มีเงินออม โดยไม่แตกต่างกันมากนักไม่ว่าจะเป็นผู้มีรายได้ประจำหรือไม่มี สำหรับตัวอย่างร้อยละ 34.2 ที่มีเงินออมนั้น โดยภาพรวมพบว่ามีเงินออมเฉลี่ย 1,369.37 บาทต่อเดือน ซึ่งร้อยละ 37.2 มีเงินออมในแต่ละเดือนไม่เกิน 500 บาท รองลงมาร้อยละ 26.5 มีเงินออม 501 – 1,000 บาท และร้อยละ 18.5 มีเงินออม 1,001 – 2,000 บาท ส่วนผู้ที่มีเงินออมมากกว่านี้ มีสัดส่วนลดหลั่นลงไป  ทั้งนี้ ผู้ที่มีรายได้ประจำมีเงินออมมากกว่าผู้ไม่มีรายได้ประจำเล็กน้อย เฉลี่ย 1,535.22 บาท และ 1,342.02 บาท ตามลำดับ

ส่วนความเชื่อมั่นในเสถียรภาพของรัฐบาลชุดปัจจุบัน  ผลสำรวจพบว่าแม้โดยภาพรวมตัวอย่างร้อยละ 47.3 ระบุเชื่อมั่นเท่าเดิม แต่พบว่าสัดส่วนของกลุ่มที่ระบุเชื่อมั่นลดลงนั้นมีมากกว่ากลุ่มที่ระบุเชื่อมั่นมากขึ้นอย่างชัดเจน คิดเป็นร้อยละ 39.3 และ 13.4 ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาต่อไป ยังเห็นได้ชัดว่าผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำมีความเชื่อมั่นลดลงมากกว่าผู้ที่มีรายได้ประจำ คิดเป็นร้อยละ 40.7 และ 28.8 ตามลำดับ

ผู้อำนวยการเอแบคโพลล์ กล่าวว่า กลุ่มคนที่เป็นผู้มีรายได้น้อยเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากแนวทางการพัฒนาประเทศของรัฐบาลเกือบทุกรัฐบาลที่ผ่านมา และเกือบทุกอย่างดูเหมือนจะ “วน” อยู่ที่เดิม แค่เปลี่ยนชื่อคนที่มาเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ เท่านั้น  แต่วิธีคิดและแนวทางแก้ไขปัญหาบ้านเมืองยังไม่ปรากฏให้เห็นว่ามี “การเปลี่ยนแปลง” หรือมี “อะไรใหม่” ให้นำไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนอย่างยั่งยืน เพราะผลวิจัยครั้งนี้สะท้อนปัญหาเดิม ๆ ว่า คนไม่เชื่อมั่นต่อฐานะทางการเงินส่วนตัวของตนเอง และต่อความสามารถของรัฐบาล  สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งอยู่ที่รัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงด้านเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นไปแต่เรื่องอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เดินตามรอยประเทศมหาอำนาจเกินไป

ทางออกตอนนี้อย่างน้อย 3 ประการคือ ประการแรก เร่งมุ่งเน้นไปที่ “ความเป็นธรรม” ที่ให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียมสู่ระดับท้องถิ่น เรื่องการเข้าถึงอาชีพ รายได้ที่เป็นธรรม การครอบครองทรัพยากรทางธรรมชาติ ที่ทำกิน การศึกษา ระบบสุขภาพถ้วนหน้า เป็นต้น โดยระยะสั้นน่าจะมีโครงการบรรเทาคนรายได้น้อยที่ครอบคลุมทั้งประเทศในปัจจัยพื้นฐานคือ อาหาร และสาธารณูปโภคต่าง ๆ

ประการที่สอง เสนอให้ “กลุ่มนายทุน” หรือคนรวยช่วยเหลือคนจนทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งในลักษณะมูลนิธิหรือองค์กรไม่หวังผลกำไร และรัฐบาลหาแนวทางช่วยเหลือกลุ่มนายทุนเหล่านั้นอีกทีหนึ่ง

และที่สำคัญ ประการที่สาม คือ ต้องแก้ “ปัญหาคอร์รัปชั่น” ในส่วนกลางและท้องถิ่น ที่เป็นปัจจัยทำให้ “ระบบเศรษฐกิจ” ทั้งทุนนิยมแบบประชาธิปไตยและไม่เป็นประชาธิปไตยพังไปหลายประเทศ ก่อให้เกิดการจลาจลต่อต้านรัฐบาลและผู้มีอำนาจมาหลายสมัยแล้ว จึงเห็นควรเสนอให้ปรับแนวทางแก้ปัญหาพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน หนุนเสริมความเข้มแข็งของประชาชนโดยเน้นไปที่ “ความเป็นธรรม” และโอกาสที่ให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่เช่นนั้นปัญหาบ้านเมืองของประเทศจะ “วน” อยู่ที่เดิม สิ่งเลวร้ายเดิมๆ จะย้อนกลับมาซ้ำซาก และจะมีคนเพียงหยิบมือเดียวของประเทศที่จะอาศัยบ้านเมืองวุ่นวาย กอบโกยผลประโยชน์เข้าตัว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าร้อยละ 58.8 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 41.2 เป็นเพศชาย ตัวอย่างร้อยละ 17.6 อายุระหว่าง 25-30 ปี ร้อยละ 26.5 อายุระหว่าง 31-40 ปี ร้อยละ 29.9 อายุระหว่าง 41-50 ปี และร้อยละ 26.0 อายุระหว่าง 51-60 ปี ตัวอย่างร้อยละ 51.9 สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา/ต่ำกว่า ร้อยละ 22.2 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 14.8 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. ร้อยละ 5.2 สำเร็จการศึกษาระดับ ปวส./อนุปริญญาหรือเทียบเท่า และร้อยละ 5.9 สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 37.6 ระบุอาชีพค้าขายรายย่อย ร้อยละ 31.3 ระบุอาชีพรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 19.2 ระบุอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 6.2 ระบุพนักงานเอกชน ร้อยละ 3.3 ระบุพนักงานโรงงาน และร้อยละ 2.4 ระบุรับราชการ/รัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ตัวอย่างร้อยละ 33.2 มีรายได้ไม่เกิน 5,000 บาท ในขณะที่ร้อยละ 66.8 มีรายได้ 5,001-10,000 บาท

(สำนักข่าวไทย, 5-9-2553)

คนงานไทยในลิเบียซึ้งใจทุกฝ่าย ช่วยเยียวยาจนได้ค่าหัวคิวคืน จวก "ทูต" เอียงเข้าข้างนายจ้าง

จากกรณีแรงงานไทยในประเทศลิเบีย ที่ตกระกำลำบาก มีความเป็นอยู่แร้งแค้น ถูกนายจ้างเอาเปรียบจ่ายเงินเดือนไม่ครบเดินทางกลับมาถึงประเทศไทย และได้รับเงินค่าบริการหรือค่าหัวคิวคืน 8 รายแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 4 ก.ย.53 นายสนิท บุญทวี อดีตส.อบต.ไทยสามัคคี อ.หนองหงส์ จ.บุรีรัมย์  ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนสพ.สยามรัฐ โดยระบุว่า ได้รับเรื่องร้องขอความช่วยเหลือจาก นางอนามัย  นุวงศ์  ภรรยาของ นายวัชรพงษ์  สุขกมลกุล  ที่ตกระกำลำบากในประเทศลิเบีย  นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างมาเป็นเวลา  2  เดือน  จึงได้นำเรื่องเข้าร้องเรียนเพื่อขอรับการช่วยเหลือจาก นายชัชวาลย์  คงอุดม  อดีตส.ว.กทม. และคอลัมนิสต์ นสพ.สยามรัฐ  ทำให้ทางราชการ และบริษัทจัดหางาน เงินและทอง พัฒนา จำกัด บริษัท นายจ้าง ARSEL-BENA WA TASHEED JOINT VENTDRE  กระตือรือร้นประสานงานดำเนินการและทำให้คนงานได้เดินทางกลับบ้านประมาณ  80-90 คน เมื่อกลับมาทุกคนก็ได้เข้าร้องทุกข์ต่อกรมการจัดหางาน  เพื่อเรียกร้องเงินเดือนค้างจ่าย  ประกอบกับร้องขอให้บริษัทจัดหางานเยียวยาคืนเงินค่าบริการหรือค่าหัวคิวให้

จดหมายระบุต่อไปว่า กรมการจัดหางานได้ประสานเรื่องไปยังบริษัทจัดหางาน   ซึ่งต้องขอขอบคุณบริษัทจัดหางาน  ที่ช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนงานในครั้งนี้ โดยได้เยียวยาให้คนงานไทยแล้ว 8 รายๆ ละ 35,000-40,000 บาท อย่างไรก็ตาม แรงงานส่วนใหญ่ยังไม่ได้เดินทางกลับและอีกจำนวนมากกลับมาแล้ว ยังไม่ได้รับการเยียวยา ส่วนหนึ่งยังต้องขอให้กรมการจัดหางาน  และบริษัทจัดหางานได้ช่วยเหลือติดตามเงินเดือนค้างจ่ายให้กับคนงานต่อไปด้วย

"ก่อนอื่นผมและคนงานทุกๆ คน ต้องขอขอบทีมงานสยามรัฐทุกคน ที่ได้นำเสนอสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนของคนที่ใช้แรงงาน  จนนำไปสู่ การแก้ไขปัญหา  ขอบคุณ นายเฉลิมชัย  ศรีอ่อน  รมว.แรงงาน,  นายจีระศักดิ์  สุคนธชาติ  อธิบดีกรมการจัดหางาน,  นายสุวรรณ์  ดวงตา  จัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ , คุณสุทธิรา  บรรจงทอง  เจ้าหน้าที่  เขต 9  ที่ให้ความกรุณาประสานสิทธิประโยชน์ช่วยเหลือแรงงานไทย"

อย่างไรก็ตาม ข้อความในจดหมายนั้น นายสนิท ได้ตอบโต้เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงตริโปลี ประเทศลิเบีย ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ปกป้องบริษัทนายจ้างและตำหนิแรงงานไทยว่าร้องเรียนเกินความเป็นจริง และขู่ว่าลิเบียอาจแบล็กลิสต์แรงงานไทยหันไปจ้างชาติอื่น

"เข้าใจปัญหาระหว่างประเทศ  แต่ไม่เห็นด้วยที่ท่านทูตออกมากล่าวเช่นนี้  แรงงานหยุดงานประท้วง  เรียกร้องค่าจ้างแรงงานที่ค้างจ่ายและจ่ายเงินเดือนล่าช้า  สวัสดิการ  ชีวิตความเป็นอยู่ของคนหางาน  สิทธิความเป็นมนุษย์  ที่ไม่ได้รับการดูแลจากนายจ้าง  มิได้เป็นการประท้วงรัฐบาลลิเบียและมิได้กล่าวโทษประเทศลิเบีย  ปัญหาที่เกิดขึ้นกับแรงงานกลุ่มนี้  เกิดขึ้นระหว่างนายจ้างไม่ปฏิบัติกับแรงงานให้เป็นไปตามสัญญา   คนหางานเรียกร้องสิทธิประโยชน์  ที่ไม่มีการตอบสนอง  คนหางานเป็นมนุษย์  มีเลือดเนื้อ  แม้แต่เครื่องจักรกล หากไม่ได้รับการดูแลหรือบำรุงรักษา  เครื่องจักรกลก็ไม่สามารถทำงานต่อไปได้เช่นกัน"

เนื้อหาในจดหมายระบุด้วยว่า สิ่งเหล่านี้อยากฝากถึงท่านทูต  ขอได้โปรดกรุณาไปสัมผัสด้วยตนเองว่า ชีวิตความเป็นอยู่แรงงานไทยแร้นแค้นลำบากอย่างที่คนหางานออกมาเรียกร้องหรือไม่  หากเป็นห่วงความสัมพันธ์ ระหว่างมิตรประเทศ   จนลืมนึกถึงความตกทุกข์ได้อยากของแรงงานไทย  อย่างนี้ก็ไม่ถูกต้อง  ปัญหาทุกปัญหามีไว้ให้แก้ไข  เมื่อไม่อยากให้ความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อมิตรประเทศ  ท่านและคณะรัฐบาลต้องรีบหาทางแก้ไข  เชื่อว่าคนหางานยังต้องการที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ  แต่ต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของการใช้แรงงาน  ไม่เอารัดเอาเปรียบ  ถูกกดขี่  หรือถูกรังแก  ปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญา  และเหนือสิ่งอื่นใด  คนหางานต้องการเพียงเงินเดือนสวัสดิการที่ตรงกับสัญญาจ้าง  อย่างอื่นคิดว่าคนหางานคนไทยรับได้

จดหมายระบุอีกว่า คนงานไทย แรงงานไทยเป็นแรงงานที่มีความอดทน  สิ่งที่แรงงานตัดสินใจกู้เงินดอกเบี้ยโหดเพื่อเดินทางไปทำงานต่างประเทศ  ย่อมเป็นหลักประกันแล้วว่าคนหางาน  ยอมเสียสละความสุขของตัวเอง  เพื่อต้องการให้ครอบครัวมีความสุข  และมีเงินมาเลี้ยงครอบครัว  จะได้ไม่เป็นภาระกับประเทศ  อีกทั้งหาเงินทองเข้าประเทศ  ทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น  คนหางานหาเงินมาสร้างบ้าน  ซื้อรถ  ในกรณีที่แรงงานประสบความสำเร็จ  ภาคแรงงานถือเป็นฐานรากของเศรษฐกิจ  เป็นฐานรากของประเทศ  หากประเทศใดขาดแคลนแรงงาน  ความเจริญก็ล่าช้า  ดังนั้นในฐานะที่เคยเดินทางไปทำงานต่างประเทศ  และเข้าใจปัญหาแรงงานในต่างประเทศและในประเทศ  เพราะอาชีพของตน ก็บ่งบอกอยู่แล้วคืออาชีพรับจ้าง

จดหมายเปิดผนึก ระบุตอนท้ายว่า สิ่งที่ต้องการฝากไปถึงรัฐบาล นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลทุกท่าน  ขอได้ให้ความสำคัญกับภาคแรงงาน  ให้สิทธิแรงงานได้รับการดูแลสวัสดิการคุ้มครองอย่างจริงจัง และอยากให้รัฐบาลหาวิธีค้ำประกันเงินกู้เพื่อคนหางานดอกเบี้ยต่ำ  และให้รัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ในการใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ  โดยให้คนงานที่ต้องหารเดินทางไปทำงานต่างประเทศ  ติดต่อบริษัทจัดหางาน  หรือกรมการจัดหางาน  เมื่อผ่านการทดสอบฝีมือ  มีนายจ้าง  มีหนังสือเดินทาง  ผ่านการตรวจสอบโรคที่ประเทศนั้นๆ ต้องห้ามแล้ว  ให้กรมการจัดหางานออกใบรับรองค้ำประกันเงินกู้  โดยให้ธนาคารที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการนี้ปล่อยสินเชื่อให้กับแรงงาน  คนหางานร้อยละ  90  เมื่อต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ  ส่วนใหญ่ต้องไปเช่าโฉนดที่ดิน  หนังสือรับรองการทำประโยชน์  นส.3 ก.  จากเพื่อนบ้าน  โดยมีค่าเช่าแปลงละ  2-3 หมื่นบาท แล้วนำไปกู้เงินดอกเบี้ยโหดอีกร้อยละ  3-5  บาท  หากรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ต้องการที่จะช่วยเหลือภาคแรงงานเล่านี้  ตนเห็นมีวิธีนี้เท่านั้นที่จะช่วยให้ภาคแรงงาน ได้มีโอกาส ลืมตาอ้าปากได้

(สยามรัฐ, 5-9-2553)

สปส. เผยยอดผลตอบแทนการลงทุนครึ่งปีแรกกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่าสำหรับการลงทุนในครึ่งปีแรกของปี พ.ศ.2553 กองทุนประกันสังคมมีผลตอบแทนจากการลงทุนจำนวน 15,223 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเงินฝาก พันธบัตรและหุ้นกู้ จำนวน 12,380 ล้านบาท เงินปันผลและกำไรจากการขายหลักทรัพย์จำนวน 2,843 ล้านบาท โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรากฏว่ากองทุนมีผลตอบแทนจากการลงทุนจำนวน 12,960 ล้านบาท จะเห็นได้ว่ากองทุนมีผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 2,263 ล้านบาท ซึ่งกองทุนประกันสังคมจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน เป็นประจำทุกปี โดยมีผลตอบแทนจากการลงทุนสะสมจำนวน 1.8 แสนล้านบาท คิดเป็นผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ยร้อยละ 7.55 ต่อปี

ทั้งนี้กองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนที่ผ่านมารวม 707,730 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินกองทุนกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ จำนวน 567,010 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินออมของผู้ประกันตนจำนวนกว่า 9 ล้านคน ทั่วประเทศ สำหรับเงินลงทุนที่เหลือเป็นเงินกองทุนที่ดูแลผู้ประกันตนกรณีเจ็บป่วย ตาย ทุพพลภาพ คลอดบุตร 94,746 ล้านบาท และเป็นเงินกองทุนกรณีว่างงาน 45,974 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามในปี 2553 คาดว่าจะมีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1.4 แสนล้านบาท โดยคณะกรรมการประกันสังคมได้เห็นชอบให้คงสัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ส่วนการลงทุนในหุ้นให้คงสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 10 นอกจากนี้ยังเตรียมปรับกรอบการลงทุนเพื่อรองรับการขยายการลงทุนในต่างประเทศการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนทางเลือกอื่น เพื่อเพิ่มช่องทางการลงทุนให้กับกองทุนประกันสังคมในระยะยาว

(บ้านเมือง, 5-9-2553)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท