รายงาน: จากเฟซบุ๊คถึง ‘ลุงปลาทู’ ประชาชน3.0 กับการเยียวยา ‘เหยื่อ’ (และประชาธิปไตย)

                                         

วันนี้ใครไม่มีเฟซบุ๊ค (facebook) อาจได้รับผลกระทบถึงขั้นเครียด กดดันอย่างรุนแรง เพราะคนรอบตัวต่างไถ่ถามขอ add หรือไม่คนรอบข้างก็มักเอาแต่พูดกันเรื่องเกมในเฟซบุ๊ค แลกหมู เห็ด เป็ด ไก่ ผัก ผลไม้ โต๊ะ เก้าอี้ รถแทรคเตอร์ ฯลฯ กันตลอดเวลา

เครือข่ายทางสังคมประเภทนี้กำลังมีบทบาทอย่างยิ่งในการเชื่อมประสานผู้คน แม้แต่มิติของทางการเมืองก็ฟูเฟื่องในพื้นที่เหล่านี้ ทำให้เกิดกิจกรรม การเคลื่อนไหวต่างๆ มากมายในโลกจริง รวดเร็วทั้งการระดมและกระจายข่าวสาร ไม่ว่าฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลหรือต่อต้าน และไม่ว่าจะเป็นแง่มุมที่รัฐ(บาล)ชอบหรือไม่ก็ตาม

แม้เหตุการณ์ทุกอย่างจะดูสงบราบเรียบ และแทบไม่มีการพูดถึงความสูญเสียจากการสลายการชุมนุมกันแล้ว แต่ในโลกไซเบอร์ สิ่งเหล่านี้กลับแพร่สะพัดอย่างต่อเนื่อง ยังคงมีการนำเสนอข้อมูลความเดือดร้อนของผู้บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิต คลิปงานสัมมนา การให้สัมภาษณ์ที่น่าสนใจจากบุคคลต่างๆ รวมทั้งการรวมตัวกันจัดกิจกรรมสารพัดของเครือข่ายคนเสื้อแดงที่ยังรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ในเฟซบุ๊ค โดยไม่ต้องง้อพื้นที่ของสื่อมวลชนกระแสหลัก เช่น กรณีกิจกรรมวันอาทิตย์สีแดงของ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ก็เผยแพร่ประสานงานกันผ่านช่องทางนี้เป็นหลัก

หรือเมื่อ 1-2 สัปดาห์ก่อนก็มีกิจกรรมนัดหมายซื้อปลาทู จาก “ลุงปลาทู” กันอย่างคึกคัก ทำโปสเตอร์ประกาศเชิญชวนและแชร์กันอย่างแพร่หลาย เป็นเหตุให้ต่อมาได้รับการติดตามทำสกู๊ปจากสื่อมวลชนบางส่วนที่ยังคงติดตามเรื่องราวของผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง

เรื่องราวของลุงปลาทู เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจอันหนึ่ง เพราะมันเริ่มต้นจากการที่คนเสื้อแดงกลุ่มเล็กๆ สืบเสาะค้นหา บอกเล่ารายงานข้อมูลด้วยตัวเอง แล้วนำคลิป นำเรื่องเล่าส่งต่อให้สื่อมวลชนที่สนใจ บางส่วนก็เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊คและเว็บบอร์ด หลังเรื่องราวแพร่ขยายออกไปในโลกไซเบอร์ก็มีการแตกแขนงไอเดียในการสร้างกิจกรรมเพิ่มเติม โดยมีการนัดรวมพลกันเพื่อไปอุดหนุนปลาทูทอดของคุณลุง ในวันที่ 12 ก.ย.นี้ ที่ตลาดยงเจริญ อ่อนนุช 46

 
รูปโปสเตอร์ที่เผยแพร่ในเฟซบุ๊ค

" ลุงสอ นายธงไชย เหงวียน หรือลุงปลาทู ที่ขายปลาทู และรับทอดให้ฟรีด้วย ขายทุกวันตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึงเที่ยง แต่ตั้งแต่ได้รับการบาดเจ็บครั้งนี้ ทำให้คนเสื้อแดงมาช่วยอุดหนุนกันจนขายหมดราว ๆ 10 โมงเช้า ลุงขายที่ตลาดยงเจริญ อ่อนนุช 46 ลุงเล่าให้ฟังว่า เมื่อย้ายมาชุมนุมที่ราชประสงค์ “ขายของเสร็จผมก็จะมาร่วมชุมนุม โดยเดินทางผ่านทางบ่อนไก่เป็นประจำทุกวัน จนวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 ผมเดินทางในเส้นทางเดิมแต่เขาบอกว่าเข้าไม่ได้แล้ว และมีคนบอกว่ามีการยิงกันทาง สน.ลุมพินี ผมก็ได้ขี่รถไปดู ก็อยากรู้และอยากหาทางไปที่ราชประสงค์ เมื่อไปถึงบริเวณ สน.ก็จอดรถลงมายืนสังเกตการณ์ฝั่งตรงข้าม สน. ตอนนั้นผมยืนอยู่ใกล้กับนักข่าวฝรั่ง ซึ่งทราบภายหลังว่าเป็นนักข่าวชาวแคนาดา ได้ยินเสียงปืนดังก็นั่งยอง ๆ อยู่ข้าง ๆ นักข่าวฝรั่งซึ่งก็กำลังนั่งถ่ายรูปอยู่ ผมเห็นนักข่าวฝรั่งโดนยิงล้มลงเห็นว่ามีแผลเลือดออกที่ท้องขณะจะช่วยผมก็รู้สึกเจ็บที่สะโพกข้างซ้ายก่อน ต่อมาก็รู้สึกเจ็บมากทั้งสองข้างจนนอนลง เมื่อเสียงปืนซาลงก็มีพลเมืองดีไม่ทราบเป็นใครเหมือนกันเข้ามาช่วยผม ผมบอกให้เขาไปช่วยนักข่าวฝรั่งก่อน เพราะผมคิดว่าอาการเขาต้องหนักกว่าผมแน่ ๆ เพราะเขาโดนยิงท้องเลือดเต็มเลย มองเห็นกองเลือดกองใหญ่ และตอนนั้นก็ยังคิดว่าตัวเองคงไม่เป็นอะไรมาก จนมีคนมาช่วยยกร่างผมเข้าไปที่สน.ลุมพินี เพื่อรอรถพยาบาล ผมต้องนอนคว่ำหน้ารู้สึกเจ็บสะโพกมาก เริ่มรู้แล้วว่าเลือดผมออกมากเหมือนกัน มีคนมาขอให้ผมถอดเสื้อแดงออก ผมไม่ยอม” จนผมตะโกนว่า “ขอให้คนเสื้อแดงต่อสู้ต่อไป” ก็ไม่มีใครมาให้ผมถอดเสื้ออีกจนมีรถมารับผมไปส่งที่ รพ.กล้วยน้ำไท

โดยปกติลุงสอขายปลาทูตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึงเที่ยง แต่นับจากที่ลุงโดนยิงกลับมาครั้งนี้ มีพี่น้องเสื้อแดงได้มาช่วยอุดหนุนซื้อปลาทูลุง จนบางวันไม่ถึง 10 โมงเช้าก็ขายหมดแล้ว ถามคนซื้อส่วนใหญ่บอกว่า ปลาทูทอดเป็นอาหารที่ชอบกินอยู่แล้ว และที่เลือกซื้อเจ้าลุง นอกจากปลาตัวโตรสชาติดีแล้ว ยังสงสารไม่อยากให้ลุงยืนหรือนั่งนานๆ เพราะรู้ว่าลุงยังคงเจ็บปวดอยู่ แต่ก็ต้องมาทำกินหาเลี้ยงชีวิตของตนต่อไป การมาอุดหนุนลุงนอกจากอุดหนุนพี่น้องเสื้อแดงด้วยกันแล้ว ยังรู้สึกอิ่มใจเหมือนได้ทำบุญให้ลุงไม่ต้องฝืนยืนมากจนเกินไป ระดับชาวบ้านอย่างเราก็คงช่วยกันได้เพียงเท่านี้

ปลาทูแสนอร่อย พิสูจน์มาแล้ว.. ได้ถามลุงว่า หากมีใครมาถามว่าไปร่วมชุมนุมกับเสื้อแดงได้อะไร ลุงตอบว่า

ผมบอกว่าได้ความเหนื่อยไง เหนื่อยสุด ๆ ไปทีไรมีแต่เสียเงิน ทั้งค่าเดินทาง ค่ากิน ใครที่บอกว่าไปชุมนุมเสื้อแดงบอกว่าได้เงิน ก็ช่วยบอกหน่อยว่าได้เงินจากใครที่ไหน เพราะผมไปมาหลายปีมีแต่เสียเงิน เสียเวลาทำกินอีก แต่ผมก็จะไปเพราะผมชอบที่คนเสื้อแดงออกมาต่อสู้เรียกร้องเรื่องประชาธิปไตยและความเป็นธรรม

ตอนเช้าวันที่ 15 มีตำรวจจาก สน.ประเวศ มาขอสอบปากคำผม บอกผมว่าเขาต้องมาตามหน้าที่ ผมก็บอกว่าผมโดนยิงที่ สน.ลุมพินี เขาก็ยังให้ผมเล่าว่าผมจะไปไหน โดนยิงได้อย่างไร ผมก็เล่าตามจริงไป เขาให้ผมลงชื่อในบันทึกประจำวันของ สน.ประเวศผมก็ลงชื่อให้ ผมนอนรักษาตัวที่ รพ.วิภาราม 1 สัปดาห์ตามเกณฑ์ของประกันสังคม หลังจากนั้นก็กลับมานอนที่บ้านต่ออีก 2 วัน ผมจึงให้เพื่อนพาไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ สน.ลุมพินี เพื่อไปลงบันทึกประจำวันจะได้ทำเรื่องขอการเยียวยาช่วยเหลือตามที่ได้รับแจ้งว่าต้องมีบันทึกประจำวันจาก สน.ที่เกิดเหตุ เขาก็ลงประจำวันให้ดี แต่ต่อมามีตำรวจอ้างว่าโทรจาก สน.ลุมพินีโทรมาบอกผมว่า ลุงมีปัญหานะ ศอฉ.ให้ทำคดีว่าลุงไปร่วมชุมนุมเกิน 5 คน ให้ไปทำบันทึกปากคำ ผมก็ว่าผมไม่ไปหรอก ก็ตำรวจ สน.ประเวศ เคยมาสอบปากคำผมและบันทึกไว้แล้ว ก็ใช้อันนั้นแล้วกัน ผมยังเจ็บอยู่จะให้ไปโรงพักบ่อย ๆ ไม่ไหวหรอก ก็ไม่มีการติดต่อมาอีก ผมได้นำบันทึกประจำวันไปยื่นเรื่องขอรับการเยียวยาจากที่ต่าง ๆ ผมได้รับเงินช่วยเหลือจาก สำนักพระราชวัง 8 พันบาท พรรคเพื่อไทยผมก็ไปยื่นเรื่องแล้ว ยังไม่ได้รับเงิน ที่อื่น ๆ ที่ยื่นก็ยังไม่มีการติดต่ออะไรมาเช่นกัน ผมก็รอดูอยู่

ก่อนจากกันลุงถามว่า น้องเป็นนักข่าวสำนักไหนหรือเปล่า บอกว่าไม่ใช่ลุง เป็นประชาชนคนเสื้อแดงนี่แหละ แต่ก่อนก็ไม่ได้เป็น พอมาช่วยดูเรื่องคนเจ็บคนตายจนโดนกระชับพื้นที่ทางความคิดกันมากเลยประกาศตัวเป็นคนเสื้อแดงเลย ลุงหัวเราะชอบใจแล้วบอกว่า โธ่ นึกว่าเป็นนักข่าวอยากบอกอะไรหน่อย ก็บอกลุงว่าลุงอยากฝากอะไรถึงนักข่าวก็ฝากได้นะ พอรู้จักกันบ้าง จะส่งข้อความจากลุงไปให้

ลุงเลยฝากถามว่า “ทำไมสื่อมวลชนไม่ค่อยลงเรื่องคนเจ็บเลย และไอ้ที่รัฐบาลกล่าวหาว่ามีผู้ก่อการร้ายหรือชายชุดดำมายิงทหาร มายิงคนตายนะมันเป็นเรื่องตลก มันน่าเบื่อหน่ายมากที่ต้องมาฟังรัฐบาลและ ศอฉ. แถลงข่าวโกหกไปวัน ๆ สำหรับผมและชาวบ้านร้านตลาดทั่วไป รู้สึกเหมือน ๆ กันว่า การทำมาหากินทุกวันนี้ไม่ค่อยดี ใครว่าดีก็ดีไปแต่เราหากินได้แค่พอใช้จ่ายไปวัน ๆ ผมมองว่าประเทศนี้ไม่มีแล้วซึ่งความยุติธรรม วันนี้ คนเสื้อแดงโดนข่มเหงไล่ล่า รัฐบาลอย่าคิดว่าจะกดหัวคนจำนวนมากได้อย่างนี้ตลอดไป หากยังทำเช่นนี้นาน ๆ มันก็อาจระเบิดได้เหมือนกัน

และผมก็หวังว่าสักวันเราต้องเอาคืน !!!!!!!!!"
 

เรื่องราวทำนองนี้ถูกนำเสนอให้โลก(ออนไลน์) ได้รับรู้มาแล้วจำนวนไม่น้อย ทั้ง ‘เหยื่อ’ ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมโดยตรงและที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมเลยแต่อยู่ในพื้นที่ ‘สู้รบ’ ก็โดนลูกหลงเป็นกระสุนปืนด้วยไม่ต่างกัน หลายครอบครัวสูญเสียเสาหลักอย่างกระทันหัน ทั้งแบบจากเป็น (พิการ เป็นอัมพาต หรือถูกจับ) และจากตาย การระดมทุนเกิดขึ้นผ่านการกระจายข้อมูลทางเฟซบุ๊ค ซึ่งมักแนบท้ายเบอร์บัญชีของผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงด้วย

“ที่ผ่านมาพวกเขาได้รับการช่วยเหลือจากเครือข่ายที่รู้ข่าว เงินบริจาคที่เข้าบัญชีมีตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักแสน” กาญจน์ชนิษฐากล่าว

 

กาญจน์ชนิษฐา เอกแสงสี เป็นผู้ใช้เฟซบุ๊ครายหนึ่งที่นำข้อมูลคนเจ็บ คนตาย จากการสลายการชุมนุมมาโพสต์อย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นศูนย์ข้อมูลแหล่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกออนไลน์ เธอทำงานรับราชการในกระทรวงมหาดไทยวันจันทร์ถึงศุกร์ และใช้เวลาวันเสาร์-อาทิตย์ตระเวณร่วมกิจกรรมคนเสื้อแดง และเยี่ยมเยียนคนเจ็บ/ญาติคนตายไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ซึ่งมักถูก hint จากปากต่อปากให้เธอและอาสาสมัครอีก 2-3 คนไปค้นหา ถ่ายคลิปวิดีโอจากกล้องดิจิตอลป๊อกแป๊ก พูดคุยข้อมูลสำคัญๆ แล้วนำมาเรียบเรียงแบบง่ายๆ โพสต์ขึ้นเฟซบุ๊คส่วนตัว

“เราพอได้ยินเรื่องของบางราย เราก็ไปตามหา ไปนำข้อมูลออกมา บางทีก็มีการบอกต่อจากคนรู้จัก แต่ช่วงหลังข้อมูลถูกส่งมาทางเฟซบุ๊คเกินครึ่ง บางคนเขารู้แต่เขาไม่กล้าโพสต์ ไม่กล้าแสดงตัวเพราะกลัว” เธอกล่าว

“เฟซบุ๊คเป็นเหมือนพื้นที่หนึ่งที่ทำให้เราได้แสดงออกเพราะมันไม่มีช่องทางอื่นสำหรับประชาชนธรรมดาที่อยากจะแชร์ข้อมูลภาพและเสียง...ความจริงใช้เฟซบุ๊คมานานแล้วแต่เพิ่งได้ใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพก็ช่วงหลัง 10 เมษานี้เอง” กาญจน์ชนิษฐากล่าว

จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้น่าสนใจ เพราะเธอเป็นข้าราชการคนหนึ่งที่เดินทางไปเยี่ยมประชาชนจากจังหวัดที่เธอเคยไปประจำการอยู่ ทำให้มีโอกาสร่วมเหตุการณ์ 10 เมษาแบบเต็มๆ จาก ‘ไม่แดง’ จึงเริ่ม ‘แดง’ และเริ่มรวมตัวกับอาสาสมัครไร้สังกัดเพื่อช่วยเหลือคนบาดเจ็บ คนเจ็บป่วยในที่ชุมนุมเรื่อยมา

กระทั่งช่วงเดือนพฤษภาคมที่เหตุการณ์แหลมคม มีคนตายมากขึ้น เธออยู่ตรงนั้นและมีโอกาสถ่ายรูปศพคนตายซึ่งไม่มีญาติ และพยายามช่วยตามหาญาติให้เขา

“เราเอารูปเข้าไปฝากนักข่าวที่หลังเวที ให้นักข่าวช่วยลงข่าวหน่อยเผื่อจะเจอญาติเขา พี่ๆ น้องๆ นักข่าวเขาก็บอกว่าไม่ได้หรอก ภาพแบบนี้ลงไม่ได้ ให้เอาไปเผยแพร่เองในฐานะประชาชนดีกว่า เราเลยเอาไปโพสต์ในเฟซบุ๊คส่วนตัว”

ภารกิจนี้ดูเหมือนจะติดพันเธอมาจนถึงปัจจุบัน และกำลังแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นๆ ท่ามกลางช่องทางการสื่อสารเดิมๆ ที่ตีบตันและบรรยากาศแห่งเสรีภาพที่แสนอึมครึม ...

หรือนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของยุค 'ประชาชน 3.0' ดังที่มีคนนิยามไว้...

ใครไม่มีเฟซบุ๊คท่าจะต้องเครียดหนักจริงๆ ล่ะทีนี้ ;P

 

หมายเหตุ : บก.ลายจุด เป็นผู้นิยาม “ประชาชน 3.0” ซึ่งเป็นการนิยามโดยล้อไปกับพัฒนาการของเว็บไซต์ โดยระบุว่า "ประชาชน 3.0" คือ คนที่ต้องการปกครองตัวเอง ซึ่งไม่ใช่การโค่นรัฐบาลอภิสิทธิ์ลงแล้วเอาคนของตัวเองมาเป็นเจ้านายแทน แต่หมายถึงชัยชนะในครั้งนี้ ผู้เป็นนายคือประชาชน ประชาชนเป็นผู้ควบคุมอำนาจ ผู้ปกครองต้องเปลี่ยนเป็นผู้แทนที่ประชาชนควบคุมได้ และต้องไม่มีใครใหญ่ไปกว่าประชาชน อ่านเพิ่มเติมได้ใน รายงานเสวนา: “การเมืองบนท้องถนนของคนธรรมดา” มองผ่านแว่นหลายสี http://prachatai3.info/journal/2010/09/30968

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท