ชำแหละ 20 ปีประกันสังคม ผู้ประกันตนได้อะไร?

วาระครบ 20 ปี สำนักงานประกันสังคม คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมกับคณะกรรมาธิการแรงงานฯ จัดเวทีอภิปรายแจงปัญหาประกันสังคม พร้อมเสนอร่างกฎหมายปรับโครงสร้างให้เป็นองค์กรอิสระ ด้านเลขาประกันสังคมเผยเตรียมเพิ่มสิทธิประโยชน์อีกหลายกรณี ระยะสั้นแก้สิทธิประโยชน์กองทุนเงินทดแทน 

 
 
คุณภาพของยาที่ด้อยกว่าปกติ ปัญหาด้านบริการทางการแพทย์ ต้องรอคิวรักษาเป็นชั่วโมง กระบวนการในการขอรับสิทธิประโยชน์ล่าช้า ... และอีกนา นา ปัญหา รวมทั้งความไม่เข้าใจต่อสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสังคม คือความจริงที่จังเป็นอยู่ในปัจจุบัน พร้อมคำถามสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกัน คือ เงินทุกบาทของผู้ประกันตนกว่า 9 ล้านคน ที่ส่งเข้ากองทุนฯ ทุกเดือน ณ วันนี้ เป็นเงินรวมกว่า 707,730 ล้านบาทนั้น ถูกนำไปใช้ด้านใดบ้าง และเกิดประโยชน์ต่อผู้ประกันตน มากน้อยแค่ไหน
 
ในวาระครบ 20 ปี ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ซึ่งมีหมุดหมายหลักในการทำให้ผู้ใช้แรงงานได้มีหลักประกันด้านสวัสดิการตั้งแต่เด็กจนตาย แต่ในมุมมองขององค์กรแรงงานยังคงพบปัญหามากมายที่ทำให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสในการบริหารงาน ซึ่งกระทบต่อความครอบคลุมในการดูแลแรงงาน 
 
วานนี้ (6 ก.ย.53) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้ร่วมกับคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จัดเวทีอภิปรายในหัวข้อ "ชำแหละ20 ปีประกันสังคม ผู้ประกันตนได้อะไร?” ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ อาคารรัฐสภา 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดกลไกในการตรวจสอบสำนักงานประกันสังคมอย่างเป็นรูปธรรม และเพื่อรักษาสิทธิของผู้ประกันตน อีกทั้งขับเคลื่อนให้สำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ
 
น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงการใช้งบประมาณที่ผ่านมาของ สปส.ที่ค่อนขางเป็นปัญหาเรื่องความโปร่งใส ยกตัวอย่างงบในการระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศของสำนักงานประกันสังคมกว่า 2,800 ล้านบาท ในปี 2550 งบประมาณในการให้บุคคลากรไปศึกษาดูงานยังต่างประเทศปีละ 118 ล้านบาท โครงการจัดซื้อที่ดินและอาคารวัฏจักร ซึ่งผู้บริหารสำนักงานประกันสังคมได้เสนอการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการในวงเงิน 500 ล้านบาท หรืองบการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประกันสังคมปีละ 195 ล้านบาท ซึ่งหากลดเรื่องเหล่านี้ได้จะสามารถนำงบไปดูแลลูกจ้างสร้างความมั่นคงให้ลูกจ้างได้ประโยชน์ดีกว่า
 
น.ส.วิไลวรรณ กล่าวด้วยว่า การใช้งบของ สปส.ต้องทบทวนด้วยว่าสมควรไม่สมควรทำ เช่น การไปดูงานต่างประเทศ หรืองบที่เอาไปใช้ในการประชาสัมพันธ์ซึ่งเห็นได้ว่าฝ่ายการเมืองเข้ามามีบทบาทในการอนุมันติงบเหล่านี้ ดังนั้น สปส.จึงควรมีความเป็นอิสระ โปร่งใส ไม่ถูกครอบงำ เพื่อสร้างหลักประกันให้กับผู้ประกันตนในอนาคต
 
ส่วนกรณีปัญหา คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด) ที่เป็นคนหน้าเดิมๆ เข้ามาอยู่ในตำแหน่ง น.ส.วิไลวรรณ  เสนอว่า ต้องเปลี่ยนโครงสร้าง สปส.ให้เป็นองค์การอิสระ มีคณะกรรมการฯ มาจากการเลือกตั้ง และผู้บริหารต้องมาจากการสรรหา อีกทั้งให้ขยายความคุ้มครองไปยังแรงงานนอกระบบทุกระบบ ส่วนผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และ 40 รัฐควรต้องร่วมกับผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบด้วย
 
น.ส.วิไลวรรณ กล่าวด้วยว่า อยากเห็นส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพราะมาจากเงินของคนยากคนจน หากต้องเสียเงินแต่ไม่ได้สร้างความมั่นใจ ไม่สร้างความมั่นคง แรงงานคงต้องเสียกำลังใจ กับเวลา 20 ปี ที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนน่าจะเข้ามาร่วมกันทำในสิ่งที่จะส่งผลดีถึงอนาคต
 
ด้านนางสริวัณ ร่มฉัตรทอง เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ส่วนตัวมีความคาดหวังคุณภาพชีวิตที่ดีของลูกจ้างในโครงข่ายประกันสังคม และอยากเห็นการปรับปรุงคุณภาพบริหารของ สปส. โดยเฉพาะในด้านการรักษาพยาบาล ซึ่งจะเห็นว่าหลายครั้งเงินสบทบ 5% ที่ถูกหักเข้าสู่ส่วนการรักษาพยาบาล แต่ผู้ประกันตนกลับต้องพบกับความล่าช้าในการบริการ พบปัญหาในเชิงคุณภาพ ทั้งคุณภาพยา และคุณภาพการบริการของบุคคลกรทางการแพทย์ และโดยส่วนตัวมั่นใจว่าในส่วนนายจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมหลายคนไม่เคยเบิกค่ารักษากับประกันสังคมที่ได้จ่ายมา
 
นางสริวัณ กล่าวต่อมาถึงการเหมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลรายหัว สำหรับคน 9 ล้านคนที่อยู่ในระบบประกันสังคมว่า จะทำอย่างไรให้สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลโดยสมควรกับการเจ็บป่วย และให้ได้สิทธิพึงมีพึงได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งจะมีการประเมินผล ตรวจสอบอย่างไร ให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิเหล่านั้น ยกตัวอย่าง บริการโทร 1506 ซึ่งเป็นบริการพื้นฐานที่ควรทำให้มีประสิทธิภาพ มีการทำสถิติผู้ใช้บริการ ส่วนการดูงานน่าจะถูกนำมาใช้อย่างน้อยเป็นการศึกษาเปรียบเทียบ หรือนำสิ่งที่ได้มาสร้างการเปลี่ยนแปลง ให้เห็นถึงประโยชน์
 
ขณะที่ นายสถาพร มณีรัตน์ รองประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฏร กล่าวว่า ส่วนตัวอยากเห็นการใช้เงิน ของ สปส.โปร่งใส ทั้งนี้ ตามระเบียบของ สปส.สามารถดึงเงิน 10% ของเงินสมทบในแต่ละปีมาเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการได้ ซึ่งเงินส่วนนี้ถูกจับตามองว่าไม่มีการตรวจสอบการนำไปใช้ ซึ่งแม้แต่กรรมาธิการการแรงงานก็ยังไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้
 
นายสถาพร กล่าวด้วยว่าทางคณะกรรมาธิการฯ พร้อมร่วมกับทุกภาคส่วนในการผลักดันกฎหมายสำคัญ แต่ในส่วนร่างกฎหมายประกันสังคมที่กลุ่มแรงงานนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องการเป็นองค์กรอิสระ เกรงว่าถ้าเป็นองค์กรอิสระจะทะเลาะกันมากกว่านี้ ดังตัวอย่างของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ตอนนี้ยังมีปัญหากันอยู่ อย่างไรก็ตามคงต้องอยู่ที่การออกแบบ
 
ส่วนนายนคร มาฉิม ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ที่กล่าวว่าในฐานะที่ร่วมอยู่ในรัฐบาล ทราบว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงานอย่างยิ่ง และก็มีกังวลใจแผนรับมือของกองทุนชราภาพ ในส่วนของรายรับกับรายจ่ายในอนาคตที่ไม่สมดุลกัน ทั้งนี้ โดยส่วนตัวแล้วต่อการทำงานของ สปส.รู้สึกพอใจระดับหนึ่งแต่ยังมีเรื่องที่ต้องสะสาง คือความไม่เหมาะสมในการใช้งบประมาณ ซึ่งอยากให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้จริง โดยเฉพาะจะทำอย่างไรให้สามารถเอาผิดกับฝ่ายการเมืองได้ด้วย 
 
ในส่วนของ สปส. นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ก็ได้กล่าวชี้แจงถึงการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ พร้อมเผยเตรียมเพิ่มสิทธิประโยชน์อีกหลายกรณี
 
นายปั้น กล่าวว่า 20 ปีของ สปส.เหมือนคนที่กำลังจบปริญญาตรีจากนี้ไปคือออกไปหางานทำและดูแลตัวเองให้ดี ซึ่งเป็นเรื่องดีที่จะผลักดันสปส.ไปสู่ความเป็นองค์กรอิสระ ในอนาคตอาจมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายจึงต้องนำเงินไปลงทุน โดยปี 2546 เริ่มลงทุนในตลาดหุ้นซึ่งครั้งนั้นได้ผลกำไรกว่า 900 ล้านบาท พอปี 2552 เพิ่มเป็นกว่า 2 หมื่นล้านบาท และในปีนี้หากสถานการณ์เศรษฐกิจไม่เปลี่ยนแปลงอาจได้กำไรเพิ่มขึ้นเป็น 3 หมื่นล้าน จากเงินลงทุนทั้งสิ้น 7 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกองทุนชราภาพกว่า 5 แสนล้านบาทซึ่งต้องหาดอกผลเตรียมจ่ายบำนาญปี 2557
 
เลขาธิการ สปส.กล่าวด้วยว่า อนาคต สปส.นั้น ระยะยาวต้องมีการปรับปรุงสภาพองค์กร และเห็นด้วยที่ผู้ใช้แรงงานเสนอให้เป็นองค์กรอิสระ แต่ระยะสั้นจะปรับปรุงกองทุนเงินทดแทน ซึ่งขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขอยู่ในสภาผู้แทนฯ โดยเพิ่มเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างที่หยุดพักรักษาตัวภายหลังบาดเจ็บจากการทำงานจากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้าง และเพิ่มค่าทดแทนทุพพลภาพให้มากกว่า 15 ปี และเพิ่มค่าทดแทนกรณีเสียชีวิตจาก 8 ปี เป็น 12 ปี 
 
นอกจากนี้การคืนสภาพผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ซึ่งเป็นผู้ประกันตนเอง คือต้องจ่ายในส่วนของนายจ้างด้วยหลังจากตกงานขาดส่งเงินสมทบ โดยให้ต่ออายุ ดังนั้นเงินบำเหน็จชราภาพที่เคยสะสมเอาไว้ก็สามารถสะสมต่อได้ คาดว่าจะมีคนกลุ่มนี้ราว 6 แสนคน อย่างไรก็ตามอีก 30 ปีข้างหน้า สปส.มีปัญหากรณีจ่ายชราภาพ ซึ่งผู้ประกันตนจ่ายร้อยละ 3 และนายจ้างจ่ายร้อยละ 3 โดยเงินก้อนนี้ไม่ได้เอามาใช้อะไรเลย แต่เวลารับคืนร้อยละ 20 ทำให้สปส.หัวโต เพราะต้องหาส่วนต่างร้อยละ14 เปอร์เซ็นต์มาโปะ ทั้งหมดเป็นปัญหาที่ต้องเกิดขึ้นในอนาคต
 
สำหรับการเสนอแก้ไขกฎหมายประกันสังคมของกลุ่มแรงงาน นายปั้นกล่าวว่า หากร่างได้เร็วเกี่ยวกับการเปลี่ยนเป็นองค์กรอิสระก็อาจขยับเข้าไปในสภาพร้อมๆ กัน ส่วนเรื่องสิทธิประโยชน์ที่มีอยู่ 7 กรณีนั้น ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการเยียวยา แต่ไม่มีเรื่องการป้องกัน ดังนั้นจึงอยากทำในเรื่องของการตรวจสุขภาพให้ผู้ประกันตนด้วย
 
...
 
ทั้งนี้ สถานการณ์ล่าสุดของร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับใหม่ ได้มีมติ ครม.เห็นชอบในหลักการแล้ว ซึ่งก็เป็นที่จับตามมองของเครือข่ายแรงงานว่ากฎหมายใหม่ที่ออกมาจะยังประโยชน์ให้พวกเขาได้อย่างไร  
 
ที่ผ่านมา องค์กรแรงงานมีการออกมาเคลื่อนไหวติดตามการทำงานของ สปส.อย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมสรุปบทเรียน สำหรับการเปลี่ยนแปลงสำนักงานประกันสังคม ไปสู่ทางที่ดีขึ้นจะเกิดขึ้นในอนาคต และการขับเคลื่อนครั้งใหม่คือ ความพยายามให้สำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ โดยระบุ ไว้ใน ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ฉบับบูรณาการแรงงาน 
 
บทสรุปในการสัมมนาครั้งนี้ ในส่วนฝากฝ่ายการเมืองได้รับลูกที่จะผลักดันต่อร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับแรงงาน โดย ว่าที่ ร.ต.สุเมธ ฤทธาคนี ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวในการปิดการสัมมนาระบุว่า จะทำการรวมรวม ส.ส.อีก 19 คน เพื่อร่วมเสนอร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับที่มีการเสนอโดยกลุ่มแรงงาน โดยขอเวลา 30 วัน และจะเร่งทำงานให้สมกับที่ตั้งใจมาหารือร่วมกัน
 
  
 
๖ กันยายน ๒๕๕๓
 
เรื่อง เสนอร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ฉบับบูรณาการแรงงาน)
 
เรียน ประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
 
สิ่งที่ส่งมาด้วย ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ฉบับบูรณาการแรงงาน)
                   ปรับปรุงใหม่ ณ วันครบรอบ ๒๐ ปี พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.๒๕๓๓
 
หากเราย้อนกลับไปยังปี ๒๕๓๓ ระหว่างวันที่ ๑๖-๑๗ พฤษภาคม ที่หน้ารัฐสภา คนงานทั้งจากภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ นักศึกษา นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ กว่า ๕,๐๐๐ คน รวมตัวกันเรียกร้องต่อรัฐบาล พรรคการเมือง และรัฐสภา ให้ผ่านกฎหมายประกันสังคม ที่คาดหวังว่าจะเป็นสวัสดิการที่ดูแลคนจน ซึ่งในครั้งนั้นได้มีผู้แทนของคนงานภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ นักศึกษา ๑๘ คน ได้ร่วมกันอดข้าวประท้วงกดดันรัฐบาล เพื่อให้ออกกฎหมาย พ.ร.บ.ประกันสังคม ทำให้ผู้ใช้แรงงานได้มีหลักประกันด้านสวัสดิการตั้งแต่เด็กจนตาย จนถึงปัจจุบันเป็นวาระ ๒๐ ปี ของสำนักงานประกันสังคม กองทุนประกันสังคมมีเงินรวมถึง ๗๐๗,๗๓๐ ล้านบาท แต่ตลอดระยะเวลา ๒๐ ปี ที่ผ่านมาของสำนักงานประกันสังคม จะเห็นว่าการบริหารสำนักงานประกันสังคมประสบสภาพปัญหามากมาย เช่น
 
๑. ข้อจำกัดของการเข้าถึงสิทธิ รวมไปถึงคุณภาพของการรักษาพยาบาล และมีการยกเว้นการเข้าถึงบริการทางการแพทย์อีกหลายโรคด้วยกัน
 
๒. การบริหารงานกองทุนประกันสังคม ที่ไม่มีประสิทธิภาพ กรรมการประกันสังคมถูกแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ถูกควบคุม แทรกแซงจากฝ่ายราชการและการเมือง กรรมการประกันสังคมเป็นบุคคลหน้าเดิมๆหมุนเวียนกันเข้ามา โดยเกาะติดเชื่อมโยงกับผลประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม โดยในช่วงระยะเวลาอันสั้นในระอบ ๕ ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าการอนุมัติเงินประกันสังคมตอบสนองต่อนโยบายของฝ่ายการเมืองหลายต่อหลายโครงการด้วยกันไม่ว่าจะเป็น
 
·       การตั้งงบประมาณดูงานต่างประเทศ ปีละ ๑๑๘ ล้านบาท
·       โครงการจัดซื้อที่ดินและอาคารวัฏจักร ซึ่งผู้บริหารสำนักงานประกันสังคมได้เสนอการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการในวงเงิน ๕๐๐ ล้านบาท เพื่อจัดซื้อและสร้างสำนักงานประกันสังคม เขตพื้นที่ ๖ และอาคารศูนย์อบรมของ สปส.
·       โครงการจัดหาและดำเนินการระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศแรงงานของสำนักงานประกันสังคม ๒,๘๐๐ ล้านบาท
·       โครงการประชาสัมพันธ์ ๑,๐๐๐ ล้านบาท
·       การใช้งบประมาณในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประกันสังคม ปีละ ๑๙๕ ล้านบาท
·       งบประมาณในการสนับสนุนสภาองค์การลูกจ้างและนายจ้าง ปีละ ๒๔ ล้านบาท เพื่อใช้ในการจัดอบรมแก่ผู้ประกันตน อีกทั้งมีการตั้งงบประมาณอีก ๒.๒ ล้านบาท เป็นค่าใช้สอยในการดำเนินงาน
·       การลงทุนในกิจการประเภทต่างๆ ของประกันสังคม ที่มีการขาดทุน เช่น กรณีลงทุนหุ้นไทยธนาคารที่ขาดทุน , การลงทุนในบริษัทเลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิงส์ หรือแม้แต่การลงทุนทียูโดม เรสซิเดนท์เชียลคอมเพล็กซ์ ที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนระดับสูง เป็นต้น
·       โครงการล่าสุด เตรียมนำเงิน ๒๐๐ ล้านบาท จัดทำหนังสือประวัติของกรรมการประกันสังคม
 
๒๐ ปี สำนักงานประกันสังคม จะเห็นได้ว่าสภาพปัญหาที่เกิดล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทั้งสิ้น ผู้ประกันตนส่วนใหญ่เป็นคนหาเช้ากินค่ำ เงินที่ออมจากหยาดเหงื่อ หยดเลือด หยดน้ำตา ของคนทำงานที่ฝากอนาคตไว้กับกองทุนประกันสังคม ดังนั้นการบริหารกองทุนโดยการนำเงินไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์จึงเป็นสิ่งไม่สมควร เพราะนั่นหมายถึงคุณภาพชีวิต และอนาคตของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกันตน ที่เจียดเนื้อของตนเองส่งเงินสมทบเข้ากองทุนอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาของการทำงาน ซึ่งอาจนับได้ว่ากว่าค่อนชีวิต
 
ด้วยความตระหนักต่อสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการบริหารงานสำนักงานประกันสังคม ที่ไม่มีความโปร่งใสและขาดความมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ซึ่งเป็นองค์กรแรงงานศูนย์กลางระดับชาติ อันประกอบด้วยองค์กรสมาชิกในระดับสหพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงานย่านอุตสาหกรรม สหภาพแรงงาน และองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ๒๘ องค์กร จึงขอนำเสนอร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ฉบับบูรณาการแรงงาน) ปรับปรุงใหม่ ณ วันครบรอบ ๒๐ ปี พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.๒๕๓๓ ต่อท่านและคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ท่านและคณะกรรมาธิการฯ สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยการรวบรวมรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๒๐ ท่าน เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อรัฐสภา เพื่อวัตถุประสงค์ดังนี้
 
๑.    ปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ เพื่อการจัดการที่เป็นอิสระ โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ
๒.   เพื่อให้คณะกรรมการบริหารประกันสังคมมาจากการเลือกตั้ง จากผู้ประกันตน ๙ ล้านคน โดยต้องให้สิทธิกับผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกตั้ง ๑ คน ต่อ ๑ เสียง ในการเลือกตั้งตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง
๓.   เพื่อให้การบริหารกองทุนประกันสังคมของคณะกรรมการบริหารประกันสังคม ปรับปรุงจากระบบ “ไตรภาคี” เป็น “พหุพาคีโดยต้องมีสัดส่วนของนักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ ความสามารถในการบริหารเงินกองทุนประกันสังคม เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารการลงทุนและความเสี่ยง นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการด้านแรงงาน
๔.   เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงจากการนำเงินกองทุนประกันสังคมไปใช้ และป้องกันการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งเรื่องนี้จะเห็นได้จากปัญหาดังที่กล่าวมาข้างต้น
๕.   เพื่อให้มีการขยายการคุ้มครองไปสู่ประชาชนทุกภาคส่วน ทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ
๖.    เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ ๗ กรณี เช่น ค่าทำฟัน ค่าคลอดบุตร เงินสงเคราะห์บุตร พร้อมทั้งการเพิ่มคุณภาพการบริการทางการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพครอบคลุมทุกโรค
 
๒๐ ปี สำนักงานประกันสังคม ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนของผู้ใช้แรงงาน ขบวนการแรงงานและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องมาสรุปบทเรียนร่วมกัน การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาไปสู่ทางที่ดีขึ้นจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ระยะเวลาที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการปล่อยให้สำนักงานประกันสังคมยังคงอยู่ภายใต้การบริหารดูแลของกระทรวงแรงงาน ทำให้การบริหารงานไม่มีความคล่องตัว การตรวจสอบการบริหารจัดการเป็นไปอย่างล่าช้า สร้างความไม่โปร่งใส หรือการที่ไม่สามารถคุ้มครองสิทธิ หรือสร้างหลักประกันชีวิตแก่ผู้ใช้แรงงานได้อย่างแท้จริง ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่จะต้องร่วมกันผลักดันให้ “สำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ” โดยตราพระราชบัญญัตินี้บังคับใช้ ตามสิ่งที่ส่งมาด้วยนี้
 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ฉบับบูรณาการแรงงาน) ปรับปรุงใหม่ ณ วันครบรอบ ๒๐ ปี พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.๒๕๓๓
 
ขอแสดงความนับถือ
 
(นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย)
ประธาน
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท