Skip to main content
sharethis

ซาอุดิอาระเบียออกแถลงการณ์แสดงความกังวลตั้ง "พล.ต.สมคิด บุญถนอม" เป็น ผช.ผบ.ตร. ยังยันไม่แทรกแซงกิจการภายในชาติอื่น หวังไทยจะทำคดีอุ้มนักธุรกิจซาอุอย่างโปร่งใส

 

ตามที่เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 53 เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่าสถานทูตซาอุดิอาระเบียประจำกรุงเทพฯ ได้ออกแถลงการณ์ เพื่อตอกย้ำถึงความไม่พอใจต่อกรณีที่ รัฐบาลไทยมีมติคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่มีนาย สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธาน พิจารณาแต่งตั้ง พล.ต.ท. สมคิด บุญถนอม ผู้บัญชาการตำรวจภาค 5 ขึ้นเป็น ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทั้งที่ตกเป็นจำเลยในคดีอุ้มฆ่า นายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย เมื่อปี 2533  และคดีกำลังอยู่ในระหว่างชั้นศาล ซึ่งจะเริ่มต้นนัดสืบพยานในวันที่ 25 พ.ย. 2553 โดยรายงานว่าทางการซาอุดิอาระเบีย ตัดสินใจลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย พร้อมนำข้อกำหนดที่เข็มงวดมาบังคับใช้กับแรงงานไทย นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งห้ามพลเมืองซาอุฯ เดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศไทย พร้อมกันนี้ยังลดระดับความร่วมมือทวิภาคีในระดับสูงทุกสาขากับไทยให้อยู่ในระดับต่ำสุด

ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 ก.ย. โพสต์ทูเดย์ลงข่าวแจ้งว่าข้อมูลมีความคาดเคลื่อน โดยแถลงการณ์ต้นฉบับได้ระบุดังนี้

ซาอุดิอาระเบีย ขอเรียกร้องให้ทางการไทยทบทวนการตัดสินใจแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม  ซึ่งเคยถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับคดีการหายตัวของนายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย ไปจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจากคดีความทั้ง 3 คดี มีอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งทั้งสองประเทศพยายามที่จะให้การพิจารณาคดีเป็นไปอย่างโปร่งใส และคดีความดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อความพยายามในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ

นอกจากนี้ สถานทูตซาอุดิอาระเบีย ยังแสดงความกังวล ต่อมติดังกล่าวของทางการไทยใน 2 ประเด็น ได้แก่

1. การตัดสินใจเลื่อนตำแหน่งของ พล.ต.ท. สมคิด บุญถนอม ผู้บัญชาการตำรวจภาค 5 ขึ้นเป็น ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

2. ท่าทีของเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยบางกลุ่มที่ออกมาสนับสนุนการแต่งตั้ง พล.ต.อ.สม คิด ซึ่งถูกแจ้งข้อหาในคดีการหายสาบสูญของนักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย

เอกสารดังกล่าว ยังระบุด้วยว่า ซาอุดิอาระเบียจะปฏิบัติตามนโยบายของประเทศที่จะไม่แทรกแซงกิจการภายในของชาติอื่น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าซาอุดิอาระเบียจะรับรู้ถึงความอ่อนไหวทางการเมืองไทยในขณะนี้ แต่ยังหวังว่าข้อตกลงที่ฝ่ายรัฐบาลไทยให้คำมั่นไว้ว่าจะดำเนินการพิจารณาคดี อย่างโปร่งใส และไม่มีการแทรกแซงจะบรรลุผลสำเร็จ โดยเฉพาะคำมั่นสัญญาของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่าจะสะสางคดีความที่คั่งค้างทั้งหมด เพื่อปูทางสู่การรื้อฟื้อความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระหว่างทั้งสองประเทศขึ้น มาอีกครั้ง

ทั้งนี้ ในเอกสารดังกล่าว ได้ระบุด้วยว่า ไทยและซาอุดิอาระเบีย ได้เริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการขึ้น เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2508 ก่อนจะพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศขึ้นสู่ระดับ "เอกอัตรราชทูต" ในปี 2509 ก่อนที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศจะเริ่มถดถอยลงในช่วงทศวรรษ 1990 จากทั้งกรณีการขโมยเพชร และการสังหารเจ้าหน้าที่ซาอุฯในประเทศไทย ในปี 1989 และในปี 1990 ตลอดจนความไม่คืบหน้าในคดีดังกล่าว จนถึงการแต่งตั้งพล.ต.ท. สมคิด บุญถนอม ในครั้งนี้

ปัญหาความสัมพันธ์ดังกล่าวได้ส่งผลให้ซาอุดิอาระเบียได้ประกาศลดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งห้ามพลเมืองเดินทางมาท่องเที่ยวยังไทย ประกาศใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดต่อการนำเข้าแรงงานไทยและ ลดระดับความร่วมมือทวิภาคีในระดับสูงทุกสาขากับไทยให้อยู่ในระดับต่ำสุดอีก ด้วย

ที่มาข่าว:

ซาอุฯออกแถลงการณ์ลดสัมพันธ์ไทย (โพสต์ทูเดย์, 8-9-2553)
http://bit.ly/afRuKs

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net