ชาวชุมชนรุกถึงมหาดไทยจี้ รมต.ลงนามร่างกฎหมายที่อยู่อาศัย ด้านมท.1 ส่งผู้ช่วยคุยแทน

เครือข่ายสลัม 4 ภาค ร่วม สอช.กว่า 700 คน ชุมนุม ก.มหาดไทย จี้ “ชวรัตน์” ลงนามกฎกระทรวงยกเว้นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร เปิดทางสร้างบ้านของคนจนเมือง เร่งนำเข้า ครม.ใน 1เดือน ด้านผู้ช่วย ทม.1 คุยแทน สรุปทำบันทึกร่วมรับนำเอาเนื้อหา กม.ของชุมชนเข้ากฤษฏีกาและ ครม.ไม่เกิน ต.ค.นี้ 
 
วันนี้ (9 ก.ย.53) เวลา 9.00 น.ชาวชุมชนแออัดจากเครือข่ายสลัม 4 ภาค และสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) กว่า 700 คน นัดรวมตัวที่ศาลฎีกาจากนั้นได้เคลื่อนขบวนเดินเท้าไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอเข้าพบนายชวรัตน์ ชาญวีรกูลกับ รมว.กระทรวงมหาดไทย (มท.1) เพื่อติดตามความคืบหน้าการลงนามร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการยกเว้น ผ่อนผัน หรือกำหนดเงื่อนไขในการปฏิบัติตามกฎหมายการควบคุมอาคาร สำหรับโครงการที่รัฐจัดให้มี หรือพัฒนาเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย พ.ศ. … และนำร่างดังกล่าวเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรี
 
 
 
 
 
 
สืบเนื่องจาก พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ได้มีการแก้ไขเพื่อผ่อนปรนให้การก่อสร้างที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยตามนโยบายของรัฐบาล และดำเนินการโดยหน่วยงานรัฐในปี 2550 แต่ระยะผ่านมาเกือบ 3 ปี ยังไม่สามารถออกเป็นกฏกระทรวงเพื่อประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ทำให้โครงการบ้านมั่นคงที่เป็นนโยบายของรัฐบาลเพื่อการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนหลายโครงการกลายเป็นโครงการที่ผิดกฎหมาย และชาวชุมชนถูกดำเนินคดีข้อหาสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องเสียค่าปรับ และต้องโทษจำคุก
 
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวจะถูกร่างโดยชาวชุมชนทั่วประเทศโดยได้เห็นพ้องกับเนื้อหาที่ร่วมกันร่างแล้ว และได้เสนอให้กับกระทรวงมหาดไทยไปแล้วหลายเดือน แต่ทางมหาดไทยก็ยังไม่นำร่างกฎกระทรวงนำเข้า ครม.เพื่อพิจารณา 
 
“เราอยากได้บ้านไง เราถึงมาทำอย่างนี้” ชายวัยกว่า 60 ปี ชาวชุมชนจตุจักร รายหนึ่งให้บอกเล่าความรู้สึก พร้อมให้ข้อมูลว่าที่ผ่านมาเขาได้ทำการยกระดับที่อยู่อาศัย ตามโครงการของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ที่ให้การสนับสนุน แก้ปัญหาชุมชนสลัม อีกทั้งยังช่วยเรื่องการควบคุมปัญหายาเสพติดได้ง่ายขึ้น แต่ที่ผ่านมากลับติดข้อกฎหมายที่ยังไม่ยอมมีออกมาเสียที จึงต้องออกมาร่วมต่อสู้เรียกร้อง
 
ด้านสุนันทา มูลทองชุน ชาวชุมชนบางกอกน้อย 2 กล่าวย้ำเช่นกันว่าชาวชุมชนประสบปัญหาจากการที่กฎหมายไม่มีความคืบหน้า และกรณีเร่งด่วนอำดับแรกที่ต้องการมาขอคำตอบคือเรื่องทะเบียนบ้านชั่วคราว ซึ่งขณะนี้เป็นปัญหาเพราะชาวชุมชนไม่สามารถนำไปใช้ขอใช้น้ำใช้ไฟของรัฐได้ ชาวบ้านจึงต้องการทะเบียนบ้านฉบับถาวร ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือการปลูกสร้างบ้าน ซึ่งตามกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมอาคารได้วางหลักเกณฑ์ไว้แต่ชาวบ้านมีข้อจำกัดไม่สามารถทำได้ โดยยกตัวอย่างถึง การที่พวกเขาได้ที่จัดสรร 3 ตารางเมตร แต่กฎหมายบอกให้เว้นระยะย่นของบ้านแต่ละหลังไว้ 2 เมตร แล้วจะไปสร้างบ้านได้อย่างไร
 
ส่วนพรเทพ บูรณบุรีเดช สมาชิกสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) กล่าวว่า สอช.มีปัญหาเช่นเดียวกับทางเครือข่ายสลัม 4 ภาค ในกรณีของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร จึงออกมาร่วมกันเคลื่อนไหว ทั้งนี้ที่ผ่านมาทางสหพันธ์ฯ เองก็ได้ยื่นข้อเสนอในการแก้ปัญหาต่อรัฐมนตรีไว้กว่า 10 หน้า แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ในส่วนของร่างกฎกระทรวงก็ยังติดปัญหาที่รัฐมนตรีไม่ยอมลงนามเพื่อให้ ครม.ตีความ ดังนั้นวันนี้จึงต้องการมาเรียกร้องให้รัฐมนตรีลงนาม เพื่อผลักดันกฎหมายให้เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ภายใน 1 เดือน ไม่ได้มาเพื่อพูดคุยหารือเพราะที่ผ่านมาได้เจรจากันมาหลายรอบแล้ว       
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้เดินขบวนไปถึงหน้ากระทรวงมหาดไทยเมื่อเวลาประมาณ 11.00 น.ประสานกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ ทราบว่านายชวรัตน์ ยังไม่เดินทางมาถึง และในเวลาประมาณบ่าย 2 โมงจะมีประชุมที่กระทรวงฯ ผู้ชุมนุมจึงปักหลักปราศรัยบริเวณด้านข้างกระทรวงฯ เพื่อรอเข้าพบนายชวรัตน์
 
จากนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ชาวชุมชนได้ร่วมพูดคุยกับที่ปรึกษา มท.1 โดยได้มีการทำบันทึกร่วมกันว่าจะนำเอาเนื้อหาร่างกฎกระทรวงที่ชาวชุมชนได้จัดทำไว้เข้ากฤษฏีกาและ ครม.ให้แล้วเสร็จไม่เกิน ต.ค.53 โดยจะเร่งรัดกฤษฎีกาให้เป็นเรื่องเร่งด่วน
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท