คนงานพม่าร่วมพันในขอนแก่น ชุมนุมขอคืนสถานะวีซ่าเพื่อนคนงานที่ถูกเลิกจ้าง

คนงานพม่าโรงงานทออวนเดชาพานิช อ.เมือง จ.ขอนแก่น กว่า 1,000 คนได้รวมตัวประท้วงต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 โดยตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 ก.ย. คนงานได้รวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องให้คืนสถานะวีซ่าให้เพื่อนคนงาน 6 คนซึ่งหลังถูกเลิกจ้าง นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้นายจ้างคืนพาสปอร์ตให้คนงานพม่าทุกคน และขอเพิ่มค่าจ้างให้เท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ด้านนายจ้างแจงเก็บพาสปอร์ตไว้ เพื่อง่ายต่อการนำคนงานจำนวนมากรายงานตัวกับแรงงานจังหวัด

ที่มาของภาพ: มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์

(10 ก.ย. 53) มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (มูลนิธิแมพ) ระบุ คนงานพม่าโรงงานทออวนเดชาพานิช อ.เมือง จ.ขอนแก่น กว่า 1,000 คนได้รวมตัวประท้วงต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 โดยตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 ก.ย. คนงานได้รวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องให้คืนสถานะวีซ่าให้เพื่อนคนงาน 6 คนซึ่งหลังถูกเลิกจ้าง เนื่องจากหยุดงานเกินกว่า 3 วันในหนึ่งเดือน วีซ่าทำงานของพวกเขาได้ถูกยกเลิก ซึ่งหมายความว่าพวกเขาจะต้องถูกส่งกลับ ขณะที่มูลนิธิฯ ระบุว่า โดยปกติ การยกเลิกวีซ่าทำงาน นายจ้างจะต้องแจ้งไปยังสำนักงานคุ้มครองแรงงานก่อน จากนั้นจะมีการแจ้งไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดยการยกเลิกใดๆ ก็ตามจะต้องระบุเหตุผลและลายเซ็นของเจ้าหน้าที่กำกับไว้ด้วย ขณะที่กรณีนี้มีเพียงข้อความ "cancel" (ยกเลิก) ระบุไว้เท่านั้น นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้นายจ้างคืนพาสปอร์ตให้คนงานพม่าทุกคน และขอเพิ่มค่าจ้างให้เท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดขอนแก่นด้วย
 
นายสุริยา มลเล็ก เจ้าหน้าที่ฝ่ายสิทธิ ของมูลนิธิแมพ ให้ข้อมูลว่า หลังจากลงพื้นที่ได้ประสานไปยังหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อ เป็นตัวกลางในการเจรจา โดยเจ้าหน้าที่ ตม.และสวัสดิการ ได้มาพูดคุยกับนายจ้าง แต่ไม่ได้มาคุยกับคนงาน ขณะที่นายจ้างอนุญาตให้ตนเองได้เข้าพูดคุยทั้งกับนายจ้างและคนงาน พม่ากลุ่มดังกล่าว โดยปัจจุบัน การชุมนุมยังคงมีอยู่ มีผู้ชุมนุมมากกว่า 1,000 คน โดยนายจ้างระบุว่า หากต้องการชุมนุมอย่างสงบก็สามารถทำได้ แต่หากเปลี่ยนใจก็ให้กลับเข้าทำงานได้ภายในวันที่ 13 ก.ย.

โดยข้อเรียกร้องของคนงานมี 4 ข้อได้แก่ 1.ให้คืนสถานะวีซ่าให้คนงานทั้งหกคน กลับมาถูกกฎหมาย และตรวจสอบบัตรทำงานต่างแดนให้ถูกต้อง 2.ขอพาสปอร์ตคืนจากนายจ้าง 3.ขอให้ร้านค้าในบริเวณโรงงานขายสินค้าให้ตามปกติ 4.ขอให้ค่าจ้างให้เท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดขอนแก่น (157 บาท) ขณะที่เมื่อพูดคุยกับนายจ้าง นายจ้างให้ข้อมูลว่า ตามที่คนงานเรียกร้องมานั้น 1.เมื่อมีการเลิกจ้าง ก็จะต้องยกเลิกวีซ่าและส่งกลับ ส่วนเรื่องบัตรทำงานต่างแดนนั้นออกโดยรัฐบาลพม่า ซึ่งอาจมีปัญหาที่กระบวนการผลิตที่ใช้กาวติดรูปกับบัตร ซึ่งอาจเกิดความผิดพลาดขึ้นได้  2.ไม่สามารถคืนพาสปอร์ตให้ได้ เนื่องจากสถานประกอบการต้องนำคนงานรายงานตัวกับทางแรงงานจังหวัดทุก 90 วัน โดยแรงงานพม่ามีจำนวนมาก การเก็บพาสปอร์ตไว้ทำให้ง่ายต่อการจัดการ โดยหากไปรายงานตัวไม่ทันตามวันที่ กำหนดก็จะถูกปรับเงินวันละ 500 บาท 3.เรื่องร้านค้า เป็นเรื่องของคนซื้อและคนขาย ไม่เกี่ยวกับนายจ้าง อย่างไรก็ตาม นายสุริยา ระบุว่า ล่าสุด ทราบว่าร้านค้าได้ขายสินค้าให้แล้ว แต่ในราคาที่แพงขึ้น 4.นายจ้างระบุว่าได้จ่ายเงินค่าจ้างให้ตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำแล้ว โดยบางครั้งหากทำงานเกินเป้า ก็จะได้เงินพิเศษ เป็นเงิน 203 บาทต่อคน เป็นอย่างต่ำ

นายสุริยา กล่าวว่า ล่าสุด ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งเข้าไปในโรงงานเพื่อจะส่งกลับแรงงานจำนวนหนึ่ง ทางมูลนิธิฯ จึงได้ประสานสำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว เพื่อขอให้ระงับการส่งกลับไว้ก่อน เนื่องจากยังไม่ได้ข้อยุติว่า ใครถูกหรือผิดอย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท