Skip to main content
sharethis

 

แฉบ.นายหน้าจ้องตุ๋นแรงงานอีสาน ล็อบบี้จ่าย 2 หมื่น แลกให้เมียแก้ข่าว

ความคืบหน้าปัญหาแรงงานไทยไปตกระกำ ลำบากที่ประเทศลิเบีย ยิ่งตีแผ่ความเดือดร้อนนานเท่าไหร่ยิ่งเจอเหยื่อแรงงานมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ล่าสุดวันที่ 5 ก.ย.53 หนึ่งในแรงงานไทยที่สุดทนกับของยากลำบากที่ต้องเผชิญอยู่จนอยากเดินทางกลับ ประเทศไทยได้โทรศัพท์ทางไกลข้ามประเทศจากลิเบียมาร้องทุกข์กับ"นสพ.สยามรัฐ" พร้อมยอมเปิดเผยชื่อนามสกุลว่านายมานะ พึ่งกล่อม บ้านพักอยู่ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ข่อนแก่น เปิดเผยความอัดอั้นตันใจว่า บริษัทจัดหางานแห่งหนึ่งได้ติดต่อทำสัญญาให้เดินทางไปต่างประเทศเสียค่าหัว คิว 180,000 บาท  โดยส่งต่อไปให้บริษัทนายหน้าจัดหางานเงินและทอง พัฒนา จำกัดเพื่อไปทำงานที่ประเทศลิเบียที่เมืองพาจูลี่กับบริษัทนายจ้างชื่อรันฮิ ว ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.53


"ตั้งแต่ไปทำงานพบว่าบริษัทนาย จ้างไม่ได้ทำสัญญาตลอด เรียกได้ว่าโกหกตลอด เงินเดือน 1 เดือนกว่าจะได้รับก็ล่าช้าไป 3-4 เดือน ได้รับก็ไม่ครบถ้วนตรงเวลา  ในสัญญาระบุเวลาทำงาน 8 ชั่วโมงแต่เอาเข้าจริงๆปาไป 10 ชั่วโมงแต่ก็ไม่มีโอทีให้ การเดินทางไปไซค์งานกับที่พักก็ต้องเดินผ่านทะเลทราย 3-6 กิโลเมตรบางทีก็เจอกับพายุทะเลทราย  พอไปถึงที่พักเล็กเกอร์เก็บของก็ถูกงัดแงะขโมยสิ่งของ อาหารกินก็แร้นแค้นจะไปตลาดทางรปภ.ก็ถือกระบอกคุม ไม่ให้ออกไป   แรงงานบางชาติถูกตีแต่ตำรวจก็เข้าข้างคนประเทศเขา ส่วนกุ๊กที่บอกว่ามีกุ๊กคนไทยแต่จริงๆมีแค่คนเดียวนอกนั้นเป็นคนซูดานตัวดำ มืด อาหารก็กินไม่ลง เขาหลอกลวงทั้งนั้น"นายมานะ ระบายความรู้สึกอีกว่า เขาโกหกพวกเราทุกอย่าง แม้แต่การไปสมัคราก่อนเดินทางไปทำงานลิเบีย เขาโปโชว์ภาพประกาศหรือมีวิดีโอแสดงชีวิตความเป็นอยู่ว่าสวยหรู มีกิจกรรมแข่งขันกีฬาระหว่างคนงานเช่นเตะฟุตบอล หรือเซปักตะกร้อ แต่ความจริงไม่มี เป็นการสร้างภาพ


นายมานะ กล่าวต่อไปว่าตอนนี้ทางลิเบียต้องการแรงงานไทยมาก ทราบว่าบริษัทจัดหางานบางแห่งอยากได้คนงานไปทำงานลิเบียมากๆ ได้ส่งโบชัวร์ไปตามบ้านแรงงานและญาติๆในจังหวัดอีสานตอนบนโชว์ว่าเงินเดือน ดี  ไปทำงานได้เงินเดือน 40,000 บาทขึ้นไป โอทีต่างหาก ชีวิตความเป็นอยู่ดีกินดี   ซึ่งเป็นการโกหกทั้งเพ   ขอให้พี่น้องแรงงานไทยอย่าได้ไปหลงเชื่อขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ ตนประสบมากับตัวเองโอทีมีที่ไหน เงินเดือนตอนแรกบอกว่าจะได้ 680 ยูโรหรือเกือบ 30,000 บาท แต่เอาจริงๆได้แค่ 580 ดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 16,000-17,000 บาท และออกไม่ตรงเวลา 3-4 เดือนออกแค่ 1 เดือนและไม่ครบ บอกว่าวันนั้นจะได้วันนี้จะได้ก็ไม่ตรง ไม่แน่นอนแบบนี้พวกผมจะทำอย่างไร ค่าหัวคิวตน 180,000 บาท จ่ายดอกเบี้ย 3%ไม่พอกินพอจ่ายเงินต้นดอกเบี้ยเลย


"พวกเรา 700-800 คนก่อสร้างคอนโดมิเนียมใหญ่ที่สุดอยากกลับบ้าน แต่ก็ไม่ให้กลับ เพราะว่าเขาจะไม่มีคนงานทำก่อสร้างให้นายจ้าง แถมยังแสบอ้างว่าถ้าจะกลับต้องจ่ายให้เพิ่มเขาอีก 40,000-50,000 บาท ซึ่งเท่ากับบีบบังคับทางอ้อมให้เราทำงาน โดยไม่ยอมให้กลับไทย  "ทาสแรงงานลิเบีย กล่าวอย่างมีอารมย์เดือดอีกว่า กรณึที่นายบุญเริ่ม คงเนียม ได้ติดต่อกับภรรยาคือ นางระเวง   คงเนียม ให้ร้องเรียนมาที่"นสพ.สยามรัฐ" ว่าสามีเดินทางไปผ่านนายหน้าแห่งหนึ่งแล้วส่งให้บริษัทจัดหางานเงินและทอง พัฒนา จำกัด ไปทำกับนายจ้างบริษัท รันฮิว แต่ได้เงินเดือนไม่ตรงตามที่ตกเอาไว้แล้วอยากเดินทางกลับไทยนั้น ขณะนี้ทราบว่านายบุญเริ่มโดนนายจ้างบล็อกตัวไว้และตัวแทนบริษัทนายหน้าเรียก ไปตำหนิว่าไปให้ข่าวเช่นนั้นได้อย่างไร ทำให้บริษัทเสียหาย พร้อมกับล่าสุดทราบว่าบริษัทนายหน้าติดต่อไปยังนางระเวงเสนอเงินรางวัล 20,000 บาทให้กลับคำพูดโดยให้ออกข่าวว่า สามีของตนเป็นหนี้สินจำนวนมากแล้วเป็นขี้เหล้าเมายา จึงให้ข่าวใส่ร้ายบริษัท ซึ่งนายบุญเริ่มบอกกับภรรยาว่าไม่ต้องไปแตะต้องหรือรับข้อเสนอของเขาเป็นบาป กรรม


"นายบุญเริ่มคุยกับผมบอกว่าเขา ไม่กลัวหรอก อยากส่งกลับยิ่งดีเพราะอยากกลับอยู่แล้ว ผมก็เหมือนกันที่กล้าออกมาแสดงความคิดเห็น ไม่กลัวหรอก ตายเป็นตาย ขอตายแทนแรงงานไทย เพราะไม่อยากให้แรงงานไทยโดนหลอกจากขบวนการค้ามนุษย์  นี่ถ้าผ่านพ้นไปอีก4-5 ปีไม่รู้ว่าคนงานไทยจะไปตกระกำลำบากอีกไม่รู้กี่หมื่นกี่แสนคน สำหรับผมถ้าโดนส่งกลับผมก็ต้องเรียกร้องค่าหัวคิวบริษัทคืน เพราะผมเสียไปตั้ง 180,000 บาท"นายมานะ กล่าว


อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวสยามรัฐ ได้โทรศัพท์ไปสัมภาษณ์ นางระเวง  คงเนียม ภรรยานายบุญเริ่ม คงเนียม ว่า  หลังจากที่ตนร้องเรียนนสพ.สยามรัฐไป ทางบริษัทนายหน้าได้ติดต่อมาแล้วบอกว่ากำลังทำเรื่องส่งตัวนายบุญเริ่มกลับ ไทย พร้อมเสนอว่าจะให้เงินค่าคอมมิชชั่น(ค่าหัวคิว)คืน โดยตนบอกไปว่าขอคืนทั้งหมด 130,000 บาท แต่บริษัทต่อรองขอให้แค่ 20,000 บาท แต่ตนปฏิเสธ เพราะต้องการให้สามีกลับมาก่อนค่อยเจรจากันใหม่ ซึ่งบริษัทยื่นเงื่อนไขให้ตนใส่ร้ายสามี แล้วบริษัทจะจ่ายเงินค่าหัวคิวคืน 20,000 บาท


ผู้สื่อข่าว รายงานว่า นอกจากนี้ยังมีแรงงานไทยที่ได้เดินทางกลับจากลิเบียทยอยโทรศัพท์เข้ามาร้อง ทุกข์กับนสพ.สยามรัฐ  เช่น นายไพฑูรน์ พิมพ์พา  จ.พิษณุโลก นายนิรุธ อินทิจันทร์  จ.บุรีรัมย์ นายยงยุทธ ทัพธานี จ.หนองบัวลำภู และนายประจักษ์ ภวภูตานนท์  จ.ร้อยเอ็ด โดยร้องเรียนไปในทิศทางเดียวกันว่าได้ไปทำงานลิเบียโดยผ่านบริษัทนายหน้า บริษัท ไทยพัฒนาเวิลด์ไวด์ ส่งให้บริษัทนายจ้างBOUSEAD ของสิงคโปร์ร่วมทุนกับลิเบีย โดยเสียค่าหัวคิว 7.5 หมื่น-1 แสนกว่าบาท ตกลงทำงานขับรถเคลน  เงินเดือนๆละ 700 ดอลลาร์สหรัฐฯแต่ได้รับจริงแค่ 1,100 ดีนาร์  ซึ่งนายจ้างจ่ายเงินเดือนตรงแค่ 2 เดือน จากนั้นก็จ่ายไม่ครบตามสัญญา และยังผิดเวลาอีกต่างหาก ขณะที่สวัสดิการต่างๆก็ไม่มี ขณะนี้มีแรงงานไทยถูกบังคับและหลอกให้ทำงานอยู่อีกประมาณ 150 คน ต้องการให้ทางราชการช่วยเรียกร้องเงินเดือนค้างจ่ายและช่วยคนงานที่เหลือ เดินทางกลับประเทศ

(สยามรัฐ, 6-8-2553)

ตั้งโรงงานทะลัก 2.9 หมื่นล้าน

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เดือน ก.ค. 53 มีโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม 334 ราย วงเงินลงทุน29,292 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าสูงสุดในรอบ49 เดือน เนื่องจากนักลงทุนมั่นใจต่อเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะขยายตัวระดับ 7%ได้ในปีนี้ รวมถึงการส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และแนวทางการแก้ปัญหาการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดมีความชัดเจน ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องเร่งขยายกิจการและลงทุนใหม่เพิ่มเติมเพื่อรองรับคำ สั่งซื้อจากลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ

ขณะเดียวกันพบว่าภาคอุตสาหกรรมในจีน มีค่าแรงที่สูง ส่งผลให้บริษัทหลายแห่งย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น โดยเฉพาะไทยที่มีศูนย์กลางของภาคอุตสาหกรรมในอาเซียน และรัฐบาลจีนสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อป้อนสินค้า กลับให้ประชาชนในประเทศที่มีมากถึง 1,300-1,400 ล้านคน โดยจังหวัดที่มีมูลค่าลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรกในเดือนก.ค. ประกอบด้วยจังหวัดฉะเชิงเทรา มูลค่า 9,665 ล้านบาทรองลงมาจังหวัดระยอง มูลค่า 6,481 ล้านบาทจังหวัดเพชรบูรณ์ 4,262 ล้านบาท จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มูลค่า 1,735 ล้านบาทและ จังหวัดสระบุรี 1,293 ล้านบาท

"โครงการขนาดใหญ่ที่สำคัญ เช่นบริษัทเจเทคโตะ (ไทยแลนด์) จำกัด ลงทุนผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ตลับลูกปืน มูลค่าลงทุน9,235 ล้านบาท, บริษัท นิรันดร์ (ประเทศไทย) จำกัด ลงทุนผลิตกรดมะนาว วงเงิน5,134 ล้านบาท, บริษัท แคนนอนไฮ-เทค(ประเทศไทย) จำกัด ผลิตสินค้าประเภทกระดาษ ที่ไม่ใช่ภาชนะบรรจุ มูลค่า1,100 ล้านบาท, และบริษัทเขาค้อ วินด์ พาวเวอร์ จำกัด ผลิตพลังงานไฟฟ้า กำลังผลิต 60 เมกะวัตต์ วงเงินลงทุน 4,197 ล้านบาท"

ทั้งนี้เมื่อรวมโรงงานที่ได้รับ อนุญาตประกอบกิจการในช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.)มีจำนวน 2,104 ราย มูลค่า 1.03 แสนล้านบาท มีการจ้างงาน 4.6 หมื่นคน ส่วนโรงงานที่ยกเลิกกิจการในช่วง 7 เดือน มี 1,016 รายมูลค่า 9,723 ล้านบาท เลิกจ้างงาน 2.39 หมื่นราย

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงได้ส่งเสริมการวิจัยเพื่อช่วยเหลือโรงงานอุตสาหกรรมให้สามารถ พัฒนาผลิตสินค้าที่มีมูลค่ามากขึ้นเช่น สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอได้พัฒนาการวิจัยการผลิตเสื้อเกราะกันกระสุนได้ ในระดับสากลตามมาตรฐานเอ็นไอเจ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับจากประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ตะวันออกกลางและยุโรป ล่าสุดสามารถผลิตเสื้อเกราะมอบให้แก่กระทรวงกลาโหมนำไปใช้ประโยชน์ในการ ปฏิบัติงานของข้าราชการ จำนวน 39 ตัว และในอนาคตจะส่งผลให้มีการต่อยอดอุตสาหกรรมสิ่งทอเกี่ยวกับการผลิตเสื้อ เกราะกันกระสุนเพื่อให้เกิดในเชิงพาณิชย์ต่อไป

"งานวิจัยเสื้อเกราะกันกระสุนได้ทำ การทดสอบประสิทธิภาพ โดยโรงงานวัตถุระเบิดทหาร กรมการอุตสาหกรรมทหาร ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานจังหวัดนครสวรรค์ สามารถป้องกันกระสุนได้ในระดับ 3 เอ หรือจากปืนพกสั้นทุกชนิด ซึ่งได้มาตรฐานการทดสอบตามเอ็นไอเจ ซึ่งในอนาคตจะสามารถลดการนำเข้าเสื้อเกราะจากต่างประเทศที่มีราคาแพงได้ อย่างมหาศาล"

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า สาเหตุที่นักลงทุนเข้ามาตั้งโรงงานในไทยในเดือน ก.ค. มีมูลค่ามากสุดรอบ 49 เดือนเนื่องจากเศรษฐกิจประเทศไทยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วในระดับแนวหน้าของ ภูมิภาค

"ต่างชาติเริ่มมองไทยมากขึ้นหลังจาก จีนประสบปัญหาค่าจ้างที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ดังนั้นทุนข้ามชาติในจีนและบริษัทจีนเองก็เริ่มนำเงินมาตั้งโรงงานในประเทศ อื่นมากขึ้น"

(เดลินิวส์, 6-8-2553)

จี้ รมว.แก้ปัญหาแรงงานโปแลนด์/ลิเบีย

รายงานข่าวแจ้งว่าวันที่ 7 ก.ย.ตัวแทนกลุ่มแรงงานไทยที่ไปทำงานในประเทศลิเบียมายื่นหนังสือแก่นายเฉลิม ชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงานที่รัฐสภาเพื่อเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานช่วยเร่งติดตามการจ่าย เงินเดือนที่ยังตกค้าง รวมทั้งขอให้ช่วยคืนเงินค่าดำเนินการไปทำงานต่างประเทศเพราะอัตราที่จ่ายไป เป็นอัตราที่สูงกว่าที่กฏหมายกำหนด

ทั้งนี้แรงงานดังกล่าวเดินทางไปทำ งานในลิเบียผ่านบริษัท จัดหางานเงินและทองพัฒนา จำกัด ไปทำงานกับนายจ้าง arsel-bena wa tasheed joint venture ที่ประเทศลิเบีย และระบุว่านายจ้างกระทำผิดสัญญาว่าจ้าง จ่ายเงินเดือนและค่าโอทีแก่ลูกจ้างไม่ครบตามสัญญา ไม่จัดสรรสวัสดิการด้านที่พักอาศัยและอาหารทำให้ลูกจ้างได้รับความอยากลำบาก

ตัวแทนแรงงานยังเรียกร้องให้รมว.แรง งานเดินทางไปเยี่ยมเพื่อนผู้ใช้แรงงานที่ยังตกค้างอยู่ในลิเบียอีก 90 คนเพื่อให้เห็นสภาพความเป็นอยู่และการทำงานว่าลำบากยากแค้นเพียงใด

นอกจากนี้ยังมีตัวแทนแรงงานไทยที่ไป ทำงานในโปแลนด์ประมาณ 40 คนยื่นหนังสือแก่ รมว.แรงงานเช่นกันเพื่อขอให้ช่วยเร่งจ่ายเงินค่าชดเชยหลังจากที่ไปทำงานแล้ว ไม่ได้รับเงินเดือน

น.ส.ศรัณยา  พื้นพรม หนึ่งในแรงงานที่เดินทางไปโปแลนด์กล่าวว่าได้เดินทางผ่านการจัดการของ บริษัท จัดหางานกิตติบาร์เดอร์ จำกัดโดยกู้เงินจากธนาคารเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายกว่า 3 แสนบาท ในสัญญาจ้างระบุว่าต้องได้รับเงินคนละ 750 ดอลล่าร์/เดือน

แต่ปรากฏว่าไปถึงแล้วได้รับค่าจ้าง เพียง 1 เดือน อีก 3 เดือนที่เหลือยังไม่ได้รับค่าจ้างและถูกทางการโปแลนด์ขังกว่า 1 เดือนเพราะทำงานผิดประเภท ทุกวันนี้ยังต้องจ่ายหนี้กับธนาคารเฉลี่ยกว่าเดือนละ 1 หมื่นบาท

นายสุธรรม นทีทอง โฆษกกระทรวงแรงงานกล่าวว่าขณะนี้ได้นำเรื่องร้องเรียนเสนอแก่รมว.แล้ว เบื้องต้นจะให้กรมการจัดหางานเร่งตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง

ส่วนนายสุเมธ  มโหสถ นักวิชาการแรงงานเชี่ยวชาญ กล่าวว่าในกรณีของโปแลนด์ กรมการจัดหางานได้พักใบอนุญาตการจัดส่งคนงานไทยไปทำงานต่างประเทศกับบริษัท ดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 ส.ค. เป็นระยะเวลา 120 วัน รวมทั้งส่งหนังสือไปยังธนาคารที่บริษัทวางเงินมัดจำวงเงินกว่า 5 ล้านบาทมาจ่ายค่าชดเชยให้คนงานแล้ว

ทั้งนี้ บริษัท จัดหางานกิตติบาร์เดอร์ จำกัด เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตมาแล้ว 1 ครั้ง ต่อมาได้จดทะเบียนใหม่และมาเกิดปัญหาอีกครั้งในกรณีนี้ ซึ่งหากบริษัททำความผิดเพิ่มเติมในระหว่างที่พักใบอนุญาตมีโทษสูงสุดคือเพิก ถอนใบอนุญาตหรือฝ่าฝืนจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ต้องรับโทษทางอาญาด้วย

(โพสต์ทูเดย์, 7-9-2553)

จัดหางานลำปางเผยต้องการแรงงานกว่า 400

นางสาวลักษณา สิริเวชประเสริฐ จัดหางานจังหวัดลำปาง เปิดเผยถึงสถานการณ์ตลาดแรงงาน ของ จังหวัดลำปางในเดือนสิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา ว่า ในพื้นที่ทั้ง 13 อำเภอ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม ยังคงต้องการแรงงานฝ่ายการผลิตเข้าทำงานเป็นจำนวนมากกว่า 450 คน โดยเฉพาะแรงงานบรรจุผลิตภัณฑ์ แรงงานด้านการประกอบ ช่างตัดเย็บเครื่องแต่งกาย และช่างทำหมวก ซึ่งสถานประกอบการต้องการแรงงานที่ จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษามากที่สุด รองลงมาคือ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และระดับประถมศึกษา

ดังนั้น ในเดือนสิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา สถานประกอบการในจังหวัดลำปาง จึงมีการรับแรงงานที่จบการศึกษาระดับ มัธยมศึกษา เข้าทำงานมากที่สุดกว่า 120 คน รองลงมา ได้แก่ ระดับประถมศึกษา 71 คน เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิต
สินค้าของแต่ละสถานประกอบการที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม 

(ไอเอ็นเอ็น, 8-9-2553)

OECD เรียกร้องประเทศสมาชิกเร่งส่งเสริมการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาการว่างงาน

นายแองเจล กูร์เรีย เลขาธิการ OECD กล่าวในระหว่างการรายงานประจำปีขององค์กรในเรื่องการศึกษาว่า "เศรษฐกิจของโลกจะฟื้นตัวขึ้นได้ไม่ใช่เพราะมาตรฐานระดับชาติเพียงอย่าง เดียว แต่ระบบการศึกษาที่ดีที่สุดจะช่วยให้ประเทศชาติประสบความสำเร็จด้วย"

โดยนายกูร์เรีย ได้แสดงความคิดเห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยได้ทำให้ระดับการจ้างงานลดลง โดยเขาระบุว่าการศึกษาเป็นการลงทุนที่จำเป็นสำหรับการความก้าวหน้าทาง เทคโนโลยีและประชากรศาสตร์ที่ทำให้ตลาดแรงงานเปลี่ยนไป

"การศึกษาที่ดีทำให้มีโอกาสได้งานทำ สูง โดยในประเทศที่ประสบกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ คนที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าจะมีความลำบากในการหางานทำหรือการรักษาสภาพการ เป็นลูกจ้างได้น้อยกว่าคนที่มีการศึกษาที่ดี" นายกูร์เรียกล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า ประเทศสมาชิก OECD ทั้ง 32 ประเทศ มีอัตราการว่างงานของประชากรที่จบการศึกษาสูงกว่าระดับมัธยมในอัตราที่ต่ำ กว่า 4% ในขณะที่จำนวนคนว่างงานที่มีการศึกษาระดับมัธยมลงมามีอัตราสูงกว่า 9% อย่างต่อเนื่อง

ในขณะเดียวกัน รายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ในประเทศสมาชิก OECD ผู้ที่จบการศึกษาสูงกว่าระดับมัธยมจ่ายภาษีตลอดชีวิตการทำงานเฉลี่ย 119,000 ดอลลาร์ สูงกว่าคนที่จบการศึกษาในระดับมัธยมลงมา

ส่วนรายงานขององค์กรฯ ระบุว่า "ในแง่ของค่าใช้จ่ายของรัฐต่อผู้ที่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรี รายได้จากภาษีและการช่วยเหลือสังคมที่สูงกว่าจากผู้ที่มีการศึกษาในระดับ ปริญญาตรีก็ถือเป็นการลงทุนในระยาวที่ดี"

ทั้งนี้ OECD ได้แสดงความคิดว่า ในการพิจารณาความความแตกต่างระหว่างประเทศสมาชิกต่อการลงทุนด้านการศึกษา ระดับตติยภูมิ พบว่า มากกว่า 60% ในประเทศอังกฤษ สหรัฐ และสมาชิกบางประเทศ เป็นการให้ทุนการศึกษาโดยภาคเอกชน ในขณะที่ เบลเยี่ยม และ เดนมาร์ก และอีกหลายประเทศ มีอัตราส่วนต่ำกว่า 10% สำนักข่าวซินหัวรายงาน

(อินโฟเควสท์, 8-9-2553)

รวบสาวใหญ่หลอกแรงงานไปต่างประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 8 กันยายน พ.ต.อ.สุวิชญ์พล อิ่มใจรัชต์ รอง ผบก.ปคม. พ.ต.อ.ณพวัฒน์ อารยางกูร ผกก.1 บก.ปคม.แถลงข่าวจับกุม นางภาวิณี ศิริวงศ์ อายุ 52 ปี ตามหมายจับศาลอาญา ที่ 1841/2553 ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2553 ข้อหาฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานหรือฝึกงานในต่างประเทศโดยได้ไปซึ่ง เงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง และข้อหาหลอกลวงผู้อื่นโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือด้วยการปกปิดข้อความ จริงซึ่งควรแจ้งแก่ประชาชน ตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2528 จับกุมได้ที่หน้าหมู่บ้านวิลล่ารามอินทรา แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กทม.

พ.ต.อ.สุวิชญ์พล กล่าวว่า การจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องจาก นายนิติชัย วิสุทธิพันธ์ นักวิชาการแรงงาน ชำนาญการ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้พาผู้เสียหายหลายราย เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน บก.ปคม.ภายหลังถูกนางภาวิณี กับพวก หลอกลวงว่าสามารถพาไปทำงานนวดแผนไทยที่ประเทศสหรัฐอเมริกา สวีเดน อาหรับเอมิเรสต์ และจีน โดยมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางและเป็นค่าดำเนินการตั้งแต่ 26,000-60,000 บาท แต่หลังจากจ่ายเงินแล้วกลับไม่ได้เดินทางไปทำงานตามที่มีการกล่าวอ้างแต่ อย่างใด

พ.ต.อ.สุวิชญ์พล กล่าวอีกว่า ต่อมาทางชุดสืบสวน กก.1 บก.ปคม.สืบทราบว่า นางภาวิณี  มีอาชีพเปิดสอนนวดแผนไทยให้กับผู้ที่สนใจและมีพฤติการณ์ร่วมกับพวก ชักชวนผู้เสียหายไปทำงานนวดยังต่างประเทศโดยไม่มีใบอนุญาตจัดหางานให้คนงาน เดินทางไปทำงานต่างประเทศ และไม่ได้จดทะเบียนเป็นตัวแทนของบริษัทจัดหางานแห่งใด จึงรวบรวมพยาน หลักฐานขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งหมด 3 ราย สามารถติดตามจับกุมไว้ได้แล้วก่อนหน้านี้ คือ นางจรีรัตน์ วิเศษดี จับกุมตัวเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา

สอบสวนนางภาวิณี ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาโดยอ้างว่า ผู้เสียหายทั้งหมดมาสมัครเรียนนวด บางคนก็มากินนอนอยู่ที่บ้านตน ส่วนเรื่องการจัดหางานนั้นมีนางจรีรัตน์ และเพื่อนอีกคนเป็นคนชักชวน ที่ผ่านมาตนเก็บเงินค่าเรียนนวดรายละ 999 บาทเท่านั้น นอกจากนี้สำหรับผู้เสียหายบางรายที่มีปัญหาฟ้องร้องตนนั้นก็มีการไกล่เกลี่ย คดีอยู่จึงไม่ทราบว่าเหตุใดจึงถูกแจ้งความดำเนินคดีในความผิดดังกล่าว ตนยืนยันจะขอต่อสู้คดีในชั้นศาล ทั้งนี้ ชุดจับกุมได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน บก.ปคม.ดำเนินคดี โดยผู้เสียหายที่เชื่อว่าถูกผู้ต้องหาหลอกลวงสามารถเข้าชี้ตัวเพื่อแจ้งข้อ หาเพิ่มเติมได้ที่ บก.ปคม.

(โพสต์ทูเดย์, 8-9-2553)

แรงงานพม่า ขอนแก่น ประท้วงหลังถูกเบี้ยวเงินค่าชดเชย

เมื่อเวลา 07.00 น.วันที่ 9 ก.ย. รายงานข่าวแจ้งว่า ได้มีแรงงานพม่าจำนวน 600 คน ซึ่งทำงานอยู่ที่ โรงงานทออวนของห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงงานทออวนเดชาพานิช ตั้งอยู่ที่ 191 ม.1 ถ.มิตรภาพ ต.สำราญ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ประท้วงไม่ยอมทำงาน เนื่องจากเมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา มีเพื่อนคนงาน 5 คน ถูกไล่ออก และ ทางผู้ประกอบการยึดพาสปอร์ตเอาไว้ พร้อมกับไม่ยอมจ่ายค่าชดเชย และพอขอพาสปอร์ตคืน ผู้ประกอบการกลับแจ้งว่าพาสปอร์ตมีปัญหา ทำให้คนงานไม่พอใจ เนื่องจากเกรงว่าพาสปอร์ตของพวกตนจะมีปัญหาเช่นกันและขอพาสปอร์ตคืนทั้งหมด เพื่อขอเดินทางกลับไปที่ประเทศพม่า ทำให้เกิดการโกลาหลขึ้น

ล่าสุดเมื่อเวลา 09.00 น.ทางผู้ประกอบการได้ชี้แจงกับพนักงานบอกว่า ยินดีจะส่งกลับประเทศ และยินดีจะคืนพาสปอร์ตให้ แต่แรงงานจะไม่ได้ค่าชดเชย โดยค่าชดเชยที่แรงงานจะได้รับตกประมาณคนละ 3,000 บาท ทำให้แรงงานพม่าไม่พอใจและประท้วงเพื่อขอเงินชดเชยทั้งหมด ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่รัฐกำลังจะเข้าไปเจรจาและดำเนินการเพื่อยุติปัญหา เรื่องนี้

(เนชั่นแชลแนล, 9-9-2553)

ตุ๋นทำงานเมืองนอกสูญเงิน 10 ล้านบาท

ร.ต.อ.สัญญา อุทุมพร ร้อยเวร สภ.เมืองสมุทรปราการ รวบรวมหลักฐานเข้าขออนุมัติหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อจับกุม นายอานัส สุกใส อายุ 44 ปี นายอาทร ทรัพย์สิน อายุ 23 ปี นายนฤทธา กองตุ้ย อายุ 41 ปี และ น.ส.นีรนุช เงินขาว อายุ 21 ปี สี่ผู้ต้องหาในคดี ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน โดยร่วมกันจัดหาคนงานส่งไปทำงานต่างประเททศโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถจัดหางานในต่างประเทศเพื่อให้ได้มาซึ่ง ทรัพย์สิน

โดย ร.ต.อ.สัญญา อุทุมพร เปิดเผยว่า เมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค. 53 ที่ผ่านมามีชาวบ้านย่านแพรกษา แพรกษาใหม่ และบางเมือง จำนวนหลายคนเข้าแจ้งความว่าถูก นายอานัส สุกใส ซึ่งเปิด บริษัท เซ้ฟโก้ และ คิวซีที จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 21 ถ.รังสิต ต.ประชาธิปปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี รับสมัครหาคนงานเดินทางไปทำงานประจำแคมป์ก่อสร้างที่ ประเทศบาเรนจำนวนมาก มีรายได้เดือนละ 15,000-100,000 บาท แล้วแต่ตำแหน่งงาน แต่ผู้ที่สมัครงานจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางในเรื่องเอกสารส่วนตัวไป ยังต่างประเทศ คนละ 20,000-40,000 บาท

หลังจากนั้นนายอานัส ก็ให้ลูกน้องประจำออฟฟิศซึ่งประกอบไปด้วย นายอาทร นายนฤทธา และ น.ส.นีรนุช ออกติดตามชักชวนชาวบ้านให้มาร่วมสมัครงาน ซึ่งมีชาวบ้านในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ทั้งหมด 215 คนที่หลงเชื่อเข้ามายื่นเรื่องสมัครงานดังกล่าว โดยแต่ละรายได้จ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินเรื่อง รวมทั้งสิ้น 4,160,000 บาท โดยโอนเงินผ่านธนาคารหลายแห่งในพื้นที่เขต จ.สมุทรปราการ แล้วรอเรียกตัวช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมา แต่จนแล้วจนรอดจนก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับ เมื่อตรวจสอบพบว่าบริษัทดังกล่าวกลับปิดไปแล้ว จึงรู้ว่าโดนหลอก ผู้เสียหายทั้งหมดจึงรวมตัวกันเดินทางแจ้งความร้องทุกข์

สำหรับคนร้ายแก๊งนี้เบื้องต้น สืบทราบว่า มีการทำทีเปิดเป็นออฟฟิศจัดหางานแล้วตระเวนเปิดบริษัทหรือออฟฟิศไปทั่ว มีทั้ง จ.ปทุมธานี จ.นครสวรรค์ จ.บุรีรัมย์ หรือแม้แต่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงไปแล้วมากกว่า 500 ราย ถูกหลอกเชิดเงินไปแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท เฉพาะที่ จ.สมุทรปราการ ที่เดียวมีผู้เสียหายกว่า 200 คน อย่างไรก็ตามขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งฝ่ายสืบสวนอยู่ระหว่างติดตามจับกุม
 
(เนชั่นทันข่าว, 9-9-2553)

เหยื่อแรงงานไทยในลิเบียวอน เร่งจ่ายคืนค่าหัวคิว ปลื้มกมธ.ช่วยเหลือ

ความคืบหน้ากรณีทาสแรงงานไทยตกระกำ ลำบากในประเทศลิเบียตามที่นสพ.สยามรัฐเสนอมาเป็นลำดับแล้วนั้น เมื่อวันที่ 9 ก.ย.53 นายสนิท บุญทวี อดีตส.อบต.ไทยสามัคคี อ.หนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ ในฐานะผู้ประสานงานแรงงานไทยในลิเบีย เปิดเผยว่า หลังจากมีการนำเสนอข่าวดังกล่าวออกไปได้มีแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาแล้วและ ภรรยาของแรงงานที่ได้รับการติดต่อให้สามีเดินทางกลับประเทศไทยจำนวนมากขอให้ ตนช่วยประสานงานช่วยเหลือทั้งขอเดินทางกลัลและเรียกร้องเงินเดือน ค่าล่วงเวลาค้างจ่าย และขอค่าหัวคิวคืน


"แรงงานที่เดินทางกลับมาโดยที่ ถูกส่งไปโดยบริษัทจัดหางานเงินและทองพัฒนา จำกัดและบริษัท ไทยพัฒนาเวิลด์ไวด์ จำกัดกว่า 120 รายที่ติดต่อมายังผม และหลังจากนั้นก็ได้ทยอยประสานงานมาโดยตลอด กว่า 10  คน ซึ่งได้แนะนำให้ไปร้องเรียนกับจัดหางานจังหวัด แล้ว   ส่วนตัวเลขที่แรงงานตกค้างอยู่ล่าสุดตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 90 ราย"


สำหรับแรงงานไทยชุดแรก 18 รายที่ไปร้องเรียนกับนสพ.สยามรัฐนั้น ทางจัดหางาน เขต 9 ได้ประสานงานกับบริษัทจัดหางาน โดยได้มีการจ่ายเงินค่าชดเชยหรือหัวคิวคืนแล้ว 8 รายๆละ 3.5-4 หมื่นบาท แต่อีกรายปฏิเสธรับเงินเพราะบริษัทจัดหางานจ่ายให้เพียง 2 หมื่นบาท ขณะที่เหลือ 9 รายจัดหางานเขต 9 รับปากว่าจะให้ได้รับเงินโดยเร็ว ขณะที่ทางแรงงาน 9 รายกำลังรอการจ่ายเงินอยู่ที่กรุงทพฯ ซึ่งบริษัทจัดหางานสามารถมาจ่ายได้สะดวกกว่าการเดินทางไปจ.บุรีรัมย์  ดังนั้นควรเร่งรีบเคลียร์ชุดแรกนี้ให้แล้วเสร็จไปก่อน เพราะแรงงานทั้ง 9 คนรออยู่ที่กทม. ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่ละวันค่อนข้างสูง


ส่วนรายชื่อของแรงงาน 9 รายที่รอการจ่ายเงินชดเชยได้แก่ นายสมพร เหมืองทอง นาย ทวี สุขันธ์ นายนรินทร์พลขุนทด นายทองเสี่ยน บัวสระ นายนฤดล ตนุชล นายวันดี แสงพรมชลี นายไสว นาราช นายอภิรักษ์ ระหาร และนายแสวง การเพียร


ผู้ประสานงานแรงงานลิเบีย กล่าวขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจช่วยเหลือแรงงานว่า  ต้องขอขอบคุณทุกๆฝ่ายที่กระตือรือร้น ช่วยบรรเทาทุกข์ยากของแรงงานไทย  โดยเฉพาะนายสถาพร มณีรัตน์ รองประธานกรรมาธิการแรงงาน และน.ส.รัชดา ธนาดิเรก กรรมาธิการการต่างประเทศ ที่ได้แสดงความมั่นใจว่าจะช่วยเหลือให้ได้รับเงินเดือนค่าจ้างค้างจ่าย และช่วยให้ผู้ที่ตกค้างสามารถเดินทางกลับประเทศไทยตามที่ต้องการได้

(สยามรัฐ, 10-9-2553)

กรมบัญชีกลางเดินหน้าคุมค่าใช้จ่ายสวัสดิการข้าราชการ

วันนี้ (10 ก.ย.) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางยังมีแนวคิดที่จะให้บริษัทประกันต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมรับประกันด้านค่ารักษาพยาบาล แบบรวมกลุ่มข้าราชการในรูปแบบต่าง ๆ ที่เหมาะสม ซึ่งบริษัทประกันมีศักยภาพ และจะจัดทำรูปแบบกรมธรรม์ที่เหมาะสมกับกลุ่มข้าราชการ โดยที่รัฐบาลจะใช้เงินงบประมาณเท่าเดิม แต่ข้าราชการอาจได้รับการคุ้มครองที่มีประสิทธิภาพดีกว่าที่รัฐทำเอง รวมถึงต้องคุ้มครองครอบครัว สามี-ภรรยา บุตรธิดา 3 คน และพ่อ-แม่ ตามสิทธิที่ข้าราชการได้อยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งเงินบำเหน็จบำนาญด้วย โดยได้เสนอแนวคิดดังกล่าว ไปไปยัง นายมั่น พัธโนทัย รมช.คลัง แล้ว คาดว่า จะนำเสนอรายละเอียดได้ภายในเดือน ก.ย.ที่จะถึงนี้ต่อไป

อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวต่อว่า กรมบัญชีกลางยังคงเดินหน้าโครงการที่จะให้ข้าราชการสามารถเข้ารักษาที่โรง พยาบาลเอกชน เพื่อเพิ่มคุณภาพให้กับข้าราชการ เนื่องจากทั้งสวัสดิการของบัตร 30 บาทรักษาทุกโรค หรือประกันสังคมนั้น ต่างก็สามารถเข้ารับการบริการที่โรงพยาบาลเอกชนได้ มีเพียงแต่ข้าราชการเท่านั้น ที่ถูกบังคับให้เข้ารักษาที่โรงพยาบาลรัฐบาลเท่านั้น แต่จะเริ่มต้นที่ผู้ป่วยในเท่านั้น และใช้ระบบจ่ายเหมาเป็นรายโรค เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย คาดว่า ภายใน 1-2 สัปดาห์ จะสามารถเปิดเผยรายชื่อโรค และโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการได้ เพื่อให้เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งยืนยันว่า รายจ่ายจะไม่เพิ่มขึ้นจากอดีต เพราะปัญหาที่ผ่านมาเกิดจากผู้ป่วยนอกที่เบิกยาหลายครั้ง และซ้ำซ้อน ทำให้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้นมาก

กรมบัญชีกลางมีบทบาทสำคัญในการควบ คุมค่าใช้จ่าย เพื่อการจัดทำงบสมดุลใน 5 ปี ตามนโยบายรัฐบาล โดยจะดูแลให้งบรายจ่ายประจำไม่ให้เติบโตขึ้นมากนัก ซึ่งจะเน้นค่ารักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง จากการรั่วไหลในการเบิกจ่ายยานอกบัญชี แต่สามารถควบคุมได้ระดับหนึ่ง โดยในปีงบประมาณ 53 ตั้งงบประมาณค่ารักษาพยาบาลไว้ 61,000 ล้านบาท ได้รับสรรเงินมา 48,000 ล้านบาท ซึ่งได้ติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้อยู่ในวงเงินไม่เกิน 61,000 ล้านบาท ขณะที่ งบประมาณปี 54 ได้งบประมาณเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 62,500 ล้านบาทอธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าว.

 (เดลินิวส์, 10-9-2553)

ให้ประกันนักค้าแรงงานไทยอัยการคัดค้านหวั่นหลบหนี

สำนักงานเอพีรายงานว่าเมื่อ 8 ก.ย. ผู้พิพากษาศาลเมืองโฮโนลูลู รัฐฮาวายในสหรัฐฯ ตั้งวงเงินประกันตัวนายมอร์เดไช โอเรียน ชาวยิว วัย 45 ปี ซีอีโอของบริษัทจัดหางาน "โกลเบิล ฮอไรซันส์ แมนเพาเวอร์" ซึ่งมีสำนักงานในนครอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ถึง 1 ล้านดอลลาร์ หลังถูกฟ้องในข้อหาล่อลวงคนงานไทย 400 คน ไปทำงานในฟาร์มสหรัฐฯ และบีบบังคับให้ทำงานแต่ไม่ทำตามสัญญายึดพาสปอร์ตและขู่จะส่งกลับ ซึ่งเอฟบีไอระบุว่าเป็นคีดลักลอบค้าแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ สหรัฐฯ

ผู้พิพากษาสั่งให้ควบคุมตัวนายโอ เรียนไว้จนกว่าจะมีเงินประกัน ส่วนอัยการขอให้คุมตัวเขาไว้จนกว่าจะถูกพิจารณาคดีเพราะหวั่นหลบหนีและมี แผนที่จะยื่นอุทธรณ์การให้ประกันตัว นายโอเรียนรวมทั้งลูกจ้าง 3 คน และนายหน้าจัดหางานชาวไทย 2 คน ถูกฟ้องเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เขามอบตัวกับเจ้าหน้าที่โฮโนลูลูเมื่อ 3 ก.ย. วัน หลังเอฟบีไอพยายามบุกจับกุมที่บ้านพักในนครลอสแอนเจลิส แต่สำนักงานตัวแทนของเขาแถลงตำหนิเอฟบีไอที่ทุบทำลายประตูหน้าต่างบ้านขณะ เขาไปทำธุรกิจที่รัฐเท็กซัส

(ไทยรัฐ, 10-9-2553)

อุตฯยานยนต์ดึงแรงงานให้ค่างแรง 400 บาทต่อวัน

นายวัลลภ เตียศิริ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้เพิ่มค่าแรงให้แก่แรงงานเป็นวันละ 400 บาท ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพื่อจูงใจให้แรงงานเข้ามาสู่อุตสาหกรรมยานยนต์มากขึ้น เนื่องจากตอนนี้มียอดคำสั่งซื้อเข้ามาค่อนข้างมาก แรงงานที่อยู่ไม่เพียงพอ ทำให้ผลิตสินค้าส่งไม่ทัน จึงต้องใช้วิธีดึงแรงงานแบบนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

ทั้งนี้ ในช่วงต้นปีระดับค่าแรงของอกลุ่มยานยนต์ยังอยู่ที่ 300 บาทต่อวัน แต่เมื่อยอดคำสั่งซื้อ กำลังการผลิตขยาย รวมทั้งสินค้ามีมูลค่าสูงจึงสามารถขึ้นค่าแรงให้แก่แรงงานได้ เพราะต้องการผลิตและส่งสินค้าให้ทันตามที่สัญญาากับลูกค้าไว้ โดยบริษัทส่วนใหญ่ติดรับสมัครแรงงาน ค่าแรง 400 บาทต่อวัน หน้าโรงงานเลย ทำให้แรงงานจากโรงงานข้างเคียงเทเข้ามายังโรงงานในกลุ่มดังกล่าวค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม การดึงแรงงานในวันนี้ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากการขยายโรงงาน หรือเพิ่มกำลังการผลิตส่วนใหญ่ จะต้องการแรงงานในระดับที่ยังไม่ได้พัฒนาฝีมือประมาณ 50% ช่าง 20% และพนักงานสำนักงานอีก 30% ซึ่งหากรวมโรงงานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์มาตรฐานประหยัดพลังงาน (อีโคคาร์) จะทำให้กำลังการผลิตขยายเพิ่มอีก 50% ของการผลิตในปัจจุบัน หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 8 แสนคันต่อปี

ดังนั้น ความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ก็จะเพิ่มขึ้นอีก 50% หรือคิดเป็น 2.5 แสนคน จากแรงงานรวมที่มีอยู่ในปัจจุบัน 5 แสนคน  แบ่งเป็นแรงงานในระดับทั่วไป 1.8 แสนคน และช่างอีก 5 หมื่นคน

ตอนนี้แรงงานในระดับช่างไม่พอ ระบบอาชีวะผลิตคนไม่ทัน ทางอุตสาหกรรมจึงต้องการพัฒนาแรงงานในระดับล่างที่มีประสบการณ์ ให้ขึ้นมาเป็นแรงงานในระดับช่างมากขึ้น เพราะค่าแรงในระดับ 400 ถือว่าสูงมาก ไม่เคยมีมาก่อน และก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ดึงแรงงานกันโดยต้องเพิ่มค่าแรงไปมากกว่านี้ หรือสูงขึ้นขึ้นระดับ 500 บาทต่อวัน เพราะค่าแรงปรับแล้วลงยากนายวัลลภ กล่าว

ทั้งนี้ ทางกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมกับสถาบันยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะร่วมกันพัฒนาแรงงานงานดับล่างให้ขึ้นมาเป็นช่างมากขึ้น รวมถึงพัฒนาแรงงานใหม่ให้มีความเชี่ยวชาญในด้านยานยนต์ เพื่อป้อนแรงงานเข้าสู่ตลาดให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยตั้งเป้าขั้นต้นไว้ที่ 3 แสนคน ซึ่งจะทยอยฝึกอบรมไปเรื่อยๆ เพราะที่ผ่านมาได้อบรมผู้ฝึกสอนไปแล้วประมาณ 300 คน ตอนนี้ก็จะให้ผู้ฝึกสอนที่มีอยู่กระจายไปพัฒนาฝีมือแรงงานต่อไป

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า จากการเข้าพบกับนายโนบุยูกิ มูราฮาชิ ประธานและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทมิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทมิตซูบิชิมีแผนจะมีพิธีวางศิลาฤกษ์โรงงานผลิตอีคาคาร์แห่งแรกของมิตซู บิชิ ที่เมืองไทย ในช่วงเดือนต.ค. 2553 โดยโรงงานดังกล่าวมีมูลค่าการลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาท เป้าหมายการผลิต 2 แสนคัน/ ปี แบ่งเป็นการส่งออก 80% และ ขายในประเทศ 20% 


(โพสต์ทูเดย์, 10-9-2553)

สหพัฒน์ค้านปรับค่าแรงขั้นต่ำจี้รัฐฟังความเห็นเอกชน

ด้านนายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กรณีที่ภาครัฐจะออกนโยบายให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ ล่าสุดก็มีแนวคิดการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 250 บาท บริษัทในฐานะผู้ประกอบการเอกชนรายหนึ่งอยากให้ภาครัฐหันกลับมามองข้อดีเสีย เสียของแต่ละมาตรการความช่วยเหลือ ไม่ใช่มองถึงข้อดีของประชาชนอย่างเดียว แต่อยากให้มองถึงข้อดีและข้อเสียที่ผู้ประกอบการจะได้รับด้วย ดังนั้นก่อนที่จะมีการออกมาตรการอะไรออกมาอยากให้ภาครัฐเรียกผู้ประกอบการ เข้าไปร่วมหารือ เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าไปมีส่วนร่วมดีกว่ารัฐบาลทำตามความคิดของตนเองฝ่าย เดียว

สำหรับภาพรวมผลประกอบการของบริษัทใน ช่วง 8 เดือนที่ผ่านมายอมรับว่ามีรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 2-3% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะฝนตกส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการบริโภคสินค้า ประกอบกับที่ผ่านมาค่าเงินบาทของไทยมีการแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ทำให้เมื่อช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาบริษัทต้องปรับเป้าหมายรายได้การเติบโตในสิ้นปีนี้มาอยู่ที่ 15% จากเดิมตั้งเป้าไว้ว่าจะเติบโตได้ที่ 20% ซึ่งกลยุทธ์ที่บริษัทจะนำมาใช้เพื่อให้มีรายได้เติบโตตามเป้าหมายใหม่ที่วาง ไว้คือการปรับปรุงประสิทธิภาพ และการจัดการสินค้าให้มีคุณภาพมากขึ้น

(ไทยโพสต์, 10-9-2553)

เปิดศูนย์ฝีมือแรงงาน รับแรงงานเสรีอาเซียนปี 58

นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานภาคอุตสาหกรรมสาขา บ้านโป่ง ณ บริษัท โซล่าร์แอสฟัลท์ จำกัด อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรีว่า ปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ อ.บ้านโป่ง กว่า 400 แห่ง รวมถึงโรงงานในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น นครปฐม และกาญจนบุรี เป็นศูนย์กลางการคมนาคมในภาคตะวันตก และศูนย์กลางการผลิตรถโดยสารขนาดใหญ่ของประเทศ แต่กำลังขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะฝีมือจำนวนมาก โดยเฉพาะการควบคุมและซ่อมบำรุงระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ หรือโปรแกรมควบคุมระบบไฮโดรลิกผ่านคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ ช่วยในระบบการผลิต

ดังนั้น สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 4 จ.ราชบุรี จึงร่วมมือกับภาคเอกชน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดตั้งศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานฯ ขึ้นในพื้นที่อุตสาหกรรม เพื่อรองรับความต้องการแรงงาน และสภาพการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมที่มีสูงมากขึ้น รวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในกลุ่มอาเซียน ในปี 2558 ด้วย โดยวางเป้าหมายจะอบรมและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในภาคอุตสาหกรรมให้ได้ปีละไม่ ต่ำกว่า 1,000 คน

(สำนักข่าวไทย, 10-9-2553)

ก.แรงงานร่วมมือค่ายธนะรัชต์ฝึกทหารเกณท์ปลดประจำการทำงานต่างประเทศ

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิด การฝึกอบรมทหารกองประจำการที่จะปลดเป็นทหารกองหนุน หรือทหารเกณฑ์ เพื่อไปทำงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเกาหลี ณ ศูนย์การทหารราบ ค่ายธนะรัชต์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยนายเฉลิมชัย กล่าวว่า ในแต่ละปีมีทหารเกณฑ์จำนวนมากเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ มีความอดทน มีวินัย และมีสุขภาพแข็งแรง ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในต่างประเทศ

กรมการจัดหางาน จึงจัดทำโครงการนี้ขึ้นเพื่อเป็นการนำร่อง โดยแบ่งเป็น 2 หลักสูตร เพื่อเพิ่มทางเลือก ประกอบด้วย 1. หลักสูตรการอบรมทักษะภาษาเกาหลี เพื่อสมัครไปทำงานตามระบบการจ้างงานแรงงานต่างชาติ (อีพีเอส) มีรายได้จากการทำงานที่เกาหลีเฉลี่ยเดือนละ 25,000-27,000 บาท โดยปัจจุบันมีความต้องการแรงงานใหม่ปีละไม่ต่ำกว่า 5,000 คน และ 2. หลักสูตรอบรมทักษะฝีมือช่างก่ออิฐและฉาบปูน ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา โดยทั้ง 2 หลักสูตร มีระยะเวลาการฝึกอบรมหลักสูตรละ 30 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 14 กันยายนนี้ โดยมีทหารเกณฑ์เข้ารับการอบรมกว่า 230 คน.

(สำนักข่าวไทย, 10-9-2553)

สองพี่น้องค้าแรงงานไทยในสหรัฐ กลับคำให้การ

สองพี่น้องเจ้าของฟาร์มใหญ่สุดเป็น อันดับสองของฮาวาย ซึ่งถูกกล่าวหาว่าล่อลวงแรงงานจากประเทศไทยรวม 44 คนให้มาทำงาน ได้เปลี่ยนใจไม่ยอมรับสารภาพผิดเมื่อวันพฤหัสบดี หวั่นเจอโทษจำคุกที่อาจสูงถึง 5 ปีการสอบสวน อเล็ก โซ และไมค์ โซ ในคดีการค้ามนุษย์กำหนดจะมีขึ้นวันที่ 9 พ.ย.โดยพวกเขาอาจถูกตั้งข้อหาเพิ่มเติมและถูกลงโทษหนักมากขึ้นหากผิดจริง พี่น้องตระกูลโซซึ่งเป็นเจ้าของ  อาโลน ฟาร์ม ที่โออาฮู ถูกฟ้องเมื่อปีที่แล้วว่า นำแรงงานมาจากประเทศไทยแล้วให้อาศัยอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่บังคับให้ทำงานด้วย ค่าจ้างต่ำหรือไม่ได้เลย

(ไทยรัฐ, 11-9-2553)

แก๊สโรงน้ำแข็งหนองคาย รั่ว หามส่งรพ.50 คน 

ร.ต.ท.อภิพงศ์ ไชยวัน ร้อยเวร สภ.เมืองหนองคาย ได้รับแจ้งจากพลเมืองดีว่าเกิดแก๊สรั่วที่โรงงานน้ำแข็งเอเชีย บ้านหนองขาม ต.หนองกอมเกาะ อ.เมือง จ.หนองคาย มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก จึงประสานโรงพยาบาลและรถกู้ภัยทั้งในเมืองและใกล้เคียงประมาณ 10 คันเข้าไปลำเลียงผู้บาดเจ็บทั้งเด็กและผู้ใหญ่ส่ง รพ.หนองคายและ โรงพยาบาลเอกชนประมาณ 50 คน ซึ่งแต่ละคนมีอาการหายใจขัด หน้าแดง น้ำตาไหล โดยทางโรงพยาบาลได้ระดมแพทย์พยาบาลให้การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บอย่างเต็มที่

นายโสธนะ วังกาฮาด อายุ 37 ปี อยู่บ้านเลขที่ 69 ม. 10 บ้านหนองขาม ต.หนองกอมเกาะ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บาดเจ็บ เปิดเผยว่า ขณะเกิดเหตุตนกำลังทำกับข้าวกินกับเพื่อน ๆ ที่บ้านซึ่งอยู่ห่างจากโรงงานฯประมาณ 100 ม.ก็ได้กลิ่นเหมือนกลิ่นแก๊สและได้ยินเสียงเอะอะออกมาจากโรงงานตนคิดว่าคงมี เหตุจึงลุกขึ้นเพื่อเข้าไปช่วยคนในโรงงานฯ แต่วิ่งได้ประมาณ 15 ม.ก็หน้ามืดหมดสติและล้มลงจนกระทั่งมีรู้สึกตัวอีกครั้งที่ รพ.หนองคาย

นางดวง มณีรัตน์ อายุ 4จ ปี อยู่บ้านเลขที่ 158 ม. 8 บ้านแจ้งสว่าง ต.หนองกอมเกาะ เปิดเผยว่า บ้านตนอยู่ห่างจากโรงน้ำแข็งประมาณ 1 กม. ซึ่งอยู่กับแม่อายุ 65 ปี และลูกชาย 2 คน อายุ 9 และ 5 ชวบได้กลิ่นแก๊สจนปวดหัว หายใจไม่ออก จึงนำผ้าเช็ดตัวไปชุบน้ำมาปิดปากปิดจมูก แต่กระนั้นทั้งแม่และลูกชายทั้งสองคนของตนก็ทนไม่ไหวจึงต้องรีบนำส่ง รพ.หนองคายดังกล่าว

น.พ.ศุภชัย จรรยาผดุงพงศ์ รอง ผอ.รพ.หนองคาย เปิดเผยว่า แก๊สที่รั่วเป็นแอมโมเนียซึ่งเป็นสารที่ทางโรงงานนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการทำ ความเย็น ซึ่งหากสูดดมเข้าไปมาก ๆ จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเหยื่อบุหายใจ หากอยู่ในที่โล่งแจ้งจะไปไม่อันตรายแต่ถ้าอยู่ในที่อัดทึบจะส่งผลต่อกระทบ ต่อระบบหายใจได้ หรือหากเป็นบุคคลที่มีโรคประจำตัว หรือคนที่ร่างกายอ่อนแอ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น หืดหอบ จะทำให้โรคกำเริบได้ แต่จากการตรวจดูอาการของผู้ป่วยที่เข้ามาทำการรักษาไม่มีผู้ใดที่ได้ผู้ป่วย รายได้ที่อาการหนัก

ร.ต.ท.อภิพงศ์ ไชยวัน กล่าวว่า หลังการสอบสวนที่เกิดเหตุเบื้องต้นทราบว่าขณะเกิดการฟุ้งกระจายของแอมโมเนีย โรงงานไม่ได้เดินเครื่อง และจากการตรวจพบวาล์วเปิดปิดท่อแอมโมเนียเปิดอยู่และทราบว่าก่อนหน้านี้มี ลูกคนงานวิ่งเล่นภายในโรงงานที่อาจไปสดุดท่อแอมโมเนียหลุดออกจากกันและวาล์ว เปิดอยู่ จึงทำให้แอมโมเนียไหลออกมาซึ่งขณะนี้ได้ปิดวาล์วเรียบร้อยแล้ว ส่วนจะดำเนินการอย่างไรต้องรอผลซึ่งจะมีการตรวจสอบโดยละเอียดอีกครั้งส่วนจะ ดำเนินการอย่างไรต้องรอดูผู้ได้รับผลกระทบและผลการตรวจสอบอย่างละเอียดจาก สสจ.หนองคายและ ปภ.หนองคายอีกครั้งหนึ่ง

(เนชั่นทันข่าว, 11-9-2553)

ไฟไหม้โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าที่ตาก

ตาก 12 ก.ย. - เกิดเหตุเพลิงไหม้ โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก  เสียหายกว่า 20 ล้านบาท

พนักงานโรงงาน โอเมก้า การ์เมนท์ ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ช่วยกันพังประตู  หน้าต่างขนย้ายเอกสารสำคัญ ซึ่งเก็บไว้ภายในโรงงานออกมาไว้ที่ปลอดภัย หลังเกิดเพลิงไหม้อาคารแผนกตัดเย็บเสื้อผ้า ก่อนเจ้าหน้าที่จะเข้าฉีดน้ำสกัดเพลิง

จากการสอบสวนทราบว่า ต้นเพลิงเกิดจากห้องด้านหลังอาคารโรงงาน ซึ่งเป็นอาคารฝ่ายตัดและเก็บผ้าที่ตัดเสร็จแล้ว โดยเพลิงลุกไหม้ไปติดผ้าที่เก็บไว้ภายในอาคารอย่างรวดเร็ว และไม่สามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ ทำให้อาคารโรงงาน และเอกสารสำคัญบางส่วนถูกไฟไหม้เสียหายทั้งหลัง มูลค่ากว่า 20 ล้านบาท ส่วนสาเหตุสันนิษฐานว่าเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร

(สำนักข่าวไทย, 12-9-2553)

ผู้ว่าฯ ภูเก็ตทำหนังสือถึง รมว.แรงงาน จี้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว

ภูเก็ต 12 ก.ย.- ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อให้เร่งแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวที่มีจำนวนมากในพื้นที่ เสนอขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวทั้งหมด

นายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวจังหวัดภูเก็ต ว่า ขณะนี้ได้ทำหนังสือถึง นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเพราะปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานใน พื้นที่จังหวัดภูเก็ตจำนวนมาก ทั้งขึ้นทะเบียน และไม่ขึ้นทะเบียน โดยเสนอให้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวทั้งหมดเพื่อให้สามารถควบคุมแรงงานที่ มีอยู่ในพื้นที่ได้มีประสิทธิภาพ และส่งผลดีต่อเรื่องของความมั่นคง

ขณะที่ นพ.ศิริชัย ศิลปอาชา ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่าปัจจุบันมีเด็กที่เกิดจากแรงานต่างด้าวโดยเฉพาะแรงงานพม่าในจังหวัด ภูเก็ตเฉลี่ยเดือนละประมาณ 100 คน คาดว่า ขณะนี้มีเด็กชาวพม่าอายุตั้งแต่แรกเกิด-10 ปี มากกว่า 100,000 คน ซึ่งหอการค้าจังหวัดภูเก็ตเห็นสมควรจะต้องออกระเบียบควบคุมแรงงานต่างด้าว ใหม่ อาทิ เรื่องห้ามแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานมีผู้ติดตามเดินทางเข้ามาด้วย การห้ามแรงงานต่างด้าวตั้งครรภ์ระหว่างการทำงาน เพราะปัจจุบันมีเด็กเกิดใหม่จากแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก

(สำนักข่าวไทย, 12-9-2553)

สนร.มาเลเซีย พบกรมแรงงานตรวจสอบและเร่งรัดส่งคนงานไทยกลับ

กรุงเทพฯ 12 ก.ย.- สนร.มาเลเซียพบกรมแรงงาน ต.ม.รัฐซาราวัก และบริษัทนายจ้าง ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการส่งคนงานไทย 42 คน กลับประเทศล่าช้า  พบสาเหตุนายจ้างไม่จ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานให้คนงาน  เร่งส่งคนงานไทยกลับภายใน ก.ย.นี้ เตือนแรงงานไทยเข้าทำงานอย่างถูกต้อง

เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา นายสิงหเดช ชูอำนาจ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซีย เดินทางไปยังเมืองกุชิง รัฐซาราวัก พบกับอธิบดีกรมแรงงานรัฐซาราวัก ผู้อำนวยการตรวจคนเข้าเมืองรัฐซาราวัก และนายจ้างบริษัท Global Upline Sdn. Bhd  เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและเร่งรัดการดำเนินการ กรณีคนงานไทยที่ทำงานกับบริษัทฯ ขอเดินทางกลับประเทศไทยเป็นไปอย่างล่าช้า โดยบริษัทฯ อ้างเหตุความล่าช้าเนื่องจากหน่วยงานท้องถิ่นยังไม่ได้ดำเนินการต่ออายุใบ อนุญาตให้จ้างแรงงานต่างชาติ และการอนุญาตทำงาน แต่เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าคนงานไทยที่ยังไม่ได้เดินทางกลับ 42 คน บริษัทฯ ไม่ได้ดำเนินการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน  (Levy) ให้กับคนงานเหล่านี้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองรัฐซาราวักได้มีหนังสือแจ้งแก่บริษัทแล้ว

นายสิงหเดช กล่าวว่า หลังจากรับทราบข้อเท็จจริง ฝ่ายไทยได้ขอให้มีการประชุมทุกฝ่าย ประกอบด้วย อธิบดีกรมแรงงานรัฐซาราวัก รองผู้อำนวยการตรวจคนเข้าเมืองรัฐซาราวัก  และรองผู้อำนวยการบริหารบริษัท Global Upline Sdn. Bhd. ผลสรุปของการหารือ คือ ฝ่ายนายจ้างต้องชำระค่า Levy ของคนงานให้กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และให้ส่งคนงานไทย 42 คน กลับประเทศภายในเดือนกันยายน 2553 ซึ่งนายจ้างรับในที่ประชุมว่าจะดำเนินการในทันที

นายสิงหเดช  กล่าวว่าจากปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องมาจากคนงานไทยเหล่านี้เดินทางเข้ามาทำงานอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยการชักชวนของนายหน้าจัดหางานเถื่อน ไม่มีสัญญาจ้างงาน ใช้วิธีเดินทางเข้ามาเลเซียแบบนักท่องเที่ยวและนายจ้างทำใบอนุญาตทำงานให้ ภายหลัง ซึ่งหากนายจ้างละเลยไม่ทำใบอนุญาตทำงานให้ดังเช่นกรณีนี้ คนงานอาจถูกจับกุมดำเนินคดี และในการเดินทางกลับประเทศไทย ก็ต้องมีขั้นตอนการดำเนินงานและใช้เวลามากกว่าปกติด้วย

(สำนักข่าวไทย, 12-9-2553)

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net