Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์ ตัวแทนจากญี่ปุ่นในฐานะนักลงทุนสำคัญในพื้นที่อาเซียน ซึ่งมองพื้นที่สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดฯ-มาเลย์-ไทย (IMT–GT) เป็นตลาดใหญ่ พร้อมด้วยตัวแทนของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) แหล่งทุนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจอาเซียน ที่จะพลิกโฉมหน้าอาเซียนไปอีกระดับหนึ่ง

 
ตัวแทนสองทุนอาเซียน หนึ่งคือตัวแทนจากญี่ปุ่น ในฐานะนักลงทุนสำคัญในพื้นที่อาเซียน โดยมองพื้นที่สมาเหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดฯ มาเลย์ ไทย หรือ IMT–GT เป็นตลาดใหญ่ ในขณะที่ตัวแทนของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB ในฐานะแหล่งทุนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจอาเซียน โดยเฉพาะ 10 โครงการที่เกิดจากโรดแมป IMT–GT ที่จะพลิกโฉมหน้าอาเซียนไปอีกระดับหนึ่ง
 
 
000
 
ยูจิ ฮามาดะ
“IMT-GTคือตลาดใหญ่ของญี่ปุ่น” 
 
ในการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 17 และระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด ครั้งที่ 7 โครงการพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย–มาเลเซีย–ไทย หรือ IMT–GT (Indonesia - Malaysia - Thailand Growth Triangle: IMT-GT) ระหว่างวันที่ 3 – 5 สิงหาคม 2553 ที่โรงแรมมาริไทม์ ปาร์ค แอนด์ สปา รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ญี่ปุ่นได้ส่งนายยูจิ ฮามาดะ ผู้ประสานงานอาวุโสภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น เข้าร่วมประชุมด้วย พื้นที่ IMT–GT สำคัญอย่างไร ตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่นให้สัมภาษณ์ “ประชาไท” ไว้ดังนี้ 
 
..........
 
-มอง IMT–GT อย่างไร
ในการประชุมเมื่อปี 2552 ที่รัฐมะละกา ประเทศมาเลเซีย เป็นครั้งแรก ที่ทางเจ้าหน้าที่อาวุโส IMT–GT เชิญประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วม
 
ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นรู้จักแต่สามเหลี่ยมเศรษฐกิจที่เล็กกว่านี้คือ สามเหลี่ยมเศรษฐกิจบาตัม ซึ่งเป็นความร่วมมือสามประเทศระหว่างรัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และจังหวัดเรียว ประเทศอินโดนีเซีย
 
เมื่อมองถึงสามเหลี่ยมที่ใหญ่กว่า IMT–GT พบว่ามีความสำคัญมาก มีศักยภาพความเป็นไปได้ที่จะขยายตัวออกไปอีก จุดเด่นของ IMT–GT คือ แรงงานราคายังถูก ทั้งประเทศไทยและอินโดนีเซียมีปริมาณแรงงานมากพอ จุดนี้จะส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจทำได้ดีขึ้น 
 
ขณะเดียวกันพื้นที่ IMT–GT มีช่องแคบสำคัญของโลกพาดผ่านถึง 2 ใน 3 ช่องแคบ คือช่องแคบมะละกากับช่องแคบลอมบอก มีปริมาณทรัพยากรมากและหลากหลาย มีประชากรผู้บริโภคจำนวนมหาศาล ถือเป็นตลาดใหญ่ของโลกอีกแห่งหนึ่ง
 
ปัจจัยทั้ง 4 อย่างนี้ คือ แรงงาน ช่องแคบ ทรัพยากรและตลาด ทำให้ IMT–GT มีความสำคัญ ถ้าญี่ปุ่นไม่เข้ามาตรงนี้ ก็เหมือนกับตัดโอกาสตัวเอง
 
ปัจจุบันบทบาทของรัฐบาลมีน้อยลง สิ่งที่จะต้องคิดก็คือ เราจะทำอย่างไรที่จะให้การติดต่อระหว่างภาคเอกชนกับภาคเอกชน ระหว่างคนต่อคนทำได้ง่ายขึ้น สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญมากขึ้นก็คือ รัฐบาลท้องถิ่นที่ต่อไปจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และเห็นความสำคัญของความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับภาคเอกชน โดยรัฐบาลไม่ต้องเข้ามาวางแผนให้ทั้งหมด
 
-จากการพูดคุยกับทั้ง 3 ประเทศ มองเห็นช่องทางอะไรบ้าง
ตัวอย่างองค์กรที่เข้ามาร่วม อย่างธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB ที่เข้ามาให้เงินทุนสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กับทั้ง 3 ประเทศ และสถาบันวิจัยของอาเซียน หรือ ERIA ที่เข้ามาสนับสนุนการศึกษาวิจัย หรืองานวิชาการ ขณะเดียวกันทาง IMT–GT ก็มาบอกญี่ปุ่นว่า IMT–GT ทำอะไรไปบ้าง อะไรควรปรับปรุง การที่ IMT–GT ออกมาร่วมมือกับองค์กรนานาชาติอย่างนี้เป็นเรื่องสำคัญ
 
ตอนนี้มีตัวละครหลายตัว มีรัฐบาลท้องถิ่น มี ERIA มีภาคเอกชน ประเด็นสำคัญคือ ทำอย่างไรให้คนจากองค์กรเหล่านี้มาคิดร่วมกัน แทนที่ต่างคนต่างคิด เพื่อจะได้คิดไปในทิศทางทางเดียวกัน เช่น ให้เกษตรกรไทยกับเกษตรกรญี่ปุ่นได้ร่วมกันคิด
 
การทำให้ประชาชนติดต่อกับประชาชนได้นั้น สิ่งที่เราเน้นคือการสนับสนุนหรือให้เงิน แต่ไม่สามารถที่จะไปบังคับได้ว่าเกษตรกรไทยต้องไปคุยกับเกษตรกรญี่ปุ่น ตรงนี้เราช่วยประสานได้
 
-ภาคเอกชนญี่ปุ่นสนใจมาลงทุนใน IMT–GT ด้านไหน
อย่างอุตสาหกรรมรถยนต์ แทบจะไม่มีการผลิตในประเทศญี่ปุ่นแล้ว การลงทุนในอาเซียนถือเป็นกลยุทธ์สำคัญอย่างหนึ่งของญี่ปุ่น เพราะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้
 
-พื้นที่อาเซียนเป็นเป้าหมายในการย้ายฐานการลงทุนของญี่ปุ่น
อย่างที่บอกว่าประเทศในอาเซียนมีศักยภาพสูงขึ้น ประชาชนก็มีการศึกษาที่ดีขึ้นด้วย
 
-ปัจจุบัน โลกสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาโลกร้อน และสิทธิมนุษยชน ทางญี่ปุ่นให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างไร ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่ญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนเยอะก็มีปัญหาอยู่
ตอนนี้ในแต่ละประเทศ มีมาตรการต่างๆ อยู่เยอะในการป้องกันแก้ไข เช่น มาตรการทางด้านภาษี ที่มีการจ่ายภาษีให้กับท้องถิ่น เป็นต้น
 
-ประเด็นเหล่านี้ญี่ปุ่นมองเป็นปัญหาหรือไม่
ญี่ปุ่นถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นส่วนหนึ่งที่เราต้องนำมาคิด เพราะสถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว อย่างจีนปัจจุบันค่าแรงก็ไม่ได้ถูกแล้ว มาเลเซียก็เช่นกัน ประเทศไทยค่าแรงก็กำลังพุ่งสูงขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่นักลงทุนพอรับได้
 
ส่วนปัญหาสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องนำมาคิด ผู้ประกอบการต้องนำไปเปรียบเทียบดูว่า อะไรที่ส่งผลให้ตัดสินใจเข้ามาลงทุน หรือจะไม่เข้ามาลงทุน
 
000
 
 
อาจุน กอสวานี
“ADBมีมาตรการเฉพาะให้คอร์รัปชั่นน้อยที่สุด”
 
ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB เข้ามามีบทบาทใน IMT – GT เมื่อได้รับเชิญให้มาร่วมทำแผนที่นำทาง หรือ โรดแมป ปี 2009 – 2011 (พ.ศ.2550 – 2554) แต่ก่อนที่โรดแมป IMT – GT จะครบกำหนดเวลา ที่ประชุมสุดยอดผู้นำ IMT – GT ที่หัวหิน – ชะอำ เมื่อปลายปี 2552 ให้ ADB ทบทวนอีกครั้ง

จนกลายเป็นที่มาของ 10 โครงการเร่งด่วนเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค (Priority Connectivity Projects: PCPs) ที่มีการในที่ประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส IMT-GT ครั้งที่ 17 และระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด IMT-GT ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 3 - 5 สิงหาคม 2553 ที่โรงแรมมาริไทม์ ปาร์ค แอนด์ สปา รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็น 10 โครงการที่จะพลิกโฉมหน้าการพัฒนาพื้นที่ IMT-GT ต่อไป

นายอาจุน กอสวานี หัวหน้าคณะที่ปรึกษาด้านความร่วมมือในภูมิภาคและการรวมกลุ่มพัฒนาภูมิภาค สำนักงานบริหารงานทั่วไป ADB คือหนึ่งในทีมงานสำคัญในการทบทวนเรื่องนี้ และยังเป็นตัวแทน ADB ในการเสนอผลการทบทวนดังกล่าว 
 
......
 
-จุดเริ่มต้นของการทบทวนโรดแมป
เนื่องจากโรแมปเป็นปี 2007 – 2011 ยังเหลือเวลาอีก 1 ปี ที่ประชุม IMT –GT เมื่อปีที่แล้ว จึงได้ขอให้ ADB ทบทวนก่อนจะหมดเวลาว่า มีอะไรบ้างที่ทำไปแล้ว อะไรบ้างที่ยังไม่ได้ทำ มีอะไรที่ต้องแก้ไข
 
ตอนแรกที่ทบทวน ADB ถามตัวเองว่า ยุทธศาสตร์ที่มีอยู่ในโรดแมปถูกต้องหรือไม่ จึงมาพิจารณากลยุทธ์ที่วางไว้ในโรดแมป ก็พบว่าถูกต้องแล้ว แต่ประเด็นคือ จะใช้สอยมันอย่างไร
 
จากการวิเคราะห์พบว่า ยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่มีอยู่ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน การลงทุน ทรัพยากรธรรมชาติ มันไปถูกทางแล้ว เพียงแต่จะทำอย่างไรให้กลยุทธ์นี้ไปสู่ภาคปฏิบัติได้
 
ปัญหามีอยู่ว่า โปรแกรมที่มีอยู่ในโรดแมปกว้างไป ทำให้กลยุทธ์ที่มีอยู่สามารถเดินต่อไปได้ สามารถนำไปปฏิบัติจริงได้ 
 
อีกปัญหาคือ มีโปรแกรมเยอะไป และโครงการที่อยู่ในโปรแกรมก็เยอะไปเช่นกัน บางอย่างไม่ใช่โครงการด้วยซ้ำ แต่เป็นแค่การศึกษา เราจึงแนะนำให้เหลือ 12 โปรแกรม แต่ละโปรแกรมก็ให้มีโครงการน้อยลง แล้วให้มันโฟกัสมากขึ้น เพื่อให้ยุทธศาสตร์ที่วางไว้ประสบผลสำเร็จได้ง่ายขึ้น
 
จาก 37 โครงการ มาเป็น 12 โปรแกรม สุดท้ายเหลือ 10 โครงการ เรียกว่า โครงการเร่งด่วนเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค (Priority Connectivity Projects: PCPs)
 
ในตอนประชุม ผู้นำประเทศ IMT – GT ปี 2009 ได้บอกให้ ADB โฟกัสโครงการเร่งด่วนเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค (PCPs) ไปที่โครงสร้างพื้นฐานและซอร์ฟแวร์
 
ADB ก็เลยสรุปว่า ต้องโฟกัสไปอย่างนั้น แล้วก็ไปคุยกับ 3 ประเทศอีกครั้งว่า การที่จะทำให้การค้าและการลงทุนประสบความสำเร็จนั้น คุณต้องมีโครงการอะไรบ้าง
 
10 โครงการPCPs ดังกล่าว ได้มาจากกระบวนการตรงนี้และจากการสำรวจว่า โครงการอะไรบ้างที่จะทำให้ความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนประสบความสำเร็จ ทั้ง 10 โครงการ แบ่งเป็นของอินโดนีเซีย 6 โครงการ มาเลเซีย 2 โครงการ และไทย 2 โครงการ ถามว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ก็ใช่ แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำ 
 
-ดูเหมือนว่า ADB จะให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานบนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เป็นเพราะอะไร
ไม่ใช่มาเลเซียและไทยมีโครงการน้อย แต่เนื่องจากอยากเห็นโครงการที่เฉพาะเจาะจงแต่แน่ใจว่าต้องประสบความสำเร็จ อีกอย่างความพร้อมด้านโครงการสร้างพื้นฐานในอินโดนีเซีย ไม่เท่ากับมาเลเซียและไทย
 
-โครงการก่อสร้างสะพานช่องแคบมะละกาที่เสนอโดยรัฐมะละกา ประเทศมาเลเซีย ถ้าทำได้จะพลิกโฉมหน้าภูมิภาคนี้ได้เลย เพราะทางธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกของประจีนให้ความสนใจ
นั่นเป็นโครงการระดับจังหวัด แต่ 10 โครงการPCPs เป็นโครงการที่ 3 ประเทศบอก ADB ว่า เป็นโครงการเร่งด่วนที่อยากให้ประสบความสำเร็จ และ ADB เองก็อยากทำ
 
โครงการเร่งด่วนของ ADB หมายถึง โครงการที่สามารถมองเห็นความสำเร็จได้ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ส่วนโครงการก่อสร้างสะพานข้ามช่องแคบมะละกานั้น ยังอีกนาน
 
ขั้นต่อไปหลังจากนี้คือ มาดูว่าโครงการไหนใน 10 โครงการนั้น จะสร้างก่อนสร้างหลัง ตอนนี้ยังไม่ได้คิด 
 
-คาดว่าการเรียงลำดับนี้จะเสร็จเมื่อไหร่
ปีหน้า เพราะต้องผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมสุดยอดผู้นำ IMT – GT ที่จะประชุมร่วมควบคู่กับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ประเทศเวียดนามปลายปีนี้ก่อน เมื่อผ่านความเห็นชอบแล้ว ADB ก็จะไปคุยกับผู้นำประเทศเหล่านั้นว่า โครงการไหนควรจะมาก่อนมาหลัง ซึ่งจะต้องมาพิจารณาร่วมกัน ในปีหน้าก็ควรจะรู้แล้วโครงการไหนมาก่อนมาหลัง
 
-จินตนาการของ ADB หลังจาก 10 โครงการนี้ประสบความสำเร็จ สภาพการค้าการลงทุนในย่านนี้จะเป็นอย่างไร
ตามหลักแล้วก็ควรจะทำให้การค้าการลงทุนระหว่างไทยกับมาเลเซียเพิ่มขึ้น มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น แล้วก็จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้นด้วย แล้วก็ต้องดูในเรื่องการศุลกากรด้วย ไม่ใช่โครงสร้างพื้นฐานดีแล้ว แต่ระบบศุลกากรยังไม่ดี ก็ไม่ทำให้ประสบความสำเร็จมากด้วย
 
-ในโลกยุคปัจจุบัน มีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ช่องว่างระหว่างรายได้และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตรงนี้ ADB มีคำอธิบายอย่างไร
ไม่ใช่แค่ ADB เท่านั้น แต่ละประเทศก็ต้องเอาประเด็นเหล่านี้มาไว้ในการพิจารณาด้วย ถ้าเป็นโครงการที่ ADB สนับสนุน ก็ต้องมีมาตรฐานตามที่ ADB กำหนดไว้อยู่แล้ว และประเทศเหล่านี้ก็รู้อยู่แล้วว่า ถ้า ADB เลือกโครงการเหล่านี้ขึ้นมา ADB ต้องคำนึงถึงประเด็นพวกนี้อยู่แล้ว และเชื่อว่าประเทศไทยเองที่เลือกโครงการนี้ขึ้นมา ก็คงรู้ว่าต้องคำนึงเรื่องพวกนี้ด้วยเช่นกัน
 
โครงการพวกนี้ควรใช้เวลาที่เหมาะสมพอสมควรในการเตรียมโครงการ แล้วก็ต้องถามประชาชนที่อยู่รอบๆ โครงการด้วยว่า จะมีระบบอะไรในการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ ต้องถามประชาชน เพราะเดี๋ยวนี้ประชาชนเป็นตัวละควรที่สำคัญ
 
-ที่อินโดนีเซียก็มีกลุ่มภาคประชาชนกับเอ็นจีโอ(องค์กรพัฒนาเอกชน) ที่เฝ้าระวังเรื่องการเข้าไปใช้ทรัพยากรอย่างล้างผลาญหรืออย่างระมัดระวัง ซึ่งกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญของการพัฒนาทาง ถ้าเป็นโครงการที่ADB ต้องสนับสนุน จะใช้มาตรการอะไรในการควบคุมการใช้ทรัพยากรเหล่านั้น เพื่อไม่ให้มีการล้างผลาญจนเกินไป
100% ของโครงการที่ ADB สนับสนุนต้องแน่ใจว่า ต้องมีการเปิดเผย ต้องเป็นโครงการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน และเป็นโครงการที่ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
 
ADB มองเอ็นจีโอเป็นหุ้นส่วนในการทำงาน ทุกครั้งก็จะให้เอ็นจีโอแสดงความเห็นเข้ามา ไม่ได้มองเอ็นจีโอเป็นศัตรู
 
เนื่องจากครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่มีโครงการถึง 10 โครงการที่ ADB ศึกษาให้กับ IMT – GT ทาง ADB ก็ต้องแน่ใจว่า ไม่ไปทำลายชื่อเสียงของ IMT – GT และแน่ใจว่าเป็นโครงการที่ทำให้เกิดผลในทางลบน้อยที่สุด 
 
-ในฐานะที่เป็นแหล่งทุน สิ่งที่นักลงทุนในย่านนี้เจอ คือปัญหาการคอร์รัปชั่น ในฐานะที่เป็นแหล่งทุนที่ต้องการเห็นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทาง ADB จะมีส่วนช่วยลดปัญหานี้อย่างไรบ้าง มีมาตรการอะไรในการให้ทุนที่จะช่วยป้องกันและช่วยลดปัญหานี้ เพื่อเป็นการลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการน้อยที่สุด เพื่อให้เกิดการเจริญเติมโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
อย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่ตอนแรกว่า ครั้งนี้เป็นการจัดชุดโครงการครั้งแรกของ IMT – GT คิดว่ารัฐบาลของทั้ง 3 ประเทศต้องให้ความสำคัญกับปัญหาการคอร์รัปชั่นเป็นอันดับหนึ่ง ในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างจะทำในระดับนานาชาติ จะไม่ทำเหมือนที่ทำกันอยู่ เช่น บอกชื่อบริษัทนี้มาแล้วจ้างเลย แต่จะเปิดอย่างเสรี
 
-ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ADB จะเข้ามามีส่วนร่วมด้วยหรือไม่
จะมีไกด์ไลน์ (แนวปฏิบัติ) ของ ADB แม้จะเป็นโครงการที่ ADB ไม่ได้ให้เงินกู้ในโครงการนั้นก็ตาม หรือเป็นโครงการที่รัฐบาลไทยได้จัดจ้างเองมาแล้วก็ตาม แต่สุดท้ายก็ต้องมาพบ ADB อยู่ดี ตามไกด์ไลน์ที่ ADB มีอยู่
 
อีกอย่างหนึ่ง ADB มี แอนตี้ คอร์รัปชั่น แอคชั่น แพลน หรือ แผนปฏิบัติการป้องกันการทุจริต ที่มีมาตรการเฉพาะสำหรับการดำเนินโครงการ เพื่อให้เกิดการคอร์รัปชั่นน้อยที่สุด 
 
-ตั้งแต่ก่อตั้ง ADB มา ครั้งนี้เห็นชัดเจนเป็นรูปธรรมมากในเรื่องการพัฒนา IMT – GT
ซาบซึ้งในคำชม ตลอด 12 เดือนที่ผ่าน ADB ทำอะไรไปพอสมควรแล้ว ADB เป็นธนาคารที่ให้กู้ในการพัฒนา ก็อยากจะมั่นใจว่า โครงการที่เกิดขึ้นมานั้น เกิดประโยชน์สูงสุดจริงๆ
 
-ครั้งแรกที่ทำโรดแมปก็ทำให้ IMT – GT มีความชัดเจนมากขึ้นแล้ว แต่ก็ยังจับต้องไม่ได้ นี่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่สามารถจับต้องได้ แม้มีเพียง 10 โครงการเท่านั้น โดยใน 10 โครงการก็เป็นของไทยแค่ 10 โครงการ
ถึงแม้จะมีโครงการเกิดขึ้น แต่ก็อย่าเอาแต่จำนวนเป็นตัวตั้ง เพราะแม้จำนวนน้อยแต้ถ้ามั่นใจว่าเกิดขึ้นจริง มันก็ย่อมดีกว่ามีหลายๆ โครงการ แต่ไม่สำเร็จสักที 
 
 
000
 
10 โครงการเร่งด่วน (PCPs) โรดแมป ADB
 
ชื่อโครงการ

วงเงินงบประมาณ
(ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา)

อินโดนีเซีย

 

โครงการพัฒนาท่าเรือสุมาตรา
ประกอบด้วยท่าเรืออูลีหลิว ท่าเรือมาลาฮายาตี ท่าเรือเบลาวัน
และท่าเรือกัวลาอีนก

57.4

โครงการเชื่อมการคมนาคมขนส่งที่หลากหลายตามเส้นทางเศรษฐกิจมะละกา(มาเลเซีย) – ดูไม(อินโดนีเซีย)
ประกอบด้วย ท่าเรือดูไม และถนนสายปือกันบารู – ดูไม

875.2

โครงการทางด่วนสุมาตรา
ประกอบด้วย ทางด่วนปาเล็มบังและอินดารลายา
 ทางด่วนสายปาเล็มบัง – บือตง

493.0

โครงการเชื่อมโยงพลังงานระหว่างมะละกา(มาเลเซีย) – ปือกันบารู(อินโดนีเซีย)

300.0

โครงการทางด่วนบันดาร์ลัมปุง – บาเกาเฮนี ส่วนหนึ่งของทางด่วนตะวันตกเชื่อมต่อกับเกาะชวา

820.0

โครงการพัฒนาทางด่วนบันดา อาเจะห์ – กัวลา ซิมปัง

2,000.0

 

รวม 4,545.6

มาเลเซีย

 

โครงการเชื่อมโยงพลังงานระหว่างมะละกา(มาเลเซีย) – ปือกันบารู(อินโดนีเซีย)

200.0

โครงการพัฒนาระบบศุลกากร หรือ ICQs ที่ด่านบูเก็ตกายูฮิตัม ฝั่งตรงข้ามกับด่านพรมแดนไทย – มาเลเซีย อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา

120.0

 

รวม 320

ไทย

 

การพัฒนาท่าเรือในภาคใต้(ท่าเรือบ้านนาเกลือ จังหวัดตรังและท่าเรือภูเก็ต)

28.0

ทางด่วนระหว่างเมืองหาดใหญ่ – สะเดา

300.0

 

รวม 328.0

 

รวมทั้งสิ้น 5,193.6
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net