ศอฉ.ปิด “เรดนิวส์” ยุคมืดแห่ง “สื่อ” ตอกย้ำ“รัฐเผด็จการสุดขั้ว”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บทความโดยวรางคณา โกศลวิทยานันต์ กับการรุก คุกคามสื่อ ด้วยวาทกรรมซ้ำๆ แต่ทรงพลัง ในยุคเสื่อมที่สุดของคนทำสื่อ

“บก.เรดนิวส์โวย ศอฉ. ยึดแท่นพิมพ์เสียหายกว่า 10 ล้าน ลั่นทำต่อที่เชียงใหม่”

เป็นข้อความที่ได้รับผ่านโทรศัพท์มือถือจากสำนักข่าว Voice News ระหว่างกินสุกี้กับลูกๆ ในวันหยุดที่ผ่านมา
(12 กันยายน 2553 เวลา 15.58น.)
 
ล่าสุดนายกฯ พร้อมประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เชียงใหม่ตามคำร้องของพื้นที่
 
แหม...อะไรมันจะเหมาะเจาะพอดิบพอดีทันการณ์ทันเกมกันซะขนาดนั้นท่านนายกฯ ดิฉันละทึ่งจริงๆ 
 
นับเป็นความคืบหน้าล่าสุดภายหลังเหตุการณ์วันศุกร์ที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจนำโดย พ.ต.ท.ธนพัฒน์ นิลบดี รองผู้กำกับการสืบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเมืองนนทบุรี ร่วมกับ พ.ต.ท.สุนทร ชื่นชิด พนักงานสืบสวน สภ.นนทบุรีนำหมายศาลเจ้าตรวจค้นบริษัท โกลเด้น เพาเวอร์ พรินติ้ง ซึ่งรับจ้างพิมพ์นิตยสาร “เรดพาวเวอร์” ซึ่งมีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยเป็นบรรณาธิการ
ทั้งนี้ก่อนหน้านั้น 10 วันคือวันที่ 31 สิงหาคม 2553 พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศอฉ.ได้แถลงว่ามีสื่อสิ่งพิมพ์บางฉบับเสนอข้อมูลบิดเบือนจากข้อเท็จจริง ทำให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวล มีความแบ่งแยก หรือเสนอข่าวในลักษณะหมิ่นเหม่จาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งทาง ศอฉ.ได้ติดตามพฤติกรรมมาโดยตลอด และจะมีการแจ้งคดีความดังกล่าวกับสื่อสิ่งพิมพ์นั้น
 
ผลคือเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ายึดแท่นพิมพ์ทั้ง 11 แท่นที่พิมพ์นิตยสารดังกล่าว และสั่งปิดนิตยสารในทันที แต่ยังอนุญาตให้บริษัทพิมพ์หนังสืออื่นๆ ได้
 
ดิฉันมองว่าการปิดนิตยสารเรดนิวส์นั้นมีการวางแผน และติดตามความเคลื่อนไหวมานานแล้ว เพราะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ของ “คนเสื้อแดง” ที่รัฐบาลเห็นว่า เป็น “ฝ่ายตรงข้าม” อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
 
เริ่มตั้งแต่การรวมตัวกันครั้งแรกในชื่อ นปช.หลังเหตุการณ์รัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 (ซึ่งจะครบ 4 ปี เร็วๆ นี้ ) อันเป็นจุดเริ่มต้นให้สังคมได้รู้จัก “คนเสื้อแดง” ชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ ครั้งที่มีการรวมตัวกันจนสามารถชิงพื้นที่ข่าวในสื่อได้มากอย่างเห็นได้ชัดในเวลาต่อมา
 
ตลอดจนคนเสื้อแดงเองก็ได้ผลิตสื่อของตัวเองออกมาเป็นรูปเป็นร่างภายใต้ชื่อ “พีเพิลชาแนล” ซึ่งได้ดำเนินกิจการออกอากาศทางโทรทัศน์ดาวเทียมมุ่งนำเสนอข่าวสารของคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นเสนอสาระภายใต้อุดมการณ์ของกลุ่มซึ่งมีคนเป็นจำนวนมากเข้าร่วม 
 
สังเกตได้จากยอดสั่งซื้อจานดาวเทียมจากตัวแทนจำหน่ายและติดตั้งจานดาวเทียมชั้นนำทั้งหลาย โดยเฉพาะที่ร้านของดิฉัน
 
“ติดไว้ดูข่าวเสื้อแดง” นี่เป็นคำตอบส่วนมากของลูกค้าที่เลือกมาใช้บริการที่ร้าน โทรทัศน์ดาวเทียมนับว่าเป็นเป็นสื่อที่มีอิทธิพลมาก ชาวบ้านละแวกที่ดิฉันอาศัยอยู่เข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงด้วยการรับรู้ข่าวสารผ่านช่องทางนี้
 
และในทุกๆ ครั้งที่รัฐบาลเห็นท่าจะไม่ดีในเชิงรุกจึงสั่งปิดสื่อของคนเสื้อแดงโดยอ้างว่าเพื่อรักษาความสงบของประเทศ วาทกรรมซ้ำๆ แต่ทรงพลังเหลือเกินในการลุแห่งอำนาจเบ็ดเสร็จเช่นนั้น
 
เริ่มตั้งแต่เผด็จการทางความคิด ใครเห็นแตกต่างต้องถูกกำจัดทิ้งให้สิ้นซาก ยกระดับขึ้นเป็นเผด็จการทางการเมือง ประชาชนกลุ่มใดเห็นแย้งหรือไม่เอารัฐบาลนี้แม้แต่เสรีภาพในการชุมนุมทางการเมืองยังถูกปราบปราม นี่เรากำลังอยู่ในยุคไหนกันนี่ 
 
...หรือว่าเรากำลังย้อนกลับไปสู่ยุคที่มีสโลแกนสวยหรูว่า “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” นี่ดิฉันต้องใส่หมวกออกจากบ้านหรือเปล่านี่ เรากำลังกลับไปสู่ยุคที่มีนิยายประโลมโลกเกิดขึ้นมากมายเหมือนในยุคที่ผู้นำห้ามนักคิดนักเขียนเสนอข้อเขียนและวิจารณ์ทางการเมือง ใครเขียนเป็นโดนติดคุกลืมแน่
 
ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วละก็ ดิฉันออกจะรู้สึกสลดหดหู่อย่างมากหรับวิชาชีพสื่อในขณะนี้ ที่หากไม่ถูกเซ็นเซอร์โดยตรงก็โดยอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการสะกิดเตือนนายทุนสื่อให้ละเว้นการเสนอข่าวบางข่าวที่กระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล แลกกับการลงประชาสัมพันธ์หน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งกลายเป็นรายได้สำคัญของสื่อในภาวะเศรษฐกิจตกสะเก็ด ข้าวยากหมากแพงเช่นนี้ 
 
ตัวอย่างที่ดิฉันมองเห็นและขอถือโอกาสนำมาวิพากย์คือสื่อกระแสหลักที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ซึ่งเดิมทีก็นำเสนอข่าวหลายมิติและรอบด้านจริงๆ เริ่มด้วยผู้บริหารช่องที่ดูดนักข่าวจากช่องอื่นๆ มามากมาย ระดับหัวกะทิกันทั้งนั้น แต่สาระข่าวที่ถ่ายทอดออกมากลับเป็นแค่หางๆ สะท้อนปรากฏการณ์ธรรมดา ข่าวบางข่าวน่าตามประเด็นต่อ น่าสืบสาวเจาะหาเซ็นเซอร์ตัวเองไปซะงั้น 
 
ดิฉันเฝ้าสังเกตดูรายการข่าวดังหลังละครช่องนั้นมาตลอด 4 เดือนให้หลังเหตุการณ์ “พฤษภาอำมหิต” เพราะอยากรับรู้ความเป็นไปของคนเสื้อแดงบ้างในฐานะเป็นมวลชนส่วนหนึ่งของคนไทย โดยเฉพาะการติดตามความคืบหน้าของคนไทย 91 ศพซึ่งเป็นเรื่องใหญ่โต ส่งกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้ เรื่องราวของคนเสื้อคล้ายหายเข้ากลีบเมฆ เรื่องราวเหล่านั้นถูกลบจากรายการข่าวเจาะช่องนั้นราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น 
 
ดิฉันเชื่อว่ามีอำนาจพิเศษบางอย่างสำแดงพลังและสั่งตรงมายังเจ้าของทุนสื่อและเจ้าของรายการให้ละเว้นการเสนอข่าวคนเสื้อแดง ทั้งๆ ที่เคยเป็นข่าวเจาะเพียงช่องเดียวที่กล้าเสนอความจริงที่ในเชิงข่าวที่รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคนเสื้อเหลือง เสื้อหลากสี หรือเสื้อแดง ฯลฯ ส่วนใครจะคิดเห็นประการใดก็ใช้วิจารณญาณไตร่ตรองตามข้อมูลที่เสพเข้ามามากน้อยต่างกันไปแต่ละคน
 
น่าเสียดายจริงๆ สื่อกระแสหลักเพียงรายการเดียวที่ดิฉันเคยมองว่าเป็นกลางในการนำเสนอ และติดตามมาตลอด ดิฉันเกิดความเบื่อหน่ายและออกจะผิดหวังอยู่มาก ดังนั้นพอละครจบตอนนี้ไม่เสียดายที่จะปิดโทรทัศน์นอนทันที ตอนเช้าค่อยติดตามข่าวทางวิทยุ โทรทัศน์ดาวเทียม ไม่ก็สื่อออนไลน์ที่ “กล้า” มากกว่าที่จะวิพากษ์วิจารณ์บ้านเมืองในมุมที่แตกต่าง
 
ทั้งนี้การเกิดสื่อของกลุ่มการเมืองที่มีอุดมการณ์เฉพาะตนมิใช่มีเฉพาะของคนเสื้อแดง ก่อนหน้านี้ในช่วงม็อบเสื้อเหลือง ก็มีเอเอสทีวีผู้จัดการเป็นสื่อในมือที่คนเสื้อเหลืองโดยมีคุณสนธิ ลิ้มทองกุลเป็นแกนนำคนสำคัญตลอดจนเป็นเจ้าของสื่อเสียด้วยซ้ำ
 
ดิฉันในฐานะของคนที่เคยทำสื่อ (สิ่งพิมพ์) มองว่าเป็นเรื่องปกติมากๆ ของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว (เท่านั้น) ที่จะเกิดสื่อมากมายหลายหลากเพื่อรับใช้อุดมการณ์ทางการเมืองชนิดใดชนิดหนึ่งก็ได้ และไม่จำเป็นต้องมีความคิดเห็นที่สอดคล้องหรือเห็นไปในทางเดียวกับรัฐบาลเสียทุกเรื่อง เป็นการแสดงถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการเขียนและตีพิมพ์ ซึ่งทุกรัฐธรรมนูญของไทยก็ให้การรับรองเสรีภาพดังกล่าว เว้นแต่จะไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น ซึ่งจะกระทำไม่ได้
 
ย้อนกลับมากรณี ศอฉ.ปิดนิตยสารเรดนิวส์ โดยทางนายกฯอภิสิทธิ์ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ในว่าไม่ได้สั่งปิด แต่ทำตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ ยันรัฐไม่ปิดกั้นสื่อ (ข้อความที่ส่งเข้ามือถือของสำนักข่าว Voice New เวลา 18.48 น.วันที่ 10 กันยายน 2553)
 
ฟังดูทะแม่งๆ นะคะแต่มีเหตุผลรองรับเสมอตามสไตล์ท่านนายกฯ มาร์ค
 
คำถามคือพระราชบัญญัติดังกล่าวเขียนโดยใคร และเขียนโดยมีวัตถุประสงค์เช่นไร ดิฉันมีความเชื่อโดยส่วนตัวว่าคนเขียนกฎหมายคือผู้ที่ได้ประโยชน์จากกฎหมายนั้นๆ ตราบใดที่รัฐไทยไม่เคยฟังเสียงประชาชนเลยก่อนลงมือเขียน กฎหมายดังกล่าวย่อมอิงประโยชน์ของคนส่วนน้อยเท่านั้น ไม่ใช่ให้ประโยชน์กับปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง
 
เพราะ....จะว่าไปตั้งแต่รัฐบาลประกาศขอคืนพื้นที่โดยใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่สี่แยกราชประสงค์เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่รัฐใช้ความรุนแรงจนสื่อต่างประเทศวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหู
 
ความรุนแรงครั้งนั้นยากจะลืมเลือนสำหรับผู้สูญเสียชีวิตไม่ว่าจะเป็นฝ่ายคนเสื้อแดงหรือฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจซึ่งต้องปฏิบัติภารกิจนี้ตามคำสั่งของรัฐบาล และแม้ว่าจะมีแกนนำเสื้อแดงบางส่วนมอบตัว และถูกตีตรวนเป็นภาพอื้อฉาวไปทั่วสำหรับการกระทำกับ “ผู้ต้องหา” ทั้งๆ ที่ยังไม่มีกระบวนการสืบสวนที่แน่ชัดว่ากระทำผิดจริงๆ ซึ่งต้องสืบพยานอีกหลายปาก พวกเขาเหล่านั้นถูกพิพากษาจากสังคมให้เป็นนักโทษการเมืองไปโดยปริยาย เช่นนี้แล้วความยุติธรรมมีนัยยะเช่นไรกันแน่
 
นอกจากนี้รัฐบาลก็ยังตามไล่ล่าแกนนำคนเสื้อแดงคนอื่นๆ อีกมากมาย หนึ่งในนั้นดิฉันรู้จักในฐานะเพื่อนนักเขียน (แต่ไม่ขอลงรายละเอียด) ปฏิบัติการปราบปรามประชาชนที่มีความคิดแตกแถวดำเนินมาตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลต้องการกำจัดคนเสื้อแดงให้พ้นหูพ้นตา จึงมีการขึ้นแบล็คลิสต์บุคคลต่างๆ และอนุมัติหมายจับมากมาย
 
การกระทำของรัฐบาลออกจะเป็นยุทธวิธีที่ “ล้าหลัง” มากๆ คะ ถ้าเทียบกับยุคเหตุการณ์นองเลือด 14 ตุลาคม 16 และ 6 ตุลาคม 19 ซึ่งทำให้ทำให้นักศึกษาต่างหนีเข้าป่าเป็นจำนวนมาก เพราะกลัวข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์
 
หลังจากนั้นไม่นานสมัยที่ประเทศไทยมีประชาธิปไตยครึ่งใบในยุคที่มี พล.เอกเปรมเป็นนายกฯ โดยมี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุติ เป็นกุนซือสำคัญนำนโยบาย 66/23 มาใช้ ทำให้นักศึกษาจำนวนมากออกจากป่าสู่เมือง คือใช้การเมืองนำการทหาร แม้จะมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างก็สามารถมีพื้นที่ยืนได้ในแผ่นดินไทยอย่างเสมอภาค
 
หลักของนโยบาย 66/23 ก็คือการยุติสงครามกลางเมืองด้วยการขยายเสรีภาพของบุคคล แก้ปัญหาความไม่มั่นคงของรัฐบาลด้วยการขยายอำนาจอธิปไตยของปวงชน เพราะอำนาจอธิปไตยของคนส่วนน้อย หรือระบอบเผด็จการรัฐสภาเป็นต้นเหตุของความไม่มั่นคงของรัฐ ซึ่งมีเงื่อนไขให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ทำสงครามกลางเมืองเพื่อทำลายอำนาจรัฐ (ทำลายกองทัพแห่งชาติ)
 
นโยบาย 66/23 เป็นการส่งเสริมการต่อสู้อย่างสันติเพื่อประชาธิปไตยของปวงชนชาวไทย มิได้ขัดขวางประชาชน ดังเช่นเรียกผู้เคยต่อสู้แนวรุนแรงด้วยอาวุธมาต่อสู้สันติว่า “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” 
 
การร่วมพัฒนาชาติไทยคือการพัฒนาทางการเมืองที่สามารถทำได้ เพราะยุติสงครามกลางเมืองแล้ว รูปธรรมคือการร่วมสร้างสรรค์ประชาธิปไตยด้วยการให้เสรีภาพบุคคลบริบูรณ์ และทำให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนอันเป็นภารกิจสูงสุดของกองทัพ
 
ในกรณีของการปิดนิตยสารเรดนิวส์ เป็นการกระทำของรัฐบาลที่มิแยแสต่อประวัติศาสตร์เลยสักนิดเมื่อเทียบเคียงกันแล้ว เพราะเป็นการปิดกั้นเสรีภาพทางความของบุคคลอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการคุกคามสื่ออย่างเห็นได้ชัดซึ่งผลที่จะเกิดขึ้นตามมารังแต่จะสร้างความเก็บกด ความคับข้องใจให้เกิดขึ้นกับประชาชนและนำไปสู่ปัญหาความรุนแรงอีหรอบเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนทำสื่อที่ถูกปิดกั้นถึงขั้นสั่งปิด
 
ทำไมท่านไม่ปล่อยให้พวกเขาได้แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสิ่งพิมพ์นั้นเล่า อย่างน้อยรัฐก็ได้รู้ ได้ทราบความเคลื่อนไหวว่าฝ่ายตรงข้ามว่าคิดเห็นประการใด เพื่อจะกำหนดยุทธวิธีที่ตรงจุด ซึ่งก็ดีกว่าตามล่าบุคคลที่รัฐบาลตราหน้าว่าเป็นพวก “ใต้ดิน” ซึ่งยิ่งปราบก็ยิ่งโต ไม่ต่างอะไรกับ “ตายสิบเกิดแสน” ของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่เบ่งบานสุดๆ ในยุคหนึ่ง
 
การกระทำเช่นนี้ยิ่งสร้างความเจ็บปวดเจ็บแค้นให้กับกองบรรณาธิการนิตยสารดังกล่าว ปิดได้ ก็เปิดใหม่ได้ เอาซิ...ดูท่าจะเป็นเช่นนี้
 
แม้รัฐบาลจะอ้างหลักกฎหมาย(ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าเป็นกฎหมายที่คนส่วนมากหรือคนส่วนน้อยบัญญัติ) ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารล้นทะลักเช่นนี้ ดิฉันมองว่าการปิดสื่อครั้งนี้เป็นเรื่องที่ “สิ้นคิด” อย่างรุนแรงของรัฐบาลเสมือนเป็นการ “ฆ่าตัวตายทางการเมือง” คำถามคือนี่หรือ “ประชาธิปไตย” ในแบบของท่าน
 
สำหรับดิฉันแล้วนี่มัน “เผด็จการสุดขั้ว” ต่างหาก 
 
ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์คงมิอาจลืมวาทกรรมของตนที่เคยพูดไว้ว่า “แม้เพียงเสียงเดียวก็ต้องฟัง” 
 
แต่....นี่มิใช่เสียงเดียวนะคะ การจัดตั้งเป็นกองบรรณาธิการหนังสือเล่มหนึ่งๆ ต้องประกอบด้วยคนไม่ต่ำกว่าสิบคนเป็นแน่ 
 
ดิฉันยังเชื่อในหลักเสรีภาพคะ (แม้ใครจะพยายามใส่สีให้ดิฉันก็ตามเถอะ ดิฉันไม่สนเพราะสิ่งที่พูดและเขียนในตั้งอยู่บนจุดยืนของคนที่เคยทำสื่อ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพของสื่อมวลชน
 
การละเมิดสิทธิและเสรีภาพของสื่อไม่ว่าจะเป็นการเซ็นเซอร์สื่อถึงขั้นสั่งปิด และยึดแท่นพิมพ์ทั้งหมดของนิตยสารเรดนิวส์ ตลอดจนข้อกล่าวหาว่าด้วยเรื่องการเสนอข้อมูลที่บิดเบือนจากข้อเท็จจริง หรือเป็นไปในลักษณะหมิ่นเหม่จาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นข้อหาที่รุนแรงมาก รัฐบาลเอาอะไรมาพิสูจน์ความจริงเหล่านั้น หลักฐานก็ไม่ได้หนาแน่นหนักหน่วงพอที่จะฟันธงเช่นนั้น เป็นเพียงข้อกล่าวหาลอยๆ แต่ทรงอำนาจยิ่งนัก
 
ความคิดเห็นที่แตกต่างของ “เรดนิวส์” ไม่ใช่ข้อสรุปตามข้อกล่าวหาทั้งหมดที่จะพบบทสรุปเช่นนั้น
 
แต่.....มันคือเสรีภาพในการนำเสนอสื่อตามอุดมการณ์ทางการเมืองของประชาชนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากความคิดเห็นของรัฐบาลก็เท่านั้น จะว่าเป็น “สื่อแตกแถว” ก็คงใช่
 
ดิฉันคิดว่ามันคือการ “คุกคามสื่อ” และเป็นยุคเสื่อมที่สุดของคนทำสื่อเลยก็ว่าได้ การยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายต่างหากเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรทำเวลานี้ ไม่ต้องไปจ้างดารามารับโทรศัพท์เหมือนที่ผ่านมาเพื่อประมวลปัญหาของประชาชนหรอกคะ แค่อ่านและดูสื่อทั้งกระแสหลักและสื่อทางเลือกเช่นสื่อออนไลน์ ซึ่งตอนนี้มีอิทธิพลมาก แล้วนำมาประมวลเป็นนโยบายเพื่อประชาชนจะดีเสียกว่า
 
การปิดเว็บไซต์ การปิดสื่อมิได้เป็นผลดีต่อรัฐบาลเลยแม้แต่น้อย เพราะการโจมตีในที่แจ้งย่อมดีกว่าการเคลื่อนไหวใต้ดินแบบกองโจรเป็นไหนๆ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท