2553 ยุคมืดแห่งการใช้กฎหมาย ยุคสมัยแห่งการคุกคามสื่อ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

พลันที่ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณานิตยสารฟ้าเดียวกัน ได้ทราบข่าวว่านิตยสารภายใต้การดูแลของตน รวมทั้งสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันกลายเป็น "ของเถื่อน" ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 เหตุเพราะไม่มีใบอนุญาต ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ถูกตั้ง จากการที่ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติเข้าแจ้งความกับตำรวจสันติบาลฝ่ายสิ่งพิมพ์[1] เสียงหัวเราะของเขาก็ระเบิดขึ้น "ขอบคุณที่ช่วยโฆษณาให้เรา" คือ ถ้อยคำแรกที่ถูกปล่อยออกมากลั้วน้ำเสียงขบขัน[2]

ก่อนหน้านี้ราวสี่วัน เครื่องพิมพ์จำนวน 11 เครื่อง ของบริษัทโกวเด้น เพาเวอร์ พริ้นติ้ง ซึ่งรับพิมพ์นิตยสารเรดพาวเวอร์ ก็ถูกอายัด พร้อมสั่งห้ามพิมพ์เอกสารดังกล่าวทันที ด้วยข้อกล่าวหาตาม มาตรา 9 (3) แห่งพระราชกำหนดบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แม้เจ้าหน้าที่โดยทำงานร่วมกับหน่วย ศอฉ. จะแจ้งว่า บริษัทสามารถพิมพ์หนังสือ หรือเอกสารอื่นใดต่อไปได้ แต่ก็มีคำขู่ทิ้งท้ายให้บริษัทหวาดเสียวว่า โรงงานนี้ตั้งขึ้นมาโดยไม่ชอบด้วย พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เพราะไม่มีใบอนุญาตในการตั้งจากทางการ[3]

แม้ไม่ได้เป็นข่าวคราวครึกโครม แต่ถ้าย้อนเวลากลับไปอีกจะพบว่า เพียงช่วงเดือนเมษายน ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 สถานีวิทยุชุมชนจำนวน 26 แห่งในพื้นที่ 9 จังหวัดถูกสั่งปิด จำนวน 6 แห่งถูกยุติการออกอากาศ สถานีที่ปรากฎชื่ออยู่ในข่ายมีความผิด หรือถูกขึ้นบัญชีดำ (Black List) อีก 90 แห่ง โดยหัวหน้าสถานี กรรมการ ผู้จัดรายการถูกตั้งข้อหาและดำเนินคดีกว่า 33 ราย ในข้อหาแตกต่างกันไป[4] แต่นัยว่าเหตุที่โดนสั่งปิด รวมทั้งถูกยึดเครื่องรับส่งวิทยุไปนั้น ตำรวจ ทหาร และข้าราชการเกี่ยวข้องที่ร่วมปฏิบัติการ นอกจากอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แล้ว ยังใช้พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 ด้วยเหตุไม่มีใบอนุญาตประกอบการตามกฎหมาย ด้วย

เหล่านี้ ยังมิได้นับรวมกรณีที่สถานีโทรทัศน์บางที่ สถานีวิทยุบางแห่ง โดนคำสั่งปิดไปก่อนหน้า หรือกรณีที่เว็บไซท์ในจำนวนเลขหลักหมื่นโดนระงับการเผยแพร่ไปแล้ว ทั้งนี้ ทั้งตามคำสั่งอย่างเป็นทางการของ ศอฉ. ทั้งโดยการขอความร่วมมืออย่างลับ ๆ ไปยังผู้ให้บริการโทรคมนาคม และทั้งกระทั่งผู้ใช้และผู้ให้บริการเนื้อหา (เจ้าของเว็บไซท์) ไม่สามารถเข้าถึงเว็บไซท์ของตัวเองได้แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว และคงทำได้เพียงนั่งเดากันว่าคงถูกปิดกั้นจาก "กองกำลังไม่ทราบฝ่าย"

ดูเหมือนว่าการใช้ชีวิตของบรรดาเสรีชน และผู้คนที่กระหายข้อมูลข่าวสารในประเทศไทย ประเทศที่ประชาชนได้รับการบอกกล่าวจากผู้ปกครองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่า เรากำลังยังอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน จะลำบากยากเข็ญขึ้นเรื่อย ๆ ข่าวสารอันประกอบด้วยข้อเท็จจริงที่รอบด้าน, การวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์อย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ถูกรัฐบาลแทรกแซง, พื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นต่อการเมืองการปกครอง หรือช่องทางที่เปิดให้ผู้รับข่าวสารใช้วิจารณญาณและสติปัญญาส่วนตน เป็นของหายากเต็มที่ในยุคสมัยนี้ แต่สิ่งที่ทำให้ติดขัดชนิดหายใจหายคอไม่สะดวกที่สุดเห็นจะเป็นการต้องนั่งทนดู ปฎิบัติการต่าง ๆ ต่อสื่อของเจ้าหน้าที่รัฐโดยอ้างความชอบธรรมตามกฎหมายที่ไร้การถ่วงดุลย์ตรวจสอบ ไม่ว่าในความเป็นจริงแล้วการณ์เหล่านั้นจะชอบด้วยกฎหมาย เป็นธรรม หรือเสมอภาคเท่าเทียมหรือไม่ก็ตาม สาเหตุแห่งการคุกคามเสรีภาพของประชาชนได้อย่างเสรีโดยฝ่ายรัฐ ดังว่ามา ผู้เขียนสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากปัญหา ดังต่อไปนี้

1. กฎหมายฉบับใหญ่แต่ชื่อ อย่างกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่เขียนให้การรับรอง และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีนี้ คือ สิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (มาตราอะไรผู้เขียนก็จำไม่ได้แล้ว หรือคร้านที่จะจดจำ เพราะเปลี่ยนฉบับใหม่ที ก็เปลี่ยนเลขมาตราที) มีค่า และกำลังบังคับใช้ที่่อ่อนแอมากอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งนี้คงเป็นเพราะถูกฉีกบ่อยครั้ง ถูกยกเว้นโดยกฎหมายตัวเล็กตัวน้อยบ่อยขึ้น ความขึงขลังและความศักดิ์สิทธิ์ถูกบั่นทอนลงโดยสถาบันทางอำนาจรูปแบบต่าง ๆ อยู่เนือง ๆ จนในที่ท้ายที่สุด ประชาชนไทยควรต้องสำเหนียกได้เสียทีว่า "ขนาดตัวเอง" พี่รัฐธรรมนูญเค้ายังเอาแทบไม่รอดเลย ฉะนั้น เรื่องอะไรจะไปคาดหวังให้เค้ามาช่วยคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ได้

2. มิเพียงแต่กำลังวังชาที่อ่อนล้ายิ่งกว่าผู้สูงอายุเท่านั้น เพราะโดยเนื้อหาของ มาตรา 45 (จำได้แล้ว) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เอง ก็ยังเอื้ออำนวยต่อการใช้อำนาจควบคุมจัดการสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยฝ่ายรัฐ

หลักในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และการแสดงความคิดเห็นตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว ประกอบไปด้วย "ข้อยกเว้น" ให้รัฐสามารถออกกฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ด้วย 4 เหตุผล คือ เพื่อความมั่นคงของรัฐ, เพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน, เพื่อคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลหรือชื่อเสียงเกียรติยศของบุคคลอื่น และเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน (มาตรา 45 วรรค 2) ยังมิพักต้องเสียเวลากล่าวถึงปัญหา "ความคลุมเครือ" ของถ้อยคำในข้อยกเว้นสี่ข้อนี้ จนเป็นผลให้ดุลพินิจ อำนาจการตีความถ้อยความทั้งหลายตกอยู่ในมือผู้มีอำนาจอย่างเต็มที่ ให้ยืดยาวเสียเวลา เพราะประชาชนไทยควรต้องตกใจยิ่งกว่าเมื่อท่านพบว่า 4 เหตุผลที่ว่าไปหมายเฉพาะในห้วงยามปกติ เท่านั้น ! ยามใดที่บ้านเมืองตกอยู่ในสถานการณ์พิลึกพิศดารอื่น ๆ เช่นมีการรัฐประหาร เป็นอาทิ ข้อยกเว้นหลักประกันสิทธิเสรีภาพอื่นใด ย่อมสามารถถูกเพิ่มเติมได้เสมอ ๆ ทั้งนี้โดยมีผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ "เสียงข้างมาก" ให้การรับรองอีกด้วยว่า ถือเป็นอำนาจแห่ง "องค์รัฐาธิปัตย์" ในการกำหนดกฎเกณฑ์ใด ๆ ขึ้นบังคับใช้ในช่วงนั้น ยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม เช่น

"...ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารดำเนินการควบคุม ยับยั้ง สกัดกั้น และทำลายการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในระบบสารสนเทศ ผ่านระบบเครือข่ายการสื่อสารทั้งปวง ที่มีบทความ ข้อความ คำพูด หรืออื่นใดอันอาจส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข...“  

 

ถอดสมการออกมาได้ว่า การใด ๆ ที่อาจ “ส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปการปกครอง” ย่อมเป็นเหตุผลยกเว้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อีกโสตหนึ่ง ซึ่งถือเป็นเหตุผลใหม่นอกเหนือจาก 4 ข้อยกเว้นในรัฐธรรมนูญ นั่นเอง ตัวอย่างนี้ ผู้เขียนจะนั่งเทียนคิดเองก็หาได้ไม่ เพราะเป็นคำที่ปรากฎอยู่ใน ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (ฉบับที่ 5)[5] ครั้งเมื่อมีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คงจำกันได้

อนึ่ง แม้การออกกฎหมายเพื่อยกเว้นหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ 4 ข้อ ดังกล่าว รัฐธรรมนูญกฎหมายพี่ใหญ่จะเขียน มาตรา 29[6] กำกับไว้อีกที นัยว่ารัฐจะออกกฎหมายมายกเว้นอย่างไร ก็ควรเป็นไปเพียงเท่าที่จำเป็น และต้องไม่กระทบต่อสารัตถะแห่งสิทธิเสรีภาพนั้น ๆ แต่ดูเหมือนฝ่ายผู้ใช้อำนาจรัฐจะไม่ใคร่ใส่ใจมาตรานี้เท่าใดนัก เพราะในที่สุดแล้ว กฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนดฉบับต่าง ๆ ก็ล้วนแต่เขียนล้อเอาถ้อยคำจากรัฐธรรมนูญมาใส่ไว้ให้ "คลุมเครือ" "กว้างขวาง" เหมาะแก่การตีความ ฉวยใช้เพื่อละเมิดสิทธิเสรีภาพได้ เฉกเดียวกันกับรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น หาได้สร้างความกระจ่างชัดใด ๆ ให้กับประชาชนผู้ถูกกฎหมายบังคับใช้ไม่ ไม่ว่าจะเป็น มาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550, มาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550, มาตรา 9 (3) แห่งพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ มาตรา 11 (2) และ (3) แห่ง พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457

ในวงการกฎหมาย คงถือเป็นเรื่องปกติที่เมื่อมี "หลัก" ก็ต้องมี "ข้อยกเว้น" ทั้งนี้เพื่อให้กฎหมายไม่แข็งกระด้างจนเกินไป หรือเปิดโอกาาสให้ผู้บังคับใช้ที่ยุติธรรม ได้นำหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติเข้ามาผสมผสาน แต่สำหรับนักกฎหมายที่เป็นนักกฎหมายจริง ๆ ย่อมมิอาจถือเป็นเรื่องปกติได้ หากในที่สุดแล้ว เวลาที่ใช้กฎหมายจริงๆ ผู้ใช้กฎหมายตีความ ข้อยกเว้นหลักกฎหมาย ให้กลายเป็น/หรือใหญ่กว่า หลักกฎหมาย

3. จากปัญหา 2 ข้อที่กล่าวมาย่อมเห็นได้ว่า การคุกคามสื่อ และสิทธิเสรีภาพของประชาชนในประเทศไทย คงมิได้เกิดขึ้นได้โดยเสรีจากตัวบทบัญญัติ และ/หรือ พละกำลังแห่งค่าบังคับของกฎหมายที่อ่อนล้า เท่านั้น แต่มาจากฝ่ายผู้ใช้กฎหมายด้วย

ถือเป็นเรื่องน่าตระหนกยิ่งเมื่อพบว่า ช่วงระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ผู้บังคับใช้กฎหมายในตำแหน่งสำคัญ ๆ ของบ้านเมืองนั้น นอกจากมีทัศนะคติที่ไม่เป็นมิตรต่อระบอบประชาธิปไตย และฝักใฝ่การรวบอำนาจเป็นของชนชั้นพวกตนแล้ว ยังเป็นผู้ไม่รู้ หรืออ่อนด้อยต่อข้อกฎหมาย อีกด้วย ดูอย่างพลเอกสรรเสริญ แก้วกำเนิด เป็นต้นเพราะจากถ้อยแถลงที่ท่านขู่เอาไว้เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2553 ที่ว่า จะดำเนินการปิดกิจการหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ที่มีเนื้อหาขัดต่อความสงบเรียบร้อย หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นสถาบัน ฯลฯ ย่อมแสดงให้เห็นว่า ท่านมีความเข้าใจในบทมาตรา 45 แห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่เพียงพอ เหตุเพราะ มาตรา 45 ดังกล่าว ให้อำนาจรัฐออกกฎหมายห้ามสื่อมวลชนเสนอข่าวทั้งหมด หรือบางส่วนหากเข้าข้อยกเว้น 4 ประการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ก็จริง แต่สำหรับการ "สั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชน" นั้น รัฐกระทำมิได้โดยเด็ดขาดโดยปราศจากข้อยกเว้น (มาตรา 45 วรรค 3)

คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันยิ่งไปกันใหญ่ เพราะได้ให้สัมภาษณ์ต่อสถานีทีวีออนไลน์แห่งหนึ่งว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ได้สั่งปิดหนังสือพิมพ์เรดพาวเวอร์ เพียงแต่ได้กระทำการต่าง ๆ ไปตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เท่านั้น ซึ่งถือเป็นการแสดงความไร้เดียงสาทางการใช้กฎหมายอย่างยิ่ง เนื่องจากใคร ๆ ก็รู้ว่าเรดพาวเวอร์เป็น "สื่อสิ่งพิมพ์" จึงคงมิอาจใช้พระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับสื่ออิเล็กทรอนิกส์มาใช้บังคับด้วยได้ หากท่านนายกฯ จะให้สัมภาษณ์เพียงว่า "เรื่องนี้ ผมยังไม่ได้รับรายงาน" อาจจะเก๋ไก๋กว่ามาก

จากเหตุการณ์การคุกคามสื่อประเภทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยฝ่ายรัฐตามที่กล่าวไปในตอนต้นของบทความ ผู้เขียนพบปรากฎการณ์น่าสนใจประการหนึ่งด้วย คือ จำนวนมากของสื่อที่ถูกปิดกั้นการนำเสนอเนื้อหาไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ปฏิบัติการไม่สามารถให้คำอธิบาย ชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไป หรือกระทั่งเจ้าของสื่อที่ถูกปิดกั้น หรือผู้ได้รับผลกระทบเองเห็นได้ว่า "เนื้อหาส่วนใด" ของสื่อเหล่านั้นที่เป็นความผิดต่อกฎหมาย ทั้งที่คำอธิบาย และการชี้แจงดังกล่าว เป็น "เงื่อนไขการบังคับใช้กฎหมาย"

ปกติแล้ว การจะกล่าวอ้างต่อนานาประเทศว่า ประเทศไทยเป็น "นิติรัฐ" ได้ คงมิใช่เพียงแต่บอกลอย ๆ ว่า กฎหมายเป็นใหญ่ในการปกครองเท่านั้น แต่ต้องปรากฎข้อเท็จจริงด้วยว่า 1. กฎหมายนั้นมีความยุติธรรม 2. ผู้ใช้อำนาจกระทำการเพียงเท่าที่กฎหมายกำหนด และต้องกระทำตามเงื่อนไขแห่งกฎหมาย และ 3. การบังคับใช้กฎหมายนั้นสามารถถูกตรวจสอบจากองค์กรอื่น ๆ ได้ ซึ่งที่ผ่านมา ศอฉ. เองก็ถูกตั้งคำถามว่า น่าจะใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะเหตแห่งการุไม่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามเงื่อนไขการบังคับใช้กฎหมาย ที่กำหนดอยู่ใน มาตรา 9 (3) แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน[7] 

เมื่อไม่สามารถชี้แจงได้ว่า "เนื้อหา" ส่วนใดเป็นความผิดจนต้องใช้มาตรการในการปิดกั้นการเข้าถึง พฤติกรรมของฝ่ายรัฐที่พยายามโยกเหตุผลการปิดกั้นสื่อจากการพิจารณาความถูกผิดของ "เนื้อหา" ของสื่อ ไปสู่เรื่องในทาง "เทคนิค" ประเภท "ไม่มีใบอนุญาต" จึงปรากฎขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การใช้พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคมกับการปิดสถานีวิทยุชุมชน การใช้พระราชบัญญัติโรงงานกับบริษัทโกวเด้น เพาเวอร์ พริ้นติ้ง หรือล่าสุด การพยายามใช้พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์กับนิตยสารฟ้าเดียวกัน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ความอ่อนด้อยในข้อกฎหมาย ยังคงปรากฎให้เห็นอยู่แม้รัฐจะได้เปลี่ยนวิธีการไปสู่เรื่องในเชิงเทคนิคแล้วก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของการเลือกใช้พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ กับนิตยสารฟ้าเดียวกัน โดยการ กล่าวหาว่านิตยสารฟ้าเดียวกันไม่มีใบอนุญาต ทั้งนี้ เพราะหากพิจารณาถ้อยคำตาม มาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งบัญญัติอยู่ใน หมวด 2 “หนังสือพิมพ์" ซึ่งกำหนดว่า

"หนังสือพิมพ์ซึ่งพิมพ์ขึ้นภายในราชอาณาจักร ต้องจดแจ้งการพิมพ์ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้...“ 

 

ย่อมหมายความว่า ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ คงมีแต่เพียงกิจการหนังสือพิมพ์เท่านั้น ที่มีภาระหน้าที่ต้องจดแจ้งการพิมพ์ หรือขอใบอนุญาตจากภาครัฐ สำหรับ "สิ่งพิมพ์" อื่นใด อาทิ สมุด หนังสือ แผ่นกระดาษ หรือวัตถุใด ๆ ที่พิมพ์ขึ้นเป็นหลายสำเนา (มาตรา 4 วรรค 2) หาได้มีบทบัญญัติมาตราใดกำหนดว่าต้อง "จดแจ้ง" การพิมพ์ก่อนดำเนินการด้วยไม่ คงมีก็แต่เพียงเงื่อนไขเกี่ยวกับคุณสมบัติผู้พิมพ์ สิ่งที่ต้องพิมพ์ไว้ในสิ่งพิมพ์ หรือการจัดพิมพ์ที่ต้องมอบให้หอสมุดแห่งชาติด้วยเท่านั้น (มาตรา 7-9) ซึ่งกรณีนี้ไม่เกี่ยวกับ "เนื้อหาสาระ" ในสิ่งพิมพ์เลย

อนึ่ง มีความน่าสนใจอย่างยิ่งว่า สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เริ่มต้นดำเนินการมาก่อนที่ พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์จะบังคับใช้ เมื่อปี 2550 ซึ่งตามความหมายของคำว่า "หนังสือพิมพ์" ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 เดิม หมายความว่า "สิ่งพิมพ์ซึ่งมีชื่อจ่าหน้าเช่นเดียวกัน และออกหรือเจตนาจะออกตามลำดับเรื่อยไป มีกำหนดระยะเวลาหรือไม่ก็ตาม มี ข้อความต่อเนื่องกันหรือไม่ก็ตาม" จึงย่อมไม่รวมถึงวารสาร หรือนิตยสารอย่างอื่น อย่างไรก็ตาม เมื่อพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ ประกาศใช้กลับมีการแก้ไขเพิ่มเติมคำนิยามของคำว่าหนังสือพิมพ์ใน มาตรา 4 ให้หมายรวมถึงนิตยสาร วารสาร สิ่งพิมพ์พที่เรียกชื่อทำนองเดียวกันด้วย ย่อมต้องตั้งคำถามเช่นกันว่า หากคำว่า "หนังสือพิมพ์" ตามความดังกล่าวรวบรวมเอาสิ่งพิมพ์อื่นใดไว้เสียแล้ว เช่นนี้คำว่า "สิ่งพิมพ์" จะมีความหมายคับแคบ และไม่สอดคล้องกับความเข้าใจโดยทั่วไปของประชาชนในเรื่อง "หนังสือพิมพ์" หรือไม่ อย่างไร สำหรับ มาตรา 10 ซึ่งเกี่ยวพันกับ "เนื้อหา" ของสิ่งพิมพ์ ที่ให้อำนาจแก่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจออกคำสั่งโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาห้ามสั่งเข้า หรือนำเข้าเพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักร นั้น โดยถ้อยคำและเจตนารมณ์ย่อมชัดเจนอยู่แล้วว่าใช้กับสิ่งพิมพ์ที่พิมพ์นอกราชอาณาจักรเท่านั้น

ในที่สุดแล้ว หากรัฐประสงค์จะให้นิตยสารฟ้าเดียวกันต้องจดแจ้งการพิมพ์ ในยุคปัจจุบัน สมัยที่พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์มีผลใช้บังคับแล้ว จึงควรต้องพิจารณาเสียก่อนว่า สำนักพิมพ์ดังกล่าวจำต้องตกอยู่ภายใต้นิยามคำว่า "หนังสือพิมพ์" ใหม่นี้ เมื่อใด และอย่างไร การที่ภาครัฐเที่ยวมาชี้ว่าสิ่งพิมพ์ใดเป็น "ของเถื่อน" ตั้งแต่เสียก่อนที่จะพิเคราะห์ในประเด็นเหล่านี้ จึงย่อมต้องถูกตั้งคำถามเป็นธรรมดาว่าการบังคับใช้กฎหมาย ขาดความรู้ความเข้าใจในการบังคับใช้กฎหมาย นอกจากนี้ แม้ในท้ายที่สุดสำนักพิมพ์นี้มีหน้าที่ต้องจด ประเด็นการจดแจ้งก็คงมีเพียงเรื่องในทาง "เทคนิค" เท่านั้น โดยพิจารณาคุณสมบัติผู้จดให้ครบถ้วนตามมาตรา 11 ถึง 18 โดยที่รัฐไม่มีอำนาจที่จะยึดเอานิตยสารโดยอาศัยมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้
 

4. ปัญหาประการสุดท้าย ที่ผู้เขียนอยากตั้งฝากเป็นข้อสังเกตไว้ในบทความนี้ ก็คือ แม้บทบัญญัติของกฎหมายจะมีปัญหา ซึ่งเป็นปัญหาที่ฝ่าย "นิติบัญญัติ" และแม้ตัวผู้บังคับใช้กฎหมายซึ่งเป็นฝ่าย "บริหาร" จะไม่แยแสการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม หรือขาดความรู้ความเข้าใจกฎหมายเพียงใดก็ตาม แต่การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็อาจยังเกิดขึ้นได้เช่นกัน ถ้าฝ่าย "ตุลาการ" ยึดมั่นในหลักการแห่งกฎหมาย และสามารถเป็นที่พึ่งสุดท้ายให้ประชาชนได้จริง ๆ ตามหลักการ "แบ่งแยกอำนาจ"

ทั้งนี้เพราะในที่สุดแล้ว หากกฎหมายฉบับต่าง ๆ ถูกบัญญัติโดยมีลักษณะลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินจำเป็น หรือกระทบต่อสารัตถะแห่งสิทธิเสรีภาพนั้น จนขัดหรือแย้งต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ (มาตรา 29) ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายดังกล่าวย่อมไม่อาจมีสภาพบังคับได้ หรือในที่สุดแล้วแม้กฎหมายจะมิได้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ แต่หากเจ้าหน้าที่รัฐหรือฝ่ายผู้บังคับใช้กฎหมายไม่กระทำการตามที่กฎหมายให้อำนาจ หรือใช้อำนาจไปในทางที่มิชอบ เมื่อประชาชนนำคดีขึ้นสู่ศาล ศาลในฐานะฝ่ายตุลาการ ย่อมใช้อำนาจของตนเพื่อถ่วงดุลย์ตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายนั้นได้เสมอ แต่เรื่องราวต่าง ๆ ที่กล่าวมาจะไม่มีทางเกิดขึ้น หรือการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพย่อมไม่มีทางเป็นจริงไปได้เลย ถ้าข้อเท็จจริงปรากฎว่าศาล หรือฝ่ายตุลาการเองไม่ยึดมั่นในหลักกฎหมาย หรือถึงขั้น "เพิกเฉย" "ละเลย" ไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมาย[8]

สำหรับผู้เขียน ตราบใดที่ประเทศไทยยังคงบริบูรณ์เพียบพร้อมไปด้วยปัญหาทั้ง 4 ข้อข้างต้นเสียแล้ว ก็โปรดอย่าคิดคาดหวังฝันถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เราคงต้องทนอยู่กันไปกับยุคมืดของการบังคับใช้กฎหมาย เราอาจต้องทนกันอีกนานกับการคุกคามสื่อสารมวลชน การปฏิรูปสื่อ จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย ถ้าปัญหาระดับโครงสร้างเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข หรือทัศนะคติของผู้มีอำนาจในบ้านเมืองยังไม่พัฒนาเข้าถึงขอบแห่งระบอบประชาธิปไตย และที่น่าหวั่นใจยิ่งกว่า ก็คือ สำหรับประเทศไทยแล้ว ไม่เฉพาะแต่สิทธิเสรีภาพพื้น ๆ อย่างการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น ที่ไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครอง เพราะดูเหมือนสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายก็ยังถูกกระทำย่ำยีได้อย่างเสรี โดยไม่มีใครสนใจแยแสอีกด้วย หากคุณอยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับผู้กุมอำนาจ

"ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความคิดเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกสอด และที่จะแสวงหา รับ และแจกจ่ายข่าวสาร และความคิดเห็น ไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ และโดยไม่คำนึงถึงเขตแดน"[9]

 

ข้อ 19 แห่งปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ค.ศ. 1948

ขอบเขตแห่งเสรีภาพของสื่อมวลชนมิได้เป็นเพียงเสรีภาพในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารโดยเสรีเท่านั้น หากแต่ได้ขยายความถึงเสรีภาพโดยปราศจากการลงโทษใด ๆ เมื่อสื่อมวลชนได้นำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นเรื่องจริงและเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ"[10]

New York Times Co.v.Sullivan, 1964

 


[1]   ดูข่าว "วธ. สั่งเชือดฟ้าเดียวกัน พบเป็นวารสารเถื่อน" http://breakingnews.nationchannel.com/read.php?lang=th&newsid=468615 (14.09.2553) หรือ "วธ. สั่งเชือดวารสารฟ้าเดียวกัน หวั่นจาบจ้วงสถาบัน http://www.thairath.co.th/content/edu/111164 (14.09.2553)

[2]   ดูข่าว "บก.ฟ้าเดียวกันหัวเราะร่า ขอบคุณผอ.สำนักหอสมุดแห่งชาติช่วยโฆษณาฟ้าเดียวกัน" http://bit.ly/bgKWdY (14.09.2553)

[3]   ดูข่าว "ใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ปิดแท่นพิมพ์" http://www.prachatai3.info/journal/2010/09/31035 (14.09.2553)

[4]   ข้อมูลจากรายงานผลการศึกษา "การจับกุมดำเนินคดีและปิดสถานีวิทยุชุมชน ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (7 เมษายน – 7 กรกฎาคม 2553) โดย โครงการเฝ้าระวังการแทรกแซงวิทยุชุมชน (Community Radio Watch) ดำเนินการโดย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) สนับสนุนโดย มูลนิธีไฮริค เบิร์ล

[5]   “ตามที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุขได้ทำการยึดอำนาจการปกครองแล้วนั้น จึงให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ดำเนินการควบคุม ยับยั้ง สกัดกั้น และทำลายการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในระบบสารสนเทศ ผ่านระบบเครือข่ายการสื่อสารทั้งปวง ที่มีบทความ ข้อความ คำพูด หรืออื่นใด อันอาจส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้มีประกาศไว้ในเบื้องต้นแล้ว - สั่ง ณ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549”

[6]  มาตรา 29 แห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญ “การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้

            กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป และไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ทั้งต้องระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายนั้นด้วย

            บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง และวรรคสอง ให้นำมาใช้บังคับกับกฎที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายด้วยโดยอนุโลม”

[7]   ดูคำฟ้องที่ประชาไท ยื่นฟ้อง ศอฉ. กรณีปิดกั้นเว็บไซท์ประชาไททั้งเว็บไซท์

[8]   ดูคำพิพากษาศาลชั้นต้น กรณีประชาไทฟ้องให้เพิกถอนคำสั่งปิดเว็บไซท์ของ ศอฉ.

[9]   สำนวนแปลของ ผศ. วนิดา แสงสารพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (ในหนังสือ "หลักกฎหมายสื่อสารมวลชน")

[10] เพิ่งอ้าง.

 

หมายเหตุ แก้ไขล่าสุด โดยผู้เขียน เวลา 14.25 น. วันที่ 15 ก.ย. 2553

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท