Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวประชาธรรม รายงานจากการประชุมเวทีสังคมวิทยาภาคเหนือ ที่ ม.เชียงใหม่ เมื่อ 28 ส.ค. จากการนำเสนอหัวข้อ “เรื่อง "คนเสื้อแดง": ปฏิบัติการช่วงชิงการนิยามความเป็นพลเมืองในบริบทโลกสมัยใหม่” ของสืบสกุล กิจนุกร และการอภิปรายโดยกฤตยา อาชวนิจกุล

 

 

ในตอนที่ผ่านมา ทำให้เราเข้าใจความคิดทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจของกลุ่มคนเสื้อแดง-เหลืองในมุมมองของนักสังคมวิทยา มากขึ้น อันนำมาซึ่งการได้ข้อมูลอีกมุมหนึ่งในการทำความเข้าใจคนเสื้อแดง-เหลือง และตอนต่อไปหลังจากนี้จะเป็นมุมของการทำความเข้าใจความคิดของคนเสื้อแดงที่สัมพันธ์กับบริบทของโลกาภิวัตน์จนนำมาสู่ความต้องการความเป็นธรรมและ "ประชาธิปไตยที่กินได้" ซึ่งเป็นอีกมุมที่เราไม่ค่อยเข้าใจมากนัก(โดยเฉพาะคนที่มองว่าคนเสื้อแดงยังโง่อยู่) และบทสรุปการทำความเข้าใจการเมืองเหลือง-แดงในมุมสังคมวิทยา

นายสืบสกุล กิจนุกร นักศึกษาระดับปริญญาโทด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา สาขาการพัฒนาสังคม ซึ่งกำลังทำการศึกษาวิจัยเรื่อง "คนเสื้อแดง": ปฏิบัติการช่วงชิงการนิยามความเป็นพลเมืองในบริบทโลกสมัยใหม่ ได้พยายามสะท้อนให้เห็นความคิดของคนเสื้อแดงผ่านการพูดคุย และนำคำพูดนั้นมาคิดวิเคราะห์ รวมทั้งตั้งคำถามในเชิงสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ทำให้เราได้เห็นความคิดพื้นๆอันบริสุทธิ์เป็นธรรมชาติของคนเสื้อแดง ที่แม้แต่คณะกรรมการปฏิรูปยังไม่เคยได้เข้าไปสัมผัส ศึกษาและวิจัย

ในตอนท้ายจะนำเสนอ การให้ความเห็น ของรศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล รองผอ.สถาบันประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่พยายามสรุปและให้ความเห็นเกี่ยวกับการทำความเข้าใจการเมืองเหลือง-แดงในมุมสังคมวิทยา เพื่อที่จะศึกษาและทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์นี้ ผ่านการเชื่อมโยงความรู้ด้านอื่นต่อไป

นายสืบสกุล กิจนุกร สาขาวิชาพัฒนาสังคม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อภิปรายว่า สาเหตุที่ตนตัดสินใจร่วมทำงานวิจัยชิ้นนี้ ก็เนื่องมาจากภายหลัง "การสังหารหมู่คนเสื้อแดง" ที่ถนนราชประสงค์ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาที่ผ่านมา "ตนเห็นคนถูกฆ่าตาย" นับ 90 ศพ มันทำให้ตนไม่อาจเพิกเฉย ต่อความตายที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาได้ คำถามคือว่าทำไมผู้คนถึงได้พากันออกมาชุมนุมนาน แรมเดือนบนท้องถนน เอาชีวิตเข้าแลกกับกระสุนปืนเช่นนี้ พวกเขาเป็นใคร

ตนเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโทด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา สาขาการพัฒนาสังคมผมถูกสอนให้ตั้งคำถามกับอำนาจครอบงำสังคมในด้านต่างๆ แต่ในขณะที่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง ผมพบว่ามีนักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาไทยได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐในการใช้ความรุนแรง ทางการเมืองผ่าน "ความรู้" ของพวกเขา การทำงานวิจัยของผมนี้จึงเป็นการตรวจสอบ "ที่ยืนที่อยู่" ของนักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาควรจะอยู่ตรงไหนไปด้วย

และเหตุผลสุดท้ายก็คือ ตนเป็นผลผลิตโดยตรงจากชนบท เกิดและเติบโตขึ้นในหมู่บ้านแห่งหนึ่งติดกับชายแดนไทย - ลาว ฝั่งอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ตนต้องการกลับไปสำรวจตรวจสอบดูว่า "คนเสื้อแดง" ในฐานะที่เป็นผู้คนที่พื้นเพมาจากชนบทเช่นเดียวกันนั้น พวกเขาคิดและรู้สึกอย่างไร กับข้อกล่าวหาที่กลายเป็นการประทับตราทางสังคมว่า "คนเสื้อแดง" เป็นคนบ้านนอก ยากจน โง่เง่า เป็นเหยื่อทางการเมือง และไม่เข้าใจประชาธิปไตย

ในงานศึกษาครั้งนี้ อาศัยเทคนิควิธีของนักมานุษยวิทยาที่สำคัญได้แก่ การสังเกตการณ์ แบบมีส่วนร่วมในการเข้าไปร่วมการ ชุมนุม ประชุม สัมมนา และพิธีกรรมต่างๆ ของ "คนเสื้อแดง" หลังเหตุการณ์ 19 พฤษภา และการสัมภาษณ์เจาะลึกประสบการณ์ชีวิตของ "คนเสื้อแดง" ที่เข้าร่วมการชุมนุมและไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมที่กรุงเทพ อย่างไรก็ตามผมไม่ได้ลงไปศึกษายังหมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่งเป็นหลักอย่างเข้มข้นและยาวนานตามแบบฉบับประเพณีนิยมของนักมานุษยวิทยาที่ผ่านมา เนื่องจากว่าในสังคมยุคโลกาภิวัตน์เช่นนี้ ผู้คนได้เดินทางตัดผ่านความเป็นชนบทและความเป็นเมืองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน "คนเสื้อแดง" กระจายตัวอยู่ในทุกสาขาอาชีพ ตนจึงได้พูดคุยกับ "ชาวนา" พ่อค้าในตลาดสด ผู้ส่งออกสินค้าหัตถกรรม คนงานในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน และเจ้าของกิจการร้านอาหาร ที่มาจากพื้นที่จังหวัดเชียงราย พะเยา ลำพูน แพร่ และเชียงใหม่ อนึ่งภาษาที่ผมโค้ดมาเป็น "คำเมือง" ผสมกับ "คำไทย" และมี "คำหยาบ" ที่อาจฟังดูแล้วไม่ระรื่นหู

 

งานวิจัยด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเกี่ยวกับ "คนเสื้อแดง"

จากการสำรวจของพบว่าในตอนนี้มีงานเขียนทางด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่กล่าวถึง การปรากฏตัวขึ้นมาของ "คนเสื้อแดง" อย่างน้อยสองแนวทางหลักสำคัญ แนวทางแรกได้แก่งานศึกษาการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองในชนบทยุคโลกาภิวัตน์ ยกตัวอย่างเช่น งานของคณะวิจัยของอาจารย์ อภิชาต สถิตนิรามัยและคณะ รวมถึงบทความหลายชิ้นของอาจารย์อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ที่ปรากฏในคอลัมน์ทัศนะวิจารณ์ ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ งานศึกษาในแนวทางนี้มุ่งให้ภาพกระบวนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองที่เข้าไปกระทำในพื้นที่ชนบท และทำให้เกิดคนกลุ่มใหม่ทางเศรษฐกิจ การเมืองขึ้นมา และเป็นส่วนหนึ่งของ "คนเสื้อแดง"

ส่วนงานศึกษาในแนวทางที่สองพูดถึงการเดินทางเคลื่อนที่ของผู้คนในชนบท ที่ตัดผ่านพื้นที่เมืองกับชนบท และท้องถิ่นกับโลก ภายใต้กระบวนการเปลี่ยนแปลงสังคมเศรษฐกิจ อาทิงานของอาจารย์ชาร์ล คายส์ และอาจารย์พัฒนา กิตติอาษา เป็นต้น งานในแนวทางนี้เสนอว่า การเดินทางของผู้คนทำให้เกิดการเรียนรู้ เชื่อมโยงโลกเข้าหากัน และสร้างมุมมองใหม่ให้กับผู้คนในการมองโลกและชีวิต ซึ่งรวมโลกการเมืองของพวกเขาด้วย งานทั้งสองแนวทางที่ผมพูดถึงมีคุณูประการในแง่ที่ให้ภาพด้านกว้างของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างชนบท (rural restructuring) ยุคโลกาภิวัตน์ได้ป็นอย่างดี และทำการโต้แย้งความคิดที่ว่าพื้นที่และผู้คนชนบทมีความเฉื่อยชา ล้าหลัง ทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง อันเป็นผลมาจากการมองชนบทเป็นคู่ตรงกันข้ามกับเมือง

งานศึกษาทั้งสองแนวทางได้ชี้ให้เห็นว่าแท้จริงแล้วพื้นที่และผู้คนชนบทได้เข้าไปมีส่วนพัวพันกับโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองอย่างแนบแน่น และเปลี่ยนแปลงไปอย่างเป็นกระบวนการ มุมมองเดิมที่ใช้ในการศึกษาชนบทไทยที่หยุดนิ่ง แช่แข็งชนบทเอาไว้กับการผลิตภาคการเกษตรแบบเก่า และการเมืองแบบระบบอุปถัมภ์จึงใช้ไม่ได้อีกต่อไป

อย่างไรก็ตามตนเห็นว่าในงานวิจัยครั้งนี้ขอเสนอว่า นอกจากเราจะมองการปรากฏตัวขึ้นมาของ "คนเสื้อแดง" จากการเปลี่ยนแปลงระดับกว้างแล้ว เราจำเป็นต้องมอง "คนเสื้อแดง" ในฐานะที่เป็น "ผู้กระทำการ" ภายใต้โครงสร้างการครอบงำทางความหมาย คนเสื้อแดงเป็นผู้มีความกระตือรือร้นในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับเศรษฐกิจแบบทุนนิยมสมัยใหม่ มีสำนึกในสิทธิพลเมืองตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับสิทธิการเลือกตั้งของประชาชนที่เท่าเทียมกัน และเชิดชูคุณค่าความเป็นคนที่เท่าเทียมกันของมนุษย์ คนเสื้อแดง "ถูกสร้าง" ขึ้นมาจากเงื่อนไขการพัฒนาเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ของสังคมไทย และ"สร้างตัวเอง" ขึ้นมาจากประสบการณ์ชีวิตประจำวันและการเมืองในระดับระดับชาติการเคลื่อนไหวของ "คนเสื้อแดง" เป็นปฏิบัติการเพื่อเปลี่ยนนิยามความหมายในทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมที่ครอบงำพวกเขาเอาไว้ อันเป็นการพยายามจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจให้มีความเท่าเทียมมากขึ้นในบริบทโลกสมัยใหม่ เพื่อที่จะขยายความข้อถกเถียงของผม ผมจะพูดใน 3 ประเด็นที่เกี่ยวพันกัน ดังนี้

 

การช่วงชิงความหมายของงานในวัฒนธรรมเศรษฐกิจสมัยใหม่

สิ่งแรกที่อยากจะพูดในหัวข้อนี้ก็คือว่า ในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่วัฒนธรรมเศรษฐกิจสมัยใหม่หลายคนอาจจะมองไปที่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตและบริโภคสินค้าผ่านกระบวนการกลายเป็นอุตสาหกรรมและเมือง หรือมองไปที่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ อาทิ ถนน ไฟฟ้า และการสื่อสารโทรคมนาคม เป็นต้น แต่สิ่งหนึ่งที่มีคนพูดกันน้อยในสังคมไทยหรือพูดกันแต่ในแง่ลบเท่านั้น ได้แก่การสร้างความหมายเกี่ยวกับ "งาน" ขึ้นมาใหม่ในยุคพัฒนา และยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นความพยายามของรัฐในการสร้างความจริงขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนประชากรให้เป็นสินค้าแรงงานสำหรับซื้อขายในตลาดภายใต้เศรษฐกิจแบบทุนนิยม

"งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข" เป็นการสร้างความจริงที่สำคัญเกี่ยวกับวัฒนธรรมเศรษฐกิจ ในยุคพัฒนาทศวรรษ 2500 สมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ซึ่งเป็นยุคเผด็จการทางการเมือง "งาน" "เงิน" และ "ความสุข" ใน "ชีวิต" มีความหมายความหมายเดียวกันและใช้สลับที่กันไปมา ทำให้ชีวิตของผู้คนผูกติดเข้ากับเศรษฐกิจแบบเงินตราและการผลิตสมัยใหม่ที่ต้องอาศัยทุนมากขึ้น การเป็นพลเมืองที่ดีในสายตาของรัฐคือการ "ทำมาหาเงิน" มิใช่ "ทำมาหากิน" คนในภาคเหนือตอนบนคงจะคุ้นเคยกันดีกับบทเพลง "หนุ่มดอยเต่า" ของวงนกแลที่โด่งดังไปทั่วประเทศเมื่อประมาณ 25 ปีที่ผ่านมา เนื้อเพลงนี้กล่าวถึงชีวิตของผู้คนจากอำเภอที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารอย่างอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ที่ต้องดิ้นรนหาเงิน ดังเนื้อเพลงตอนหนึ่งที่ว่า "หมู่เฮาจากบ้านไปหางานทำ ทำงานเซาะเบี้ยทำมาหาเงิน ล้ำบากเหลือเกิ๋นตากแดดหน้าดำ" มันได้แสดงให้เห็นถึงความหมายของงานได้เข้าไปอยู่ในความรู้สึกนึกคิดและชีวิตประจำวันของผู้คนจนแยกไม่ออกอีกต่อไป

เมื่อเข้าถึงยุค "เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า" หรือยุคโลกาภิวัฒน์ในตอนต้นทศวรรษ 2530 ภายใต้การนำของพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ นายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคการเมืองภายหลังการสิ้นสุดของระบอบเปรม นโยบายทางการเมืองได้เคลื่อนตัวเข้ามาใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของผู้คนในทุกหัวระแหงมากขึ้น "ชาวนา" จากอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวย้อนถึงความรู้สึกที่มีต่อความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีสำหรับเขาซึ่งเกิดขึ้นในยุค"ชาติชาย" ว่า "คล่องขึ้น ยะหยังก่ได้ก๋ำไร ขายตี้ดินได้ราคาดี" ( แปลว่า ค้าขายคล่องขึ้น ทำอะไรก็ได้กำไร ขายที่ดินได้ราคาดี)

หากว่าสิ่งที่ชาวนาจากอำเภอดอยสะเก็ดได้บอกให้เราเข้าใจสำนึกทางการเมืองของเขาที่เปลี่ยนไปแล้ว เรายังจะเห็นร่องรอยของการเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์หรือยุคหลังการพัฒนาที่มี "โอกาส" ควบคู่มากับ "ความเสี่ยง" ที่ต้องอาศัย "ทุน" และ "ความรู้" เข้าไป "จัดการ" ซึ่งเป็น "ความจริง" ชุดใหม่ที่ซ้อนเข้ามากับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสำนึกทางการเมือง เราจะเข้าใจมากขึ้นถึง "ความจริง" ชุดใหม่ในวัฒนธรรมเศรษฐกิจยุคนี้ เมื่อเราพิจารณาถึงเสียงสะท้อนของผู้คนที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรง และโดยอ้อมจากนโยบายทางการเมืองของนายกทักษิณ ชินวัตร

ในกรณีของ "ชาวนา"จากอำเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย เขาพูดถึงการพยายามในพลิกฟื้นตัวเองขึ้นมาจากการเป็น "ผู้แพ้" มาโดยตลอด "ผมจ๋นมาเนี่ย พอนายทักษิณ นายกชาติชายมาเนี่ย พวกผมลืมต๋าอ้าปากได้พ่อง คือเปิ้นเจียดหื้อรากหญ้าไงครับ เปิ้นยกฐานะหื้อปอมีอันจะกิ๋นพ่อง อย่างหน้อยไปโฮงบาลก่เซฟเงินไปแหมเยอะน่อ พักหนี้น่ะครับอาจ๋านเจี้ยก่ว่า พักหนี้มันจ้วยได้เยอะมาก" (แปลว่า ผมจนมาตลอด พอนายกทักษิณ หรือชาติชาย เข้ามา ทำให้พวกผมสามารถลืมตาอ้าปากได้ เขาแบ่งผลประโยชน์ให้รากหญ้า เขายกระดับให้เราพอมีพอกิน อย่างน้อยไปโรงพยาบาลก็เชฟเงินไปได้มาก อย่างเรื่องพักหนี้ก็ช่วยได้มาก)

เช่นเดียวกับพ่อค้าในตลาดสดแห่งหนึ่งในอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ที่เคยล้มเหลวจากธุรกิจท่องเที่ยวที่เสียหายไปในช่วงวิกฤตการเงินเมื่อปี 2540 กิจการรถตู้สำหรับบริการนักท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจาก "ความเสี่ยง" ที่ไม่อาจควบคุมได้ในเศรษฐกิจโลก เขาติดหนี้ธนาคารจนต้องปิดกิจการ แต่สามารถกลับมาตั้งตัวได้อีกครั้งหนึ่งภายหลังนโยบายของพรรคไทยรักไทย เขาบอกว่า "หนี้สินตี้เฮายืมจากธนาคารบ่ได้ใจ้คืน ธนาคารกรุงไทยจนถึงขั้นจะมีก๋านยื่นฟ้องผมละ พอมีนโยบายแก้ไขความยากจน ปรับปรุงหนี้...ผมเหลือแหมประมาณแสนกว่าบาท" (แปลว่า หนี้สินที่ยืมจากธนาคารไม่ได้ใช้คืน ถึงขั้นที่ธนาคารจะยื่นฟ้อง แต่พอมีนโยบายปรับปรุงหนี้ ผมเหลือหนี้ประมาณแสนกว่าบาท)

แน่นอนว่า "โอกาส" ของ "ผู้ชนะ" ก็ย่อมมี และมันชัดเจนว่าพวกเขาได้ก้าวขึ้นมาเป็น "ผู้ประกอบการ" ที่สามารถเปลี่ยนความคิดและวัฒนธรรมให้เป็นสินค้าในยุคโลกาภิวัตน์ ดังในกรณีตัวอย่างของผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กระดาษสาส่งตลาดต่างประเทศในเขตอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ได้พูดถึงกิจการของเขาที่เฟื่องฟูขึ้นอันเนื่องมาจากนโยบาย OTOP " เอาสินค้าของเฮาไปแข่งขันในระดับโอท็อปแม่นก่ เฮาได้สามดาวห้าดาว เฮามีสิทธิ์เอาออกไปขายนอกพื้นที่ จัดงานหื้อเฮาๆก่ไปร่วม ถึงแม้ผมจะบ่ได้ไป แต่คนตี้เปิ้นได้ห้าดาว เปิ้นก่ต้องเอาสินค้าผมไปตวย เปิ้นจะขายตั๋วเดียวเป๋นไปบ่ได้ สินค้าต้องบ่ต่ำกว่า 50 ตั๋วตี้ต้องเข้าไปร่วมกับเปิ้น เพราะฉะนั้นเปิ้นก่จะดึงสินค้าออกจากพื้นที่ไป ปี๋ 48 เฮาได้ออเดอร์เยอะมาก ประมาณซาวตู้คอนเทนเนอร์ พอได้เงินเสร็จผมก่ซื้อตี้หนี้สร้างโกดังตี้นี่ขึ้นมา เพื่อรองรับ ตะก่อนนี้ผมบ่มีโกดังสักอย่าง...เฮาคิดตั๋วอย่างสินค้าขึ้นมาชิ้นหนึ่งเนี่ย เฮาก่ได้เป๋นเงินเป๋นทองขึ้นมา สามารถขายได้...แค่คิดเป๋นต้นแบบขึ้นมา ได้เงินแน่นอน ได้ขาย..." (แปลว่า เอาสินค้าของเราไปแข่งขันในระดับโอท็อป เราได้สามดาวห้าดาว เรามีสิทธิ์เอาออกไปขายนอกพื้นที่ จัดงานให้เรา เราก็ไปร่วม ถึงแม้ผมจะไม่ได้ไป แต่คนที่ได้ห้าดาว เขาก็ต้องเอาสินค้าผมไปด้วย เพราะ เขาจะขายสิ่งเดียวเป็นไปไม่ได้ สินค้าต้องมีไม่ต่ำกว่า 50 อย่างที่ต้องเข้าไปร่วมกับเขา เพราะฉะนั้นเขาก็จะต้องดึงสินค้าออกจากพื้นที่ไปด้วย ปี 48 เราได้ออเดอร์เยอะมาก ประมาณ 20 ตู้คอนเทนเนอร์ พอได้เงินเสร็จผมก็ซื้อที่สร้างโกดังตรงนี้ขึ้นมา เพื่อรองรับ เมื่อก่อนนี้ผมไม่มีโกดังสักอย่าง...เราคิดตัวอย่างสินค้าขึ้นมาชิ้นหนึ่งเนี่ย เราก็ได้เป็นเงินเป็นทองขึ้นมา สามารถขายได้...แค่คิดเป็นต้นแบบขึ้นมา ได้เงินแน่นอน ได้ขาย )

นอกจากผลประโยชน์โดยตรงจากนโยบายทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของพรรคการเมืองแล้ว ผลที่เกิดขึ้นอีกประการหนึ่งคือการสร้าง "ความมั่นใจ" ใหม่ขึ้นมา ทำให้พวกเขาตระหนักใน "ความสามารถ" "ความรู้" และ "ความมั่นใจ" ของตัวเองในการกับชีวิตทางเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพิงทุน ท่ามกลางโอกาสและความเสี่ยงในยุคโลกาภิวัตน์

ในระดับหมู่บ้านเราจะได้ยินเรื่องเล่าของการจัดการกองทุนหมู่บ้านที่แสดงถึงความภาคภูมิใจในความสามารถจัดการของชาวบ้านได้เป็นอย่างดี ดังในกรณีของกองทุนหมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย ที่รองประธานพูดออกมาอย่างมั่นใจว่า "ผมเป๋นรองประธานก๋องทุนหมู่บ้าน ต๋อนนี้ บริหารเงิน 4 ล้านบาท หมู่บ้านเดียว มีเอกสารหมด สามารถตรวจสอบได้ ผมสามารถอู้ได้เต๋มปากเลยจากเงิน 1 ล้านบาท เดี่ยวนี้เป๋น 4 ล้านบาท บริหารในชุมชน" (แปลว่า ผมเป็นรองประธานกองทุนหมู่บ้าน ตอนนี้ บริหารเงิน 4 ล้านบาท หมู่บ้านเดียว มีเอกสารหมด สามารถตรวจสอบได้ ผมสามารถพูดได้เต็มปากเลยจากเงิน 1 ล้านบาท เดี่ยวนี้เป็น 4 ล้านบาท บริหารในชุมชน) รองประธานคนนี้มีความภูมิใจในตัวเองมากแม้เขาจะบอกว่าเขาจบเพียงแค่ ป.4 แต่เขาก็สามารถจัดการเงินนับล้านได้ "เหมือนธนาคาร"

ในระดับโรงงานถึงแม้ว่าคนงานจะไม่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงเช่นเดียวกับคนกลุ่มอื่นๆ แต่สำหรับคนงานที่ถูกฝึกทักษะมาจากระบบการศึกษาแล้ว สไตล์การทำงานของนายกทักษิณ ไม่ต่างอะไรกับการทำงานของเขาที่ทำจริงเป็นกิจวัตรประจำวัน

เงื่อนไขทางสังคมที่สร้างตัวตนใหม่ของคนขึ้นมา ผ่านความหมายของงานกับการเมืองและชีวิตประจำวัน พนักงานประจำในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูนได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับสไตล์การบริหารงานของนายกทักษิณเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า "...ทำได้จริง ทำได้คล้ายบริษัท มี action plan มี workshop มีกลุ่มย่อย ทำให้งานรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ผมชอบสไตล์การทำงานในแบบบริษัทที่ผมทำอยู่"

สิ่งที่ตนพูดมาในหัวข้อนี้ต้องการจะบอกว่า การปรากฏตัวขึ้นของ"คนเสื้อแดง" เมื่อมองจากพลวัตของการเปลี่ยนแปลงความหมายของงานแล้วจะพบว่า พวกเขาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่วัฒนธรรมเศรษฐกิจสมัยใหม่ ความหมายของงานที่รัฐสร้างขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปในยุคพัฒนากับยุคโลกาภิวัตน์ ในด้านหนึ่งมันมีลักษณะครอบงำ ลดทอนความเป็นมนุษย์ให้กลายเป็นเพียงสินค้าสำหรับ ซื้อขายในตลาดแรงงาน ผลักคนเข้าสู่เศรษฐกิจแบบเงินตราอย่างยินยอมพร้อมใจ แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็ได้สร้างสำนึกใหม่ของการมีชีวิตอยู่ในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ ที่ต้องพึ่งพิงทุนและความรู้มากขึ้น "คนเสื้อแดง" ได้แสดงออกถึงความมุ่งมาดปรารถนา และตระหนักใน "ความรู้" และ"อำนาจ" ของตัวเอง ในเศรษฐกิจยุคโลกาภิวัตน์ นโยบายของพรรคการเมืองได้เชื่อมโยงชีวิตประจำวันเข้ากับ ความหมายของงานที่เปลี่ยนแปลงไป มันได้ลากเส้นแบ่งระหว่าง "งาน" กับ "ชีวิต" และ "การเมือง" ของ "คนเสื้อแดง" ให้ซ้อนทับกันจนเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และมันได้ทำให้พวกเขาลุกขึ้นมาต่อสู้ปกป้องสิทธิทางการเมืองของพวกเขาอย่างแข็งขัน

 

การต่อสู้เพื่อนิยามสิทธิทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

หัวที่สองที่จะพูดต่อไปนี้สัมพันธ์ไปด้วยกันกับเรื่องเล่าที่ตนได้พูดมาบ้างแล้วในตอนที่หนึ่งกล่าวคือสาเหตุประการสำคัญประการหนี่งที่ทำให้ชาวบ้านทั่วไปกลายมาเป็น "คนสื้อแดง" ก็เพราะว่าพวกเขาได้ "เรียนรู้" แล้วว่า "งาน" กับ "ชีวิต" และ "การเมือง" ชีวิตประจำวัน ของพวกเขามีสภาพดีขึ้นก็เนื่องมาจากการที่เขาไปหย่อนบัตรลงคะแนนเลือกตั้งพรรคการเมืองที่มีนโยบายสาธารณะตอบสนองกับความต้องการในชีวิตประจำวัน

ขอเริ่มต้นจากเจ้าของธุรกิจก่อสร้างรายใหญ่ในเขตอำเภอฝาง, ไชยปราการ และ อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่บอกถึงการเลือกนายกทักษิณว่า "...คะแนนทักษิณ...เพราะว่านโยบายเขาโดนใจ...เมื่อก่อนนะคุณนะ ถ้าเราไม่มีเงินเป็นพันเป็นหมื่น เราไม่กล้าไปโรงบาลหรอก...พอนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคมานะ มีเงิน 30 บาท 50 บาท มีเงินค่ารถก็ไปโรงบาลได้แล้ว..." สำหรับชาวนาจากอำเภอป่าแดดแล้วเขาฟันธงถึงนโยบายต่างๆ ที่เข้าไปช่วยผู้คนในชนบทว่าเป็น "ประชาธิปไตยกิ๋นได้แน่นอน"

จากการที่เสียงของพวกเขาได้แปรเปลี่ยนนโยบายสาธารณะผ่านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่านายกรัฐมนตรีในดวงใจของ "คนเสื้อแดง" ที่ผมไปพูดคุยมาด้วย จะสัมพันธ์กับความเป็นประชาธิปไตยในประเทศไทยในแต่ละช่วง ดังที่ "ชาวนา" จากอำเภอป่าแดดได้ตอบคำถามผมเอาไว้ว่า "นายกเปลี่ยนมายี่สิบกว่าคนเนี่ย มีสองสามคนตี้อยู่ในใจ๋ของราษฎรรากหญ้าเนี่ย ชาติชาย ชุณหวัณ ปรีดี พนมยงค์ แล้วก่ นายกทักษิณ... ปรีดีรักเพราะอะไร "อ้าว ก็เขาเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตย ใช่มั้ย"

เรารู้กันดีว่าสิ่งที่ปรีดีทำไปพร้อมกับการเปลี่ยนประเทศเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตย คือการพยายามสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจด้วย ส่วนชาติชายเองก็เป็นที่ชัดเจนว่าเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงประเทศเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์ ส่วนนายกทักษิณเป็นเสมือนหนึ่งผู้มากอบกู้ความตกต่ำทางเศรษฐกิจให้รุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่งในสายตาของ "คนเสื้อแดง" จุดร่วมของนายกรัฐมนตรีทั้งสามคนคือการที่บ้านเมืองอยู่สภาวะของการเป็นประชาธิปไตย

นอกเหนือไปจากความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจแล้วผมคิดว่าคนเสื้อแดงยังให้ความหมายกับประชาธิปไตยที่สัมพันธ์ไปกับสิทธิทางการเมืองที่เท่าเทียมกันของผู้คนในสังคมอีกด้วย ในความเห็นของผมแล้วความเห็นพ่อค้าในตลาดสดได้แสดงทัศนะตรงนี้เอาไว้อย่างชัดแจ้งจากคำพูดของเขาที่ว่า "สิทธิทางการเมืองประชาธิปไตยคือหื้อปี่น้องประชาชนเป๋นใหญ่ มีสิทธิ์ทุกอย่าง บ่ว่าจะเป๋นก๋านเลือกตั้ง ใจ้อะหยังทุกอย่างตี้มันอยู่ในประเทศไทยเนี่ย บ่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงกั๋น เป็นมนุษย์เต้าเดียวกั๋นหมด คนตุ๊กก่มีสิทธิ์เข้าโฮงยา คนรวยก่มีสิทธิ์เข้าโฮงยา คนตุ้กเสี้ยงสามสิบบาท เฮาก่อยากหื้อคนรวยก่เสี้ยงสามสิบบาท ... แต่ถ้าว่าคนรวยเปิ้นไค่ได้ห้องพิเศษเพิ่มเงินไปแล่ บ่ว่ากั๋น แต่ว่าขั้นพื้นฐานมันต้องหื้อได้เท่าเทียมกั๋น หื้อมันเป๋นประชาธิปไตยเหมือนกั๋น คือทุกคนมีสิทธิมีเสียงเต้าเดียวกั๋น" ( แปลว่า สิทธิทางการเมืองประชาธิปไตยคือให้พี่น้องประชาชนเป็นใหญ่ มีสิทธิ์ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง ใช้ทุกอย่างที่มันอยู่ในประเทศไทย ไม่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง เป็นมนุษย์ที่เท่ากันหมด คนยากจนก็มีสิทธิ์เข้าโรงพยาบาล คนรวยก็มีสิทธิ์เข้าโรงพยาบาล คนจนเสียสามสิบบาท เราก็อยากให้คนรวยเสียสามสิบบาท ... แต่ถ้าว่าคนรวยอยากได้ห้องพิเศษก็เพิ่มเงินไป ไม่ว่ากัน แต่ว่าขั้นพื้นฐานมันต้องเท่าเทียมกัน เป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน คือทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่ากัน)

ทั้งหมดที่กล่าวมาในหัวข้อนี้เป็นการนำเสนอให้เห็นว่า "คนเสื้อแดง" เป็นผู้ลงคะแนนเสียงที่สร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองกับคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมได้อย่างเท่าเทียม และสิทธิทางการเมืองที่เท่าเทียมกันนี่เองครับเป็นฐานคิดสำคัญของสำนึกทางการเมืองของ "คนเสื้อแดง" ซึ่งมันได้หล่อหลอมตัวตนทางการเมืองของพวกเขาให้เข้มแข็งขึ้น สำนึกในอำนาจของตัวเองที่เสมอหน้ากับคนอื่นๆ ในสังคม ที่ทำให้ชาวบ้านธรรมดากลายมาเป็นสิ่งที่ชาวนาจากอำเภอป่าแดดบอกกับผมว่า "เสื้อแดงมันถึงเกิดขึ้น ทั่วประเทศไง" แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าสิทธิทางการเมืองของพวกเขาถูกปฏิเสธและทำให้ไร้ค่าโดยชนชั้นนำ

 

การยืนยันความเป็นคนที่เท่าเทียมกัน

ชนชั้นนำของไทยได้ปฏิเสธสิทธิทางการเมืองของ "คนเสื้อแดง" ด้วยการนำเอากระบวนการทั้งในและนอกรัฐธรรมนูญมาใช้อย่างหน้าด้านๆ ไม่ว่าจะเป็นการยุบพรรคการเมือง รัฐประหาร ตลอดจนการจับกุมคุมขังและเข่นฆ่า สิ่งที่น่าเกลียดที่สุดคือการทำให้เสื้อแดง "คนเสื้อแดง" "ไร้ตัวตน" ในสังคมไทยด้วยการจำแนกแยกแยะให้ "คนเสื้อแดง" เป็น "คนโง่""บ้านนอก" และ "ไร้การศึกษา" ที่ไม่สมควรได้รับสิทธิการเมืองที่เสมอภาคกับคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมที่อยู่ตรงกันข้ามกับ "คนเสื้อแดง" ทั้งหมด

ตนเห็นว่าการสร้างให้ "คนเสื้อแดง" มีสภาพไร้ตัวตนนี้เป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ลงไป แต่มันก็เป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้พวกเขายิ่งมีลูกฮึดในการต่อสู้เพื่อทวงสิทธิอันชอบธรรมทางการเมืองของพวกเขาคืนมา และควบคู่ไปกับการต่อสู้เพื่อยืนยันความเป็นคนที่เท่าเทียมกันด้วย

ต่อจากนี้จะนำเสนอถึงคำพูดคำจาที่เป็นความในใจส่วนหนึ่งของ "คนเสื้อแดง" ที่พวกเขาแสดงมันออกมาในยามที่ตนได้มีโอกาสพูดคุยกับเขา เห็นว่า มันมีความน่าสนใจในแง่ที่ว่าคำพูดของพวกเขาเป็นการแสดงออกถึงความเข้าใจของพวกเขาที่มีต่อสภาวะไร้ตัวตนในสังคม และการพยายามต่อต้านกับสภาวะไร้ตัวตน

"คนเสื้อแดง" ตระหนักดีว่าพวกเขาถูกประทับตราให้กลายเป็นคนด้อยอำนาจในสังคม "ชาวนา" จากอำเภอป่าแดดที่ได้เข้ามาเป็นคนงานก่อสร้างในตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ได้ระบายความอัดอั้นว่า "พวกผมนี้เป๋นคนก่อสร้าง ทำนาทำไร่ เอ้า คุณอยู่ตึกสวยๆ ก่เพราะพวกผมทั้งนั้น แต่พวกคนระดับก๋าง มองบ่หันหรอกครับ พวกผมมันต่ำต้อย" ( แปลว่า พวกผมนี้เป็นคนก่อสร้าง ทำนาทำไร่ เอ้า คุณอยู่ตึกสวยๆ ก็เพราะพวกผมทั้งนั้น แต่พวกคนระดับกลาง มองไม่เห็นหรอกครับ พวกผมมันต่ำต้อย) ประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของพวกเขาเน้นย้ำถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่พวกเขาได้รับอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

"คนเสื้อแดง" มิได้ยอมเป็นฝ่ายถูกกระทำเพียงฝ่ายเดียว พวกเขาวิพากษ์วิจารณ์ความอยุติธรรมในสังคมและรอคอยโอกาสในการต่อต้านอำนาจ "เขากิ๋นกั๋นจนต้องไก้ต้องปองก่บ่คายออกมา คนรวยรวยแม่ะฮ้ากนะครับประเทศไทย มันบ่ยุติธรรมไง แล้วพวกผมจ๋นต๋ายห่า ผมก่ทำงานจ๋นเกือบจะขอข้าวกิ๋นแล้ว จ๋นตรอกน่ะ แต่คุณไปแบบผู้ดีน่ะ เหยียบหัวผมน่ะ ผมเขาบ่มีโอกาสต่อต้านรัฐบาล แต่อยู่ในใจ๋ผมเขาลึกๆ" (แปลว่า เขาคอรัปชั่นกันมากและไม่ยอมแบ่งปัน("เขากิ๋นกั๋นจนต้องไก้ต้องปองต้องไก้ต้องปองก่บ่คายออกมาเป็นสำนวนเปรียบเปรยซึ่งแปลตรงๆว่า กินกันอิ่มหมีพีมันจนเต็มท้องก็ไม่บ้วนออกมา) คนรวยก็รวยนะครับประเทศไทย มันไม่ยุติธรรมไง แล้วพวกผมจนจะตาย ผมก็ทำงานจนเกือบจะขอข้าวกิ๋นแล้ว จนตรอกน่ะ แต่คุณไปแบบผู้ดีน่ะ เหยียบหัวผมน่ะ พวกเราไม่มีโอกาสต่อต้านรัฐบาล แต่มันอยู่ในใจพวกเราลึกๆ)

"คนเสื้อแดง" แสดงให้เห็นว่าในการต่อต้านนักการเมืองที่พวกเขาเลือกเข้าไปนั้น แท้จริงแล้วเป็นการรักษาผลประโยชน์จากกลุ่มคนที่สูญเสียมันไป ดังในกรณีของกลุ่มครูที่เคยออกมาต่อต้านนโยบายการโอนย้ายครูไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่า "...คนจั๋นก๋างเขาเสียผลประโยชน์ อย่างครูบาอาจ๋านบ่ชอบทักษิณ...เพราะทักษิณจะเอาครูบาอาจ๋านมาไว้ตี้เทศบาล คุมคนหลวก มันว่าบ่แก้วบ่าคำจะมาคุมครูจบปริญาโท ปริญญาตรี ครูเลยบ่ชอบทักษิณ เมื่อก่อนครูใส่เสื้อเหลือง แอนตี้นายกทักษิณขนาดหนัก...บ่าเด่วนี้เป๋นจะไดลู่กั๋นเข้าเทศบาล" ( แปลว่า คนชั้นกลางเขาเสียผลประโยชน์ อย่างครูบาอาจารย์จะไม่ชอบทักษิณ...เพราะทักษิณจะเอาครูบาอาจารย์มาไว้ที่เทศบาล ให้คุมคนฉลาด มันว่าไอ่แก้วไอ่คำจะมาคุมครูจบปริญาโท ปริญญาตรี ครูเลยไม่ชอบทักษิณ เมื่อก่อนครูใส่เสื้อเหลือง แอนตี้นายกทักษิณขนาดหนัก...ตอนนี้เป็นไงแย่งกันเข้าเทศบาล)

เช่นเดียวกันกับที่ "คนเสื้อแดง" ได้วิจารณ์ความไม่เท่าเทียมกันในการบังคับใช้กฎหมายเอาไว้ว่า "...บ่าเด่วนี้จาวบ้านมันบ่ไจ้ตาสีตาสา อย่างผมนี้จบ ป.4 แต่ผ่อหันหนาครับ ผ่อบ่าสนธิ บ่าจำลอง แล้วผ่อบ่าเสื้อแดง ไผผิดไผถูก ผ่อฮู้ครับ มันไหนเอียงมันไหนบ่เอียง ผมก่ฮู้ ดา ตอปิโดติด 18 ปี๋ แล้วบ่าสนธิบ่ระคายผิวเลยเอี้ย ก่อแค่นี้คุณก่คงคิดได้ มันมีมาตรฐานก่คับ ประเทศไทยมีมาตรฐานก่คับ" (แปลว่า เดี๋ยวนี้ชาวบ้านมันไม่ใช่ตาสีตาสา อย่างผมนี้จบ ป.4 แต่ก็รู้นะว่า สนธิ จำลอง เสื้อแดง ใครผิด ใครถูก ใครเอียง หรือไม่เอียง ผมรู้ ดา ตอปิโดติด 18 ปี แล้วสนธิไม่โดนเลย แค่นี้คุณก็คงคิดได้ว่า มันมีมาตรฐานไหม ประเทศไทยมีมาตรฐานไหม) การติดตามข่าวสารทำให้พวกเขาเป็นประจักษ์พยานของการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เสมอภาคกันได้เป็นอย่างดี

เรื่องที่ยกตัวอย่างมานั้น ต้องการชี้ให้เห็นถึงอารมณ์ ความรู้สึกของ "คนเสื้อแดง" ที่คุกรุ่นอยู่ในหัวใจของพวกเขา ถึงแม้ว่าพวกเขาจะจบการศึกษาต่ำกว่าคนอื่นในสังคม แต่พวกเขามิได้โง่หรือไม่รู้เรื่องประชาธิปไตย ตามที่ถูกยัดเยียดให้ยอมรับในสถานภาพที่ต่ำต้อย ประสบการณ์ในชีวิตประจำวันทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น คำพูดคำจาของพวกเขาได้แสดงออกให้เราได้รับรู้ว่า "คนเสื้อแดง" มิได้ยินยอมที่จะถูกกักขังอัตลักษณ์เอาไว้ แต่เพียงฝ่ายเดียว เราจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมคำว่า "ไพร่" จึงเป็นที่ถูกอกถูกใจ "คนเสื้อแดง" จำนวนมาก ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่ามันเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งทางชนชั้นที่เกิดขึ้นมาจากประสบการณ์ที่เป็นจริงของ "คนเสื้อแดง" นั่นเอง

 

บทสรุป: คำถามส่งท้าย

สิ่งที่พูดมาทั้งหมดในวันนี้เป็นหนึ่งในความพยายามลงไปทำความเข้าใจ รู้จัก และรับฟัง "คนเสื้อแดง" ในฐานะที่นักเรียนมานุษยวิทยาอย่างผมพอจะทำได้บ้างในขณะนี้ คำถามทั้งหมดอาจจะยังไม่สามารถตอบได้อย่างกระจ่างแจ้งทั้งหมด หากแต่พบว่ามันมีคำถามใหญ่ที่ค้างคาใจคำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานวิจัยครั้งนี้ นั่นคือคำถามถึงวงการสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่ตนสังกัดโดยตรง

คำถามนี้เกิดขึ้นทุกครั้งที่ไปพุดคุยกับ "คนเสื้อแดง" พวกเขามีทั้งคาดหวังในแง่ที่จะเป็นพลังในการทำความเข้าใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น และเรียกร้องหาความยุติธรรมให้กับพวกเขา ในขณะที่ก็มี "คนเสื้อแดง" อีกจำนวนไม่น้อยต่อต้าน "นักวิชาการ" ในสถาบันการศึกษา เนื่องจากพวกเขาได้เห็นแล้วว่านักวิชาการส่วนหนึ่งได้สร้างความรู้ความจริงขึ้นมา ให้คนทั่วไปเข้าใจว่า "คนเสื้อแดง" เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจของสังคม และประการสำคัญในตอนนี้ภายหลังเหตุการณ์สังหารหมู่ 19 พฤษภา นักวิชาการทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญการพัฒนา อาทิ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เสกสรรประเสิรฐกุล หมอประเวศ วะสี เป็นต้น เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐในการค้ำจุนระบอบความจริงให้ครอบงำสังคมต่อไป

นักวิชาการหลายคนที่ให้เหตุผลในการเข้าเป็นกรรมการปฏิรูปที่นำโดยนายอานันท์ ปันยารชุน ว่า "เกรงใจ" นายอานันท์ นั้น พวกท่านไม่เกรงใจ "คนเสื้อแดง" ไม่เกรงใจคนที่ถูกฆ่าตายบ้างหรือครับ

พ่อค้าในตลาดดอยสะเก็ด ได้วิจารณ์คณะกรรมการปฏิรูปเอาไว้ว่า "...ตั้งก๋ำมะก๋านขึ้นมาก๊าประธานก่หน้าเตะเหียแล้ว อานันท์ ปันยารชุน ไอ่ประเวส วะสี ราษฎรอาวุโส โห ไผไปตั้งหื้อมันเป๋น ราษฎรอาวุโส มันจะไปได้เรื่องอย่างใด" (แปลว่า ตั้งกรรมการขึ้นมา ประธานก็หน้าเตะซะแล้ว อานันท์ ปันยารชุน ประเวส วะสี ราษฎรอาวุโส ใครไปตั้งให้เป็น ราษฎรอาวุโส มันจะไปได้เรื่องอย่างใด)

 

เข้าใจเหลือง-แดงมากขึ้นได้อย่างไร

รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล รอง ผอ.สถาบันประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ตนต่อต้านรัฐประหาร เดิมไม่ชอบทักษิณ เดี๋ยวนี้ก็ยังไม่ชอบเท่าไร เดิมชอบอภิสิทธิ์ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยชอบอภิสิทธิ์เท่าไร มันก็จะเป็นอย่างนี้แหละใจคนเอาไว้เปลี่ยน

ประเด็นที่จะพูดถึงงานวิจัย โดยเฉพาะชุดของ อ.ปิ่นแก้วซึ่งยังทำไม่เสร็จ หลังจากฟังแล้วสร้างความหวังมาก ชอบในสิ่งที่อาจารย์ conceptualize โดยเฉพาะเรื่องความเสื่อม คิดว่ามันจะเป็นการสร้างความจริงขึ้นมาอีกชุดหนึ่งว่าความขัดแย้งของสังคมมาจากความเสื่อม 3-4 ประการ ความจริงชุดนี้รัฐบาลปัจจุบันไม่มีหูจะรับฟัง ตนเองได้คุยกับนายกรัฐมนตรี ตนพูดว่าสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลต้องทำ คือ ต้องสอบสวนเรื่อง 91 ศพ คนเจ็บ และตาย นายกรัฐมนตรีพยายามพูดให้ตนเข้าใจว่า เขาไม่ได้พูดชัดนะ แต่พูดให้เข้าใจว่ากรณีการตายต่างๆนั้นไม่ได้เกิดจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งตนก็หนักใจมากว่าเราจะเชื่อได้อย่างไรว่า 90 กว่าคน และบาดเจ็บอีก 2,000 กว่าคนนั้นมาจากกระสุนปืนที่เรียกว่าชุดดำเท่านั้น ตนไม่สนใจว่าใครยิง แต่สนใจว่าต้องทำความจริงออกมาให้ได้ว่าใครเป็นคนยิง กี่คนถูกชุดดำยิง กี่คนถูกเจ้าหน้าที่ยิง อันนี้เข้าใจว่างานวิจัยชุดนี้มีคุณูปการตรงที่สร้างความจริงชุดนี้ให้เห็น

ประเด็นที่สองชี้ให้เห็นว่าคนเสื้อแดงรวมทั้งคนเสื้อเหลืองด้วยเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้น ไม่ใช่วัวควายหรือชาวบ้านโง่ๆที่จะให้ใครมาชักจูงได้ อันนี้เข้าใจว่ามันย้ำในทั้ง 4 ท่าน รวมทั้งที่อ.นงเยาว์พูดถึง และถ้าไปตามดูในเน็ตต่างๆก็จะเห็นภาพพวกนี้ ข้อค้นพบที่สำคัญคือตัวชาวบ้านพวกนี้เข้ามาเคลื่อนไหวนี่ไม่ใช่เฉพาะคนชั้นล่าง ซึ่งตรงนี้ตรงกันข้ามกับงานวิจัยของงานอ.อภิชาต สถิตนิรามัย ตนถามอาจารย์ว่า อาจารย์มีคนเขาบอกว่างานอาจารย์ให้ภาพจริงบางส่วนเท่านั้น เพราะอาจารย์พูดว่าคนเสื้อแดงเป็นชนชั้นกลางใหม่หรือเป็นชนชั้นกลางใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในชนบท ในขณะที่เสื้อเหลืองเป็นชนชั้นกลางในเมือง ก็อาจารย์บอกว่ามันไปสรุปกันเอง จะมาเชื่อผมได้อย่างไร ผมเก็บตัวอย่างแค่ร้อยกว่าคนเท่านั้นเอง อาจารย์บอกว่าเพิ่งเริ่มต้นยังทำไม่เสร็จ คือเหมือนอ.ปิ่นแก้วที่ยังทำไม่เสร็จ คนดีใจรีบเอาไป quote อ.นิธิเอาไปเขียนกันใหญ่โต

ตนเห็นด้วยว่ากระบวนการทั้งของชาวบ้านและประชาชนทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงมันเป็นเรื่องของกระบวนการข้ามชนชั้นเลย คือมีทุกชนชั้น มีทุกการศึกษา ในที่ที่ตนแวดล้อมอยู่มีคนเสื้อแดงที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเยอะมาก แล้วเขาเป็นมาก่อนแล้วเขาประกาศตัวชัดเจน เป็นมาก่อนการยิงกันเสียเลือดเนื้อ แล้วเขาเป็นขาประจำ จบปริญญาเอกทั้งผู้หญิงผู้ชาย เขาไปชุมนุมกันที่โคราช เขาขับรถไปฟัง เขาไปชุมนุมกันที่ไหนชานเมือง ฝนตก ก็เดินกันย่ำโคลนกันไป ก็ไปดูไปฟัง เพราะฉะนั้น ภาพที่มันล้อมตัวกับภาพที่อ.ปิ่นแก้วเสนอนั้น ใครก็ตามที่เป็นคนเสื้อแดงเป็นเฉพาะคนชั้นล่างนั้นขอให้คิดใหม่ แต่ว่าสิ่งที่น่าสนใจกว่านี้และคิดว่าเราไม่สามารถทำวิจัยได้ เราไม่สามารถคาดประมาณได้ว่าคนเสื้อแดงมีเท่าไร เราอาจจะเป็นคนเสื้อเหลืองเรามักจะพูดกันได้ แต่เนื่องจากว่าขณะนี้ นี่ตนตีความไม่เกี่ยวกับกาวิจัย ว่าการเป็นเสื้อแดงในบางพื้นที่มันถูกตีตรา ภาษาวิชาการเขาเรียกว่า stigmatize คือการตีตราหรือถูกให้คุณค่าไปในทางซึ่งคนซึ่งเป็นเสื้อแดงต้องมองอย่างแวดระวังคือ เฮ้ย กูพูดได้มั้ยเนี่ย กูทำได้มั้ยเนี่ย เพราะมีการตีตราเรียบร้อยแล้ว และความจริงวาทกรรมส่วนใหญ่เป็นวาทกรรมที่รัฐบาลสร้างขึ้น เช่น ล้มเจ้า เพราะฉะนั้นแล้ว ตนเข้าใจว่ายิ่งรัฐบาลสร้างวาทกรรมแบบนี้มากขึ้นเท่าไร รัฐบาลก็ยิ่งไม่เห็นคนเสื้อแดงมากเท่านั้น ไม่เห็นคือก็คือไม่มีทางเข้าใจ

อีกประเด็นหนึ่งซึ่งสำคัญจากงานวิจัยอันนี้คือทำให้เห็นว่า การเลือกตั้ง นโยบายรัฐบาล และคะแนนเสียงมีความหมายต่อรัฐบาลมากนะคะ อันนี้เป็นความรู้สึกที่มีต่องานวิจัย

ประเด็นต่อมาคือประเด็นที่เตรียมมา คือเป็นเรื่อง grass root movement คือ พยายามจะมองว่าเรื่องที่คุยกันวันนี้จริงๆมี 2 ประเด็นที่น่าจะคุยต่อในเชิงคอนเซปท์( Concept) คือ การเคลื่อนไหวของประชาชนฐานราก เป็นเรื่องของอาวุธของผู้อ่อนแอ คือ weapon of the weak ทั้งหมดนี่ขโมยมาจากฝรั่ง ตนเป็นพวกประเภท monkey see, monkey do ก็คือเป็นพวกครูลักพักลักจำ ไม่ได้เรียนมาเพิ่งอ่านเมื่อเช้านี้เอง แล้วก็โน้ตไว้ คือกระบวนการประชาชนรากหญ้าจะเป็นอย่างนี้ กระบวนการประชาชนจะเกิดจากเล็กไปสู่ใหญ่ จากล่างไปสู่บน จากข้างในไปสู่ข้างนอก และมักจะถูกมองว่าไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวของการเมืองระดับบน ซึ่งจริงๆแล้วสอดคล้องกับสิ่งที่อ.เสกสรรค์พูดมาก แต่ว่าตนงงมากที่อ.เสกสรรค์เขียนอย่างนั้น ไม่น่าจะเชื่อว่าจบรัฐศาสตร์ปริญญาเอก และเขียนงานดีๆ ในอดีตจะเขียนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือชวนมวลชนมาต่อสู้ แล้วมวลชนหายไปเลย ถ้าอ.เสกสรรค์เขียนแล้วคิดอย่างนั้นจริงๆ

ประเด็นต่อมา กระบวนการประชาชนเป็นกระบวนการสร้างเสรีภาพ สร้างทางเลือกใหม่ๆให้กับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหากิน เรื่องการศึกษา เรื่องการลงคะแนนเสียง และเรื่องที่เขาจะยืนข้างอยู่กับใคร

ประเด็นที่สามกระบวนการประชาชนฐานรากจะสะท้อนชัดว่าเขาไม่เห็นด้วยกับอะไร เขาจะบอกว่าเขาไม่เห็นด้วยกับอะไร และเขาต้องการการเปลี่ยนแปลง

ประเด็นที่สี่ อันนี้เป็นประเด็นของการทำงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเดือน เม.ย.- พ.ค.2553 (ศปช.) คือเป็นกระบวนการที่ไม่ตัน แม้ว่าจะมีทรัพยากรหรือรายได้น้อยมากหรือไม่มีเลย เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่กระบวนการประชาชนฐานรากต้องการเห็นคือการแบ่งปันทรัพยากรที่เป็นธรรม ในขณะนี้ชอบใช้กันว่าเหลื่อมล้ำๆนี่

ประเด็นสุดท้ายคือกระบวนการประชาชนฐานรากไม่ใช่กระบวนการที่ไม่ทันสมัย ขี้ประติ๋ว แต่กระบวนการประชาชนฐานรากเป็นกระบวนการที่ใช้ไฮเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการทำที่เรียกว่า communicative action คือสามารถสื่อสารแนวราบแล้วเกิดการกระทำขึ้นมาได้ แล้วกระบวนการประชาชนฐานรากเป็นกระบวนการที่กระตือรือร้น ศึกษาตัวเองอยู่เสมอ และเมื่อเราดูลักษณะกระบวนการประชาชนจะเห็นว่าเขามีลักษณะการกระจายอำนาจ กระจายการตัดสินใจ ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมโดยตรง เขามีความหลากหลาย มีความเป็นพหุลักษณ์ แล้วเขาต้องการจะเสริมพลังของคนที่ได้โอกาส จริงๆแล้วก็ตัวเขาเองให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับระบบคุณค่าบางอย่าง คือให้เรื่องความเท่าเทียม ให้เรื่องความเป็นธรรม ให้เรื่องความยั่งยืน บางครั้งเราก็ต้องยอมรับว่าคอนเซ็ปท์มันเห็นภาพ แล้วภาพก็สะท้อนคอนเซปท์ ขบวนการเหล่านี้จะเคลื่อนไหวอย่างยืดหยุ่น สร้างความเข้มแข็งและเครือข่าย และจะเอียงข้าง จริงๆแล้วภาษาอังกฤษใช้คำว่า bias ตนแปลให้มันนุ่มลงมาหน่อย แล้วจริงๆแล้วคำว่าอคติไม่ใช่ข้อเสียหาย ถ้าเป็นอคติที่ท่านเลือกข้างได้ แล้วตนก็เข้าใจว่างานวิจัยก็ต้องเลือกข้างด้วย

ทีนี้มาประเด็นเรื่องอาวุธของผู้อ่อนแอ คือการที่เราจะเข้าใจกระบวนการของประชาชน วิธีการของกระบวนการประชาชนเป็นรูปแบบที่ใช้พลวัตรของอำนาจในการที่จะต่อสู้ รูปแบบนี้จะต่อสู้กับใคร ต่อสู้กับอำนาจนำทางการเมือง อำนาจนำทางการเมืองในสังคมไทยคืออะไร คิดว่าท่านตอบกันเองได้

ปัจจุบันนี้เรามักจะเรียกว่าอมาตยาธิปไตย แต่จริงๆแล้วมันน่าจะมีมากกว่าอมาตยาธิปไตย เราศึกษาเรื่องพวกนี้ แล้วเข้าถึงเรื่องพวกนี้เพื่อต้องการสร้างความรู้ในการเข้าถึงโอกาสและเรื่องต่างๆของชาวบ้านภายใต้บริบทของความไม่เป็นธรรม นี่คือภาพสะท้อนหนึ่งของวิธีการศึกษา เข้าใจว่าไม่ทราบว่าทีมวิจัยคิดมั้ย แต่ภาพมันสะท้อนการทำงานของทีมวิจัยที่ทำอยู่ แล้วอาวุธหนึ่งที่ใช้กันเป็นประจำ แล้วใช้มาตั้งแต่ในอดีต ในเชิงคอนเซปท์เขาจะเปรียบเทียบระหว่าง hidden script กับ public script คือสิ่งที่เป็นใต้ติดหรือข่าวลือกับสิ่งที่พูดกันในที่สาธารณะได้ สิ่งหนึ่งที่ใช้เป็นเครื่องมือของผู้อ่อนแอของทุกสังคมในโลกนี้คือใช้เรื่องเล่า ใช้สื่อใต้ดิน ใช้เรื่องตลก แล้วใช้ข่าวลือ ในปริญญานิพนธ์ปริญญาเอกบางเรื่องทำเรื่องข่าวลือในประเทศไทย แล้วก็เขาก็ทำหลายเรื่องมาก แล้ววิทยานิพนธ์ปริญญาเอกนี้จะถูกพิมพ์ ปรากฏว่ามีคนมายื่นข้อเสนอกับสำนักพิมพ์(ซึ่งเป็นต่างประเทศ)ว่าให้ลบบางบทออกที่มีข่าวลือเกี่ยวกับบางสถาบัน ซึ่งคนเขียนเขาก็หงุดหงิดมากเลย แต่เขาก็อยากให้วิทยานิพนธ์เขาถูกตีพิมพ์ เฮ้ย มันสามารถที่จะไปลบ chapter ที่กำลังจะตีพิมพ์ในต่างประเทศได้ นี่ตนนับถือเลย ก็ลบไปเรียบร้อย เพราะหนังสือเขากำลังจะออก เพราะฉะนั้น อาวุธเหล่านี้จริงๆเป็นอาวุธที่ทรงพลัง คนมักจะคิดว่าอาวุธเหล่านี้เป็นเรื่องไร้สาระ แต่จริงๆแล้วเรื่องไร้สาระแบบนี้ในอดีตจะเห็นว่ามันสามารถที่จะโค่นล้มผู้มีอำนาจบางคนได้ ทั้งหมดนี้งานนี้หรืองานวิจัยที่พยายามทำอยู่นี้คือการพยายามอธิบายทฤษฎีความสัมพันธ์เชิงอำนาจร่วมสมัย ขยายความหมายหรือนิยามใหม่ในเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน มันจะเป็นทฤษฎีอธิบายความสัมพันธ์เชิงอำนาจในกลุ่มฐานราก จะเป็นทฤษฎีที่เน้นความเป็น agency ของชาวบ้าน มันจะเป็นทฤษฎีที่เน้นความเป็นอัตลักษณ์ที่เคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชน เพราะฉะนั้น นี่คืออาวุธของผู้ที่อ่อนแอโดยวิธีการศึกษาที่กำลังทำกันอยู่.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net