Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยมีรูปแบบคล้ายกับหลายประเทศที่มีการเติบโตเร็ว คือใช้ระบบตลาดเป็นหลัก โดยมีภาคเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก ในขณะที่ภาครัฐก็ทำหน้าที่สนับสนุนอย่างแข็งขันด้วยการจัดหาโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ เช่น สร้างถนนหนทาง เขื่อน ไฟฟ้า แหล่งน้ำเพื่อการผลิต รวมทั้งวางรากฐานการบริหารจัดการที่เน้นเสถียรภาพทางเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินการคลังที่มีความรอบคอบและรัดกุม

การที่ภาคเอกชนเป็นกลไกขับเคลื่อนหลัก ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการสร้าง ชนชั้นนายทุน หรือผู้ประกอบการธุรกิจรายใหญ่ผู้นำ ในการลงทุนสร้างกิจการ หาตลาด สร้างการจ้างงาน และใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ที่ดิน ป่าไม้ ทรัพยากรทางทะเลต่างๆ ซึ่งในเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วนั้น ในช่วงแรกชนชั้นนายทุนก็จะเป็นผู้ได้รับส่วนแบ่งของผลพวงการเติบโตที่มากกว่าคนอื่น อีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับประโยชน์อย่างสูงด้วยคือเจ้าของที่ดินและผู้มี อำนาจในการใช้และจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ

ส่วนเจ้าของปัจจัยการผลิตประเภทอื่นๆ เช่น แรงงาน ผู้ประกอบการรายย่อย เจ้าของที่ดินผืนเล็กๆ ก็ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเช่นนี้เช่นกัน เนื่องจากมีส่วนร่วมในกระบวนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในฐานะ ผู้ตาม เราเรียกกระบวนการนี้ว่า trickle-down หรือ การไหลรินอย่างช้าๆของประโยชน์จากการพัฒนาจากบนลงล่าง อย่างไรก็ตาม ผู้ตามมักได้รับส่วนแบ่งในสัดส่วนที่น้อยกว่า ผู้นำ ซึ่งก็สามารถเข้าใจได้เพราะผู้ตามจะรับภาระความเสี่ยงน้อยกว่าผู้นำ ส่งผลให้การกระจายรายได้ในระยะนี้จึงมีแนวโน้มแย่ลง แต่ความยากจนก็ลดลงเร็วเช่นกัน

ประเทศไทยในระยะ 30 ปีแรกของการพัฒนา (ช่วงต้นทศวรรษ 1960s ถึงต้นทศวรรษ 1990s มีลักษณะนี้ชัดเจน ส่วนประเทศอื่นที่เดินตามแบบแผนนี้ในปัจจุบันอาทิเช่น จีน เวียดนาม และอินเดีย ก็พบว่าจำนวนคนจนลดลงอย่างรวดเร็ว แต่การกระจายรายได้ก็แย่ลงเช่นกัน

ถ้าดูจากสถิติตัวเลข ประเทศไทยจัดว่าเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการลดความยากจน เพราะสัดส่วนคนจนต่อประชากร (poverty incidence) ลดลงค่อนข้างรวดเร็วและต่อเนื่องในช่วง 23 ปีที่ผ่านมา คือลดจากร้อยละ 44.9 ของประชากร ในปี 1986 เหลือร้อยละ 8.1 ในปี 2009

ความยากจนเป็นปัญหาของคนชนบทมากกว่าคนเมือง (ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาล) ในปี 1986 สัดส่วนคนจนในชนบทเท่ากับร้อยละ 52.6 ของประชากรในชนบท และลดลงมาเหลือ 10.4 ในปี 2009 ในขณะที่สัดส่วนคนจนในเมืองเท่ากับร้อยละ 25.3 ในปี 1986 ลดลงเหลือร้อยละ 3 ในปี 2009 นอกจากนี้ ยังกระจุกตัวอยู่ในเขตชนบทของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ร้อยละ 15.2 ในปี 2009) และภาคเหนือ (ร้อยละ 12.7 ในปี 2009) (รูปที่ 1 และตารางที่ 1)

 

 

การที่ความยากจนโดยรวมลดลงค่อนข้างเร็วนั้น เป็นความสำเร็จที่มองในแง่เศรษฐกิจเป็นหลัก โดยเป็นผลพวงจากการที่ระบบเศรษฐกิจไทยเปิดกว้างมากขึ้น (openness) และมีความยืดหยุ่นสูง ทำให้รายได้เฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้คนจนด้านเศรษฐกิจลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตามผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนี้มิได้กระจายตัวอย่างเท่าเทียมกันดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว ข้อมูลที่แสดงถึงช่องว่างในการกระจายรายได้ของไทยที่ชัดเจนคือ การพิจารณาส่วนแบ่งรายได้ในแต่ละกลุ่มรายได้ ซึ่งคำนวณได้โดยการเรียงลำดับประชากรไทยตามรายได้ (จากน้อยไปมาก) และแบ่งประชากรออกเป็นห้ากลุ่ม (แต่ละกลุ่มมีจำนวนเท่าๆ กัน) จากนั้นคำนวณหารายได้รวมของแต่ละกลุ่ม ตัวเลขล่าสุด (ปี ค.ศ. 2009) พบว่ากลุ่มที่รวยที่สุดมีส่วนแบ่งรายได้มากกว่าครึ่งของรายได้ทั้งหมด โดยมีส่วนแบ่งรายได้สูงถึงร้อยละ 54.4 ในขณะที่กลุ่มที่จนที่สุดมีส่วนแบ่งรายได้เพียงร้อยละ 4.6 (รูปที่ 2) ผู้มีรายได้สูงสุด 20% ของประชากร มีรายได้เฉลี่ยคิดเป็นประมาณ 11.9 เท่าของผู้มีรายได้ต่ำสุด 20% (รูปที่ 3) นอกจากนี้ ถ้าดูจากดัชนีความเหลื่อมล้ำที่ใช้กันกว้างขวาง คือสัมประสิทธิ์จินี [1] (gini coefficient) ก็มีค่าสูงถึง 0.49 ในปี 2009 ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างสูงมากของโลกประเทศหนึ่งทีเดียว โดยมีระดับใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาที่มี ชื่อเสียงในด้านการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน (รูปที่ 4)

 

 

 

ในทางทฤษฎี เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานระยะหนึ่ง จะถึงจุดที่ปัจจัยการผลิตที่เป็นของ ผู้ตามเริ่มขาดแคลนและเป็นที่ต้องการมากขึ้น เช่นแรงงานจากภาคเกษตรที่เคยย้ายไปภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมมีจำนวนน้อยลง จนไม่พอกับความต้องการของทั้งภาคบริการและภาคอุตสาหกรรม ทำให้ค่าจ้างเริ่มปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว การไหลรินของประโยชน์จากการพัฒนาที่เคยเป็นไปอย่างช้าๆ ก็จะเร่งเร็วขึ้น และอาจเร็วมากพอที่จะทำให้การกระจายรายได้เริ่มดีขึ้น ตัวอย่างเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น และในกลุ่มประเทศยุโรป

หากกระบวนการพัฒนาเป็นเพียงเช่นที่กล่าวมาข้างต้น ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนที่เกิดขึ้นมีความเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม เพราะมีเหตุตามธรรมชาติหลายประการที่ทำให้คนมีรายได้ไม่เท่ากัน การกล่าวหาว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมาตลอดเป็น ความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง จึงมีส่วนที่เป็น มายาคติอยู่ไม่น้อย เป็นมายาคติเพราะไม่สนใจข้อเท็จจริงของความจำเป็นในการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะแรก

การกล่าวอ้างถึงสงครามชนชั้น โดยใช้ความไม่เป็นธรรมที่สืบเนื่องจากช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนเป็นปฐมเหตุเมื่อไม่นานมานี้จึงขาดน้ำหนักและเป็นมายาคติ (มีต่อตอนที่ 2)

 

[1] ค่าสัมประสิทธิ์จีนีมีค่าอยู่ระหว่าง 0-1 ถ้าค่าจินีเท่ากับ 0 หมายความว่า การกระจายรายได้มีความเท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์ แต่ถ้าค่าจินีเท่ากับ 1 หมายความว่า การกระจายรายได้มีความเหลื่อมล้ำกันมาก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net