Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อเดือนที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ได้พบปะแลกเปลี่ยนกับ Digital Natives กลุ่มกิจกรรมภาคสังคมที่กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ในเรื่องของการใช้สื่ออินเทอร์เน็ตในการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม รวมไปถึงเสรีภาพในสื่ออินเทอร์เน็ต

ตอนแรกผมมาที่นี่เพื่อที่จะพูดและนำเสนอในบางแง่มุมที่ดีเกี่ยวกับสถานการณ์อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย เช่นการพัฒนา Social media ให้กลายเป็น Media for social แต่การนำเสนอของเพื่อนๆ หลายคน ทำให้ผมเริ่มกลับมาตั้งคำถามกับตัวเอง "มาตรฐานในโลกควรมีแบบเดียวหรือ?”

ผมได้พบกับ Lia Ciutac ชาวมอลโดวา (Moldova) เธอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์จลาจลทางการเมืองภายในประเทศของเธอให้ฟัง มันมีส่วนคล้ายคลึงกับสถานการณ์ที่เพิ่งเกิดในประเทศของผม ผมไม่เข้าใจว่าทำไมมนุษย์ถึงไม่เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เลย โดยเฉพาะสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ "บทบาทของรัฐ" รัฐแต่ละแห่งในโลกต้องการให้สังคมของเขามีแบบเดียวไหม? สิ่งที่แตกต่างก็คือเมื่อรัฐบาลมอลโดวาได้ใช้กำลังปราบปรามประชาชนในปี2007 ก็ถึงเวลานับถอยหลังของรัฐบาล หรือว่ารัฐบาลในแต่ละประเทศทั่วโลกเขาต้องการประชาชนแบบเดียวกันคือเชื่อฟังและคล้อยตามทุกสิ่งที่รัฐบงการ?

หากในแต่ละสังคมมีแต่สิ่งที่เหมือนๆ กันปราศจากความหลากหลาย บางทีนี่อาจจะไม่ใช่สังคมแต่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม บางทีผมต้องการจะพูดกับรัฐว่า ความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างสิถึงจะเรียกว่าสังคมได้ และที่สำคัญคือความหลากหลายบนหนทางที่เท่าเทียมกัน

Nilofar จากอินเดียได้พูดอย่างน่าสนใจเธอบอกว่า สิ่งที่ทำให้ social media บูมในประเทศเอเชียใต้ก็เพราะ "อินเทอร์เน็ตไม่มีชนชั้น ไม่มีเพศ ไม่มีวรรณะมาขวางกั้น" ผู้หญิง หรือผู้ต่ำวรรณะในสังคมชนชั้น ใช้พื้นที่บนโลกอินเทอร์เน็ตเพื่อสื่อสารประเด็นต่างๆ ที่เขาอยากจะสื่อสาร แต่ในประเทศเรา อินเทอร์เน็ตไม่มีชนชั้นจริงหรือ?

ผมเคยนำเรื่องนี้ไปถาม @jin_nation ในงานเสวนาครั้งหนึ่งถึงกรณีที่ผมทวีตข้อมูลที่ผิดพลาดและ @suthichai ได้ทวีตเรื่องนี้ต่อจากนั้นก็มีคนรีทวีตตามจำนวนมาก คำถามที่ผมมีคือ ความน่าเชื่อถือในตัวบุคคล (หมายถึงผู้ส่งสาร) มีผลต่อการเลือกที่จะเชื่อและรับรู้มากน้อยแค่ไหน?

สำหรับในกรณีประเทศไทย ถ้าหากคุณเป็นเซเลบริตี้ หรือพวกคนดัง การที่เรามีพื้นฐานในการเชิดชูตัวบุคคล มากกว่าสิ่งที่เขากระทำมันทำให้เราเลือกที่จะปฏิบัติต่อคนไม่เท่ากัน (มีใครกล้าไปกราบนมัสการถามเจ้าของ user @vajiramedhi ว่าที่เขาทวีต "ฆ่าเวลาบาปกว่า ฆ่าคน" ในวันที่มีการล้อมปราบกลุ่มคนเสื้อแดงในวันที่ 10 เมษายนว่า ท่านต้องการสื่อสารอะไรบ้าง?)

ในขณะที่ผู้ร่วมเสวนาหลายๆ คนสนใจความเคลื่อนไหวในประเทศไทยและฝากคำถามมาถึงทุกๆ คนในประเทศไทย เช่น ในกลุ่มเฟซบุ๊ค ทำไมมีมาตรการ social-sanction หรือว่าประเทศยูไม่ต้องการระบบศาลกันแล้ว? ทำไมมีแฟนเพจ "กลุ่มเสพศพคนเสื้อแดง" (และต้องไม่ลืมว่า “เมืองไทยเมืองพุทธ”)? ทำไมประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีประเทศเราถึงประกาศว่า "ถ้าหากต้องปิดเว็บหมื่นเว็บ เพื่อความสงบของบ้านเมืองก็ต้องยอม" ? รวมไปถึง "กฏหมายพิเศษ" ที่มักจะถูกนำไปใช้ทางการเมือง ที่ประเทศอื่นไม่มี ทำให้เสรีภาพที่มีอยู่หดหายไปหรือเปล่า? ในวงเสวนาครั้งนี้ให้ความเห็นว่าประเทศไทยถูกจัดอันดับในความ "เป็นประชาธิปไตย"ต่ำ และเป็น 1 ใน 3 ประเทศในเอเชียที่น่าจับตามองด้านสถานการณ์เสรีภาพในการสื่อสาร สูสีกับ พม่า และ จีน

ไม่มีคำตอบใดๆ จากผม ไม่มีคำตอบใดๆ จาก......ไทเป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net