คบท. แนะ กทช. เลื่อนประมูลใบอนุญาต 3G ใบที่สาม กันฮั้วประมูล

คบท.ชี้ประมูล 3G ต้องเปิดทางให้รายใหม่เกิดด้วย และโจทย์ใหญ่คือการป้องกันการฮั้ว แนะ กทช. ประกาศก่อนชิงดำรอบแรก ว่าจะกันใบอนุญาตที่ 3 ให้รายใหม่เท่านั้น เพื่อผู้เข้าร่วมประมูลทั้ง 3 รายจะได้แข่งขันกันเต็มที่  ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ธุรกิจโทรคมนาคมไทยไปพ้นจากวังวนการแข่งขันที่จำกัดไม่กี่รายเดิมเสียที

ภายหลังเป็นที่ทราบแน่ชัดแล้วว่า บริษัทที่ผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นและได้เข้าร่วมประมูลใบอนุญาต 3G มีทั้งสิ้น 3 ราย ประกอบไปด้วยบริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวิร์ก จำกัด  บริษัทดีแทค อินเตอร์เน็ต เซอร์วิส และบริษัทเรียล มูฟ จำกัด โดยทั้ง 3 บริษัทก็คือบริษัทลูกของ เอไอเอส  ดีแทค และทรู ตามลำดับนั่นเอง

นางสาวสารี  อ๋องสมหวัง   กรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (กบท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ คบท. ได้มีการพิจารณาประเด็นนี้ในการประชุมครั้งล่าสุดที่ผ่านมา และมีมติเกี่ยวกับประมูลใบอนุญาต 3G ว่า เมื่อแนวทางการประมูลเป็นเช่นนี้จึงเป็นที่แน่นอนว่า ในการประมูลครั้งแรกนี้  ผู้ให้บริการรายเดิม 2 รายจะได้รับใบอนุญาต 3 G ไปคนละใบ ดังนั้นเพื่อป้องกันการฮั้วประมูล จึงมีข้อเสนอแนะว่า คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ควรประกาศให้มีการชะลอการประมูลใบอนุญาตใบที่ 3 จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าจะประมูลรอบสองภายใน 90 วัน เปลี่ยนเป็นการกำหนดว่าจะเปิดประมูลต่อเมื่อมีผู้เข้าร่วมประมูลรายใหม่ นั่นคือจะเก็บใบอนุญาตใบที่ 3 ไว้สำหรับผู้ให้บริการรายใหม่เท่านั้น

 “กทช. ต้องออกมาประกาศก่อนที่จะเคาะประมูล ไม่งั้นเหมือนการฮั้ว เพราะผู้เข้าร่วมประมูลอาจตกลงกันก็ได้ว่า ใครจะเป็นสองรายแรกที่ได้ใบอนุญาตไปก่อน จากนั้นรออีกสักพัก เช่น 3 เดือน เมื่อมีการเปิดประมูลใบที่ 3 แล้วรายที่สามค่อยได้ไป  คบท.จึงเห็นว่า กทช. ควรกำหนดให้ชัดเจนไปเลยว่า ใบอนุญาตใบที่ 3 จะเปิดประมูลสำหรับผู้ให้บริการรายใหม่เท่านั้น ซึ่งหมายถึงจะต้องเปิดระยะเวลาให้ยาวนานพอที่จะมีรายใหม่เข้ามา มิฉะนั้น ก็เหมือนเหล้าเก่าในขวดใหม่ อีกอย่างก็เท่ากับทำให้การประมูลในรอบแรกนี้เข้มข้นขึ้น โดยทั้ง 3 รายจะต้องแข่งขันกันเต็มที่ เพราะจะต้องมี 1 รายที่หลุดไปอย่างแน่นอน คือถ้าพลาดครั้งนี้ คุณจะหมดโอกาส” นางสาวสารีกล่าว

กรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวด้วยว่า หากการประมูลมีการแข่งขันจริงจัง ราคาการประมูลก็จะสูง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และจะไม่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค เพราะภายใต้โครงสร้างสัมปทานเดิมในระบบ 2G นั้น ผู้ประกอบการมีต้นทุนที่สูงยิ่งกว่าอยู่แล้ว ดังนั้นราคาค่าบริการจึงควรจะต้องต่ำลงด้วย ในขณะที่ราคาประมูลควรสูงตามสภาพของการแข่งขันอย่างแท้จริง   

“ถึงแม้ราคาประมูลสูงก็ไม่ทำให้ค่าบริการแพง จะนำเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างไม่ได้ ไม่เกี่ยวข้องกัน ฉะนั้นควรสนับสนุนให้มีการแข่งขันเต็มที่ เพื่อให้ราคาค่าประมูลที่ได้มาเป็นประโยชน์กับรัฐ และไม่ปล่อยให้เกิดการฮั้วการประมูล เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น กระบวนการทั้งหมดก็เป็นเพียงการจัดฉาก” กรรมการ สบท. กล่าว

นางสาวสารีกล่าวทิ้งท้ายถึงความคาดหวังต่อการประมูลใบอนุญาต 3G ที่กำลังจะเปิดขึ้นว่า ผลจากการประมูลครั้งนี้ควรจะทำให้ผู้บริโภคได้รับบริการที่ดีและมีลักษณะที่ให้การคุ้มครองผู้บริโภคมากกว่าในยุค 2G ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นจริงได้หาก กทช. ให้ความสำคัญและทำให้แผนการคุ้มครองผู้บริโภคที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขการประมูลเกิดขึ้นจริง ปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภคก็จะลดลง ขณะเดียวกันกฎระเบียบที่ กทช. ประกาศไว้จะมีได้มีผลบังคับใช้ได้อย่างแท้จริง เพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายมากขึ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท