Skip to main content
sharethis

ศาลปกครองกลางนัดฟังคำสั่ง กทช.ยื่นคัดค้านคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว คดีกสท.ฟ้องระงับการจัดประมูล3จี 20 ก.ย.นี้ ด้าน รัฐมนตรีไอซีที เตรียมเสนอบรอดแบนด์แห่งชาติกำหนดนโยบายหลักให้เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน ประชาชนมีโอกาสเลือกใช้บริการที่หลากหลายทั่วถึงเท่าเทียมกัน ค่าบริการสมเหตุผล ผู้ให้บริการรายเล็กแข่งขันได้

เมื่อเวลา 22.50 น.วันที่ 17 ก.ย. นายสถาพร เอียดใหญ่ ผู้จัดการฝ่ายคดี บริษัท กสท. โทรคมนาคม เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศาลปกครองกลางว่า ศาลได้นัดฟังคำสั่งกรณี คณะกรรมการกำกับกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว คดีที่ กสท. ยื่นฟ้องระงับการจัดประมูลใบอนุญาตให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 จี ในวันที่ 20 ก.ย.นี้ เวลา 08.30น.

ขณะที่ กทช. จะยังคงไม่ยุติกระบวนการประมูล 3 จี โดยจะรอฟังคำสั่งศาลในวันที่ 20 ก.ย.นี้ หากศาลรับอุทธรณ์ก็จะจัดประมูลต่อไป แต่ถ้าไม่รับก็จะยกเลิกการจัดประมูล

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 17.00 น.ที่ผ่านมา สำนักงานศาลปกครองได้จัดสำนวนที่ กทช. ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้กับองค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดพิจารณา

ด้าน พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะทำงาน 3 จี และ กทช. กล่าวว่า ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ศาลปกครองว่าให้รอฟังคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดในเวลาประมาณ 23.00 น. วันที่ 17 ก.ย. นี้ แต่ยังไม่ทราบว่าจะเป็นคำสั่งรับหรือไม่รับคำอุทธรณ์ หรือจะเป็นคำสั่งไต่สวนฉุกเฉิน หรือจะเป็นคำสั่งเกี่ยวกับการคุ้มครองหรือเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้น

ขณะที่ทางกสท. ก็ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศาลปกครองให้รอฟังคำสั่งเช่นกัน ซึ่งหากศาลปกครองมีคำสั่งเพียงรับคำอุทธรณ์แต่ไม่มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลชั้นต้น กสท.ก็เตรียมทำคำแก้อุทธรณ์ยื่นศาลปกครองสูงสุดต่อไป

จุติ เตรียมเสนอ บรอดแบนด์แห่งชาติ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่านายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร หรือไอซีที กล่าวภายหลังการประชุมร่วมคณะกรรมการบรอดแบนด์แห่งชาติ ว่า ไอซีทีได้นำเสนอ (ร่าง) นโยบายบรอดแบนด์แห่ง ชาติให้คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ (กทสช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีพิจารณา หลังจากที่กระทรวงได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จัดทำร่างนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ เพื่อให้การพัฒนาบรอดแบนด์ของ ประเทศไทยเป็นไปอย่างมีทิศทางที่ชัดเจน มีความเป็นเอกภาพสอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนาประเทศ และสามารถรองรับความต้องการของทุกภาคส่วนได้อย่างเหมาะสมตามมติของคณะ รัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553

สาระสำคัญของ (ร่าง) นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติที่กระทรวงเสนอให้ กทสช. พิจารณา ก็คือ การกำหนดนโยบายหลักให้บริการบรอดแบนด์เป็น สาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่นเดียวกับน้ำ ไฟฟ้า หรือถนนทางด่วนที่ต้องมีอย่างเพียงพอ ประชาชนมีโอกาสเลือกใช้บริการที่หลากหลายทั่วถึงเท่าเทียมกัน ธุรกิจขนาดเล็กมีโอกาสแข่งขันอย่างเสมอภาค โดยมีอัตราค่าบริการพื้นฐานที่เหมาะสม และมีการให้บริการแบบ 24x7 ที่ระดับคุณภาพเชื่อถือได้ 99.99% ภายในปี 2558

"เราอยากให้โครงข่ายบรอดแบนด์เป็น ตัวช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทางด้านการศึกษา สาธารณสุข บริการของรัฐ เศรษฐกิจ สังคม อุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการรักษาความมั่นคงและปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่ดี ขึ้น โดยมีการครอบคลุมอย่างทั่วถึง คือ ให้ประชากรไทยไม่ต่ำกว่า 80% จะต้องสามารถเข้าถึงบรอดแบนด์ได้ภายในปี 2558 และไม่ต่ำกว่า 95% ภายในปี 2563 ซึ่งก็ถือเป็นการช่วยขยายการเข้าถึงบรอดแบนด์ได้อีกทางหนึ่งนอกจาก 3จี”

สำหรับมาตรการที่วางไว้เพื่อผลักดันการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวนั้น มี 8 ข้อ คือ 1.ลดการลงทุนซ้ำซ้อนด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมทั้งในส่วนของรัฐและเอกชน 2.กำหนดให้มีการร่วมกันใช้โครงสร้างพื้นฐานส่วนที่สามารถใช้ร่วมกันได้ เพื่อที่จะทำให้ประชาชนได้ใช้บริการบรอดแบนด์ในราคาที่เหมาะสมโดยรัฐต้องเป็นผู้นำในโครงการประเภทนี้

3.รัฐ ต้องมีนโยบายผลักดันและส่งเสริมตลาด (market intervention) เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม โดยส่งเสริมการเข้าถึงตลาดแบบเปิด (OPEN Access model) อันเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาด 4.เลิกการผูกขาดเชิงนโยบายของหน่วยงานที่รัฐเป็นเจ้าของ คือ ไม่ให้สิทธิพิเศษหรือข้อยกเว้นแก่หน่วยงานภาครัฐที่ต้องแข่งขันกับเอกชนบน พื้นฐานการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม ขณะเดียวกันก็ต้องหาแนวทางอย่างจริงจังสำหรับการลงทุนกิจการโทรคมนาคมแบบรัฐ ร่วมมือกับเอกชน (Public-Private Partnership) พร้อมไปกับการปกป้องสิทธิอันพึงได้ของพนักงานในหน่วยงานที่รัฐเป็นเจ้า ของอย่างเหมาะสม

5.ส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการในธุรกิจทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับบริการบรอดแบนด์ 6.ส่งเสริมการใช้บรอดแบนด์เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนและรักษาสิ่งแวดล้อม 7.ปกป้องภัยคุกคามและเตรียมการรับมือผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดตามมาจากการมีบริการบรอดแบนด์อย่างแพร่หลาย โดยต้องทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจถึงประโยชน์และภัยอันตรายอันอาจเกิดขึ้นได้

และ8. กำหนดให้มีคณะอนุกรรมการบรอดแบนด์แห่งชาติ ภายใต้คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่เสนอ ร่าง นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติฉบับสมบูรณ์แก่คณะรัฐมนตรี รวมทั้งเสนอแนะการปรับปรุงนโยบายบรอดแบนด์แห่ง ชาติ กำหนดตัวชี้วัดและวิธีประเมินผลที่จำเป็นสำหรับการติดตามความสำเร็จของ นโยบายฯ ตลอดจนประสานการดำเนินงานที่จำเป็นกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถ บรรลุเป้าหมายของนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ

เตรียมร่างบรอดแบนด์เข้า ครม.
“ส่วนข้อเสนอที่กระทรวงต้องการให้ กทสช. พิจารณาให้ความเห็นชอบ คือ การตั้งอนุกรรมการบรอดแบนด์แห่งชาติ ที่ประกอบด้วยภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำหน้าที่ดำเนินการตามมาตรการภายใต้นโยบายทั้ง 8 ข้อ รวมทั้งนำร่างนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ เข้ารับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศเป็นนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ ตลอดจนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณายกเลิกคณะกรรมการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการที่ซ้ำซ้อนกับงานของคณะอนุกรรมการบรอดแบนด์แห่งชาติ เพื่อให้รวมงานที่เกี่ยวข้องไว้ในที่เดียวอีกด้วย”

นอกจากนี้ในการประชุมคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ ครั้งนี้ กระทรวงฯ ยังมีการเสนอเรื่อง ร่าง กรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย ระยะ พ.ศ.2554 - 2563 (ICT 2020) ร่าง แผนแม่บทไอซีทีอา เซียน (ASEAN ICT MasterPlan 2015) และร่าง พระราชบัญญัติสภาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ....เข้าสู่การพิจารณา เพื่อให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไปอีกด้วย

ที่มา: http://www.posttoday.com และ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net