Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
ผมเองไม่ได้มีเวลาไล่เรียงอะไรกับงานชิ้นนี้มาก เพราะอยู่ในระหว่างเตรียมตัวสอบภาษาเพื่อจะไปเรียนต่อในเร็วๆ นี้ ตอนแรกก็กะว่าจะไม่เขียนอะไร แต่สุดท้าย (ประมาณ 5 โมงครึ่ง ของวันที่ 18) ก็ทำใจไม่ได้ คิดเสียว่าเขียนน้อย ก็ยังดีกว่าไม่เขียนเลย เลยเป็นที่มาของสารเตือนความจำนี้
ดังที่จั่วหัวไว้ ผมเขียนนั้นไม่ได้หวังอะไรนอกจาก “กันไม่ให้ลืมการรัฐประหารที่ชั่วร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย” อย่าง 19 กันยายน 2549 ด้วยกระแสอื่นๆ เช่น ข่าวฟิลม์ รัฐภูมิ (อาจ)จะมีลูกอายุ 3 เดือน, ข่าวกรณีความร้าวฉานทางความสัมพันธ์ ไทย – ซาอุดิอาระเบีย (ซึ่งบางสำนักข่าวยังคงเชื่ออย่างเหนียวแน่นว่าทักษิณสามารถซื้อทุกอย่างบนโลกนี้ได้ เว้นแต่เพียงสลิ่ม), การเล่นเฟสบุ๊ค,ฤดูกาลแห่งการสอบ, ฯลฯ ผมอยากจะย้ำกันลืมอีกครั้งว่า ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วย หรือเกลียดทักษิณอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ ทักษิณ และพรรคไทยรักไทยนั้นมาจากการเลือกตั้งตามวิถีทางการเลือกผู้นำของระบอบประชาธิปไตย และเป็นผู้ซึ่งได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ฉะนั้นการรัฐประหาร 19 กันยา จึงหมายถึงการ “ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่สะท้อนถึงความต้องการของคนไทยมากที่สุดในประวัติศาสตร์” หรือพูดง่ายๆ ว่าคือการรัฐประหารที่ “ชั่วร้าย โสมม และอัปรีย์ที่สุด หากมองด้วยบรรทัดฐานของประชาธิปไตย”
หากพูดในระดับซีเรียสที่สุด เราคงพูดไม่ได้ว่าการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คือ “การล้มประชาธิปไตยไทย” เพราะประเทศไทยไม่เคยมีสิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” ดังที่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเสนอไว้ว่า ประชาธิปไตยไม่มีทางเกิดขึ้นมาได้ หากไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ประชาชน” ซึ่งน่ารันทดเหลือแสน ประเทศไทยไม่เคยมีสิ่งที่เรียกว่า “ประชาชน” มาก่อน มีเพียง “ละอองผงใต้ฝ่าตีน”1> ฉะนั้นเราอาจจะเรียกว่าเป็น “ฝุ่นใต้ตีนธิปไตย” ก็คงได้กระมัง แต่กระนั้นก่อนการรัฐประหาร ความเปลี่ยนแปลงภายใน “ฝุ่นใต้ตีนธิปไตย” ก็มีขึ้นอย่างชัดเจน กล่าวคือ เริ่มเกิดสิ่งที่เรียกกันว่า “Self-Determination (การกำหนดการปกครองด้วยตนเอง)” ในหมู่คนไทย แม้จะไม่เต็มที่แต่เราก็เห็นได้ถึงเค้าลางของสิ่งนี้ (ซึ่งสุดท้ายจะนำมาซึ่ง “สถานะของความเป็น “ประชาชน” ได้)
การที่คนไทยเริ่มหันมาตอบสนองต่อนโยบายของพรรคการเมือง, การมาสนใจว่านโยบายของพรรคไหนนั้นตอบสนองต่อผลประโยชน์ของพวกตน แล้วทำการเลือกพรรคนั้นมาเป็นผู้แทนของตน และทำการปกครองประเทศต่อไปโดยอิสระนั้น ย่อมเป็นสัญญาณที่ดีของการเกิด Self-Determination อันจะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยไตย” ได้เสียที แต่แล้วกลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ทั้งผู้ถือครองฐานันดรชั้นสูงสุดของไทย, กลุ่มผู้มีอำนาจเก่าทางการเมืองจะระบอบฝุ่นใต้ตีนธิปไตย ก็ไม่ยอมให้ครรภ์ที่ชื่อประชาธิปไตยถึงกำหนดคลอดได้ และได้ร่วมมือกัน “ทำแท้งประชาธิปไตย” ด้วยรัฐประหาร 19 กันยา...แม้ 19 กันยา จะไม่ใช่การล้มประชาธิปไตย แต่มันก็คือการ “ทำแท้งประชาธิปไตยที่แสนโสมม” มันไม่ใช่แค่การพยายามล้มพรรค หรือล้มบุคคลซึ่งมาจากกระบวนการคัดสรรแบบประชาธิปไตยเท่านั้น แต่มันคือการตัดตอน และผลักไสใล่ส่งให้คนไทยที่พยายามจะก้าวเข้าสู่สถานะของความเป็นประชาชน กลับสู่สถานะของการฝุ่นผงอย่างคงระเบียบแบบแผนเดิมต่อไป
ผมอยากให้ทำความเข้าใจกับ รัฐประหาร 19 กันยา ใหม่…รัฐประหาร 19 กันยา ไม่ใช่ และไม่เคยเป็น การ “ล้มระบอบ” อย่างที่มักเข้าใจกัน หากแต่มันเป็นการ “รักษาระบอบ” ระบอบที่มีชื่อว่า “ฝุ่นใต้ตีนธิปไตย” สิ่งที่รัฐประหารล้มลงไปนั้น จึงเป็น “กระแสแห่งความสำนึกคิดที่จะเลือกการปกครองด้วยตนเอง” ต่างหาก รัฐประหาร 19 กันยายน ไม่ได้ล้ม “ประชาธิปไตย” เพราะมันยังไม่เคยมี “ประชา” ให้มาสนธิกับ “อธิปไตย” 
หลังจากวันที่ 19 กันยายน 2549 คนไทยบางกลุ่มก็ร่วมยินดี เฮโล และสมัครใจเป็นฝุ่นผงต่อไป (ทั้งที่รู้ตัว และไม่รู้ตัว) บางคนก็จำใจกลับมาเป็นฝุ่นผงอย่างไม่สู้สะดวกใจนัก นั่งพร่ำบ่นนู่นนี่ไปวันๆ และอีกพวกหนึ่งที่พยายามจะต่อสู้เพื่อการเป็นประชาชนต่อไป เป็นกลุ่มคนที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ถึงพัฒนาการของ Self-Determination ที่เรียกคร่าวๆ กันว่า “มวลชนเสื้อแดง” (แต่น่าเสียดายที่แกนนำบางคนพยายามในทางตรงกันข้าม หรือบางคนก็ก้าวร้าว รุนแรงจนทำให้เสียขบวนไปทั้งยวง) และแน่นอน ผู้ซึ่งฝังผลประโยชน์ของตนไว้กับระบอบฝุ่นใต้ตีนธิปไตย (ชุดเดิมกับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อาจจะเปลี่ยนตัวประกอบบ้างบางตัว แต่ตัวละครหลักดังเดิม) ย่อมไม่อนุญาตให้เกิด Self-Determination ได้ ไม่ยอมให้เกิดประชาชนได้ และแล้วการปราบปรามอันนองเลือดที่อย่าง “พฤษภา 53” ก็ได้เกิดขึ้น โดยที่ฆาตกรบางคนก็ยังอยู่รอดมาหลายเดือน บางคนอยู่รอดมาหลายสิบปี (หากจะไม่รอดก็อาจจะเพราะสังขาร ไม่ใช่เพราะการเมืองกระมัง) และแล้วทุกอย่างก็สงัดลงอีกครั้ง ราวกับว่าเราจะโดน “ทำหมันประชาธิปไตย” โดยถาวรก็มิปาน
และการสมานแผลทำหมัน โดยรัฐบาลในแคมเปญ “ตบหัวแล้วลูบหลัง” ก็เริ่มขึ้น ด้วยพวกที่เรียกๆ กันว่า “คณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ” ซึ่งน่าตกใจยิ่งที่คนหนึ่งในนั้น ปรากฏชื่อ “นิธิ เอียวศรีวงศ์” ขึ้น (แม้ผมจะไม่ได้ชอบงานนิธินัก แต่ก็พยายามเชื่อว่าอยู่ฝ่ายต้องการประชาธิปไตยมาโดยตลอด) แต่การปรากฏตัวขึ้นของนิธิ ในแคมเปญตบหัวแล้วลูบหลังนี้นั้น ทำให้เราได้เทราบถึง “ความใฝ่ต่ำทางการเมือง และประชาธิปไตย” ของนิธิเองได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้แคมเปญนี้ก็ยังหาทางใช้ประโยชน์จากพลังของพุทธศาสนา ที่บังคับยัด บังคับสอน บังคับเสพจนกลายเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์อันก้าวล่วงไม่ได้ในสังคมไทย ด้วยการตั้งพระภิกษุที่แลดูมีความรู้ (แต่ไม่ได้มีความคิดนัก) อย่างพระไพศาลมาอยู่เป็นยันต์กันคนด่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีประสิทธิภาพจนคนแทบจะลืม หรือเลิกสนใจการเข่นฆ่า หรือรัฐประหารที่ชั่วร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไปเสียสิ้น
ผมอยากจะบอกว่า “จงอย่าลืม”...หากยังคงจำได้ โอกาสจะผ่าตัดแก้หมันก็ยังมี แม้จะอีกยาวไกล แต่ก็ยังคงมีทาง แต่เมื่อไหร่ที่ปล่อยให้ความทรงจำโดนจัดการ และการรับรู้โดนทำหมันไปด้วย ก็คงจะยากที่เราจะได้เป็นประชาชนกันเสียที
 
                                                                    ด้วยความเคารพ
18 กันยายน 2553 (18.28 น.)
 
--------------------------------------
1> โปรดดู จากพฤษภาประชาธรรม ถึงรัฐประหารเพื่อประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข: อ่านการต่อสู้ทางชนชั้นในพลวัตการเมืองไทย ใน ฟ้าเดียวกัน, ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 (มกราคม – กันยายน), (สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน : กรุงเทพฯ, 2553), หน้า 198 – 200.
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net