Skip to main content
sharethis

เนื่องด้วยวันนี้ (21 ก.ย. 2553) เวลา 10.00 น. นายสาวิทย์ แก้วหวาน (เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์) ได้ยื่นหนังสือร้องเรียน เรื่อง "ความเห็นตามธรรมนูญองค์การแรงงานระหว่างประเทศข้อ 23 ต่อกรณีที่รัฐบาลไทยไม่ปฏิบัติตาม พันธกรณีที่มีอยู่ตาม อนุสัญญาว่าด้วยการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน (เรื่องเงินทดแทนกรณีอุบัติเหตุ) ค.ศ. 1925 (อ.ที่ 19)" ถึง คุณคลีโอพัตรา ดัมเบีย เฮนรี ผู้อำนวยการแผนกมาตรฐานแรงงานองค์การระหว่างประเทศ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกระเบียบที่เลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติในการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน

ซึ่งเนื้อหาส่วนหนึ่งของหนังสือร้องเรียนระบุว่า "ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฉบับที่ 19 ในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2511 แต่ขณะนี้ กลับปฏิเสธไม่ให้แรงงาน ข้ามชาติจากประเทศพม่าซึ่งบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในการทำงานในประเทศไทยหรือผู้อยู่ในอุปการะของแรงงานเหล่านี้ได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันในเรื่องเงินทดแทนกรณีอุบัติเหตุจาก การทำงานเฉกเช่นเดียวกับที่ปฏิบัติต่อแรงงานสัญชาติไทย"

โดยระบุอีกว่า จากข้อมูลที่รวบรวมไว้โดยมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) แสดงให้เห็นว่าแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าที่ประสบอุบัติเหตุ จากการทำงานถูกปฏิเสธการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน ซึ่งเป็น หน่วยงานภายใต้สำนักงานประกันสังคม กองทุนเงินทดแทนจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันสำหรับการจ่ายเงินทดแทนให้แก่ “แรงงาน” ทุกคนในกรณีที่ประสบ อุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน รวมถึงมีการกีดกันนายจ้างไม่ให้จ่ายเงินทดแทน ทั้งยังยกตัวอย่างกรณี นางหนุ่ม ไหมแสง แรงงานก่อสร้างหญิงชาวไทยใหญ่ จากรัฐฉาน ประเทศพม่าประสบอันตรายในขณะที่กำลังทำงานในสถานที่ก่อสร้างเมื่อปี 2549 มาเป็นกรณีตัวอย่าง

นอกจากนี้ยังมีแถลงการณ์ ที่เรียกร้องขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการเพื่อสิทธิของแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติที่จะได้รับการคุ้มครองตามที่กฎหมายแรงงานไทยได้บัญญัติให้ลูกจ้างทุกคนอย่างไม่แบ่งแยกและถือเป็นการปฏิบัติตามหลักการอันสำคัญของอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 19 ซึ่งประเทศที่ไทยได้ให้สัตยาบันไว้ตั้งแต่ปี 2511 และเป็นสมาชิกตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง

โดยแถลงการณ์มีเนื้อหาดังนี้

 


 

แรงงานข้ามชาติต้องได้รับการคุ้มครอง รัฐบาลต้องปฏิบัติตาม
อนุสัญญาองค์การแรงงานประเทศ ฉบับที่ 19

 

ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฉบับที่ 19 ว่าด้วย “การว่าด้วยการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันในเรื่องค่าทดแทนสำหรับคนงานชาติในบังคับและคนงานต่างชาติ” เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2511 โดยสาระสำคัญกำหนดให้ประเทศสมาชิกขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ ดำเนินการอนุญาตให้ชนในชาติของประเทศสมาชิกอื่น ๆ ที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ หรือผู้มาพำนักอาศัย ผู้ซึ่งได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย เนื่องจากอุบัติเหตุในงานอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในดินแดนของตน ได้รับการปฏิบัติในเรื่องค่าทดแทนของคนงานเช่นเดียวกับที่มีให้ต่อคนในชาติของตน โดยปราศจากเงื่อนไขในเรื่องถิ่นที่อยู่อาศัย แต่ในทางปฏิบัติและความเป็นจริง แรงงาน ข้ามชาติจากประเทศพม่าซึ่งบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในการทำงานในประเทศไทย กลับถูกปฏิเสธจากหน่วยงานของรัฐไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการคุ้มครองตามที่กฎหมายบัญญัติได้ โดยอ้างเหตุผลบางประการ ถือเป็นการเลือกปฏิบัติในเรื่องการได้รับเงินทดแทนกรณีอุบัติเหตุจาก การทำงานเฉกเช่นเดียวกับที่ปฏิบัติต่อแรงงานสัญชาติไทย ซึ่งขัดต่อหลักการอันสำคัญของอนุสัญญาฉบับดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ให้สิทธิประโยชน์ในเงินทดแทนสำหรับแรงงานข้ามชาติ จาก ประเทศพม่า

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ได้หยิบยกเอาประเด็นของนางหนุ่ม ไหมแสง ขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาทำการรณรงค์และผลักดันให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้การตอบสนองจากหน่วยงานและรัฐบาลไทย สรส.ในฐานะที่เป็นสมาชิกของสมาพันธ์แรงงานโลก (International Trade Union Confederation : ITUC) ได้ยื่นหนังสือต่อผู้อำนวยการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ด้านมาตรฐานแรงงาน ในการประชุมใหญ่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศสมัยที่ 98 เมื่อปี 2552 ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และเรื่องดังกล่าวได้ถูกนำไปพิจารณาในคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญแห่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศด้านการมีผลบังคับอนุสัญญา และคณะกรรมการฯได้รายงานต่อที่ประชุมใหญ่ในการประชุมสมัยที่ 99 ปี 2553 และเสนอต่อรัฐบาลไทยให้ปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับที่ 19

แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าเป็นกลุ่มที่เปราะบางและถูกแสวงประโยชน์มากที่สุดกลุ่มหนึ่งใน สังคม เมื่อเทียบกับแรงงานกลุ่มอื่นๆ พวกเขาทำงานในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบาก อันตราย สกปรก ทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย จากการทำงานบ่อยครั้ง แรงงานเหล่านี้หนีภัยจากสถานการณ์ความขัดแย้งทาง การเมืองและเศรษฐกิจที่เลวร้ายในประเทศพม่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มสพ.บันทึกกรณีอุบัติเหตุจากการทำงานของแรงงานพม่ากว่า 200 กรณี  ซึ่งมาจาก 2 จังหวัด  ในจำนวน 77 จังหวัดของประเทศไทย แม้ไม่มีสถิติอย่างเป็นทางการ แต่อาจประมาณการได้ว่า แรงงานข้ามชาติพม่าหลักพันประสบอุบัติเหตุจากการทำงานในแต่ละปี และยังมีอีกหลายคนทุกข์ทรมานอยู่ หรือจะประสบปัญหาโรคจากการทำงานในอนาคต 

การดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวรัฐบาลไทยได้สร้างระบบเงินทดแทนอุบัติเหตุจากการทำงานต่างหากเพื่อรองรับ โดยการใช้ระบบประกันชีวิต เพื่อรับทำประกันแก่แรงงานข้ามชาติโดยบริษัทเอกชน  โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมเป็นผู้กำหนด อัตราเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม หรือหน่วยงานของรัฐอื่นๆ มิได้สอบถามความเห็นจาก สรส. และตัวแทนแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าในประเด็นดังกล่าวแต่อย่างใด

สรส. มีความเห็นว่า แผนการให้มีเงินประกันต่างหากและให้ภาคเอกชนเข้ามาบริหารงาน เพื่อจ่ายเงิน ทดแทนกรณีได้รับอุบัติเหตุ เจ็บป่วย พิการ และเสียชีวิตแก่แรงงานข้ามชาติ (และทายาท) จากประเทศพม่า ที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานเป็นพัฒนาการที่น่าวิตก เพราะดูเหมือนว่ารัฐบาลไทยจะเพิกเฉยต่อหลักการ ไม่เลือกปฏิบัติในการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน มีข้อกังขาที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน เนื่องจากความไม่โปร่งใส และไม่เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายว่า สิทธิประโยชน์จากระบบประกันเอกชนที่วางแผนไว้ อาจน้อยกว่าสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างไทยได้รับจากกองทุนเงินทดแทน สรส. ถือว่าแผนการดังกล่าวละเมิด พระราชบัญญัติกองทุนเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ที่กำหนดให้ “ลูกจ้าง” มีสิทธิเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน โดยไม่จำกัดสัญชาติ

ดังนั้น สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) จึงขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการเพื่อสิทธิของแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติที่จะได้รับการคุ้มครองตามที่กฎหมายแรงงานไทยได้บัญญัติให้ลูกจ้างทุกคนอย่างไม่แบ่งแยกและถือเป็นการปฏิบัติตามหลักการอันสำคัญของอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 19 ซึ่งประเทศที่ไทยได้ให้สัตยาบันไว้ตั้งแต่ปี 2511และเป็นสมาชิกตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง และเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติในอนาคต ที่จะไม่ให้นานาชาตินำประเด็นนี้มากล่าวหาประเทศไทยว่าแสวงประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติชาวพม่าที่ทุกข์ยากเข้ามาเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า อันจะทำให้ประเทศไทยอาจถูกปฏิเสธการยอมรับจากประชาคมโลก
 


สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)
21 กันยายน 2553

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net