ซีรีส์ สื่อใหม่กับความขัดแย้งทางการเมือง ตอน 1: พูดถึงนิวมีเดียคือพูดถึงสิทธิในการสื่อสาร


 

 

ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ส่งผลให้ สื่อทางเลือกหรือ นิวมีเดียมีรูปแบบที่หลากหลายและนับวันจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อินเทอร์เน็ต เครือข่ายทางสังคมออนไลน์ เคเบิลทีวี หรือวิทยุชุมชน จนกระทั่งช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาซึ่งประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ก็ทำให้ยากที่ใครจะปฏิเสธได้ถึงนัยสำคัญที่มีต่อสังคมไทย กระทั่งเป็นที่จับตารอการทำความเข้าใจและอธิบาย

ขณะเดียวกัน สื่อสารมวลชนไทยกระแสหลักเองก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงการทำหน้าที่ตลอดช่วงความขัดแย้งดังกล่าว ไม่เพียงแต่การตั้งคำถามถึงจริยธรรม จรรยาบรรณ จุดยืน ตลอดจนท่าทีที่มีต่อความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนต่างๆ ในบริบทของการแบ่งแยกขั้วแบ่งแยกข้างทางการเมือง จนนำไปสู่วิกฤติความน่าเชื่อถือของสื่อ และเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้ช่องทางและการสื่อสารใหม่ๆ มีผู้ใช้เติบโตอย่างก้าวกระโดด และถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนความคิดและความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ประชาไท สัมภาษณ์นักคิด นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน และนักปฏิบัติการสื่อออนไลน์ 12 คน เพื่อร่วมถกเถียงในประเด็นดังกล่าว ซึ่งจะนำเสนออย่างต่อเนื่อง โดยความสนับสนุนของมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ ซึ่งบทสัมภาษณ์อย่างละเอียดจะนำเสนอเป็นรูปเล่มต่อไป

 

ตอนที่ 1 อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์: พูดถึงนิวมีเดียคือพูดถึงสิทธิในการสื่อสาร

รศ.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ อดีตอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ผู้ขับเคลื่อนประเด็นเสรีภาพสื่อและการปฏิรูปสื่อมาอย่างยาวนาน ไม่ได้แสดงความประหลาดใจมากนักกับปรากฏการณ์เครือข่ายทางสังคม และสื่อใหม่บนโลกออนไลน์

“มันเป็นของเล่นของชนชั้นกลาง ขณะที่คนระดับรากหญ้าหรือคนในต่างจังหวัดนั้นเขาก็มีนิวมีเดียของเขา คือวิทยุชุมชน แต่เราไม่ค่อยตื่นเต้นกัน”

รศ.อุบลรัตน์ ให้เหตุผลสนับสนุนความคิดของตัวเองว่า เพราะการเข้าถึงสื่อใหม่ออนไลน์นั้นยังถือเป็นต้นทุนที่สูง มีงานวิจัยที่ระบุว่า เพื่อจะเข้าถึงสื่อชนิดนี้ ผู้ที่ต้องการเข้าถึงต้องมีเงินอย่างน้อยสามหมื่นบาทเป็นค่าอุปกรณ์และค่าเชื่อมโยงเครือข่าย

“คุณต้องซื้อโน้ตบุ๊ก ต้องซื้อเครื่องที่บ้าน ต้องซื้อ blackberry ที่แพงๆ และที่บ้านต้องมีสายโทรศัพท์และ wi-fi ไปถึง ถ้าบ้านอยู่ชายขอบแล้วเขาไม่เดินสายให้ก็อด มันมีหลายปัจจัยมากกว่าจะได้สิทธิตรงนี้มา ไม่ใช่ได้มาลอยๆ แต่มันกลายเป็นสถานะที่มีอภิสิทธิ์สำหรับชนชั้นกลาง ชนชั้นนำ และชนชั้นปกครอง ที่เราลืมมองไป ที่จริงแล้วคนอีก 50 กว่าล้าน ยังไม่ได้สิทธิตัวนี้ แล้วคนที่ได้อภิสิทธิ์ตัวนี้สนุกกับอภิสิทธิ์ที่ตัวเองได้ ใช้เพื่อทำอะไรหลายๆ อย่าง ที่อาจจะเป็นเรื่องเพิ่มพูนสิทธิข้อมูลข่าวสาร เรื่องการสร้างกระแสการมีความสำนึกทางการเมือง หรือเรื่องการโต้ตอบ อภิปราย การทำร้ายคนอื่นก็แล้วแต่จะใช้”
 

มองสื่อใหม่ในฐานะพื้นที่สาธารณะทางการเมืองและเสรีภาพในการสื่อสาร
ความตื่นเต้นในสื่อใหม่ มีทั้งในแง่การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนผู้ใช้ การแสดงความคิดเห็นที่ไหลเชี่ยวเหมือนสายน้ำซึ่งทลายการปิดกั้น สร้างปรากฏการณ์การสื่อสารใหม่ๆ และเริ่มกลายมาเป็น “ข้อมูลเบื้องต้น” สำหรับสื่อกระแสหลักในการตั้งต้นหา และนำเสนอประเด็นต่อสาธารณะ แต่สิ่งที่เป็นแก่นแกนซึ่ง รศ.อุบลรัตน์กล่าวย้ำตลอดการสนทนาก็คือ สื่อใหม่สะท้อนภาวะที่เป็นปัญหาของการสื่อสารในสังคมไทย 2 ประการคือ “พื้นที่สาธารณะทางการเมือง” และ “เสรีภาพในการสื่อสาร” ซึ่งเป็นหลักใหญ่ใจความแห่งประเด็นปัญหาว่าด้วยการสื่อสารในประเทศนี้

“ระบบปัจจุบันมีปัญหา ทั้งในด้านการควบคุมโดยรัฐ การเจาะกลุ่มผู้รับบางกลุ่มของระบบทุนที่ดำเนินการสื่อ (เช่นสื่อกระแสหลัก) การควบคุมการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่คัดค้านอำนาจรัฐ และการควบคุมการเปิดพื้นที่สื่อใหม่ ๆ

การต่อสู้ทางการเมืองในสื่อที่ผ่านมา คือการต่อสู้ของกลุ่มที่คิดว่าตัวเองไม่มีสิทธิมีเสียงทางการเมือง หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการเมือง โดยการพยายามขยายพื้นที่สาธารณะสำหรับความคิดเห็นของกลุ่มตนเพื่อเชื่อมต่อสมาชิกกลุ่ม หรือเพื่อขยายสมาชิกให้กว้างขวางออกไป” รศ. อุบลรัตน์ อธิบายถึงปรากฏการณ์ที่นิวมีเดียได้สะท้อนออกมาให้เห็นว่า ประเด็นพื้นที่สาธารณะสำหรับข้อมูลข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในสื่อในระบบปัจจุบันมีปัญหา อันนำไปสู่การเปิดพื้นที่ใหม่ แสวงหาพื้นที่การสื่อสารใหม่ โดยไม่รีรอสื่อมวลชนกระแสหลักเดิมๆ เอื้อเฟื้อพื้นที่ให้อีกต่อไป แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าสื่อใหม่จะแทนที่สื่อกระแสหลักขนานแท้และดั้งเดิมเสียทีเดียว

“ถามว่ามีล้านคนอยู่ใน facebook จะล้มไทยรัฐ จะล้มเดลินิวส์ไหม ไม่ใช่ การสื่อสารมันไม่ได้ทำงานแบบนั้น แต่มันเริ่มทำให้คนซึ่งเคยแต่เป็นผู้รับ คิดได้ว่า ฉันไม่ใช่แค่ผู้รับที่อยู่เงียบๆ ไม่มีความรู้สึกนึกคิดนะ ซึ่งพออ่านข่าวแล้วคิดอย่างไร ก็ไปโพสต์ใน facebook อ่านแล้วก็ไปเขียนความเห็นที่นั้น ถ้าหนังสือพิมพ์อยากรู้ก็มาฟังเอาเอง สมัยก่อนก็จะรอจดหมายถึงบรรณาธิการ ซึ่งก็มีน้อยมากที่จะส่งเข้าไป เพราะต้องมานั่งกางกระดาษแล้วก็เขียนส่ง ขั้นตอนมันเยอะ ปัจจุบันมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว แล้วมันก็เปิดโอกาสให้ไม่ต้องเขียนไปที่บรรณาธิการก็ได้ เขียนไว้ใน facebook แทน ถ้าเขียนอะไรที่มันคมๆ มีความหมายเยอะๆ บรรณาธิการต้องได้ยิน”

อย่างไร ก็ตาม ในประเด็นพื้นที่สาธารณะนี้ รศ.อุบลรัตน์มองว่า ยังคงจำกัดอยู่กับกลุ่มชั้นกลางซึ่งเป็นฐานของสื่อหลักอยู่อย่างเดิม นั่นหมายความว่า พื้นที่ในโลกออนไลน์ แม้จะเป็นพื้นที่ใหม่ แต่ก็ไม่ใช่พื้นที่สำหรับคนไม่มีปากไม่เสียง หรือ Voice of Voiceless หากแต่เป็นพื้นที่ที่เพิ่มช่องทางการสื่อสารให้กับคนกลุ่มเดิมที่มีความสามารถเข้าถึงช่องทางการสื่อสารอื่นอยู่แล้ว

“ที่ไหนๆ เขาก็ไม่มีพื้นที่ในสื่อหลักอย่างแท้จริงและโดยตรง คือไม่มีหนังสือพิมพ์ที่ไหนในโลกที่จะลงจดหมายที่ถึง บ.ก. 500 ฉบับได้ทุกวัน ไม่มีเหมือนกันหมด แต่สิ่งที่เราวิจารณ์สื่อหลัก คือ Agenda ข่าวไม่กระจาย อย่างบทวิเคราะห์ มันก็กลุ่มคนเดียวกันที่ไปวิเคราะห์หนังสือพิมพ์แนวธุรกิจ แนวการเมืองส่วนหนึ่ง เป็นแนวที่ให้ชนชั้นกลางในเมืองอ่าน ไม่เอาไปขายในหมู่บ้าน มีหนังสือพิมพ์ที่เราเรียกเขาว่าหัวสี คือหนังสือพิมพ์มหาชน เขาพยายามจะให้ชนชั้นกลาง ชนชั้นล่างอ่าน แต่ก็ยังไม่กว้างขวางมากพอ เขาก็ยังไม่ไปขายในหมู่บ้านเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นเมื่อมันไม่ถึง สิทธิมันก็ไปไม่ถึงการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร อันนี้คือหัวใจของปัญหา ยอดขายโดยรวมของประเทศไทยไม่ได้เพิ่ม ไม่ใช่เพราะคนไปใช้สื่ออินเทอร์เน็ตหมด แต่เพราะว่าเขาขายในเมือง เขาก็อยู่ได้ พอได้กำไร เขาไม่ขยายไปในหมู่บ้านเลย ถ้าเราวิเคราะห์ให้ดีจะพบว่า สิทธิข้อมูลของประชาชนโดยจำนวนมากอันนี้คือตกสำรวจจริงๆ แล้วตัวเขาก็ไม่มีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งของข่าวสารที่มีค่ามีความหมาย ความกินดีอยู่ดีของเขาส่วนหนึ่งมันไม่ได้ถูกสะท้อน ไม่ได้ถูกแก้ไข เพราะว่าสื่อในบ้านเราถูกจำกัด ถ้าเป็นสื่อกระแสหลักก็อาจจะถูกจำกัดด้วยระบบทุน ถ้าเป็นสื่อของรัฐก็ด้วยระบบทางการเมือง สื่อของประชาชนก็ถูกจำกัดด้วยระบบของการเงิน และความรู้ที่จะมาตั้งองค์กรของตัวเอง เพราะฉะนั้นมันจะยาก แต่พอมาช่วงนี้ เริ่มมีสื่อใหม่ของระบบอินเทอร์เน็ต กับสื่อใหม่ที่เป็นของระดับชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นวิทยุชุมชน หรือเคเบิลทีวี ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของ oral communication (การสื่อสารแบบมุขปาฐะ) คือ เขาไม่ต้องมีความรู้เรื่อง จะใช้อินเทอร์เน็ตยังไง จะรู้ภาษาไทย 44 ตัวไหม ไม่ต้องอะไรเลย ฟังวิทยุเอา ดูเคเบิลซึ่งเริ่มมีข่าวท้องถิ่น ข่าวในเมืองของตัวเอง พื้นที่เหล่านี้มันไม่มีในอดีต หน้าข่าวต่างจังหวัดในหนังสือพิมพ์ก็มีนิดเดียว นานๆ จะมีทีหนึ่ง นี่คือการขาดสิทธิข้อมูลข่าวสาร แต่พอมีเคเบิล มีช่องข่าวท้องถิ่น ทุกๆ วัน ตรงนี้คือความตื่นตาตื่นใจของทุกคน คนรู้สึกว่าข้อมูลข่าวสารในจังหวัดเรา มันเยอะแยะ ไม่เคยรู้ ไม่เคยเดือดร้อน แต่เดี๋ยวนี้แค่ข่าวไฟไหม้ ก็เป็นประโยชน์มาก เพราะเรารู้ว่า มันไหม้จุดนี้ ญาติเราอยู่ตรงนี้ เราต้องถามข่าวคราวเขา เผื่อเขาต้องการความช่วยเหลือ ยิ่งหน้าน้ำ น้ำท่วม การระดมความช่วยเหลือ การบรรเทาภัยต่างๆ ข้อมูลข่าวสารเหล่านี้มันช่วยชีวิต เป็นข้อมูลข่าวสารสำคัญกับชีวิต แล้วทำให้ความสูญเสียน้อยลง มีการช่วยเหลือ มีความหมายมีคุณค่ามากขึ้น”

และข้อมูลแบบหักปากกาเซียนก็คือ ชาวบ้านไม่ได้ดูแต่ละครน้ำเน่าอย่างที่คิด หากแต่ต้องการสื่อและข้อมูลข่าวสารที่ตอบสนองความสนใจของตนเอง

“การคาดการณ์ว่าชาวบ้านจะดูเคเบิลเพื่อความบันเทิง ก็คาดผิด เพราะว่าเขาสนใจช่องข่าวมากเป็นอันดับหนึ่ง ช่องไหนที่มีข่าวชาวบ้านจะดู ความนิยมก็สูสีกับข่าวจากส่วนกลาง ซึ่งจะเห็นภาพเลยว่า จริงๆ แล้วประชาชนทุกที่ ก็ต้องการพื้นที่ข่าวของเขา แล้วเราต้องขยายสื่อออกไปในแนวระนาบให้มากกว่านี้ สิ่งที่เป็นปัญหากับสังคมไทย คือเมื่อตั้งคำถามแล้วกระทบกับโครงสร้างเชิงแนวดิ่งของสังคมไทยสูงมาก การรวมศูนย์ การรวมทุกอย่าง พอสื่อกระจายก็สร้างความอ่อนไหว สร้างคำถาม ทุกอย่างขยับตัว เปลี่ยนไปหมด ก็เลยทำให้แต่ละจุดที่โดนกระทบกลับไปคิด ปรับปรุงหรือปิดกั้น หรือไม่ให้ขยายก็แล้วแต่”


สิทธิในการสื่อสาร คนละเรื่องกับจรรยาบรรณวิชาชีพ

รศ.อุบลรัตน์ อธิบายต่อไปว่า ประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นที่เป็นใจกลางของปัญหาสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารใน สังคมไทยซึ่งโลกออนไลน์กำลังเปิดพื้นที่ให้ก็คือ สิทธิในการสื่อสาร ซึ่งหมายถึง สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิทธิที่แม้ว่ารัฐจะยอมรับในหลักการ เช่นมีบทบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และมีกฎหมายรองรับด้วย คือ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ แต่ในทางปฏิบัติรัฐไม่เปิดให้มีการใช้สิทธิได้จริงในหลายๆ เรื่อง

อาจารย์อุบลรัตน์อธิบายว่าหากเทียบกับสิทธิในด้านการศึกษา การรับบริการสาธารณสุข สองเรื่องนี้สังคมถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และรัฐต้องจัดบริการให้แบบถ้วนหน้า และให้มีคุณภาพที่ดี โดยนัยเดียวกันสิทธิในการสื่อสารก็ต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สังคมและรัฐ ร่วมกันดำเนินการให้ประชาชนทุกคนได้รับสิทธินี้อย่างถ้วนหน้าเสมอกัน และสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละคนแต่ละกลุ่ม แต่ทุกวันนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นแก่ชีวิต หรือที่จำเป็นต่อการพัฒนาตนเองอย่างเพียงพอ ทำให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ขาดโอกาสในด้านอาชีพ และการมีส่วนร่วมทางการเมือง ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาวะความขัดแย้งทางการเมือง สื่อใหม่เป็นจำเลยลำดับแรกๆ ที่ถูกชี้ว่า ด้วยความไม่เป็นวิชาชีพนั้นเอง ทำให้สื่อใหม่กลายเป็นช่องทางสร้างความแตกแยก กระพือโหมความขัดแย้ง ซึ่ง รศ.อุบลรัตน์ กล่าวว่านี่เป็นคนละประเด็นกันอย่างสิ้นเชิง

“สิทธิในการสื่อสาร มันไม่เป็นวิชาชีพ สิทธิการสื่อสารเป็นสิทธิของทุกคน เกิดมาพ่อแม่สอนให้เราพูด พ่อแม่จะสอนให้เราเป็นใบ้ไหม? มันเป็นสิทธิการสื่อสาร แต่ถ้าพูดถึงสื่อกระแสหลักก็แน่นอน เพราะเขาเป็นชุมชนมาตั้งชาติเศษแล้ว เขาก็ต้องมีหลักเกณฑ์ เพราะทำหน้าที่ให้กับสังคม สังคมก็ต้องเรียกร้องให้รับผิดชอบ แต่มันคนละเรื่องกับสิทธิในการสื่อสาร”

แล้วนักวิชาการสื่อสารมวลชนมองสื่อของเสื้อแดงในฐานะอะไร “พื้นที่สาธารณะเพื่อใช้สิทธิในการสื่อสาร” หรือ “สื่อมวลชนที่ควรถูกเรียกร้องให้ทำหน้าที่อย่างมีจรรยาบรรณ”

“เขาก็ไม่ใช่สื่อมืออาชีพ คืออะไรมันก็เป็นสื่อหมด แต่มันมีแบ่งประเภท แบ่งกลุ่ม เขาไม่ใช่สื่อมืออาชีพกระแสหลัก ซึ่งมีอยู่ 13 ยี่ห้อ เขาไม่ได้อยู่ในกลุ่มนั้น แต่จะบอกว่าไม่ใช่สื่อ พูดอย่างนั้นไม่ได้ ในทางเทคโนโลยีมันเป็นหมด ไม่ว่าจะสร้างขึ้นมาอ่านเองดูเอง ทำได้หมด เปรียบเทียบกับหมอก็แล้วกัน คือทุกอาชีพในสังคม ที่เรียกว่า Profession (วิชาชีพ) ก็จะมีวาทกรรม แนวปฏิบัติ หลักเกณฑ์ของตัวเอง ในความเป็นวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นหมอที่ต้องมีใบประกอบโรคศิลป์ นักกฎหมายทุกคนต้องมีหลักเกณฑ์ มีความรู้ที่สังคมยอมรับ แล้วเข้าไปสู่ระบบ ซึ่งขณะนี้กลายไปเป็นระบบอุตสาหกรรม แต่ถามว่าแล้วเวลาเราอยากจะรักษาตัวเอง เราใช้ระบบความรู้ที่สะสมกันมาอีกแบบหนึ่งไม่ใช่แพทย์ที่เรียนจบปริญญา ถามว่าเราทำได้ไหม ถ้าเรามีความรู้ ถ้าเราเป็นหวัดเราจะรักษาตัวเองยังไง บาดเจ็บเล็กๆ เราจะรักษาตัวเองยังไง ทำได้ ถามว่าแล้วเราจะโดนวิจารณ์ว่าเราไม่มีความเป็นวิชาชีพไหม มันก็คงจะใช่ เพราะว่าเราไม่ได้ปฏิบัติในแบบวิชาชีพ แต่เราก็ดูแลตัวเราเองได้ ดูแลสุขภาพของตัวเองได้ ขณะนี้ถึงขนาดมีโฆษณาให้เราดูแลป้องกันตัวเองให้มากที่สุด เพื่อประหยัดงบประมาณ เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาวอะไรต่างๆ ถ้าหากว่าเถียงกันในแบบมองข้อบกพร่องกันไปมา มันก็จะสร้างปัญหา นัยหนึ่งก็คือสื่อกระแสหลักก็คือวิชาชีพ แล้วก็มีงานของเขา เขาก็มองคนมาใหม่ ว่าไมค่อยมีหลักเกณฑ์ ไม่ค่อยเข้าระบบ มันก็ไม่ใช่ระบบเดียวกันอยู่แล้ว”
 

เรื่องใหม่ของสื่อใหม่: ตัวตนสองโลก
ระหว่างการสนทนา รศ.อุบลรัตน์ ยิ้มและย้ำหลายครั้งว่า “อย่าใจร้อน” สำหรับการเติบโตของพื้นที่ใหม่ๆ ในโลกออนไลน์

“เราก็จะใจร้อนนิดหน่อย เราถูกปิดปากเงียบมา 50 ปี อยู่มาวันหนึ่งมี hi5 facebook เราก็ระดม เหมือนน้ำท่อแตก” เป็นคำเปรียบเปรยกลั้วเสียงหัวเราะ อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงบทบาทของโลกออนไลน์ซึ่งกำลังเพิ่มขึ้น รศ.อุบลรัตน์มองว่าสิ่งนั้นเข้าใกล้ชีวิต อยู่ใกล้ชิดความ “มีตัวตน” อย่างที่เราอาจจะไม่รู้สึกตัว

“new media มันจะไปถึงจุดที่ว่า เราจะอยู่ไม่ได้ ถ้าเราไม่มีตัวเราอยู่ในโลกออนไลน์เลย ในอนาคตถ้าเราไม่มีตัวเราอยู่ในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นอีเมล ไม่ว่าจะเป็น facebook หรือเป็นอะไรก็ตาม มันจะไม่มี ‘ตัวเรา’ คือเราต้องมีทั้งตัวจริง มีเลือดเนื้อ แล้วก็มีเราในโลกไซเบอร์ ถึงจะเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบ แค่บัตรประชาชน เราก็อยู่ในระบบแล้ว ถ้าเราไม่มี ไม่ใช่ตัวเรา เราเป็นประชาชนของประเทศไหนก็ตาม ถ้าเรามี ID แบบนี้มันจะเป็นข้อมูล ฐานข้อมูล ถ้าไม่มี เราเหมือนไม่มีตัวตน เราไม่มีชีวิต เราเป็นมนุษย์ล่องหน ไร้สัญชาติ เป็นหลายอย่าง ขาดความเป็นมนุษย์”

มุมมองนี้แปลกไปสักหน่อยเมื่อนึกถึงการวิพากษ์วิจารณ์ “ความไม่จริง” เกี่ยวกับ “ตัวตน” ของประชากรออนไลน์ ซึ่งขณะนี้มีการแสดงตัวที่หลากหลาย ทั้งการแสดงตัวตนที่สอดคล้องกับ “ตัวจริง” ในโลกออฟไลน์ หรือการสร้างตัวตนขึ้นใหม่ แตกต่างจากโลกออฟไลน์ ทำให้มีความเห็นทำนองที่ว่าตัวตนบนอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องไม่จริง

“อันนั้นพูดเรื่องของเล่น แต่ถ้าพูดถึงของจริง รัฐเก็บข้อมูลเราและธนาคารเก็บข้อมูลเรา นั่นคือของจริง ถ้าเราไม่มีฐานข้อมูลการเงินในแต่ละระบบเลย จะอยู่ยากไหม ข้อมูลมันคือเงิน มันคือชีวิต โลกเชื่อมต่อกัน พึ่งพาซึ่งกันและกัน ชีวิตมันจะไปอยู่กับพื้นที่ออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วคนที่ไม่เข้าอยู่ในสารบบ มันคงต้องไปดูแลกันอีกว่า เขาเสียสิทธิอะไร เขาเสียประโยชน์อะไรไหม หรือว่าชีวิตเขาสบายดี มันเป็น globalization คือวิถีชีวิตที่มันพาไป”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท