Skip to main content
sharethis

นี่มิใช่ครั้งแรกที่ปัญหาสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต สังคม และการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวพม่าอันเกิดจากการเข้าไปลงทุนหาประโยชน์จากทรัพยากรของต่างชาติถูกกล่าวถึงเป็นครั้งแรก

 

 

 

ในการประชุม ทุนข้ามชาติในพม่า: ภัยคุกคามความรับรู้และการแก้ปัญหาในกรอบอาเซียน วันที่ 18 กันยายน ที่สำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียน กรุงเทพฯ เป็นอีกครั้งที่องค์กรภาคประชาชนทั้งชาวพม่า และไทย ส่งเสียงเรียกร้องให้นักลงทุน ประชาคมอาเซียน และสังคมโลกทบทวนบทบาทของตน ทั้งหวังว่า การจัดเวทีภาคประชาชนอาเซียนที่ฮานอย ประเทศเวียตนาม ซึ่งกำลังจะมาถึงใน 23-26 กันยายนนี้ จะเป็นโอกาสที่จะส่งผ่านประเด็นเหล่านี้ไปสู่ความรับผิดชอบและการผลักดันอย่างจริงจังของประชาคมอาเซียน

เปรมฤดี ดาวเรือง โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) เน้นถึงความจำเป็นที่ประเด็นสิ่งแวดล้อมมิอาจถูกพิจารณาแยกออก จากประเด็นวัฒธรรม สังคม และความมั่นคงทางการเมือง ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งอาเซียนจนปัจจุบันอาเซียนยังคงมุ่งเน้นประเด็นเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานไม่ต่างจากเดิม โดยสนใจการจัดหาพลังงานเพิ่ม การดึงดูดการลงทุนด้านพลังงานยังคงเป็นทิศทางของรัฐบาลประเทศอาเซียน ทั้งโครงการเขื่อนขนาดใหญ่บนแม่น้ำโขงและสาละวิน โครงการเหมือง รวมทั้งโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และแม้กระทั่งโครงการถ่านหินสะอาด โดยใช้ประเด็นการแก้ปัญหาโลกร้อนมาเป็นเหตุผลอ้างสนับสนุน อาเซียนมุ่งหวังการพัฒนาดังกล่าวไปสู่การสร้างโครงข่ายพลังงานอาเซียน (ASEAN Power Grid) จึงเป็นความจำเป็นที่ภาคประชาชนจะขอให้ผู้นำอาเซียนทบทวนวิเคราะห์โครงการขนาดใหญ่เหล่านั้นอย่างลึกซึ้งและรอบด้าน อีกประเด็นที่อาเซียนสนใจ คือ การปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเและการเกิดพิบัติภัย ซึ่งประเด็นนี้ย่อมเกี่ยวข้องกับเรื่องการใช้พลังงานของอาเซียนด้วย ทั้งนี้ สิ่งที่อาเซียนต้องคำนึงมิใช่เพียงเรื่องการบรรเทาภัยพิบัติเท่านั้น แต่สิ่งที่ควรมองควบคู่กันไป คือเรื่องความยุติธรรมในการหาสาเหตุของปัญหาโลกร้อนว่ามาจากภาคส่วน หรือการลงทุนประเภทใด และใครควรเป็นผู้รับผิดชอบ

ในขณะที่เวทีอภิปราย การลงทุนข้ามชาติในโครงการขนาดใหญ่ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ในพม่า

จ๋ามตอง จากเครือข่ายปฎิบัติงานผู้หญิงไทใหญ่ ให้ภาพของ โครงการเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้ามายกก ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐฉาน ตรงข้าม อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย โครงการตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีประเด็นความขัดแย้ง (Conflict zone) ตั้งแต่ปี 2543 กองกำลังทหารพม่าเริ่มเข้าสู่พื้นที่ ทำการสำรวจ และให้ผู้คนอพยพโยกย้าย มีการใช้กำลังกับประชาชน รวมทั้งการยิงอย่างไร้เหตุผล โดย บริษัท สระบุรีถ่านหิน จำกัด ในเครือ บริษัท อิตาเลียนไทย เพาเวอร์ จำกัด ได้รับสัมปทานจากพม่า ในการขนส่งถ่านหินยังมีการปรับปรุงและใหม่ตัดถนนผ่านเขตป่าสงวนของไทย ทั้งนี้ การขนถ่ายถ่านหินยังเป็นยุทธศาสตร์ของพม่าที่จะลำเลียงทหารเข้ามาด้วยเพื่อจะควบคุมชนกลุ่มน้อย นอกจากนี้มิใช่โครงการเหมืองอย่างเดียวแต่ยังมีการพัฒนาโรงไฟฟ้าขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 330 MW ซึ่งโครงการถูกบรรจุไว้ในแผนการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของไทยแล้วด้วย จ๋ามตองทิ้งท้ายด้วยการเรียกร้องให้เพื่อนคนไทย ทั้งนักวิชาการ นักสิ่งแวดล้อม ช่วยกันส่งเสียงไปสู่สังคมนานาชาติเพื่อกดดันรัฐบาลพม่า เพราะคนในพม่าไม่สามารถพูดอะไรได้

โครงการเหมืองเหล็ก Pinpet ในรัฐฉาน ซึ่งเสนอโดย Khun Chankhe จาก Pa-O Youth Organization เป็นแหล่งที่มีเหล็กมากเป็นอันดับสองของพม่า นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวเกี่ยวกับการสำรวจแร่ยูเรเนียมที่นี้ตั้งแต่ปี 2522 ทั้งรัสเซียยังได้ประกาศตั้งศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ในปี 2550 โรงเหล็กแห่งนี้ใช้พลังงานไฟฟ้าจากทั้งเขื่อน ก๊าซ และถ่านหิน ที่นี้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยชาวบ้านไม่ได้รับการชดเชยที่เพียงพอ บางคนถูกทรมาน และถูกจำคุก เกิดความสูญเสียทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิต ชาวบ้านไม่ได้รับอนุญาตให้หาของป่า ล่าสัตว์ สถูปเจดีย์ถูกทำลายเพื่อใช้เป็นที่ตั้งของโรงงาน เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ มีการผันน้ำจากแหล่งใกล้เคียงมาใช้ และปล่อยน้ำเสีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อลำน้ำตอนล่าง ทั้งป่า ลุ่มน้ำ และพื้นที่ชุ่มน้ำถูกทำลาย Khun Chankhe สรุปสาเหตุของปัญหาว่าเกิดจากการไม่มีกฏหมายทำให้ผู้ลงทุนสามารถตักตวงผลประโยชน์ ประชาชนไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วม ทั้งสื่อยังถูกควบคุมอีกด้วย

Jockai จาก Arakan Oil Watch กล่าวถึง โครงการท่อส่งก๊าซและน้ำมัน เป็นที่ซึ่งจะสร้างรายได้มากที่สุดให้แก่พม่า ก๊าซจะมาจากแหล่งก๊าซยานาดา และเยตากุน โดยบริษัทที่มาลงทุนจากทั่วโลกประมาณ 11 ประเทศ 22 บริษัทซึ่งรวมทั้ง ปตท. China National Petroleum Corporation (CNPC) โครงการฉ่วยก๊าซจะเริ่มส่งก๊าซไปจีนในปี 2556 และก๊าซจากซอติก้าจะส่งมาไทยในปี 2558 โครงการฉ่วยก๊าซบริษัท CNPC เป็นผู้ดำเนินการ ท่อน้ำมันและท่อก๊าซจะวางไปในทางเดียวกัน โดยท่อวางผ่านรัฐอารากันถึงคุนหมิง ทางฝั่งพม่าเริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2553 ที่ผ่านมา ขณะที่ทางฝั่งจีนมีพิธีเปิดวันที่ 10 กันยายน ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ไม่มีกฎหมายปกป้องสิทธิมนุษยชน สังคมและสิ่งแวดล้อม บริษัทผู้ลงทุนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานสากล ไม่มีการตรวจสอบการประเมินผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่มีการให้ข้อมูลแก่สาธารณะ ประชาชนไม่มีส่วนร่วม วิถีชีวิตของชุมชนได้รับผลกระทบจากโครงการ เกิดการคุกคามสิทธิมนุษยชนโดยคนงานบริษัท และกองกำลังรักษาความปลอดภัย เกิดผลกระทบต่ออาชีพเกษตร ประมง ความหลากหลายทางชีวภาพ การถูกคุกคามเกิดขึ้นตลอดเส้นทางการก่อสร้าง 2,380 กิโลเมตร คือ การบังคับให้ย้ายถิ่น รุกที่ดิน ทำลายสิ่งแวดล้อม เพิ่มกองกำลังทหาร บังคับใช้แรงงาน ทรมาน ข่มขืน ฆ่า เหล่านี้เพื่อนำรายได้ไปให้เผด็จการทหารพม่า

ตัวแทนจาก Human Right Foundation of Monland กล่าวถึง โครงการท่อก๊าซยานาดาไทย-พม่า ว่าการดำเนินสร้างความทุกข์ทรมานแก่ชาวบ้านในพื้นที่ ทั้งนี้ โครงการถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนทางตอนใต้ของพม่า ส่วนแรกอยู่นอกชายฝั่งก๊าซมาจากแหล่งก๊าซยานาดา ท่อส่วนที่สองอยู่บนฝั่งจากชายฝั่งด้านตะวันตกมายัง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี และมีการสร้างต่อไปยัง จ.ราชบุรีในภายหลัง บริษัทร่วมทุน ได้แก่ เชฟรอน (Chevron) ปตท.สผ. และรัฐวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซของพม่า พม่าใช้กำลังทหาร 2,000 กองเพื่อโครงการนี้ ทั้งยัง มีการโจมตีโดยกองกำลัง และประชาชนกว่า 20 หมู่บ้านถูกย้ายออก มีการยึดที่ดิน ตั้งแต่ปี 2537 มีการบังคับให้ใช้แรงงานในการสำรวจเส้นทาง การสร้างถนน และการวางท่อ ขณะที่รัฐบาลพม่ามีรายได้ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่แรงงานประมาณ 200 คน ต้องเสียชีวิตขณะก่อสร้างทาง ชาวบ้านถูกบังคับให้ขนของหนักๆ บางคนถูกบังคับให้เป็นโล่มนุษย์เพื่อคุ้มครองทหารในพื้นที่อันตราย ถูกบังคับให้ถืออาวุธกระสุน รวมทั้งมีการลวงละเมิดทางเพศ หลายคนถูกฆ่าด้วยข้อหาก่อการกบฎ ชาวมอญเกือบ 7,000 คน และชาวกะเหรี่ยงจำนวนมากอพยพหลั่งไหลลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทย บ้างเข้ามาเป็นแรงงานอพยพ ดังนั้น ข้อเสนอของภาคประชาชนคือ ควรมีการทบทวนและระมัดระวังในการลงทุนร่วมกับรัฐบาลทหารพม่า การลงทุนในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งย่อมจะก่อให้เกิดปัญหาการคุกคามด้านสิทธิมนุษยชน การย้ายถิ่น ปัญหาการลี้ภัยและแรงงาน สงครามกลางเมืองในพม่าจะไม่สิ้นสุดลง และจะดำเนินต่อไป

Ah Nan จาก เครือข่ายปกป้องแม่น้ำพม่า เสนอ กรณีการลงทุนเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำของจีนในรัฐคะฉิ่น ซึ่งมีโครงการเขื่อนในแผนทั้งหมด 7 แห่ง กำลังผลิตรวม 15,760 MW หนึ่งในนั้นคือ เขื่อนมิตโซน ซึ่งตั้งแม่น้ำอิระวดี โดยเป็นโครงการเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดขนาด 6,000 MW ทั้งนี้ ไฟฟ้าทั้งหมดจาก 7 เขื่อนจะถูกส่งไปจีน บริษัทจากจีนเป็นผู้ลงทุนกลุ่มหลัก รัฐบาลและบริษัทดำเนินการโดยไม่ให้ข้อมูลแก่ประชาชน และไม่เปิดเผยการประเมินผลกระทบ ขณะนี้ เขื่อนมิตโซนกำลังถูกเร่งสร้าง มีการประเมินว่า หากเขื่อนมิตโซนแตก เมืองหลวงของรัฐคะฉิ่นจะจมอยู่ใต้น้ำ การสร้างเขื่อนย่อมกระทบต่อการวิถีชีวิตของประชาชนซึ่งขึ้นอยู่กับทรัพยากร รวมทั้งกระทบต่อโลมาอิระวดีซึ่งพบในเขตนั้น กว่า 15,000 คน ถูกบังคับให้ย้ายออกและรื้อทำลายบ้านเรือน รัฐจัดที่อาศัยไว้ให้ใหม่โดยชาวบ้านถูกห้ามไม่ให้ออกนอกพื้นที่ ไม่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ ไม่สามารถประกอบกิจกรรมวัฒนธรรม ประชาชนมีมาตรฐานความเป็นที่อยู่ที่ต่ำ การศึกษา การสาธารณสุข และอาหารไม่เพียงพอ ประชาชนเรียกร้องให้หยุดการสร้าง แต่รัฐไม่เคยตอบสนองการเรียกร้อง เชื่อว่าประชาคมอาเซียน และเพื่อนบ้านในภูมิภาคจะสามารถบทบาทที่จะช่วยสนับสนุนสันติภาพ และวิถีชีวิตที่ยั่งยืนของประชาชนชาวพม่า” Ah Nan กล่าว

มนตรี จันทวงศ์ โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) สรุปภาพโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน ทั้ง 6 แห่ง และเขื่อนบนแม่น้ำสาขา ดังนี้

เขื่อนฮัตจี (1,360 MW) เดิม กฟผ.เป็นรายเดียวที่เซ็นสัญญากับพม่า หลังจากนั้น บริษัท Sinohydro จากจีน เข้ามาลงทุนร่วมด้วย แต่การก่อสร้างยังดำเนินไม่ได้ จนกระทั่งในเดือน เม.ย. 2553 มีการลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อก่อสร้างพร้อมกันนั้นได้นำบริษัทอื่นเข้ามาร่วมทุนเพิ่ม ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการ คือ พื้นที่ทำกิน และป่าอย่างน้อย 2,000 ตร.กม. จะถูกน้ำท่วมกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ ซึ่งรวมทั้งจะท่วมเข้าชายแดนจีนด้วย ปลาและสัตว์น้ำกว่า 170 ชนิดจะได้รับผลกระทบอย่างมาก บริเวณท้ายเขื่อนที่เมืองเมาะลำไยซึ่งมีความสมบูรณ์ การทำประมงหนาแน่น คาดว่าผู้คนซึ่งเป็นชาวมอญอาจต้องย้ายออกจากที่นั่นมาอยู่ จ.กาญจนบุรี หรือ จ.ระนอง นอกจากนี้ ยังมีการขับไล่คนออกจากบริเวณที่ติดตั้งสายส่ง สายส่งดังกล่าวจะเข้ามาไทยทาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก

ปัญหาจากทุนข้ามชาติในพม่า คือ ประชาชนไม่มีส่วนร่วม มีปัญหาเรื่องมาตรฐานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ รวมทั้งการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ ขณะที่การสร้างเขื่อนที่ทำในประเทศผู้ลงทุนเอง มาตรฐานกฎเกณฑ์การดำเนินการกลับแตกต่างออกไป สำหรับเขื่อนฮัตจี แม้ กฟผ.จะให้มีการดำเนินการศึกษา EIA แต่นั่นเป็นเพียงเพื่อเอาไว้อธิบายต่อกลุ่มเคลื่อนไหวในประเทศไทย โดยรัฐบาลพม่าเองยังไม่เห็น ความจำเป็นต้องทำ ทั้งเห็นเป็นการเสียเวลาด้วยซ้ำ

เขื่อนท่าซาง (7,110 MW) ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในพม่า เดิมในปี 2550 บริษัท MDX ร่วมมือกับทางรัฐบาลทหารพม่าศึกษาความเป็นไปได้ แต่มีการเปลี่ยนแปลงภายหลังคือ กลุ่มบริษัทจีนเข้าถือหุ้นมากที่สุด คือ ร้อยละ 51 และ MDX ถือหุ้นเหลือเพียงร้อยละ 24 ทั้งนี้ ไฟฟ้าจะส่งให้ประเทศไทย โดยโครงการสายส่งถูกบรรจุไว้ในแผนของโครงการ Greater Mekong Sub-region (GMS) ด้วย อย่างไรก็ตาม กฟผ.ยังไม่ได้รับซื้อไฟ ดังนั้น ปัจจุบันเขื่อนท่าซางยังอยู่ในสถานะของการเตรียมการเท่านั้น

เขื่อนยะวาทิต (800 MW) บริษัทจากจีนได้รับสัมปทาน โครงการยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก

เขื่อนเว่ยจี (เขื่อนสาละวินชายแดนตอนบน: 4,000 MW) และ เขื่อนดากวิน (เขื่อนสาละวินชายแดนตอนล่าง: 500 MW) ปัจจุบันมีการชะลอโครงการไป โดยเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ไทยผลักดันโครงการเขื่อนเว่ยจี และดากวิน แต่พม่าสนับสนุนให้สร้างเขื่อนฮัตจีก่อน

เขื่อนบนแม่น้ำสาขา

เขื่อน แกนดอง (54 MW) ลงทุนโดยจีน เป็นเขื่อนน้ำตก โดยผันน้ำจากน้ำตกไปผลิตไฟฟ้า ซึ่งหลังจากผันแล้วพบว่า น้ำตกมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปคือมีน้ำตกไหลลงมาเพียงเล็กน้อย

เขื่อนโมเบีย (168 MW) สร้างสมัยสงความโลกครั้งที่ 2 โดยรัฐบาลญี่ปุ่นสร้างเพื่อชดเชยป็นค่าปฎิกรรมสงคราม ชาวคะเรนนีกว่า 12,000 คน ต้องอพยพโยกย้ายจากพื้นที่ นอกจากนี้ รัฐบาลพม่ายังวางระเบิด 18,000 ลูกไว้รอบโรงไฟฟ้าเพื่อรักษาความปลอดภัย ประชาชนและทหารเองเหยียบกับระเบิดตาย

กรอบของประชาคมอาเซียน ทั้งกฎบัตรอาเซียนข้อที่ 1 (ว่าด้วยการให้ความสำคัญต่อการปกป้องสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ และการรักษาวัฒนธรรม) และ เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ในเรื่องการขจัดความยากจนและความหิวโหย และการสร้างความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้จะไม่บรรลุเป้าหมายได้เลย หากอาเซียนละเลยประเด็นโครงการลงทุนดังกล่าวข้างต้น มนตรีเสนอให้มีการพัฒนากรอบกฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการกำหนดให้บรรษัทต่างๆ มีความรับผิดชอบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนในโครงการที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างเข้มข้น

วิเคราะห์การลงทุนข้ามชาติ และบทบาทของภาคประชาสังคม ในการติดตามตรวจสอบการลงทุนข้ามชาติในพม่า ซึ่งมี ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ จาก คณะกรรมการรณรงค์ประชาธิปไตยในพม่า ดำเนินรายการ เป็นอีกเวทีในการประชุมครั้งนี้ที่ผู้อภิปรายแต่ละท่านวิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจ

วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ จากเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEE Net) วิเคราะห์การลงทุนในพม่าโดยใช้ประเด็น ภูมิศาสตร์การเมืองประเทศจีนถือว่าได้เปรียบในลักษณะทางภูมิศาสตร์ จึงเป็นผู้ที่จะได้ผลประโยชน์มากที่สุด นอกจากนั้น ยังมีอาเซียนที่เกี่ยวข้อง ด้วยเพราะพม่าเป็นประเทศสมาชิก สิ่งที่อาเซียนผลักดันและมีอิทธิพลมากต่อพม่าคือ ประเด็นพลังงาน ซึ่งวิสัยทัศน์อาเซียนคือต้องการสร้างโครงข่ายพลังงานระดับภูมิภาค ในขณะที่โครงการ GMS ของ ADB ก็มีแนวทางสอดรับกันกับอาเซียน โครงสร้างพื้นฐานเช่นก๊าซทำให้จีนและไทยเองยังคงรักษาความสัมพันธ์กับพม่า ในขณะที่รัฐบาลทหารพม่าก็ได้รับประโยชน์ ในส่วนของจีนได้ลงทุนสร้างท่อก๊าซจากพม่า ซึ่งมิใช่ได้ประโยชน์จากก๊าซฝั่งอันดามันเท่านั้น แต่จีนยังใช้เส้นทางท่อก๊าซเป็นทางลัดเอื้อประโยชน์ในการติดต่อขนถ่ายจากประเทศอื่นโดยไม่ต้องอ้อมผ่านมาเลเซีย ไทยเองเมื่อเริ่มสร้างท่อก๊าซจากแหล่งยานาดาใช้เหตุผลของความจำเป็นในการจัดหาความมั่นคงด้านพลังงาน แต่ปัจจุบันมื่อรัฐต้องการลงทุนเพิ่มในโครงการอื่นกลับอ้างว่าการพึ่งพาก๊าซจากพม่านั้นอาจสร้างความไม่มั่นคงหากวันใดก๊าซเกิดถูกตัด แสดงให้เห็นว่า เมื่อรัฐจะลงทุนใหม่ไม่เคยพิจรณาเรื่องความมั่นคง โดยเฉพาะความมั่นคงทางการเมือง แต่จะนำเหตุผลทางการเมืองมาใช้อ้างเมื่อต้องการได้ผลประโยชน์ อันที่จริงแล้วมีหลายฝ่ายต้องการเข้าไปหาประโยชน์ในพม่าโดยอ้างว่าไม่มีความสัมพันธ์ด้วยแต่เบื้องหลังมีหลายบริษัทจากหลายประเทศเข้าไปติดต่อลงทุนในโครงการต่างๆ ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องการความโปร่งใส วิฑูรย์กล่าวว่า หากโครงการขยายตัวมากขึ้นก็ยิ่งเพิ่มท่อน้ำเลี้ยงให้กับรัฐบาลทหารพม่า ตราบใดที่ระบบไม่เปิดให้มีการตรวจสอบ ไม่มีกฎหมายเกี่ยวข้องที่ชัดเจน ไทยไม่ควรเข้าไปแสวงหากำไร โดยที่ประชาชนในพม่าไม่ได้มีส่วนร่วมในสิ่งเหล่านี้เลยนอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญคือ ภาคประชาชนจะต้องเข้มแข็ง องค์กรภาคประชาสังคมจากข้างนอกพม่าต้องสนับสนุนสาธารณชนในพม่า ขณะเดียวกัน องค์กรภาคประชาสังคมพม่าเองที่ต้องกลับไปทำงานกับสาธารณชนในประเทศตนเองให้เข้มแช็งขึ้นมา

พรพิมล ตรีโชติ จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเสียงของประชาชนพม่าที่ถูกละเลย โดยหลายสิบปีที่ผ่านมายังคงเป็นประเด็นเดิมที่ถูกยกมาคุยกัน ดังนั้น คำถามคือ จะทำอย่างไรที่จะทำให้เสียงที่ยังได้ยินน้อยเช่นนี้ได้รับการตอบสนอง ให้เสียงถูกผลักเข้าไปในเวทีประชาคมอาเซียน และเวทีจีน-อาเซียน จีนเป็นตัวละครที่สำคัญในโครงการขนาดใหญ่ เช่นกรณีเขื่อนบนแม่น้ำอิระวดีเป็นที่รับรู้กันน้อยมาก ทั้งจีนยังมีแผนตัดถนนและสร้างทางรถไฟเข้าไปในพม่า และะมีนโยบายที่จะใช้แม่น้ำอิระวดีในการเคลื่อนย้ายสินค้ามาขึ้นที่ท่าเรือติวาลาซึ่งจีนจะเข้าไปลงทุนสร้าง นอกจากนี้ ยังมีประเด็นแรงงาน เพราะในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่จีนมักจะนำแรงงานของตนเข้าไปในประเทศที่ลงทุน จึงเป็นสิ่งที่ต้องติดตามดูว่าหลังการเลือกตั้งของพม่า เมื่อโครงการขนาดใหญ่เข้าไปในพม่ามากขึ้น แรงงานพม่าจะเป็นอย่างไร

รสนา โตสิตระกูล คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา กล่าวถึงการพัฒนาที่มุ่งเน้นความเติบโตทางเศรษฐกิจที่ถือเอาเพียงตัวเลขการเติบโตของ GDP เป็นตัวชี้วัดสำคัญ ทั้งที่ความพยายามเพิ่ม GDP นั้นต้องถลุงเอาทรัพยากร และยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยคนจน การใช้ทรัพยากรทำให้ต้องไปเอาเปรียบชาวบ้าน เอาเปรียบสิ่งแวดล้อม แผนพัฒนาพลังงานของประเทศไทยซึ่งใช้ GDP เป็นปัจจัยพิจารณาตัวหนึ่ง แผนยังถูกกำหนดตามนักการเมืองผ่านการกำหนดตัวเลข GDP ฉะนั้น เราต้องท้าทายแนวคิดเรื่อง GDP นอกจากนี้ ขณะที่กระแสของโลกเรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วจ่ายคืนทรัพยากรที่ใช้ไปมาก แต่ขณะเดียวกันประเทศเช่น จีน อินเดีย กลับดันตัวองขึ้นมาเพื่อถลุงทรัพยากรโลกแทน

การที่เรียกร้องให้อาเซียนเพิ่มเสาเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะขณะนี้กำลังเข้าสู่ยุคล่มสลายทางด้านสิ่งแวดล้อม เราจะทำอย่างไรที่จะผลักดันให้การพัฒนาเศรษฐกิจนั้นต้องนึกถึงโลกและสิ่งแวดล้อมมาก่อน ไม่ใช่รับใช้มนุษย์เพียงอย่างเดียว โลกมีต้นทุนที่ต้องใช้อย่างรอบคอบไม่ใช่เพื่อกำไรเท่านั้น ประชาคมอาเซียนโดยรัฐเป็นพันธมิตรกันไม่ใช่ความหวัง แต่ต้องเป็นประชาคมอาเซียนโดยภาคประชาชน ที่ต้องเรียกร้องกับรัฐบาลอาเซียนให้พัฒนาเศรษฐกิจไปในทิศทางที่ลดการทำลาย รสนากล่าว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net