Skip to main content
sharethis

จากสถานการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลได้ผลักดันนโยบายปฏิรูปประเทศไทยขึ้นจนกลายเป็นกระแสสังคมที่ทุกฝ่าย ได้ให้ความสำคัญ วันนี้  (25 ก.ย. 53) เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง จังหวัดอุบลราชธานี (คปสม.อบ.) ได้จัดเวทีประสบการณ์ชุมชนโมเดลปฏิรูปประเทศไทย เพื่อนำเสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศไทยต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยโดยมีนาย แพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นประธานในการกล่าวปาฐกถา

นายแพทย์นิรันดร์กล่าวว่า   การปฏิรูปที่แท้จริงไม่ใช่การปรองดองของรัฐบาล การหันหน้าเข้าหากันของนักการเมืองเพื่อรักษาผลประโยชน์สองฝ่าย  ต้องเกิดจาก การต่อยอดการทำงานต่อสู้ของชาวบ้านมาเป็นระยะเวลานาน เพื่อเรียกร้องสิทธิที่ประชาชนพึงได้รับตามรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่มิใช่แค่การรับฟังปัญหา แต่เป็นการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การแก้ไขปัญหา และการตรวจสอบว่ารัฐบาลได้นำเอาสิ่งที่ประชาชนนำเสนอไปปฏิบัติตามหรือไม่ ดังนั้นประชาชนจึงต้องรู้เท่าทันให้มากขึ้น โดยการรวมตัวกันคุยถึงปัญหา แล้วสรุปแนวทางแก้ไข  ยกระดับการนำเสนอด้วยการผลักดันสู่นโยบาย

“สังคมไทยผ่านการต่อสู้มาเยอะ สูญเสียเยอะ แต่ยังอยู่ในวังวนของอำนาจ วันนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ประชาชนได้ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนและความถูกต้อง  ถือเป็นการเมืองภาคพลเมือง   อย่างแท้จริง” นายแพทย์นิรันดร์กล่าว

ด้านนายศักดิ์สิทธิ์ บุญญะบาล เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง จังหวัดอุบลราชธานี (คปสม.อบ.) กล่าวถึงการจัดเวทีครั้งนี้ว่า จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 กันยายน 2553 ณ ที่ทำการเครือข่ายฯ ชุมชนเกตุแก้วบ้านมั่นคง อำเภอวารินชำราบ เพื่อนำเสนอโมเดลปฏิรูปประเทศไทยจาก 7 ประเด็น 7 จังหวัด 10 เครือข่ายที่ทำงานตามประเด็นต่างๆสั่งสมประสบการณ์จนตกผลึกเป็นองค์ความรู้ เป็นแนวทางการทำงานอย่างชัดเจนมานำเสนอในเวที  ประกอบด้วยประเด็นความมั่นคงทางอาหาร ที่ดินที่อยู่อาศัย การศึกษาทางเลือก ทรัพยากร/นิเวศน์วัฒนธรรม ภูมิปัญญาหมอแผนไทย สื่อสิทธิชุมชน และศิลปวัฒนธรรม เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งมีนายอานันท์  ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย  โดยมีตัวแทนคณะกรรมการเดินทางมาร่วมรับข้อเสนอในวันที่ 26 กันยายน 2553 นี้

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานชี้ปฏิรูปประเทศไทย ต้องปฏิรูปที่ดิน ให้คนจนมีที่ทำกิน จะแก้ได้ทุกปัญหา

ด้านเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองจังหวัดอุบลราชธานี  จัดเวทีนำเสนอประสบการณ์ชุมชนโมเดลปฏิรูปประเทศไทยขึ้น ณ ชุมชนเกตุแก้วบ้านมั่นคง อำเภอวารินชำราบ  เพื่อนำเสนอประสบการณ์ความสำเร็จของการทำงานด้านต่างๆ ต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ที่จะลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อเสนอในวันที่ 26 ก.ย. 53 นี้

ในเวทีมีการนำเสนอประสบการณ์ ชุดที่ดินที่อยู่อาศัยจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) เครือข่ายสลัม 4 ภาค และเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง จังหวัดอุบลฯ

นายไสว มาลัย ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปท.) กล่าวว่าปัญหาของประเทศไทยในปัจจุบัน คือเรื่องการกระจุกตัวของที่ดิน ทีดินจำนวน 90 % กระจุกอยู่กับคนจำนวนแค่ 10 %  ทำให้คนจนไม่มีสิทธิ์ในการเข้าถึงทรัพยากร  แม้จะใช้วิธีการหรือกลไกต่างๆ เช่น กลไกการตลาด ก็ไม่สามารถกระจายที่ดินมายังคนจนได้ เพราะคนจนไม่มีเงินซื้อ หากจะปฏิรูปประเทศไทย อันดับแรกต้องปฏิรูปที่ดิน จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทั้งหมด

ด้านนางธนวรรณ พวงผกา  เครือข่ายชุมชนเมืองฯ กล่าวว่าการปฏิรูปประทศไทยที่ต้องเริ่มต้นที่ชุมชนนำเสนอขึ้นไปสู่รัฐบาล ให้จัดทำเป็นนโยบายนำสู่การปฏิบัติ  โดยยกกรณีตัวอย่างของเครือข่ายชุมชนเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ที่มีประสบการณ์ความสำเร็จจากชาวบ้านรวมตัวกันเพื่อต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนมา เป็นระยะเวลานาน ปัจจุบันมีสมาชิก 1010 ครอบครัว ใน 20 ชุมชน มีเงินออมจำนวนกว่า 2,290,000 บาท สามารถแก้ไขปัญหาได้หลายประเด็น เช่น ที่ดินที่อยู่อาศัย (โฉนดชุมชน) สวัสดิการชุมชน สิทธิชุมชน การพัฒนาเด็กและเยาวชน  จึงขอเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนให้เกิดงานพัฒนาตามทุนเดิมของชุมชน การทำงานและการต่อสู้ของชาวบ้านที่รวมตัวกันพัฒนาศักยภาพของชาวบ้าน เรียนรู้การประชุม การเรียกร้องสิทธิ การพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แล้วขยายให้ทั่วทุกพื้นที่ในประเทศ จะนำสู่การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน  นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอด้านต่างๆ เช่น การจัดระบบสวัสดิการขั้นพื้นฐานของภาครัฐ ที่ต้องให้ประชาชนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียม เช่น ด้านการศึกษา ด้านการบริการสุขภาพ การปรับปรุงไล่รื้อระบบกระบวนการยุติธรรม ให้ข้อกฎหมายเอื้อต่อความถูกต้องและเป็นธรรม  และสุดท้ายประชาชนทุกคนถือเป็นหุ้นส่วนของประเทศ ต้องมีสิทธิ์ที่จะกำหนดแผนพัฒนาประเทศ  ภาครัฐต้องเชื่อมั่นในพลังของประชาชน ที่มีศักยภาพที่หลากหลายและแตกต่างกัน  สามารถกำหนดอนาคตของประเทศไทยได้

นอกจากนี้ในเวทียังมีการนำเสนอประสบการณ์ ชุดความมั่นคงทางอาหาร ของเครือข่ายข้าวคุณธรรม วัดป่าสวนธรรม อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร มีพระอาจารย์สุภัทโธ ให้ข้อมูลถึงความเป็นมาว่า เกิดจากการรวมตัวกันของสมาชิกโดยการออมเงินวันละบาท และการทำสวัสดิการกองบุญเกื้อหนุน  เริ่มต้นด้วยสมาชิกจำนวน 130 คน ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 1,500 คน  ใช้วิทยุชุมชนเป็นสื่อกลางในการนำเสนอข้อมูลให้กับสมาชิก จนเกิดกลุ่มเกษตร ปลอดสารโดยเฉพาะ “ข้าวคุณธรรม” ขึ้น โดยชาวนาจะเป็นผู้ที่ถือศีล 5 ลดอบายมุข 3 ประการ คืองดสูบบุหรี่ เสพสุรา และเล่นการพนัน  มีการปลูกข้าวที่หลากหลายสายพันธุ์ โดยมีจำนวนถึง  150 สายพันธุ์  การผลิตข้าวด้วยกระบวนการที่มาตรฐาน  รวบรวมข้าวเข้าสู่โรงสีชุมชน  โดยชาวนาเป็นผู้ผลิตตลอดกระบวนการจนถึงมือผู้บริโภค  ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำได้  ลดการอพยพเข้าไปทำงานในกทม. ลูกหลานได้รับการถ่ายทอด เกิดความรู้สึกรักชุมชน นับเป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง

ด้านนายไพบูรณ์  ภาระวงศ์ เครือข่ายพันธุ์ข้าวพื้นเมือง บ้านหนองพรานคาน จังหวัดอุบลราชธานี  กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาที่ชาวบ้านละทิ้งข้าวพันธุ์พื้นเมือง หันไปปลูกข้าวพันธุ์ส่งเสริมทั้งหมด ทำให้เกิดปัญหาต้นทุนการทำนาที่สูงขึ้น ปัญหาด้านสุขภาพเช่นโรคเบาหวาน ความดันมากขึ้น ข้าวพันธุ์พื้นเมืองสายพันธุ์ที่เคยปลูกมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายเริ่มหายไป ทั้งๆที่เป็นสายพันธุ์ที่ปลูกง่าย ต้านทานโรคได้ดี ทำให้ชาวบ้านบางกลุ่มเห็นความสำคัญ รวมตัวกันหันกลับมาทำนาแบบย้อนยุคเหมือนสมัยที่ปู่ย่าตายายในอดีตพาทำ  ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตขึ้นเอง ทำให้ต้นทุนการทำนาลดลง  ผลผลิตได้มากขึ้น ปัจจุบันมีการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองประมาณ 100 ครัวเรือน หลากหลายสายพันธุ์มากขึ้น เช่น ข้าวหอมสามกอ ข้าวมะลิแดง ข้าวเหนียวอุบลฯ

จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาทั้งสองเครือข่ายได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย  คือ การส่งเสริมให้ชุมชนปราศจากอบายมุข   ให้รัฐบาลออกกฎหมายจำกัดเวลาในการขายสุราวันละ ๑ ชั่วโมง  รวมถึงการทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสานกับศีลธรรมจริยธรรม การสร้างเครือข่ายเมล็ดพันธุ์ชุมชน เพื่อรักษาสายพันธุ์ข้าวไม่ให้ตกสู่มือนายทุน  ให้ชุมชนมีสิทธิในการเป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านโดยการสนับสนุนของรัฐบาล  และสุดท้ายคือการผลักดันให้จังหวัดอุบลฯเป็นจังหวัดนำร่องในการผลักดันเรื่องเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net