Skip to main content
sharethis

สื่ออุบลฯจวกทีวีไทยมีแต่กลิ่นไอส่วนกลาง ชี้ถึงเวลาผุดกรมสื่อชุมชน แนะรัฐตั้งกรมสื่อชุมชนดูแลสื่อชาวบ้าน กลุ่มฮักน้ำของจ.อุบลฯ แนะรัฐต้องลงพื้นที่ศึกษาชุมชนก่อนกำหนดนโยบาย

เมื่อวันที่ 25 ก.ย.53 ที่ผ่านมา ณ ชุมชนเกตุแก้วบ้านมั่นคง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.อบ.) ได้จัดเวทีประสบการณ์ชุมชนโมเดลปฏิรูปประเทศไทย เพื่อนำเสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศ ต่อคณะกรรมการซึ่งจะลงพื้นที่รับฟังปัญหาในวันที่ 26 ก.ย. 53 นี้   ในเวทีมีข้อเสนอจากการเสวนาเรื่องสื่อเพื่อสิทธิชุมชน

นายประพันธ์ เวียงสมุทร สมาคมสื่อมวลชนอุบลราชธานี,ผู้ช่วยผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ครูบ้านนอกบ้านหนองฮีใหญ่เผย ปัจจุบันมีพื้นที่ให้สื่อชุมชนน้อยมาก สื่อห่างจากชาวบ้าน ข่าวก็เป็นมุมมองจากส่วนกลาง เพลงก็ผูกขาดกับไม่กี่ค่าย เคยเสนอโครงการให้ทีวีสาธารณะก็เปิดรับแค่เป็นพิธี ผู้ที่ได้ทำก็เป็นบริษัทส่วนกลาง หรือลงมาทำเรื่องชาวบ้านก็เป็นกลิ่นไอส่วนกลาง ดูเหมือนจะใช่แต่ไม่ใช่  ในทุกสื่อถูกกรอบส่วนกลางครอบไว้อย่างเหนียวแน่น

นายพงษ์สันต์ เตชะเสน สติงเกอร์ท้องถิ่นกล่าวว่าสมัยก่อนข่าวชุมชนมีน้อยมาก หนักไปทางข่าวอาชญากรรมหรือข่าวส่วนกลาง ปัจจุบันมีข่าวชุมชนมากขึ้นเพราะชุมชนเข้มแข็งมีประเด็นที่น่าสนใจ เช่นกรณีทุบฟุตปาธทั่วเทศบาลนครอุบลราชธานี ชาวบ้านลุกขึ้นมาทวงสิทธิในทางเท้าของพวกเขา สื่อมาหนุนช่วย จนศาลตัดสินให้เทศบาลฯคืนทางเท้าให้ประชาชนในที่สุด ดังนั้นทุกอย่างต้องเริ่มที่ชุมชนเข้มแข็งก่อนสื่อมาหนุนช่วยก็จะเกิดพลัง

ข้อเสนอในการปฏิรูปประเทศไทยในมุมมองของสื่อคือให้รัฐบาลตั้งกรมสื่อชุมชนขึ้นมาเพื่อดูแลสื่อเพื่อชุมชนโดยเฉพาะ มีสำนักประชาสัมพันธ์ชาวบ้านทำงานคู่ขนานกับประชาสัมพันธ์จังหวัด และให้มี

1. สร้างหลักสูตรการศึกษาสื่อเพื่อชุมชนในสถาบันการศึกษา โดยให้นักวิชาการนิเทศศาตร์มามีส่วนร่วมกับชุมชน

2. เปิดทีวีดาวเทียมเพื่อชุมชน ให้เป้นพื้นที่ที่ท้องถิ่นจะนำเสนอเรื่องของตนเองโดยมีคนในชุมชนเป็นคณะกรรมการ

3. กรมประชาสัมพันธ์แบ่งคลื่นมาให้ชุมชนดำเนินการ

4. ช่อง 11 ภูมิภาค แบ่งช่องทีวีภูมิภาคให้ชุมชนมีส่วนร่วมในทุกระดับ

กลุ่มฮักน้ำของจ.อุบลฯ แนะรัฐต้องลงพื้นที่ศึกษาชุมชนก่อนกำหนดนโยบาย

ในเวทีมีการนำเสนอโมเดลปฏิรูปประเทศ ในประเด็นการอนุรักษ์นิเวศน์วัฒนธรรม จากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี  กรณีศึกษาเหมืองแร่โปแตซ  และเครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของ จ.อุบลราชธานี
 
นางมณี บุญรอด กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่าวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในชุมชนเดิมประกอบด้วยประเพณี วัฒนธรรมชุมชน ชาวบ้านอยู่แบบพอเพียง เรียบง่าย ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา เพราะมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์  ในปัจจุบันมีการทำเหมืองแร่โปแตซในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ทำให้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน ที่ต้องอยู่อย่างหวาดกลัวความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพยากรที่ดิน  เนื่องจากที่ดินลึกจาก 100 เมตรลงไป  ตามกฎหมายถือเป็นกรรมสิทธิ์ของภาครัฐ ที่จะดำเนินโครงการพัฒนาใดๆ ก็ได้ ชาวบ้านจึงรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิชุมชน แต่ก็มีปัญหาเรื่องการไม่รู้ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การรวมตัวกันต่อสู้ของชาวบ้านมีทุกรูปแบบตลอดระยะเวลานานถึง 10 ปี ทำให้ชาวบ้านเหนื่อยและอ่อนล้า จึงขอเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยว่า การดำเนินโครงการพัฒนาใดๆ ควรจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์ร่วมกันกับชาวบ้านในชุมชน ชาวบ้านควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเพราะเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่   และควรมีการจัดทำประเมินผลกระทบด้านสังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพก่อนการดำเนินงานโครงการทุกครั้ง หรือถ้าเป็นไปได้อยากให้ยกเลิกโครงการเหมืองแร่โปแตซในจังหวัดอุดรธานี

ด้านนายสำรอง มีวงศ์  กลุ่มคนฮักน้ำของ กล่าวว่าที่ผ่านมาการดำเนินโครงการพัฒนาของภาครัฐ ขาดหลักการมีส่วนร่วม มีการประกาศโครงการมาโดยชาวบ้านไม่รู้เรื่องมาก่อน จึงตกใจมาก เช่น โครงการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม ทำให้ประชาชนหวาดกลัวว่าจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ การทำมาหากินของชาวบ้านที่มีวิถีชีวิตผูกติดกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงอยากเสนอให้รัฐบาลได้ลงพื้นที่ศึกษาวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวบ้านก่อนกำหนดนโยบาย นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการไร้สัญชาติของชาวบ้านริมโขงที่มีจำนวนมาก อยากให้รัฐบาลได้ใส่ใจในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

หมอสมุนไพรสุรินทร์จี้รัฐหนุนแพทย์พื้นบ้าน

ในประเด็นภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน แพทย์แผนไทย นายเฟือย ดีด้วยมี  อาศรมสร่างโศก อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี และนายวุธชัย พระจันทร์  ศูนย์สมุนไพรตะบัลไพร จ.สุรินทร์ ได้กล่าวถึงสถานการณ์ในปัจจุบันว่ามีโรคภัยไข้เจ็บใหม่ๆเกิดขึ้นทุกวัน ระบบบริการสุขภาพของภาครัฐไม่ได้สอดคล้องกับความต้องการ ของชาวบ้าน สังเกตได้จากเวลาไปพบแพทย์ๆ จะไม่มีเวลาคุยกับคนไข้ ชาวบ้านต้องกลับมาทานยา รักษาตัวเองที่บ้าน ส่วนศาสตร์การรักษาของหมอพื้นบ้าน จะมีความใกล้ชิดกับชาวบ้าน มีเวลาดูแล พูดคุย ให้คำปรึกษากับชาวบ้าน จะช่วยลดภาระการให้บริการทางสุขภาพของภาพรัฐ  แต่ปัจจุบันกลับพบว่าหมอพื้นบ้านและแพทย์แผนไทย ไม่ได้รับการยอมรับ คุ้มครอง หรือส่งเสริมจากภาครัฐเท่าที่ควร จึงขอเสนอแนวทางการปฏิบัติเพื่อผลักดันสู่นโยบาย คือ การให้การอนุญาตใบประกอบโรคศิลป์ โดยไม่ต้องสอบ ส่วนในเรื่องฐานทรัพยากร ควรมีการปกป้องคุ้มครองพันธุกรรมพืชพรรณเพื่อสร้างความหลากหลายให้ชุมชน และการยกระดับหมอพื้นบ้านให้ได้รับการยอมรับ หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษาควรเข้ามาให้การรับรอง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net