Skip to main content
sharethis
 
 
เมื่อวันที่ 25 กันยายน ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณีเดือน เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) จัดกิจกรรม "เราไม่ทอดทิ้งกัน" ตลอดวัน โดยในช่วงเช้า มีการจัดอภิปรายทางวิชาการเรื่อง “การแสวงหาข้อเท็จจริงกับกระบวนการรับผิด: กรณีการสลายการชุมนุม เม.ย. – พ.ค. 53” ดำเนินรายการโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ.
 
จวก "รบ.อภิสิทธิ์" ไร้ความรับผิดทางการเมือง
สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ความรุนแรงในบ้านเมืองที่มีคนตายจำนวนมากกลางเมืองหลวงเกิดขึ้นหลายครั้ง มักจบลงด้วยการไม่พูดถึงความจริง ทั้งนี้ เมื่อเราพูดถึงการค้นหาความจริง คือเราพยายามทำประโยชน์ให้สังคมไทยโดยรวม ไม่ใช่เฉพาะคนเสื้อแดงเท่านั้น เพราะนั่นหมายถึงเราไม่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์แบบ 6 ตุลา 19, พฤษภา 35 และ 53 อีก เราต้องไม่ให้มันเกิดขึ้นอีกไม่ว่าคนถูกกระทำเป็นใคร
 
หากดูความรุนแรงกลางเมืองหลวง จะพบว่า นี่เป็นครั้งแรกที่มีคนตายแต่ไม่มีความรับผิดใดๆ ที่ผ่านมา ตั้งแต่ในเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 มีความรับผิดคืออย่างน้อยรัฐบาลต้องออกไป ความต่างของประชาธิปไตยกับระบบการปกครองอื่นๆ คือความรับผิด รัฐบาลต้องมีความรับผิดเมื่อทำอะไรไม่ได้ แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์แทบจะไม่มีเลย
 
สมชายขยายความว่าความรับผิดทางการเมืองหมายถึงการกระทำที่ไม่เหมาะสมของรัฐบาลที่อาจไม่ต้องผิดกฎหมายก็ได้ แต่สังคมการเมืองไม่โอเค เช่น รมว.วัฒนธรรมเที่ยวหมอนวด ไม่ผิดกฎหมาย แต่ไม่เหมาะสม ก็ต้องมีการรับผิดด้วย คำถามคือ เมื่อมีการใช้อำนาจรัฐแล้วมีคนตายอย่างน้อย 91 ศพ โดยยังไม่รู้ว่าใครทำ ถามว่ารัฐบาลมีความรับผิดทางการเมืองไหม ดูเหมือนรัฐบาลนี้จะไม่มีแสดงความรับผิดทางการเมืองเลย ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้กระทำเป็นใคร รัฐบาลก็ปฏิเสธความรับผิดในฐานะหน่วยงานที่ต้องรักษาความปลอดภัยมั่นคงไม่ได้
 
อาจารย์คณะนิติศาสตร์มองว่า สาเหตุที่ความรับผิดทางการเมืองไม่เกิดขึ้นเป็นเพราะพลังทางสังคมในการกำกับรัฐบาลหรือการเมืองอ่อนแรง โดยชี้ว่าในเหตุการณ์ 14 ตุลา พฤษภา 35 สังคมมีความเข้มแข็งและเป็นหนึ่งเดียวในการกดดันต่อรัฐบาล ขณะที่เหตุการณ์ล่าสุดนี้ จะเห็นว่าชนชั้นกลางในเมือง ชนชั้นนำ พลังของระบบราชการไม่สนใจสร้างแรงกดดัน หลังเหตุการณ์นี้จึงเห็นการเยียวยาภาคธุรกิจอย่างกว้างขวาง ห้างที่ถูกเผาไปกำลังจะเปิด แต่เมื่อถามถึงชีวิตคนกลับไม่เห็นความคืบหน้าเลย
 
ชี้รัฐประชาธิปไตยใหม่ใช้กฎหมายจัดการฝ่ายตรงข้าม
สมชายระบุถึงการสลายการชุมนุมที่ผ่านมาว่า โดยทั่วไปเพื่อหาความรับผิดชอบทางกฎหมาย จะต้องมีกระบวนการสืบหาความจริงว่าเกิดอะไร ใครทำอะไร ละเมิดกฎหมายขนาดไหน ที่ผ่านมา ไทยมีกระบวนการเช่นนี้ แต่ไม่มีความคืบหน้าปรากฎ ทั้งนี้ สิ่งที่อยากชวนมองคือ ปรากฏการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะสังคมไทย นักกฎหมายในละตินอเมริกาพบว่า ประเทศประชาธิปไตยใหม่ การพยายามสถาปนากระบวนการทางกฎหมายให้ตรงไปตรงมามีปัญหาอย่างมาก ผู้มีอำนาจรัฐพยายามใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับศัตรูทางการเมือง เพราะยุคนี้ส่งคนไปยิงไม่ได้แล้ว โดยมีสโลแกน "For my friends, anything - for my enemies, the law." แสดงให้เห็นว่า กระบวนการทางกฎหมายที่ถูกใช้ในประเทศประชาธิปไตยใหม่พร้อมจะบิดเบี้ยว รับใช้ผู้มีอำนาจรัฐได้ โดยเฉพาะการผนวกตัวของรัฐกับระบบราชการทำให้การใช้กฎหมายไม่สม่ำเสมอ
 
สมชายเตือนว่า สังคมไทยต้องระวังเวลาจะการสร้างกลไกหลายอย่างในขณะที่เรายังสร้างระบอบประชาธิปไตยที่ดีไม่ได้ กลไกพวกนี้พร้อมจะบิดเบี้ยวตลอดเวลา โดยในช่วง 10-20 ปีหลังเราเห็นการสร้างหน่วยงานใหม่ๆ ในกระบวนการยุติธรรม และคาดหวังว่าจะมีประสิทธิภาพ แต่หน่วยงานหลายหน่วยเช่น กรมสืบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ถูกสร้างเพราะมองว่ามีคดีบางอย่างที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญพิเศษ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เรากลับเห็นดีเอสไอสืบสวนคดีเป็นพิเศษในกรณีของผู้ที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล
 
บทเรียนจากพฤษภา 35
สมชาย กล่าวว่า จากบทเรียนพฤษภา 35 ด้วยแรงกดดันสังคม อย่างน้อยจากชนชั้นกลาง นักการเมืองและชนชั้นนำ ทำให้รัฐบาลสุจินดาพ้นตำแหน่ง มีการพูดเรื่องการใช้ความรุนแรงของรัฐต่อประชาชนและตั้งกรรมการขึ้นอย่างน้อยแปดชุด ตั้งแต่หลังพฤษภา 35 ถึงรัฐบาลทักษิณเป็นต้นมา สุดท้าย ไม่มีข้อสรุปอะไรเป็นชิ้นเป็นอันในการควบคุมอำนาจรัฐ ทั้งนี้ หมายเหตุว่าประธานคณะกรรมการชุดหนึ่งคือ นายอานันท์ ปันยารชุน มีกรรมการคือ นพ.ประเวศ วะสี และนายคณิต ณ นคร ซึ่งเป็นคนกลุ่มเดียวกับคณะกรรมการปฏิรูปทั้งหลายในปัจจุบัน ดังนั้น จึงเสนอว่า อย่าคาดหวังอะไรจากคณะกรรมการเหล่านี้ เพราะขณะนั้นมีแรงสนับสนุนทางสังคมอย่างเข้มแข็ง ยังเปลี่ยนอะไรไม่ได้แล้วในชุดปัจจุบันที่ค่อนข้างง่อนแง่นจะคาดหวังอะไรได้
 
ความรับผิดทางกฎหมาย
ในส่วนความรับผิดทางกฎหมาย หลังเหตุการณ์ทางการเมือง มักมี พ.ร.ก.นิรโทษกรรม ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงไม่ว่ารัฐหรือประชาชนพ้นผิด อย่างไรก็ตาม แทบทุกครั้ง ที่มีการประกาศนิรโทษกรรมคือการยุติไม่ให้มีการค้นหาความจริงเกิดขึ้น สมัย 6 ตุลา หลังสืบพยานในศาล ได้ข้อมูลตรงข้ามกับข้อมูลจากรัฐ โดยพบว่าความรุนแรงมาจากเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ต่อมามีการประกาศนิรโทษกรรม ทำให้ความจริงยุติ ไม่มีใครรู้เกิดอะไรขึ้น สมัยพฤษภา 35 เมื่อรัฐบาลสุจินดาจะพ้นจากตำแหน่ง ก็มีการนิรโทษกรรมให้ทุกฝ่าย ศาลชั้นต้นจึงยกฟ้องคดีที่คณะกรรมการญาติวีรชนฟ้องไปโดยไม่ไต่สวน ทำให้บุคคลพ้นจากความรับผิด ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาตัดสินยืนตามกัน
 
สมชายสรุปว่า กฎหมายนิรโทษกรรมในสังคมไทยจึงแปลว่า ความจริงถูกปิด กฎหมายนิรโทษกรรมจะไม่เป็นประโยชน์กับคนในสังคมไทยเลย จะออกกฎหมายนี้ก็ได้ แต่อย่างน้อยต้องให้ความจริงทั้งหมดปรากฎขึ้นก่อน
 
เขาแสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมา ไม่เห็นความรับผิดทางการเมือง และมักได้ยินคำอธิบายจากอภิสิทธิ์ว่า "ผู้ก่อการรัาย" ซึ่งนี่ไม่ต่างเวลาที่อเมริกาถล่มอิรัก ด้วยเหตุผลว่าอิรักมีอาวุธทำลายล้างสูง แต่จนสิบปีแล้วก็ยังไม่เจออาวุธ ในกรณีรัฐบาลไทย ขอเรียกร้องให้หาผู้ก่อการร้ายตัวเป็นๆ มาให้ดูหน่อย 
 
สมชายเสนอว่า จะต้องเรียกร้อง คือความรับผิดทางกฎหมาย โดยต้องรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมด แม้จะใช้เวลา แต่หากทำข้อมูลเป็นระบบ ถ้าเรายังมีลมหายใจต้องได้เห็นการรับผิดเกิดขึ้น
 
 
ตร. เผยมีการพิสูจน์กระสุนในวัดปทุมฯ แต่แถลงข่าวไม่ได้
พ.ต.ท.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้กำกับการ ส่วนตรวจสอบสำนวนคดีอุทธรณ์และฏีกา สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กล่าวว่า ถึงเวลาต้องปฏิรูปแนวความคิดของกระบวนการยุติธรรม เพราะทุกวันนี้กระบวนการยุติธรรมถูกครอบงำโดยอิทธิพลทางการเมืองอย่างมาก ทำให้หลักวิชาชีพของผู้ที่ทำงานในด้านนี้หายไป โดยเฉพาะตำรวจที่ควรปกป้องสิทธิของประชาชน ไม่ให้ถูกละเมิดโดยเฉพาะสิทธิในการมีชีวิตและแสดงความเห็น ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นคน
 
พ.ต.ท.ศิริพล กล่าวว่า สาเหตุที่ชนชั้นกลางไม่ออกมาแสดงความเห็นหรือสร้างแรงกดดัน ส่วนหนึ่งเพราะสื่อสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในสังคม ให้รู้สึกว่าคนที่มาเรียกร้องเป็นเศษสวะของสังคม เมื่อเป็นเพียงเศษสวะ จะทำอะไรก็ผิดและเมื่อสิทธิเป็นศูนย์ก็สมควรตาย สร้างความเชื่อให้สังคมรู้สึกว่าคนพวกนี้สร้างความเดือดร้อน และกรุงเทพฯ เป็นของคนกรุงเทพฯ ดังนั้น สื่อมวลชนที่มีส่วนก่อให้เกิดความรุนแรง รวมทั้งชนชั้นกลางที่สนับสนุนการฆ่าก็ต้องมีส่วนรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย ฉะนั้น สิ่งแรกที่ต้องปฏิรูปคือสื่อและหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้มีความเป็นอิสระทางการเมือง ปลอดจากอิทธิพลทั้งหลาย และมีความเป็นวิชาชีพมากขึ้น
 
พ.ต.ท.ศิริพล กล่าวยอมรับด้วยว่าในเหตุการณ์ที่ผ่านมา ตำรวจเองไม่มีบทบาทช่วยเหลือประชาชนเลย แม้กระทั่งผลพิสูจน์ในวัดปทุมฯ ที่ได้ทำอย่างตรงไปตรงมาว่าพบกระสุนประเภทไหน หัวสีอะไร มีเฉพาะในหน่วยงานไหน ก็ไม่มีสิทธิที่จะพูด เพราะหน่วยงานที่มีอำนาจแถลงถูกไม่ให้พูด
เขากล่าวว่า ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งไทยได้ยอมรับกติกานี้มานานนับสิบปี รัฐต้องระวังอย่างยิ่งยวดที่จะรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยเฉพาะสิทธิในชีวิต แม้ในภาวะการชุมนุม การใช้อาวุธทั้งหลายไม่อาจทำได้ เว้นแต่เพื่อป้องกันตัวจากการกระทำอันละเมิดกฎหมายโดยผู้ชุมนุมที่มีอาวุธและเตรียมทำร้ายเจ้าหน้าที่ แต่จากบันทึกวิดีโอ เราไม่พบว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธที่สามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายต่อเจ้าหน้าที่ได้ พบแต่เจ้าหน้าที่รัฐเล็งยิงไปที่ผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ็บปวดมาก และแม้จะผ่านมาสี่เดือนแล้วก็ไม่มีคนรับผิดชอบ
 
ซัดมีแต่ประเทศเผด็จการใช้ทหารคุมฝูงชน
พ.ต.ท.ศิริพล กล่าวว่า ความรับผิดชอบตามกฎหมายนั้นไม่สามารถอ้างให้พ้นได้ ไม่ว่าพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา จะบอกให้หามาว่าใครเป็นคนสั่ง เพราะมีสิ่งที่ในภาษากฎหมายเรียกว่า สิ่งนั้นมันฟ้องตัวมันเอง หรือ The thing speaks for itself. โดยจากการที่สื่อมวลชนรายงาน มีการใช้ทหารคุมฝูงชน ซึ่งทั่วโลกไม่มีใครทำกัน ยกเว้นประเทศที่ปกครองโดยเผด็จการทหาร โดยจะใช้ตำรวจเพราะตำรวจได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีและใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่าทหาร นอกจากนี้ ในการสลายการชุมนุมที่ควรจะเป็นจากเบาไปหาหนัก ก็กลับเป็นจากหนักแล้วก็ตายเลย
 
เขาชี้ว่า สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการขัดทั้งหลักกฎหมายภายในและระหว่างประเทศอย่างมาก โดยการชุมนุมของ นปช. ที่ผ่านมา แม้จะมีการปิดถนน ซึ่งโดยหลักแล้วไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็ไม่สามารถจัดการโดยใช้ระเบิดหรือปืนยิงได้ หลักการของสหประชาชาติก็ระบุไว้ว่าการใช้อาวุธกับการชุมนุมที่ไม่ชอบก็กระทำไม่ได้ รัฐบาลจะต้องพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาโดยสันติวิธี การสลายการชุมนุมต้องเป็นวิธีสุดท้ายจริงๆ ซึ่งเขามองว่าในช่วงดังกล่าว การสลายการชุมนุมก็ยังไม่ใช่วิธีสุดท้ายเพราะในคืนวันที่ 18 พ.ค. ยังผู้พยายามเข้าไปเจรจา แต่ปรากฎว่า เช้าตรู่วันที่ 19 พ.ค. กลับมีการนำกำลังสลาย ขณะที่การสลายการชุมนุมก็มีขั้นตอนจากเบาไปหนัก โดยต้องแจ้งเตือนก่อน ใช้น้ำฉีด ไปจนถึงใช้กำลังเข้าจับกุม แต่ที่ผ่านมา พบว่าไม่สลายการชุมนุมตามขั้นตอน แต่คล้ายประกาศภาวะสงคราม โดยมีการประกาศเขตการใช้กระสุนจริง ซึ่งทำไม่ได้เด็ดขาด เพราะแม้จะเป็นความขัดแย้งของกลุ่มชนกับรัฐบาล ก็จะมีกฎหมายมนุษยธรรมกำกับ ไม่ให้รัฐบาลเอารถหุ้มเกราะ มายิงพลเรือนที่ปราศจากอาวุธ
 
ทั้งนี้ แม้รัฐบาลจะบอกว่าผู้ชุมนุมเป็นผู้ก่อการร้ายมีอาวุธ ก็ให้ดูศพคนตายว่า มีอะไรในมือหรือไม่ ตามหลักแล้ว ทหารใช้อาวุธได้เมื่อประชาชนจะทำร้ายทหารหรือทำร้ายคนอื่น ในกรณีนี้จึงไม่เห็นข้ออ้างให้รัฐบาลพ้นความรับผิดได้ และแม้จะอ้างการก่อการร้าย ก็ยังเข้าหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ห้ามรัฐบาลใช้อาวุธกับพลเรือน อีกทั้งหลังจากสลายการชุมนุมแล้ว ยังมีการไล่ล่าติดตาม คุกคาม จับกุมผู้ชุมนุมตามกฎหมายพิเศษอีก ซึ่งขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเต็มที่
 
พ.ต.ท.ศิริพล กล่าวเสริมด้วยว่า การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เสมอภาคจะก่อให้เกิดความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เกิดการเลียนแบบ และก่อให้เกิดความยุ่งเหยิงอย่างมากมายตามมา โดยรัฐใดที่เคารพกฎหมายจริง จะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และเสมอภาคกับทุกฝ่าย
 
 
แนะช่องทางดำเนินคดีเจ้าพนง.-นายกฯ
สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า คำว่า นิติรัฐ ก็คือประเทศที่กฎหมายที่ยุติธรรมเป็นใหญ่ แต่ทุกครั้งที่นายอภิสิทธิ์ใช้กลายเป็นว่า ผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างนายอภิสิทธิ์ หรือ ศอฉ.เป็นใหญ่ โดยชี้ให้เห็นถึงความไม่ยุติธรรมในมาตรา 17 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งจำกัดการฟ้องคดีของประชาชน โดยระบุว่า "พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วย ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่" แปลว่า ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐที่มาปฎิบัติการดำเนินการต่างๆ โดยอ้างว่าปฏิบัติตามหน้าที่หรือคำสั่ง ผู้เสียหายต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเจ้าหน้าที่กระทำการโดยไม่สุจริต เลือกปฏิบัติและเป็นการกระทำที่เกินสมควรกว่าเหตุ ทั้งนี้ สังเกตว่าการเขียนกฎหมายมุ่งเน้นที่การปราบปราม ไม่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิของประชาชนผู้ถูกกระทำ ทั้งที่หลายมาตราก็ลิดรอนสิทธิของประชาชนอยู่แล้ว เช่น เจ้าพนักงานสามารถขอหมายศาลจับบุคคลที่เพียงต้องสงสัยว่าจะกระทำการได้ ขณะที่กฎหมายปกติ เจ้าหน้าที่จะจับใครได้ต้องมีหมายศาล โดยต้องมีพยานหลักฐานอันพอสมควรไปยื่นต่อศาลพิจารณา
 
นอกจากนี้ ด้านการควบคุมตัว กฎหมายยังกำหนดว่า เจ้าพนักงานของรัฐควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยไม่ต้องตั้งข้อหาได้ถึง 30 วันและหากเจ้าพนักงานอยากคุมตัวนานกว่านี้ ให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา คุมขังเพิ่มเติม ซึ่งสำรวจพบว่า สามารถควบคุมตัวบุคคลโดยไม่มีการฟ้องคดีต่อศาลได้ 84 วัน เมื่อรวมกับ 30 วันแรก เท่ากับบุคคลอาจถูกควบคุมตัวโดยไม่มีข้อหาได้เกือบ 4 เดือน
 
สาวตรีชี้ว่า ขณะที่มีความไม่ยุติธรรมใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินหลายมาตรา พอมาตรา 17 ก็ยังตัดสิทธิฟ้องวินัย อาญา และแพ่งกับเจ้าพนักงาน และแม้หาพยานหลักฐานมายืนยันว่าเจ้าพนักงานทำการเกินกว่าเหตุได้ ก็ยังต้องฝ่าด่านตุลาการภิวัตน์ที่อาจแย่กว่ากระบวนการสอบสวนด้วยซ้ำ
 
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. แนะนำการต่อสู้ทางกฎหมายสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยแบ่งเป็นช่วงสลายการชุมนุมและหลังสลายการชุมนุม โดยวาง พ.ร.ก.ฉุกเฉินเอาไว้ก่อนว่า กรณีแรก การสลายการชุมนุมจนมีผู้บาดเจ็บล้มตาย ถ้าพิจารณาตามองค์ประกอบการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา เจ้าหน้าที่อาจมีความผิด ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ร่วมกันพยายามทำร้าย ทำร้ายจนบาดเจ็บ และปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และหากมีบุคคลนั้นอ้างว่า ได้กระทำเพื่อป้องกันตัว ก็ควรหาพยานหลักฐานคัดง้าง โดยต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า วิถีกระสุนมาจากทางด้านหลัง ซึ่งจะทำให้บุคคลนั้นอ้างว่ากระทำเพื่อป้องกันไม่ได้ นอกจากนี้ ผลการชันศตรพลิกศพว่า มีอาวุธหรือไม่ มีเขม่าของอาวุธหรือไม่ ถูกกระสุนเท่าไหร่ ก็เป็นหลักฐานได้เช่นกัน และแม้ที่สุด เจ้าพนักงานจะยืนยันว่าป้องกัน อาจบอกว่าเป็นการป้องกันสมควรเกินแก่เหตุ เพราะกฎหมายอาญาระบุว่า หากกระทำเกินสมควรกว่าเหตุ ก็ยังต้องรับผิด อาทิ อาวุธที่ใช้ หนังสติ๊ก ถุงปลาร้า ขวดน้ำพลาสติก คงสู้กับปืนกลไม่ได้ ตรงนี้คงต้องแสดงหลักฐาน เช่น ภาพถ่าย ให้ชัดเจน
 
ทั้งนี้ ในการพิจารณาว่ากระทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ ศาลจะชั่งน้ำหนักระหว่างอันตรายที่จะเกิดกับผู้กระทำโดยป้องกันกับฝ่ายตรงข้าม หากเจ้าพนักงานหัวแตก เจ็บตา เจ็บแขน แต่ยิงอีกฝ่ายจนถึงแก่ความตาย ศาลที่ยุติธรรมก็จะพิจารณาได้ว่าเป็นการป้องกัน แต่เกินกว่าเหตุ ก็ต้องรับโทษ และแม้จะการอ้างว่า กระทำโดยมีกฎหมายให้อำนาจไว้ แต่สิทธิในชีวิตและร่างกายเป็นสิทธิพิเศษที่ไม่อาจล่วงละเมิดได้ แม้กฎหมายระหว่างประเทศระบุไว้ว่า สิทธิชุมนุมอาจถูกจำกัดได้โดยรัฐ แต่ต้องแยกว่า สิทธิชุมนุมและสิทธิทางการเมืองเป็นคนละเรื่องกับสิทธิในชีวิตและร่างกาย สิทธิชุมนุมและสิทธิทางการเมืองอาจถูกจำกัดได้บางสถานการณ์ แต่สิทธิในชีวิตและร่างกายไม่อนุญาตให้ทำลายได้ ตรงนี้จึงฟังไม่ขึ้น
 
สาวตรี กล่าวต่อว่าในส่วนความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้น หลังสลายการชุมนุม ซึ่งมีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คุกคาม คนที่เห็นด้วยหรือสนับสนุนคนเสื้อแดง ตามกฎหมายอาญา เป็นการละเมิดสิทธิในการกระทำผิดต่อเสรีภาพในด้านต่างๆ แต่เรื่องนี้อาจสู้ยาก เพราะมาตรา 11 และ 12 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ยกเว้นความผิดให้เจ้าพนักงานเอาไว้ เขาจึงอาจอ้างอำนาจกระทำได้ ดังนั้น อาจสู้ในประเด็นเรื่องความสมควรแก่เหตุได้ เพราะแม้เจ้าพนักงานรัฐจะใช้อำนาจจับกุมควบคุม ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่วิธีการจับ ควบคุม เกินสมควรแก่เหตุ โดยจากคลิป ภาพข่าว จะเห็นทั้งการกระทำต่อผู้หญิง มีพระสงฆ์ถูกมัดมือไพล่หลัง ผูกตา มัดขา มีข่าวที่พระภิกษุสงฆ์โดนจับ มัดมือมัดขาตั้งแต่สิบโมงเช้า นอนรวมกับคนอื่นๆ และได้รับการปล่อยพันธนาการตอนสองทุ่ม ซึ่งสามารถเอาความผิดตามมาตรา 157 ได้ ว่ากระทำการโดยไม่สุจริต มุ่งหมายให้เกิดความเสียหายต่อผู้ถูกจับ
 
ในส่วนการฟ้องร้องนายกฯ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น กฎหมายระบุให้เป็นอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยอัยการสูงสุดและ ปปช. เป็นผู้มีฟ้อง โดยที่ประชาชน ผู้ได้รับความเสียหาย หรือญาติ พี่น้อง บิดามารดา สามีภรรยา หรือบุตรของผู้เสียหายสามารถยื่นคำร้องทุกข์กับ ปปช. ได้ ถ้า ปปช.รับเรื่องจะสอบสวน หลังจากสอบสวนจะส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดจะนำขึ้นศาลต่อไป
 
สาวตรี อธิบายว่า แม้ว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับหลักการที่ให้ ปปช. เป็นผู้ฟ้อง แต่เมื่อจะสู้ ก็ต้องยึดตามหลักการ โดยที่มาของการมีศาลพิเศษนี้ที่สอบสวนโดย ปปช. เพราะในคดีอาญาปกติ ผู้สอบสวนคือตำรวจ ซึ่งเป็นข้าราชการประจำ ที่ข้าราชการการเมืองให้คุณให้โทษได้ การมีศาลพิเศษและให้ผ่านองค์กรอิสระ ที่เคยเชื่อว่าดีในขณะนั้น จึงเป็นเจตนารมณ์ดี หากคิดว่าไม่ถูกต้องก็ต้องแก้ที่กฎหมาย สอง กระบวนการต่างๆ ในศาลนี้ จะรวดเร็ว รวบรัดกว่าปกติ เพราะมีคดีไม่มาก ความเป็นธรรมอาจจะเร็วขึ้น และเขตอำนาจในการรับคดี หากเป็นเรื่องความผิดต่อหน้าที่ที่เกี่ยวกับความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 157 ศาลนี้เป็นเขตเดียวที่มีอำนาจ ศาลอื่นรับไม่ได้
 
สาวตรี กล่าวว่า รัฐต้องให้ความสำคัญในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนพลเมือง โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายไม่ว่า กฎหมายภายในหรือระหว่างประเทศก็ผ่อนคลายลงไม่ได้ รัฐไม่มีสิทธิอันชอบธรรมทำลายชีวิตและร่างกาย เพื่อยืนยันในเรื่องนี้ จึงต้องนำผู้ที่กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการเสวนา มีการเปิดให้แสดงความคิดเห็น ผู้ฟังการเสวนาหลายคน แสดงความผิดหวังต่อกระบวนการยุติธรรม บ้างมองว่า เป็นเพราะมีมือที่ไม่มองเห็นเข้ามาช่วยเหลือพรรคการเมืองบางพรรค
 
พ.ต.ท.ศิริพล อธิบายว่า แม้ตอนนี้จะไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม แต่หากสามารถสร้างความคิดที่ตกผลึกให้สังคมกระแสหลักเข้าใจว่า การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เท่าเทียมก่อให้เกิดรอยร้าวในสังคมอย่างไร ก็จะนำไปสู่มติของสังคมเพื่อทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาร่วมกันได้
 
ขณะที่สมชาย เสนอว่า ในขณะที่สังคมมองคนเสื้อแดงอีกด้าน จะโต้แย้งการมองแบบนี้ด้วยการด่าคงไม่ได้ สังคมคงไม่เปลี่ยนแปลงด้วยการด่าและประณาม แต่จะต้องอาศัยข้อเท็จจริงเบื้องต้น ค่อยๆ ต่อภาพความจริง เพื่อทำให้คนในสังคมค่อยๆ หันกลับมา
 
สาวตรี กล่าวว่า การมาพูดเรื่องช่องทางต่างๆ ทางกฎหมายในวันนี้ไม่ได้เพื่อแก้ตัวให้กฎหมาย แต่แม้ว่าความยุติธรรมไม่มีแล้ว ก็ต้องพยายามยืนยันสิทธิและหาความยุติธรรมต่อไป โดยใช้ทุกช่องทางที่มี ไม่ว่าการต่อสู้บนท้องถนน หรือด้วยกฎหมาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net