รายงาน: เมื่อกรมเจ้าท่าเดินหน้าเพิกถอนอุทยานแห่งชาติ แลกท่าเรือปากบารา

 
 
 
 
เส้นทางเดินเรือ – แผนที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูลจะมีแนวร่องน้ำที่คาดว่าจะเป็นเส้นทางเดินเรือสินค้าขนาดใหญ่เข้าออกท่าเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ประกอบด้วยแนวตะวันออก – ตะวันตก อยู่เหนือเกาะราวีราว 5 – 6 กิโลเมตร และแนวเหนือ – ใต้ อยู่ระหว่างเกาะไข่กับเกาะหลีเป๊ะ ห่างจากเกาะไข่ 8 – 10 กิดลเมตร
 
 
 
เฉียดทางเดินเรือสินค้า – หินโค้งบนเกาะไข่ แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดสตูล อาจได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา เพราะมีแนวร่องน้ำที่คาดว่าจะเป็นเส้นทางเดินเรือสินค้าขนาดใหญ่ เฉียดเกาะแห่งนี้ 8 – 10 กิโลเมตร ขณะที่อีกแนวเส้นทางหนึ่งเฉียดหมู่เกาะอาดัง – ราวี แค่ 5 – 6 กิโลเมตร
 
 
 
ใครจะรู้บ้างว่า หากท่าเรือน้ำลึกปากบาราเกิดขึ้นจริง จะส่งผลต่ออุทยานแห่งชาติตะรุเตามากขนาดไหน เพราะแนวเส้นทางเดินเรือสินค้าขนาดใหญ่ที่จะเข้าออกท่าเรือแห่งนี้ จะผ่ากลางอุทยานแห่งชาติตะรุเตา แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังทางฝั่งทะเลอันดามันของไทย ผลกระทบดังกล่าวอาจปรากฏให้เห็นในไม่ช้า ไม่มากก็น้อย
 
เพราะหลังจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกและถมทะเล ระยะที่ 1 บริเวณปากคลองปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2552 กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการก็เดินหน้าขอให้มีการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราเพื่อสร้างท่าเรือดังกล่าวทันที
 
เนื่องจาก คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติด้วยว่า ในขั้นตอนการขออนุญาตใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรานั้น ให้กรมเจ้าท่าเสนอการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติเพิ่มเติม เพื่อประกอบการพิจารณาขออนุญาตใช้พื้นที่ต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
กรมเจ้าท่า จึงได้มีหนังสือที่ คค 0318/817 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2553 แจ้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช แจ้งถึงมติดังกล่าวของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พร้อมอธิบายเหตุผลที่ต้องสร้างท่าเรือดังกล่าวด้วย โดยจำเป็นต้องเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา เพื่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา จำนวน 4,734 – 0 – 62 ไร่
 
ต่อมาสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) มีหนังสือด่วนที่สุดที่ 0915.5/2528 ลงวันที่ 9 เมษายน 2553 ถึงอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เสนอให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติพิจารณา เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ อาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อุทยานอย่างมาก
 
สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) ระบุในหนังสือฉบับเดียวกันว่า โครงการดังกล่าวมีพื้นที่ก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกถึง 4,734 - 0 - 62 ไร่ มีแนวร่องน้ำเดินเรือเข้าท่าเทียบเรือตัดผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ระยะทาง 5 กิโลเมตร จึงขอกันพื้นที่ในทะเลตลอดความยาวของร่องน้ำที่ผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อความสะดวกในการติดตั้งและบำรุงรักษาทุ่นเครื่องหมายช่วยในการเดินเรือและจะมีการถมเกาะในทะเล 3 เกาะ โดยแบ่งระยะการพัฒนาโครงการ 3 ระยะในเวลา 5 – 15 ปี
 
กระทรวงคมนาคม มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ คค 0804.3/3456 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2553 ถึงปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า กระทรวงคมนาคมได้เห็นชอบในหลักการให้กรมเจ้าท่าดำเนินโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราแล้ว และได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไปแล้ว
 
ต่อมานายชาตรี ช่วยประสิทธิ์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ส่งหนังสือด่วนที่สุดที่ ทส(ปคร.) 1009.4/3557 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2553 ตอบไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อแจ้งความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า ให้กรมเจ้าท่า แจ้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ล่วงหน้าในการขอใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราเท่าที่จำเป็น เพื่อประกอบการเพิกถอนพื้นที่โครงการออกจากการเป็นอุทยานแห่งชาติ
 
กรมอุทยานฯเจ้าภาพเพิกถอน
 
ขณะเดียวกันสำนักนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชดำเนินการในเรื่องการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติและแจ้งความเห็นโดยตรงต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต่อไป
 
ต่อมากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยสำนักอุทยานแห่งชาติ ได้ทำบันทึกข้อความ ด่วนที่สุด ที่ ทส 0910.802/10507 ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2553 ถึงปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องขออนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา ลงชื่อโดยนายนิพนธ์ โชติบาล รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยระบุข้อเท็จจริงที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตรวจสอบแล้ว สรุปได้ดังนี้
 
1.พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ไม่มีบทบัญญัติให้มีการอนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ
 
2.โครงการท่าเทียบเรือที่รับเรือขนาดตั้งแต่ 500 ตันกรอส หรือความยาวหน้าท่า ตั้งแต่ 100 เมตร หรือมีพื้นที่ท่าเทียบเรือรวม 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งอีไอเอโครงการนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2552
 
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จึงเห็นว่า หากมีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือในเขตอุทยานแห่งชาติ ก็จะต้องกันพื้นที่ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ โดยการตราพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 เสียก่อน
 
โดยการเพิกถอนดังกล่าวต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน โดยมีขั้นตอนตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามลำดับ
 
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2553 ว่า ได้จัดเตรียมเอกสารกรณีที่กรมเจ้าท่า ร้องขอให้เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติกว่า 4,000 ไร่ ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ถ้าที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติเห็นชอบให้เพิกถอน ขั้นตอนต่อไปก็คือนำเสนอคณะรัฐมนตรีออกพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าสงวนแห่งชาติ จากนั้นกรมเจ้าท่าสามารถขออนุญาตกรมป่าไม้เข้าไปพัฒนาโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราได้
 
“คณะรัฐมนตรีเพิ่งแต่งตั้งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติชุดปัจจุบัน เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2553 ที่ผ่านมา ล่าสุดรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องการให้จัดประชุมคณะกรรมการชุดใหม่ เพื่อพิจารณาเรื่องต่างๆ ที่คั่งค้างมาจากคณะกรรมการฯ ชุดก่อน และจะนำเรื่องการขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรากว่า 4,000 ไร่ เข้าพิจารณาในที่ประชุมครั้งนี้ด้วย” นายจตุพร กล่าว
 
ขนาดโครงการในอีไอเอ
 
ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกและถมทะเล ระยะที่ 1 บริเวณปากคลองปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ฉบับสมบูรณ์ จัดทำโดยบริษัท เซ้าท์อี๊สท์เอเชียเทคโนโลยี่ จำกัด และบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจีเนียริ่ง แอนด์ เมเนจเมนท์ จำกัด ระบุรายละเอียดโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราดังนี้
 
ท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราและลานกองสินค้า เป็นพื้นที่ถมทะเล อยู่ใกล้แนวน้ำลึก 4.2 กิโลเมตร โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ
 
ระยะที่ 1 แบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 ส่วน
 
ส่วนที่ 1 ประกอบด้วย ประกอบด้วย การก่อสร้างท่าเทียบเรือสินค้าคอนเทนเนอร์ 2 ท่า ความยาวหน้าท่า 750 เมตร และท่าเทียบเรือบริการ ความยาว 212 เมตร ลานกองสินค้าตู้ ขนาดกว้าง 280 เมตร ยาว 350 เมตร อาคารต่างๆ 26 อาคาร ถนนภายในท่าเทียบเรือและลานจอดรถบรรทุกสินค้า ระบบสาธารณูปโภค สะพานและถนนเข้าสู่ท่าเทียบเรือ การขุดลอกร่องน้ำ แอ่งกลับเรือและที่จอดเรือบริเวณหน้าท่า ทางรถไฟเข้าท่าเทียบเรือและลานขนส่งตู้สินค้าจากรถไฟ
 
ส่วนที่ 2 ประกอบด้วย ลานกองเก็บตู้สินค้า กว้าง 280 เมตร ยาว 35 เมตร และระบบสาธารณูปโภคเพิ่มเติม
 
พื้นที่ท่าเทียบเรือระยะที่ 1 ตั้งอยู่บนพื้นที่ถมทะเลขนาด 430 X 1,086 เมตร คิดเป็น 198 – 3 – 50 ไร่ พื้นที่ด้านหน้าเป็นท่าเทียบเรือสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ ด้านข้างเป็นท่าเทียบเรือบริการ และด้านหลังเป็นลานกองตู้สินค้าและรางรถไฟ
 
การพัฒนาระยะที่ 2 จะเกิดขึ้นหลังจากท่าเรือระยะที่ 1 เปิดใช้งานไปแล้ว 6 ปี ต้องก่อสร้างเพิ่มด้วยการถมทะเลส่วนปลายด้านที่อยู่ใกล้ชายฝั่ง เป็นรูปตัว L ทำเป็นท่าเทียบเรือความยาวหน้าท่า 500 เมตร พร้อมลานกองตู้สินค้าและอาคารประกอบ
 
การพัฒนาระยะที่ 3 ทำต่อจากระยะที่ 2 โดยก่อสร้างท่าเทียบเรือดานทิศตะวันออกของท่าเรือเดิมหลังเปิดใช้งานแล้ว 12 ปี โดยให้มีความยาวหน้าท่า 1,000 เมตร
 
ขั้นตอนเพิกถอน
 
สำหรับขั้นตอนในการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติ ว่าที่ร.อ.ไพโรจน์ หอมช่วย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตา เปิดเผยว่า ต้องมีการออกพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ โดยมีทั้งหมด 15 ขั้นตอน
 
“ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดสำหรับประชาชนในพื้นที่คือขั้นตอนที่ 6 คือขั้นตอนที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติที่จะมีการเพิกถอนนั้น นำผลการสำรวจพื้นที่ที่จะเพิกถอนเข้าที่ประชุมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่นั้นๆ พิจารณา เพื่อให้ความเห็นชอบ เพราะถ้าที่ประชุมไม่เห็นชอบทุกอย่างก็จบลงตรงนี้”
 
“ถ้าผ่านความเห็นชอบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นแล้ว จะมีอีกขั้นหนึ่งที่ภาคประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมได้อีก คือขั้นตอนที่ 11 คือเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ซึ่งจะมีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ที่มีส่วนได้เสียไปชี้แจงอีกครั้งหนึ่ง ถ้ามีการคัดค้านในขั้นนี้อีก ร่างพระราชกฤษฎีกานี้ก็จะตกไป ไม่สามารถเพิกถอนอุทยานแห่งชาตินั้นได้”
 
ผลกระทบต่ออุทยานแห่งชาติ
 
สำหรับผลกระทบที่มีต่อพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั้งอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา และอุทยานแห่งชาติตะรุเตา หากมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราแล้ว สำหรับเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา นอกจากการสูญเสียพื้นที่อุทยานไป 4,700 กว่าไร่แล้ว ยังมีพื้นชายฝั่งบ้านบ่อเจ็ดลูก ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู และชายฝั่งบ้านปากบาง ตำบลละงู ที่จะมีการขุดทรายชายฝั่งเพื่อนำไปถมทะเลบริเวณที่จะมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราด้วย
 
โดยอาจส่งผลไปถึงสภาพพื้นที่ชายฝั่งที่เปลี่ยนแปลงไป การประกอบอาชีพประมงของชาวบ้าน รวมทั้งส่งผลไปถึงการท่องเที่ยวในพื้นที่ด้วย
 
แต่สำหรับพื้นที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตาแล้ว น่าจะได้รับผลกระทบมากกว่า โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก แต่กำลังจะมีเส้นทางเดินเรือสินค้าขนาดใหญ่วิ่งผ่ากลางถึง 2 เส้นทาง เพื่อไปยังท่าเรือน้ำลึกปากบารา
 
 
ว่าที่ร.อ.ไพโรจน์ หอมช่วย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตา เปิดเผยว่า บริเวณที่จะก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราอยู่อยู่ด้านทิศเหนือของเกาะตะรุเตา คาดว่าจะมีแนวเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ไปยังท่าเรือแห่งนี้ 2 เส้นทาง โดยพิจารณาจากร่องน้ำ
 
แนวแรก คือ แนวเหนือ – ใต้ไปยังประเทศสิงคโปร์ จะผ่ากลางพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ระหว่างเกาะไข่ กับเกาะหลีเป๊ะ โดยแนวร่องน้ำอยู่เฉียดๆ กับเกาะไข่ห่างประมาณ 8 – 10 กิโลเมตร
 
แนวที่สอง คือแนวตะวันออก – ตะวันตกไปยังตะวันออกกลางอยู่ด้านทิศเหนือ เฉียดหมู่เกาะอาดัง – ราวี ประมาณ 5 – 6 กิโลเมตร แต่ไม่ว่าเรือจะวิ่งทางไหน เกาะที่อยู่บริเวณนี้จะได้รับผลกระทบทั้งหมด
 
ว่าที่ร.อ.ไพโรจน์ กล่าวว่า ผลกระทบที่จะมีต้องมี คือ 1.ฝุ่นจากการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่อยู่ใต้น้ำ 2.แรงขับดันสูงจากใบจักรเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ รวมทั้งคราบน้ำมันจากเรือ และ 3.ทัศนียภาพในแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่สวยงาม เพราะมีเรือสินค้าวิ่งผ่านไปมา
 
สำหรับทรัพยากรธรรมชาติที่อ่อนไหวที่สุดที่จะได้รับผลกระทบคือแหล่งปะการังที่มีอยู่หลายแห่งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา และหญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารของพะยูน ซึ่งมีกระจายอยู่หลายแห่งทั้งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตาและอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา
 
 
ว่าที่ร.อ.ไพโรจน์ ยืนยันว่า ถ้าปะการังได้รับความเสียหายแล้ว มันก็จะสร้างความเสียหายไปทั้งระบบนิเวศน์” ซึ่งนั่นย่อมส่งผลกระทบไปถึงแหล่งท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวของจังหวัดสตูลด้วย
 
 
รายได้ปีละพันล้านท่องเที่ยวสตูล
 
แน่นอนว่า รายได้การท่องเที่ยวหลักของจังหวัดสตูล มาจากแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลอย่างอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ที่มีเกาะอาดัง เกาะหลีเป๊ะ เป็นพระเอกหลัก
 
ข้อมูลจากจังหวัดสตูล ระบุรายได้จากการท่องเที่ยวของสตูลในปี 2550 ว่า ระบุว่า มีสูงถึง 1,798.20 ล้านบาท โดยมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เข้ามาท่องเที่ยว ในปี 2550 รวม ทั้งสิ้น 743,233 คน แยกเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 698,521 คน และนักท่องเที่ยวต่างชาติ 44,712 คน
 
หากพิจารณาจากรายได้การท่องเที่ยวของสตูลตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
ส่วนในรายงานประจำปี 2552 ของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ระบุว่า ปี 2552 มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเข้ามาเที่ยวในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา 10,068 คน ต่างชาติ 7,801 คน สร้างรายได้ให้กับอุทยานแห่งชาติตะรุเตา 3,169,190 บาท แต่ถ้าเป็นรายได้รวมจากการท่องเที่ยวแล้ว น่าจะมีมูลค่าอีกมหาศาล
 
นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล กล่าวในงานเปิดฟ้าอันดามัน สวรรค์สตูล ประจำปี 2553 ซึ่งเป็นกิจกรรมการเปิดฤดูกาลท่องเที่ยว ทางทะเลประจำปี 2553 ของจังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2552 ว่า ในช่วงฤดูการท่องเที่ยวของจังหวัดสตูลในปี 2552 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนสตูลประมาณ 700,000 คนโดยคาดว่าในปี 2553 จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน
 
ปฏิกิริยาฝ่ายต่อต้าน
 
ส่วนความเคลื่อนไหวในการคัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราและโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมีมาอย่างต่อเนื่อง
 
โดยเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ถึงกับตั้งโต๊ะล่ารายชื่อให้ได้อย่างน้อย 10,000 ราชชื่อ เพื่อยื่นต่อคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติและรัฐบาล เพื่อคัดค้านการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา เพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา พื้นที่กว่า 4,700 ไร่
 
ก่อนหน้านี้ นายอารีย์ ติงหวัง ตัวแทนเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ได้เป็นตัวแทนยื่นหนังสือคัดค้านการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติดังกล่าว ให้แก่ นายอดิศักดิ์ ภูสิทธิ์วงศานุยุต ตัวแทนจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ขณะดินทางมาที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ผ่านไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไปแล้ว
 
นายดินันท์ พัทลุง สมาชิกเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล จากเครือข่ายมัคคุเทศก์ กล่าวว่า หากต้องเสียพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราให้กับการสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึก พวกตนซึ่งเป็นคนท้องถิ่นที่ประกอบอาชีพนำเที่ยวขนาดเล็กจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย
 
“ที่เป็นเช่นนั้น เพราะปะการังสวยงามที่อยู่ในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ทั้งในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราและอุทยานแห่งชาติตะรุเตาจะได้รับความเสียหาย ซึ่งคงไม่มีนักท่องเที่ยวอยากมาดูท่าเรือน้ำลึกมากว่าปะการังแน่นอน”
 
นั่นคือคำทิ้งท้ายของนายดินันท์ พัทลุง ที่เปรียบเสมือนคำเตือนถึงหายนะที่อาจจะเกิดขึ้นจากท่าเรือน้ำลึกแห่งนี้ก็เป็นได้
 
 
 
15 ขั้นตอนเพิกถอนอุทยานแห่งชาติ
 
1.     กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ออกไปดำเนินการสำรวจพื้นที่ที่มีความเหมาะสม ที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติหรือผนวกเข้าเป็นอุทยานแห่งชาติ หรือจะเพิกถอนอุทยาน แล้วรายงานผลการสำรวจเบื้องต้นพร้อมด้วยแผนที่ 1 :50,000 และความคิดเห็นเสนอกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
 
2.     กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตรวจสอบพิจารณาความเหมาะสม แล้วออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ ควบคุมพื้นที่ และทำหน้าที่หัวห้าอุทยานแห่งชาติพร้อมกับให้สำรวจรายละเอียดเพิ่มเติม
 
3.     ผู้ที่ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาตินั้น ประชุมร่วมกับราษฎร ผู้นำหมู่บ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อกำหนดขอบเขตอุทยานแห่งชาติพร้อมกับตีป้ายหมายแนวเขต
4.     ไม่มีพื้นที่ทับซ้อนกับที่ทำกิน ที่อยู่อาศัยของราษฎร สปก. หรือหน่วยงานอื่นๆ
 
5.     ทำการรังวัดพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่จากสำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์
 
6.     ผู้ที่ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาตินำผลการสำรวจพื้นที่เข้าที่ประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลพิจารณา เพื่อให้ความเห็นชอบพื้นที่ที่จะดำเนินการประกาศจัดตั้ง
 
7.     สำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ในห้องที่นำความเห็นชอบ 6 นำเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาให้ความเห็นชอบ หรือนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการการป้งกันและปราบปรามการทำลายทรัพยากรป่าไม้ประจำจังหวัดให้ความเห็นชอบ
 
8.     สำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ในท้องที่ นำเรื่องที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบแล้ว นำเสนอกรมอุทยาแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พิจารณานำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เพื่อให้ความเห็นชอบ
 
9.     กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยสำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ จัดทำแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา และให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาตินั้น ตรวจสอบความถูกต้อง พร้อมกับลงแนวเขตการปกครอง
  1. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยสำนักอุทยานแห่งชาติ จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกา แผนที่ท้ายร่างพระราชกฤษฎีกา พร้อมกับบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชกฤษฎีกาเสนอกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่ออนุมัติหลักการร่างพระราชากฤษฎีกา พร้อมแผนที่ท้ายร่างพระราชกฤษฎีกา จำนวน 40 ชุด ซึ่งเป็นการนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 1  
  2. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจสอบความถูกต้อง และเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมชี้แจงรายละเอียด
  3. อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยืนยันความถูกต้องของแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแห้ไขแล้ว
  4. เลขาธิการคณะรัฐมนตรีให้จัดพิมพ์แผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา จำนวน 2,500 ชุด เพื่อแจกจ่ายให้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปทราบ
  5. เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบพระราชกฤษฎีกา ซึ่งเป็นการนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 2
  6. นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธยและประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท