Skip to main content
sharethis

 

  

 
ผ่านไปแล้วสำหรับงานเวทีไต่สวนสาธารณะเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนเม.ย.-พ.ค.53 และคอนเสิร์ต “เราไม่ทอดทิ้งกัน: ความจำ ความรัก ความจริง” เมื่อวันเสาร์ที่ 25 กันยายน 2553 ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคักยิ่ง
งานนี้เป็นเวทีระดมทุนเพื่อช่วยเหลือการจัดตั้งกลุ่มญาติผู้เสียชีวิต-ผู้ได้รับบาดเจ็บการสลายการชุมนุม และสนับสนุนการทำงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเดือนเม.ย.-พ.ค.53 หรือ ศปช.
จะว่าไปก็เป็นงานที่ให้ภาพ “แปลก” ในหลายประการ
อย่างหอประชุมศรีบูรพา หรือ “หอเล็ก” แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ว่างเว้นจากฝูงชนผู้หลั่งไหลมาร่วมงานทางการเมืองมานาน คราวนี้กลับเต็มแน่นจนล้นทะลัก แบบที่คนจัดงงงวยว่า “มาจากไหนกัน” แม้ว่ามวลชนส่วนใหญ่ที่ยึดกุมพื้นที่นั้นจะเป็นคนเสื้อแดงก็ตาม
อาจเพราะพวกเขาถูก “กระชับพื้นที่” ทางการเมืองและทางสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มวลชนที่มีความคับแค้นและมีความตื่นตัวทางการเมืองสูงต่างกระตือรือร้นในการสื่อสารกันภายใน จากข่าวสารในอินเตอร์เน็ต สู่โลกของการบอกเล่าปากต่อปาก สังเกตได้ไม่ยาก เพราะผู้คนที่มาร่วมงานมีการบอกกล่าวนัดแนะกันตลอดเวลาว่าโปรแกรมกิจกรรมคนเสื้อแดงเดือนนี้ เดือนหน้า มีอะไร ที่ไหนบ้าง  
เรื่องสถานที่ก็ดูผิดแผกไปจากเดิม จากที่เคยเห็นแต่การรวมตัวกันตามสถานที่กลางแจ้ง ฝนตก มีปลักโคลน ขายของกันมากมายคล้ายตลาดนัดตามงานวัด งานนี้กลายเป็นห้องประชุมโอ่โถง ติดแอร์อย่างดี ในรั้วสถานบันการศึกษาชั้นนำ
บรรยากาศของงานก็หาดูได้ยาก โดยเฉพาะงานคอนเสิร์ตในช่วงเย็น ซึ่งเป็นกลิ่นของวัฒนธรรมลูกผสมแบบลูกทุ่งอย่างที่เคยเห็นๆ ทั่วไปในเวทีเสื้อแดง กับการแสดงแนวอาร์ต แนวทดลอง การอ่านบทกวีอันลึกซึ้งแบบคนชั้นกลาง ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้ชมส่วนใหญ่ ซึ่งคะเนหยาบๆ จากสายว่าเป็นคนชั้นล่างและคนชั้นกลางระดับล่าง แม้แต่การแสดงแนวทดลองจากผู้แสดงที่ “ไม่แดง” ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักกิจกรรมเสื้อแดงกันเยอะ ก็กลับได้รับการยอมรับจากชาวบ้านที่นั่งดูอยู่ด้านนอก ในฐานะ “ของแปลก”
“ชอบนะ ชอบทุกรายการเลย มันเหมือนเขาเปิดจินตนาการให้เราคิดไปได้ไม่จำกัด ไปมาทุกงาน ไม่เคยได้เจอแบบนี้” คนขายซีดีเสื้อแดงกล่าวขณะตั้งใจดูกิจกรรมจากจอโปรเจ็กเตอร์ด้านนอก
ตั้งประเด็นเช่นนี้มิได้จงใจดูแคลนคนยาก หากแต่พูดไปตามสมติฐานลึกๆ ในใจของผู้คนในสังคมเพื่อจะบอกว่างานนี้พลิกโผ
ขณะเดียวกันคนชั้นกลางทั้งหลายที่แดงบ้าง ไม่แดงบ้างภายในงานก็คงได้ซึมซับบรรยากาศแบบลูกทุ่งซึ่งมีสีสันและลูกเล่นอย่างน่ามหัศจรรย์ การวิพากษ์วิจารณ์ผลิดอกออกผลอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน สัญญะมากมายถูกสอดใส่ไว้ตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อยอย่างนึกไม่ถึง ภาพที่คนทั้งฮอลล์ลุกขึ้นเต้น ร้องเพลงเพื่อชีวิต “แบบใหม่” กันดังสนั่นแทนเพลงเพื่อชีวิตที่เคยคุ้นชินให้อารมณ์คล้ายงานแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกลายๆ
รวมทั้งวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม ไม่มีภาพผู้ฟังที่สงบเสงี่ยมแสดงความรู้สึกผ่านการปรบมืออย่างเดียว แต่งานนี้ ตะโกนกันโหวกเหวกหนุนเสริมเนื้อหาบนเวทีเวลาถูกใจและไม่ถูกใจ
และด้วยอารมณ์ตรงไปตรงมาเช่นนี้อาจทำให้ผู้อภิปรายซึ่ง(อยาก)เน้นการตั้งคำถาม การวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง ขยาดกับการแสดงทัศนะดังกล่าว ท่ามกลางอารมณ์รวมหมู่ซึ่งคับแค้นต่อความอยุติธรรมใหม่หมาด ความไม่ไว้วางใจรัฐบาลและแขนขาของภาครัฐ แม้แต่เวทีไต่สวนสาธารณะโดยนักวิชาการจากกลุ่มสันติประชาธรรมเองก็ดูเหมือนจะเกรงใจต่อผู้ฟังอยู่มาก จนบางคนแอบกระซิบว่าทำหน้าที่ได้เพียงผู้รับฟัง
อย่างไรก็ตาม ยังมีหน่วยกล้าตายทดลองความใจกว้างของคนเสื้อแดงให้เห็นอยู่บ้าง เช่น บทกวีของ กฤช เหลือละมัย ซึ่งก็มีเสียงสะท้อน (ส่วนใหญ่ในเฟซบุ๊ก) ทั้งชื่นชมความกล้าหาญในการกระตุกเตือนสติอย่างสำคัญ หรือวิพากษ์วิจารณ์ว่าเรียกร้องอย่างไม่เหมาะสมเอากับผู้ถูกกระทำ เป็นต้น
ไม่ว่าจะอย่างไร งานนี้ก็น่าจะถือเป็นครั้งแรกของการพบกันระหว่างนักวิชาการ นักกิจกรรม นักศึกษา ที่กล่าวรวมๆ ได้ว่า “ไม่เห็นด้วยการปราบปรามคนเสื้อแดง” กับมวลชนเสื้อแดงขนานแท้จำนวนมาก และอย่างน้อยที่สุด งานนี้ก็ทำให้เห็นภาพรวมคร่าวๆ ของเหตุการณ์ความรุนแรงจากปากคำของฝ่ายผู้ได้รับบาดเจ็บหลายต่อหลายราย แต่น่าเสียดายที่ดูเหมือนประเด็นแก่นแกนนี้ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในการชิงพื้นที่ข่าวสารในสังคมอยู่นั่นเอง
 

 
..และเรารู้ว่า ตัวเราเปลี่ยนไป
 
 
เมื่อเราผ่านการต่อสู้                       เราย่อมตระหนักรู้ ว่าตัวเราเปลี่ยนไป
มันอาจจะเพียงไม่นาน                    และเราไม่ได้ถูกจ้างวานให้มาโดยใคร
เราสุขเราทุกข์มาด้วยกัน                 ผ่านคืนและวันที่เราต่างลุกเป็นไฟ
ไฟบางกองวูบวับดับลง                   หากที่เหลือยังคงเป็นไฟกองใหม่
แม้ล่วงเข้าปลายฤดูฝน                   มันยังลุกอยู่บนสิ่งที่ควรลุกไหม้
เพื่อนเอ๋ย..เราไม่อาจปล่อยวาง        จุดหมายปลายทางยังอีกยาวไกล
.......
 
ระหว่างเส้นทางสายนี้,                    เราเริ่มรู้ว่ามีเรื่องราวมากมาย
มีชุมชน และผู้คนเหล่านั้น               ในตรอกซอยตัน และถนนสายใหญ่
บนทางลอยฟ้า หน้าห้างฯ               ลานสนามกว้างขวางมีเวทีอภิปราย
วิทยุ, ทีวี, หนังสือ ฯลฯ                  บอกเราให้ยึดถือหลักการฯ ทั้งหลาย
การเผชิญหน้าปากกระบอกปืน         ช่วยให้เราหยัดยืนได้มั่นคงกว่าใครๆ
และการล้อมปราบครั้งนั้น                ไม่ทำให้เราพรั่นพรึงแต่อย่างใด
........
 
เพื่อนเอ๋ย เราผ่านมันมา                  และเรารู้ว่า ตัวเราเปลี่ยนไป
เราเริ่มพูดจาเหมือนกัน                   ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องอะไร
คิดและทำสิ่งเดียวกัน                     ตั้งเข็มมุ่งมั่นโดยมิต้องนัดหมาย
ไม่ต้องมัวตั้งคำถาม                       เพราะทุกอย่างเป็นไปตามชุดคำอธิบาย
การเมือง, สังคม, เศรษฐกิจ ทุกเรื่องเราคิดคำตอบได้ง่ายดาย
เรารักคนคนเดียวกัน                      และเกลียดคนคนนั้นเหมือนๆ กันใช่ไหม ?
ทุกคน ทุกเรื่องที่เรารัก                   ทำไมเรามักไม่มีคำถามใดๆ ?
และทุกคน ทุกเรื่องที่เราเกลียด        เราก็ยิ่งยัดเยียดความเกลียดชังลงไป  
เราอนุโลมให้กับความผิดพลาด        ในทุกๆ โอกาสของพวกเราใช่หรือไม่ ?
เราจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน          ท่ามกลางความเงียบงันของ “คำถาม” ได้อย่างไร ?
หรือนี่คือสิ่งที่เรากำหนด              ให้เป็นอนาคตของ“สังคมไทย” ..?                                                            
.........
 
แน่นอน..เราถูกกระทำ                   ถูกเหยียดถูกย่ำอย่างกับวัวกับควาย
เสียงเราไม่ถูกได้ยิน                      เลือดเราไม่มีกลิ่นเหมือนพวกเขาทั้งหลาย
ศพเราไม่ถูกมองเห็น                     เหมือนว่าเรานั้นเป็น “ผู้ไม่มีร่างกาย”
แต่แล้ว ในเวลาเดียวกัน                  เรากำลังทำอย่างนั้นกับคนอื่นอยู่หรือไม่ ?
เราคิดว่า ข้างนอกนั่น                     มีแต่ “พวกมัน” เท่านั้นหรืออย่างไร ?
หลายคนคงยังพอนึกออก               ถึงตอนที่อยู่ “ข้างนอก” ยังไม่เข้ามา “ข้างใน”
ก่อนจะมาถึงวันนี้                          เราต่างก็เคยมีเมื่อวานนี้ ใช่หรือไม่ ?
เราเคยเห็นแย้งเห็นต่าง                  อคติ – เป็นกลาง กับเรื่องราวหลากหลาย
เคยถกเถียงหน้าดำคร่ำเครียด          แต่ไม่เคยโกรธเกลียดกันแบบเอาเป็นเอาตาย 
เคยได้ยินคำพูดทุกคำ                    แถมยังจดยังจำหน้าตากันได้
เราลองคิดว่า “พวกเขา”                  ก็คือพวกเราในวันเก่าๆ ได้หรือไม่ ?
คือ “เรา” ที่เคยมีโอกาส                 ก้าวข้ามความผิดพลาด กลายมาเป็นคนใหม่..
แล้วทำไมเราจะฉวยโอกาส             รับฟังข้อผิดพลาดจากพวกเขาบ้างไม่ได้ ?
บางที หลายคนในพวกเขา              อาจไม่ใช่ศัตรูเรา อย่างที่เราเข้าใจ...
.........
 
เพื่อนเอ๋ย เราเพิ่งผ่านมันมา             ภาพยังติดตา เรื่องยังคาใจ
คนตายต้องไม่ตายเปล่า                 ความตายของเขาต้องมีความหมาย
แน่นอน, เราไม่อาจปรองดอง           กับคนที่มือทั้งสองเปื้อนเลือดพวกเราได้ !
แต่หากเราต้องเป็นเหมือนกัน -        กับคนเหล่านั้น มันมีประโยชน์อะไร ?
เราอาจต้องสนใจปัญหา                  ในระดับลึกกว่า “อำนาจของตีนใหญ่”
สนใจเครือข่ายกลุ่มก้อน                 ที่ลึกลับซับซ้อนกว่าเส้นสนกลใน
ทำความรู้จักกับทุกคน                    เพื่อเข้าใจว่า “ประชาชน” นั้น หมายถึงใคร ?
กล้าพูด กล้าวิพากษ์วิจารณ์ ทุกๆ หลักการที่เริ่มล้าสมัย
ทบทวนวิธีต่อสู้                             ที่มุ่งโค่นศัตรูอย่างเอาเป็นเอาตาย
เราก็เห็น ว่าคนเหล่านั้น                  ทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน..จะเอาอย่างไปทำไม ?
โลกมีพื้นที่กว้างขวาง                     ผู้คนถูกสร้างให้มีความหลากหลาย
เรา, ฉัน, ท่าน, เขา – แต่ละคน         ต่างมีตัวตนแตกต่างกันไป
แต่เสียงเราต้องเป็นที่ได้ยิน             เลือดเราต้องมีกลิ่นเหมือนพวกเขาทั้งหลาย
และมันคือเลือดสีแดง                    เหมือนเลือดสีแดงของผู้คนทั่วไป
ตัวตนเราต้องถูกมองเห็น                เพราะชีวิตเราเป็นสิ่งที่มีความหมาย
พลังแห่งปัจเจกภาพ                      ย่อมไม่ใช่การหมอบราบ – รอฟังคำสั่งใคร !
เพื่อนเอ๋ย..เราจงมากำหนด             สิ่งที่เป็นอนาคตของสังคมไทยใหม่
ถ้าไม่อยากย่ำอยู่ที่เก่า...
ถ้าไม่อยากย่ำอยู่ที่เก่า...                ตัวตนของเรา จะต้องเปลี่ยนต่อไป
 
                                                            กฤช เหลือลมัย
                                                            อ่านในงานคอนเสิร์ต “เราไม่ทอดทิ้งกัน”
                                                            หอประชุมเล็ก ม.ธรรมศาสตร์ กรุงเทพฯ , ๒๕ ก.ย. ๕๓
 

หมายเหตุ - สามารถติดต่อสั่งจองซีดีบันทึกกิจกรรมทั้งหมดได้ที่ ศปช. เร็วๆ นี้ โทร 086 060 5433
                  - ขอบคุณภาพถ่ายจากกาญจน์ชนิษฐา เอกแสงสี 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net