Skip to main content
sharethis

นายกรัฐมนตรีเผยลงนามยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น อุดรธานี และนครราชสีมาแล้ว ส่วน 4 จังหวัดที่เหลือคือ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี ครม.จะพิจารณาต่อไป

เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2553 เวลา 16.00 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังที่ได้มีการเชิญนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หน่วยงานฝ่ายความมั่นคง กระทรวงยุติธรรม มาหารือเพื่อที่จะเตรียมการสำหรับการบริหารงานที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้านความมั่นคงว่า เมื่อคืนที่ผ่านมาตนได้ลงนามยกเลิกการประกาศภาวะฉุกเฉินใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น อุดรธานี และนครราชสีมา ซึ่งจะทำให้ขณะนี้มีพระราชกำหนด( พ.ร.ก.)การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินยู่ 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี โดยในส่วนที่เหลือดังกล่าวคณะรัฐมนตรี(ครม.)จะมีการประชุมในวันที่ 5 ตุลาคม 2553 เพื่อพิจารณาว่าจะมีการประกาศใช้ต่อหรือไม่อย่างไร ซึ่งตรงนี้ทางศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และหน่วยงานความมั่นคงจะได้มีการเสนอข้อมูลประกอบการพิจารณาให้กับ ครม.ด้วย ซึ่งในการประชุมครม.ในวันดังกล่าวนั้น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะทำหน้าที่ประธานการในที่ประชุมฯ

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการที่ได้ให้มีการสรุปประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้กฎหมาย โดยเฉพาะการใช้ พ.ร.ก. ว่ามีการใช้อำนาจในเรื่องใดบ้างว่า ได้รับทราบในแง่ของการดำเนินคดีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การชุมนุม จะมีประชาชนจำนวนหนึ่งซึ่งถูกดำเนินคดีหลังจากเกิดเหตการณ์หรือในระหว่างเหตุการณ์บางส่วนและมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอยู่ในระหว่างการถูกคุมขังอยู่ในที่ต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดนั้น ตนได้มีการขอข้อมูลจากทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งได้มีความห่วงใยในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากมีการพูดถึงเรื่องของปัญหาการจับกุมคุมขังบุคคลต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีเรื่องของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและดำเนินการตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญารวมอยู่ด้วย และอาจจะมีบางส่วนที่เป็นเรื่องของการจับกุมในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.ก.โดยตรง ซึ่งตรงนี้ก็ได้มอบหมายให้กรมคุ้มครองสิทธิฯ ของกระทรวงยุติธรรม ไปตรวจสอบรายละเอียดของคนที่ถูกคุมขังทั้งหมดที่มีอยู่จำนวน 184 คน ว่ามีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการใช้อำนาจ พ.ร.ก.หรือไม่ พร้อมให้ขอข้อมูลและขอความร่วมมือจากคณะกรรมการสิทธิฯ ในการที่จะช่วยให้ข้อมูลอีกทางหนึ่ง เพื่อที่จะได้พิจารณาในกรณีที่เห็นว่า การดำเนินการที่เกิดขึ้นตาม พ.ร.ก. อาจจะมีความเหมาะสมที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรนั้น ก็จะได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวก็เพื่อที่จะไม่ให้เกิดปัญหาว่ายังมีความเข้าใจว่ามีการไปคุมขังใคร โดยที่ไม่สมควรหรือไม่ ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่ได้ข้อยุติเมื่อเช้านี้

ส่วนกรณีที่มีเรื่องของข้อมูลขององค์กรเอกชน ที่ระบุว่ายังมีบุคคลสูญหายแต่ยังไม่พบทั้งหมด 25 คน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยากทำความเข้าใจว่าใน จำนวน 25 คน ดังกล่าว จะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับการชุมนุมยังไม่สามารถทราบได้ จึงได้ขอให้ทางตำรวจได้เร่งติดตามกลุ่มบุคคลเหล่านี้ต่อไป รวมไปถึงจะให้มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องถึงกรณีที่มีข่าวมีการระบุมีนักเรียนถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำ ซึ่งความจริงแล้วไม่มี ส่วนจะมีอยู่ที่สถานพินิจฯหรือไม่ ก็กำลังที่จะให้มีการตรวจสอบพร้อม ๆ กันไปด้วย ทั้งนี้เพื่อที่จะให้ทุกฝ่ายได้มีความสบายใจในเรื่องของการที่มีการใช้กฎหมายพิเศษ

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการที่จะมีการคงหรือไม่คงไว้ในเรื่องของ พ.ร.ก.ว่า จะมีการให้ ครม.พิจารณา แต่อย่างไรก็ตามความจำเป็นในเบื้องต้นขณะนี้ที่มีการรายงานมาก็จะเป็นในเรื่องของปัญหาการก่อวินาศกรรมเป็นหลัก ซึ่งเราก็มีความจำเป็นในการที่จะต้องหามาตรการและใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. เพื่อที่จะไม่ให้เหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ให้ไปพิจารณาดูว่าในกรณีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ จะมีทางใช้ช่องทางใดตามกฎหมายปกติได้หรือไม่ ซึ่งหากมีก็จะสามารถที่จะลดการใช้ พ.ร.ก.ลงไปได้ในอนาคต

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องที่ได้มีการหารือถึงภารกิจของนายสุเทพฯ นอกจากเรื่องด้านความมั่งคงดังกล่าวที่รับผิดชอบแล้วก็จะมีเรื่องของคณะกรรมการซึ่งนายสุเทพฯ รับผิดชอบอยู่จำนวน 30 กว่า คณะนั้น ก็ได้มีการสรุปมาทั้งหมดว่าจะมีเรื่องใดบ้างที่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องมีการพิจารณา เพื่อที่ตนจะได้รับทราบว่าจะเร่งดำเนินการในรื่องใดอย่างไรก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของ ผอ.ศอฉ.ได้มีการว่างไว้อย่างไรหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะให้ทางที่ประชุมครม.พิจารณาไปพร้อมกับประเด็นที่จะมีการต่อ พ.ร.ก.หรือไม่อย่างไรใน 4 จังหวัดที่เหลือดังกล่าว ส่วนเหตุผลที่จะให้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มานั่งในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พลเอก ประวิตรฯ ก็มีความเหมาะสมตรงที่เป็นรองผอ.ศอฉ.อยู่แล้วในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามทั้งนี้ก็จะเป็นเรื่องที่ครม.จะได้พิจารณาในวันที่ 5 ตุลาคม 2553 เนื่องจาก พ.ร.ก.จะไปสิ้นสุดวันที่ 6 ตุลาคม 2553 และนายสุเทพฯ ก็ยังจะคงทำหน้าที่ตรงนี้อยู่ เพราะเท่าที่ทราบวันที่ 6-7ก็คงยังไม่สมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 1 จังหวัดสุราษร์ธานี โดยนายสุเทพฯ จะลาออกจากการตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี คาดว่าไม่เป็นวันที่ 7ก็วันที่ 8 ตุลาคมนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประเมินสถานการณ์ของ ศอฉ.ว่า รูปแบบที่ติดตามกันอยู่ก็เป็นความต่อเนื่องจากเรื่องของระเบิดและการก่อวินาศกรรมหรือการทำให้เกิดสถานการณ์ความวุ่นวาย โดยเมื่อช่วงเช้าของวันนี้ทางศอฉ.ก็ได้มีการประชุมในเรื่องดังกล่าวด้วย ซึ่งทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็ได้มีการรายงานให้รับทราบว่ามีการเตรียมการอย่างไร นอกจากนี้ในวันพรุ่งนี้(2ต.ค.)ตนก็จะนัดพบผบ.ตร. ครั้งหนึ่งด้วย

ต่อข้อถามว่า เป้าหมายการก่อวินาศกรรมเป้าประสงค์คืออะไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ต้องการจะทำ จะเรียกว่าในพื้นที่ที่ชอบใช้คำสัญลักษณ์และต้องการที่จะทำให้เกิดความปั่นปวนวุ่นวาย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ทางตำรวจ ทหารและศอฉ.ที่ขณะนี้ได้วางมาตรการต่าง ๆ "ก็ดูจะเข้มข้นขึ้นในช่วงนี้ และคิดว่าจะปรับแนวทางบางอย่างซึ่งคิดว่าน่าจะช่วยให้เหตุการณ์ดีขึ้น"

นายกรัฐมนตรีปฏิเสธคำถามผู้สื่อข่าวซึ่งถามว่าเป็นห่วงหรือไม่ในช่วงที่นายกรัฐมนตรีจะมาดูแลด้านความมั่นคงจะเป็นความท้าทายให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ มากขึ้น โดยระบุว่าความจริงก็ไม่ได้เป็นปัญหาเพราะอย่างไรตนก็ต้องมีความรับผิดชอบในภาพรวมอยู่แล้ว ซึ่งกลไกส่วนใหญ่ที่ทำงานอยู่ตอนนี้ก็มีการปรับปรุงในแง่ของวิธีการต่าง ๆ อยู่ซึ่งตนก็ได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลจะทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในความปลอดภัยในชีวิตได้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้อย่างที่เรียนคือเราจะมีการติดตามและมีการขยายผลจากการจับกุมหรือจากข้อมูลที่เราได้ก่อนหน้านี้ รวมถึงมาตรการในเรื่องของการระวังป้องกันต่าง ๆ และการฝึกซ้อมต่าง ๆ ก็มีความเข้มข้นมากขึ้น

ต่อข้อถามว่า คิดว่าตอนนี้ใกล้ที่จะได้ตัวคนร้ายหรือยัง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อมูลในเชิงของการเชื่อมโยงเครือข่ายและนำไปสู่ผู้ต้องสงสัยนั้นก็มีความชัดเจนมากขึ้นโดยลำดับแล้ว แต่การที่จะให้ได้ถึงตัวก็คงจะต้องมีพยานหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อความหนักแน่น ส่วนมาตรการที่นายกรัฐมนตรีระบุเป็นอย่างไรนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้ทางเจ้าหน้าที่ดำเนินการซึ่งก็อยู่ในกรอบของกฎหมาย ไม่มีอะไรตื่นเต้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่าเหตุที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับ ศอฉ. นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มันไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่ทางฝ่ายของบ้านเมือง จะไปก่อเหตุความวุ่นวาย ไม่ได้อะไร เพราะว่าเราคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อบ้านเมือง และอยากเชิญชวนให้คุณชัจจ์ช่วยประณามคนที่ก่อความรุนแรง มากกว่าที่จะเอามาเป็นประเด็นการเมือง

ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.ต.ท.ชัจจ์ ต้องการให้ ศอฉ. ชี้แจงงบประมาณของ ศอฉ.ที่ใช้ไปแล้วกว่า 100 ล้านบาท นายกรัฐมนตรีย้อนถามว่า 100 ล้านไหน ต้องขอทราบว่าเขาหมายถึงอะไร ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นเบี้ยเลี้ยงตามเกณฑ์ตามสิทธิ

เรียบเรียงจาก กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net